31 ม.ค. 2568 | 16:00 น.
เราอยู่ในนิทรรศการโหราศาสตร์น่ำเอี๊ยง ‘Num Eiang Exhibition 2025 : The Gate to Prosperity’ ริเวอร์ ซิตี้ ห้อง 248 คราคร่ำไปด้วยผู้คนมากหน้าหลายตาที่สวมใส่เสื้อผ้าสีมงคลร่วมงานอย่างล้นหลาม ระหว่างกำลังเดินชมผลงานศิลปะ ซึ่งได้ศิลปินหนุ่มมากความสามารถอย่าง ‘ไฮฟราย - พุฒิพงศ์ ปรารถนวนิช’ ในวัย 24 ปีมาสร้างสรรค์ผลงาน รู้ตัวอีกทีเราก็หยุดอยู่หน้าห้อง และพูดคุยกับเขาเป็นเวลาร่วมชั่วโมง
ขอสารภาพตามตรงว่า ตอนที่คุยเรายังไม่รู้ชื่อแซ่เขาดี กว่าจะทำความรู้จักอย่างเป็นทางการก็กินเวลาไปครึ่งค่อนบทสนทนา ส่วนหนึ่งที่ทำให้เราคุยกันอย่างลื่นไหลคงเป็นเพราะความสดใสของชายหนุ่มตรงหน้า เขากระตือรือร้น แววตาเปล่งประกายทุกครั้งที่พูดถึงงานศิลปะ และมักจะหัวเราะชอบใจกับเรื่องราวในอดีตที่เคยพลาดของตัวเองอยู่เสมอ นั่นแหละทำให้ศิลปินที่ชื่อ ‘ไฮฟราย’ ยิ่งน่าสนใจเข้าไปอีก จนบอกตัวเองซ้ำ ๆ ว่า เราคงได้เจอเพชรเม็ดงามเข้าให้แล้ว
The People ชวนไฮฟรายมามาพูดคุยถึงเส้นทางการเป็นศิลปินในครอบครัวลูกหลานชาวจีน อะไรทำให้เด็กหนุ่มที่เคย ‘กลัว’ และ ‘ขาดความมั่นใจ’ จนไม่กล้าวาดภาพตามใจตัวเอง มาสู่วันที่ทลายกฎเกณฑ์ทุกอย่าง กลายเป็น HIFLY พร้อมโบยบินออกจากกรอบความกลัวอย่างในทุกวันนี้
ไฮฟรายเป็นหลานคนที่ 7 ของตระกูลปรารถนวนิช ลูกชายคนโตในครอบครัวนักธุรกิจชาวจีน พ่อเป็นชาวจีนแต้จิ๋ว ส่วนแม่เป็นคนไหหลำ และมีน้องสาวหนึ่งคนที่เขารักสุดใจ ไฮฟรายเล่าว่ากว่าจะมาเป็นศิลปินอย่างในทุกวันนี้ เขาเองเคยไม่รู้ว่าอยากทำอะไรมาก่อน หลังเรียนจบจากโรงเรียนรุ่งอรุณ พ่อกับแม่เริ่มถามถึงเส้นทางในอนาคตของลูกชาย เขายอมรับว่าอยากจะหยุดเรียนเอาไว้เท่านี้ เพราะไม่รู้จริง ๆ อยากอยากเดินทางไปไหน รู้เพียงอย่างเดียวคือเขาชอบวาดภาพ จนตัดสินใจว่าจะไปเรียนต่อต่างประเทศ โดยเลือกเรียนคณะ Computer Animation มหาวิทยาลัย Full Sail University ประเทศสหรัฐอเมริกา ควบคู่กับการทำงานศิลปะไปด้วย
