วีรพร นิติประภา: สังคมไทยเลี้ยงคนไม่โต การอ่านจึงสำคัญ

วีรพร นิติประภา: สังคมไทยเลี้ยงคนไม่โต การอ่านจึงสำคัญ

มุมมองของ ‘วีรพร นิติประภา’ หรือ ‘พี่แหม่ม’ นักเขียนนวนิยายเจ้าของรางวัลซีไรต์ 2 สมัย ที่มีต่อการอ่าน การเลี้ยงลูก และการค้นหาความหมายของชีวิต

“สังคมเรามันเลี้ยงคนไม่โตอะ ให้ทำนู่นนี่นั่น แต่ไม่พยายามให้เขายืนได้ด้วยตนเอง” 

‘วีรพร นิติประภา’ หรือ ‘พี่แหม่ม’ นักเขียนนวนิยาย เจ้าของรางวัลซีไรต์ 2 สมัย ให้เวลานั่งคุยยาว ๆ ในรายการ The Moment ถึงเรื่องราวส่วนตัวที่มีทั้งเล่าออกอากาศได้ และเรื่องที่ขอเก็บไว้เมาท์กันหลังไมค์ ก่อนจะฉายภาพให้เห็นแนวคิดในการเลี้ยงลูก และความหมายของการมีชีวิต ซึ่งล้วนเกี่ยวพันกับ ‘การอ่าน’ อย่างยากที่จะแยกได้ 

“พี่ก็หวังว่าเขา (ลูกชาย) จะเป็นนักอ่านที่แตกฉาน หาทางไปเองได้ สมมติฉันตกท่อตาย เธอก็ยังอยู่ได้ ซึ่งก็ดังคาด เขาก็ไม่ได้มีชีวิตพิเศษกว่าใคร ก็มีช่วงที่เขาผิดหวัง มีช่วงที่เขาลำบาก ช่วงที่เขารู้สึกแย่ แล้วเขาก็มีหนังสือ ดูเหมือนเขาจะฉลาดขึ้นทุกครั้ง นั่นหมายความว่าการอ่านช่วยให้เขาสามารถเข้าใจชีวิตเขาเอง โครงสร้างของปัญหา แล้วก็ผ่านอุปสรรคได้” พี่แหม่มกล่าวถึงผลสำเร็จจากการปลูกฝังนิสัยรักการอ่านให้กับลูกชาย 

ในขณะเดียวกันก็ย้ำให้เห็นว่า การอ่านสำคัญต่อการพัฒนาของประเทศชาติ เพราะเป็นดั่งเครื่องมือให้เหล่านักอ่านใช้เสาะแสวงหาความหมายของการมีชีวิต 

“เราไม่คุยกันเรื่องชีวิต ไม่เหมือนประเทศอื่นที่จะถามว่าชีวิตคืออะไร เราไม่ได้ถามเด็ก ๆ ว่า ชีวิตคืออะไรเลย เขาคิดว่าชีวิตคืออะไร แล้วคนส่วนใหญ่ แม้กระทั่งคนโต ๆ หรือคนแก่ ก็คือเกิดมาทํางานจ่ายภาษีแล้วก็ตาย 

“เราไม่แสวงหาความหมายของการมีอยู่ของ ซึ่งมันสําคัญที่สุด แล้วมันสําคัญสําหรับประเทศชาติด้วย เราไม่ได้เกิดมาเพื่อเป็นมนุษย์งานแล้วก็ตาย…”

ติดตามบทสัมภาษณ์ของนักเขียนนวนิยายระดับตัวแม่ ที่ใช้ ‘ความเป็นแม่’ ขับเคลื่อนการเขียน และขับเคลื่อนสังคม ไปพร้อมกัน ที่บทสัมภาษณ์ในรายการ The Moment ดังต่อไปนี้ 
 

พาฝัน: ปกติพี่แหม่มชอบเรียกตัวเองว่า ‘วอนระพี’ ในเฟซบุ๊ก เคยกำหนดไหมคะว่า ‘วีรพร’ กับ ‘วอนระพี’ ต่างกันยังไง?

