‘โอกะวะระ คุนิโอะ’ บิดาแห่งการออกแบบ ‘กันดั้ม’ ผู้บุกเบิกอาชีพออกแบบจักรกล

‘โอกะวะระ คุนิโอะ’ บิดาแห่งการออกแบบ ‘กันดั้ม’ ผู้บุกเบิกอาชีพออกแบบจักรกล

โอกะวะระ คุนิโอะ ผู้ออกแบบ ‘กันดั้ม’ ตัวแรก หุ่นยนต์รูปทรงอมตะที่ทำให้ยอดขายพลาสติกโมเดลพุ่งไปปีละ 700 - 800 ล้านตัวโดยเฉลี่ย และถือเป็นผู้บุกเบิกอาชีพนักออกแบบจักรกล (Mechanical Designer)

  • เมื่อตลาดการ์ตูนญี่ปุ่นเติบโตและเศรษฐกิจญี่ปุ่นเฟื่องฟู ทำให้แฟนคลับที่มีกำลังซื้อสูงมีความต้องการการ์ตูนหุ่นยนต์แนวใหม่ ๆ จึงเกิดโครงการสร้างการ์ตูนหุ่นยนต์แนวใหม่ที่จะปฏิรูปวงการการ์ตูนหุ่นยนต์ขึ้นในปี 1979 
  • ญี่ปุ่นน่าจะเป็นชาติเดียวในโลกที่ได้ลิ้มรสชาติแห่งระเบิดปรมาณูและหายนะหลังแพ้สงครามโลก โอกะวะระเองก็เกิดในปี ค. ศ. 1947 ซึ่งยังทันที่จะจำความเมื่อครั้งญี่ปุ่นย่อยยับจากผลของสงครามได้ เมื่อมีโครงการสร้างการ์ตูนหุ่นยนต์แนวใหม่ขึ้น จึงมีการวางพล็อตกับทีมงานว่าต้องเกี่ยวกับ ‘สงคราม ความขัดแย้งของมนุษยชาติ และหุ่นยนต์’

ใครที่เป็นคอการ์ตูนญี่ปุ่นน่าจะเคยได้ยินคำว่า Gundam และเคยเห็นของเล่นประเภทพลาสติกโมเดลของการ์ตูนหุ่นยนต์ประเภทนี้ ซึ่งขายได้เฉลี่ยปีละ 700 - 800 ล้านตัว และสร้างรายได้เฉพาะยอดขายพลาสติกโมเดล (ที่นิยมเรียกกันด้วยภาษาอังกฤษแบบญี่ปุ่นว่า ‘กันพลา’ ซึ่งย่อมาจาก GUNdam PLAstic model นั่นเอง) เฉลี่ยปีละประมาณ 4 หมื่นล้าน – 5 หมื่นล้านเยน เลยทีเดียว

ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1979 และการ์ตูนรวมทั้งของเล่นจากซีรีส์ Gundam ก็ยังคงขายดิบขายดีอยู่ในกระแสมาตลอดมากกว่า 40 ปีจนกระทั่งปัจจุบัน จึงไม่น่าจะเกิดปรากฏการณ์เช่นนี้เพราะฟลุกหรือโชคช่วยเป็นแน่ วันนี้เลยจะกล่าวถึงชายผู้สร้างคุณูปการอยู่เบื้องหลังจักรวาลกันดั้มมาตลอด 40 ปีนี้ นั่นคือคุณโอกะวะระ คุนิโอะ (Ōkawara Kunio: 大河原邦男) ผู้บุกเบิกอาชีพ Mechanical Designer และผู้ออกแบบ Gundam ตัวแรกนั่นเอง