หลังจากใช้ชีวิตอยู่ต่างประเทศได้เพียงหกเดือน สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็รุนแรงมากขึ้น เขาตัดสินใจเก็บกระเป๋ากลับบ้าน จำใจต้องเรียนออนไลน์จนได้รับใบปริญญาอย่างใจหวัง ระหว่างนี้ ชื่อเสียงของเขาเริ่มเป็นที่รู้จักในเมืองไทยมากขึ้น หลังจากรับวาดภาพ commission โดยผ่านคนรู้จักและใช้ Instagram ส่วนตัวเป็นแพลตฟอร์มในการแสดงผลงาน ผลงานของเขาถูกนำไปแสดงที่รีสอร์ทบนเกาะยาวน้อย จังหวัดกระบี่ ได้ร่วมงานกับแบรนด์ระดับประเทศ และยังกำลังถูกจับตามองจากวงการศิลปะจากต่างประเทศอย่างอิตาลีและสวิตเซอร์แลนด์อีกด้วย
ไฮฟรายเป็นคนแรกของตระกูลที่เลือกเรียนศิลปะ ไม่แน่ใจนักว่าเลือดศิลปินที่เขาได้รับนั้นมาจากใครกันแน่ แน่นอนว่าช่วงแรกที่เลือกด้านนี้ครอบครัวเป็นกังวลไม่น้อยว่าจะมีเงินพอยาไส้หรือเปล่า แต่เขาก็สามารถพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า การเป็นศิลปินในประเทศไทยไม่ได้เลวร้ายจนเกินไปนัก
“คำพูดของที่บ้านเขาเปลี่ยนนะ จากเมื่อก่อนเขาจะเข้ามาถามว่าเราทำอะไร วาดอะไรอยู่ แต่เดี๋ยวนี้กลายเป็นว่า ‘กินข้าวเยอะ ๆ นะ จะได้มีแรงวาดรูป’ อะไรประมาณนี้ มันค่อย ๆ เปลี่ยน
“ถ้าถามว่าเคยทะเลาะกันรุนแรงมั้ย (นิ่งคิด) ต้องถามว่ารุนแรงขนาดไหน” ไฮฟรายยิ้มตาหยี ก่อนจะบอกว่าเขาไม่เคยคิดว่ามันเป็นเรื่องรุนแรงแต่อย่างใด เพราะเข้าใจดีว่าที่บ้านเป็นห่วงลูกชายจึงอยากให้ลูกคนนี้มีงานมีการทำอย่างมั่นคง
“เราแค่ไม่อยากทำตามครรลอง เราอยากทำแล้วก็ทำให้มันเกิดขึ้น และชัดเจนในสิ่งที่ทำให้ที่บ้านเห็นว่าเราจริงจังกันมันไม่ได้ทำเล่น ๆ”
แต่กว่าไฮฟรายจะเจอลายเส้นที่ใช่ เขาเคยหลงทางมามากไม่น้อย “เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าลายเส้นของเราเรียกว่าอะไร”
“แต่มันเหมือนเบิกเนตรตอนเรียนศิลปะ ถามครูว่าเราจะรู้ได้ยังไงว่ามันเป็นสไตล์ของเราแล้วจริง ๆ ครูเลยให้คำง่าย ๆ ว่า ‘แล้วมึงมีแพชชั่นกับอะไร’ เราเลยคิดว่าคงเป็นเรื่องของสีสัน ฟอร์ม แล้วก็แพทเทิร์น 3 อย่างนี้แหละที่เราชอบ บวกกับเป็นคนที่ชอบวาดภาพสัตว์ประหลาดพอมันรวมกันเลยเหมือนเป็นตัวเรา เป็นงานของเราจริง ๆ”
เขาไม่เคยนิยามว่าสไตล์ของตัวเองเรียกว่าอะไร แต่มีหลายคนบอกว่า งานของเขาคือ อินดี้ป๊อปนอกกระแส ด้วยสีสันสดใส บางครั้งก็ออกไปทางฉูดฉาดกระแทกตา นับเป็นการใช้สีที่ดึงความสนใจจากคนเสพย์งานศิลป์ได้อยู่หมัด
