29 ก.ย. 2564 | 17:42 น.
“คุณคิดว่าหนังสือเด็กควรเป็นแบบไหน ?” ก่อนจะตอบคำถามนี้ เราอยากชวนมาทำความรู้จักกับ ‘หมอน-ศรีสมร โซเฟร’ เจ้าของนามปากกา ‘สองขา’ ผู้เขียนหนังสือเด็กมานับสิบปี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสั้นรางวัลมติชน หนังสือชุดป๋องแป๋ง หนังสือเกี่ยวกับเด็กพิเศษอย่าง ‘หัวใจแปลงร่าง’ และ ‘เศษกระดาษ’ รวมทั้งผลงานอีกหลายชิ้นที่เคยคว้ารางวัลหนังสือดีสำหรับเด็กและเยาวชน หากหนังสือชุดล่าสุดที่ถูกพูดถึงอย่างล้นหลามในโซเชียลมีเดีย คงจะเป็น ‘วาดหวังหนังสือ’ โปรเจกต์ที่ต้องการ ‘วาดหวัง’ ให้เด็ก ๆ มีความฝันและมีพลังผ่านหนังสือทั้ง 8 เล่ม ได้แก่
โดยโปรเจกต์นี้เกิดจากการรวมกลุ่มกันของผู้คนที่เคยรู้จัก และไม่รู้จักกันมาก่อน ไม่ว่าจะเป็น อินทิรา เจริญปุระ, หนูหริ่ง (สมบัติ บุญงามอนงค์), สะอาด, faan.peeti, The Art District’ 86, Viwenny, Mimininii ฯลฯ และเมื่อหนังสือชุดนี้ถูกพูดถึงทั้งในมุมหนังสือที่ดีและมุมที่ตั้งคำถามถึงความเหมาะสม เราจึงชวน ‘สองขา’ หรือ หมอน-ศรีสมร โซเฟร มาพูดคุยถึงชีวิตทั้งในฐานะคุณครู นักเขียน นักฝัน ไปจนถึงเรื่องราวเบื้องหลังของโปรเจกต์ ‘วาดหวังหนังสือ’ บันทึกฝัน13อย่าง สู่เส้นทางสายน้ำหมึก หากถามว่าหมอนตกหลุมรักตัวหนังสือและเริ่มจรดปากกาครั้งแรกตั้งแต่ตอนไหน คงต้องย้อนกลับไปวันที่เธอเริ่มเขียนไดอารีครั้งแรก หลังจากได้อ่านหนังสือเรื่อง ‘นกกางเขน’ “เป็นหนังสือเล่มแรกที่อ่านแล้วร้องไห้ ตอนเด็ก ๆ เราอยู่ที่คลองเตย ก็จะมีเพื่อนพาไปเอาไส้เดือนมาเอาขี้เถ้ากลบ แกล้งนก แกล้งสัตว์แล้วรู้สึกเท่ แต่พออ่านแล้วเรามองสัตว์เปลี่ยนไปเลย เรามองว่ามันมีชีวิต จำได้ว่าตอน ป.2 เขียนสั้น ๆ ไว้ในไดอารีว่า ‘นกร้องไห้ได้ด้วยเหรอ’ เดี๋ยวนี้ก็ยังชอบเขียนอยู่ พอมีปฏิทินก็จะชอบเขียนวันละประโยคสองประโยค” การเขียนไดอารีของหมอน บางครั้งบันทึกเรื่องราว บางคราวบันทึกความรู้สึก และบางทีเธอก็ขีดเขียนความฝันลงในสมุดเล่มนั้นด้วย “วันเกิดอายุ 13 พี่สาวให้ของขวัญวันเกิดเป็นกูลิโกะกล่องละ 3 บาท แล้วเราก็ให้กันทุกปีระหว่างพี่กับน้อง ตอนอายุ 13 จำได้เลยว่าพี่ไปซื้อ Wacoal First Bra ให้ น่ารักมาก ไม่เคยใส่เสื้อในมาก่อน แล้วพี่ก็ให้ขนมต้ม 13 ลูก เรารู้สึกว่าขนมต้มมันขาว ๆ เหมือนดวงดาว เลยคิดว่า เดี๋ยวฉันจะเขียนความฝันไว้เท่าจำนวนขนมต้ม แล้วเราก็อายุ 13 ก็เลยเขียนความฝันไว้ 13 อย่าง แล้วก็ค่อย ๆ ทำไปเรื่อย ๆ เดี๋ยวนี้ก็ยังทำไม่ครบ (หัวเราะ) ว่าง ๆ ก็เอาออกมาเปิดดู” แน่นอนว่าหนึ่งในความฝัน 13 อย่างที่เธอจดไว้คือการได้เป็น ‘นักเขียน’ ซึ่งความฝันนั้นก็ยังคงประทับอยู่ในสมุดและหัวใจของเธอเรื่อยมาจนเติบใหญ่ เพราะหลากหลายจึงงดงาม ก่อนเริ่มเส้นทางสายน้ำหมึกอย่างจริงจัง หมอนคลุกคลีในแวดวงการศึกษามาหลายปี เพราะหลังจากจบการศึกษาจากภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เธอได้มาเป็นข้าราชการครูในหมู่บ้านกะเหรี่ยงกองม่องทะ เขตทุ่งใหญ่นเรศวร ไม่ไกลจากชายแดนพม่า หลังจากนั้น เธอเรียนต่อปริญญาโทด้านการศึกษาพิเศษที่สหรัฐอเมริกา แล้วย้ายตามสามีมายังอิสราเอล ซึ่งยังคงทำหน้าที่ครูอนุบาลสอนเด็กเล็ก ตลอดระยะเวลาที่เธอสอนเด็ก ๆ สิ่งหนึ่งที่หมอนค้นพบ คือความงดงามของความหลากหลายในสังคมประชาธิปไตย นับตั้งแต่ 30 กว่าปีที่แล้วที่เธอสอนในหมู่บ้านกองม่องทะ “มีปีหนึ่งที่มีพ่อของเด็กข้ามไปฝั่งพม่า เพื่อไปซื้อแพะมาเลี้ยง แล้วแม่ซึ่งยังเป็นแม่ลูกอ่อนจะทำยังไง มีทั้งลูกอ่อน ลูกโต ลูกเล็ก เขาเกี่ยวข้าวคนเดียวไม่ไหว...ทุกคนก็เสนอกัน เด็ก ผู้หญิง คนแก่ ผู้ชาย หรือใครก็ตามมีสิทธิ์ในเสียงเท่ากัน แล้วทั้งชุมชนก็เลือกเอาความคิดที่ดีที่สุด นี่เป็นพลังของชุมชน พอมันเปิดกว้างแล้วคนไม่กลัวที่จะถูกผู้ใหญ่ดุว่า เฮ้ย! เป็นเด็กนั่งเงียบ ๆ สิ เด็กมันก็กล้าคิด ไม่ว่าจะคิดถูกคิดผิด แล้วก็ได้อยู่ในที่ชุมชนของผู้ใหญ่ประชุมด้วย บรรยากาศก็สบาย ๆ ไม่ได้เคร่งขรึม เราจึงเห็นว่าประชาธิปไตยมันสวยงามตรงนี้” เมื่อหมอนมองเห็นความงามในความหลากหลาย เธอจึงอยากให้หนังสือซึ่งเป็นพื้นที่ถ่ายทอดความรู้ ความคิด และปัญญานั้นมีความหลากหลายเช่นเดียวกัน เพราะหนังสือจะทำให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้ทั้งโลกภายนอกและโลกภายในเพื่อสร้างตัวตนของตนเองขึ้นมา โดยไม่ถูกวางกรอบว่าต้องเป็นแบบเดียวกันทั้งหมด ยิ่งหมอนได้เดินทางไปยังประเทศต่าง ๆ ไม่ว่าจะเดินทางไปเรียนต่อ เป็นครู หรือท่องเที่ยว เธอมักจะแวะเข้าร้านหนังสืออยู่เสมอ และไม่ว่าจะในสหรัฐอเมริกา จีน มองโกเลีย อินเดีย หรือแม้แต่มาดากัสการ์ เธอพบว่ามีหนังสือหลากหลายที่เปิดโลกให้กับเด็ก ๆ ได้เรียนรู้ ขณะที่ประเทศไทยหนังสือสำหรับเด็กยังจำกัดอยู่เพียงไม่กี่เรื่องเท่านั้น “ที่อเมริกาอย่างเด็กอนุบาลเขาก็เรียนเรื่องมาร์ติน ลูเทอร์ คิง หรือที่อิสราเอลเรามาเป็นครู