ชีวิตสุดพิลึกของ ‘ซัลบาดอร์ ดาลี’ ศิลปินแห่งลัทธิเหนือจริง ผู้ถูกอัปเปหิออกจากกลุ่ม

ชีวิตสุดพิลึกของ ‘ซัลบาดอร์ ดาลี’ ศิลปินแห่งลัทธิเหนือจริง ผู้ถูกอัปเปหิออกจากกลุ่ม

‘ซัลบาดอร์ ดาลี’ (Salvador Dalí) ศิลปินคนสำคัญที่ถูกจดจำในฐานะสัญลักษณ์และภาพจำของกระแสเคลื่อนไหวเซอร์เรียลลิสม์ หรือ ลัทธิศิลปะเหนือจริง เส้นทางและเรื่องราวในชีวิตของเขาค่อนข้างพิลึกพิลั่น แต่ปฏิเสธได้ยากว่า ชิ้นงานของเขาโด่งดังยาวนาน

  • ‘ซัลบาดอร์ ดาลี’ ศิลปินที่เป็นสัญลักษณ์แห่งลัทธิศิลปะเหนือจริง สร้างสรรค์ผลงานอมตะอย่างภาพ The Persistence of Memory (1931) แต่พฤติกรรมของเขาทำให้ดาลี ถูกอัปเปหิออกจากกลุ่ม
  • ไม่เพียงแค่ผลงานของดาลี จะมีเอกลักษณ์แตกต่างจากศิลปะอื่น ๆ พฤติกรรมของเขาก็ค่อนข้างพิลึกพิลั่น

เมื่อพูดถึงงานศิลปะที่แปลกประหลาดพิลึกพิลั่นในโลกศิลปะ เราย่อมนึกถึงลัทธิหรือขบวนการทางศิลปะอย่าง ‘เซอร์เรียลลิสม์’ หรือที่เรียกในภาษาไทยว่า ‘ลัทธิศิลปะเหนือจริง’ ที่ถือกำเนิดขึ้นในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ที่ทรงอิทธิพลและส่งแรงบันดาลใจต่อวงการศิลปะอย่างสูง

และเมื่อพูดถึงเซอร์เรียลลิสม์ หลายคนก็คงอดนึกไปถึงศิลปินคนสำคัญผู้หนึ่งที่ถูกจดจำในฐานะสัญลักษณ์และภาพจำของกระแสเคลื่อนไหวเซอร์เรียลลิสม์ไม่ได้ ศิลปินคนที่ว่านั้นก็คือ ‘ซัลบาดอร์ ดาลี’ นั่นเอง

ซัลบาดอร์ ดาลี (Salvador Dalí) หรือในชื่อเต็มยาวเหยียดว่า ซัลบาดอร์ โดมิงโก เฟลิเป คาซินโต ดาลี อี โดมินิค มาร์คีส์ ออฟ ดาลี เดอ พูโบล (Salvador Domingo Felipe Jacinto Dalí i Domènech, Marquis of Dalí de Púbol)

เมื่อพูดถึงความเซอร์เรียลแล้ว ชีวิตของ ซัลบาดอร์ ดาลี เต็มไปด้วยความแปลกประหลาดพิลึกพิลั่นมาตั้งแต่เขาเกิดแล้วด้วยซ้ำ โดยในปี 1901 ครอบครัวดาลีมีสมาชิกคนใหม่ถือกำเนิดขึ้นมา พวกเขาตั้งชื่อเด็กชายคนนั้นว่า ‘ซัลบาดอร์’ ตามชื่อพ่อของเขา แต่น่าเสียดายที่หนูน้อยซัลบาดอร์ตายตอนอายุแค่ 21 เดือน

ต่อมาในวันที่ 11 พฤษภาคม 1904 ครอบครัวดาลีก็มีลูกชายถือกำเนิดขึ้นมาอีกหนึ่งคน พวกเขาก็ตั้งชื่อเด็กชายคนนั้นว่า ‘ซัลบาดอร์’ ด้วยเหมือนกัน

คราวนี้โชคดีที่เขาไม่ตาย แต่โชคร้ายที่พ่อแม่ยังไม่อาจทำใจกับการตายของลูกคนก่อน พวกเขาเอาแต่พูดถึงลูกคนที่ตายไปแล้วไม่หยุดไม่หย่อน และพาซัลบาดอร์ไปที่หลุมฝังศพพี่ชายและบอกกับเขาว่า เขาคือพี่ชายที่กลับชาติมาเกิดใหม่ และกดดันหนูน้อยซัลบาดอร์คนใหม่ว่า ต่อให้ทำยังไงเขาก็เป็นได้แค่ที่สองรองจากคนตาย

