01 พ.ย. 2564 | 16:44 น.
“...สิ่งต่าง ๆ ที่เราเห็นอยู่นั้น ไม่คงทน...แน่นอน...สิ่งที่เราประสบอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันนี้ที่แท้ก็เหมือนภาพมายา มันเปลี่ยนแปลงได้ สูญสลายได้ เหมือนอย่างเรานอนฝัน พอลืมตาตื่นขึ้นก็หายไปหมด...” ถ้าใครเคยอ่าน ‘ในฝัน’ นวนิยายเรื่องแรกของ วิมล ศิริไพบูลย์ เชื่อว่าคงยังจดจำช่วงเวลาอันแสนเศร้านี้ได้ สำหรับเด็กสาววัย 19 ปี ซึ่งยังไม่เคยสูญเสียคนรักไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใด แต่ความสูญเสียครั้งใหญ่ที่ทำให้เธอเข้าใจความไม่แน่นอนของชีวิต คือการที่ต้องเสียพ่อผู้เป็นที่รักไป ขณะยังเป็นเพียงเด็กหญิงคนหนึ่ง วิมลเกิดมาในครอบครัวที่อบอุ่น แม่ซึ่งเธอมักเรียกว่าคุณนายไข่มุก ค่อนข้างเข้มงวดกับลูก ๆ ทั้งสาม คือเธอ พี่ชาย และน้องสาว ผิดกับพ่อ ทองคำ ศิริไพบูลย์ ที่ใจดีกับลูก ๆ อยู่เสมอ วิมลเป็นหนอนหนังสือมาตั้งแต่เด็ก สมัยเป็นนักเรียนที่โรงเรียนเขมะสิริอนุสสรณ์ เงินเดือนสามสิบบาทซึ่งพ่อให้จึงหมดไปกับหนังสือ นักเขียนที่เธอโปรดปรานที่สุดคือ หลวงวิจิตรวาทการ ถึงขนาดนำชื่อตัวละคร ‘โรสลาเรน’ จากเรื่องสั้นของนักเขียนผู้นี้มาเป็นนามปากกาแรก ไม่เพียงแค่นั้น นามปากกานี้ยังเริ่มต้นด้วยเรื่องสั้นเช่นเดียวกัน ผลงานภายใต้นามปากกา ‘โรสลาเรน’ แจ้งเกิดในนิตยสาร ‘ศรีสัปดาห์’ โดยนักเขียนวัย 14 ปี ในเวลานั้นไม่รู้เลยสักนิดว่าการเขียนมีค่าเรื่องด้วย จนมีเรื่องสั้นตีพิมพ์ไปแล้ว 3 เรื่อง บรรณาธิการจึงเขียนบอกให้ ‘โรสลาเรน’ มาพบที่สำนักงาน ถึงขนาดนั้นเธอก็ยังไม่รู้ว่าให้ไปทำไม ด้วยความเป็นเด็กเธออดกังวลไม่ได้ว่าอาจมีบางอย่างไม่ดี ยิ่งโดนพี่ชายอำว่าทางนิตยสารจะเก็บเงินค่าส่งเรื่องไปลง เธอยิ่งนึกหวั่นใจ รวบรวมเงิน 90 บาทไป โดยไม่แน่ใจว่าเงินเท่านี้จะเพียงพอหรือเปล่า ทันทีที่เด็กหญิงชั้น ม.4 มัดผมเปีย ผู้มากับเพื่อนวัยเดียวกัน แสดงตัวว่าเป็น ‘โรสลาเรน’ ก็ทำเอาทุกคนใน ‘ศรีสัปดาห์’ ประหลาดใจผสมไม่มั่นใจ จนต้องขอให้พิสูจน์ด้วยการเขียนเรื่องสั้นที่ส่งมาล่าสุดให้ดูกันแบบสด ๆ จากนั้นก็นำไปเทียบกับต้นฉบับที่ส่งมาก่อนหน้า ปรากฏลายมือตรงกันเป๊ะ เมื่อไม่มีอะไรผิดพลาด ค่าต้นฉบับเรื่องสั้น 3 เรื่อง 180 บาท