รัตน์ เปสตันยี : นักทำหนังผู้ต่อสู้เพื่อหนังไทยจนลมหายใจสุดท้าย

รัตน์ เปสตันยี : นักทำหนังผู้ต่อสู้เพื่อหนังไทยจนลมหายใจสุดท้าย

‘รัตน์ เปสตันยี’ ผู้กำกับชาวไทยคนแรกที่สามารถคว้ารางวัลระดับนานาชาติ เป็นผู้เรียกร้องให้รัฐบาลหันมาให้ความสำคัญกับวงการหนังไทยจนลมหายใจสุดท้าย

KEY

POINTS

  • ประวัติของ ‘รัตน์ เปสตันยี’ จากเด็กผู้ชอบถ่ายภาพสู่ผู้กำกับสายรางวัล
  • คอนเซปต์ประหลาด’ ในการทำหนังที่ล้ำจนพาหนังไทยสู่เวทีนานาชาติเป็นครั้งแรก
  • การเรียกร้องให้รัฐบาลหันมาสนับสนุนหนังไทยจนลมหายใจสุดท้าย
     

เมื่อสมัยที่ข้าพเจ้าทำหนังสือพิมพ์ คุณรัตน์พูดเรื่องรัฐบาลไม่ช่วยหนังไทย พูดตรงเป้าและรุนแรง จนคนทำหนังไทยด้วยกันเขม่น เห็นว่าเกินไป คุณรัตน์ก็พูดอยู่เรื่อย ๆ พูดตรง ๆ เสมอ จนมาถึงสมัยคุณรัตน์เป็นนายกสมาคมผู้อำนวยการสร้าง คุณรัตน์ก็พูด...พูด...พูด...

 

ข้อความในหนังสืออนุสรณ์งานศพ ‘รัตน์ เปสตันยี’ เขียนโดย ‘เชิด ทรงศรี’ ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องข้างหลังภาพ (2544) และแผลเก่า (2520) ชวนสะทกสะท้อนด้วยตอกย้ำว่า แม้ ‘สยาม’ จะริเริ่มสร้างภาพยนตร์ของตนเองตั้งแต่ พ.ศ. 2470 แต่รัฐบาลกลับไม่เคยสนับสนุนอุตสาหกรรมนี้อย่างสมเหตุสมผล กระทั่งยุคที่ ‘หลานม่า’ ไปไกลถึงรอบ Shortlist ภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยมบนเวทีออสการ์ วงการหนังไทยก็ยังเต็มไปด้วยเสียงวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการสนับสนุนของภาครัฐที่ ‘ไม่เพียงพอ’ และหากมองย้อนกลับไป ก็จะพบว่ามัน ‘ไม่เคยพอ’ มาตั้งแต่ยุคที่อุตสาหกรรมเพิ่งจะอยู่ในช่วงตั้งไข่

หรือแม้กระทั่งการที่ ‘ภาพยนตร์’ ถูกนิยามโดยรัฐบาลว่าเป็น ‘อุตสาหกรรม’ ก็ยังต้องเกิดจากกลุ่มผู้สร้างที่กระเสือกกระสนต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งการยอมรับ

 

ผู้อำนวยการสร้างชั้นนำวัย 62 ปี เสียชีวิตเมื่อคืนด้วยอาการหัวใจวายเฉียบพลัน ขณะกล่าวสุนทรพจน์วิจารณ์การที่รัฐบาลนิ่งเฉยต่อสภาพของอุตสาหกรรมภาพยนต์ในประเทศ

 

คือคำพาดหัวบนหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษฉบับหนึ่งในวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2513 หลังจากที่รัตน์ เปสตันยี ทำการยืนหยัดต่อสู้เพื่อวงการที่เขารักจนลมหายใจสุดท้าย

ย้อนกลับไปในยุคเฟื่องฟูของภาพยนตร์ 16 มม. (ประมาณ พ.ศ. 2500 เป็นต้นมา) ชื่อของรัตน์ถูกพูดถึงในฐานะผู้กำกับมากวิสัยทัศน์ผู้หวังขับเคลื่อนคุณภาพผลงานให้ทัดเทียมสากล เริ่มต้นด้วยการสนับสนุนให้ใช้ฟิล์มขนาด 35 มิลลิเมตร แทนที่ขนาด 16 มิลลิเมตรซึ่งมีคุณภาพด้อยกว่า เรื่อยไปจนถึงการผลิตภาพยนตร์สายรางวัล จนได้ชื่อว่าเป็นผู้กำกับชาวไทยคนแรกที่สามารถคว้ารางวัลประกวดบนเวทีนานาชาติ

