27 พ.ย. 2561 | 18:06 น.
สตีฟแลนด์ ฮาร์ดอเวย์ จัดกินส์ (Stevland Hardaway Judkins) หรือที่เรารู้จักเขาในชื่อ สตีวี วันเดอร์ เกิดเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม ค.ศ. 1950 ที่เมืองแซกินอว์ ประเทศสหรัฐอเมริกา สตีวีเป็นลูกคนที่สามจากพี่น้องหกคน หลังการคลอดเขาต้องอยู่ในตู้อบนานกว่า 2 อาทิตย์ เพราะการคลอดก่อนกำหนดและการได้รับอ็อกซิเจนในตู้อบมากเกินไป เป็นสาเหตุที่ทำให้เขาเสียการมองเห็นและตาบอดตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เมื่อรู้ว่าลูกชายตัวเองกำลังจะตาบอดตลอดชีวิต ลูลา เมย์ ฮาร์ดอเวย์ ทำได้แค่เพียงก้มหน้ารับชะตากรรม สิ่งแรกที่เธอทำคือการพาสตีวีไปที่โบสถ์ โดยหวังว่า “พระเจ้าอาจจะช่วยเขาได้” ลูลา พยายามทุกวิถีทางเพื่อให้ สตีวี กลับมามีชีวิตที่ปกติ เธอถึงขั้นไปที่โรงพยาบาลและขอให้หมอผ่าดวงตาของเธอไปใส่ในตาเขาแทน สตีวี เกิดมาในครอบครัวที่ยากจน แม่ของสตีวีต้องดูแลลูก ๆ ทั้งหกด้วยตัวคนเดียว เธอมักจะถูกสามีของตัวเองทำร้ายทั้งด้านร่างกายและจิตใจเสมอ “เขาพูดกับฉันว่าถอดเสื้อโค้ทออกเดี๋ยวนี้ แล้วออกไปจากที่นี่ซะ ลูกเดินเข้ามาหาฉันในห้องครัวแล้วถามว่า นี่แม่จะไปไหน พวกเราหิวข้าว ฉันทำได้เพียงบอกไปว่าเดี๋ยวก็กลับแล้ว อยู่ที่นี่แหละเดี๋ยวแม่จะกลับมา เรื่องจริงมันยิ่งกว่าในละคร เขามักจะรอฉันอยู่บนรถ ก่อนจะไล่ฉันลงไปหาลูกค้า ฉันทำได้เพียงทำตามสิ่งที่เขาต้องการ เพื่อเราจะได้มีเงินมาซื้อข้าวให้ลูก ๆ” ลูลา เล่าถึงวินาทีที่พ่อแท้ ๆ ของสตีวีไล่เธอออกไปขายบริการเพื่อแลกกับเงิน
ลูลาตัดสินใจหอบลูกของเธอทั้งหกไปดีทรอยต์ เธอใช้เงินเก็บทั้งหมดซื้อบ้านที่นั่นและเริ่มต้นชีวิตใหม่ พร้อมกับเปลี่ยนนามสกุลจาก จัดกินส์ เป็น มอร์ริส ในสภาพแวดล้อมที่ดีช่วยเอื้อต่อสตีวีในหลาย ๆ ด้าน แม้เกิดมาพร้อมตาที่มองไม่เห็น แต่สตีวีก็สัมผัสได้ถึงความเสียสละของแม่ ในวัยห้าขวบ สตีวีค้นพบสิ่งที่ทำให้หัวใจของเขาพองโต นั่นก็คือ “ดนตรี” สตีวี ได้รู้จักดนตรีครั้งแรกเมื่อได้สัมผัสเปียโนเก่าๆ จากเพื่อนบ้าน เขาตกหลุมรักมันทันทีตั้งแต่ครั้งแรกที่ได้เล่น ถึงแม้จะเป็นเปียโนที่ยังไม่ได้จูนแต่เขาก็รู้ได้ทันทีว่าเขาเกิดมาเพื่อสิ่งนี้ ที่ไวท์สโตน บัปติส โบสถ์คนผิวสีในดีทรอยต์ สตีวี ได้เข้าร่วมกลุ่มนักร้องประสานเสียง และโชว์พรสวรรค์ที่ทุกคนต้องประหลาดใจ เขาเรียนรู้ที่จะเล่นเปียโน ฮาร์โมนิกา รวมถึง กลอง เบส และ กีตาร์ ได้ด้วยตัวเอง แถมใช้เวลาฝึกเพียงไม่กี่เดือนก็เก่งราวกับคนเล่นมาแล้วหลายปี