‘ชลูด นิ่มเสมอ’ จาก ‘เด็กมือบอน’ สู่ ‘บัณฑิตศิลปากรคนแรก’

‘ชลูด นิ่มเสมอ’ จาก ‘เด็กมือบอน’ สู่ ‘บัณฑิตศิลปากรคนแรก’

เรื่องราวของ ‘ชลูด นิ่มเสมอ’ เด็กชายผู้ถูกพ่อแม่ฟาดด้วยไม้เรียวอยู่เนือง ๆ เพราะมือบอนชอบเอาสีละเลงทั่วบ้าน สู่ ‘บัณฑิตศิลปากรคนแรก’ ศิษย์สายตรง ‘อาจารย์ศิลป์ พีระศรี’

  • จากเด็กเกกมะเหรกเกเร เมื่อได้เรียนศิลปะที่ตัวเองชอบ ชลูดก็กลายเป็นนักเรียนยอดขยันที่มีผลการเรียนดีไปโดยอัตโนมัติ
  • ชลูดได้รับการบ่มเพาะความรู้ทางด้านศิลปะโดยตรงจาก ‘อาจารย์ศิลป์ พีระศรี’ จนมีฝีมือแก่กล้า 
  • ผลงานที่เป็นซิกเนเจอร์ของชลูดคือภาพเด็กผู้หญิงผมม้าเต่อในอิริยาบถต่าง ๆ ที่แปลกดีคือท่านก็ได้ลูกสาวน่ารัก ที่มีหน้าตาและทรงผมละม้ายคล้ายกับเด็กผู้หญิงที่ท่านเคยวาดมาโดยตลอด

เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2472 เด็กชายชลูดได้ถือกำเนิดขึ้นมาในครอบครัวชาวสวน ท่ามกลางพี่น้องอีก 7 คน ณ บ้านในตำบลบางแวก อำเภอภาษีเจริญ จังหวัดธนบุรี ในวัยเด็ก ชลูดเป็นเด็กมือบอน ชอบเอาถ่าน เอาชอล์ก เอาสีมาละเลงลงบนสมุด หนังสือ หรือแม้แต่กำแพงบ้านซะเละ ส่วน โต๊ะ ตู้ เตียง ก็ไม่รอด เด็กชายชลูดจัดการเอามีดมาบากมาแกะ เป็นเหตุให้ต้องโดนพ่อแม่จัดการด้วยไม้เรียวอยู่เนือง ๆ

ชลูดเข้าเรียนชั้นประถมและมัธยมที่โรงเรียนวัดนวลนรดิศ พอเรียนจบช่วงนั้นเป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้ข้าวยากหมากแพง ชลูดจึงต้องช่วยแบ่งเบาภาระที่บ้านโดยเริ่มทำงานเป็นครูประชาบาลที่โรงเรียนวัดโตนด รับเงินเดือน 40 บาทอยู่สักพัก ก่อนจะไปสมัครเป็นนักเรียนจ่าทหารเรือ ชลูดไม่ได้จะไปสู้รบอะไรกับใครเขาหรอก ที่ไปเรียนเป็นทหารเพราะที่นั่นเขาแจกข้าวฟรี และมีเสื้อผ้าให้ใส่ ด้วยความเกเรเข้าเรียนบ้างไม่เรียนบ้าง สุดท้ายจึงโดนไล่ออก 

หลังจากนั้นชลูดเลยไปอาศัยวัดอยู่ เวลาว่างก็นั่งวาดรูป จนวันหนึ่งมีกลุ่มนักเรียนเพาะช่างมาเห็นฝีมือการวาดของชลูดเข้า เลยชวนให้ไปเรียนศิลปะที่โรงเรียนเพาะช่างจะได้ยิ่งเก่ง ๆ ขึ้นไปอีก ชลูดสอบเข้าโรงเรียนเพาะช่างได้อย่างง่ายดาย แถมยังสอบได้คะแนนสูงที่สุดอีกต่างหาก ทางโรงเรียนเลยมอบทุนให้เรียนฟรี จากเด็กเกกมะเหรกเกเร เมื่อได้เรียนศิลปะที่ตัวเองชอบ ชลูดก็กลายเป็นนักเรียนยอดขยันที่มีผลการเรียนดีไปโดยอัตโนมัติ 

ชลูดเรียนอยู่ที่โรงเรียนเพาะช่างได้ 2 ปี ก็สอบเทียบโอนย้ายหน่วยกิจมาเรียนต่อที่คณะจิตรกรรมและประติมากรรม มหาวิทยาลัยศิลปากรที่เพิ่งตั้งขึ้นมาใหม่ ๆ ที่ศิลปากร ชลูดได้รับการบ่มเพาะความรู้ทางด้านศิลปะโดยตรงจาก ‘อาจารย์ศิลป์ พีระศรี’ จนมีฝีมือแก่กล้า 

