ชีวิตจริงของมาเฟียเกาหลีจากซีรีส์ The Worst of Evil พัฒนาการยาวนานกว่า 100 ปี

ชีวิตจริงของมาเฟียเกาหลีจากซีรีส์ The Worst of Evil พัฒนาการยาวนานกว่า 100 ปี

The Worst of Evil ซีรีส์เกาหลีเรื่องใหม่ที่พูดถึงมาเฟียปลายยุค 90s ของเกาหลีใต้ แต่จริง ๆ แล้ว จุดเริ่มต้นของมาเฟียเกาหลียาวนานกว่านั้น มุมหนึ่งพวกเขาคือคนที่อาจตกหล่นจากการพัฒนาสังคมของเกาหลีใต้ เคยเป็นฮีโร่ ก่อนจะถูกมองเป็นแก๊งอาชญากรรมที่อยู่เบื้องหลังธุรกิจสีเทา

  • The Worst of Evil คือ ซีรีส์เกาหลีที่ว่าด้วยเรื่อง ‘มาเฟีย’ ปลายยุค 90s ในกังนัม
  • แต่จริง ๆ แล้ว เส้นทางมาเฟียของเกาหลีนั้นยาวนานกว่า 100 ปี
  • จากฮีโร่กลายเป็นแก๊งอาชญากรรม จากผู้อยู่เบื้องหลังธุรกิจสีเทาสู่การเป็นเจ้าของธุรกิจใต้ดินเต็มตัว คือ คำอธิบายขนาดย่อของประวัติศาสตร์มาเฟียเกาหลี

The Worst of Evil เป็นซีรีส์เกาหลีเรื่องใหม่ ออริจินัลคอนเทนต์ของดิสนีย์ พลัส ฮอตสตาร์ (Disney Plus Hotstar) ที่พูดถึงชีวิตของ ‘มาเฟีย’ เกาหลีใต้ในปลายยุค 90s ยุคที่เกาหลีใต้กำลังฟื้นฟูตัวเองจากภาวะสงคราม และเพิ่งหลุดพ้นจากการปกครองของญี่ปุ่นได้ไม่นาน

พูดอีกมุมหนึ่ง เหล่ามาเฟียคือผู้คนในสังคมที่อาจตกหล่นจากการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของเกาหลีใต้เพื่อพิสูจน์ตัวเองให้ชาวโลกได้เห็น

เกาหลีใต้มีชื่อเรียกกลุ่มมาเฟียหลายคำ เช่น ‘โจพก’ หมายถึง กลุ่มมาเฟียที่มีลูกน้องเยอะ องค์กรใหญ่ มีหัวหน้า และมีชื่อแก๊งของตัวเอง หรือคำว่า ‘กังแพ’ ที่พูดถึงมาเฟียกลุ่มเล็ก ไม่มีชนชั้น และให้ความสำคัญกับความเป็นครอบครัวในองค์กร

บทความนี้จะพาทุกคนสำรวจชีวิตจริงของเหล่าตัวละครใน The Worst of Evil ที่มีอยู่จริงในประวัติศาสตร์เกาหลี ตั้งแต่ยุคแรกถึงกลุ่มมาเฟียในปี 2023 

มาเฟียเกาหลีภายใต้อาณานิคมของญี่ปุ่น

ในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 มหาอำนาจตะวันตกบังคับให้ราชวงศ์ชิง (จีน) และญี่ปุ่นเปิดประเทศ ทั้งเรียกร้องให้โชซอนเปิดประตูการค้า แต่โชซอนไม่ยอมจนถูกรุกรานจากฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่นอยู่บ้าง

จนสุดท้ายญี่ปุ่นก็บังคับให้โชซอนหรือเกาหลีตอนนั้นลงนามสนธิสัญญาคังฮวาโด เปิดการค้ากับญี่ปุ่น แม้จะเป็นสนธิสัญญาที่ดูจะไม่เป็นธรรมและถูกเอาเปรียบหลายด้าน โดยเฉพาะการถูกแย่งชิงทรัพยากร ทำให้โชซอนเปลี่ยนชื่อเป็นจักรวรรดิเกาหลีและเร่งรัดปฏิรูปประเทศ แต่ก็สายไปเสียแล้ว