“เราใช้เวลาบ่ม 5 ปีเลยนะ” ไฮฟรายบอก
“แต่ก่อนจะมาวาดภาพเราพับกระดาษโอริกามิ พับเก่งมาก มังกร ไดโนเสาร์ได้หมดเลย แต่พอมาถึงจุดหนึ่ง มันต้องเลือกว่าต้องทำมาหากินละ เราจะไปทางไหน สุดท้ายก็เลือกวาดรูป พับกระดาษมันน่าจะยากและใช้เวลามากเกินไป”
ส่วนภาพแรกที่ไฮฟรายวาดและยังทำให้เขาจำมาได้จนถึงทุกวันนี้ คือ ศิลปะบนตู้เสื้อผ้า “ป๊าม๊าบ่นใหญ่ (หัวเราะ) เขาเลยส่งเราไปเรียนศิลปะจะได้ไม่ต้องมาวาดบนข้าวของที่บ้าน”
เงิน คือสิ่งที่ทำให้เขามีชีวิต
ศิลปะ คือจิตวิญญาณ
เมื่อสองสิ่งไปด้วยกันได้ ไฮฟรายจึงยังคงไม่หายไปไหน และพยายามทำทุกอย่างให้ครอบครัวเห็นว่า เขาสามารถดูแลตัวเองผ่านงานศิลปะเหล่านี้ได้
“นอกจากวาดภาพแล้ว เราต้องเป็นนักการตลาดด้วยนะ ทำบัญชีเองทุกอย่าง จัดการเองหมดเลย ซึ่งตอนแรกนึกว่าจะทำแค่งานศิลปะแหละ แต่ไป ๆ มา ๆ อ้าว ต้องเป็นมาร์เก็ตติ้งด้วย ชิบหาย! ทำเองหมดเลย”
แม้จะต้องทำงานสารพัดอย่าง ดูแลตัวเองแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่กว่าจะมาถึงจุดนี้ เขาเองเคยทะเลาะกับบ้านอย่างหนัก เพราะงานที่ทำ “เราเพิ่งมาสนิทกับครอบครัวตอนโต เขาคือผู้ให้กำเนิดเรา เขาคือส่วนสำคัญในชีวิตเรา ดังนั้นเราเลยสนิทกับครอบครัวมาก เป็นสิ่งที่ทำให้เราสามารถทำทุกอย่างได้ตามต้องการ มันเหมือนเป็นไฟให้เราสามารถทำงานได้เต็มที่โดยไม่ต้องห่วงอะไร
“พอรู้แบบนั้นก็ยิ่งรักครอบครัวมันเป็นรักบริสุทธิ์ รักโดยปราศจากข้อแม้ไปเลย”
ถึงจะรักมากขนาดไหน เขายอมรับว่าตัวเองเคยเป็นเด็กงี่เง่าเอาแต่ใจมาก่อน และด้วยความเป็นวัยรุ่นเลือดร้อน อยากทำต้องได้ทำ เขาเลยหนีออกจากบ้านเพราะโดนที่บ้านห้ามทำงานศิลปะ
“ไปได้แค่ป้ายรถเมล์อะ” เขาหัวเราะ
“เพราะลึก ๆ เราก็ไม่ได้อยากตัดขาดกับเขาหรอก แต่แค่เรายังไม่รู้จะจัดการกับความรู้สึกยังไงมากกว่า พอเราโตเริ่มรับมือกับคำพูดของเขาได้มากขึ้น เริ่มเข้าใจว่าทำไมเขาพูดแบบนั้น นั่นแหละคือจุดเปลี่ยนที่ทำให้เรารู้แล้วว่าจะอยู่กับที่บ้านยังไงให้มีความสุข