จึงส่งถึงมือวิมล นี่เองเป็นจุดเริ่มต้นของเธอในฐานะนักเขียนอาชีพ ‘โรสลาเรน’ มีเรื่องสั้นตีพิมพ์อย่างต่อเนื่อง จน 5 ปีต่อมา นวนิยายเรื่องแรก ‘ในฝัน’ จึงอวดโฉมใน ‘ศรีสัปดาห์’ กลายเป็นผลงานที่สร้างชื่อให้เธออย่างที่สุด จากนั้นชื่อนี้และนามปากกาอื่น ๆ ที่ตามมา ไม่ว่าจะเป็น ลักษณวดี ทมยันตี กนกเลขา มายาวดี และ วิม-ลา ก็อยู่ในดวงใจผู้อ่านมาโดยตลอด หากนับตั้งแต่วันแรกที่ ‘โรสลาเรน’ ถือกำเนิดขึ้น ขณะเธอมีอายุเพียง 14 ปี จนถึงวันนี้ วันที่เธอหลับไปโดยไม่มีวันตื่น วิมล ศิริไพบูลย์ ยืนหยัดอยู่บนเส้นทางสายวรรณกรรมมา 71 ปีแล้ว ตลอด 71 ปีนี้มีเหตุการณ์มากมายเกิดขึ้น แต่ไม่ว่าสิ่งต่าง ๆ จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร เธอก็ไม่เคยหันเหไปจากงานอันเป็นที่รัก นั่นก็คือการเขียน จาก ‘โรสลาเรน’ สู่ ‘ทมยันตี’ และนามปากกาอื่น ๆ คนส่วนใหญ่เข้าใจว่านามปากกาทั้งหลายของ วิมล ศิริไพบูลย์ ตั้งตามแนวเรื่อง ทั้ง ๆ ที่แรกเริ่มเดิมทีนามปากกาต่าง ๆ อิงอยู่กับนิตยสารมากกว่า เมื่อ ‘ศรีสัปดาห์’ แจ้งเกิดให้กับ ‘โรสลาเรน’ จึงไม่อยากให้นำชื่อนี้ไปใช้กับเล่มอื่น พอ ‘สกุลไทย’ ขอนวนิยายจากเธอ นามปากกา ‘ลักษณวดี’ จึงได้ถือกำเนิดขึ้น โดยชื่อนี้ได้มาจากพระนามพระมเหสีของพระลอ หมายถึงผู้มีรูปลักษณ์งามเป็นเลิศ นามปากกา ‘ทมยันตี’ ซึ่งได้รับความนิยมมากที่สุด ก็เกิดขึ้นมาด้วยเหตุผลเดียวกัน คือเพื่อใช้กับนวนิยายเรื่อง ‘รอยมลทิน’ ซึ่งเขียนประเดิมให้ ‘เดลิเมล์วันจันทร์’ นามปากกานี้ตั้งตามพระนามพระมเหสีของพระนล คนทั่วไปมักอ่านว่า ทม - มะ - ยัน - ตี แต่เจ้าของนามปากกาบอกว่า ที่ถูกต้องอ่าน ทัม - มะ - ยัน - ตี คำว่า ‘ทม’ นั้นหมายถึง ข่ม อดกลั้น ปรากฏไม่ว่าจะใช้ชื่อใดก็ดังเปรี้ยงไปหมด สามนามปากกาจึงยังไม่พอ เมื่อ ‘สกุลไทย’ อยากได้เรื่องลงควบคู่กันอีกหนึ่งเรื่อง นามปากกา ‘กนกเรขา’ จึงกลายเป็นอีกบุคลิกของนักเขียนผู้นี้ จากที่เคยเขียนเรื่องรักซาบซึ้งกินใจและเรื่องแนวสะท้อนชีวิต ‘กนกเรขา’ ฉีกออกไปเป็นเรื่องแนวตลกเฮฮา ซึ่งเป็นอีกแนวที่โดนใจผู้อ่าน ไม่ว่าจะเป็น ‘พ่อครัวหัวป่าก์’ ‘พ่อปลาไหล’ ‘พ่อม่ายทีเด็ด’ ‘ไอ้คุณผี’ ฯลฯ ส่วนนามปากกา ‘มายาวดี’ เริ่มใช้ในช่วงที่ วิมล ศิริไพบูลย์ หันมาสนใจธรรมะ ความเชื่อ รวมถึงไสยศาสตร์อย่างจริงจัง จึงอยากถ่ายทอดเรื่องราวเหล่านี้ในรูปแบบนวนิยาย นามปากกานี้หมายถึง นางผู้ไม่มีตัวตน เธอใช้นามปากกา ‘มายาวดี’ โดยตั้งใจไม่เปิดเผยตัว ซึ่งก็ปิดได้อยู่พักหนึ่ง สุดท้ายนักอ่านก็จับสำนวนได้ ผ้าคลุม ‘มายาวดี’ จึงเปิดออก เผยให้เห็นว่าคือ วิมล ศิริไพบูลย์ นั่นเอง คุย ค้น คิด เขียน แบบ ‘ทมยันตี’ 71 ปีกับนวนิยายประมาณ 130 เรื่อง และเรื่องสั้นอีกเป็นจำนวนมาก คงไม่ใช่เรื่องง่ายที่ใครจะเขียนออกมาได้ด้วยจำนวน คุณภาพ และความนิยมมากขนาดนี้ แถมเรื่องที่เขียนยังมีหลายแนว หลายเนื้อหา หลายลีลา ทุกครั้งที่มีโอกาสบอกเล่าจุดเริ่มต้นของตัวเอง วิมล ศิริไพบูลย์ จะบอกเสมอว่า เธอเริ่มจากการเป็นนักอ่านที่ “อ่านทุกตัวอักษรที่เห็น” ทั้งชีวิตเธออ่านหนังสือจำนวนมหาศาล ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน หนังสือจะตามเธอไปทุกที่ หนังสือนับหมื่นเล่มที่เธอสะสมไว้คือคลังความรู้ ซึ่งนำมาใช้เขียนได้ไม่จบสิ้น จวบจนวันสุดท้ายของชีวิต วิมล ศิริไพบูลย์ พูดชัดเจนว่าในการเขียน ‘หัวใจสำคัญคือการค้นคว้า’ และ ‘นักเขียนต้องเรียน ต้องรู้ ไม่รู้ต้องไต่ถามผู้รู้’ นอกจากอ่านจนทะลุปรุโปร่งแล้ว ข้อมูลต่าง ๆ ยังได้จากการได้ไปเห็น ไปสัมผัส ไปพูดคุยกับผู้ที่เกี่ยวข้อง เธอใช้วิธีทำงานแบบ ‘ลงสนาม’ ตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษาธรรมศาสตร์ ตะลุยไปตามสถานที่ซึ่งเธอเรียกว่า ‘ซ่อง’ เพื่อดูชีวิตผู้คนในนั้น พร้อมสัมภาษณ์เก็บข้อมูลมาให้มากที่สุด ผลที่ได้คือนวนิยาย ‘รอยมลทิน’ ซึ่งเธอยืนยันว่าตัวละครหลัก ๆ ล้วนมีตัวตนจริง การสัมภาษณ์ตามแบบฉบับของเธอ ไม่ใช่แค่พูดกันผ่าน ๆ แต่พยายามเปิดชีวิตคนคนนั้นออกมาจนหมดเปลือก เธอทำเช่นนี้กับคนทุกอาชีพ ตั้งแต่ขอทานยันนักการเมือง ไม่แค่พูดคุย ยังตามดูชีวิตคนเหล่านั้น จนรู้เห็นรายละเอียดยิบย่อย บางเรื่องต้องสัมภาษณ์กันวันแล้ววันเล่า อย่างนวนิยายเรื่อง ‘คลื่นชีวิต’ (คนละเรื่องกับ ‘คลื่นชีวิต’ ของ กรุง ญ. ฉัตร ที่ดัดแปลงเป็นละคร ออกอากาศทางช่อง 3 ในเวลานี้) ซึ่งได้มาจากเรื่องราวชีวิตของ จินตนา บุนนาค หรือที่คนรู้จักในชื่อ ‘อ้อยบีเอ็ม’ ผู้นิยามว่าตัวเองทำธุรกิจอีโมชันแบงก์ ‘ธนาคารอารมณ์’ สร้างงานให้หญิงสาวนับหมื่น พร้อมสร้างความสุขให้บรรดาผู้ชายกระเป๋าหนัก นวนิยายเรื่อง ‘คลื่นชีวิต’ เกิดขึ้นจากการสัมภาษณ์ความยาว 49 ม้วนเทป คัดสรรเฉพาะเนื้อหาที่ไม่สร้างความเสียหายให้ใคร แต่ยังคงสะท้อนธุรกิจสีเทานี้ได้อย่างแจ่มแจ้ง สำหรับเรื่องที่ค้นคว้าก็แล้ว พูดคุยก็แล้ว ข้อมูลก็ยังมีไม่พอ วิมล ศิริไพบูลย์ จะเติมความคิดลงไปในช่องว่าง โดยคำนึงถึงความเป็นไปได้มากที่สุด อย่างตอนที่เขียนเรื่อง ‘นากพัทธ์’ ซึ่งเป็นเรื่องของแม่นาคพระโขนง เธอได้นำข้อมูลต่าง ๆ มาคิดต่อว่า เหตุใดแม่นาคถึงต้องโกรธแค้นขนาดนั้น จากนั้นเธอก็ใส่เหตุผลของความเป็นแม่เข้าไป ทำให้เรื่องราวมีความหนักแน่นมากขึ้นกว่าตำนานที่เล่าสืบต่อกันมา การค้น-คิด-เขียนตามแบบของ วิมล ศิริไพบูลย์ บางครั้งนำไปสู่การโต้แย้งจากผู้รู้สายต่าง ๆ โดยเฉพาะนักประวัติศาสตร์ แต่เธอก็ยังคงยืนยันในสิ่งที่เขียน เพราะมั่นใจในการค้นคว้าของตัวเอง ว่าอ่านอย่างรอบด้าน ครบถ้วน คำนวณเวลาเกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ แบบไม่มีผิดเพี้ยน นอกจากอ่านมาก พูดคุยกับคนหลากหลายแล้ว ประสบการณ์ตรงยิ่งเป็นสิ่งสำคัญ ตัวอย่างที่เห็นชัดที่สุดคือ ‘คู่กรรม’ นวนิยายซึ่งได้ความนิยมสูงสุด*ของ ‘ทมยันตี’ ถึงสงครามโลกครั้งที่ 2 จะเกิดตอนเธอเป็นเด็กมาก ๆ แต่ก็โตพอที่จะรับรู้สิ่งที่เกิดขึ้น หลายสถานที่ซึ่งถูกทิ้งระเบิด เธอมีโอกาสได้เห็นเศษซากความเสียหายด้วยตาตัวเอง ประสบการณ์ต่าง ๆ ในชีวิตล้วนสอดแทรกอยู่ในเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นชีวิตวัยเรียน การเป็นครูสอนวิชาภาษาไทยและประวัติศาสตร์ การแต่งงาน มีครอบครัว และเป็นแม่ รวมถึงการทำงานในตำแหน่งสำคัญ ทั้งสมาชิกสภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน เมื่อปี พ.ศ. 2519 สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2520 สมาชิกวุฒิสภา ปี พ.ศ. 2522 และผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ปี พ.