เหมือนกับว่าพรสวรรค์นี้เป็นสิ่งที่พระเจ้าประทานมาให้กับเขาเพื่อทดแทนสิ่งที่ขาดหายไป สตีวี ไม่ให้ความผิดปกติของตัวเองมาเป็นอุปสรรคในการทำตามความฝัน เขาตั้งวงกับเพื่อนโดยใช้ชื่อว่า “สตีวีกับจอห์น” และพากันออกไปร้องเพลงตามท้องถนน โดยหวังลึก ๆ ว่าจะมีแมวมองมาได้ยินเข้าสักวันหนึ่ง และแล้วความฝันของเขาก็เป็นจริง วันหนึ่ง รอนนี ไวท์ แห่งวง The Miracles ได้มีโอกาสฟังเสียงร้องของสตีวีในเพลง "Lonely Boy" เพลงที่สตีวีแต่งเพลงนี้ได้กลายเป็นกุญแจสู่วงการเพลง ไม่กี่วันต่อมาไวท์พาสตีวีกับแม่มาที่ค่ายโมทาวน์เพื่อออดิชั่น เบอร์รี กอร์ดี้ ซีอีโอของค่ายอึ้งกับความสามารถของสตีวีเป็นอย่างมาก และไม่รอช้าที่จะจับเขาเซ็นสัญญา โปรดิวเซอร์ที่ดูแลโปรเจ็กต์ของ สตีวี อย่าง คาร์แรนซ์ พอล ได้ตั้งชื่อในวงการให้กับเขาว่า “Little Stevie Wonder” ในช่วงแรกสตีวีต้องทำเพลงตามใจค่ายและไม่ได้เป็นตัวเองมากนัก อัลบัมแรกอย่าง The Jazz Soul of Little Stevie ก็ไม่น่าจดจำ แถมยังต้องทำอัลบัมย้ำรอยเท้าของ เรย์ ชาร์ลส ใน Tribute to Uncle Ray อีกด้วย แต่ผลงานในอัลบัมต่อมาอย่าง "Fingertips" กลายเป็นเพลงที่ทำให้ทุกคนรู้จักกับศิลปินที่ชื่อ สตีวี วันเดอร์ ! ซิลเวีย มอย โปรดิวเซอร์ และกอร์ดี้ ให้โอกาสสตีวีในการทำเพลงในแบบที่เขาอยากทำในนาม “สตีวี วันเดอร์” สตีวีประสบความสำเร็จอย่างมากในช่วงยุค 60s พร้อมผลงานระดับตำนานเช่น Uptight (Everything's Alright), For Once In My Life, My Cherie Amour และ Signed, Sealed, Delivered ที่แม่ของเขาก็มีส่วนร่วมในการแต่งเพลงนี้ด้วย
“การเป็นผู้ชายที่พิการ ไม่ได้หมายความว่าเขาคนนั้นจะไร้จินตนาการ”
ขณะออกทัวร์ที่อลาบามา สตีวีถูกกลุ่มการแบ่งแยกเชื้อชาติโจมตีรถบัสและเกือบเอาชีวิตไม่รอด ในเวลาต่อมาเขาได้พบกับ มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ ที่งานการชุมนุมเพื่อสันติภาพ และ คิง ก็กลายเป็นแรงบันดาลใจให้เขาอย่างมากในการใช้ชีวิต และในช่วงที่คิงเสียชีวิต สตีวี ได้หยุดงานเพลงทั้งหมดและเดินสายรณรงค์เพื่อสิทธิเสรีภาพของคนผิวดำ ทั่วสหรัฐฯ “ในฐานะศิลปิน เป้าหมายของผมคือการส่งข้อความว่า เราทั้งหมดอยู่ร่วมกันได้” เหตุการณ์ครั้งสำคัญของสตีวีเกิดขึ้นมากมายในช่วงยุค 70s ในวัยยี่สิบปี เขาได้แต่งงานกับนักร้องสาวร่วมค่ายอย่าง ไซรีตา ไรท์ และเป็นเวลาเดียวกันกับที่ มาร์วิน เกย์ กำลังพาโมทาวน์ประสบความสำเร็จอย่างมาก ในปี 1972 สตีวีปล่อยอัลบั้ม Talking Book โดยมีเพลง "Superstition" และ "You Are the