02 ม.ค. 2562 | 17:12 น.
เพียงชื่อ มาเฮอร์ชาลา อาลี ประกาศบนเวทีออสการ์ประจำ 2017 เขาก็ได้สร้างประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ด้วยการเป็นนักแสดงมุสลิมคนแรกที่ได้รับรางวัลออสการ์สาขานักแสดง ซึ่งไม่เพียงได้รับการชื่นชมเท่านั้น แต่ก็มีคำครหาตามมามากมายจากการแสดงอยู่ในหนังเพียงไม่ถึง 20 นาที มาเฮอร์ชาลา อาลี ได้รับรางวัลนักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยมจากเรื่อง Moonlight (2016) ในบท “ฮวน” พ่อค้ายาเสพติดผู้ถ่ายทอดบทเรียนชีวิตสำคัญให้กับ “ไชรอน” เด็กชายผิวดำที่ค่อยๆ เติบโตในสภาพแวดล้อมเสื่อมโทรม และการยอมรับในตัวตนของตัวเอง แม้เขาจะออกมาเพียงช่วงแรกของภาพยนตร์ แต่กลับมีบทบาทสำคัญต่อการเติบโตของตัวละคร รวมถึงการแสดงอันยอดเยี่ยมที่ทำให้ฮวนล่องลอยอยู่ภายใต้ความนึกคิดของไชรอนตลอดเวลา โดยมีฉากสำคัญคือการสอนไชรอนว่ายน้ำ ซึ่งนักแสดงเด็กตัวจริง อเล็กซ์ ฮิบเบิร์ต ก็ว่ายน้ำไม่เป็น มันจึงเป็นฉากการสอนว่ายน้ำที่สมจริง พร้อมบทสนทนาสอนใจถึงการเชื่อในสัญชาตญาณตัวเอง และฉากนั้นก็ส่งให้เขาได้รับรางวัลออสการ์มาครอง ทั้งนี้ ก็มีคำครหาถึงการได้รับรางวัลออสการ์ของเขามากมายว่าสมควรได้รับหรือไม่ เพราะเขาปรากฏตัวอยู่จอเพียงไม่นาน รวมถึงประเด็นเข้มข้นอย่างผิวสี เกย์ และศาสนาที่หลายคนตั้งคำถามว่า กรรมการออสการ์ “อาจ” ใช้เป็นส่วนหนึ่งในการประกอบการตัดสินใจ อย่างไรก็ดี ก็มีคนแก้ต่างให้เขามากมายว่า “สมควรได้รับรางวัล” เพราะอาลีแสดงได้อย่างยอดเยี่ยม, เป็นตัวละครสำคัญของเรื่อง และเดิมทีก็มีนักแสดงที่แสดงไม่กี่นาทีได้รับรางวัลออสการ์มาแล้วหลายต่อหลายคน เช่น กลอเรีย เกรแฮม จาก The Bad and the Beautiful (1952) ที่แสดง 9 นาที, ดี เดนช์ จาก Shakespeare in Love (1998) แสดง 8 นาที หรือ บีทรีซ สเตรท์ จาก Network (1976) ที่แสดงเพียง 5 นาทีเท่านั้น “ผมว่านี่เป็นบทที่ดีที่สุดที่ผมเคยได้อ่าน” มาเฮอร์ชาลา อาลี ให้สัมภาษณ์ใน Interview Magazine “ผมอยากบอกว่า การที่ฮวนหายตัวไปจากหนังมันมีจุดประสงค์ ในโปรเจกต์อื่นผมเคยหายตัวไปกว่า 40 นาที และอาจโผล่กลับในตอนท้ายหรือตายไปตั้งแต่ช่วงแรก ซึ่งนั่นไม่มีการอธิบายที่ดีหรือเหตุผลอะไรเสมอ แต่ความรู้สึกในเรื่องนี้เป็นสิ่งสำคัญ เพราะผมคิดว่าการหายไปมีคุณค่าบางอย่างต่อคนดู ผู้ชมจะต้องเข้าใจถึงความเหงาของเด็กชายในเรื่องนี้” เช่นเดียวกับประเด็นละเอียดอ่อนอย่างการนับถือศาสนาอิสลามของอาลี ซึ่งกำลังเป็นประเด็นดุเดือดในสถานการณ์การเมืองในช่วงนั้น หลังรัฐบาล โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศห้ามไม่ให้ชาวมุสลิมจาก 7 ประเทศเข้าประเทศ ส่งผลให้ผู้กำกับชาวมุสลิม อัสการ์ ฟาร์ฮาดี จากหนัง The Salesman (2016) ที่ชนะสาขารางวัลภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม ปฏิเสธการเดินทางมารับรางวัลด้วย แต่ดรามายังไม่จบ เมื่อ มาเฮอร์ชาลา อาลี เป็นมุสลิมที่นับถือนิกาย อาห์มาดีย์ยะ (Ahmadiyya) ซึ่งในหลายๆ ประเทศไม่นับว่าเป็นศาสนาอิสลาม หรือถูกมองว่าเป็นพวกนอกรีตด้วยซ้ำ ทำให้เขายังไม่เป็นที่ยอมรับในหมู่ศาสนาอิสลามด้วยกันมากขึ้นไปอีก ก่อนหน้านี้ อาลีเคยให้สัมภาษณ์ใน Radio Time เกี่ยวกับการถูกเลือกปฏิบัติในชีวิตจริงว่า “หากคุณเป็นคนดำที่เปลี่ยนศาสนามานับถืออิสลามในสหรัฐฯ มันไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่จะถูกเลือกปฏิบัติจากความเป็นมุสลิม ผมเคยถูกสั่งให้หยุด ถามว่าปืนอยู่ไหน เป็นแมงดาหรือเปล่า และถูกดึงตัวออกจากรถ ชาวมุสลิมอาจรู้สึกว่ากำลังถูกเลือกปฏิบัติแบบที่เคยไม่เจอมาก่อน แต่นี่ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับคนดำ” ล่าสุด มาเฮอร์ชาลา อาลี ยังวนเวียนกับประเด็นผิวสีอีกครั้งกับบทบาท “ดร. ดอน เชอร์ลี” นักเปียโนคลาสสิกผิวสีระดับโลกในภาพยนตร์ Green Book (2018) เรื่องราวการเดินทางไปทั่วตอนใต้ของอเมริกากับคนขับรถ “โทนี วัลเลลองกา” (วิกโก มอร์เทนเซน) พร้อมถือ "สมุดปกเขียว" ที่บอกสถานที่ที่เป็นมิตรกับคนผิวสี ทำให้พวกเขาต้องฝ่าทั้งกำแพงแห่งสีผิว ภัยอันตรายต่างๆ เช่นเดียวกับบทพิสูจน์น้ำใจจากเพื่อนมนุษย์ในการเดินทางครั้งสำคัญนี้ที่จะเปลี่ยนชีวิตพวกเขาไปตลอดกาล “สิ่งที่ทำให้ผมทึ่งในตัว ดอน เชอร์ลี ที่สุดคือความซับซ้อนของเขา ดอนต้องรับมือกับปัญหาหลายเรื่อง ในขณะเดียวกันเขาซ่อนความสามารถอันสุดยอดอยู่ข้างใน บทนี้มีอะไรให้ผมได้ลองเล่นเยอะมากๆ ผมเลยสนใจบทนี้” อาลีกล่าวถึงเหตุผลที่รับบทนี้ “คนดูจะรู้สึกว่าเขาไม่เข้ากับโลกใบนี้ เขาเรียนมาสูง ใช้ชีวิตและฝึกเปียโนในรัสเซียและลอนดอน แต่เพราะเขาเป็นแอฟริกันอเมริกัน เขาเลยดูไม่เหมือนคนที่จะได้รับการยอมรับในโลกนักดนตรีคลาสสิก แถมเขาเป็นนักดนตรีคลาสสิก เขาไม่อยากเล่นเพลงตามกระแสที่ได้ชื่อว่าเป็น ‘ดนตรีคนดำ’ ในยุคนั้น” ความที่อาลีและ ดร. ดอนแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ทั้งวิธีพูด การยืน หน้าตา และนิสัย เขาจึงทุ่มเทเพื่อให้สมบทบาท ด้วยการเตรียมตัวศึกษาทักษะเปียโนขั้นพื้นฐาน รวมไปถึงอาศัยข้อมูลจากการพูดคุยกับคนใกล้ชิด, ฟังผลงานเพลง ดร. ดอน หลายรอบ และชมสารคดีเกี่ยวกับ คาร์เนกี้ ฮอลล์ ที่ซึ่งเชอร์ลีเป็นศิลปินประจำเพื่อให้ได้รู้จักตัวตนและปรับใช้ในการแสดงได้อย่างดีที่สุด “ผมใช้ฟุตเทจของเขาในสารคดีเรื่องนี้มาปรับใช้ในการแสดงให้ดีที่สุดเท่าที่ผมจะทำได้ แสดงให้คนดูได้เห็นถึงตัวตนของชายคนที่ผมได้ดูในฟุตเทจ การที่ผมได้เห็นเขาขณะยังมีชีวิต เห็นวิธีที่เขาพูด หรือเคลื่อนไหว มันช่วยได้เยอะเลยทีเดียว มันเหมือนทำให้ผมได้รู้จักเขามากขึ้น แต่วิธีที่ทำให้ผมรู้จักตัวตนของเขาได้ดีที่สุดคือการฟังผลงานของเขา ผมรู้สึกถึงความยอดเยี่ยม และความเป็นคนรักความสมบูรณ์แบบผ่านบทเพลงของเขา” ท้ายที่สุดแล้ว อาลีอยากให้ผู้ชมเคารพเขาในฐานะนักแสดงคนหนึ่งที่เป็นศิลปิน มากกว่าการมองว่าเป็นคนผิวสี โดยให้ดูที่ผลงาน บทภาพยนตร์ การเปลี่ยนแปลงของตัวละคร “เราพูดถึงประเด็นผิวสีกันบ่อยเกินไปแล้ว เราต้องทำงานให้ดีที่สุด พัฒนาตัวเองในทิศทางที่เหมาะสม และผมก็สามารถจัดการสิ่งต่างๆ ให้ตัวเองเป็นคนที่สมบูรณ์พร้อมที่สุดเท่าที่สามารถทำได้” เหตุนี้นักแสดงร่วมคนอื่นๆ จึงพูดถึง มาเฮอร์ชาลา อาลี เป็นเสียงเดียวกันว่า เขาเป็นสุดยอดนักแสดง นิสัยน่ารัก และสุภาพ และเขาเป็นนักแสดงออสการ์ที่ไม่มีอีโกติดตัวเลย ผลงานการแสดงของเขาไม่ว่าเรื่องไหน จึงมีคุณค่าต่อสังคมเสมอ เป็นคุณค่าที่สร้างมุมมองใหม่ในการหันมามองเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ด้วยสายตาที่เปลี่ยนไป ที่มา