ศ. 2527 ทั้งหมดเป็น ‘ต้นทุน’ ที่ วิมล ศิริไพบูลย์ นำมาใช้สร้างสรรค์ผลงานทั้งสิ้น นักเขียนกับบทบาททางการเมือง ในฐานะผู้หญิงที่เชื่อมั่นใน ‘เสียง’ ของผู้หญิง วิมล ศิริไพบูลย์ เป็นหนึ่งในนักเขียนหญิงซึ่งมีบทบาททางการเมืองมากที่สุด บทบาทนี้เริ่มมาตั้งแต่สมัยยังเป็นนักศึกษา ในฐานะนักพูดฝีปากกล้า รุ่นเดียวกับ สมัคร สุนทรเวช และ ชวน หลีกภัย แต่หากเราจะวัดแรงสั่นสะเทือน คงไม่มีช่วงเวลาไหนที่คำพูดของเธอส่งผลมากเท่ากับช่วงหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 จนถึงก่อนเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งเธอใช้สถานีวิทยุยานเกราะเป็นฐานที่มั่น ในการแสดงความคิดเห็น วิพากษ์วิจารณ์การเคลื่อนไหวของนิสิต นักศึกษา ประชาชน ปลุกมวลชนให้ลุกขึ้นต่อต้าน เพื่อหยุดยั้งการรุกคืบของคอมมิวนิสต์ ในการพูดครั้งหนึ่ง เธอถึงกับยกเพลง ‘หนักแผ่นดิน’ ขึ้นมา และประณามผู้เคลื่อนไหวว่าเป็นคนไทยที่หัวใจไม่เป็นไทย แต่กลายเป็นทาสชาติอื่นซึ่งล้วนเป็นคอมมิวนิสต์ไปหมดแล้ว หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งทิ้งบาดแผลฉกรรจ์ให้แก่สังคมไทย วิมล ศิริไพบูลย์ กลับได้ที่นั่งในสภาอันทรงเกียรติ แม้การเข้าไปอยู่ ณ จุดนั้น เป็นโอกาสให้ผู้หญิงมีสิทธิ์มีเสียงมากขึ้น ทว่าคนจำนวนไม่น้อยกลับเห็นว่า ตำแหน่งที่ได้รับเป็นสิ่งที่แลกมากับความสูญเสียในเหตุการณ์อันน่าเศร้าสลด แม้ในเวลาต่อมา ‘ทมยันตี’ จะเขียนนวนิยายเรื่อง ‘คู่กรรม ๒’ สะท้อนเสียงของนิสิตนักศึกษาในช่วงปี พ.ศ. 2516 - 2519 ทว่านวนิยายเรื่องนี้กลับไม่อาจลบรอยเปื้อนในใจคนได้ ตลอดทั้งชีวิต วิมล ศิริไพบูลย์ ไม่เคยย้อนกลับไปพูดถึงรายการวิทยุวันนั้นอีกเลย ซึ่งก็คงเช่นเดียวกับเรื่องอื่น ๆ ที่เธอไม่ยอมจนมุม หรือยอมรับว่า ในฐานะมนุษย์ปุถุชน ตัวเองสามารถผิดพลาดได้ เสียงของผู้หญิงและเสียงแห่งความเป็นครู เมื่อก้าวพ้นตำแหน่ง ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ เมื่อปี พ.ศ. 2527 วิมล ศิริไพบูลย์ ก็ปิดฉากงานการเมือง มุ่งมั่นสร้างสรรค์งานเขียนเพียงอย่างเดียว ซึ่งแน่นอน นี่คือบทบาทที่เธอทำได้ดีที่สุด อย่างไรก็ตาม ถึงจะไม่ได้ส่งเสียงในสภาอีกต่อไป นวนิยายของ วิมล ศิริไพบูลย์ ทุกเรื่องยังคงเป็นเสียงของผู้หญิงอย่างแท้จริง สิ่งหนึ่งที่สังเกตได้คือ นวนิยายส่วนใหญ่มักมีตัวเอกเป็นผู้หญิง พวกเธอล้วนเก่งและแกร่ง ไม่ยอมก้มหัวให้ผู้ชาย หากจะชนะกันได้ก็ด้วยเหตุผลที่หนักแน่นกว่าเท่านั้น นวนิยายของเธอไม่เพียงเป็นปากเสียงให้ผู้หญิงร่วมยุคร่วมสมัย