แฟลตเกิร์ล : ความฝันในหลืบแคบและระยะห่างระหว่าง (ชน) ชั้น

แฟลตเกิร์ล : ความฝันในหลืบแคบและระยะห่างระหว่าง (ชน) ชั้น

แฟลตเกิร์ล ชั้นห่างระหว่างเรา คือภาพยนตร์ที่เล่าถึงความเหลื่อมล้ำในแฟลตตำรวจ ผ่านเรื่องราวความรักหวานขมของเด็กสาวสองคน ผู้ถูก ‘ระยะห่างระหว่างชั้น’ บ่อนทำลาย

KEY

POINTS

  • แม้ผู้คนในแฟลตจะเปรียบเสมือนชนชั้นล่างในพีระมิดของสังคม ทว่าในแฟลตนั้นเอง ก็ยังมีพีระมิดอีกหลังหนึ่งซ้อนทับอยู่ เกิดเป็นระยะห่างระหว่างชั้นที่ทำให้ความรักของแอนและเจนเต็มไปด้วยอุปสรรคและความไม่เข้าใจ
  • ‘รักแท้’ ในแฟลตเปรียบเสมือนสิ่งที่อยู่ตรงข้ามกับ ‘ปากท้อง’ การตัดสินใจเลือกในแต่ละครั้งของตัวละครจึงเต็มไปด้วยความเจ็บปวด และอาจนำมาซึ่งความแตกสลาย
  • นอกจากเรื่องชนชั้นแล้ว ชีวิตในแฟลตยังต้องเผชิญกับปัญหา ‘ชายเป็นใหญ่’ ในครอบครัว แม่ของตัวละครจึงต้องทำทุกวิถีทางเพื่อให้สามารถยืนด้วยลำแข้งของตนเอง
  • ‘การเลือนหาย’ คือวิธีเดียวที่จะหนีออกจากหล่มความจน เพียงแค่ตัวละครทั้งสองเลือกวิธีการเลือนหายแตกต่างกัน คนหนึ่งสามารถกระเสือกกระสนออกมาด้วยกำลังทรัพย์ แต่อีกคนกลับไม่สามารถทำเช่นนั้น

บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของภาพยนตร์

เรื่อง แฟลตเกิร์ล ชั้นห่างระหว่างเรา

“แม่ให้แอนเกิดมาทำไม”

คำถามนั้นดังสะท้อนเงียบ ๆ ในห้องพักเล็กแคบของแฟลตตำรวจแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ที่ซึ่ง ‘ความเหลื่อมล้ำ’ ปรากฏในรูปตึกระฟ้าสูงใหญ่ บดบังซอกหลืบกระจ้อยร่อยไม่ให้สัมผัสโดนแสงแดด ดนตรีและแสงไฟจากห้างร้านกลบเสียงร้องไห้ของคนกลุ่มเล็ก ๆ ไม่ให้ผู้คนบนตึกสูงได้ยิน

“ถ้าพี่แอนไม่ต้องคิดเรื่องเงินเลย พี่แอนอยากเป็นอะไรเหรอ”

หลังได้ยินประโยคนั้น เจ้าของคำถามเปิดเรื่องก็ตอบอย่างชัดถ้อยว่า “แอร์โฮสเตสท์” ก่อนนำชุดเครื่องแบบสีม่วงและหมวกกระดาษทำมือมาสวม ปลอบประโลมจิตใจให้มีความหวัง แม้จะรู้เต็มอกว่า เด็กสาวที่ทั้งชีวิตมีเพียงแฟลตโกโรโกโสอันเป็นสวัสดิการเก่าของพ่อไว้ซุกหัวนอนอย่างเธอ ย่อมไม่อาจกระเสือกกระสนจากหล่มที่ชื่อว่า ‘ความจน’ ขึ้นไปทำงานสวยสง่าบนท้องฟ้าได้