วีรพร: จริง ๆ ก็ไม่นะคะ เพราะพี่เขียนเท่าที่รู้สึก ไม่ได้คิดว่าคนอ่านจะคิดยังไง แต่พี่มีสโคปของการเขียน เช่น การใช้ภาษาแบบนึง ซึ่งในเวลาปกติก็ไม่ได้ใช้ มันเอิงเอยทำนองนั้น ก็เป็นภาษาเขียนและภาษาพูด แต่ถ้าใครติดตามนาน ๆ ก็จะพบอะไรคล้าย ๆ กันอยู่ในนั้นนะ แล้วก็พูดเรื่องรัฐบาลบ้าง ผู้คนบ้าง 

พาฝัน: อีกซิกเนเจอร์ของพี่แหม่มคือ ต้องปรากฏตัวด้วยชุดสีดำ ปากสีแดง และปกติคือแว่นตาดำด้วย 

วีรพร: อันนี้ใส่มาตั้งแต่สาว ๆ เลยนะ 

พาฝัน: มันคืออีกหนึ่งภาษา หรือเป็นสิ่งที่พี่แหม่มพยายามจะสื่อสารกับคนรอบตัวไหมคะ

วีรพร: แต่ก่อนพี่ทำงานโฆษณาค่ะ แล้วงานมันก็ยุ่งก็เลยใส่สีดำทั้งชุด เพราะมันง่ายดี ตื่นเช้ามาก็หยิบชิ้นบนชิ้นล่าง จบ ไม่ต้อง matching ไม่ต้องนั่งคิดว่าจะใส่อะไร ถ้าไปงานก็ใส่กระโปรงเท่านั้นค่ะ  

วีรพร นิติประภา: สังคมไทยเลี้ยงคนไม่โต การอ่านจึงสำคัญ

พาฝัน: ก่อนจะไปคุยกันเรื่องงานโฆษณา ทราบมาว่าตอนแรกพี่แหม่มอยากเป็นนักร้องลูกทุ่งมาก่อนด้วย

วีรพร: ตอนเด็ก ๆ ค่ะ เคยเห็นนักร้องลูกทุ่งใช่ไหมคะ จะได้แต่งตัวโป๊ ๆ วอบ ๆ แวม ๆ แล้วเป็นชุดที่น่ารักเหมือนชุดบัลเลต์ เต้นก็ไม่ยาก ไปข้างหน้า หมุนตัว คิดว่าดีกว่าเป็นนางงาม เพราะนางงามต้องใส่ชุดว่ายน้ำ 

พาฝัน: ชุดว่ายน้ำก็โป๊เหมือนกันนะพี่ 

วีรพร: พี่ขาสั้น! 

พาฝัน: ถือว่าแหวกมากไหมคะสำหรับคนยุคนั้น ที่อยากจะเป็นนักร้องลูกทุ่ง

วีรพร: คนอื่นคงอยากเป็นนักร้องลูกกรุง มีไอ้เนี่ยอยากเป็นนักร้องลูกทุ่ง แต่เสียงก็ไม่ให้ 

พาฝัน: แล้วความฝันจะเป็นนักร้องลูกทุ่งมันหายไปตอนไหนคะ

วีรพร: เสียงกับขาที่ไม่ยาวนี่แหละค่ะ

พาฝัน: แล้วหลังจากนั้นก็เลือกเรียนด้านเลขานุการ ซึ่งไม่เกี่ยวอะไรเลยกับการเป็นนักร้อง 

วีรพร: ไม่เกี่ยวกับอะไรเลย ความจริงไม่ได้ตั้งใจเรียนเลขาด้วยซ้ำ เพียงแต่ว่ามันมี gap ระหว่างที่จะเข้ามหาวิทยาลัยกับเรียนภาษาอังกฤษ ก็เลยไปลงเรียน แล้วก็ไม่เคยทำงานนี้เลย ไม่ชอบด้วย เรียนชวเลข เรียนพิมพ์ดีดภาษาอังกฤษ ได้ speed เท่าศาลเลยนะคะ 

