หลานม่า : ความเหงา ระยะห่าง และเวลาที่แปรผันตามความสุขของคนที่เรารัก

หลานม่า : ความเหงา ระยะห่าง และเวลาที่แปรผันตามความสุขของคนที่เรารัก

หลานม่า ภาพยนตร์เรื่องล่าสุดของ GDH ที่พาเราสำรวจเวลาของคน 3 เจเนอเรชัน คือ ลูก หลาน อาม่า ที่ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร สิ่งที่ได้รับจากหนังเรื่องนี้ คือ เวลาของเรามักแปรผันตามความสุขของคนที่เรารักเสมอ

KEY

POINTS

  • หลานม่าว่าด้วยเรื่องความสัมพันธ์ของลูก หลาน และอาม่า คนหนึ่งจดจ่อกับปัจจุบัน อีกคนไม่สนใจ และอีกคนเวลากำลังเดินถอยหลัง
  • ในเรื่อง อาม่าไม่เคยพูดว่าเหงาเลยสักครั้ง แต่การกระทำและคำพูดของเธอบอกเราหมดแล้วว่า เธอเหงาแค่ไหน
  • ที่สำคัญ คือเมื่อดูหนังจบ เราอยากกลับไปใช้ ‘เวลา’ กับคนที่เรารัก ก่อนทุกอย่างจะสายเกินไป

“พอผมเล่นหนังเรื่องนี้จบ ผมอยากเป็นคนที่ดีขึ้น”

คือความรู้สึกของ ‘บิวกิ้น’ พุฒิพงศ์ อัสสรัตนกุล คนที่มารับบท ‘เอ็ม’ หลานของอาม่าในภาพยนตร์เรื่องล่าสุดของ GDH เรื่อง ‘หลานม่า’

หลานม่าว่าด้วยเรื่องราวของหลานชายที่เลือกมาเป็นเพื่อนและผู้ดูแลอาม่าที่กำลังป่วย ด้วยความหวังว่าจะได้รับมรดกต่อจากอาม่า

ไม่เพียงแค่เรื่องผู้สูงอายุ แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังสะกิดใจลูกหลานคนจีน สไตล์ที่เหงาแต่ไม่บอกว่าเหงา รักก็ยังไม่บอกว่ารัก 

สำหรับเราในฐานะคนดู หนังมีจุดทัชใจ หัวเราะ และน้ำตาไหล สลับกันไปตลอด 2 ชั่วโมงนิด ๆ เหตุผลหนึ่งอาจเป็นเพราะเราเองก็เป็นลูกหลานคนจีนที่เข้าร่วมทุกเทศกาลของคนไทยเชื้อสายจีน ไม่ว่าจะเป็นเช็งเม้ง ตรุษจีน หรือกงเต๊ก

หนังดำเนินไปด้วยเรื่องเวลาของคนหนึ่งที่กำลังเดินหน้า ส่วนอีกคนกำลังเดินถอยหลัง แล้วพาเราไปสำรวจคำว่า ‘เวลา’ ผ่านคน 3 เจเนอเรชัน

ลูก หลาน และอาม่า

/บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของภาพยนตร์เรื่องหลานม่า (2024)/

เวลาของลูก

อาม่ามีลูก 3 คน คือ ‘เคี้ยง’ ลูกชายคนโต มุ่งเทรดหุ้น แต่งงานไปมีครอบครัว และมีลูกสาว 1 คน  ‘สุ่ย’ อดีตครูที่มาเป็นพนักงานในซูเปอร์เพื่อจะได้มีเวลาดูแลแม่ และ‘โส่ย’ ลูกชายคนเล็กที่ติดหนี้จนต้องมาขอเงินจากที่บ้านบ่อยๆ

หนังไม่ได้พาเราไปสำรวจชีวิตลูกมากมายขนาดนั้น แต่ก็พยายามฉายภาพให้เห็นว่า การเติบโตมาพร้อมกับความรับผิดชอบมากมาย

ทุกคนไม่ได้เติบโตแล้วประสบความสำเร็จ อาจจะมีล้มลุกคลุกคลานอยู่บ้าง 

แต่สิ่งนี้ที่ไม่เคยหายไป คือ ‘ครอบครัว’

