15 มี.ค. 2567 | 15:56 น.
KEY
POINTS
ก่อนหน้านี้ The People ได้นำเสนอเรื่องราวของ ‘สมโภชน์ อุปอินทร์’ ศิลปินที่มีชื่อเสียงในหมู่นักสะสมและเหล่าภัณฑารักษ์สายเอเชีย ซึ่งใช้ภาพวาดสวย ๆ ฝีมือของตัวเอง จำนวน 100 ภาพ หมั้นหมายกับนักศึกษาสาวคนสวยที่เขาตกหลุมรักระหว่างเรียนปั้นด้วยกัน
นักศึกษาสาวคนที่ว่า ไม่ได้มีดีแค่หน้าตาที่สวยงามระดับนางเอกทีวี แต่ยังมีดีกรีเป็น ‘บัณฑิตหญิงคนแรกจากรั้วศิลปากร’ และลูกศิษย์คนสนิทของ ‘อาจารย์ศิลป์ พีระศรี’
เธอคนนั้นคือ ‘ลาวัณย์ อุปอินทร์’ ศิลปินแห่งชาติผู้อุทิศให้วงการศิลปะมาทั้งชีวิต
‘ลาวัณย์ อุปอินทร์’ นามสกุลเดิม ‘ดาวราย’ เกิดเมื่อ พ.ศ. 2478 เป็นหนึ่งในลูก ๆ 9 คนของพลเรือโท ศรี ดาวราย และหม่อมราชวงศ์ อบลออ สุบรรณ ซึ่งมีศักดิ์เป็นเหลนของในหลวงรัชกาลที่ 3
ลาวัณย์ชอบวาดภาพโดยเฉพาะภาพคนมาตั้งแต่เล็ก ในปี พ.ศ. 2495 พอจบมัธยมจากโรงเรียนสตรีวัดระฆัง ทั้ง ๆ ที่ทางบ้านไม่ปลื้มที่จะให้เรียนศิลปะ ท่านก็แอบไปสอบเข้าโรงเรียนเตรียมศิลปากร ผลปรากฏว่าสอบได้ที่ 1 ได้เข้าเรียนสมใจ และในอีก 2 ปีต่อมาก็ได้เรียนต่อที่มหาวิทยาลัยศิลปากรตามที่ตั้งใจไว้
ในระหว่างที่เรียนมหาวิทยาลัย ลาวัณย์ต้องเลือกวิชาหลักว่าจะจบไปเป็นนักปั้นหรือนักวาด เพราะได้รับคำแนะนำจาก ‘อาจารย์ศิลป์ พีระศรี’ ว่าผู้หญิงตัวเล็ก ๆ ถ้าได้ปั้นอนุสาวรีย์ใหญ่ ๆ ใครมารู้เข้าจะน่าประทับใจแค่ไหน ท่านเลยตัดสินใจเลือกเรียนปั้น
แต่ด้วยอากาศในโรงปั้นที่อับชื้นเฉอะแฉะ และงานที่หนักหนาทำให้โรคประจำตัวของลาวัณย์กำเริบจนป่วยหนัก หมอสั่งห้ามกลับไปเรียนปั้นโดยเด็ดขาด ท่านเลยจำใจต้องเปลี่ยนมาเลือกเรียนวิชาวาดภาพระบายสีเป็นวิชาหลัก
ลาวัณย์เรียนจบในปี พ.ศ. 2503 นับเป็นบัณฑิตหญิงคนแรกของประเทศไทยที่จบจากมหาวิทยาลัยศิลปากร
ด้วยฝีมือที่เก่งกาจเกินนักเรียน ลาวัณย์ได้ผ่านการคัดเลือกให้บรรจุเข้าเป็นครูที่คณะจิตรกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากรตั้งแต่ก่อนจะเรียนจบแล้ว และหลังจากจบปริญญาท่านก็ยังคงทำหน้าที่นี้ต่อในตำแหน่งครูผู้ช่วยอาจารย์ศิลป์ พีระศรี เพราะอาจารย์ศิลป์เป็นฝรั่งพูดไทยไม่ชัด งานหลักอีกอย่างของลาวัณย์คือแปลไทยเป็นไทยให้คนอื่นที่ไม่คุ้นกับสำเนียงของอาจารย์ได้เข้าใจถูกต้องอย่างที่อาจารย์อยากจะสื่อสาร
เช่นครั้งหนึ่งอาจารย์ศิลป์สอนเกี่ยวกับวัดสุทัศน์ในอียิปต์ นักเรียนต่างก็งงเป็นไก่ตาแตกว่าอียิปต์จะไปมีวัดสุทัศน์ได้อย่างไร แต่จริง ๆ แล้วอาจารย์ศิลป์ต้องการจะพูดว่า ‘วัตถุธาตุ’ ไม่ใช่ ‘วัดสุทัศน์’