ฃพาฝัน: แล้วจากเรียนเลขานุการ กระโดดไปเป็นนักเขียนได้ยังไงคะ

วีรพร: ก็กลับมาแล้วก็เขียนนิตยสาร อายุ 23 – 24 แล้ว อย่างไรก็แล้วแต่ พอดีเบอร์เน็ทท์เปิดรับ ก็เลยมาทำโฆษณา แล้วก็ไปแบบเด๋อด๋า เจอคุณภาณุ (ภาณุ อิงคะวัต) เขาก็ถามว่า “ทำไมถึงอยากทำโฆษณา” ก็ตอบว่า “ไม่เคยทำค่ะ” ตอบเหมือนกวนตีน แต่ไม่ได้กวนตีนนะ เขาก็ถามอีกว่า “ชอบโฆษณาตัวไหน” เราก็ตอบว่า “เอสโซ่ค่ะ” แต่ถามว่าจะเติมน้ำมันเอสโซ่ไหม “ไม่เติมค่ะ เพราะหน้าบ้านเป็นปั๊มเชลล์” เขาก็ให้ทดลองงาน 6 เดือน แล้วก็รับเลย 

พาฝัน: ได้ประสบการณ์อะไรจากการทำงานโฆษณาคะ
.
วีรพร: แรก ๆ ไม่ชอบเลย คือชอบสภาพงาน แต่ไม่ชอบสภาพแวดล้อม ไม่ชอบอะไรเกี่ยวกับโฆษณาเลย เรามีความรู้สึกว่า ไม่ว่าคุณจะทำโฆษณาดีแค่ไหน มันก็ยังเป็นการขายขี้กระป๋องอะ คือเป็นกระป๋องสวยงามแค่ไหน เปิดมามันก็ขี้ 

สิ่งที่คนทำโฆษณาต้องทำคือ ทำให้มันดูสวยงาม น่าซื้อ น่าใช้ และต้องมี นั่นหมายความว่า เราไม่ต้องมีก็ได้ ถูกไหม? ก็ถ้ามันมีชีวิตไม่ได้โดยไม่มีมือถือ เราก็ต้องคาบออกมาจากท้องพ่อท้องแม่แล้วสิ 

ฃเรามีความรู้สึกว่า โฆษณามันเป็นเรื่องหลอกล่อ คือต่อให้คุณมีโทรศัพท์ เรื่องมันไม่ได้อยู่ที่โทรศัพท์ มันอยู่ที่คนที่เราจะต้องโทรหาค่ะ ใช่ เราไม่มีใครให้โทรหา แต่เราต้องมีโทรศัพท์ 3 เครื่อง เพราะโฆษณาบอกว่า เราจะมีชีวิตอยู่ไม่ได้ ถ้าเราไม่มีโทรศัพท์ 

หลังจากนั้นก็ทำงานโฆษณาอยู่ 2 – 3 ปี แล้วก็ออกมาทำมาหากินเอง (ทำโฆษณา) ก็ไม่ประสบความสำเร็จ ก็เจ๊งไปเยอะ เสร็จแล้วก็กลับไปทำนิตยสารอีก เป็นนิตยสารชื่อ ‘Hyper’ เก๋ทีเดียว อินดี้นิดนึง เพราะตอนนั้นมันใกล้ยุค 90s แล้ว ความอินดี้มันลอยอยู่ในอากาศ 

วีรพร นิติประภา: สังคมไทยเลี้ยงคนไม่โต การอ่านจึงสำคัญ

พาฝัน: แต่สุดท้ายก็ไปไม่ไหวเพราะการขาย?

วีรพร: ใช่ แล้วตอนนั้นมันใกล้ปี 2540 ด้วย หลังจากนั้นพี่ก็ไปเปิดร้านสร้อย ด้วยไอเดียที่ว่า “ชอบก็ซื้อ ไม่ชอบก็ไม่ซื้อ” คือชอบไอเดียแบบนี้มากกว่า ไม่ชอบไอเดียการหลอกล่อ ก็ทำได้ 10 ปี นานเหมือนกันนะคะ เลี้ยงลูกโตเลยหล่ะ หลังจากนั้นก็เริ่มขายไม่ได้ ก็จบไปอีกเฟสนึง ลูกโตพอดี เข้ามหาวิทยาลัยแล้ว เราก็เริ่มคิดว่า ทำไมเราไม่ทำอะไรที่เราอยากทำจริง ๆ ก็เลยเริ่มเขียนหนังสือตอนนั้น ตอนอายุ 48

