‘มณเฑียร บุญมา’ ศิลปินไทยสุดล้ำสร้างงานลึกซึ้ง ผู้จะจบชีวิตตัวเอง ดีกว่าไปไม่ถึงฝัน

‘มณเฑียร บุญมา’ ศิลปินไทยสุดล้ำสร้างงานลึกซึ้ง ผู้จะจบชีวิตตัวเอง ดีกว่าไปไม่ถึงฝัน

ชีวิตของ ‘มณเฑียร บุญมา’ ศิลปินตัวพ่อแห่งศิลปะแบบจัดวาง ผู้มุ่งมั่นจะเป็นศิลปินถึงขั้นประกาศกับเพื่อนว่า หากไม่ประสบความสำเร็จเป็นศิลปินที่มีชื่อเสียง จะจบชีวิตตัวเอง

  • มณเฑียรมีฝีมือในการวาดภาพมาก และแต่ละภาพก็มีแนวคิดลึกซึ้ง สาเหตุที่ท่านเลิกวาดภาพแล้วมาสร้างผลงานในรูปแบบใหม่เพราะมณเฑียรมองว่าผ้าใบและสีที่ใช้วาดนั้นเปรียบเสมือนกรอบที่จำกัดจินตนาการ
  • มณเฑียรเป็นศิลปินที่มีความสามารถมากในการต่อยอดศิลปะแบบสื่อผสมโดยสร้างผลงานขึ้นมาเป็นพิเศษ แล้วนำไปวางตามสถานที่ที่เฉพาะเจาะจงให้เข้ากับสภาพแวดล้อมตรงนั้น หรือที่ตามตำราศิลปะเขาเรียกว่า ‘ศิลปะแบบจัดวาง’
  • มณเฑียรไม่คิดว่าตัวเองจะตาย ขณะอยู่ที่โรงพยาบาลยังคิดทำงานศิลปะอยู่อย่างไม่หยุดหย่อน

‘มณเฑียร บุญมา’ เกิดเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2496 ที่กรุงเทพฯ ช่วงวัยเด็กต้องย้ายตามครอบครัวไปอยู่ที่จังหวัดอุดรธานีอยู่พักใหญ่ กลับมาอยู่เมืองหลวงอีกทีตอนอายุย่างเข้า 18 และสอบเข้าเรียนที่โรงเรียนเพาะช่าง 

มณเฑียรมุ่งมั่นจะเป็นศิลปินมากจนบอกกับเพื่อน ๆ ว่า “หากเราไม่ประสบความสำเร็จเป็นศิลปินที่มีชื่อเสียง เราจะฆ่าตัวตาย” 

ท่านเรียนเพาะช่างอยู่ 3 ปีและเข้าเรียนต่อที่คณะจิตรกรรมและประติมากรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร มณเฑียรเป็นคนทุ่มเททำอะไรจริงจัง สุภาพ ขี้เกรงใจ และเป็นที่รักของเพื่อน ๆ เลยได้รับเลือกให้เป็นประธานนักศึกษาคณะจิตรกรรม 

หลังเรียนจบจากศิลปากรเมื่อ พ.ศ. 2521 มณเฑียรไปทำงานสอนศิลปะอยู่ที่วิทยาลัยช่างศิลป์อยู่หลายปี จนในปี พ.ศ. 2529 ท่านไปบวช สึกออกมาและแต่งงานกับ ‘จันทร์แจ่ม มุกดาประกร’ ที่รักกันมายาวนานตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากร หลังแต่งงานมณเฑียรเดินทางไปเรียนต่อด้านศิลปะด้วยทุนของรัฐบาลที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี และกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ได้ปริญญากลับมาเมืองไทยในปี พ.ศ. 2531 มณเฑียรไปเป็นอาจารย์อยู่ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

พระทักว่าอายุจะสั้น

มณเฑียรสอนหนังสืออยู่เชียงใหม่ในขณะที่ครอบครัวอยู่กรุงเทพฯ ที่ต้องห่างจากภรรยาสุดที่รักและลูกชายหัวแก้วหัวแหวนที่เพิ่งเกิด เพราะครั้งหนึ่งเคยมีพระดูดวงให้ว่าถ้าอยู่ใกล้ชิดกันจะอายุสั้น ถึงจะพยายามจะอยู่ไกลกัน แต่ด้วยความคิดถึง ทั้งคู่ก็ไปมาหาสู่กันเป็นประจำในวันหยุดเสาร์อาทิตย์ ทั้ง ๆ ที่ระยะทางก็แสนจะไกล แต่ถัดจากนั้นเพียงไม่กี่ปี จันทร์แจ่มก็ป่วยด้วยโรคมะเร็งก่อนจะเสียชีวิตในเวลาต่อมา 