ซึ่งก็ไม่แปลกใจเลยที่เด็กชายซัลบาดอร์จะเป็นเด็กอารมณ์ร้ายและพอใจที่จะเบ่งอึลงบนโถงทางเดินบ้านและโรงเรียนมากกว่าในห้องน้ำ สิ่งนี้นี่เองที่น่าจะส่งผลถึงบุคลิกภาพ ตัวตนและผลงานศิลปะของเขาในเวลาต่อมา

ดาลีมักกล่าวว่า “พี่ชายเป็นตัวตนของเขาในเวอร์ชั่นแรกที่มีความสมบูรณ์แบบกว่ามาก ๆ” ภายหลัง เขาถ่ายทอดภาพของพี่ชายที่ตายจากไปนานแล้วในผลงานหลายชิ้นของเขา หนึ่งในนั้นคือภาพ Portrait of My Dead Brother ในปี 1963 นั่นเอง

ในปี 1916 ดาลีเข้าโรงเรียนสอนศิลปะในเมืองฟิเกรัส จังหวัดฌิโรนา แคว้นกาตาลุญญา ประเทศสเปน บ้านเกิดของเขา ในช่วงนั้นเขาบังเอิญได้พบกับศิลปินอิมเพรสชั่นนิสม์ชาวสเปนอย่าง รามอน ปิโชต์ (Ramon Pichot) และได้รู้จักศิลปะสมัยใหม่ตอนท่องเที่ยวกับครอบครัวของปิโชต์

ปีต่อมาพ่อของดาลีจัดงานแสดงภาพวาดของดาลีครั้งแรกที่บ้านของเขา และในปี 1919 เขาก็ได้แสดงงานนิทรรศการศิลปะอย่างเป็นทางการครั้งแรกในโรงละครของเทศบาลของเมืองฟิกูเรส (ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ส่วนตัวของดาลีอย่าง Dalí Theatre-Museum ไปในที่สุด)

ในปี 1922 ดาลีเข้าเรียนในสถาบัน Royal Academy of Fine Arts ในซานเฟอร์นานโด กรุงมาดริด ในช่วงนั้นเขาทดลองทำงานในแนวคิวบิสซึื่ม (Cubism) จนได้รับความสนใจจากเพื่อนร่วมชั้นเป็นอย่างมาก เพราะในขณะนั้นงานในลักษณะนี้ยังไม่เป็นที่รู้จักในมาดริด แต่ในปี 1926 เขากลับถูกไล่ออกจากสถาบัน ก่อนที่จะเรียนจบไม่นานจากข้อกล่าวหาว่าก่อความไม่สงบ

ในช่วงนั้น เขาพัฒนาทักษะการวาดภาพเหมือนจริงจนเชี่ยวชาญ ดังที่ปรากฏในผลงาน The Basket of Bread (1926) ของเขา ปีเดียวกันนั้น เขาเดินทางไปปารีสเป็นครั้งแรก ที่นั่นเขาได้พบกับจิตรกรชื่อดังที่เขาบูชาอย่าง ปาโบล ปิกัสโซ่

และในช่วงนั้นเองที่เขาได้พัฒนารูปแบบการทำงานที่เป็นการผสมผสานทักษะการทำงานตามขนบแบบคลาสสิค ที่ได้รับอิทธิพลจากจิตรกรชั้นครูอย่าง ราฟาเอล, บรอนซิโน, เวอร์เมียร์ และ เบลาสเกซ เข้ากับเทคนิคอันหวือหวาก้าวล้ำนำหน้าของงานศิลปะสมัยใหม่ จนกลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวอันโดดเด่นขึ้นมา ในช่วงนั้นเองที่เขาไว้หนวดโง้งปลายแหลมเรียวยาวชี้ชูชัน ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากจิตรกรชั้นครูแห่งศตวรรษที่ 17 ของสเปน ดิเอโก เบลาสเกซ (Diego Velázquez) ซึ่งหนวดนี้เองที่กลายเป็นสัญลักษณ์ประจำตัวของเขาไปตลอดชีวิต