เด็กอนุบาลเขาก็เรียนหนังสือภาพเกี่ยวกับผู้นำ นายกฯ ของอิสราเอลคนแรกที่เจรจาเรื่องสันติภาพ เขาได้รางวัลโนเบล แต่ถูกคนยิวฝ่ายขวา คลั่งชาติคลั่งศาสนายิงเขาตาย ก็เลยไปคล้าย ๆ เรื่อง ‘จ จิตร’ ที่เราเขียน” หมอนเก็บความรู้สึกนี้ไว้ในใจ เช่นเดียวกับความฝันที่เคยจดไว้บนกระดาษ จนกระทั่งเดินทางติดตามความรักไปยังอิสราเอล เธอได้มีโอกาสกลับมาทบทวนถึงช่วงวัยเด็กและชีวิตการสอนของตัวเธอเองอีกครั้ง และนั่นคือจุดเริ่มต้นของ ‘หนังสือเด็กเล่มแรก’ ในนาม ‘สองขา’ โดยนามปากกานี้ปรากฏครั้งแรกใน นสพ. ร่มนนทรี ขององค์กรนิสิต เกษตร เมื่อปี 2526 และใช้นามนี้เรื่อยมา เพราะหมอนชอบความฟังสบาย และเปรียบได้ดังสองขาที่ได้เดินทางออกไปดูโลกกว้าง สองขาที่ยืนอยู่ได้ด้วยตัวเอง และเป็นสองขาของแม่ที่เลี้ยงดูลูก รวมทั้งครูที่อยู่กับเด็ก ๆ ถึงวันที่ความฝันเบ่งบาน หมอนไม่ได้ตั้งเป้าหมายว่าเธอต้องเขียนเรื่องอะไรบ้าง เพราะแรงบันดาลใจมักผุดขึ้นมาระหว่างที่สอนเด็ก ๆ หรือระหว่างการเลี้ยงลูก “สิ่งที่อยากส่งต่อให้เด็ก คือการเรียนรู้เป็นเรื่องสนุกนะ มันน่ารู้นะ มีหลายอย่างที่เราอยากเขียนเพราะว่ายังไม่มีในเมืองไทย เราอยากให้ลูกเรามีอย่างนี้ “ตอนนั้นมันเพิ่งมีอีเมลใหม่ ๆ เราส่งไปที่สำนักพิมพ์พาส (pass) ทำหนังสือกับเขาหลายเล่มแล้ว ก็ออกมาเป็น CD ชุดคุณแม่สองขา เป็นเรื่องพัฒนาการเด็กเล็ก เพราะว่าเราเรียนปริญญาโทด้านการศึกษาพิเศษแล้วทำงานกับเด็กประถม เด็กอนุบาลมาหลายปีมาก เรารู้สึกว่าทำไมยังไม่มีหนังสืออย่างนี้ในเมืองไทย “ทำไมมีแต่หนังสือว่าต้องเป็นเด็กดี กตัญญู เชื่อฟังพ่อแม่ ทำงานบ้าน แต่เรารู้สึกว่า เขาจะไปทำงานบ้านหรือเป็นเด็กดี ทำดีกับคนอื่นได้ เขาต้องทำดีกับตัวเอง รู้สึกภูมิใจในตัวเองก่อน เช่น ฉันกระดุกกระดิกนิ้วได้นะ ออกกำลังกายอันนี้ได้นะ ตบมือเป็นนะ มันเริ่มจากเด็กเล็ก ๆ ขวบกว่า จากในหนังสือชุดนั้น “ทีนี้เราก็เริ่มคิดได้ว่า ยังไม่ได้เขียนถึงอีกสองเรื่อง คือเรื่องแปรงฟันกับเรื่องแต่งตัว เลยลุกขึ้นมาเขียนแล้วส่งให้สำนักพิมพ์ ก็เลยชื่อชุด ‘ป๋องแป๋ง’ แล้วก็ออกมาเรื่อย ๆ เลย ชุดล่าสุดเมื่อเดือนที่แล้วคือเรื่องป๋องแป๋งไม่ยอม เกี่ยวกับการถูกลวนลามบนรถเมล์ หรือลุงใกล้บ้าน “อีกเล่มคือป๋องแป๋งอยากรู้มีจู๋ทำไม อะไรแบบนี้ แต่เราว่าก็แปลกนะที่เรื่องพวกนี้เป็นดราม่าเพราะว่ามันเป็นพัฒนาการของเด็กทั่วโลก แต่แป๊บเดียวก็มีคนบอกว่า เฮ้ย! หนังสือนี้ดีนะ เป็นเรื่องเพศศึกษา