‘อิคคิวซัง’ ตัวละครเณรน้อยผู้สร้างศรัทธาด้วยปัญญา ชีวิตจริงสุดดาร์ค

‘อิคคิวซัง’ ตัวละครเณรน้อยผู้สร้างศรัทธาด้วยปัญญา ชีวิตจริงสุดดาร์ค

‘อิคคิวซัง’ หรือ ‘เณรน้อยเจ้าปัญญา’ ตัวละครจากการ์ตูนดังเมื่อหลายสิบปีก่อน ชีวิตจริงเป็นพระที่ใช้ชีวิตสุดดาร์ค ท้าทายสถาบันศาสนาของญี่ปุ่น

  • ชาติกำเนิดที่คลุมเครือและพัวพันกับรักต้องห้าม ส่งผลต่อชะตาของอิคคิวไปตลอดชีวิต สตรีสูงศักดิ์ผู้เป็นแม่ได้ส่งเขาไปบวชเป็นเณรที่วัดนิกายเซน ‘อังโคะคุจิ’ 
  • อิคคิวเป็นเด็กฉลาดหลักแหลม มีความสามารถในการแต่งบทกวีจีนชนิดหาตัวจับยาก แต่ในเวลาเดียวกันเขาก็เป็นคนที่ยึดติดกับความเคร่งครัด
  • อิคคิวไม่ได้ให้ความสำคัญกับการถือพรหมจรรย์ เขายังไว้ผมยาว ไว้หนวด เพราะเชื่อว่าเซนไม่ควรถูกแยกออกจากความหลงใหล ความรัก และความสุขในชีวิต เขายังได้สอนสาวกด้วยว่า ความต้องการทางเพศเป็นความต้องการตามธรรมชาติ

‘อิคคิว โซจุน’ เป็นหนึ่งในนักบวชที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของญี่ปุ่น สาเหตุสำคัญเป็นเพราะเรื่องราวในวัยเด็กของเขา ถูกนำมาสร้างเป็นการ์ตูนจำนวน 296 ตอน ออกอากาศครั้งแรกระหว่างปี 1975 ถึง 1982 

อิทธิพลของการ์ตูนเรื่องนี้ ทำให้ผู้ชมจดจำอิคคิวในฐานะเณรน้อยน่ารัก ฉลาด มีไหวพริบในการแก้ปัญหาทั้งเล็กและใหญ่ ฉลาดกว่า ‘โชกุน’ เสียด้วยซ้ำ 

นอกจากนำเสนอความหลักแหลมของอิคคิวซัง ผู้สร้างการ์ตูนยังได้สอดแทรกวัฒนธรรมนิกายเซนเอาไว้ด้วย โดยเฉพาะการทำสมาธิพร้อมเสียงเคาะไม้ ‘โมคุเกียว’ (ฆ้องไม้รูปทรงปลา) ก่อนจะตามด้วยเสียงกริ่งที่เป็นสัญลักษณ์ว่า อิคคิวได้ค้นพบวิธีแก้ปัญหาแล้ว รวมถึงยังสอดแทรกเรื่อง ‘ความกตัญญู’ สะท้อนผ่านหลายฉากที่เณรน้อยอิคคิวแสดงความคิดถึงผู้เป็นแม่ ที่ต้องห่างกันตั้งแต่เขายังเด็ก ช่วยเพิ่มความซาบซึ้งให้กับเนื้อเรื่อง

ด้วยเนื้อเรื่องที่ไร้พิษภัยและความยาวนานในการออกอากาศ อิคคิวซังจึงมีฐานแฟนหลายรุ่นหลายเชื้อชาติ เช่น จีน ไทย อิหร่าน ฯลฯ ที่จดจำเขาในฐานะเณรน้อยช่างพูด ช่างสงสัย แก้ปัญหาได้ฉับไว ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว เขาใช้ชีวิตสุดดาร์คเพื่อท้าทายแนวปฏิบัติของเซน และอยู่ไกลคำว่าน่ารักลิบลับ