ญี่ปุ่นชนะสงครามจีนและรัสเซียที่เข้ามารุกราน ดินแดนแห่งอาทิตย์อุทัยเลยกลายเป็นมหาอำนาจในเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ บุกยึดแผ่นดินเกาหลี ทำให้เกาหลีตกเป็นอาณานิคมของญี่ปุ่นระหว่างปี 1910 - 1945

เราจะเห็นได้จากซีรีส์เกาหลีหลายๆ เรื่องว่า การที่ญี่ปุ่นเข้ามาปกครองเกาหลี ทำให้ชาวเกาหลีต้องเผชิญความยากลำบากหลายด้าน เช่น ห้ามพูดภาษาเกาหลี บางคนถูกขับไล่ออกจากบ้านเกิด ต้องขายที่ดินทำกิน และบางคนก็เลือกที่จะออกไปตั้งรกรากในต่างประเทศ

และหนึ่งในกลุ่มคนที่มีอิทธิพลต่อสังคมเกาหลีไม่แพ้กัน คือ ‘ยากูซ่า’ ที่มักจะเกี่ยวข้องกับธุรกิจผิดกฎหมาย ค้าประเวณี ค้ายาเสพติด ขู่กรรโชก โดยอ้างว่าทำงานบาร์และตลาดบังหน้า

ขณะเดียวกันความพยายามที่จะเร่งปฏิรูปประเทศทำให้ความเจริญไหลเข้าสู่เมือง ‘ซอจุนซอก’ นักวิจัยสถาบันประวัติศาสตร์กรุงโซล (Seoul Institute of Historical Compilation) สันนิษฐานไว้ในปี 2017 ว่า อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้สมาชิกแก๊งมาเฟียย้ายจากชนบทเข้าสู่เมือง

มาเฟียมักจะปรากฏตัวในฐานะคนกลาง ทำหน้าที่แทนตำรวจ ไกล่เกลี่ยปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างผู้ประกอบการ เจ้าของบ้าน ผู้เช่า รวมถึงความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสถานบันเทิงด้วย

แม้ ‘เมือง’ จะดูเป็นพื้นที่อันตรายและอาจถูกจับได้ง่าย แต่ซอจุนซอกก็ยังอธิบายอีกว่า เมืองนี่แหละคือพื้นที่หลบภัยที่ปลอดภัย ไม่เปิดเผยตัวตน ซ่อนอยู่ในฝูงชน จนได้รับการขนานนามว่าเป็น ‘ผีเสื้อกลางคืนที่ร่ำรวย’

 

‘คิมดูฮัน’ นักเลงเกาหลีตัวจริงที่สู้กับญี่ปุ่น

คิมดูฮัน คือนักเลงเกาหลีที่ได้รับฉายาว่าเป็น ‘นักสู้ที่เก่งที่สุด’

เขาไม่ได้เติบโตมาในครอบครัวที่ดีพร้อม พ่อแม่ของคิมดูฮันถูกชาวญี่ปุ่นฆ่าตาย ตอนเด็กเป็นขอทานและเป็นนักเลงข้างถนน เปิดแก๊งของตัวเองชื่อ ‘อูมิกัน’ (Umikan) รวบรวมสมาชิกได้มากกว่า 70 คนทั่วประเทศ เริ่มจากการต่อสู้กับชาวเกาหลีด้วยกันเอง ไปจนถึงการเปิดศึกกับ ‘ฮายาชิ’ คนเกาหลีที่ถูกส่งตัวกลับประเทศมาในฐานะหัวหน้ายากูซ่าจากญี่ปุ่น

ซอจุนซอกบอกว่า คิมดูฮันใช้ตลาดและโรงละครเป็นอาณาเขตสำคัญของตัวเอง เหตุผลที่พวกอันธพาลใช้ตลาดและสถานที่อื่น ๆ เป็นอาณาเขตของพวกเขา ก็เพราะสถานที่เหล่านี้เป็นพื้นที่สร้างกำไร ทั้งยังเป็นศูนย์รวมความหลากหลายทางด้านเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมการค้าส่ง การค้าปลีก การจัดจำหน่าย ความบันเทิงและบริการ