พาฝัน: ถือว่าช้าไหมคะ อายุ 48

วีรพร: สนใจอะไร คุณอาจจะอยู่ถึง 200 ก็ได้ ใช่ป่ะ พี่เป็นคนแปลกนะคะ ไม่ได้คิดเรื่องนี้เลย ก็แค่ลองทำดู ได้ ก็ทำต่อ ถ้าไม่ได้ก็ไปขายหมูปิ้ง เพราะมันเป็นอะไรที่มีอยู่ทุกที่ แต่หาอร่อยยาก คือเป็นคนทำมาหากินอะ ไม่ได้คิดหรอกว่า เราจะต้องได้รางวัล ไม่เห็นตัวเองมีชีวิตแบบที่มีอยู่ตอนนี้ 

พาฝัน: เหมือนพี่แหม่มเคยให้สัมภาษณ์บ่อย ๆ ว่า อยากจะเขียนเพื่อขิงลูกชายด้วย เพราะลูกชายชอบอ่าน

วีรพร: ใช่ ๆ ทุกเช้านะ ลูกจะลงมาแล้วบอกว่า “แม่อ่านของคนนี้หรือยัง โคตรดีเลย” อันนี้ก็เรื่องนึงนะ อีกอันคือคิดว่า อาจจะเพราะว่าตอนเขียนเรื่องครั้งแรก มันก็ได้รางวัลเลยไง เลยคล้าย ๆ มีความมั่นใจแปลก ๆ ว่าคงเขียนไม่แย่หรอก แต่ก็ไม่ได้คิดว่าจะเขียนดีหรือไม่ดี เพราะหนังสือมันคือการอ่านครึ่งนึง คุณจะไม่สามารถแบบ “โห ฉันเขียนดีจังเลย” ถ้าคนอ่านไม่เกทก็คือไม่เกท คนอ่านไม่ไปด้วยก็ไม่ไปด้วย ซึ่งก็เป็นสิ่งที่เรา train มาจากบริษัทโฆษณาด้วย นั่นหมายความว่า ไม่ว่าคุณจะทำอะไรก็แล้วแต่เลย เลิศแค่ไหน คนดูจะต้องเข้าใจระดับหนึ่งถึงจะเกิด 

พาฝัน: นั่นเป็นที่มาที่พี่แหม่มใช้เวลา 3 ปี ในการเขียน ‘ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต’ 

วีรพร: มันไม่นานนะคะ ปกติในโลกนี้เขาใช้เวลาประมาณ 10 ปีต่อนิยายเล่มนึง แต่ประเทศเรา เนื่องจากคุณขายครั้งนึงต่อยอดพิมพ์ 2 พันเล่ม คุณได้เงินประมาณ 3 หมื่นบาท นักเขียนต่อให้ออกปีละเล่มก็ยังไม่พอ แต่พอดีตอนนั้นก็ยังมีเงินเก็บจากร้านสร้อย ก็บอกลูกบอกผัวว่าจะเขียนหนังสือ แล้วก็เริ่มทำ 

พาฝัน: การได้รางวัลซีไรต์เปลี่ยนชีวิตพี่แหม่มมากไหมคะ

วีรพร: ถามว่าเปลี่ยนชีวิตไหม มันตอบยาก ชีวิตมันเปลี่ยนนะ จากคนไม่เป็นที่รู้จัก มาเป็นที่รู้จักขึ้นมา ถามว่าชอบไหม มันก็ไม่ได้ชอบ พอถามว่าชังไหม มันก็ไม่ได้ชัง ถามว่ามันแย่ไหม มันก็ไม่แย่ ดีขึ้นไหม มันก็ไม่ดีขึ้น มันก็เป็นอะไรแปลก ๆ แค่นั้นเอง เป็นคนไม่ชอบคนเยอะ ๆ อย่างไปแจกลายเซ็นครั้งแรกนี่คือสั่นเลย คนเยอะจัง ทำตัวไม่ถูกเหมือนกัน แต่หลังจากนั้นก็ค่อย ๆ ชิน เราก็จำไว้แค่ว่า สิ่งที่เราจะต้องควบคุมคืออ่อนโยนกับผู้คน เพราะว่าคนมาเข้าคิวรอขอลายเซ็นเราอะ มันนาน บางคนกว่าจะเดินถึงตัวเราคือครึ่งชั่วโมง 