 

รุ่งอรุณของนักทำหนังผู้มาก่อนกาล

รัตน์ เปสตันยี เป็นคนไทยเชื้อสายเปอร์เซีย เกิดวันที่ 22 พฤษภาคม 2451 ในจังหวัดพระนครเหนือ (กรุงเทพฯ ในปัจจุบัน) หลังเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จากโรงเรียนอัสสัมชัญ กรุงเทพฯ รัตน์ก็เดินทางไปศึกษาต่อที่ประเทศอินเดียและอังกฤษ จนได้รับปริญญาสาขาวิศวกรรมเครื่องยนต์จากมหาวิทยาลัยลอนดอนในปี 2475 จึงกลับมาบ้านเกิดเพื่อเข้าทำงานกับบริษัทสร้างภาพยนตร์ ‘นายเลิศ’ และ ‘ดีทแฮล์ม’ ในฐานะช่างกล้อง

ความสนใจของรัตน์ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะการถ่ายภาพ แต่ยังลงลึกไปถึงด้านระบบการทำงานและการซ่อมแซมกล้องถ่ายรูป ไม่เพียงเท่านั้น ฝีมือการถ่ายภาพของเขายังจัดอยู่ในขั้นฉกาจฉกรรจ์ตั้งแต่เด็ก การันตีด้วยรางวัลภาพถ่ายหลากหลายรางวัลที่เขาได้รับขณะศึกษาอยู่ประเทศอินเดียด้วยวัยเพียง 14 ปี

รัตน์เติบโตในยุคที่มีแต่ ‘หนังนอก’ เนื่องจากบุคลากรในประเทศยังมีความเชี่ยวชาญที่จำกัด กระทั่งห้าปีก่อนเขาสำเร็จการศึกษา อิทธิพลจากการมีกองถ่ายต่างประเทศยกมาถ่ายทำถึงเมืองไทย รวมทั้งเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับคนไทยในภาพยนตร์เรื่อง ‘นางสาวสุวรรณ’ (Survarna of Siam) ก็เกิดเป็นกระแสเรียกร้องให้มีการสร้าง ‘หนังไทย’ ขึ้นมาบ้าง เป็นเหตุให้ ‘โชคสองชั้น’ ภาพยนตร์ไทยแท้เรื่องแรกถูกสร้างและออกฉายในวันที่ 30 กรกฎาคม 2470 ตามด้วยเรื่องที่เปิดกล้องไปก่อนหน้าแต่ออกฉายช้ากว่าอย่าง ‘ไม่คิดเลย’ ในอีกสองเดือนให้หลัง เป็นอันเปิดศักราชของหนังไทยที่ทยอยสร้างตามออกมาอย่างคับคั่ง

หลังจากนั้น วงการภาพยนตร์ไทยก็เข้าสู่ภาวะเติบโต แม้ภาพนักทำหนังชาวไทยก้าวขึ้นไปรับรางวัลบนเวทีต่างประเทศคงไม่ใช่สิ่งที่คนในยุคนั้นคาดคิดว่าจะได้เห็น ทว่ารัตน์ผู้เพิ่งจบการศึกษาได้เพียงห้าปีกลับสามารถสร้างประวัติศาสตร์ด้วยการส่งภาพยนตร์สั้นเรื่อง ‘แตง’ ชนะการประกวดภาพยนตร์สำหรับนักทำหนังหน้าใหม่นานาชาติ ณ เมืองกลาสโกว์ ประเทศสก็อตแลนด์ ในปี 2481 โดยที่ผู้ตัดสินคือ อัลเฟรด ฮิตช์ค็อก (Alfred Hitchcock) ผู้กำกับระดับตำนานของฮอลลีวูด จนได้ชื่อว่าเป็นคนไทยคนแรกที่สามารถส่งหนังไทยเข้ารับรางวัลในระดับสากล