ในปี 1929 ดาลีร่วมกับผู้กำกับหนังเซอร์เรียลลิสม์ หลุยส์ บุนเยล (Luis Buñuel) ทำหนังสั้นชื่อ Un chien andalou (1929) (เจ้าหมาอันดาลูเชียน) ที่สร้างความตื่นตะลึงด้วยภาพอันเหนือจริงและน่าสยดสยอง ไม่ว่าจะเป็น มือที่ถูกมดรุมไต่ตอมยุ่บยั่บ หรือดวงตาที่ถูกมีดโกนคมกริบผ่าเป็นสองซีก

ในช่วงเดียวกัน เขาได้พบกับ กาล่า (Gala) อดีตผู้ลี้ภัยชาวรัสเซียซึ่งเป็นภรรยาของ พอล เอลูอาร์ด (Paul Éluard) กวีชาวฝรั่งเศส สหายของดาลี ผู้เป็นหนึ่งในสมาชิกผู้ก่อตั้งกลุ่มดาดาและเซอร์เรียลลิสม์ ตอนพบกันครั้งแรก กาล่าไม่แยแสสนใจดาลีเท่าไหร่ (เพราะเธอคิดว่าเขาเป็นนักเต้นแทงโก้อาชีพชาวอาร์เจนติน่า) แต่เมื่อเธอได้เห็นภาพวาดของเขาเท่านั้นแหละ เธอก็เกาะติดเขาแจ

อันที่จริง กาล่าเป็นคนแรก ๆ ที่ตระหนักถึงพรสวรรค์ของดาลีด้วยซ้ำไป เธอเชื่อมั่นในทันทีว่าดาลีจะโด่งดังและนำพาชื่อเสียงเงินทองมาให้เธออย่างไม่ต้องสงสัย อีกอย่างเธอเองก็เริ่มเบื่อหน่ายเอลูอาร์ด สามีของเธอที่ไม่มีทีท่าว่าจะประสบความสำเร็จทางการเงินเอาเสียเลย

ไม่นานนัก ดาลีก็ตกหลุมเสน่ห์ที่กาล่าหว่านให้ และเริ่มมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกัน แต่ความสัมพันธ์ของทั้งคู่ก็เต็มไปด้วยความแปลกประหลาด เพื่อนฝูงของพวกเขาเล่าว่า กาล่าเป็นโรคเสพติดเซ็กซ์และสำส่อนทางเพศ ในขณะที่ดาลีรังเกียจการถูกคนอื่นสัมผัสจับต้องตัว หวาดกลัวอวัยวะเพศหญิง และมีแนวโน้มจะเป็นคนที่รักเพศเดียวกัน (ว่ากันว่าเขาไม่เคยมีเพศสัมพันธ์กับใครเลย เว้นแต่การช่วยตัวเองตลอดชีวิตของเขา)

อย่างไรก็ดี ปัจจัยทั้งสองอย่างก็ลงตัว เพราะดาลีชอบเฝ้ามองกาล่าร่วมเพศกับชายอื่น ในขณะที่กาล่าชอบถูกเฝ้ามอง พวกเขามักจะจัดปาร์ตี้เซ็กซ์หมู่บ่อย ๆ โดยที่ดาลีเฝ้ามองอยู่เฉย ๆ

หนึ่งในบรรดาคู่นอนเหล่านั้นก็รวมถึงเอลูอาร์ด สามีเก่าของเธอด้วยแหละนะ ในปี 1932 กาล่าหย่าขาดกับเอลูอาร์ดและแต่งงานกับดาลีในที่สุด และกาล่านี่เอง ที่เป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจสำคัญที่สุดของดาลี เธอเป็นยิ่งกว่า Muse (เทพธิดาแห่งแรงบันดาลใจ) ทั้ง ๆ ที่เธอมีอายุแก่กว่าเขาถึงสิบปี

ดาลีวาดภาพของเธอมากมายหลายภาพ กาล่ายังเป็นผู้คอยผลักดันและหว่านล้อมให้ดาลีแสวงหาชื่อเสียงเงินทอง รวมถึงรับงานที่ได้ค่าตอบแทนมหาศาล