วีรพร นิติประภา: สังคมไทยเลี้ยงคนไม่โต การอ่านจึงสำคัญ

พาฝัน: ติดใจจากเล่มแรกหรือเปล่าคะ เลยรีบออกอีกเล่มทันที

วีรพร: คือตอนที่เขียนเล่มแรก เรามีพล็อตเล่มสอง แต่เราไม่มีวิธีเขียนเล่มสอง ดังนั้นเลยเขียนเล่มแรกเพื่อที่จะหาวิธีเขียนเล่มสอง แล้วพี่โตมากับนิยายที่นักเขียนทุกคนจะมีภาษาของตัวเอง ซึ่งมันหายไปจากงานเขียนรุ่นใหม่ ๆ นักเขียนเหมือนจะใช้ภาษาเดียวกันหมด แต่เราอยากให้คน ‘รู้สึก’ มากกว่า ‘รู้’ ซึ่งการสื่อสารสมัยใหม่ มันเป็นแค่ ‘รู้’ ไม่ใช่ ‘รู้สึก’ พอคุณจะทำให้คน ‘รู้สึก’ คุณจำเป็นต้องสร้างสโคป สร้างพื้นที่ เพื่อให้คนเข้ามาแล้ว อยู่ในสโคปอันนี้ และรู้สึก

พาฝัน: เหมือนเล่มที่สอง ทำให้พี่แหม่มหลุดจากเล่มที่หนึ่งด้วย 

วีรพร: สมมติว่าคุณอยู่กับเรื่องนึง 365 วัน คูณ 3 ปีเข้าไป คือ 1 พันวัน คุณอยู่กับคนกลุ่มนี้ที่มันเถียงกัน ทะเลาะกัน รักกันซ้ำ ๆ เพราะหนังสือมันมีแค่ 250 หน้าเอง ถ้าสมมติว่าคุณจบแล้ว คุณไม่ขึ้นเรื่องใหม่เลย คุณก็จะติดอยู่ตรงนั้น คุณจะเอาแต่กลับไปคิดว่า เอ๊ะ หรือไม่ทะเลาะ หรือไม่รัก จนจบเรื่องแล้ว คุณก็ยังสงสัยว่า ถ้าฉันไม่ฆ่าตัวละครตัวนี้ไป มันจะเป็นยังไงนะ ถ้าตอนนี้มันมีชีวิตอยู่จะอายุเท่านี้ จะอะไรอย่างนี้ มันเหมือนกลายเป็นคนในชีวิตเราอะ

เหมือนเวลาพี่อยู่กับคุณเนี่ย พี่คุยกับคุณ แต่ในหัวพี่มันจะมีพาร์ทนึงที่พวกเขายังเดินกันไปเดินกันมา ทำหน้าที่ของเขาซ้ำ ๆ การเป็นนักเขียนมันไม่ได้ง่าย หมายถึงนักเขียนนิยายนะคะ ตอนจะเขียนเรื่องนี้ก็ต้องเรียกลูกเรียกผัวมาบอกว่า “แม่จะเขียนหนังสือ” ทุกคนก็จะแบบ “เรื่องของมึง” แต่เราก็บอกไม่ใช่ ๆ ยูไม่เข้าใจ ไอจะไม่อยู่ตรงนี้แล้ว นั่นหมายความว่า พวกเธอต้องทนกับการหายตัวไปของฉันบ้าง

พาฝัน: ครอบครัว support พี่แหม่มยังไงบ้างคะ

วีรพร: เขาปล่อยให้เต็มที่เลย พี่มีหนีออกจากบ้านด้วย เช่น ขอไปเชียงใหม่สัก 2 – 3 อาทิตย์นะ เดี๋ยวเขียนเสร็จแล้วจะกลับมา เขาก็เข้าใจ  

ที่ผ่านมาเขาก็รู้ว่า เราไม่ได้ชอบงานทุกงานที่เราทำ เขารู้ว่าเราทำ support ครอบครัวประมาณนึง อีกเหตุผลนึงก็คือ ลูกจะได้มีเวลาของตัวเอง ลูกเป็นหนุ่มแล้วอะ เขาควรจะมีเวลาอยู่กับคนอื่น วิธีการก็คือ เรานั่นแหละ ควรจะมีเวลาอยู่กับอะไรสักอย่าง เพื่อเขาจะได้มีเวลาอยู่ในโลกของเขา