ทำให้เด็กเข้าใจ เราคิดว่าสังคมไทย พ่อแม่ไทยก็ค่อย ๆ เปิดมากขึ้น เพราะเมื่อก่อนถ้าใครมาพูดเรื่องนี้จะต้องโดนยำว่า เฮ้ย! เอาอะไรมาพูด ไม่มีหรอก สังคมเราดีงาม” หลังเขียนหนังสือเด็กมาพักหนึ่ง หมอนเริ่มสังเกตว่า หนังสือเด็กในประเทศไทยจำนวนไม่น้อยแปลมาจากภาษาต่างประเทศ และมีราคาแพง บางเล่มราคามากกว่าหรือเท่ากับค่าแรงขั้นต่ำในประเทศไทยด้วยซ้ำ เธอจึงอยากให้มีหนังสือหลากหลายในราคาที่เข้าถึงง่าย บวกกับช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเผชิญหน้ากับความหดหู่และสิ้นหวัง ยิ่งเป็นแรงผลักให้เธออยากลงมือทำอะไรสักอย่างผ่านสิ่งที่เธอถนัด จนกลายเป็นจุดเริ่มต้นของโปรเจกต์ ‘วาดหวังหนังสือ’ วาดหวังท่ามกลางความสิ้นหวัง “ปกติวันเด็ก วันครู เราจะชอบส่งหนังสือให้เด็ก เลยคิดอยากจะทำอะไรขึ้นมา แล้วก็เห็นคุณพิมรี่พายที่เขาไปสร้างโซลาร์เซลล์ที่หมู่บ้านชาวเขา เราชอบเขานะในหลาย ๆ อย่าง ว่าเขาแอคทีฟอะไรอย่างนี้ เด็กได้รู้จักไข่เจียว เด็กไม่มีความฝัน เราก็ เอ๊ะ! เด็กมีความฝันสิ แต่เขาอาจจะสื่อสารอะไรออกมาไม่ได้ เราก็เลยอยากทำหนังสือชุดนี้ขึ้นมาว่า เดี๋ยวนี้เด็กไทยมีความฝันอะไร ผู้ใหญ่มีความฝันอะไร เลยไปชวนเพื่อนจากสมัยเรียนมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์” นอกจากชวนเพื่อน ๆ มาร่วมทำโปรเจกต์วาดหวังหนังสือ หมอนยังชวนคนที่เธอติดตามผ่านทางโซเชียลมีเดียมาร่วมคิด เขียน วาด แม้ไม่ได้รู้จักกันเป็นการส่วนตัว แต่หลายคนก็ตอบรับและร่วมลงมือทำโปรเจกต์นี้ไปด้วยกัน ซึ่งหมอนไม่ได้กำหนดธีม ไม่มีกรอบว่าต้องเป็นเรื่องแบบไหน มีเพียงความตั้งใจอยากจะสื่อสารความฝันและความหวังให้กับเด็ก ๆ เท่านั้น “แทบจะเป็นงานอาสาเลยเพราะแต่ละคนได้ค่าตอบแทนน้อยมาก เพราะเราไม่หวังผลกำไร เราคิดว่าเราอยากทำเพราะอยากให้มีพื้นที่เกิดขึ้น แล้วถ้าไม่ขาดทุน มีรายได้ กำไรทั้งหมดจะมอบให้กลุ่มทางสังคม ทางประชาธิปไตย หรือกลุ่มช่วยเหลือโควิด-19 “เราก็ดีใจนะเพราะหนังสือทำมา 9 เดือนกว่า บางคนไม่เคยทำหนังสือเด็กมาก่อน เราก็ไม่รู้จักใคร เราเห็น facebook แล้วชอบรูปเขา เราก็เลยติดตามอย่าง ‘สะอาด’ ที่วาดรูปเป็ดน้อย เราชอบเป็ดเขามากเลย น่ารักมาก พอไปชวนเขาก็บอกว่าได้เลยพี่ เราก็ขอบคุณเลย “คือมันมีความตั้งใจดีของคนในสังคมอยู่ที่เขาอยากจะทำอะไรดี ๆ แต่ที่เขาออกมาด่า หรือเกรี้ยวกราด หรือโกรธ เพราะเขาไม่มีทางอื่น พอได้ออกมาทำแล้วดีใจกันมากเลย” หนังสือทั้ง 