เธอยังพาผู้อ่านย้อนกลับไปมองบุคคลในประวัติศาสตร์ ไล่มาจนถึงผู้หญิงในปัจจุบัน ซึ่งไม่ได้รับความเป็นธรรมในรูปแบบต่าง ๆ เช่นเดียวกับตอนดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งเธอเคยต่อสู้เรื่องกฎหมายทำแท้ง แม้สุดท้ายคะแนนเสียงจะสู้ไม่ได้ แต่แนวความคิดยังคงไม่เปลี่ยนแปลง ผู้หญิงไม่ควรเป็นฝ่ายต้องรับตราบาปของความสัมพันธ์ โดยผู้ชายไม่รู้สึกผิดหรือเสียหายอะไรเลย อีกสิ่งหนึ่งที่อยู่ในงานของ วิมล ศิริไพบูลย์ เสมอคือวิญญาณความเป็นครู แม้เธอจะทำอาชีพนี้ที่โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนเวนต์เพียงช่วงเวลาสั้น ๆ แต่นวนิยายของเธอได้ให้ความรู้และความคิดแก่ผู้อ่านตลอดมา อย่างที่เธอเคยให้หลักในการอ่านไว้ว่า “อ่าน หาระหว่างบรรทัด มาสอนใจตัวเอง” ในช่วงท้ายของชีวิต ความเป็นครูของ วิมล ศิริไพบูลย์ ยิ่งปรากฏชัด จากคลิปสอนการเขียนจำนวนมาก ซึ่งบอกเล่าศาสตร์และศิลป์ของการเขียนแบบเจาะลึก ชนิดใครได้ดูจนครบ ก็เท่ากับจบหลักสูตรการเขียนนวนิยายแล้ว ที่เหลือก็แค่ลงมือเขียนเท่านั้น นอกเหนือจากเนื้อหา รายละเอียดของเรื่อง และสำนวนภาษา ซึ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวแล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่อยู่คู่นักเขียนผู้นี้มาตั้งแต่ต้นคือ ต้นฉบับลายมือเขียนด้วยปากกาสีม่วง สีซึ่งเธอใช้ตั้งแต่ลงมือเขียนครั้งแรก ถึงวันนี้อักษรสีม่วงตัวสุดท้ายได้หยุดลงแล้ว แต่ผลงานของ วิมล ศิริไพบูลย์ ไม่ว่าจะในนามปากกา ‘ทมยันตี’ หรือนามปากกาอื่นใดยังคงมีชีวิต โลดแล่นอยู่ในใจผู้อ่าน สะท้อนภาพชีวิตและสังคมไทยตลอดช่วงเวลาอันยาวนานในมุมมองของเธอ อย่างไม่มีวันสูญสลาย เรื่อง: จรูญพร ปรปักษ์ประลัย ภาพ: http://art.culture.go.th/art01.php?nid=46 *หมายเหตุ : จากการจัดอันดับของสำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม เมื่อปี พ.ศ. 2555 ปีซึ่ง วิมล ศิริไพบูลย์ ได้รับยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ นวนิยาย 10 เรื่องของนักเขียนผู้นี้ ซึ่งได้รับความนิยมสูงสุด ได้แก่ 1. คู่กรรม 2. ทวิภพ 3. ในฝัน 4. ดั่งดวงหฤทัย 5. กฤตยา 6. ร่มฉัตร 7. ค่าของคน 8. คำมั่นสัญญา 9. โสมส่องแสง และ 10. จิตา