“เราเลยเป็นหลานคนนึงที่กล้าพูดได้เต็มปากเลยว่าสามารถรับฟังอาม่าหรือใครก็ตามได้อย่างเต็มที่ ถึงเวลาเราน้อยแค่ไหน วันนึงอาจจะมีแค่ 5-10 นาทีต่อวันที่อยู่ด้วยกัน แต่มันจะเป็นเวลา 10 นาทีที่เรารับฟังอาม่าเต็มที่ ไม่มีสิ่งรบกวน เราจะอยู่กับเขา ฟังเขาทุกอย่าง ไม่ทำอย่างอื่นเลย จนหลัง ๆ อาม่ากล้าเล่าเรื่องของตัวเองให้ฟังแล้ว เราเป็นเซฟโซนของเขาได้แล้ว นั่นคือผลลัพธ์ที่เราพยายามฟูมฟักมาเป็นเวลา 2 ปี”
นี่คือผลของความพยายามรักษาความสัมพันธ์ควมคู่ไปกับหาเลี้ยงตัวเอง และครอบครัวของไฮฟรายก็สนับสนุนทุกอย่าง เขามีห้องส่วนตัวสำหรับวาดภาพ ห้องที่เหมือนเป็นหลุมดำ ตัดขาดทุกสิ่งรอบตัว แต่เขาไม่เคยลืมแบ่งเวลามาอยู่กับคนที่รัก
ระหว่างคุยกันเขามักพูดอยู่เสมอว่าการอยู่กับตัวเองเยอะ ๆ เหมือนเป็นการฝึกสติไปในตัว พอมีสติทุกอย่างก็ผ่านไปได้ แนวทางนี้เขายอมรับว่าได้รับมาเต็ม ๆ จากการเป็นศิษย์เก่าโรงเรียนรุ่งอรุณ สถานที่บ่มเพาะให้เข้าใจความธรรมชาติของชีวิต
“มันจะมีความสุขได้ง่ายขึ้นถ้าเรามีสติ แต่เวลาที่สมองเริ่มถูกแทรกแซงแล้วเริ่มดำดิ่ง สติคือสิ่งสำคัญจริง ๆ นะ เป็นช่องทางหนึ่งที่ทำให้ไม่ว่าเจอเหตุการณ์อะไร แต่เราก็ยังนิ่งสงบได้ มีความสกปรกในใจแค่ไหน สติทำให้เรากลับเข้าลู่ทางเดิม”
มาถึงตรงนี้ไฮฟรายก็บอกกับเราว่า อันที่จริงเขาค่อนข้างหลงใหลในศาสตร์แห่งสภาวะ (Ontology) ซึ่งเป็นสาขาทางปรัชญาที่สนใจธรรมชาติของการดำรงอยู่ เขาศึกษาและลงมือปฏิบัติจนเข้าใจความเป็นไปของโลกอย่างลึกซึ้ง
“เมื่อก่อนเราทำงานศิลปะเพื่อให้เป็นที่ยอมรับ ไม่กล้าก้าวออกจากกรอบ แต่พอมาศึกษา มันเหมือนเราไม่จำเป็นต้องหาแรงบันดาลใจ เราเป็นแรงบันดาลใจได้ด้วยตัวเราเอง เราสามารถกำหนดได้ด้วยตัวเอง สามารถออกแบบชีวิตของตัวเองได้ อันนี้ก็คือที่สุดของปรัชญาสภาวะ”
ยอมรับว่าตั้งแต่ช่วงแรกที่เริ่มคุยกับไฮฟราย เรามองเห็นแต่ความร่าเริงสดใส แต่พอเวลาผ่านไปนานเข้าบทสนทนาระหว่างเราก็เข้มข้นมากขึ้นเรื่อย ๆ จากแววตาดูขี้เล่นเปลี่ยนเป็นเคร่งขรึม จริงจัง และพร้อมยอมรับสถานการณ์ทุกอย่างที่ผ่านเข้ามาในชีวิต
เวลาเพียง 5 ปีที่เขาเลือกเดินบนเส้นทางศิลปะหล่อหลอมตัวตนของชายวัย 24 ปีคนนี้ให้เปลี่ยนไปได้อย่างน่าตกใจ ก่อนเขาจะเสริมขึ้นมาอีกว่า อยากให้งานศิลปะของศิลปินที่ชื่อ HIFLY สามารถเปลี่ยนอารมณ์หม่นเศร้าของผู้พบเห็นให้พวกเขามีความสุขทุกครั้งที่ได้เชยชม เพียงเท่านี้ก็เติมเต็มจิตวิญญาณการเป็นศิลปินอย่างเขาแล้ว