เป็นอีกครั้งที่ค่าย ‘จีดีเอช’ หยิบยกประเด็นสังคมมาตีแผ่อย่างหมดจดงดงาม ผ่านภาพยนตร์ดราม่า Coming of Age ‘แฟลตเกิร์ล ชั้นห่างระหว่างเรา’ ของผู้กำกับ ‘จิรัศยา วงษ์สุทิน’ เจ้าของซีรีส์อบอุ่นหัวใจอย่าง 365 วัน บ้านฉัน บ้านเธอ นำเสนอแฟลตตำรวจอันเป็นสิ่งที่คนกรุงเห็นจนชินตา แต่ไม่เคยรับรู้ถึงความเจ็บปวดด้านใน พร้อมเรื่องราวความรักของเด็กสาวลูกตำรวจสองคน ได้แก่ แอน (แสดงโดย เอินเอิน - ฟาติมา เดชะวลีกุล) พี่คนโตในครอบครัวที่พ่อเสียชีวิตในหน้าที่ ผู้เป็นแม่จึงต้องแบกภาระโดยการรับจ้างรีดผ้า และ เจน (แสดงโดย แฟร์รี่ - กิรณา พิพิธยากร) รุ่นน้องของแอน ผู้มีพ่อเป็นตำรวจฐานะดี และแม่ซึ่งเป็นเจ้าแม่เงินกู้ ทั้งสองสนิทกันตั้งแต่เล็ก กระทั่งความสัมพันธ์ที่กลายเป็น ‘ความรัก’ ค่อย ๆ ถูกทำลายด้วยความต่างระหว่างชนชั้น

แฟลตเกิร์ล : ความฝันในหลืบแคบและระยะห่างระหว่าง (ชน) ชั้น

‘ชั้นของแฟลตไม่ได้เป็นแค่ตัวเลข แต่คือระยะห่างของชีวิต ความสัมพันธ์ และความฝัน’ คือประโยคที่ผู้สร้างใช้บอกเล่าสัญญะแห่ง ‘ความเป็นแฟลต’ ว่าแม้กระทั่งซอกหลืบเล็ก ๆ กลางกรุงเทพฯ ก็ยังซุกซ่อนหลืบไรลึกลงไปเป็นลำดับชั้น ไม่ต่างจากพีระมิดที่มีทั้ง ‘ผู้สูงสุด’ และ ‘ผู้ต่ำสุด’

แอนคือชนชั้นที่อยู่ระดับล่าง ครอบครัวของเธอไม่มีสิทธิ์อยู่ในแฟลตนับตั้งแต่พ่อเสียชีวิต จนต้องขอร้องให้ผู้มีอำนาจเห็นใจปล่อยผ่าน กระนั้น ชีวิตที่มีโอกาสไร้ที่ซุกหัวนอนได้ทุกเมื่อก็ยังไม่วายประสบปัญหาทางการเงิน ต่างกับครอบครัวของเจนที่สมบูรณ์พร้อม มีพ่อเป็นตำรวจฐานะดี (ซึ่งหารายได้ด้วยวิธีการมิชอบ) และกำลังวางแผนจะซื้อบ้านเพื่อย้ายออกจากแฟลตรูหนู

“ที่นี่ดีสุดละ กูไม่อยากย้ายไปไหนเลยว่ะ”

คือคำพูดจากปากเด็กสาวผู้อยู่บนยอดพีระมิด โดยเหตุผลที่อยากอยู่ต่อ เป็นเพราะระเบียงแฟลตคือจุดที่สามารถมองเห็นพลุปีใหม่ได้ถนัดตา ชีวิตซึ่งแทบไม่ต้องกระเสือกกระสนของเจนคงมีพื้นที่ให้ตื่นเต้นไปกับพลุ ผิดกับแอนซึ่งมองมันเป็นเพียงความสวยงามกระจ้อยร่อย ไม่ได้มีราคาค่างวด

“พี่ไม่เห็นอยากอยู่ที่นี่ไปตลอดเลย กลัวไม่ได้ออกไปมากกว่า”

คำตอบของเธอสะท้อนว่า การจมปลักกับความจนไปชั่วชีวิตน่ากลัวกว่าการไม่ได้ดูพลุเป็นไหน ๆ

การได้อยู่บนยอดพีระมิดไม่เพียงทำให้เจน ‘ไร้เดียงสา’ แต่ยังนำมาซึ่งความ ‘ไม่เข้าใจ’ หลาย ๆ ครั้ง เจนพูดเหมือนหลงลืมว่า แอนมีฐานะยากจนกว่าเธอ ทั้งยังมองข้ามความอึดอัดของรุ่นพี่ที่มีฐานะเป็น ‘ลูกหนี้’ หากมองในแง่หนึ่ง ความไร้เดียงสานั้นทำให้เจนปฏิบัติต่อแอนอย่างเท่าเทียม ดังตอนที่แม่ของเธอ ‘จ้าง’ ครอบครัวของแอนยกกระถางต้นไม้เข้าห้อง เจนก็เข้าไปช่วยด้วยเห็นว่าอีกฝ่ายเป็นคนสนิท แต่ขณะเดียวกัน มันก็นำมาซึ่งการหวังดีแต่ไม่ไว้หน้า ซึ่งเปรียบเสมือนการตอกย้ำปมด้อยของแอน