ในปี พ.ศ. 2539 เพื่อที่จะกลับมาดูแลลูก มณเฑียรย้ายจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่มาสอนที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลังจากนั้นก็ย้ายมาเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร ระหว่างนั้นมณเฑียรเริ่มรู้สึกวูบ ๆ เป็นลมอยู่บ่อยครั้ง แต่คิดว่าไม่เป็นอะไรคงเป็นแค่ผลพวงจากการทุ่มเททำงานหนัก เป็นมากเข้าเลยไปหาหมอตรวจร่างกายพบว่าเป็นมะเร็ง 

มณเฑียรไม่คิดว่าตัวเองจะตาย ขณะอยู่ที่โรงพยาบาลยังคิดทำงานศิลปะอยู่อย่างไม่หยุดหย่อน จนในที่สุดท่านก็เสียชีวิตที่โรงพยาบาลศิริราชในวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2543 

แหวกแนวตั้งแต่เป็นนักศึกษา

ผลงานตั้งแต่สมัยเรียนของมณเฑียร บุญมา เห็นได้ชัดว่าท่านฉายแววแหวกแนวมาตั้งแต่แรกแล้ว เช่นสมัยตอนเป็นนักศึกษาปี 4 ที่ศิลปากร ขณะที่คนอื่น ๆ เขาวาดภาพส่งอาจารย์ มณเฑียรกลับไปต่อโต๊ะโดยใช้หลักเพอร์เสปกทีฟ หรือหลักการวาดที่ทำให้ภาพ 2 มิติให้ดูมีความลึกเหมือน 3 มิติ พอวาดรูปโต๊ะโดยใช้หลักการนี้ก็ดูปกติดี แต่พอมณเฑียรต่อโต๊ะขึ้นมาจริง ๆ เป็น 3 มิติ โดยใช้มุมและเส้นสายเดียวกับในภาพ โต๊ะที่ได้กลับเอียงกระเท่เร่ใช้งานไม่ได้จริง เป็นการพิสูจน์ว่าหลักการเพอร์เสปกทีฟเป็นเพียงการลวงตาในภาพ 2 มิติเท่านั้น หลักการดีทฤษฎีล้ำ แต่พอแบกโต๊ะไปส่งอาจารย์กลับไม่ผ่านซะอย่างนั้น 

ต่อมามณเฑียรได้แรงบันดาลใจใหม่กะว่าจะลองทำศิลปะอีโรติกดูบ้าง แทนที่จะวาดรูปโป๊โชว์นมโชว์เนิน ท่านกลับเอากล้องถ่ายรูปไปถ่ายซอกจั๊กกะแร้ ซอกเข่า ซอกแขนเพื่อน ถ่ายแบบซูมใกล้ ๆ ให้ดูคล้าย ๆ จะเป็นอวัยวะอื่นที่เป็นจุดซ่อนเร้น เสร็จแล้วล้างอัดภาพออกมาระบายสีเพื่มเติมก่อนยกไปส่งอาจารย์ 

พออาจารย์เห็นก็ยังไม่ให้ผ่านอีกตามระเบียบ มณเฑียรเลยต้องกลับไปสร้างผลงานชุดใหม่ คราวนี้ไปนั่งถ่ายภาพในสนามม้าเริ่มตั้งแต่ตอนอัฒจรรย์ร้างไม่มีคน ถ่ายไปเรื่อย ๆจนคนบนอัฒจรรย์แน่นขนัด เอาไปส่งอาจารย์ผลออกมาก็เป็นอีหรอบเดิมคือไม่ผ่าน 

มณเฑียรเห็นท่าไม่ดีขืนจะหลุดกรอบต่อไปอีกมีหวังได้ซ้ำชั้นแน่นอน ท่านจึงกลับมาวาดภาพส่งอาจารย์เหมือนเพื่อนคนอื่น ๆ แต่ก็ยังไม่วายขอแหวกแนวนิด ๆ โดยการใช้แอร์บรัชวาด ซึ่งสมัยนั้นยังไม่ค่อยมีใครเขาทำกัน ในที่สุดก็เลยรอดตัวเรียนจบมาจนได้ 