ในปีเดียวกันนั้นเอง ดาลีมีนิทรรศการศิลปะครั้งสำคัญที่สร้างชื่อเสียงโด่งดังให้กับเขา ด้วยผลงานที่ใช้เทคนิค วิธีจิตตาพาธ - วิพากษ์ (Paranoiac-critical method) หรือวิธีการนำเสนอภาพลวงตาและภาพหลอนของผู้ป่วยโรคจิตเภทออกมาอย่างน่าติดตาตรึงใจด้วยทักษะทางศิลปะอันเชี่ยวชาญ

พูดให้เข้าใจง่าย ๆ คือ เหมือนการให้จิตรกรฝีมือดีเข้าไปบันทึกภาพฝันร้ายฝันหลอนของผู้ป่วยโรคจิตให้ออกมาให้เห็นเป็นภาพวาดอย่างสมจริงนั่นแหละ

ผลงานในลักษณะนี้ของดาลีเตะตาต้องใจหัวหน้าและผู้ก่อตั้งลัทธิเซอร์เรียลลิสม์อย่าง อองเดร เบรอตง (André Breton) เป็นอย่างมาก เบรอตงชื่นชมและยกย่องเทคนิคนี้ของดาลีว่ามีศักยภาพในการนำไปปรับใช้กับจิตรกรรม, บทกวี, ภาพยนตร์ และการสร้างสรรค์วัตถุในแบบเซอร์เรียลลิสม์ทุกสิ่งอัน ไม่ว่าจะเป็นแฟชั่น, ประติมากรรม, ประวัติศาสตร์ศิลป์ หรือแม้กระทั่งใช้ในการอธิบายหรือตีความข้อเขียนทุกประเภทก็ตาม

ด้วยเทคนิคนี้ ดาลีกระตุ้นให้ศิลปินกลุ่มเซอร์เรียลลิสม์ปรับความเป็นจริงของโลกภายนอกให้สอดคล้องกับแรงปรารถนาหรือจินตนาการของพวกเขา ด้วยความที่กลุ่มเซอร์เรียลลิสม์ในระยะแรก มีจุดอ่อนในการมัวแต่มุ่งเน้นการแสดงออกอย่างอัตโนมัติของจิตบริสุทธิ์และการถ่ายทอดความฝัน จนทำให้ขาดการสื่อสารกับโลกภายนอก ดาลีเชื่อว่าวิธีการของเขาสามารถทำให้ศิลปินเซอร์เรียลลิสม์สื่อสารกับโลกภายนอกได้ ในขณะเดียวกันก็สามารถแสดงออกถึงความไร้เหตุผลภายในจิตได้อย่างเป็นระบบมากขึ้น ส่งผลให้เขาได้เข้าร่วมกลุ่มเซอร์เรียลลิสม์อย่างเป็นทางการ เขากลายเป็นสมาชิกที่มีบทบาทสำคัญและมีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดในกลุ่ม

ผลงานในลักษณะนี้ของดาลีที่เป็นที่รู้จักดีและคุ้นตาคนทั่ว ๆ ไปที่สุดก็คือ ภาพเขียนรูปทิวทัศน์กว้างไกลสุดลูกหูลูกตาที่มีบรรยากาศอันพิสดารและองค์ประกอบอันขัดแย้งลักลั่น พิลึกพิลั่นเหนือจริง อย่างภาพที่มีรูปนาฬิกาหลอมละลายเหมือนเนยเหลวหยดย้อยซึ่งกำลังโดนฝูงมดรุมไต่ตอมอยู่ โดยเขาได้แรงบันดาลใจมาจากการเห็นก้อนเนยแข็งกามองแบร์กำลังละลายย้อยหลังจากกินอาหารเย็น

ตอนที่เขาวาดภาพนี้เสร็จ เขาถามความเห็นของกาล่า ภรรยาของเขาว่า ภาพนี้เป็นอย่างไร? เธอตอบว่า “มันเป็นภาพที่ทุกคนจะไม่มีวันลืม” ดาลีจึงตั้งชื่อภาพนี้ว่า The Persistence of Memory (1931) หรือ ‘ความทรงจำมิรู้ลืม’ นั่นเอง

เมื่อถูกจัดแสดงในนิทรรศการ ภาพวาด ‘นาฬิกาเหลว’ ภาพนี้ได้รับความนิยมถล่มทลาย และผลักให้ชื่อเสียงของดาลีโด่งดังคับฟ้าและกลายเป็นศิลปินเนื้อหอมในแวดวงศิลปะและปัญญาชนในยุคนั้นอย่างมาก ภาพวาดนาฬิกาเหลวกลายเป็นสัญลักษณ์และภาพจำของงานศิลปะแนวเซอร์เรียลิสม์ ที่ถูกต่อยอด ทำซ้ำ และเลียนแบบนับไม่ถ้วนจนถึงปัจจุบัน

