19 ม.ค. 2562 | 11:44 น.
Andromeda Shun แห่ง “Saint Seiya (聖闘士星矢)” Saint Seiya คือการ์ตูนอมตะอีกเรื่องหนึ่งที่โด่งดังมานานเกิน 30 ปี เชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าผู้ชายหลายคนในวัย 35-45 ปี สมัยเด็ก ๆ คงเคยเอาลังกระดาษมาตัดเป็นชุด Cloth แล้วต่อยกันเพื่อเลียนแบบเหล่า Saints อย่างแน่นอน! Saint Seiya ตีพิมพ์รายสัปดาห์ในนิตยสารการ์ตูนรายสัปดาห์ Weekly Jump (週刊少年ジャンプ) ของญี่ปุ่น ตั้งแต่ปี ค. ศ. 1986-1990 และมีการพิมพ์รวมเล่มเป็นเรื่องของตัวเองทั้งหมด 28 เล่มด้วยกัน นอกจากนี้ก็มี anime มี side story อีกหลากหลายเวอร์ชันมากมาย โดยรายละเอียดของการเลือกเรื่องมาตีพิมพ์ใน Weekly Jump สามารถตามอ่านเพิ่มเติมได้ที่ (Son Gokū (孫悟空) แห่ง Dragon Ball เจ้าตำรับ “ไซอิ๋วผสมซูเปอร์แมน”) และ ( “อายูคาวะ มาโดกะ” ทำไมนักอ่านการ์ตูนถึงหลงรักนางเอก “ถนนสายนี้เปรี้ยว” ) เนื้อเรื่อง Saint Seiya เป็นการยำใหญ่ผสมระหว่างความเชื่อของหลายศาสนาที่เป็นที่รู้จักญี่ปุ่น คือ ลัทธิเต๋า ซึ่งเห็นได้จากแนวคิดเรื่องพลัง Cosmo และหยินหยางของตัวละครหลายตัวในเรื่อง, คริสตศาสนา ที่สังเกตได้จากเรื่องของ Pope (เคียวโก) การใช้อำนาจในทางมิชอบของ Pope เหมือนยุคมืดของคริสตศาสนาในยุโรป, ศาสนา Judaism ซึ่งกล่าวถึงเรื่องการบูชายัญลูกของตัวเองตามคติพันธสัญญาเดิม (Old Testament) เห็นจากการที่ Mitsumasa Kido (ปู่ของ Saori) ส่งลูกชายของตัวเองทั้ง 100 คนไปฝึกเพื่อเป็น Saints และมีชีวิตรอดกลับมาเพียง 10 คนจาก 100 คน โดยบอกทางอ้อมว่าอีก 90 ตายหมดระหว่างการฝึก, พุทธศาสนา โดยเน้นเรื่องของ Virgo Shaka โดยคำว่า Shaka ในภาษาญี่ปุ่นย่อมาจากคำว่า Shakamuni (釈迦牟尼) ซึ่งหมายถึง ศากยมุนี นั่นเอง, และที่พลาดไม่ได้คือแนวคิดเรื่อง เทพปกรณัมกรีก ซึ่งเป็นมุกหากินหลักของเรื่องนี้ มีการกล่าวถึง Athena, Poseidon, และ Hades ตามตำนานเทพของกรีกเลย Saint Seiya มีฉากต่อสู้เหนือมนุษย์ ฉากแอ็กชันมากมาย รวมทั้งฉากโหด ๆ ก็เยอะอยู่ แต่ความแปลกที่น่าสนใจที่สุด คือเป็นการ์ตูน “สำหรับเด็กผู้ชาย” ที่มีแฟนคลับผู้หญิงและชาว LGBT ติดตามเยอะมาก ๆ เรียกว่าขายดิบขายดีกับนักอ่านทุกเพศ เพราะมีการนำเสนออัตลักษณ์ทางเพศที่ลื่นไหล และแหวกแนวมากในการ์ตูนยุคนั้น ตัวละครเอกมีทั้งหมด 5 ตัว ซึ่งแฟนคลับมักขนานนามว่า “กลุ่มเด็กเส้น” บ้าง หรือขนานนามว่า “แก๊งแมลงสาบ” บ้าง (เนื่องจากความอึดทนถึกฆ่าไม่ตายสักที) ตัวละครเอกทั้ง 5 มีคาแรคเตอร์ต่างกันไปดังนี้ Pegasus Seiya พระเอกของเรื่อง เป็นคนมุทะลุ ใจร้อน บ้าเลือด บ้าพลัง Dragon Shiryū ลักษณะบ้าพลังเหมือน Seiya แต่ใจเย็นกว่า เป็นเจ้าแห่งความเสียสละ Cygnus Hyōga เป็นคนเยือกเย็นมาก เท่ เฉียบ cool Phoenix Ikki เป็นพี่ชายแท้ ๆ ของ Andromeda Shun โดย Ikki เป็นคนคุ้มดีคุ้มร้าย ไม่ชอบรวมกลุ่ม ชอบใช้ชีวิตสันโดษ เป็นคนซึนเดเระมาก (นึกถึงเบจิต้าใน Dragon Ball เข้าไว้ คล้ายกันพอตัว) แต่รักน้องชายมาก Andromeda Shun น้องชุนคนนี้ล่ะที่เป็นประเด็นถกเถียงกัน เพราะน้องชุนจริงๆ แล้วเป็นผู้ชาย แต่เป็นลักษณะของ “หนุ่มรูปงาม น่ารัก” Shun มีลักษณะของเพศชายที่ไม่ได้เป็นเพศชาย