แต่เดิมนั้นการ์ตูนแนวหุ่นยนต์ของญี่ปุ่นมักเป็นหุ่นยนต์แนวอภินิหาร (ภายหลังเรียกการ์ตูนหุ่นยนต์แนวนี้ว่าแนว Super Robot) เช่น หุ่นยนต์มีความนึกคิดหรือมีชีวิตจิตใจเป็นของตัวเอง การควบคุมบังคับมักเป็นการเชื่อมต่อจิตใจ หรือบางครั้งถึงขั้นหุ่นยนต์เป็นตัวแทนของเทพอะไรสักอย่างหรือเป็นตัวแทนของพระผู้เป็นเจ้า และหุ่นยนต์สามารถใช้เวทมนตร์หรือพลังเหนือธรรมชาติได้ก็มี แต่เมื่อตลาดการ์ตูนญี่ปุ่นยุคนั้นกำลังเติบโตอย่างมากและเศรษฐกิจญี่ปุ่นเฟื่องฟูในตอนนั้นทำให้แฟนคลับมีกำลังซื้อสูง จึงมีความต้องการการ์ตูนหุ่นยนต์แนวใหม่ ๆ อีก ในที่สุดก็เกิดโครงการจะสร้างการ์ตูนหุ่นยนต์แนวใหม่ที่จะปฏิรูปวงการการ์ตูนหุ่นยนต์ขึ้นในปี 1979 และผู้ได้รับมอบหมายให้ออกแบบหุ่นยนต์ในการ์ตูนเรื่องนี้ก็คือ โอกะวะระ คุนิโอะ

ญี่ปุ่นน่าจะเป็นชาติเดียวในโลกที่ได้ลิ้มรสชาติแห่งระเบิดปรมาณูและหายนะหลังแพ้สงครามโลก โอกะวะระเองก็เกิดในปี ค. ศ. 1947 ซึ่งยังทันที่จะจำความเมื่อครั้งญี่ปุ่นย่อยยับจากผลของสงครามได้ เมื่อมีโครงการสร้างการ์ตูนหุ่นยนต์แนวใหม่ขึ้น จึงมีการวางพล็อตกับทีมงานว่าต้องเกี่ยวกับ ‘สงคราม ความขัดแย้งของมนุษยชาติ และหุ่นยนต์’ มีการยกฐานอายุของผู้ชมให้อายุสูงขึ้นกว่าการ์ตูนแนว Super Robot และให้เนื้อหามีความหม่นหมองแสดงความหดหู่ของสงคราม และไม่มีฝ่ายพระเอกหรือตัวร้ายที่ชัดเจนเหมือนแนว Super Robot เรียกว่าจัดเต็มบรรยากาศสงครามได้แบบไม่แคร์จิตใจเด็ก ๆ กันไปเลยทีเดียว 

อย่างไรก็ตาม มีการจำลองฝ่ายสหรัฐอเมริกาในโลกแห่งความจริงตอนสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็น ‘ฝ่ายสหพันธ์โลก’ ในเรื่อง Gundam และจำลองฝ่ายนาซีเยอรมนีเป็น ‘Zeon’ ให้รู้ว่ามีกองกำลังหลักอยู่ 2 ฝ่ายในเรื่องด้วย

โอกะวะระ ไม่ใช่คนที่ชื่นชอบมังงะหรืออนิเมะเป็นพิเศษ แต่เป็นคนทำงานแบบมืออาชีพ เมื่อได้รับโจทย์ว่า ‘ต้องสมจริง’ คือไม่ต้องการออกแบบหุ่นให้เหมือนแนว Super Robot ที่ดูเหมือนสิ่งมีชีวิตมากกว่าเป็นหุ่นยนต์ โอกะวะระ จึงไม่ได้คิดด้วยแนวคิดแบบ Super Robot และไม่ได้นั่งมโนดีไซน์หุ่นขึ้นมา แต่คิดด้วยหลักวิทยาศาสตร์ในโลกแห่งความจริงว่า หากในอนาคตมีเทคโนโลยีเพียงพอที่จะสร้าง Gundam ขึ้นมาจริง ควรออกแบบอย่างไร ใช้วัสดุอะไร เทคโนโลยีข้อต่อ หรือแหล่งพลังงานของหุ่นต้องมาจากไหน และยังต้องให้ผู้ผลิตของเล่นพึงพอใจและผลิตของเล่นออกมาได้จริง ฯลฯ 

ถึงขั้นที่เขาต้องลองสร้างตัวอย่างด้วยไม้และเหล็กในบางครั้ง รวมทั้งต้องไปลงเรียนเพิ่มในวิชา 3D Computer Graphic เพื่อมาออกแบบ Gundam ตัวแรกกันเลยทีเดียว และโจทย์อีกเรื่องคือ ‘สงคราม’ ดังนั้น สิ่งที่เขารังสรรค์ขึ้นมาจึงได้รับแรงบันดาลใจจากชุดเกราะซามูไรโบราณของญี่ปุ่น อันเป็นตัวแทนของสงครามแบบญี่ปุ่น 