เณรน้อยที่ชะตาพลิกผันเพราะชาติกำเนิด

เพียง 2 ปี หลังการรวมราชสำนักเหนือและราชสำนักใต้ไว้ในควบคุมของรัฐบาลโชกุน ‘อาชิกางะ โยชิมิตสึ’ เณรน้อยอิคคิว หรือนามเดิม ‘เซงกิกุมารุ’ ถือกำเนิดขึ้นแถบชานเมืองของเกียวโต เมื่อปี 1394 เชื่อกันว่าเขาเป็นลูกนอกสมรสของ ‘จักรพรรดิโกะ-โคมัตสึ’ กับสตรีสูงศักดิ์แห่งราชสำนักใต้นางหนึ่ง ไม่มีการพิสูจน์ว่าข่าวลือนี้เป็นเรื่องจริงหรือไม่ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงคือเธอถูกขับออกจากราชสำนักทั้งที่กำลังตั้งครรภ์ และต้องเลี้ยงดูลูกน้อยด้วยความยากลำบาก กระทั่งเขาอายุ 5 ขวบ

ชาติกำเนิดที่คลุมเครือและพัวพันกับรักต้องห้าม ส่งผลต่อชะตาของเด็กน้อยไปตลอดชีวิต เพราะการมีชีวิตอยู่ของเด็กชายได้สร้างความกังวลให้กับโยชิมิตสึ ซึ่งสนับสนุนราชสำนักเหนือ เขาเกรงว่าเด็กชายผู้นี้จะถูกใช้เป็นอาวุธทางการเมืองในภายหลัง เมื่อสตรีสูงศักดิ์ผู้เป็นแม่อ่านความกังวลนี้ออก เธอจึงรีบส่งลูกชายไปบวชเป็นเณรที่วัดนิกายเซน ‘อังโคะคุจิ’ 

ที่วัดอังโคะคุจิ เด็กชายได้ร่ำเรียนด้านภาษา วัฒนธรรม ศิลปะ และบทกวีของจีน ควบคู่กับการศึกษาเชิงลึกในด้านการปฏิบัติธรรมและประวัติศาสตร์ทางพุทธศาสนา

ว่ากันว่าตอนที่อิคคิวเป็นเด็ก เขาได้พบกับผู้นำทางการเมืองและผู้นำทางจิตวิญญาณมากมาย และสามารถเอาชนะผู้คนเหล่านี้ได้ด้วยคำพูดที่ชาญฉลาดเกินวัย

เมื่ออายุได้ 13 ปี เขาย้ายไปอยู่ที่วัดเค็นนินจิในเกียวโต เพื่อศึกษานิกายเซนกับนักบวชชื่อดัง ‘โบเท็ตสึ’ ที่นี่เองที่เขาเริ่มเขียนบทกวีในรูปแบบที่แตกต่างจากรูปแบบดั้งเดิม และใช้บทกวีเป็นเครื่องมือในการวิพากษ์วิจารณ์วัดเค็นนินจิอย่างเปิดเผย หลังจากที่เขาพบว่าพระในวัดได้เลื่อนตำแหน่งด้วยเหตุผลทางการเมือง มากกว่าเพราะการเข้าถึงธรรมะ นอกจากนี้ เขายังใช้บทกวีสะท้อนความผิดหวังที่คนรอบตัวละเลยการฝึกนั่งสมาธิแบบซาเซน 

เท่าที่กล่าวมา เห็นได้ชัดว่าอิคคิวเป็นเด็กฉลาดหลักแหลม มีความสามารถในการแต่งบทกวีจีนชนิดหาตัวจับยาก แต่ในเวลาเดียวกันเขาก็เป็นคนที่ยึดติดกับความเคร่งครัด ดังนั้นเมื่อไม่สามารถทนบรรยากาศทางการเมืองในวัดเค็นนินจิได้อีกต่อไป เขาจึงย้ายวัดอีกครั้ง

ย้ายวัดบ่อยจนเจออาจารย์ที่ถูกใจ

ขณะอายุ 16 ปี อิคคิวย้ายไปอยู่ที่วัดมิบุเดระ แต่อยู่ได้เพียงไม่นาน เมื่ออายุได้ 17 ปี เขาก็ย้ายไปอยู่ที่วัดไซคงจิ และได้ศึกษาเล่าเรียนกับปรมาจารย์เซน ‘เคนโอ โซอิ’ ซึ่งเป็นผู้ตั้งชื่อให้เขาว่า ‘โซจุน’ 