ภาพ The Persistence of Memory (1931) ไฟล์จาก Getty Images

แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะชื่นชมไปกับชื่อเสียงและความสำเร็จของดาลี ด้วยความที่เขาชอบเล่นกับความขัดแย้งทั้งในผลงานและพฤติกรรมของตนเอง เพื่อยั่วยุและเรียกร้องความสนใจ ด้วยบุคลิกเพี้ยน ๆ การพูดการจาอันแปลกประหลาดพิลึกพิลั่น และความเป็นนักประชาสัมพันธ์ตัวเองชั้นยอด ยกตัวอย่างเช่น ครั้งหนึ่งในนิทรรศการเซอร์เรียลลิสต์นานาชาติที่ลอนดอนในปี 1936 ดาลีขึ้นบรรยายบนเวทีโดยสวมชุดดำน้ำรุ่นโบราณ สวมหมวกโลหะครอบแก้วใหญ่โตเทอะทะ โดยอ้างว่าที่แต่งตัวแบบนี้ก็เพื่อให้เขามีชีวิตรอดอยู่ในก้นทะเลของจิตใต้สำนึกได้

แต่สุดท้ายเขาก็เกือบหมดสติอยู่ในนั้นจากการขาดอากาศหายใจ ถ้าไม่ได้เพื่อนมาช่วยเอาไว้เสียก่อน พฤติกรรมเหล่านี้ก่อให้เกิดความไม่พอใจแก่สมาชิกในกลุ่มเซอร์เรียลิสม์อย่างแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อองเดร เบรอตง ที่ต่างรู้สึกว่าดาลีกำลังโขมยซีนของพวกเขา

ความไม่พอใจนี้ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ จนในที่สุดก็ถึงจุดแตกหัก เมื่อดาลีแสดงการสนับสนุนผู้นำเผด็จการของสเปนอย่าง ฟรานซิสโก ฟรังโก อย่างออกนอกหน้า และแสดงความเลื่อมใสต่อฮิตเลอร์ว่า “ไม่มีอะไรเซอร์เรียลไปกว่าผู้นำเผด็จการ”

รวมถึงใส่ภาพฮิตเลอร์ลงในภาพวาด The Enigma of Hitler (1939) หรือ ‘ปริศนาของฮิตเลอร์’ ที่ดาลีกล่าวว่า ภาพวาดนี้เป็นการตีความความฝันหลายประการที่เขามีต่อผู้นำเผด็จการของเยอรมนีอย่าง อดอฟล์ ฮิตเลอร์ โดยในภาพแสดงจานเปล่าที่มีภาพถ่ายของฮิตเลอร์วางอยู่

ภาพ The Enigma of Hitler (1939), ไฟล์จาก https://www.museoreinasofia.es/en/collection/artwork/enigma-hitler
 

เมื่อมีการแสดงนิทรรศการเซอร์เรียลลิสม์นานาชาติที่นิวยอร์กในปี 1942 เบรอตงก็ไม่ยินยอมให้ดาลีนำผลงานเข้าไปร่วมแสดง เพราะถือว่าเขาไม่มีคุณสมบัติในการเป็นสมาชิกของกลุ่มอีกต่อไป โดยกล่าวหาว่าเขา “แสวงหาชื่อเสียงและความสำเร็จทางการค้ามากเกินไป” และตั้งฉายาให้ดาลีว่า ‘Avida Dollars’ (ไอ้หน้าเงิน) จากการที่เขาเริ่มรับงานจ้างวานที่ได้รับค่าตอบแทนสูง อีกทั้งยังสร้างผลงานที่เลียนแบบความสำเร็จของตัวเอง รวมถึงข้อหาที่ร้ายแรงอย่าง ‘การฝักใฝ่ในลัทธินาซีและเผด็จการ’

