‘มนุษย์’ หรือ ‘ปรสิต’ ที่เป็น ‘เดรัจฉาน’ เจาะลึกจักรวาล ‘Parasyte’ เวอร์ชันญี่ปุ่น - เกาหลี

‘มนุษย์’ หรือ ‘ปรสิต’ ที่เป็น ‘เดรัจฉาน’ เจาะลึกจักรวาล ‘Parasyte’ เวอร์ชันญี่ปุ่น - เกาหลี

‘มนุษย์’ หรือ ‘ปรสิต’ กันแน่? ที่เป็น ‘เดรัจฉาน’ เจาะลึกจักรวาล ‘Parasyte’ เวอร์ชันญี่ปุ่น และเวอร์ชันเกาหลี

KEY

POINTS

  • ต้นฉบับมังงะภาษาไทยแรกสุดที่แปลว่า ‘ปรสิตเดรัจฉาน’ นับเป็นการเก็บใจความและนวลของภาษาครบถ้วนสมบูรณ์ที่สุดในบรรดาชื่อแปลภาษาไทยทุกเวอร์ชัน
  • ญี่ปุ่น เน้นไปที่ประเด็นการตั้งคำถามกับสิ่งแวดล้อม ว่าการมีปรสิตอาจเป็นประสงค์ของธรรมชาติ หรือของอะไรสักอย่างที่ยิ่งใหญ่ซึ่งต้องการกำจัดมนุษย์ เพราะมนุษย์กินฆ่าทำลายสิ่งมีชีวิตอื่นทุกสิ่ง และทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างหนักหนาสาหัส 
  • เกาหลี เน้นไปที่การตั้งคำถามว่ามนุษย์ต่างหากคือปรสิตในระบบองค์กร เพราะมีมนุษย์จำนวนมากทำตัวเป็นปรสิตเกาะองค์กรหากิน เช่นระบบข้าราชการ, นักการเมือง, กรมตำรวจ ที่คอยสูบผลประโยชน์จากร่างโฮสต์ซึ่งก็คือองค์กรของตัวเอง

ผู้ชมที่เพิ่งได้ชม ‘Parasyte: The Grey’ ทาง Netflix จบไปหมาด ๆ อาจจะกำลังสงสัยว่า นักข่าวชาวญี่ปุ่นที่ชื่อ ‘อิสึมิ ชินอิจิ’ คือใคร? ทำไมจึงต้องใส่ตัวละครญี่ปุ่นตัวนี้เข้ามาปิดจ๊อบในท้ายเรื่อง 

ที่จริงแล้วอิสึมิ ชินอิจิ นี่แหละคือตัวละครสำคัญที่สุดในจักรวาล Parasyte ของเรื่องนี้

เรื่อง Parasyte นี้ ต้นฉบับเป็นมังงะญี่ปุ่น โดยศัพท์คำว่า ‘ปรสิต’ ในภาษาญี่ปุ่นออกเสียงว่า ‘คิเซจู’ (寄生虫) แต่ต้นฉบับจงใจเปลี่ยนอักษร 虫 ที่แปลว่าหนอนหรือแมลง ให้กลายเป็นอักษร 獣 ที่แปลว่า ‘สัตว์เดรัจฉาน’ แล้วเขียนอักษรคำว่าปรสิตในเรื่องนี้เป็น คิเซจู (寄生獣) เพื่อแสดงให้เห็นว่าปรสิตในเรื่องนี้ไม่ใช่ปรสิตแบบหนอนเล็ก ๆ ที่เรารู้จัก แต่เป็นปรสิตที่มีลักษณะของสัตว์เดรัจฉานผสมอยู่ ต้นฉบับมังงะภาษาไทยแรกสุดจึงแปลว่า ‘ปรสิตเดรัจฉาน’ ซึ่งเก็บใจความและนวลของภาษาครบถ้วนสมบูรณ์ที่สุดในบรรดาชื่อแปลภาษาไทยทุกเวอร์ชัน