ส่วนเรื่องสีสันของ Gundam นั้นก็มาคุยกับทีมงานและสปอนเซอร์ จนกระทั่งได้เป็น RX-78-2 Gundam ซึ่งเป็น Gundam ตัวแรกในการ์ตูนภาคแรก ที่ดูแล้วรู้ทันทีว่าเป็นหุ่นยนต์ในอนาคต แต่ก็รู้ทันทีอีกเหมือนกันว่า เป็นญี่ปุ่น เพราะมาจากเกราะซามูไรนี่นา แล้วค่อยออกแบบหุ่นอีกหลายตัวของฝ่ายสหพันธ์โลก

ส่วนในการการออกแบบหุ่นฝ่าย Zeon จะใช้อีกฐานคิดหนึ่งแบบคือต้องมีความเป็นเผด็จการทหารเพราะจำลองภาพมาจากนาซีเยอรมนีตอนสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงเน้นไปที่การออกแบบให้มีหุ่นแค่ตาเดียวคือ Mono-eye เพื่อความดูน่าเกรงขาม และออกแบบให้เหมือนหุ่นมีหน้ากากป้องกันแก๊สพิษสวมอยู่ที่หน้าตลอดเวลา ซึ่งก็คือหุ่นตระกูล Zaku และ Gouf ทำให้เกิดความเท่ไปอีกแบบที่ต่างจากหุ่นของฝ่ายสหพันธ์โลก

แม้ว่าภาคแรกของ Gundam จะไม่ประสบความสำเร็จมากนักในตอนออกอากาศช่วงแรก เนื่องจากเป็นการ์ตูนหุ่นยนต์แนวใหม่ที่เด็กดูไม่รู้เรื่อง เครียด หม่นหมอง หดหู่ แต่เนื่องจากความสนุกของเนื้อเรื่องจึงทำให้ระหว่างที่ออกกาศไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งใกล้ถึงตอนจบ เกิดกระแสปากต่อปากพูดถึงการ์ตูนเรื่องนี้จนเรตติ้งดีขึ้น และอย่างที่ทราบกันว่า ยอดขายของเล่นถล่มทลายมากระดับเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมขนาดใหญ่ในประเทศญี่ปุ่นขณะนั้น 

ถึงขั้นที่ว่าโอกะวะระ สามารถสถาปนาอาชีพใหม่คือ Mechanical Designer ให้คนรุ่นหลังได้เลย และเกิดคำศัพท์ชนิดใหม่ขึ้นในภาษาญี่ปุ่นคือ ‘กันพลา’ (GUNPLA) และสถาปนาการ์ตูนหุ่นยนต์แนวใหม่ที่เรียกว่า Real Robot คือเป็นหุ่นสมจริงที่อ้างอิงจากวิทยาศาสตร์ในโลกแห่งความจริงว่า ในอนาคตน่าจะสร้างหุ่นแบบนี้ขึ้นได้ ไม่ใช่หุ่นที่มาจากอภินิหาร หรือพลังจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์แบบใน Super Robot ที่เคยมีมาก่อนในญี่ปุ่น

ปัจจุบันโอกะวะระ คุนิโอะ ยังคงออกแบบ Gundam จำนวนมาก อุทิศตัวเพื่องานให้คนวงวิชาชีพ Mechanical Designer และมีบริษัทต่าง ๆ ทั่วโลกขอให้ไปออกแบบของเล่น หรือกระทั่งออกแบบเครื่องจักรในชีวิตจริงก็มี แต่ความสำเร็จที่โด่งดังที่สุดในชีวิตยังคงเป็นผลงานออกแบบ Gundam รุ่นต่าง ๆ และมีจุดยืนที่ชัดเจนคือ “เป็นผู้เชื่อมต่อระหว่างผู้ผลิตอนิเมะ และผู้ผลิตของเล่น ให้ออกมาพึงพอใจทั้งสองฝ่าย” จึงไม่แปลกใจที่การ์ตูนแนว Gundam และของเล่น GUNPLA จะยังครองใจแฟนคลับทั่วโลกมาจนปัจจุบัน

 

เรื่อง: วีรยุทธ พจน์เสถียรกุล 
ภาพ: โอกะวะระ คุนิโอะ ในนิทรรศการครบ 50 ปี บิดาแห่งกันดั้ม ที่ฮ่องกง เมื่อมีนาคม 2023 ไฟล์จาก Getty Images ประกอบกับการจัดแสดงกันดั้มด้านหน้าเซ็นทรัลเวิลด์ ภาพจาก NATION PHOTO