เบรอตงประกาศขับไล่ดาลีออกจากการเป็นสมาชิกกลุ่มอย่างเด็ดขาด สมาชิกในกลุ่มบางคนเองก็กล่าวถึงดาลีราวกับเป็นบุคคลในอดีตที่ตายจากไปแล้ว บางคนถึงกับสาบส่งดาลีอย่างเกรี้ยวกราดจวบจนกระทั่งตอนที่เขาตายไปแล้วก็ตาม (แต่ก็ยังมีสมาชิกบางคนในกลุ่มโต้แย้งว่า ถ้าเซอร์เรียลลิสม์คือการสำรวจความฝันและเรื่องต้องห้ามโดยไม่มีการจำกัดความคิดหรือเซ็นเซอร์ ดาลีก็มีสิทธิทุกประการที่จะฝันเกี่ยวกับฮิตเลอร์เหมือนกัน)

ถึงแม้จะถูกอัปเปหิออกจากกลุ่ม ดาลีก็หาได้แยแสแคร์ไม่ แถมยังเอาฉายาที่เบรอตงตั้งให้ไปทำเป็นจี้ทองคำห้อยคอเสียด้วยซ้ำไป!

จี้ห้อยคอทองคำ ‘Avida Dollars’ พิพิธภัณฑ์ Dalí Theatre-Museum

และท้ายที่สุด ดาลีก็ยังเป็นศิลปินที่เป็นเสมือนตัวแทนผู้ถูกจดจำมากที่สุดของกลุ่มเซอร์เรียลลิสม์อยู่ดี ถึงขนาดที่ว่า ถ้าพูดถึงเซอร์เรียลลิสม์ คนก็จะนึกถึงดาลีเป็นอันดับแรกนั่นแหละ

แต่ถึงแม้ดาลีจะเลื่อมใสในตัวฮิตเลอร์แค่ไหน เขาก็คงไม่อยากอยู่ใต้การปกครองของจอมเผด็จการผู้นี้เป็นแน่ เพราะพอหลังจากเยอรมันยาตราทัพสู่ปารีสและเริ่มต้นสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี 1940 ดาลีหอบภรรยาและข้าวของล่องเรืออพยพหลีกลี้หนีภัยให้ไกลจากพวกนาซีเท่าที่จะไกลได้

เขากับกาล่าย้ายไปอาศัยอยู่นิวยอร์ก ไปแสวงหาชื่อเสียงเงินทองจากการทำงานศิลปะที่นั่น โดยนอกจากทำงานศิลปะแล้วเขายังรับงานพาณิชย์หลากสื่อหลายแขนง ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบฉากละคร, บัลเล่ต์ และวินโดว์ดิสเพลย์ของร้านค้าไฮโซหรูหรา เขาออกแบบกราฟฟิก, สิ่งพิมพ์, เสื้อผ้า, เครื่องประดับ, เฟอร์นิเจอร์, ของแต่งบ้าน  ผลงานของเขามีราคาแพงลิบลิ่วและเป็นที่ต้องการของพิพิธภัณฑ์และเศรษฐีนักสะสมผู้นิยมงานศิลปะทั่วโลก

นอกจากนั้น เขาไปมีส่วนร่วมในวงการภาพยนตร์ ด้วยการออกแบบฉากให้กับหนังของ อัลเฟร็ด ฮิตช์ค็อก อย่าง Spellbound (1945) (ถึงแม้ฉากที่ว่าจะไม่ได้ใช้และถูกถ่ายทำใหม่ก็ตาม) และร่วมทำการ์ตูนแอนิเมชั่นกับ วอลท์ ดิสนีย์ (ถึงแม้โปรเจ็กต์นั้นจะถูกดองจนเป็นหมันไปในท้ายที่สุด) และในปี 1942 เขาก็ตีพิมพ์ชีวประวัติของตัวเองในชื่อ The Secret Life of Salvador Dalí ออกมาด้วย

หลายคนอาจไม่รู้ว่าโลโก้บนฉลากอมยิ้มที่ใคร ๆ ก็รู้จักกันดีและมีวางขายอยู่ทุกหนทุกแห่งอย่าง จูปาจุ๊บส์ (Chupa Chups) นั้น ก็เป็นฝีมือการออกแบบของ ดาลี (Salvador Dalí) ด้วยเหมือนกัน โดยดาลีออกแบบโลโก้นี้ขึ้นในปี 1969 ให้กับ เอนริค เบอร์แนตต์ (Enric Bernat) เพื่อนสนิทของเขาซึ่งเป็นผู้ผลิตคิดค้นและก่อตั้งบริษัทผลิตอมยิ้มยี่ห้อนี้ขึ้นมา โดยใช้เวลาออกแบบเพียงหนึ่งชั่วโมงเท่านั้น