หรือเวลาที่อาจารย์ศิลป์พูดถึงอนุสาวรีย์ ‘คนขี้หมา’ อาจารย์ต้องการจะพูดถึงอนุสาวรีย์ ‘คนขี่ม้า’ ส่วนชื่อนักเรียนบางครั้งอาจารย์ศิลป์ก็ออกเสียงไม่ถูกอย่างเช่น ชื่อ ‘นงเยาว์’ อาจารย์ก็มักจะเรียกว่า ‘นมยาว’ อยู่บ่อย ๆ
อาจารย์ศิลป์ พีระศรี เวลาปกติจะเป็นคนใจดีสุด ๆ แต่เวลาโกรธ ก็ดุสุด ๆ เช่นเดียวกัน แต่นั่นก็ไม่ใช่ปัญหา เพราะลาวัณย์ลูกศิษย์คนสนิทนั้นรู้มุมและทางหนีทีไล่เป็นอย่างดี
เช่นในเช้าวันหนึ่งอาจารย์ศิลป์มาเล่าในชั้นเรียนให้ลูกศิษย์ฟังว่าได้ไปดูหนังเรื่อง ‘แฟนตาเซีย’ มา สนุกอย่างงู้นอย่างงี้ ลูกศิษย์พอได้ฟังก็ทำตาลอยอ้าปากหวอไม่รู้ว่าดีอย่างไร เพราะไม่ได้ไปดูด้วย อาจารย์ศิลป์เห็นอย่างนั้นเลยแจกสตางค์ให้นักเรียนไปดูหนัง แสบแต่จริง แทนที่เหล่าลูกศิษย์บังเกิดเกล้าจะรอหลังเลิกเรียนแล้วค่อยไปดูหนัง ลาวัณย์และผองเพื่อนกลับพร้อมใจกันโดดเรียนไปดูหนังกันทั้งบ่ายนั้นเลย
อาจารย์ศิลป์มาพบห้องเรียนว่างเปล่าไม่มีสิ่งมีชีวิต ก็โกรธเป็นฟืนเป็นไฟ กะว่าเจอหน้าลูกศิษย์แก๊งนี้อีกทีจะดุซะให้เข็ด แต่ลาวัณย์และเพื่อน ๆ ก็ทำการบ้านมาดี พอเจออาจารย์ศิลป์อีกทีเลยชิงตัดหน้าชวนคุยเรื่องราวรายละเอียดและความประทับใจจาก ‘แฟนตาเซีย’ เสียก่อน ทำให้อารมณ์อาจารย์เปลี่ยนจากร้ายกลายเป็นดี พ้นภัยไปได้อย่างฉิวเฉียด
ในเรื่องหน้าที่การงาน นอกจากจะเป็นครูในรั้วมหาวิทยาลัยแล้ว ลาวัณย์ได้สอนศิลปะให้กับคนดูทั่วประเทศออกอากาศเป็นประจำทางทีวีช่อง 4 บางขุนพรหมอยู่นับสิบปี และด้วยรูปโฉมงดงามระดับซุป’ตาร์ ท่านยังเคยได้รับบทเป็นนางเอกละครทีวีเรื่อง ‘ไอด้า’ อีกด้วย
ลาวัณย์แสดงไปแค่เรื่องเดียวก็ไม่รับงานละครอีก ทั้ง ๆ ที่มีผู้กำกับติดต่อทาบทามมาอีกมากมาย เพราะท่านไม่อยากจะเป็นดาราแต่มีใจรักที่จะเป็นจิตรกรและครูสอนศิลปะมากกว่า
ในสมัยก่อนเมืองไทยมีทีวีแค่ช่องเดียว ฉะนั้นถ้าบ้านไหนมีทีวี รับประกันว่าบ้านนั้นต้องเคยเห็นลาวัณย์แน่นอน
ลาวัณย์สมัยสาว ๆ นั้น ต้องบอกว่ามีเสน่ห์สุด ๆ ก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลก เพราะท่านออกจะสวย เก่ง และดังซะขนาดนั้น หัวกระไดบ้านลาวัณย์นี้ไม่เคยแห้ง หนุ่ม ๆ ทั่วทั้งสารทิศต่างแวะเวียนมาแจกขนมจีบอยู่อย่างไม่ขาดสาย
แต่ลาวัณย์ไม่ได้สนใจจะหาคู่ครองที่ตำแหน่งหน้าที่หรือทรัพย์สินเงินทอง ท่านชอบผู้ชายที่เก่ง ‘สมโภชน์ อุปอินทร์’ ศิลปินที่มากความสามารถจึงเป็นผู้โชคดีท่านนั้น
ท่านเล่าว่าสมโภชน์ไม่ใช่คนมีฐานะอะไร เงินจะซื้อแหวนเพชรให้ก็ไม่มี ลาวัณย์เลยขอของหมั้นเป็นภาพวาด 100 ภาพแทน ทั้งคู่แต่งงานกันและมีทายาท 2 คน