อาจจะไม่ใช่ทุกบ้าน แต่ครอบครัวของอาม่าบอกเราว่า ถึงจะตีกัน เกลียดกัน น้อยใจแค่ไหน เมื่อเวลาผ่านไป ครอบครัวจะกลับมาเป็นครอบครัวได้เสมอ

สิ่งที่จะบอก คือ เวลาของลูกทั้งสาม คงไม่ใช่การกลับบ้านมาหาครอบครัว แต่เป็นเวลาที่เขาจะต้องแบกรับความคาดหวังของคนอื่น และความคาดหวังของตัวเอง

พิสูจน์ให้ครอบครัวเห็นว่า พวกเขายืนด้วยตัวเองได

ทั้งหมดอาจเป็นเพื่อตัวเอง และที่สำคัญ คือ พวกเขาก็คงอยากทำให้แม่ของเขาภูมิใจได้สักครั้งหนึ่งในชีวิต

หลานม่า : ความเหงา ระยะห่าง และเวลาที่แปรผันตามความสุขของคนที่เรารัก

เวลาของหลาน

"เอ็มอยากเป็นหลานเต็มเวลา" เอ็ม หลานของม่าบอกกับหญิงชราไว้แบบนั้น

แม้จุดเริ่มต้นของการมาเป็นผู้ดูแลม่าจะมาจากเรื่องเงิน แต่การใช้ชีวิตอยู่กับอาม่าทุกวัน 24 ชั่วโมง เราเชื่อว่า ผ่านไปครึ่งเรื่อง สำหรับเอ็ม เงินไม่ใช่ปัจจัยหลัก แต่ความสุขของอาม่าต่างหากที่สำคัญ

ในสายตาคนดู เวลาของเอ็มคือเวลาที่จะทำให้อาม่ามีความสุขเท่าที่ทำได้

เพราะอาม่าเป็นคนแรก ๆ ที่เชื่อว่าเอ็มทำได้ ต่อให้ใครจะมองว่าเขาเป็นเด็กไม่สนใจโลก และทำอะไรก็ไม่สำเร็จ

แล้วดูเหมือนว่า คำพูดของอาม่าจะเยียวยาชีวิตที่อยู่ในช่วงขาลงได้ดี 

เมื่อความฝันถูกพับเก็บ เวลาของเอ็มจึงแปรผันตามอาม่า

จากเด็กตื่นสายก็ตื่นเช้ามาช่วยอาม่าขายโจ๊ก ตื่นเช้าพาอาม่าไปโรงพยาบาล คอยดูแลตอนไม่สบาย เป็นคนที่บอกให้อาม่ากลับบ้าน และเป็นคนที่อยู่กับอาม่าจนลมหายใจสุดท้าย

ถึงเอ็มจะบอกว่าทำไปเพื่อเงินหรืออะไรก็แล้วแต่ แต่การกระทำของเอ็มตั้งแต่ต้นเรื่องจนจบบอกคนดูหมดแล้วว่า หลานม่าคนนี้รักม่าที่สุด 

รักที่ไม่ต้องพูด แต่มองตาก็รู้ใจ

หลาย ๆ ครอบครัวก็คงเป็นแบบนั้น ถึงตัวจะห่างกัน แต่ใจคงใกล้กัน และเป็นห่วงกันอยู่ลึก ๆ 

หลานม่า : ความเหงา ระยะห่าง และเวลาที่แปรผันตามความสุขของคนที่เรารัก

เวลาของอาม่า

ส่วนเวลาของม่าเหมือนนาฬิกาเดินถอยหลัง นับตั้งแต่อาม่ารู้ว่าเธอเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย 

จริง ๆ วันวันหนึ่งของอาม่าก็ไม่ได้มีอะไรมาก ตื่นเช้า ต้มโจ๊ก ขายโจ๊ก กลับบ้าน ทำนู่นทำนี่ ถึงเวลาก็ขึ้นบ้านนอน 

