04 ต.ค. 2562 | 16:59 น.
(เปิดเผยเนื้อหาสำคัญของหนัง) เชื่อไหมครับว่าโลกเราทุกวันนี้กำลังวนกลับไปสู่ความวิบัติฉิบหาย องคาพยพทางการเมือง, เศรษฐกิจ, สังคม ดิ่งเหวโดยพร้อมเพรียงกันทั่วโลก ยักษ์ใหญ่ไล่กินปลาตัวเล็ก ๆ ช่องว่างระหว่างคนรวย-จนห่างกันในระดับสูงเป็นประวัติการณ์ คนรวยยังมีจำนวนเท่าเดิม แต่พวกเขารวยขึ้นมาก ๆ ต่างหาก มีเพียงชนชั้นล่างที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นทุกวัน สังคมสองมาตรฐาน ความยุติธรรมเลือกข้าง คุณผิดตั้งแต่เกิด ชะตากรรมไม่อาจเปลี่ยนแปลง คุณสู้แทบตายเพื่อลืมตาอ้าปากแต่คนบางกลุ่มยังมีสิทธิขาดชี้หน้าด่ากราด ตัดสินคุณว่ายังไม่ดีพอ ไม่เก่งพอ ไม่ขยันพอ ทั้งจนและโง่ คุณเริ่มโกรธแค้นสังคมมากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่มีทางหนี ไม่มีทางออก ยิ่งสำเหนียกตัวว่าเป็นเบี้ยตัวเล็ก ๆ ไร้ค่าบนกระดานเศรษฐี คุณยิ่งเกรี้ยวกราด ระบบทุนนิยมและความดีนิยมกำลังกดทับคุณให้บี้แบน ถ้าไม่ใช่คนดี คุณก็ไม่ต่างอะไรกับสวะในคลองเน่า ๆ ผมกำลังพูดถึง “ก็อตแธม” นะครับ เมืองสมมตินี้มีทุกอย่างที่กล่าวมาข้างต้น และ “คุณ” ที่ผมกำลังพูดถึง ก็คือ “โจ๊กเกอร์” ....... โจ๊กเกอร์ เป็นตัวละครที่สร้างขึ้นโดย บิลล์ ฟิงเกอร์, บ็อบ เคน และ เจอร์รี โรบินสัน ปรากฏตัวครั้งแรกในคอมิค Batman #1 เมื่อปี 1940 โจ๊กเกอร์ฉบับแรกสุดนี้คืออาชญากรตัวฉกาจ เป็นฆาตกรต่อเนื่องที่ใช้กรดพิษฆ่าคน เหยื่อทุกศพจะ “ยิ้มร่า” เป็นเครื่องหมายว่านี่คือฝีมือโจ๊กเกอร์ วายร้ายตัวเอ้รายนี้ถูกกำหนดให้ควรจะตายในคอมิคเล่มนั้นไปแล้ว ทว่า วิทนีย์ เอลล์สเวิร์ธ บรรณาธิการของเล่มไม่เห็นด้วย เขาเชื่อว่าแบทแมนควรมีคู่ปรับที่สมน้ำสมเนื้อ และโจ๊กเกอร์คือคนที่เหมาะสมที่สุด ทศวรรษ 1930 นั้นเป็นทศวรรษแห่งความวิบัติของอเมริกาและทั่วโลก สงครามโลกครั้งที่ 1 ผ่านพ้นไม่นาน เศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Depression) ในช่วงเวลาแห่งความยากจนข้นแค้นนี่เอง เกิดอาชญากรรมชื่อดังมากมาย บอนนี แอน ไคลด์, จอห์น ดิลลิงเจอร์, จอร์จ “แมชชีน กัน” เคลลี ฯลฯ ล้วนโด่งดังจากการปล้น ฆ่า เป้าหมายคือพวกคนรวยในสังคม ส่วนหนึ่งของอาชญากรเหล่านี้กลายเป็นฮีโร่ในสายตามวลชน ..