ครั้งหนึ่ง แอนบ่นว่าครอบครัวของตนอาจถูกขับไล่ออกจากแฟลต เจนจึงเสนอให้เธอมาใช้ห้องร่วมกัน ทว่าในสายตาของเด็กสาวผู้ยากจนกว่า ฐานะของเธอที่นั่นไม่มีวันอยู่ในระดับเดียวกับเจนไปได้

“จะให้พี่ไปเป็นคนใช้บ้านน้องเจนเหรอ”

คำตอบนั้นนำมาซึ่งความอิหลักอิเหลื่อ ฝ่ายหนึ่งหวังดีแต่พูดออกไปด้วยความไร้เดียงสา ฝ่ายหนึ่งเจนโลกกว่า แต่กลับไม่เข้าใจความหวังดีนั้นเพราะความอึดอัดจากการอยู่ใต้ฐานพีระมิดมาโดยตลอด

ซอกหลืบที่ (แทบ) ปราศจากความรัก มีเพียงการเอาชีวิตรอด

‘รักแท้’ คือสิ่งที่เกิดขึ้นได้เสมอ ไม่ว่ามนุษย์ผู้นั้นจะอยู่ในส่วนใดของพีระมิด และแม้จะถูกระยะห่างระหว่างชนชั้นขวางกั้น แอนกับเจนก็ดูจะมีความรักแสนบริสุทธิ์ต่อกัน เพียงแต่ในช่วงหลัง จิตใจของฝ่ายแรกถูกบั่นทอนด้วยความรักอีกประเภทที่มีต่อ อาตอง (แสดงโดย บอย - ปกรณ์ ฉัตรบริรักษ์)

ความรักประเภทดังกล่าวคงเป็นความรักจอมปลอม อันเกิดจากความรักตัวกลัวตาย การปรากฏตัวของอาตองเปรียบเสมือนการเปิดประตูให้แอนและเจนก้าวเข้าสู่ช่วงจังหวะใหม่ของชีวิต เขาพาพวกเธอไปเรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ ๆ ทั้งยังอาสาขับรถพาไปดูจุดที่เรือชมวิวเจ้าพระยาวกกลับ ตอบข้อสงสัยซึ่งคาใจทั้งคู่มาตลอดว่า เส้นทางของเรือลำนั้นมีจุดสิ้นสุดลงตรงไหน อาตองจึงเปรียบเสมือนผู้ใหญ่ที่ฝากความหวังไว้ได้ ก่อนจะค่อย ๆ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของทั้งคู่ทุกขณะ โดยเฉพาะต่อแอน ซึ่งอีกฝ่ายคอยดูแล ถามไถ่ กระเบียดกระเสียรเงินส่วนตัวให้ใช้ หยอดความสัมพันธ์ลึกซึ้งเข้าไปทีละนิด จนถึงจุดที่ทั้งตัวละครและผู้ชมเห็นพ้องตรงกันว่า อาตองรักแอนอย่างแท้จริง

และเมื่อจิตใจเบื้องลึกเห็นว่า อาตองมีความรักอันบริสุทธิ์ต่อเธอ แอนจึงทำการหลอกตัวเองว่ารักเขา เพื่อไขว่คว้า ‘คู่ชีวิต’ ที่สามารถประคองฐานะของตนต่อไปได้

ผิดกับความรักต่อเจนซึ่งบริสุทธิ์เสียจนปราศจากความต้องการเอาชีวิตรอด จะเห็นได้ว่า แอนมักทำตัวเป็นพี่สาวที่พึ่งพาได้โดยการช่วยเหลือเจนอย่างไม่หวังผลตอบแทน ราวกับความรักต่ออีกฝ่ายมีค่าเหนือปากท้อง กระนั้น มันก็ไม่สามารถใช้ประทังชีวิตของเธอกับครอบครัว พอถึงจุดหนึ่ง แอนจึงสับสนว่าควรเลือกสิ่งใด ระหว่างประคองความรักนั้นไว้ กับกระเสือกกระสนมีชีวิตที่ดีขึ้น นำมาสู่ช่วงพลิกผันของเรื่อง เมื่อเธอตัดสินใจเลือกทางที่ทำร้ายความรู้สึกเจน อย่างการคบหาเป็นแฟนกับอาตอง

“ความรักมันก็เป็นแค่เรื่องของคนมีเงินเท่านั้นแหละ น้องเจนจะเข้าใจอะไร ก็บ้านน้องเจนมีทุกอย่าง”