ดูเหมือนว่าครั้งนี้อิคคิวจะเจออาจารย์สอนนิกายรินไซเซนที่ถูกใจแล้ว อาจารย์เคนโอสอนอิคคิวด้วยคำสอนในแบบที่ไม่ใช่กระแสหลัก โดยให้ละทิ้งความมั่งคั่งทางวัตถุและความสะดวกสบายทั้งหมด ซึ่งทำให้อิคคิวเริ่มแตกต่างจากนักบวชคนอื่น ๆ มากขึ้น 

การเรียนการสอนของทั้งคู่เป็นไปอย่างเข้มข้น ชนิดตัวต่อตัว เพราะเคนโอมีอิคคิวเป็นลูกศิษย์เพียงคนเดียว นั่นจึงทำให้อิคคิวผูกพันและเคารพอาจารย์ผู้นี้เป็นอย่างมาก 

เมื่อเคนโอมรณภาพ อิคคิวซึ่งขณะนั้นอายุ 21 ปี ทำพิธีศพให้อาจารย์พร้อมกับอดอาหารเป็นเวลา 7 วัน เขาสิ้นหวังมากถึงขั้นจะจบชีวิตตัวเองในทะเลสาบบิวะ โชคดีที่คนรับใช้ของแม่เตือนสติและหยุดเขาเอาไว้ได้ 

หลังจากนั้นอิคคิวได้ย้ายไปอยู่ที่วัดเซ็นโคอันในเมืองคาตะตะ เขาได้กลายเป็นลูกศิษย์ของพระ ‘คาโซ’ ซึ่งได้ตั้งชื่อให้เขาว่า ‘อิคคิว’ 

แม้อิคคิวจะสร้างปัญหาในบางครั้ง เพราะเขามักจะดื่มสุรามากเกินไป แต่อิคคิวก็บรรลุโสดาบันในขณะอายุ 26 ปี 

เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในค่ำคืนของปลายฤดูร้อนปี 1420 ระหว่างที่เมฆฝนลอยต่ำเหนือทะเลสาบ อิคคิวนั่งวิปัสสนาในเรือลำเล็ก เมื่อได้ยินเสียงการ้อง ทันใดนั้นเขาก็ร้องตะโกนออกมา หลังผ่านพ้นประสบการณ์หลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติเขาก็กลายเป็นปรมาจารย์เซน  

คาโซผู้เป็นอาจารย์ทราบดังนั้น จึงอยากจะมอบใบรับรองการบรรลุโสดาบันให้กับเขา เพื่อให้เขาสามารถถ่ายทอดธรรมะให้แก่ผู้อื่นได้ แต่อิคคิวผู้เกลียดชังพิธีการปฏิเสธที่จะรับเอาไว้ (บางแหล่งบอกว่า อิคคิวรับใบรับรองมา แต่กลับโยนเข้ากองไฟ) เพราะเชื่อว่าใบรับรองไม่ใช่ของจำเป็น

เมื่อคาโซล้มป่วย สาวกคนอื่น ๆ ใช้ไม้ไผ่เพื่อตักของเสียจากร่างกายของคาโซ มีเพียงอิคคิวเท่านั้นที่ใช้มือเปล่าสัมผัสของเสียของผู้เป็นอาจารย์ หลังจากคาโซมรณภาพ อิคคิวไม่ได้รับช่วงดูแลวัดต่อจากคาโซ เขาไม่ชอบการใช้ชีวิตในวัดอีกต่อไปแล้ว และต้องการเผยแพร่ธรรมะไปยังที่ที่ผู้คนต้องการมันจริง ๆ ไม่ใช่แค่คนรวยหรือสุภาพชนเท่านั้น ว่ากันว่าเขาออกสอนธรรมะในที่ที่นักบวชคนอื่น ๆ ไม่ไป เช่น ร้านเหล้า และสถานบริการทางเพศด้วย 