การถือกำเนิดของโจ๊กเกอร์ จึงเกิดมาในห้วงเวลาแห่งกลียุคของอเมริกา ....... เช่นเดียวกับการกำเนิดของโจ๊กเกอร์ใน Joker (2019, ผู้กำกับ: ท็อดด์ ฟิลิปส์) หนังให้ฉากหลังของเรื่องดำเนินในปลายทศวรรษ 70 ทีวีมีบทบาทเข้าถึงในบ้านเรา คนดังใช้ทีวีเป็นสื่อสร้างภาพให้ตัวเอง ตั้งแต่พิธีกรรายการทอล์กโชว์ (เมอเรย์ แฟรงคลิน) จนถึงนักการเมืองท้องถิ่น (โทมัส เวย์น) คุณสามารถเป็นคนดีและดังได้พร้อม ๆ กันถ้าคุณออกทีวี เรารู้จัก “อาเธอร์ แฟลค” ชายผู้ที่กำลังจะกลายเป็นโจ๊กเกอร์ในตอนท้ายของหนัง นี่เป็นสิ่งที่คนดูรู้ดีแน่ชัดก่อนจะก้าวเข้าโรงด้วยซ้ำ ภาพแรกที่เราเห็นเขาคือเป็นตลกถือป้ายหน้าร้านโชห่วยที่กำลังเจ๊ง วัยรุ่นกลุ่มหนึ่งแย่งป้ายเขาไป เขาวิ่งตาม พวกมันล่อเขาเข้าซอยเปลี่ยวแล้วรุมกระทืบเขา ... อาเธอร์ไม่ได้ทำอะไรผิดเลย และเราก็รู้สึกเจ็บปวดไปกับเขาด้วย อาเธอร์อาศัยอยู่กับแม่ที่ป่วยในอะพาร์ตเมนต์เส็งเคร็ง มีความฝันอยากจะเป็นดาวตลก เพราะเชื่อว่าการสร้างเสียงหัวเราะให้คนอื่นจะทำให้ตัวเองมีความสุข แต่เขามีอาการป่วยประหลาดที่ไม่มีใครเข้าใจ ทุกครั้งที่เขารู้สึกเครียดหรือกดดัน เขาจะหัวเราะอย่างควบคุมตัวเองไม่ได้ ปลายทศวรรษ 70 ในอเมริกาเป็นดั่งกลียุคอีกครั้ง ประเทศเพิ่งเผชิญความพ่ายแพ้ในสงครามเวียดนาม เศรษฐกิจตกต่ำ อาชญากรรมสูงลิ่ว คนรวยล้นฟ้า คนตกงานเป็นประวัติการณ์ รัฐเลือกตัดระบบสวัสดิการพื้นฐานของคนจนเพื่อเซฟภาระคงคลังของประเทศ อาเธอร์จะไม่ได้รับยาและคำปรึกษาทางแพทย์อีกต่อไป เขาต้องเผชิญอาการป่วยประหลาดนี้อย่างโดดเดี่ยว “หัวเราะทั้งน้ำตา” อาจเป็นคำนิยามที่เหมาะกับโจ๊กเกอร์ฉบับนี้มากที่สุด เมืองก็อตแธมในหนังก็คือเมืองกินคน คนไม่เท่ากัน อาเธอร์เป็นตัวตลกจริง ๆ ในสายตาคนอื่น เพราะนิสัยแปลกประหลาด หน้าตารูปร่างชวนสะพรึง บุคลิกไม่น่าวางใจ คุณไม่อยากให้คนคนนี้อยู่ใกล้ลูกคุณแน่ และคุณคงไม่เที่ยวบอกใครต่อใครว่าคุณรู้จักเขา ไม่มีใครนับอาเธอร์เป็นเพื่อนด้วยซ้ำตลอดทั้งเรื่อง เขาเลยสร้างจินตนาการขึ้นมา สร้างโลกอีกใบ...