8 เล่มเกิดจากการพูดคุยกันทางไกล บอกเล่าถึงความตั้งใจ เรื่องที่อยากเล่า ก่อนจะออกมาเป็นรูปเป็นร่าง พร้อม ๆ กับชื่อโปรเจกต์ที่ผุดขึ้นมาระหว่างการทำงาน “เราก็มาคุยกันว่าทำไมมาทำตรงนี้ เราหวังอะไร คุยไปคุยมาคำว่า ‘วาดหวัง’ ก็เลยหลุดมา เราวาดหวังที่จะเติมพลังด้วยหนังสือดีที่มีความหลากหลาย ทำไปทำมาเล่มละ 90 บาท มันก็ตั้งหลายร้อย คนซื้อไม่ไหวแน่เลย เราไม่อยากจำกัดแค่คนมีตังค์ซื้อได้ เลยแบ่งเป็นสองชุด ชุดละ 350 บาท โดยไม่คิดค่าส่งเพิ่ม ส่วนชื่อชุด ‘ต้นกล้า’ ก็เหมือนข้าวในนากำลังเติบโต ‘ฟ้าใหม่’ ก็คือความหวัง ถึงจะทุกข์ยากแค่ไหน เรามองท้องฟ้า ฟ้าเป็นของเราทุกคน มองไปแล้วความหวังยังอยู่ คนเรามันต้องอยู่ได้ด้วยความหวัง ความฝัน แล้วก็ตื่นมาทำให้มันเป็นจริง” ความหลากหลาย มิใช่อาชญากรทางความคิด เมื่อเปิดตัวหนังสือได้ไม่นาน กลับมีกระแสข่าวที่เกี่ยวกับความเหมาะสมของหนังสือ บ้างก็บอกว่าเป็นการปลุกปั่น บิดเบือน จนกลายเป็นหนังสือชุดที่ถูกพูดถึงในโซเชียลมีเดียอย่างล้นหลาม แม้ภาพลักษณ์จะดูเป็นหนังสือที่มีเนื้อหาหนักและจริงจังสำหรับเด็ก หากหมอนเล่าถึงหนังสือบางเล่มให้เราฟังด้วยรอยยิ้มและน้ำเสียงสบาย ๆ ราวกับได้ย้อนกลับไปอยู่ในห้องเรียนอีกครั้ง เล่มแรกที่เธอเอ่ยถึงคือหนังสือ ‘ตัวไหนไม่มีหัว’ ซึ่งเกี่ยวกับการเรียนรู้ที่จะอยู่ท่ามกลางความแตกต่าง และเป็นเล่มที่เคยคว้ารางวัลการประกวดนิทานมูลนิธิเด็ก “เล่มนี้เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับ ด.เด็กหัดเขียนแล้วสงสัยว่า ตัวไหนมีหัวหรือไม่มีหัวบ้าง แล้วลิงบอกว่า สองตัวนั้นไม่มีหัว แล้วบูลลี่ ก.ไก่ กับ ธ. ธง พอ ฮ.นกฮูกตื่นขึ้นมาเลยบอกว่า เรื่องมีหัวหรือไม่มีหัวมันสำคัญตรงไหน ถ้าไม่มีหัวเหมือนกันหมด ถ.ถุง หรือ ภ.สำเภา ก็จะเป็นเหมือน ก.ไก่สิ จะเป็นตัวของตัวเองได้ยังไง” หรืออีกเล่มคือ จ จิตร ซึ่งหมอนมองว่าเล่มนี้เหมือนสารคดีที่นำเสนอเรื่องราวของจิตร ภูมิศักดิ์ ฉบับเข้าใจง่าย และนำเสนอในฐานะที่จิตรเป็นมนุษย์คนหนึ่ง “อย่างเรื่องจิตร สมัยกาลิเลโอที่ศาสนจักรคริสต์เป็นใหญ่ แล้วกาลิเลโอบอกว่า โลกไม่ได้เป็นศูนย์กลางของจักรวาล พระอาทิตย์ต่างหาก ศาสนจักรยังไม่ฆ่ากาลิเลโอเลย แค่กักบริเวณ ไม่ได้ล่ามโซ่ด้วยนะ เลี้ยงดูอย่างดี กาลิเลโอก็เขียนงานวิชาการออกมา แล้วจิตร ภูมิศักดิ์เป็นใครทำไมเขาต้องถูกฆ่า” “คนโดยมากเป็นนักศึกษาปัญญาชน เขาก็เสนอจิตรว่าเป็นคนเคร่งขรึม