มณเฑียรคงจะรู้สึกอึดอัดเหมือนถูกบังคับ ภาพวาดสีน้ำมันชุดที่วาดตอนเรียนจบเลยเป็นภาพป้ายสัญลักษณ์จราจรที่ห้ามทำนู่นทำนี่ ในมุมมองผ่านรั้วเหล็กที่กั้นขวางห้ามเข้าซ้อนเอาไว้อีกชั้น และตั้งชื่อผลงานชุดนี้ว่า ‘กฎเกณฑ์ของสังคม’ หลังจากนั้นมณเฑียรก็สร้างผลงานภาพวาดออกมาอีกสองสามชุด 

ผ้าใบและสีคือกรอบของจินตนาการ

ถ้าเห็นแต่ผลงานยุคหลัง ๆ ของมณเฑียรอาจจะเข้าใจผิดคิดว่าท่านวาดภาพไม่เก่งเลยไปทำอย่างอื่นแทน แต่จริง ๆ แล้วมณเฑียรมีฝีมือในการวาดภาพมาก และแต่ละภาพก็มีแนวคิดลึกซึ้ง สาเหตุที่ท่านเลิกวาดภาพแล้วมาสร้างผลงานในรูปแบบใหม่เพราะมณเฑียรมองว่าผ้าใบและสีที่ใช้วาดนั้นเปรียบเสมือนกรอบที่จำกัดจินตนาการ พอคิดได้เช่นนี้แล้วผลงานในยุคต่อ ๆ มาของท่าน เลยสร้างอย่างนอกกรอบไปเลยจนคาดเดาไม่ได้ เริ่มด้วยผลงานชุด ‘โลกที่เปลี่ยนแปลง’ ที่ทำขึ้นมาในปี พ.ศ. 2526 และแสดงงานร่วมกันกับเพื่อน ๆ ศิลปิน ‘กลุ่มไวท์’ ที่มณเฑียรเป็นผู้ร่วมก่อตั้งและเป็นสมาชิก การแสดงในครั้งนั้น โจทย์ที่ศิลปินทุกคนในกลุ่มได้รับคือการสร้างสรรค์จิตรกรรมสีน้ำ 

แทนที่จะเอาพู่กันจุ่มสีแล้วป้ายลงบนกระดาษให้เป็นภาพเหมือนที่ปกติเขาทำกัน มณเฑียรไม่ได้คิดถึงพู่กันหรือแม้แต่สีเลยด้วยซ้ำ ท่านคิดว่าสีน้ำคืออะไรก็ได้ที่ใช้น้ำเป็นตัวทำละลาย คราวนี้ก็เลยเอาสนิมและครามมาละลายน้ำแทนสี ราดลงบนจานกระดาษที่มีเม็ดข้าวสารเรียงเป็นรูปสี่เหลียมสามเหลี่ยมเหมือนตามร้านอาหารที่ชอบเอาข้าวอัดลงถ้วยมาคว่ำใส่จานให้เป็นรูปทรงก่อนเอามาเสิร์ฟ บางจานเม็ดข้าวก็เรียงเป็นรูปปลาหัวหัก ๆ เหมือนปลาทูในเข่ง เสร็จแล้วเอาจานมาติดเรียงกันด้วยกาวที่ทำเองจากกระเจี๊ยบแบบช่างไทยสมัยโบราณ 

ผลงานชุดนี้มณเฑียรต้องการจะแสดงให้คนดูตระหนักว่าโลกที่เราอยู่นั้นกำลังถูกเปลี่ยนไปโดยอารยธรรมสมัยใหม่ ข้าวปลาที่เราทานกำลังถูกปนเปื้อนด้วย ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง และสารพิษอื่น ๆ 

‘มณเฑียร บุญมา’ ศิลปินไทยสุดล้ำสร้างงานลึกซึ้ง ผู้จะจบชีวิตตัวเอง ดีกว่าไปไม่ถึงฝัน

ภาพต่อ ๆ มาในชุดเดียวกันนี้ มณเฑียรใช้ยางรถมากลิ้งทับสีที่ยังไม่แห้งให้เกิดเป็นรอยบนกระดาษ โดยรอยล้อรถที่วิ่งไปสื่อถึงถนนหนทางสมัยใหม่ที่มาแทนที่ทางเกวียนและทางเท้าคุกคามความเป็นอยู่แบบเดิม ๆ ของคนไทย