โลโก้จูปาจุ๊บส์ ที่ออกแบบโดยดาลี

เขาได้แรงบันดาลใจในการออกแบบโลโก้นี้มาจากรูปทรงของดอกเดซี่และสีสันของธงชาติสเปน มันกลายเป็นหนึ่งในโลโก้ที่คนจดจำได้มากที่สุดในโลกจวบจนถึงทุกวันนี้

ในช่วงบั้นปลายของชีวิต ดาลีสุขภาพทรุดโทรมจนจับพู่กันวาดรูปไม่ได้ และเขาเองก็เริ่มหมดความอดทนกับความสำส่อนมากชู้หลายชายของกาล่า ภรรยาของเขาในวัยเจ็ดสิบกว่า ที่ยังคงใช้เงินทองของดาลีเลี้ยงดูปูเสื่อและซื้อของกำนัลให้เหล่าชู้รักทั้งหลาย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นศิลปินหนุ่ม ๆ อยู่เป็นเนือง

และแทนที่จะอยู่ในสตูดิโอกับเขาอย่างเคย เธอก็ตะลอนออกไปข้างนอก โดยทิ้งดาลีไว้คนเดียววันละหลายชั่วโมง จนดาลีลุแก่โทสะ และตบตีเธออย่างรุนแรงจนซี่โครงเธอหัก

กาล่าก็โต้ตอบด้วยการให้เขากินยาระงับประสาทหลายขนานเป็นจำนวนมาก เพื่อทำให้เขาเซื่องซึม ผลก็คือมันทำลายระบบประสาทของดาลีอย่างถาวรจนเขาทำงานศิลปะไม่ได้อีกต่อไป

ถึงแม้เพื่อน ๆ จะช่วยพาเขาไปรักษาตัวในคลีนิค แต่ดาลีก็ยังคงคิดถึงกาล่าไม่คลาย และหวาดกลัวว่าเธอจะทิ้งเขาไปอยู่กับชู้รักคนใหม่ แต่เธอก็ไม่ได้ทิ้งเขาไปไหน หากแต่เสียชีวิตลงในปี 1982 (ว่ากันว่าดาลีเป็นคนทำร้ายเธอจนเข้าโรงพยาบาลและเสียชีวิตที่นั่น)

หลังจากกาล่าตาย ดาลีจมอยู่ในห้วงแห่งความโศกเศร้าถึงหกปี เขาเอาแต่ร้องไห้ ไม่กินอาหาร และเอาแต่นอนหมกตัวอยู่ในห้องมืด ว่ากันว่าเขามีกระดิ่งแขวนไว้ที่เตียงเพื่อใช้เรียกพยาบาล และมักจะสั่นมันในเวลากลางคืนจนพยาบาลรำคาญและเปลี่ยนเป็นหลอดไฟแทน ในคืนหนึ่งเขากดปุ่มถี่ยิบจนไฟฟ้าช็อตจนไฟลุกไหม้เตียงของเขา มีคนพบเขาดิ้นทุรนทุรายอยู่บนเปลวไฟและควันที่เผาไหม้ผิวหนังเขาไปถึง 20 เปอร์เซ็นต์

หลายคนคิดว่าเขาคงต้องตายแหงแก๋ แต่เขากลับรอดมาได้และรักษาตัวจนไปให้สัมภาษณ์ลงหนังสือในปี 1986 ได้ เขาทนอึดมาได้ถึงสามปี จนกระในทั่งปี 1989 เขาก็เสียชีวิตตามกาล่า ภรรยาสุดที่รักของเขาไปในที่สุด

ร่างของดาลีถูกฝังอยู่ในพิพิธภัณฑ์ Dalí Theatre-Museum ในเมืองฟิเกรัส บ้านเกิดของเขาในแคว้นกาตาลุญญานั่นเอง.

หลุมฝังศพของ ซัลบาดอร์ ดาลี ในพิพิธภัณฑ์ Dalí Theatre-Museum

อ้างอิง:

หนังสือ Secret Lives of Great Artists: What Your Teachers Never Told You about Master Painters and Sculptors โดย Elizabeth Lunday

วารสารหนังสือใต้ดินลำดับที่ 14 : เซอร์

เว็บไซต์ museoreinasofia.es