‘ชลูด นิ่มเสมอ’ จาก ‘เด็กมือบอน’ สู่ ‘บัณฑิตศิลปากรคนแรก’

ในขณะที่ยังเป็นนักศึกษา ชลูดลองส่งผลงานศิลปะเข้าประกวดในงานแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 4 เมื่อ พ.ศ. 2496 และได้รับเหรียญทองแดงจากภาพทุ่งนาที่วาดด้วยสีน้ำ นับเป็นรางวัลระดับชาติรางวัลแรกในชีวิต ปีถัดมาชลูดก็เรียนจบแบบสบาย ๆ ได้รับปริญญาเกียรตินิยมอันดับ 1 และเป็นบัณฑิตคนแรกของมหาวิทยาลัยศิลปากร

กวาดรางวัลมาแล้วทั่วสารทิศ

หลังได้ปริญญา ชลูดก็ไม่หนีไปไหน ท่านเข้ารับราชการช่วยอาจารย์ศิลป์สอนศิลปะที่มหาวิทยาลัยศิลปากร

ในปี พ.ศ. 2498 เมื่อมีการจัดงานแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 6 ท่านก็ไม่พลาดที่จะส่งผลงานเข้าประกวดอีก ในขณะที่ศิลปินคนอื่น ๆ เขาส่งผลงานเข้าประกวดทีละประเภท เลือกเอาแต่ที่ตัวเองถนัด แต่ชลูดเก่งจัดถนัดหมด เลยส่งผลงานเข้าประกวดแทบจะครบทุกประเภท ทั้งวาดเส้น ทั้งวาดภาพสีน้ำมัน ทั้งปั้นดิน ในปีนั้นท่านจึงรับไปคนเดียวเลย 3 รางวัล โดยได้เหรียญทองประเภทเอกรงค์ จากผลงานวาดเส้น ภาพป่ามรสุม, เหรียญเงิน ประเภทจิตรกรรม จากภาพวาดสีน้ำมัน ภาพครอบครัวชาวนาไทย และเหรียญเงินประเภทประติมากรรม จากรูปปั้นเด็กผู้หญิงนั่งเท้าคางที่ตั้งชื่อว่า ‘คิด’ 

และในงานแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งถัดมา ชลูดก็ยังส่งผลงานหลากหลายประเภทเข้าประกวดตามเคย และก็ไม่ผิดหวัง ได้รับรางวัลเหรียญทองจากผลงานภาพพิมพ์ ที่มีชื่อว่า ‘มื้อค่ำ’ และเหรียญเงินจากผลงานประติมากรรมแกะสลักไม้รูปผู้หญิงนอนตะแคงชื่อว่า ‘ความบริสุทธิ์แห่งธรรมชาติ’ ร่วมประกวดแค่ไม่กี่ปีก็ได้รางวัลการันตีมาเป็นกุรุส 

ด้วยแววความสามารถที่เจิดจรัสเฉิดฉาย ในปี พ.ศ. 2499 ชลูดได้รับทุนให้ไปเรียนต่อที่สถาบันวิจิตรศิลป์ ณ กรุงโรม ประเทศอิตาลีเป็นเวลา 2 ปี ที่นั่นท่านได้เรียนรู้เทคนิคใหม่ ๆ มากมายโดยเฉพาะการทำภาพพิมพ์ และการทำเซรามิก ชลูดได้จัดแสดงผลงานศิลปะแบบเดี่ยวเป็นครั้งแรกที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส โดยขนเอาไปโชว์ทั้งผลงานจิตรกรรม ภาพพิมพ์ หรือแม้แต่ถ้วยชามรามไหที่ชลูดออกแบบปั้นขึ้นมาเองก็มี 

เมื่อชลูดกลับมาจากยุโรป พอดีมีการจัดงานแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 10 ในปี พ.ศ. 2502 ท่านก็เลยส่งผลงานเข้าประกวดด้วย คราวนี้ได้รับรางวัลชนะเลิศเหรียญทองประเภทจิตรกรรม จากภาพ ‘แม่ค้าปลา’ นับนิ้วรวมรางวัลที่ชลูดเคยได้รับทั้งหมดดูแล้วพบว่าถึงเกณฑ์ ชลูดจึงได้รับยกย่องให้เป็นศิลปินชั้นเยี่ยมของชาติอย่างเป็นเอกฉันท์ ตามกฎที่ตั้งไว้ ศิลปินชั้นเยี่ยมห้ามส่งผลงานเข้าประกวดอีก ให้เอามาโชว์ได้เท่านั้น ในงานปีถัด ๆ มา ชลูดจึงเข้าร่วมในฐานะกรรมการตัดสินแทน 

นอกจากผลงานที่ชลูดส่งเข้าประกวดในเมืองไทยแล้ว ท่านยังโกอินเตอร์โดยการเข้าร่วมแข่งขันในระดับโลก และได้รับรางวัลจากผลงานภาพพิมพ์ที่ส่งไปประกวดที่ประเทศยูโกสลาเวีย และประเทศญี่ปุ่นด้วย

ในปี พ.ศ. 2507 ชลูดได้ทุนไปศึกษาดูงานที่ต่างประเทศอีกครั้ง คราวนี้ได้ไปเยือนประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นเวลา 6 เดือน การไปใช้ชีวิต ณ ต่างแดนในครั้งนั้นชลูดเน้นศึกษาเทคนิคภาพพิมพ์เป็นพิเศษ ไปดูสตูดิโอ ทดลองเครื่องมือ และพบปะขอความรู้จากศิลปินชั้นนำของบ้านเขา จนเข้าใจทะลุปรุโปร่ง พอกลับมาก็ริเริ่มก่อตั้งภาควิชาภาพพิมพ์ ที่มหาวิทยาลัยศิลปากรได้เป็นผลสำเร็จ 

รูปเด็กผู้หญิงผมม้าอันคุ้นตา

ในเรื่องผลงานศิลปะของชลูด สำหรับใครก็แล้วแต่ ไม่ว่าจะสนใจหรือไม่สนใจศิลปะ จะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม รับประกันว่าคงเคยเห็นผลงานของท่านอยู่แล้ว ที่เห็นเด่นชัดที่สุดด้วยขนาดและโลเคชั่นก็น่าจะเป็นประติมากรรมสีทองยอดแหลม ๆ คล้าย ๆ เปลวเพลิง ขนาดสูงพอ ๆ กับตึกที่เคยตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่หน้าศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ หรือประติมากรรมรูปเงินพดด้วงที่ตั้งอยู่หน้าสำนักงานของธนาคารกสิกรไทย บนถนนพหลโยธิน 

‘ชลูด นิ่มเสมอ’ จาก ‘เด็กมือบอน’ สู่ ‘บัณฑิตศิลปากรคนแรก’

ผลงานของชลูดสร้างสรรค์ด้วยเทคนิคมากมายหลากหลายเหลือเกิน มีทั้งวาดสีน้ำมัน วาดสีน้ำ วาดเส้น ปั้นดิน แกะสลักไม้ ปั้นถ้วยชามเซรามิก ทำภาพพิมพ์ ถ่ายภาพ หรือเอาของต่าง ๆ มารวม ๆ กันทำเป็นศิลปะแบบสื่อผสม รูปลักษณ์ของผลงานศิลปะก็มีทั้งแบบเหมือนจริงดูง่าย ๆ และแบบนามธรรมให้ไปคิดต่อเอาเอง แต่ที่เห็นบ่อยและคุ้นตาที่สุดจนเรียกได้ว่าเป็นซิกเนเจอร์ของท่านไปแล้วก็ได้คือภาพเด็กผู้หญิงผมม้าเต่อในอิริยาบถต่าง ๆ ที่แปลกดีคือชลูดทั้งวาดทั้งปั้นเด็กหน้าตาแบบนี้มาตั้งแต่สมัยตอนที่ท่านยังเป็นนักศึกษา พอเรียนจบมามีครอบครัว ท่านก็ได้ลูกสาวน่ารัก ที่มีหน้าตาและทรงผมละม้ายคล้ายกับเด็กผู้หญิงที่ท่านเคยวาดมาโดยตลอด 

‘ชลูด นิ่มเสมอ’ จาก ‘เด็กมือบอน’ สู่ ‘บัณฑิตศิลปากรคนแรก’

‘ชลูด นิ่มเสมอ’ จาก ‘เด็กมือบอน’ สู่ ‘บัณฑิตศิลปากรคนแรก’

เหมาะจะเป็นศิลปินแห่งชาติทุกสาขา

ในชีวิตการทำงาน ชลูดสร้างสรรค์ผลงานศิลปะควบคู่ไปกับการรับราชการในตำแหน่งต่าง ๆ เป็นทั้งหัวหน้าภาควิชา เป็นทั้งคณบดี ทั้งสอน ทั้งบริหารในมหาวิทยาลัยศิลปากร สร้างศิลปินขึ้นมานับหน้าไม่ถ้วนจนกระทั่งเกษียณอายุ ด้วยคุณสมบัติอันพรั่งพร้อม ในปี พ.ศ. 2541 ชลูดจึงได้รับการเชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ประติมากรรม ด้วยความสามารถที่รอบด้านของชลูด เราว่าท่านน่าจะได้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ประเภทเหมาหมดด้วยซ้ำไป 

ในวัยชรา ชลูดยังคงใช้เวลาส่วนใหญ่สรรสร้างผลงานศิลปะ และเขียนตำรับตำราเผยแพร่ความรู้จวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2558 สิริอายุได้ 86 ปี

 

เรื่อง: ตัวแน่น
ภาพ: ไฟล์จาก The Art Auction Center