ในเรื่องศิลปะ ผลงานของลาวัณย์ก็เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางไม่แพ้ตัวคนวาด ลาวัณย์ได้เข้าร่วมงานแสดงศิลปะทั้งงานเล็กงานใหญ่อยู่เสมอ ๆ จนครั้งหนึ่งในหลวงรัชกาลที่ 9 พร้อมทั้งสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงเสด็จฯ มาเปิดงานแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ในงานมีผลงานศิลปะต่าง ๆ ขนเอามาโชว์กันนับร้อย ๆ ชิ้น ผลงานมากมายในงานนั้นเป็นแนวนามธรรมที่ดูไม่ค่อยจะรู้เรื่อง พอสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงทรงเห็นผลงานของลาวัณย์ที่เป็นภาพเหมือนบุคคล ดูสวยงาม แสดงอารมณ์ และเข้าใจง่ายก็รู้สึกถูกพระทัย จึงให้ลาวัณย์เข้าเฝ้าฯ และตรัสกับลาวัณย์ว่า “รู้ไหมฉันเป็นแฟนอาจารย์ด้วย” เพราะทรงคุ้นหน้าคุ้นตาลาวัณย์จากรายการทางทีวี หลังจากนั้นท่านก็เลยมีโอกาสได้ถวายงานในหลวงรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงอยู่เสมอ ๆ โดยการวาดภาพตามพระกระแสรับสั่งเพื่อนำไปประดับตกแต่งในพระตำหนักน้อยใหญ่ และเป็นผู้ถวายคำแนะนำในด้านศิลปะให้กับทั้ง 2 พระองค์
ชีวิตของลาวัณย์นั้นไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเสมอไป ท่านต้องพบกับมรสุมทางการเมืองอยู่บ่อยครั้งในช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 และ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ลาวัณย์ต้องหลบ ๆ ซ่อน ๆ เพราะถูกกล่าวหาว่าสนับสนุนรัฐบาลเผด็จการ และเป็นพวกฝักใฝ่คอมมิวนิสต์ ทั้งที่ตัวท่านเองก็ยังสงสัยว่าไปเกี่ยวข้องอะไรกันด้วย มิหนำซ้ำหลังจากนั้นไม่นานยังมีเหตุขัดแย้งภายในมหาวิทยาลัยศิลปากรอีก ลาวัณย์จำใจต้องออกจากมหาวิทยาลัยไปตั้งหลักอยู่พักใหญ่ ถือเป็นช่วงชีวิตที่ยากลำบาก ไม่มีรายได้เลี้ยงปากท้องและครอบครัว แต่โชคยังดีที่สวรรค์มีตาด้วยความช่วยเหลือของผู้ใหญ่และมิตรสหาย ลาวัณย์ได้กลับเข้ามาสอนที่มหาวิทยาลัยศิลปากรอีกครั้ง และร่วมสร้างบัณฑิตอยู่ในรั้วศิลปากรจวบจนท่านเกษียณอายุ
ทุกวันนี้ลาวัณย์ยังสร้างสรรค์ผลงานศิลปะอย่างไม่หยุดหย่อนเช่นเดียวกับที่ท่านทำมาเสมอ ๆ ถึงแม้จะมีโรครุมเร้าทำให้มือสั่นวาดภาพยากลำบากกว่าเมื่อก่อน แต่ท่านก็ไม่ย่อท้อ ด้วยความมุ่งมั่นที่จะทำงานศิลปะ และเผยแพร่ความรู้ให้กับสังคมและลูกศิษย์ลูกหานับพันนับหมื่นเป็นเวลาเกือบทั้งชีวิต จึงสมควรแล้วที่ท่านจะได้รับยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติ เมื่อปี พ.ศ. 2559 เป็นปูชนียบุคคลแบบอย่างให้กับศิลปินรุ่นหลังได้ดำเนินรอยตาม
เรื่อง : ตัวแน่น
ภาพ : https://theartauctioncenter.com/