พาฝัน: อย่างนี้สูงวัยในประเทศ ควรจะออกมาหาอะไรทำ

วีรพร: จริง ๆ แม่ทุกคน คุณหมด 20 ปีของชีวิตกับการเป็นแม่ ที่จะต้องรู้ว่าลูกอยู่ไหน โดยเฉพาะในประเทศที่ไม่มีความปลอดภัยแบบนี้ สิ่งที่คุณควรทำคือ จำเป็นต้อง provide space ให้เขาด้วย เพื่อที่เขาจะได้โตเอง แล้วคุณก็ต้องโตเองได้ด้วย 

พาฝัน: ยังไม่หยุดโตอีกเหรอคะ มีเหตุผลอะไรที่อายุ 45 – 50 เรายังต้องโตอีก

วีรพร: มีเหตุผลอะไรที่เราต้องหยุดโต เออ เว้ย! เป็นความผิดพลาดของประเทศนี้มากเลยที่คิดว่าเมื่อคุณอายุ 25 จบมหาวิทยาลัยแล้ว เลยเบญจเพสแล้ว คุณโตพอแล้ว แล้วไม่ต้องโตอีก การเติบโตคือทั้งชีวิต ถ้าเกิดคุณไม่คิดว่าชีวิตคือการเติบโต ก็คือคุณแก่และพัง นั่นหมายความว่ามันเริ่มตั้งแต่อายุ 25 แล้ว คุณก็เริ่มเสื่อมลง ๆ ไม่ใช่ดิ เรากลับเชื่อว่า เฮ้ย เราจะโตไปเรื่อย ๆ อะ จนกว่าจะตาย 

จริง ๆ ทุกวันนี้พี่ก็ยัง take up อะไรใหม่ ๆ พยายามเท่าที่ทําได้ พี่เพิ่งซื้อกล้อง ไม่ได้ถ่ายรูปดีอะไร แต่ก็เริ่มเรียนรู้ที่จะมองสิ่งต่าง ๆ อีกแบบนึง คือมองผ่านเลนส์ มองผ่านแสงเงา ก็เป็นการเติบโตแบบนึง อีกอย่างคือทําสวน ที่สอนให้เรารอคอย คือทำเถอะ ขอให้ทํางานอดิเรกเข้าไว้ 

พาฝัน: ในฐานะที่เขียนหนังสือเกี่ยวกับเด็กมา 2 เล่ม พี่แหม่มคิดว่า คนแบบไหนที่ไม่ควรจะเป็นพ่อแม่คน 

วีรพร: โอ้ย เราพูดยาก เราคิดว่าคนทุกคนควรจะเป็นพ่อแม่ โดยส่วนตัวมันเป็นประสบการณ์ที่ดีมากนะ คําถามก็คือว่า ไม่ใช่คนชนิดไหนควรจะเป็นพ่อแม่ หรือไม่ควรจะเป็นพ่อแม่ แต่อยู่ที่ว่าคนทุกคนควรจะเข้าใจว่า เขาสามารถเติบโตและเรียนรู้ไปพร้อม ๆ กับลูกได้ ที่บอกอย่างนี้ เพราะเราไม่ถูกสอน จนจบมหาวิทยาลัยแล้ว เบญจเพสแล้ว บวชเรียนแล้ว ทำงานแล้ว ยูโต แล้วยูไม่ต้องโตอีก แต่การมีลูกมันเป็นการเติบโตทางใจอะ ซึ่งน่ากลัวมาก 

เพราะว่าพี่ไม่ได้ expect ตรงนี้ ก็เป็นคนเกลียดเด็กอะเนอะ ไม่เคยยุ่งกะเด็ก ไม่เคยอะไร พอมีลูก อยู่ ๆ เราก็ connect กับทุกสิ่งทุกอย่างที่เราอ่าน ซึ่งพี่ไม่รู้ว่ามันเกิดขึ้นได้ยังไง เกิดขึ้นเมื่อไหร่ แต่อยู่ ๆ พี่ก็เริ่มเข้าใจสิ่งที่เรียกว่า ชีวิตจริง ๆ ซึ่งมันเรียบง่ายมาก แปลกที่ไม่ต้องมีโทรศัพท์ 3 เครื่อง