ประโยคนั้นคล้ายกับกำลังตำหนิความไร้เดียงสาของเจน แต่ท้ายที่สุด แอนกลับถวิลหาความไร้เดียงสานั้น แม้การบอกเลิกอาตองจะเกิดขึ้นเพราะมองว่าตำรวจหนุ่มยังไม่สามารถดูแลเธอได้ แต่เชื่อว่าลึก ๆ แล้ว มันคงเกิดจากความรู้สึกผิดต่อเจน ผู้เป็นรักแรกและรักเดียวในชีวิตอันไร้ความหวังของเธอ

แฟลตเกิร์ล : ความฝันในหลืบแคบและระยะห่างระหว่าง (ชน) ชั้น

ในพีระมิดแห่งแฟลต ไม่ว่าชนชั้นไหนก็ต้องปากกัดตีนถีบ

แม้ในแฟลตจะประกอบด้วยคนหลากชนชั้น ตั้งแต่แอนที่อยู่ชนชั้นล่าง ไปจนถึงเจนซึ่งถือได้ว่าอยู่บนจุดสูงสุด ทว่าแฟลตก็ยังเป็นแฟลตวันยันค่ำ ทุกชีวิตล้วนติดอยู่ใต้เงาแห่งความเหลื่อมล้ำ ผู้ใหญ่ที่เจนโลกแล้วอย่างแม่ของเจน แม้จะร่ำรวยเป็นอันดับต้น ๆ ก็ยังต้องกระเสือกกระสนหาลู่ทางที่ดีกว่า  

แฟลตเกิร์ลยังสะท้อนประเด็นชายเป็นใหญ่ ซึ่งไม่จำกัดแค่การใช้อำนาจ แต่ยังรวมถึงการเป็น ‘โลกทั้งใบ’ ราวกับน้ำเลี้ยงที่หากแห้งเหือดไป ชีวิตคนในครอบครัวเป็นต้องเผชิญหายนะครั้งใหญ่

เช่นเดียวกับแม่ของเจน ซึ่งตลอดทั้งเรื่อง ผู้สร้างจะทยอยบอกใบ้ให้ผู้ชมตงิดใจว่า ตัวละครนี้ไม่ใช่เพียงตัวร้ายโฉ่งฉ่าง รับบทเจ้าแม่เงินกู้หน้าเลือดอย่างไร้เหตุผล ก่อนจะเฉลยในตอนท้ายว่า ชีวิตของเธอเองก็แขวนอยู่บนเส้นด้าย เพราะสามีอาจนำหนทางสู่ชีวิตที่ดีกว่าไปมอบให้เมียน้อยนอกแฟลตได้ทุกเมื่อ พอถึงเวลานั้น เธอก็จะแทบไม่ต่างอะไรกับแม่ของแอน ไม่มีบ้านหรืองานการเป็นหลักแหล่ง อาชีพปล่อยเงินกู้จึงเป็นหลักประกันเดียวว่า เธอกับลูกจะสามารถยืนด้วยลำแข้งตัวเองได้

แม้ในตอนบจบ แม่ของเจนจะสามารถพาลูกไปยังเส้นทางที่ดีกว่าโดยไม่ต้องพึ่งใบบุญสามี แต่เราก็ไม่อาจรู้ได้เลยว่า เงินเหล่านั้นต้องแลกมากับการข่มเหง ข่มกลั้นความเห็นใจเพื่อนมนุษย์ และไขว่คว้าผลประโยชน์เข้าตัวมากน้อยแค่ไหน

ผู้สร้างยังเลือกนำประเด็นชายเป็นใหญ่ไปผูกกับประเด็นความรักดังที่เคยกล่าวไปข้างต้น ผ่านบทสนทนาท้าย ๆ ระหว่างเจนกับแม่ เมื่อฝ่ายหลังขอให้ลูกตัดต่อใบหน้าของตนลงบนรูปของเมียน้อยซึ่งกำลังยืนเคียงข้างสามี ด้วยเหตุผลว่า ต้องการมีสักรูปที่อดีตสามียืนข้างเธอพร้อมยิ้มอย่างมีความสุข อาจนับได้ว่าเป็น ‘รักแท้’ ของหญิงวัยกลางคนตัวเล็ก ๆ ที่ดำรงเคียงคู่ไปกับความสัมพันธ์แบบชายเป็นใหญ่