Crazy Cloud

ถึงจุดหนึ่งอิคคิวก็ได้รับฉายาว่า ‘Crazy Cloud’ เพราะเขาชอบเดินทางจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง ไม่ต่างจากก้อนเมฆ เขารอนแรมไปยังสถานที่ต่าง ๆ ทั่วทั้งโตเกียวและโอซาก้า ผูกมิตรกับคนทุกสาขาอาชีพโดยไม่เลือกปฏิบัติ ตรงข้ามกับปรมาจารย์นิกายเซนคนอื่น ๆ ที่มักใช้เวลาอยู่กับเหล่าขุนนาง และพาตัวออกห่างสมาชิกระดับล่างสุดของสังคม 

กล่าวกันว่าอิคคิวเป็นศัตรูตัวฉกาจของความหน้าซื่อใจคด และการที่เขาแต่งบทกวีบรรยายความเสื่อมทรามของนักบวชนั้นเป็นการทำเพื่อประโยชน์ของฆราวาส

ด้วยเหตุนี้ อิคคิวจึงกลายเป็นแม่เหล็กดึงดูดสาวกจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นกวี หรือศิลปิน เขายังมีคนรักหลายต่อหลายคน หนึ่งในนั้นคือนักร้องตาบอดชื่อ ‘เลดี้โมริ’ ที่เขาเขียนบทกวีรักมากมายมอบให้กับเธอ 

อิคคิวไม่ได้ให้ความสำคัญกับการถือพรหมจรรย์ เขายังไว้ผมยาว ไว้หนวด เพราะเชื่อว่าเซนไม่ควรถูกแยกออกจากความหลงใหล ความรัก และความสุขในชีวิต เขายังได้สอนสาวกด้วยว่า ความต้องการทางเพศเป็นความต้องการตามธรรมชาติ เช่นเดียวกับความต้องการน้ำ และการปฏิเสธความต้องการทางเพศเป็นการละเมิดต่อวัตถุประสงค์ของเซน ซึ่งคือการช่วยให้บุคคลค้นพบธรรมชาติที่แท้จริงของตน 

สถานที่แห่งหนึ่งที่อิคคิวเดินทางเยือนหลายต่อหลายครั้งคือเมืองซาไก (เมืองท่าในจังหวัดโอซาก้าในปัจจุบัน) ในเวลานั้น ภัยธรรมชาติและสงครามทำให้พื้นที่ส่วนใหญ่ในประเทศญี่ปุ่นตกอยู่ในความสับสนวุ่นวาย เว้นแต่เมืองซาไกที่เจริญรุ่งเรืองในฐานะศูนย์กลางการค้าภายในประเทศและต่างประเทศ เต็มไปด้วยชนชั้นพ่อค้าที่เติบโตพุ่งพรวดและอิทธิพลจากนานาชาติ จึงทำให้ที่นี่เป็นเมืองแห่งความคิดที่ก้าวหน้าและความมั่งคั่ง

ในเมืองซาไก อิคคิวดึงดูดสายตาของผู้คนด้วยการแต่งกายเป็นนักบวชเดินเตร่ไปตามถนนที่พลุกพล่านของเมือง ในขณะที่มือถือดาบสีแดงยาว นับเป็นภาพแปลกประหลาดที่ขัดแย้งกันอย่างสิ้นเชิง 

เมื่อมีคนถามว่าการแสดงออกของเขามีความหมายอย่างไร? เขาตอบว่า “นี่คือดาบไม้ ที่ไม่สามารถตัดอะไรได้ นักบวชที่แสดงอิทธิฤทธิ์ในโลกนี้เปรียบเสมือนดาบไม้ที่เราถืออยู่ อุปโลกน์ขึ้นจนดูดี แต่ไม่มีประโยชน์อันใดเลยในยามวิกฤต” 

อิคคิวไม่เพียงแต่วิพากษ์วิจารณ์นักบวชด้วยกันเองเท่านั้น แต่ยังรวมถึงชาวเมืองด้วย สิ่งที่เขาต้องการสื่อจากการทำตัวเป็นจุดสนใจก็คือ พฤติกรรมของผู้คนก็ไม่สมเหตุสมผลไปกว่าพฤติกรรมของเขานักหรอก

ด้วยแนวทางที่แปลกประหลาดทว่าลึกซึ้ง จึงทำให้ชาวเมืองซาไก และชาวต่างชาติ โดยเฉพาะชาวจีน พร้อมใจกับยกย่องและปวารณาตัวเป็นสาวกของอิคคิว