 
‘คอนเซปต์ประหลาด’ สู่ ‘ซีเนมาสโคป’ ...ความล้ำในฉบับของรัตน์ เปสตันยี

รัตน์ทำงานเป็นช่างกล้องเรื่อยมา กระทั่งเข้าสู่ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ผู้สร้างภาพยนตร์ไทยต่างนิยมใช้ฟิล์มขนาด 16 มิลลิเมตร เนื่องจากจัดการง่าย ราคาถูก ประหยัดทั้งต้นทุนและเวลา แต่กลับมีข้อเสียคือ คุณภาพที่ด้อยกว่าฟิล์มขนาด 35 มิลลิเมตรในหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการไม่สามารถอัดเสียงลงในแผ่นฟิล์มจนต้องพึ่งพาการพากย์สด ความง่ายต่อการเสื่อมสลาย ไปจนถึงการไม่สามารถนำไปฉายในประเทศที่รองรับเพียงฟิล์มขนาด 35 มิลลิเมตร ทำให้รัตน์มองว่า ฟิล์มแบบดั้งเดิมย่อมดีกว่าการใช้ฟิล์มราคาถูก ซึ่งในยุคนั้นเริ่มถูกนิยามว่าเป็นการสร้างหนังแบบ ‘สุกเอาเผากิน

พ.ศ. 2496 รัตน์ตัดสินใจสร้างโรงถ่ายมาตรฐานสากลบนถนนวิทยุ โดยใช้ชื่อว่า ‘หนุมานภาพยนตร์’ ตามปีวอกซึ่งเป็นปีเกิดของเขา ก่อนจะประเดิมความ ‘ล้ำ’ ด้วยการใช้ฟิล์มขนาด 35 มิลลิเมตรแบบสีเป็นครั้งแรกในไทย ถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง ‘สันติ-วีณา’ โดยมีตัวเขานั่งแท่นเป็นผู้อำนวยการสร้างและผู้กำกับภาพ ก่อนจะคว้ารางวัลสาขากำกับศิลป์ยอดเยี่ยม และกำกับภาพยอดเยี่ยม รางวัลภาพยนตร์นานาชาติแห่งเอเชียอาคเนย์ ครั้งที่ 1 ณ ประเทศญี่ปุ่น

ในปี 2500 รัตน์ลงมือกำกับภาพยนตร์เรื่อง ‘โรงแรมนรก’ (ผลงานกำกับเรื่องที่สองของเขา ต่อจาก ‘ตุ๊กตาจ๋า’ ในปี 2494) ซึ่งต่อมา ได้รับการขนานนามอย่างไม่เป็นทางการว่าเป็น ‘หนึ่งในหนังไทยที่ดีที่สุด’ เล่าเรื่องราวปริศนาในโรงแรมชนบทแห่งหนึ่ง ผ่านมุมมองของชายหนุ่มนามว่า ชนะ (แสดงโดย ชนะ ศรีอุบล) และหญิงสาวแปลกหน้านามว่า เรียม (แสดงโดย ศรินทิพย์ ศิริวรรณ) โดยโรงแรมนรกไม่เพียงแต่จะมีบทดั้งเดิม (Original Screenplay) ที่แปลกใหม่ แต่ยังใช้วิธีดำเนินเรื่องที่แหวกขนบด้วยถ่ายทำในสถานที่เดียวเป็นหลัก อีกทั้งองค์ประกอบภาพยังจัดได้ว่าแพรวพราว เมื่อรวมกับบทที่ฉีกจากการเป็นเรื่องรัก ๆ ใคร่ ๆ ทั่วไป ก็ไมน่าแปลกใจที่จะกลายเป็นภาพยนตร์ระดับตำนาน

เพียงหนึ่งปีต่อมา รัตน์ก็ได้เปิดตัวผลงานกำกับเรื่องต่อไปในชื่อ ‘สวรรค์มืด’ ซึ่งโดดเด่นด้วยการใช้เทคนิค ‘มิวสิคัล’ เล็ก ๆ นำเสนอบทพูดบางช่วงตอนเป็นเพลง เล่าเรื่องราวความรักของ ชู (แสดงโดย สุเทพ วงศ์กำแหง) หนุ่มพนักงานเก็บขยะในเมืองหลวง กับ เนียร (แสดงโดย สืบเนื่อง กันภัย) หญิงสาวกำพร้ายากจน โดยตัวหนังได้รับคำวิจารณ์ว่า สามารถถ่ายทอดความรักอันบริสุทธิ์ของมนุษย์ผ่านศิลปะภาพยนตร์ได้อย่างหมดจดงดงาม