แฟลตเกิร์ล : ความฝันในหลืบแคบและระยะห่างระหว่าง (ชน) ชั้น

เมื่อทางออกเดียวจากหลืบแคบคือการเลือนหาย

เรือชมวิวเจ้าพระยาคือสัญญะที่ปรากฏให้เห็นตลอดเรื่อง ในฐานะพาหนะประดับแสงไฟสวยงามแล่นจากท่าหนึ่งไปยังอีกท่าหนึ่ง วนไปวนมาซ้ำ ๆ อีกทั้งแอนกับเจนยังพยายามไล่ตาม ราวกับเป็นแสงไฟแห่งความหวังที่เด็กสาวทั้งสองหมายไขว่คว้า

ในช่วงแรก พวกเธอไม่รู้ว่าเรือจะแล่นไปสุดที่ใด ทว่าหลังเรื่องดำเนินไปสักพัก อาตองก็พาทั้งคู่ไปพบกับจุดสุดท้ายที่เรือจะวกกลับ มองในแง่หนึ่ง มันคล้ายกับการเติบโต ในตอนแรก เราอาจไม่รู้ว่าเส้นทางชีวิตจะสิ้นสุดหรือมีขอบเขตถึงตรงไหน ทว่าการเข้ามาชี้แนะของผู้ใหญ่ก็ทำให้แอนและเจนตระหนักว่า ชีวิตของพวกเธอไม่ต่างอะไรกับเรือลำนั้น ถูกจำกัดขอบเขตอยู่แค่ในระยะทางสั้น ๆ ไม่มีโอกาสสำรวจพื้นที่อื่นของแม่น้ำ เช่นเดียวกับโลกใบนี้ที่ช่างกว้างใหญ่ไพศาล แต่เหยื่อของความเหลื่อมล้ำอย่างพวกเธอกลับไม่มีวันก้าวพ้นชีวิตในแฟลตแคบ ๆ นี้ไปได้

เราต่างรู้กันว่า หนทางเดียวที่จะสามารถตะเกียกตะกายหนีจากกหล่มความจน ก็คือการ ‘มีเงิน’ ผู้ที่ทำสำเร็จอย่างครอบครัวของเจนนั้นสามารถย้ายออกจากแฟลตไปใช้ชีวิตที่ดีกว่า แต่สำหรับชนชั้นล่างในพีระมิดอย่างแอน เธอเลือกก้าวขึ้นไปบนเรือลำนั้นก่อนจะ ‘เลือนหาย’ เพราะแม้ว่าเรือเองจะติดหล่ม วนเวียนอยู่ในระยะทางสั้น ๆ แต่มันก็เป็นครั้งแรกที่เธอได้ก้าวสู่โลกใหม่ เสมือนการเดินทางไปยังจุดหมายปริศนาที่ไม่รู้ว่ามีสิ่งใดรออยู่

และหลังจากที่แอนเลือนหายไป ก็คือวันที่เจนกำลังจะก้าวสู่ชีวิตใหม่เช่นเดียวกัน น่าเสียดายที่เธอไม่มีโอกาสรู้ว่า ‘รักแท้’ ผู้เคยใช้ชีวิตด้วยกันในซอกหลืบนี้กำลังประสบชะตากรรมเช่นใด

และแม้เรื่องราวของแฟลตเกิร์ลจะจบลงด้วยรสชาติขมปร่า แต่มันก็ได้ทิ้งความหวานชื่นติดปลายลิ้น ผ่านภาพความสัมพันธ์แสนงดงามของผู้ติดหล่มทั้งสองซึ่งผลิบานในเร้นหลืบใต้เงาตึกระฟ้า แม้จะมีอุปสรรคนานัปการ แต่อย่างน้อย ภาพยนตร์ก็ได้แสดงเศษเสี้ยวอันทรงคุณค่าในชีวิตของทั้งสอง และผู้เขียนเชื่ออย่างสุดหัวใจว่า ความหวานขมทั้งหมดจะตราตรึงใจผู้ชมไปอีกนานแสนนาน

‘ความตราตรึง’ นั้นเองคืออีกหนึ่งคุณค่าของหนังที่พาให้เราย้อนมองชีวิตของผู้คน ตั้งแต่ใต้ฐานจนถึงส่วนยอดของพีระมิดหลังนั้น ก่อนจะตระหนักว่า ในเร้นหลืบที่เราเดินผ่านทุกวัน ล้วนเต็มไปด้วยความเจ็บปวด เสียงร้องไห้ และร้อยยิ้มเคล้าน้ำตาของผู้คนที่ถูก ‘ระยะห่างระหว่างชั้น’ พรากความฝันและความรักไปอย่างเลือดเย็น

 

เรื่อง : พงศภัค พวงจันทร์ (The People Junior)

ภาพ : GDH