ต้นฉบับมังงะญี่ปุ่นตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1988 - 1989 ชื่อเรื่องภาษาอังกฤษคือ ‘Parasyte’ แต่กว่าจะได้ทำเป็นอนิเมะญี่ปุ่นก็ปาเข้าไปปี 2014 - 2015 ชื่อเรื่องเลยเป็น ‘Parasyte Maxim’ คือเป็นการเอามังงะยุคเก่ามาผลิตเป็นอนิเมะในปัจจุบัน แม้ว่าเส้นเรื่องจะคงเดิมแต่มีการปรับสังคมให้กลายเป็นสังคมปัจจุบัน จึงมี smartphone และอะไรต่อมิอะไรแบบปัจจุบันที่ต้นฉบับมังงะเดิมไม่ได้กล่าวถึง พอทำเป็นภาพยนตร์คนแสดงในปี 2014 และ 2015 อย่างละภาค ชื่ออังกฤษเป็น Parasyte แต่ชื่อไทยคือ ‘ปรสิต เพื่อนรักเขมือบโลก’

ส่วนของเกาหลีชื่อเรื่องคือ ‘Parasyte: The Grey’ (기생수: 더 그레이) ซึ่งตั้งชื่อตามหน่วยพิเศษของรัฐบาลเกาหลีคือหน่วย ‘Grey’ ที่มีหน้าที่ตามล่าสังหารเหล่าปรสิตในร่างมนุษย์ ตามท้องเรื่อง 

บทความนี้จะวิเคราะห์เปรียบเทียบเวอร์ชันญี่ปุ่นและเกาหลี โดยของญี่ปุ่นจะยึดมังงะและอนิเมะเป็นหลัก ไม่สนเวอร์ชันคนแสดงเนื่องจากเปลี่ยนเนื้อเรื่องไปจากเส้นเรื่องหลักมากจนเกินไป โดยจะวิเคราะห์ในแง่ตัวละครเอก, ประเด็นหลักในเรื่อง และลาสต์บอส

1.ตัวละครเอก

a. ญี่ปุ่น ตัวเอกเป็นผู้ชาย คือ อิสึมิ ชินอิจิ ผู้โดนปรสิตเข้ากินแขนขวา เนื่องจากชินอิจิใช้เชือกรัดแขนไว้ ทำให้ปรสิตต้องฟักตัวที่แขนขวาแทนที่จะไปถึงสมอง ชินอิจิจึงมีสมองที่สมบูรณ์แบบในฐานะมนุษย์ ส่วนคำว่าขวาในญี่ปุ่นคือ ‘มิงิ’ (Migi) ปรสิตจึงได้ชื่อว่า ‘มิกี้’ (Migi) ชินอิจิและมิกี้จึงสามารถพูดคุยสื่อสารกันได้จริง ๆ เพราะต่างก็มีเจตจำนงเสรีของกันและกัน ในตอนกลางเรื่องมีเหตุการณ์ที่ทำให้ชินอิจิได้รับความสามารถใหม่เหนือมนุษย์ จึงทำให้ชินอิจิกลายเป็นสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งอักษรคำว่า ‘ชินอิจิ’ (新一) ก็แปลตรงตัวว่า สิ่งใหม่สิ่งหนึ่ง นั่นเอง 

b. เกาหลี ตัวเอกเป็นผู้หญิงคือ ‘จองซูอิน’ ผู้โดนปรสิตเข้าสิงในขณะที่ตัวเองโดนฆาตกรทำร้ายจนกำลังจะตาย ปรสิตจึงต้องแบ่งพลังไปช่วยฟื้นฟูบาดแผลเพื่อให้ร่างโฮสต์รอดตาย จึงไม่สามารถกินสมองของจองซูอินได้โดยสมบูรณ์ ผลคือปรสิตจะสามารถแสดงความสามารถได้แค่วันละ 15 นาที และใช้ใบหน้าซีกขวาของจองซูอินเป็นอาวุธได้เท่านั้น จองซูอินและปรสิตไม่สามารถสื่อสารกันโดยตรงได้ เนื่องจากต้องแบ่งสมองและแบ่งจิตสำนึกร่วมกัน จึงมีลักษณะของ ‘Dr. Jekyll and Mr. Hyde’ (นวนิยายดังของ ‘Robert Louis Stevenson’) ปรสิตในหัวของจองซูอินจึงได้รับชื่อว่า ‘ไฮดี้’ (Heidi) ซึ่งเป็นบุคลิกที่ซ่อนอยู่เหมือน ‘Mr. Hyde’ นั่นเอง เนื่องจากยังไม่จบบริบูรณ์ ณ ตอนจบภาคแรก จึงยังไม่เห็นว่าจองซูอินมีการพัฒนาความสามารถพิเศษใดอื่นเหมือนชินอิจิของญี่ปุ่น