Sunshine of My Life" เป็นเหมือนหมัดฮุคหนึ่งสองของอัลบัม ผลงานชุดนี้ส่งให้เขาสามารถคว้ารางวัล แกรมมี อวอร์ดส ตัวแรกได้สำเร็จ 6 สิงหาคม ปี 1974 สตีวีประสบอุบัติเหตุรถชนจนเกือบเสียชีวิต หลังเหตุการณ์นี้เขาหันมาเดินหน้าเพื่อทำประโยชน์ให้กับสังคมมากขึ้น และในช่วงสองปีต่อจากนั้นเขาผลิตอัลบัมออกมาสองชุด แถมคว้าอัลบั้มแห่งปีของแกรมมีได้ทั้งคู่ นั่นก็คือ Innervisions และ Fulfillingness' First Finale โดยมีเพลงดังอย่าง "Higher Ground” และ "You Haven't Done Nothin'"
จากความสำเร็จและชื่อเสียงที่อิ่มตัว บวกกับสถานการณ์ทางการเงินของโมทาวน์ที่กำลังแย่ สตีวีมีความคิดอยากจะอำลาวงการเพลง แต่ในปี 1977 อัลบัม Songs in the Key of Life กลายเป็นอัลบัมที่เปลี่ยนทุกสิ่งโดยสิ้นเชิง อัลบัมดังกล่าวมีส่วนผสมของร็อกและโซลรวมเข้าด้วยกันอย่างลงตัว และมีเพลงดังอย่าง "I Wish”, "Sir Duke" และเพลงดังที่แต่งให้กับลูกสาวอย่าง "Isn't She Lovely" “เขาใส่ประสบการณ์ทั้งชีวิตของเขาลงในอัลบัมนี้ มันเป็นผลงานเปี่ยมไปด้วยพลังและความคิดสร้างสรรค์” เบอร์รี กอร์ดี้ ผู้ก่อตั้งค่ายเพลงโมทาวน์ บอก
นอกจากจะเขียนแต่เพลงรักแล้ว ผลงานในช่วงยุค 80s ของสตีวี ก็เต็มไปด้วยเนื้อหาทางโลกมาขึ้น เช่นในอัลบัม Hotter Than July ปี 1980 ที่กลายมาเป็นผลงานยอดขายระดับแพลตินั่มชุดแรกของเขา จากเพลง “Happy Birthday” เพลงที่เขาแต่งเพื่อสนับสนุนแนวคิดด้านสิทธิมนุษยชนของมาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ และเพลง “Front Line” ที่พูดถึงทหารสหรัฐในสงครามเวียดนาม ทุกวันนี้เพลงอย่าง "I Ain't Gonna Stand for It", "Lately” และเพลงที่ส่งให้เขาได้ออสการ์อย่าง “I Just Call To Say I Love You” ก็ยังเป็นเพลงที่ถูกร้องทุกครั้งเมื่อนึกถึงสตีวี ด้วยอายุที่มากขึ้นปัจจุบันเขาจะออกทัวร์เฉพาะงานใหญ่ ๆ เท่านั้นและหยุดทำงานในสตูดิโอไปเรียบร้อยแล้ว
สตีวี วันเดอร์ กลายเป็นอีกหนึ่งศิลปินที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดตลอดกาลในอุตสาหกรรมดนตรี เขาฝากผลงานเป็นสตูดิโออัลบัมมากกว่า 26 ชุด และเป็นศิลปินเดี่ยวคนเดียวที่ได้รางวัลแกรมมีมากที่สุดถึง 25 รางวัล และยังได้รางวัลเกียรติยศของแกรมมีอีกด้วย สตีวีมียอดขายอัลบัมรวมมากกว่า 100 ล้านแผ่นทั่วโลก สตีวีและเพลงของเขากลายเป็นแรงบันดาลใจของคนทั้งโลก ไม่ใช่เพียงแค่คนที่พิการทางร่างกายเท่านั้น
“การที่คุณตาบอด ไม่ได้หมายความว่าคุณจะไม่รู้อะไร คุณรับรู้ทุกอย่างได้ด้วยการฟัง” สตีวี วันเดอร์