ความล้ำของรัตน์ยังไม่หมดไป เพระในปี 2504 เขาก็ได้ทุ่มงบซื้อเลนส์อนามอร์ฟิก (Anamorphic) ขนาด 100 และ 50 มิลลิเมตร เพื่อใช้ถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง ‘แพรดำ’ นับเป็นภาพยนตร์จอกว้างแบบ ‘ซีเนมาสโคป’ (CinemaScope) หรือเทคนิคที่ทำให้ภาพบนจอฉายมีสัดส่วนและคุณภาพที่คมชัด เรื่องแรกของประเทศไทย และได้รับคัดเลือกจากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี โดยแพรดำ เป็นเรื่องของบุคคลสามคน ได้แก่ แพร (แสดงโดย รัตนาวดี รัตนาพันธ์ ผู้เป็นลูกสาวของรัตน์), ทม (แสดงโดย ทม วิศวชาติ), และ เสนีย์ (แสดงโดย เสณี อุษณีย์สาณฑ์) ที่ต้องตกอยู่ในเหตุการณ์ฆาตกรรมลึกลับ

ทั้งหมดที่กล่าวมา คือผลงานเด่น ๆ ของรัตน์ที่สร้างคุณูปการต่อวงการ โดยเอกลักษณ์ในหนังของเขามาจากสิ่งที่คนในยุคนี้เรียกว่าความ ‘ซิเนมาติก (Cinematic)’ หรือความทรงพลังขององค์ประกอบภาพยนตร์ ประกอบกับการเลือกใช้คอนเซปต์แหวกแนว จนอาจถูกมองว่า ‘ประหลาด’ ในยุคนั้น ก็ล้วนบ่งบอกว่า รัตน์คือศิลปินผู้เล็งเห็นว่าภาพยนตร์คือศิลปะ ไม่ใช่เพียงสินค้าตามกระแสป๊อปคัลเจอร์

ในช่วงไม่กี่ปีสุดท้ายของชีวิต รัตน์ได้กำกับภาพยนตร์เรื่องสุดท้ายในชื่อ ‘น้ำตาลไม่หวาน’ อีกทั้งยังได้ร่วมสร้างภาพยนตร์กึ่งสารคดีให้กับกรมศิลปากร ก่อนที่หลังจากนั้น เขาจะผันตัวไปรับหน้าที่ผลักดัน หรืออีกนัยหนึ่ง คือการต่อสู้กับภาครัฐเพื่อให้วงการได้รับการสนับสนุนอย่างเหมาะสม โดยไม่รู้เลยว่า การต่อสู้ที่ชวนท้อแท้และเต็มไปด้วยความระหองระแหงนั้นจะอยู่ประชิดตัวเขาไปจนถึงลมหายใจสุดท้าย

 

วาระสุดท้ายของนักทำหนังผู้หมายปลดแอกวงการจาก ‘วัฏจักร’ ซ้ำซ้อน

หากจะกล่าวว่า สาเหตุหนึ่งที่ทำให้วงการภาพยนตร์ไทยไม่เคยได้รับการสนับสนุนที่เพียงพอ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะการเปลี่ยนรัฐบาลก่อนหมดวาระเป็นว่าเล่น ส่งผลให้นโยบายที่กำลังอยู่ในช่วงตั้งไข่เป็นต้องถูกพับเก็บก่อนจะทันได้ผลิดอกออกผล
ในช่วงเวลาแห่งการต่อสู้ของรัตน์ แม้จะคาบเกี่บวกับยุคสมัยของรัฐบาลจำนวนไม่มาก เนื่องจากอยู่ในช่วงที่รัฐบาลทหารกุมอำนาจอย่างยาวนาน แต่การรัฐประหารและผัดเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีที่เกิดขึ้นก็สร้างความลำบากอยู่ไม่น้อย