‘มนุษย์’ หรือ ‘ปรสิต’ ที่เป็น ‘เดรัจฉาน’ เจาะลึกจักรวาล ‘Parasyte’ เวอร์ชันญี่ปุ่น - เกาหลี

2. ประเด็นหลักในเรื่อง

a. ญี่ปุ่น เน้นไปที่ประเด็นการตั้งคำถามกับสิ่งแวดล้อม ว่าการมีปรสิตอาจเป็นประสงค์ของธรรมชาติ หรือของอะไรสักอย่างที่ยิ่งใหญ่ซึ่งต้องการกำจัดมนุษย์ เพราะมนุษย์กินฆ่าทำลายสิ่งมีชีวิตอื่นทุกสิ่ง และทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างหนักหนาสาหัส จึงต้องมีปรสิตเพื่อลดจำนวนประชากรมนุษย์ แม้แต่ลาสต์บอสยังต้องตายเพราะสภาพแวดล้อมเป็นพิษจากฝีมือมนุษย์ (ตายเพราะโดนแท่งเหล็กที่มีสารประกอบ Organochlorine ซึ่งเป็นสารพิษจากโรงงาน เสียบเข้าไป ทำให้พิษกำเริบ และปรสิตทั้ง 5 ตัวในร่างเดียวจึงต้องหนีจากร่างโฮสต์ จนร่างสลาย) และพล็อตรองคือสัมพันธภาพเรื่องแม่ลูก ทั้งของชินอิจิที่ต้องไปตัดปรสิตออกจากหัวของแม่แท้ ๆ ของตัวเอง หรือ ‘ทะมุระ เรโกะ’ ที่เป็นปรสิตแต่ยอมสละชีวิตเพื่อปกป้องลูกของตัวเองที่เป็นมนุษย์เพราะเกิดจากร่างมนุษย์ของตัวเอง

b. เกาหลี เน้นไปที่การตั้งคำถามว่ามนุษย์ต่างหากคือปรสิตในระบบองค์กร เพราะมีมนุษย์จำนวนมากทำตัวเป็นปรสิตเกาะองค์กรหากิน เช่นระบบข้าราชการ, นักการเมือง, กรมตำรวจ ที่คอยสูบผลประโยชน์จากร่างโฮสต์ซึ่งก็คือองค์กรของตัวเอง และมีพล็อตรองคือสัมพันธภาพของคนชายขอบทั้ง 2 คนคือ นางเอกจองซูอินผู้ถูกพ่อซ้อมทารุณแต่เด็ก และโดนแม่แท้ ๆ ทิ้งไปจนเป็นกำพร้าแต่เด็ก และต้องใช้ชีวิตอย่าง Nobody เป็นชนชั้นต่ำสุดของสังคมเกาหลี กับตัวละครหลักอีกตัวคือ ‘ซอลคังอู’ มาเฟียปลายแถวที่ถูกหลอกใช้ให้ไปฆ่าหัวหน้าแก๊งของอีกฝ่าย แล้วโดนแก๊งตัวเองหักหลังสั่งเก็บ โดยซอลคังอูเข้ามาพัวพันกับเรื่องนี้เพราะต้องการตามหาน้องสาวที่หายสาบสูญไป (โดนปรสิตฆ่าไปนานแล้ว) ซึ่งการเข้ามาพัวพันกับปรสิตกลับทำให้ชีวิตของคนชายขอบทั้ง 2 คนกลายเป็น somebody ขึ้นมา

3. ลาสต์บอส

a. ญี่ปุ่น สุดยอดแห่งปรสิตคือ ‘โกะโต้’ (後藤) ชายผู้ซึ่งมีปรสิตอยู่ในร่างถึง 5 ตัว คือส่วนหัว, 2 แขน และ 2 ขา ทำให้เก่งแบบเทพไร้เทียมทานมาก เสียงโกโต้ยังพ้องเสียงกับคำว่า ‘โกะโต้’ (五頭) ที่แปลว่า 5 หัว อีกด้วย ต้นฉบับญี่ปุ่นตั้งชื่อตัวละครได้อย่างละเมียดละไมในความหมายแฝงอย่างมาก แต่ลาสต์บอสที่แท้จริงของญี่ปุ่นคือ ‘อุระกะมิ’ ฆาตกรโหดผู้ซึ่งฆ่าข่มขืนและกินมนุษย์มาตลอดจนพัฒนา 6th Sense ในการจำแนกมนุษย์และปรสิตออกจากกันได้ ซึ่งในเวอร์ชันญี่ปุ่นปิดท้ายได้ชัดเจนว่า ‘เดรัจฉาน’ ที่แท้จริงที่สุดคืออุระกะมินี่เอง ที่ชั่วที่สุด เลวที่สุดในเรื่อง ยิ่งกว่ามนุษย์หรือปรสิตใด ๆ 