ศิลปะเพื่อทุกประสาทสัมผัส

ผลงานของมณเฑียรมีความแปลกใหม่ขึ้นเป็นลำดับ จากงานจิตรกรรมภาพเขียน กลายเป็นศิลปะในรูปแบบสื่อผสมที่นำวัสดุต่าง ๆ มารวมกันเพื่อสร้างเป็นผลงานที่นับวันยิ่งมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ มณเฑียรเลือกเอาวัสดุอุปกรณ์ง่าย ๆ บ้าน ๆ ที่อยู่รอบตัวเราอย่างเช่น ดิน กระสอบ สุ่มไก่ ถังปูน ขี้เถ้า ฟาง ผงซักฟอก ลังไม้ ลังกระดาษ เทียนไข จอบ เสียมเครื่องปั้นดินเผา เขาควายมาสร้างเป็นผลงานศิลปะที่สะท้อนแง่มุมต่าง ๆ ในสังคมอย่างชาญฉลาด 

ผลงานในยุคหลัง ๆ ของมณเฑียรไม่เพียงแค่สัมผัสได้ด้วยตา แต่สามารถกระตุ้นประสาทสัมผัสอื่น ๆ ของคนดูไปได้พร้อม ๆ กัน ด้วยเสียงจากเทปที่เล่นคลอ ๆ ไว้ และกลิ่นอบอวลจากสมุนไพรที่เอามาฉาบไว้กับผลงาน 

‘มณเฑียร บุญมา’ ศิลปินไทยสุดล้ำสร้างงานลึกซึ้ง ผู้จะจบชีวิตตัวเอง ดีกว่าไปไม่ถึงฝัน

‘มณเฑียร บุญมา’ ศิลปินไทยสุดล้ำสร้างงานลึกซึ้ง ผู้จะจบชีวิตตัวเอง ดีกว่าไปไม่ถึงฝัน ตัวพ่อแห่งศิลปะแบบจัดวาง

มณเฑียรเป็นศิลปินที่มีความสามารถมากในการต่อยอดศิลปะแบบสื่อผสมโดยสร้างผลงานขึ้นมาเป็นพิเศษ แล้วนำไปวางตามสถานที่ที่เฉพาะเจาะจงให้เข้ากับสภาพแวดล้อมตรงนั้น หรือที่ตามตำราศิลปะเขาเรียกว่า ‘ศิลปะแบบจัดวาง’ ที่เก่งนี่ไม่ใช่เก่งระดับประเทศแต่เก่งระดับนานาชาติ จนถูกรับเชิญไปแสดงผลงานทั้งแบบแสดงเดี่ยวและแบบแสดงเป็นกลุ่มเคียงบ่าเคียงไหล่กับศิลปินเบอร์ต้น ๆ ของโลก ไปโชว์มาแล้วจนหมดแทบจะทุกที่ทั้งเกาหลี ญี่ปุ่น บราซิล เยอรมัน สิงคโปร์ ฟิลลิปปินส์ อินโดนีเซีย ฝรั่งเศส ออสเตรีย ออสเตรเลีย ฮ่องกง อเมริกา คิวบา แคนาดา อินเดีย ไต้หวัน อังกฤษ สวิสเซอร์แลนด์ และที่อื่น ๆ อีกร้อยแปด 

เอาเป็นว่าในยุคของท่าน มณเฑียร บุญมา เป็นศิลปินไทยที่ก้าวล้ำนำหน้าที่สุด โกอินเตอร์ไปได้ไกลที่สุดเท่าที่วงการศิลปะสมัยใหม่ของไทยเคยมีมา ถ้ามะเร็งไม่คร่าชีวิตของมณเฑียรไปซะก่อนในวัยแค่ 40 กว่า ๆ ยอมให้ท่านได้มีเวลาผลิตผลงานให้ชาวโลกได้ตะลึงต่อ รับประกันได้เลยว่า ป่านนี้มณเฑียรคงมีชื่อเสียงกระฉ่อนขึ้นอีกเป็นทวีคูณจนต้องถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ศิลปะของโลกแน่ ๆ

 

เรื่อง: ตัวแน่น
ภาพ: ไฟล์จาก The Art Auction Center