ไร้ทายาทธรรม 

แม้จะดูหมิ่นตำแหน่งและใบรับรองการบรรลุ แต่เมื่ออายุได้ 47 ปี อิคคิวก็ยอมรับช่วงต่อเป็นเจ้าอาวาสวัดย่อยของวัดไดโทคุจิ แต่หลังจากนั้นไม่นานเขาก็ออกจากตำแหน่ง โดยกล่าวว่า งานของนักบวชผู้มีเกียรติไม่เข้ากับเขา ซึ่งมีการตีความว่า นี่เป็นการแสดงท่าทีต่อต้านสถาบันศาสนาของประเทศ

อย่างไรก็ตาม ในช่วงบั้นปลายชีวิต อิคคิวกลับมาที่วัดไดโทคุจิอีกครั้ง หลังจากที่วัดส่วนใหญ่กลายเป็นซากปรักหักพังอันเป็นผลพวงจาก ‘สงครามโอนิน’ ในช่วงทศวรรษ 1460  เมื่ออายุได้ 85 ปี อิคคิวยอมรับตำแหน่งเจ้าอาวาสเพื่อช่วยฟื้นฟูวัดไดโทคุจิ เขาสามารถขอความช่วยเหลือจากพ่อค้าชาวซาไกผู้มั่งคั่งได้เป็นอย่างมาก แม้แต่ในโครงการที่ต้องใช้เงินก้อนโต

เหตุการณ์นี้ทำให้เขาถูกมองว่า เป็นผู้สนับสนุนสถาบันที่ครั้งหนึ่งเขาเคยต่อต้าน 

แม้อิคคิวจะไม่ยึดติดกับเกียรติยศทางโลก แต่เขาก็ได้กลายเป็นศูนย์กลางของสาวกจำนวนมาก ถึงกระนั้นเขาก็ไม่ยอมมอบใบรับรองเผยแพร่คำสอนแก่ลูกศิษย์คนใดคนหนึ่ง เพราะกังวลว่าถ้าเขามีทายาทธรรม สิ่งที่เขาสร้างมาจะเสื่อมทรามทันทีหลังจากที่เขาจากไป จากการเปิดช่องให้เกิดการทุจริต 

กระทั่งปี 1478 ได้เกิดวิกฤตภายในหมู่สาวกของอิคคิว ที่พยายามกระตุ้นให้อิคคิวเลือกทายาทธรรมเพื่อให้การถ่ายทอดคำสอนไม่ขาดช่วง เมื่อแรงกดดันเพิ่มมากขึ้น ในที่สุดเขาจึงเอ่ยชื่อ ‘โมทสึริน โจโต’ ขึ้นมา แต่สุดท้ายก็เป็นเขาเองที่คัดค้านชื่อลูกศิษย์คนนี้ โดยตำหนิอย่างฉุนเฉียวว่าโจโตเป็นคนโง่ 

หลังจากอิคคิวมรณภาพด้วยอาการป่วยเฉียบพลันในปี 1481 ขณะอายุ 87 ปี ตั้งแต่นั้นมาเหล่าสาวกจะรวมตัวกันที่สุสานของเขาในเมืองเคียวทานาเบะปีละครั้ง เพื่อหารือและร่วมกันตัดสินใจในประเด็นที่สำคัญต่อนิกาย ด้วยเหตุนี้ธรรมะของอิคคิวจึงดำรงอยู่จนถึงทุกวันนี้ 

นี่คือเรื่องราวของ ‘อิคคิวซัง’ ที่ใช้ชีวิตในทางธรรมอย่างสุดโต่ง ขัดแย้งกับภาพจำในการ์ตูนราวกับคนละคน 

แต่ไม่ว่าจะเป็นตัวตนใด เขาก็ยังถูกจดจำและกล่าวขานจนถึงทุกวันนี้

 

เรื่อง : พาฝัน ศรีเริงหล้า
ภาพ : Wikipedia และโพสต์ทูเดย์

อ้างอิง

peoplepill
amorerana
nippon
thetattooedbuddha
buddhistdoor
japanpowered