b. เกาหลี ลาสต์บอสคือปรสิตตัวพิเศษที่สามารถตัดหัวมนุษย์คนอื่นแล้วย้ายหัวตัวเองไปสิงแบบเปลี่ยนร่างมนุษย์ไปได้เรื่อย ๆ ทั้งที่เนื้อเรื่องกล่าวถึงมาตลอดว่าปรสิตฟักตัวได้แค่ครั้งแรกครั้งเดียว จึงเป็นลาสต์บอสของภาคนี้ที่มีความสามารถพิเศษมากกว่าตัวอื่น และมีวิสัยทัศน์ตอบโจทย์พล็อตเรื่องใช้องค์กรเป็นร่างโฮสต์เพราะต้องการยึดร่างของนายกเทศมนตรี และไต่ขึ้นระดับสูงของสังคมมนุษย์ เพื่อใช้ระบบองค์กรมนุษย์เป็นร่างโฮสต์แทน เป็นพล็อตที่หนักไปที่การเมืองตามสไตล์ซีรีส์เกาหลี

ส่วนในฉากสุดท้ายของเวอร์ชันเกาหลีนั้นเป็นฉากที่แฟน ๆ มังงะและอนิเมะของเวอร์ชันญี่ปุ่นต้องลุกขึ้นยืนปรบมือ เพราะอิสึมิ ชินอิจิ จากญี่ปุ่น ที่ประกอบอาชีพนักข่าวผู้แตกฉานเรื่องปรสิต ได้เดินทางมาถึงเกาหลีเพื่อให้ความร่วมมือกับทางเกาหลีในการกำจัดปรสิตต่อไป เชื้อเชิญให้นักลงทุนและผู้ผลิตทางฝั่งญี่ปุ่นพิจารณาเลยว่า “ถ้าพร้อมแล้วญี่ปุ่นกับเกาหลีมาร่วมทุนสร้างภาคต่อของเรื่องนี้กันเถอะ”

ซึ่งการใช้นักแสดงอย่าง ‘ซึดะ มาซาคิ’ (Suda Masaki) มารับบทชินอิจินั้น เป็นการใช้สัญลักษณ์ที่โคตรฉลาด เพราะซึดะเคยแสดงเป็น 1 ใน 2 พระเอกจากซีรีส์แปลงร่างเรื่อง ‘Kamen Rider W’ โดยพระเอกคนที่คุมจิตสำนึกด้านซ้ายของร่างคือ ‘ฮิดะริ โชทะโร่’ (ฮิดะริ พ้องเสียงกับคำว่า ‘ซ้าย’) ในขณะที่ซึดะแสดงเป็นพระเอกคนที่คุมจิตสำนึกด้านขวาของร่างคือ ‘ไลท์’ หรือ ‘ไรท์’ (ภาษาญี่ปุ่นไม่แยกเสียง R  และ L ดังนั้น Light ก็คือ Right ซึ่งแปลว่า ‘ขวา’) ดังนั้น ภาพลักษณ์ของซึดะที่เคยรับบท ‘ขวา’ และมาแสดงเป็นชินอิจิ ที่มีปรสิตชื่อ ‘ขวา’ (มิกี้) จึงมีภาพลักษณ์แข็งแกร่งเกี่ยวกับคำว่า ‘ขวา’

ฉากสุดท้ายที่ชินอิจิ ยื่นมือ ‘ขวา’ เพื่อจับมือตามมารยาทสากล แล้วกล้องซูมเข้าไปที่มือ ‘ขวา’ ของซึดะนั้น เรียกว่าแฟน ๆ คือโคตรลุ้นว่าเจ้าปรสิตมิกี้จะเผยรอยยิ้มขึ้นมาให้เห็นกัน ณ จุดสิ้นสุด Episode 6 เลยไหม เรียกว่าเป็นซีรีส์ที่น่าติดตามทั้งในเชิงเนื้อเรื่อง และในเชิงโมเดลธุรกิจการ ‘เชื้อเชิญให้ต่างชาติเข้ามาร่วมทุน’ ได้ดีมาก


เรื่อง : วีรยุทธ พจน์เสถียรกุล

ภาพปก : Netflix Asia YouTube channel