แล้วถ้าย้อนกลับไปดูรายละเอียดตามประวัติศาสตร์ก็ดูเหมือนว่า คนเกาหลีก็ไม่ได้เกลียดกลุ่มมาเฟียมากเท่าไร เพราะช่วงนั้นคนเกาหลีก็ต้องการคนที่จะมาช่วยปลดปล่อยให้พวกเขาเป็นอิสระ จึงทำให้ ‘คิมดูฮัน’ กลายเป็นฮีโร่ให้กับชาวเกาหลีเพื่อต่อสู้กับชาวญี่ปุ่น

แต่หลังจากผ่านไป 35 ปี ญี่ปุ่นถอยทัพออกจากเกาหลีใต้ ฮายาชิก็กลายมาเป็นแบ็กอัปคนสำคัญให้กับคิมดูฮัน 

 

มาเฟียเกาหลีในฐานะลูกน้องรัฐบาลและองค์กรใต้ดิน

ปี 1950 เกิดสงครามเกาหลี แก๊งมาเฟียเริ่มเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการเมือง แก๊งของคิมดูฮันก็แบ่งออกเป็นสองฝ่าย คิมดูฮันพาเด็ก ๆ ของเขามุ่งหน้าสู่รัฐบาล เรียกตัวเองว่าพรรคเสรีนิยม แต่ต่อต้านความเสรีนิยม ให้ความสำคัญเรื่องชาตินิยม ต่อต้านคอมมิวนิสต์และเผด็จการ 

หลังจากนั้นก็มีสองแก๊งมาเฟียสำคัญที่ลุกขึ้นมาเป็นแนวหน้า คือ กลุ่มทงแดมุน ผู้อยู่เบื้องหลังรัฐบาลในการสร้างสถานการณ์และความวุ่นวายทางการเมือง รวมถึงยังมีการสร้างภาพยนตร์ชวนเชื่อต่อต้านเสรีนิยม ขณะที่อีกกลุ่ม คือ เมียงดง ที่ให้ความสำคัญกับการสร้างรายได้มากกว่า

ซึ่งช่วงนั้นเป็นช่วงเวลาที่เกาหลีมี ‘อีซึงมัน’ เป็นผู้บริหารประเทศและยังเป็นประธานาธิบดีคนแรกที่ไม่สามารถสร้างความมั่นคงให้ประเทศได้ แทนที่จะพาประเทศเดินต่อไปข้างหน้า เขากลับทำให้ประเทศมีความวุ่นวาย จนทำให้ ‘พัคจองฮี’ เข้ามาทำรัฐประหาร ขณะเดียวกันก็กวาดล้างมาเฟียเกาหลีออกไปจากสังคม

หลังจากการปราบปรามกลุ่มอาชญากรครั้งใหญ่ กลุ่มมาเฟียเกาหลีจึงกลายเป็นองค์กรใต้ดินที่อยู่เบื้องหลังธุรกิจต่าง ๆ ในเกาหลีใต้

 

อพยพเข้า ‘กังนัม’ จากแก๊งอาชญากรรมสู่องค์กรธุรกิจ

อิทธิพลของกลุ่มมาเฟียเกาหลีเริ่มมากขึ้นในปี 1960 - 1980

โดยเฉพาะช่วง 1960 ที่เกาหลีพยายามจะฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังสงครามจบลง หนึ่งในเขตเศรษฐกิจสำคัญที่เกาหลีใต้ผลักดัน คือ ‘กังนัม’ 

เมืองโซลมีนโยบายย้ายสถานบันเทิง ศาลฎีกา สำนักงานอัยการ กระทรวงพาณิชย์ นั่นหมายความว่า กังนัมจะกลายเป็นย่านเศรษฐกิจที่สำคัญแห่งหนึ่งของเกาหลีใต้

เมื่อข่าวกระจายทั่วประเทศ ชาวมาเฟียในต่างจังหวัดก็อพยพเข้ามาในเมือง เพราะอย่างน้อยการเข้ามาอยู่ในเขตเศรษฐกิจก็สามารถช่วยธุรกิจของพวกเขาให้มีกำไรไม่มากก็น้อย จึงทำให้กลุ่มมาเฟียเกาหลีซ่อนตัวอยู่ในหลากหลายวงการ ตั้งแต่สถานบันเทิงไปจนถึงการเมือง 

สิ่งที่พวกเขาทำ คือ การฉ้อโกง ค้าประเวณี เปิดกู้เงินนอกระบบ ฟอกเงิน และการพนัน

แต่ถึงอย่างนั้น ในปี 1990 ก็มีการกวาดล้างแก๊งมาเฟียอีกครั้ง หัวหน้าและสมาชิกของมาเฟียถูกจับเข้าคุกหลายพันคน