นักคิดนักเขียนนู้นนี้นั้น แต่ถ้าเราดูจริง ๆ ชีวิตของเด็กคนหนึ่ง โตมา ย้ายตามพ่อ สุดท้ายพ่อไปมีภรรยาใหม่ แม่เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว เลี้ยงลูกสองคน แล้วเด็กยังใฝ่ดีได้ แล้วเขาก็ไปเล่นดนตรีได้เยอะมาก เขียนเพลงเป็นร้อยเพลง ตอนอยู่จุฬาฯ เขาก็เล่นลิเก มีภาพตลก ๆ เยอะมากเลย แล้วก็ชอบผู้หญิง มีจดหมาย เราอยากให้เห็นว่าเขาเป็นคนมีชีวิตชีวา ไม่ได้มีมิติเดียว แล้วเขาเป็นคนที่เราทึ่ง เราอยากส่งสารถึงเด็ก ๆ และคนอ่านว่า คนอย่างนี้แหละค่ะ คือคนที่น่าชื่นชม เป็นต้นแบบ เป็นอัจฉริยะแต่ถูกรัฐฆ่าตาย “แล้วคนวาด ฟาน.ปีติเขาตั้งใจวาดมากเลย หน้าสุดท้ายที่จิตรถูกฆ่าตาย ฟานก็คิดว่าจะวาดยังไงไม่ให้เห็นเลือด กระสุน ปืน ก็เลยออกมาเป็นอย่างที่เห็น คือจิตรนอนคว่ำหน้า แว่นตาแตก แล้วก็มีกบที่อยู่ด้วยกันตั้งแต่หน้าแรก กบเป็นสัญลักษณ์ว่ากบหิว เพราะจิตรลงจากเขาเพื่อมาขอข้าวชาวบ้าน แต่กบร้องไห้อยู่ที่ห่อข้าวเหนียว หรือจิตรไปเป็นไกด์ที่นครวัด รูปก็ออกมาเป็นดอกลำดวนซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของกัมพูชา เล่มนี้แทบจะเป็นสารคดีได้เลย” นอกจากนี้ ทุกเล่มยังมีประวัติหรือความรู้เกี่ยวกับเรื่องนั้น ๆ อยู่ท้ายเล่ม เช่น ‘ตัวไหนไม่มีหัว’ จะมีเรื่องที่มาของ ก.ไก่ - ฮ.นกฮูก หรือ ‘เป็ดน้อย’ ท้ายเล่มจะมีข้อมูลว่าเป็ดทั่วโลกมีความหมายอย่างไรบ้าง ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นเพียงตัวอย่างของความละเอียดและความตั้งใจที่กลั่นกรองออกมาเป็นหนังสือทั้ง 8 เล่ม เพื่อส่งต่อความหวังและความฝันให้กับเด็ก ๆ ส่วนผู้ใหญ่บางท่านที่มองหนังสือเล่มนี้ต่างออกไป ใช่ว่าหมอนจะปฏิเสธหรือผลักไส เธอกลับมองว่าหนังสือจะได้ช่วย ‘เปิดบทสนทนา’ ให้คนคิดเห็นหลากหลายได้ออกมาแลกเปลี่ยนกันอย่างสันติ อย่างที่เธอตั้งใจไว้ว่า อยากให้หนังสือเด็ก ไปจนถึงสังคมไทย ‘มีความหลากหลาย’ มากกว่าที่เป็นอยู่ “ต้องช่วยกันเปิดพื้นที่ ถ้าเขาซื้อไปด่า ก็ดีกว่าไปยิง ไปปะทะกัน เอาหนังสือมาพูดคุย มันจะได้เกิดหลาย ๆ มุมมอง” หากสังเกตโลโก้ของ ‘วาดหวัง’ จะพบภาพนกน้อยที่มีปีกและหางเป็นหน้ากระดาษ คงไม่ต่างกับหนังสือทั้ง 8 เล่มที่พร้อมจะส่งต่อเนื้อหาโบยบินไปยังผู้อ่านตัวน้อยในประเทศไทย หากนกตัวนี้จะกระพือปีกน้อย ๆ บินไปได้ไกลแค่ไหน ก็คงขึ้นอยู่กับสังคมไทยว่าจะอ้าแขนโอบรับ หรือเปิดกรงขังมิให้นกตัวนี้กระพือปีกบินอีกต่อไป