พ.ศ. 2499 หลังจากที่ภาพยนตร์เรื่อง สันติ-วีณา ที่รัตน์อำนวยการสร้างได้รับเสียงตอบรับเชิงบวกจากต่างประเทศ จอมพลป. พิบูลสงคราม ก็เล็งเห็นถึงความสำคัญของการผลักดันมาตรฐานภาพยนตร์ให้ทัดเทียมสากล จึงริเริ่มโครงการมากมายที่จะสนับสนุนนักทำหนังอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งเตรียมจัดตั้งหน่วยงานผลิตภาพยนตร์แห่งชาติ สนับสนุนให้สร้างหนังด้วยฟิล์มขนาด 35 มิลลิเมตร เรื่อยไปจนถึงการสร้างสถานที่ถ่ายทำพร้อมอุปกรณ์ทันสมัยในจังหวัดชลบุรี แต่ก็ต้องถูกพับเก็บไปอย่างน่าเสียดายด้วยเหตุการณ์รัฐประหาร พ.ศ. 2500

ปีนั้นเองคือจุดเริ่มต้นยุคเฟื่องฟูของภาพยนตร์ 16 มม. ซึ่งแม้จะเปรียบดังยุคทองที่มีหนังไทยถูกผลิตออกมาจำนวนมาก หากแต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นการ ‘แช่แข็ง’ คุณภาพชิ้นงานที่ไม่ได้มาตรฐานสากลเอาไว้

พ.ศ. 2505 รัตน์ได้เขียนบทความเรียกร้องให้รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หันมาใส่ใจปัญหาของวงการอย่างจริงจัง ตั้งแต่การที่ฟิล์มขนาด 35 มิลลิเมตรมีราคาสูงกว่าฟิล์มที่นิยมใช้กันอยู่ถึง 5 เท่า และปัญหาหนังนอกแย่งตลาดหนังไทย โดยเปรียบอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย ณ เวลานั้นไว้ว่า “คล้ายกับทารกซึ่งกำลังตกอยู่ในสภาพที่ปราศจากการเลี้ยงดูและการเหลียวแลจากผู้ปกครอง ทารกเหล่านี้ซูบซีดผอมโซลงทุกที และนับวันแต่จะตายไปไม่ช้า

การเรียกร้องนั้นเห็นผลในอีกสองปีต่อมา เมื่อรัฐบาลของจอมพลถนอม กิตติขจร ยอมรับว่าภาพยนตร์คืออุตสาหกรรมหนึ่ง หากแต่ยังไม่ยอมให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ ด้วยมาตรฐานที่ยังไม่ทัดเทียมต่างประเทศ

นับตั้งแต่ปี 2510 อาจพูดได้ว่าเส้นทางการต่อสู้ของรัตน์ ‘ขึ้น ๆ ลง ๆ ’ มีทั้งความน่ายินดีและความน่าเหนื่อยหน่าย เริ่มต้นจากการรวมกลุ่มจัดตั้ง ‘สมาคมผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ไทย’ ร่วมกับผู้สร้างภาพยนตร์รายอื่น ๆ เพื่อ ‘รวมพลัง’ เรียกร้องกับรัฐบาลอย่างเป็นระบบ ทว่าภายในสมาคมกลับเกิดความระหองระแหง เคราะห์ดีที่ในสองปีถัดมา รัฐบาลของจอมพลถนอม กิตติขจร ก็ได้จัดตั้ง ‘คณะกรรมการศึกษาการสร้างภาพยนตร์ไทยและการนำภาพยนตร์ต่างประเทศเข้ามาฉาย’ โดยมีรัตน์เป็นหนึ่งในผู้ให้คำปรึกษา นำมาสู่การตั้ง ‘คณะกรรมการส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย’ เพื่อดำเนินการช่วยเหลือนักทำหนังตามข้อเรียกร้องของรัตน์เป็นครั้งแรก

ทว่าในปีเดียวกันนั้น 17 สิงหาคม 2513 ณ ห้อวประชุมในโรงแรมมณเฑียร หลังจากที่รัฐมนตรีขึ้นชี้แจงรายละเอียดการจัดตั้งคณะกรรมการส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย และถึงคราวของกลุ่มผู้สร้างหนังที่ต้องขึ้นไปแสดงความคิดเห็น รัตน์ผู้ลุกพูดเป็นคนสุดท้ายก็เกิดอาการหัวใจวายเฉียบพลัน เป็นเหตุให้ร่างของเขาล้มลงตรงนั้น ท่ามกลางความตื่นตกใจของทุกคนในห้อง