ขณะเดียวกันช่วงปี 1993 แก๊งชิจอง ก็แข็งแกร่งมากขึ้น พวกเขามีคติในการทำงานอยู่ 3 อย่าง คือ เกลียดคนรวย ฆ่าคนทรยศ และไม่ไว้ใจผู้หญิง แม้แต่แม่ของตัวเอง แต่สุดท้ายพวกเขาก็ถูกจับและบางคนถูกประหารชีวิตในปี 1994 

ถึงจะโดนจับ แต่ธุรกิจของพวกเขาก็ยังดำเนินต่อไป เปลี่ยนจากแก๊งอาชญากรรมเป็นองค์กรธุรกิจที่เริ่มเข้ามามีบทบาทสำคัญในวิกฤตเศรษฐกิจของเอเชียตะวันออกปี 1997

แล้วถ้าดูจากซีรีส์ The Worst of Evil แม้ตัวละครหลักจะเป็นแก๊งมาเฟียเกาหลี เจ้าของธุรกิจสถานบันเทิงขนาดใหญ่ในย่านกังนัม แต่ซีรีส์ยังสะท้อนให้เห็นว่า ปูซาน เมืองติดทะเลทางตอนใต้ก็เป็นอีกหนึ่งเมืองที่เป็นฐานสำคัญของมาเฟียเกาหลี

ข้อมูลจากสำนักงานอัยการเขตปูซานปี 2007 ระบุว่า มีกลุ่มมาเฟียอยู่ทั้งหมด 1,833 คน ใน 101 องค์กร ขณะที่สำนักงานเขตซูวอน ระบุว่า มีกลุ่มมาเฟีย 1,581 คน ใน 45 องค์กร รวมถึงข้อมูลจากกวางจูระบุว่า มีกลุ่มมาเฟียทั้งหมด 1,542 คน ใน 33 องค์กร

ตัวเลขข้างต้นก็สะท้อนให้เห็นแล้วว่า มาเฟียเกาหลียังเป็นองค์กรใต้กินที่ยังมีอยู่ แม้เวลาจะผ่านไปนานถึง 10 ปี

 

ลำดับชั้นในกลุ่มมาเฟีย

ว่ากันว่า ในกลุ่มมาเฟียก็มีลำดับชั้น…

สำหรับมาเฟียเกาหลี หัวหน้าแก๊งจะเรียกว่า ‘ตูมก’ ที่ปรึกษาของผู้บริหารระดับสูงจะเรียกว่า ‘โคเมน’

ส่วนหัวหน้าทีมจะเรียกว่า ‘ปูตูมก’ หน้าที่ของพวกเขา คือ การดูแลภาพรวมงานแต่ละวันเพื่อมอบหมายให้ลูกน้องระดับต่อไปที่เรียกว่า ‘ฮังดอกแดชาง’ 

อย่างที่บอกว่ากลุ่มแก๊งของมาเฟียเกาหลี คือ กลุ่มคนที่อยู่เบื้องหลังอุตสาหกรรมบันเทิง สถานบันเทิง หรือทำงานอสังหาริมทรัพย์ แต่จริง ๆ แล้ว พวกเขาคือพ่อค้ายาเสพติด ค้ามนุษย์ ค้าประเวณี และปล่อยกู้เงินนอกระบบ ทั้งยังมีพันธมิตรจากนานาประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน รัสเซีย 

แต่ถึงจะรู้ทั้งรู้ว่าแก๊งมาเฟียเหล่านี้ทำผิดกฎหมาย แต่การหาหลักฐานมาสอบสวนความผิดของตำรวจก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะกลุ่มมาเฟียมักจะมีความสัมพันธ์และเครือข่ายกับคนของรัฐ ตั้งแต่เจ้าหน้าที่ตำรวจ นักการเมือง ไปจนถึงรัฐมนตรีที่อยู่ฝ่ายรัฐบาล

 

มาเฟียปี 2023 ไม่ไล่ล่า แต่สังสรรค์เจรจาธุรกิจ

หลังจากผ่านยุคปลาย 90s ไปที่มีการกวาดล้างกลุ่มมาเฟียเกาหลี ดูเหมือนว่ามาเฟียก็จะเริ่มหายไปจากสังคมเกาหลี (หรืออาจจะยังมีอยู่ แต่การนำเสนอข่าวลดลง)