แต่ก็ไม่ได้เป็น LGBT มีแฟนเป็นเพศหญิงตามปกติ แต่ Shun ก็ไม่ได้เป็นเพศชายปกติ งงไหม? คือเรื่อง Saint Seiya มีการสร้างอัตลักษณ์ (identity) ของตัวละครเพศชายหลายตัวให้มีความก้าวร้าว ห้าวหาญ มีการเน้นว่าความก้าวร้าวที่ถูกต้องคือความก้าวร้าวต่อศัตรู นั่นคือถ้าใช้ความก้าวร้าวใส่ศัตรูของเราแล้ว มันก็เป็นความก้าวร้าวรุนแรงที่ถูกต้องได้ แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีการนำเสนออัตลักษณ์ของเพศชายอีกแนวหนึ่งเป็นทางเลือกด้วย นั่นคือนิสัยของ Shun คนนี้เลย ว่าผู้ชายที่ดีก็สามารถ “งดงาม อ่อนโยน” ได้เช่นกัน เป็นการเปิดทางเลือกว่า เพศชายมีแนวโน้มที่จะใช้ความก้าวร้าวรุนแรงก็จริง แต่ก็สามารถมีเพศชายที่ “งดงาม อ่อนโยน” ได้โดยไม่ต้องก้าวร้าวรุนแรง ดังนั้น Shun จึงเป็นตัวละครหลักเพียงตัวเดียวที่มีท่าไม้ตายทั้งด้าน “โจมตี” และด้าน “ป้องกัน (เพราะ Shun ไม่อยากทำร้ายใคร)” ในขณะที่ตัวละครหลักอีก 4 ตัวมีแต่ท่าโจมตีอย่างเดียว อีกทั้ง Shun ยังเป็น Saint ที่มีราศีประจำตัวเองเป็นเพศหญิงนั่นคือ Andromeda แล้วเสื้อผ้าที่ Shun ใส่ประจำยังสีเขียวแสนหวานพร้อมชุดหมี พอใส่ Andromeda Cloth สีชมพูหวานแหวว ยิ่งทำให้ Shun ดูน่าร้าก ดู cute สุด ๆ ลักษณะของเพศชายที่งดงามและอ่อนโยนนี่ล่ะ ที่มักจะทำให้ชาวตะวันตกสับสนว่า Shun เป็นพวกรักร่วมเพศแนว LGBT เพราะตัวละครเพศชายของตะวันตกจะเป็นพวกกล้ามบึ้กบ้าพลัง ตะวันตกไม่คุ้นเคยกับลักษณะเพศชายที่งดงามอ่อนโยนแบบ beautiful boys แบบญี่ปุ่น จึง “อาจจะ” เป็นสาเหตุให้ Netflix ตัดสินใจเปลี่ยนเพศของ Shun เป็นผู้หญิงเสียเลย ให้เข้ากับคาแรคเตอร์ของ Shun ตามที่ชาวตะวันตกคาดหวังให้เป็น ซึ่งก็ตามที่รู้กันว่า แฟนคลับหัวร้อนมาก ทำไมแฟน ๆ จำนวนมากถึงรับไม่ได้ที่ Andromeda กลายเป็น “นางสาวชุน” 1.ท่าไม้ตายของ Shun อีกท่าหนึ่งคือ “พี่ฮะ” มีน้ำตาซึม ร้องหาพี่ชาย แล้วหลังจากนั้นพี่ชายก็จะมาฆ่าศัตรูให้อย่างโหดร้าย พอเปลี่ยนเพศของ Shun ไปเสียแล้ว ท่าไม้ตาย “พี่ฮะ” มันก็ต้องกลายเป็น “พี่ค้า” หรือ “พี่คะ” หรือ “พี่จ๊ะ” ซึ่ง รับไม่ได้โว้ย! 2. ทศวรรษ 1980s นั้น ทั้งในญี่ปุ่นและไทยยังไม่ได้เปิดกว้างเรื่องอัตลักษณ์ทางเพศที่ลื่นไหล เรื่อง Saint Seiya มีตัวละครผู้ชายงดงามอ่อนโยนอีกหลายตัว ซึ่งเป็นความว้าวสุด ๆ ของวงการการ์ตูน มีความหัวก้าวหน้าสุดขีดมาก ทำให้เป็นการ์ตูนเด็กผู้ชายที่มีแฟนคลับทุกเพศชื่นชอบ เมื่อเปลี่ยน Shun เป็นผู้หญิงเสียแล้ว เสน่ห์ของอัตลักษณ์ผู้ชายอ่อนโยนมันก็พังพินาศไปเลย 3. Shun น่ารักแบบผู้ชายอ่อนโยน คือเสน่ห์ของผู้ชาย cute ความมีเสน่ห์ของ Shun คือการที่ Shun เป็นผู้ชายที่ไม่ได้ก้าวร้าวแบบผู้ชาย ไม่ใช่เสน่ห์แบบเพศหญิง พอกลายเป็นผู้หญิง เสน่ห์ตรงนี้มันหมดไปอย่างมาก 4.การ์ตูนอมตะที่มีแฟนคลับทั่วโลก ไม่สมควรถูกเอามาเปลี่ยนดื้อ ๆ งง ๆ แบบนี้ คิดง่าย ๆ ว่าถ้าเอา Superman มาทำเป็นผู้หญิง (ที่ไม่ใช่ Supergirl แต่เอา Clark Kent มาแปลงเป็นเพศหญิงไปเลย) หรือเอา Wolverine มาทำเป็นเพศหญิง อะไรแบบนี้ มันจะงง ๆ อึ้ง ๆ มากเลยนะ อย่างไรก็ตาม แฟนคลับที่ได้ดู Saint Seiya เวอร์ชันนางสาวชุน ทาง Netflix มีความเห็นกันว่าอย่างไรบ้างครับ?