คืนนั้น รัตน์ เปสตันยีเสียชีวิตลงที่โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ หลังจากที่การต่อสู้ของเขาสำเร็จลุล่วงไปได้ขั้นหนึ่ง

แม้จะเป็นเพียงขั้นเดียว ดังจะเห็นได้ว่า การต่อสู้แบบเดียวกันนี้ไม่เคยห่างหายไปจากวงการมาจนถึงปัจจุบัน แต่หากปราศจากศิลปินมากวิสัยทัศน์นามว่า รัตน์ เปสตันยี การเรียกร้องก็อาจไม่ ‘กระเตื้อง’ อันเนื่องมาจากความ ‘ไม่เข้าใจ’ ของรัฐบาลซึ่งวนลูปซ้ำ ๆ เป็นวัฏจักร

 

ในวงการหนังไทยของเรานี้ กล่าวว่า ถ้าใครต้องการศัตรู จงสร้างหนัง น้ำใจไมตรีขึ้นอยู่กับเงิน ข้าพเจ้าก็ประจักษ์ความจริงมาพอควร แต่ต้องขอยกเว้นในกรณี คุณรัตน์ เปสตันยี


ข้อความในหนังสืองานศพของรัตน์ โดย เชิด ทรงศรี แสดงให้เห็นถึงไมตรีจิตของเขาที่มีต่อวงการ รวมไปถึง ‘เพื่อน’ ในวงการภาพยนตร์เสมอมา
และแม้จะผ่านเวลามาเกือบ 55 ปี แต่อุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยก็คงมองเขาเสมือน ‘มิ่งมิตร’ ผู้ร่วมต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่ พัฒนา สร้างสรรค์ และกระเสือกกระสนกันมาจนถึงวันที่ ‘ทารก’ ที่เจ้าตัวพูดถึงเติบใหญ่ จนสามารถหยัดยืนได้อย่างสง่าผ่าเผย

 

อ้างอิง
กองบรรณาธิการจดหมายข่าว หอภาพยนตร์, (2022), การทำจดหมายเหตุส่วนบุคคล ตอนที่ 5 การทำความสะอาด ดูแล และจัดการวัตถุประเภทฟิล์มภาพยนตร์, ค้นเมื่อ 6 มกราคม 2025 

พุทธพงษ์ เจียมรัตตัญญู, (2020), 50 ปี มรณกาลของ รัตน์ เปสตันยี โศกนาฏกรรมแห่งการเรียกร้องให้รัฐสนับสนุนหนังไทย, ค้นเมื่อ 6 มกราคม 2025

พุทธพงษ์ เจียมรัตตัญญู, (2020), จากเบอร์ลินถึงคานส์ของ แพรดำ หนังไทยซีเนมาสโคปเรื่องแรก, ค้นเมื่อ 6 มกราคม 2025

พุทธพงษ์ เจียมรัตตัญญู, (2021), สำรวจนางสาวสุวรรณและโชคสองชั้นผ่านข้อถกเถียงว่าด้วย “หนังไทยเรื่องแรก”, ค้นเมื่อ 6 มกราคม 2025

วินัย สมบุญณา และ พุทธพงษ์ เจียมรัตตัญญู, (2023), 100 ปี ฟิล์มภาพยนตร์ 16 มิลลิเมตร, ค้นเมื่อ 6 มกราคม 2025

หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน), (-), คำพูดของคนที่ตายแล้ว - จาก เชิด ทรงศรี ถึง รัตน์ เปสตันยี, ค้นเมื่อ 6 มกราคม 2025

หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน), (-), น้ำตาลไม่หวาน, ค้นเมื่อ 6 มกราคม 2025

หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน), (-), แพรดำ, ค้นเมื่อ 6 มกราคม 2025

หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน), (-), โรงแรมนรก, ค้นเมื่อ 6 มกราคม 2025 

หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน), (-), สันติ-วีณา, ค้นเมื่อ 6 มกราคม 2025

หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน), (-), สวรรค์มืด, ค้นเมื่อ 6 มกราคม 2025

Britannica, (-), CinemaScope, ค้นเมื่อ 8 มกราคม 2025 

The Royal Photographic Society of Thailand, (-), รัตน์ เปสตันยี [Hall of Frame], ค้นเมื่อ 6 มกราคม 2025