แต่ก็มีกลุ่ม ‘ชิลซงปา’ ที่มีอีคังฮวานเป็นผู้นำ แต่เขาก็ถูกจับในปี 2010 ข้อหาขู่กรรโชกเงินจำนวน 40 ล้าน จากธุรกิจก่อสร้าง

แม้แต่ปี 2023 นี้ ก็ยังมีข่าวเรื่องกลุ่มมาเฟียเกาหลีอยู่ เพียงแต่รูปแบบของพวกเขาเปลี่ยนไป…

แทนที่จะไล่ล่าแทงกัน พวกเขาเลือกใช้วิธีการกินดื่มเพื่อกระชับมิตรกัน

เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม 2023 ที่ผ่านมา สำนักข่าว Korean Herald อ้างว่า จากรายงานข่าวของสื่อท้องถิ่น รายงานว่า สำนักงานอัยการเขตกรุงโซลตรวจเจอการรวมกลุ่มของกลุ่มมาเฟียเกาหลีที่มักจะนัดเจอกันเป็นประจำ

“พวกมาเฟียรู้ดีว่า ถ้าพวกเขามีเรื่องกัน พวกเขาจะต้องถูกจับ ทุกวันนี้แก๊งมาเฟียเลยไม่ค่อยตีกันเท่าไร แต่พวกเขาเลือกใช้วิธีคุยหาผลประโยชน์ที่ลงตัวทั้งสองฝ่ายจากสิ่งผิดกฎหมาย เช่น การวางแผนโกงเงิน” อัยการจากสำนักงานอัยการเขตคนหนึ่งกล่าว

สำนักข่าว Korean Herald รายงานเพิ่มเติมว่า การโพสต์รูปโชว์สมาชิกกลุ่มทางโซเชียลมีเดียเป็นที่นิยมในสมาชิกอายุน้อยและอายุใกล้เคียงกัน พวกเขาจะถอดเสื้อและโชว์รอยสัก และมักจะโพสต์เมื่อการเจรจาของพวกเขาจบลง

ขณะที่ข้อมูลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติปี 2022 ระบุว่า มีสมาชิกกลุ่มมาเฟียถูกจับระหว่างวันที่ 20 เมษายน 2022 - 29 กรกฎาคม 2022 ทั้งหมด 1,630 คน โดยเป็นคนที่มีอายุ 20 ปี 34.4% อยู่ในช่วงอายุ 30 ปี 28.2% และอยู่ในช่วงวัยรุ่น 6.1%

จากฮีโร่กลายเป็นแก๊งอาชญากรรม จากผู้อยู่เบื้องหลังธุรกิจสีเทาสู่การเป็นเจ้าของธุรกิจใต้ดินเต็มตัว จากลูกน้องสู่หัวหน้าแก๊ง นี่อาจเป็นคำนิยามสั้นๆ ของชีวิตมาเฟียเกาหลีที่มีเส้นทางยาวนานมากว่า 100 ปี

นี่คือชีวิตจริงของ ‘มาเฟีย’ ในซีรีส์ The Worst of Evil รวมถึงซีรีส์และภาพยนตร์อื่น ๆ ที่เล่าชีวิตเบื้องหลังของคนกลุ่มนี้

เพราะพวกเขา คือ ‘ผู้คน’ ที่ได้รับผลกระทบจากสังคมทุนนิยมและการพัฒนาเมืองอันรวดเร็วของเกาหลีใต้ที่ต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดเหมือนกับคนอื่น ๆ ในสังคม

ในเมื่อไม่มีใครปกป้องพวกเขาได้ พวกเขาก็ต้องปกป้องตัวเอง 

ไม่ต้องเป็นถึงมาเฟีย แต่อย่างที่มีคนเคยบอกไว้ ‘เราต่างเคยเป็นตัวร้ายในเรื่องเล่าของคนอื่นกันทั้งนั้น’

จริงไหม?

 

เรื่อง : ณัฐธนีย์ ลิ้มวัฒนาพันธ์

ภาพ : Getty Images, ซีรีส์ The Worst of Evil จาก Disney Plus Hotstar

 

อ้างอิง : 

gangstersinc

redian

discoverwalks

thailand-korean culture

koreatimes

koreaherald