ใช่ว่าทุกคนจะสามารถทำตามความฝันได้ตามใจปรารถนา เพราะอย่างที่รู้กันดีว่าการศึกษาไทยอาจไม่ส่งเสริมให้เด็กทำตามฝันมากนัก
“ต้องเข้าใจก่อนว่าวัฒนธรรมบ้านเรา ไม่ต้องมองเรื่องศิลปะหรอกอะไรก็ได้ที่อยู่รอบตัว ต้องเข้าใจวัฒนธรรม เข้าใจรากของมันก่อนว่าคืออะไร อย่างบ้านเรา เด็กจะเรียนเพื่อเข้ามหาลัย จบมามีงานดี ๆ ทำ ได้เงิน นั่นคือวัฒนธรรมบ้านเรา ซึ่งไม่ได้ผิดนะ แต่ถ้าถามว่าแล้วจะทำยังไงให้เด็กไม่ใช่แค่เรียน แต่ได้ตื่นรู้ ทำสิ่งที่เขารักไปด้วย ทำให้เห็นว่าโลกความจริงเป็นยังไง ผมว่าโรงเรียนที่ดีคือสอนให้เด็กรู้จักสิ่งเหล่านั้น
“อะไรคือคุณค่าของเขา เขาคือใครในสังคม เราว่าถ้าเด็กเข้าใจเรื่องนี้ ไม่ว่าเขาจะโตมาทำงานอะไร จะไปอยู่ที่ไหนบนโลก เขาจะมีจุดตรงกลางที่ทำให้สังคมนั้นมีความกลมเกลียว”
ก่อนจะทิ้งท้ายว่า ทุกวันนี้เขาทำงานไม่ได้มองว่าตัวเองเป็นคนของประเทศไหนหรือชาติใด เขามองว่าไฮฟรายคือคนของโลก พลเมืองที่สามารถปรับตัวเข้ากับทุกสภาวะได้โดยไม่เคอะเขิน และงานของเขาก็เหมือนตะโกนอยู่กลาย ๆ ว่านี่แหละ ‘ไฮฟราย!’ เด็กหนุ่มที่เคยงี่เง่าเอาแต่ใจ เคยลืมตัวตนยอมทำทุกอย่างตามคนอื่นจนไม่มีเอกลักษณ์ชัดเจน สุดท้ายก็ตกตะกอนได้ว่า เขาแค่อยากทำสิ่งที่รัก ไม่ต้องการให้ใครมาตีกรอบว่าต้องวาดแบบไหน
"เราไม่ได้วาดรูปเพื่อให้ใครชอบ แต่วาดเพราะมันคือเรา
"ตอนเด็ก ๆ เราชอบวาดรูป แต่ก็กลัวว่าคนจะไม่ชอบ กลัวว่ามันจะไม่ดีพอ จนวันหนึ่งเราถามตัวเองว่า แล้วถ้าเราไม่ต้องทำให้ใครชอบล่ะ ถ้าเราวาดเพื่อเป็นตัวเองจริง ๆ ล่ะ ตอนนั้นแหละที่เรารู้ว่าตัวเองเป็นศิลปิน"
จากเด็กที่เคยสงสัยในตัวเอง วันนี้ไฮฟรายบอกว่าเขาเข้าใจแล้วว่าตัวเองเป็นใคร และอะไรคือสิ่งที่เขาต้องการ
"เราไม่ได้ทำงานเพื่อให้ตัวเองสำเร็จคนเดียว แต่อยากสนับสนุนศิลปินรุ่นใหม่ อยากสร้างคอมมูนิตี้ที่แข็งแรงขึ้น เราเชื่อว่าศิลปะเป็นมากกว่างาน แต่มันเป็นพลังที่ขับเคลื่อนสังคมได้"
เรื่อง : วันวิสาข์ โปทอง
ภาพ : สำนักโหราศาสตร์น่ำเอี๊ยง และอินสตาแกรม HIFLY