เมื่อรู้ว่าตัวเองกำลังไม่สบายก็มีชีวิตที่ต้องไปโรงพยาบาลเพิ่มเข้ามา เราเห็นถึงชีวิตจริงของการไปหาหมอของผู้สูงอายุยุคนี้ ตื่นแต่เช้าไปจองคิวตั้งแต่เช้า และกว่าจะได้กลับบ้านพระอาทิตย์ก็กำลังจะตกดิน

เวลาของอาม่า คือ วันที่ลูกทั้งสามคนจะมาพร้อมหน้า หัวเราะ และเล่นไพ่ด้วยกัน

สำหรับเรา หนังเรื่องนี้ค่อย ๆ พาเราก้าวเข้าสู่โลกของอาม่า ผู้รอลูกหลาน หวังดีต่อลูก และไม่อยากเป็นภาระของใคร 

หลานม่า : ความเหงา ระยะห่าง และเวลาที่แปรผันตามความสุขของคนที่เรารัก ทั้ง ๆ ที่รู้ว่า เวลาของตัวเองกำลังนับถอยหลัง แต่เธอก็เลือกที่จะใช้ชีวิตเหมือนที่ผ่านมา คงเป็นแนวคิดของคนอายุมากขึ้น มีเกิดก็มีดับ เป็นเรื่องธรรมดา

ถ้าสังเกตจะรู้เลยว่า อาม่าไม่เคยพูดว่าเหงาเลยสักครั้ง แต่สะท้อนผ่านคำพูดและสิ่งในใจที่พูดกับหลานชายอย่างหมดเปลือก

“อาม่า อยู่คนเดียวไม่เหงาเหรอ” เอ็มถามอาม่า

“สมัยก่อน เวลาตรุษจีน มันไม่มีอะไรทำ ทุกคนก็จะมาเล่นไพ่ด้วยกัน” อาม่าตอบพร้อมรอยยิ้ม

ก่อนที่ประโยคต่อไปจะทำคนดูอย่างเรานั่งเช็ดน้ำตา “แต่ตอนนี้อั๊วไม่ชอบตรุษจีนเลย เพราะกับข้าว…วันรุ่งขึ้น อั๊วก็ต้องนั่งกินคนเดียว”

มันคือบทสนทนาที่ไม่มีคำว่าเหงาก็จริง แต่รับรู้ได้ว่าอาม่าเหงาที่ต้องอยู่คนเดียวในบ้านหลังใหญ่ 

และลึก ๆ แล้ว อาม่าก็เป็นคนที่หวังให้ ‘บ้าน’ เป็นจุดรวมพลทุกคนในครอบครัวและสนุกเหมือนกับอดีตที่ผ่านมา

นี่อาจเป็นเหตุผลว่าทำไมอาม่าถึงอยากมีสุสานใหญ่ ๆ สวย ๆ 

“อาม่าจะมีสุสานใหญ่ ๆ ไปทำไม ตายไปก็เป็นดินเป็นน้ำ” หลานชายตัวดีถามอาม่า

“มีสุสานใหญ่ ๆ สวย ๆ อย่างน้อยครอบครัวจะได้พร้อมหน้าไง” อาม่าตอบ

เอาเข้าจริง อาม่าคงหวังในใจว่า สุสานจะเป็นตัวเชื่อมที่ทำให้คนรุ่นหลังอยากจะมาเจอหน้ากันบ้าง ความใหญ่หรือความสวยอาจไม่สำคัญเท่ากับเวลาและความรักของลูกหลานที่เลือกวางทุกอย่างตรงหน้าลง แล้วมาใช้เวลาร่วมกัน 

อย่างน้อย ๆ ก็ปีละ 1 - 2 ครั้ง…

โดยรวมของภาพยนตร์ ‘หลานม่า’ ทำให้หลายคนยิ้ม ร้องไห้ และเข้าใจโลกทั้งสามใบของลูก หลาน และอาม่า

ที่สำคัญ คือ ทำให้เราอยากกลับไปใช้ ‘เวลา’ กับคนที่เรารัก ก่อนทุกอย่างจะสายเกินไป

เรื่อง : ณัฐธนีย์ ลิ้มวัฒนาพันธ์

ภาพ : GDH