แล้วคุณจะต้องพิสูจน์ตัวเองกับใครอะ คุณจะเป็นคนที่ดีที่สุด สวยที่สุด น่ารักที่สุด คุณจะเป็นคนที่เขารอคอยที่จะเจอทันทีที่ตื่น คือทุกความ insecure ทั้งหมด ความกลัวทั้งหมด แล้วพี่คิดว่า พี่มีแรงในการลุกขึ้นมาเขียนหนังสือตอนไหนก็ได้ของชีวิต เพราะว่ามีเขาด้วย เพราะว่าฉันดีที่สุด ฉันจะต้องเป็นนักเขียนที่ดีขึ้นให้เขา

พาฝัน: ให้เขาสามารถไปพูดกับคนอื่นได้ว่า “นี่แม่ฉันเขียน”

วีรพร: แต่เวลาเราถามเขาว่า “เป็นยังไง” เขาจะตอบแค่ “ก็ดี” แปลว่าอะไรก็ดี? หรือไม่ดี? คือเขาบอกว่าไม่อยาก overpower แม่ เห็นไหม เขารู้ว่าเขาอยู่ในตำแหน่งที่สามารถทำให้เราไขว้เขวได้ บอกว่าแม่อย่าถาม แม่ทำอย่างที่แม่อยากทำเลย 

แต่จริง ๆ เราก็สอนเขามาเหมือนกันค่ะ เพราะว่าเขาเองก็ไม่ต้องพิสูจน์ตัวกับเรา เมื่อเขามาถามเราว่า เขาวาดรูปนี้สวยไหม เราก็ไม่อยากชี้นำ เพราะเขาควรจะโตด้วยการแสวงหาผลเลิศด้วยตัวเอง ผลเลิศของการเป็นมนุษย์หนึ่งคน เนี่ย ตรงนี้ที่พี่บอกว่า การเป็นแม่มันทำให้เราเติบโต นั่นหมายความว่า คุณต้องยอมให้ลูกเป็นครูด้วย มันไม่มีมนุษย์ชนิดไหนที่ควรจะเป็นแม่ หรือไม่ควรจะเป็นแม่เป็นพ่อ มันอยู่ที่ว่าคุณได้เรียนรู้และเติบโตไปพร้อม ๆ กับเขาไหม ลูกมีอะไรจะสอนเราเยอะแยะมาก แทนที่เราจะคิดว่า เฮ้ย เราเป็นผู้ใหญ่ ฉันรู้ดี ฉันเก่ง แล้วฉันจะบอกเธอว่าเธอต้องเรียนอันนี้ เธอต้องทําอันนี้ เธอต้องกินอันนี้ เธอต้องอยู่แบบนี้ หมดกัน นอกจากคุณไม่ได้เรียนแล้ว ลูกคุณก็แย่ด้วย เพราะว่าเต็มที่ที่เขาทําได้ คือเท่าที่คุณบอกเขา

วีรพร นิติประภา: สังคมไทยเลี้ยงคนไม่โต การอ่านจึงสำคัญ

พาฝัน: ลูกพี่แหม่มเลยจบ ดร. เลย

วีรพร: ซึ่งพี่ไม่ได้จบ ดร. พี่จบเลขานุการ เห็นไหม? ถ้าเราชี้นำเขาทุกอย่าง ดีที่สุดเขาก็เป็นได้เท่าเรา แย่กว่านั้นคือเขาไม่ได้ชอบ แต่เขาทำเพื่อคุณ แล้วพอทำเพื่อคุณแล้ว เขา fail เขาก็ไม่อยากสู้หน้าคุณ พี่พูดในหนังสือพี่เหมือนกัน ความล้มเหลวไม่ได้ฆ่าคน ความเดียวดายต่างหาก  

การเป็นพ่อแม่คือการอยู่กับเขาตั้งแต่วันแรก เคียงข้างเขา ให้เขาไม่ต้องกลัวอะไร ถ้าเกิดเขา fail ก็ช่วยให้เขายืนได้ แล้วเราก็ไม่ได้อยู่กับเขาตลอดเวลา เราอยู่กับเขาประมาณครึ่งชีวิต ซึ่งนับว่าน้อยมาก 

พาฝัน: อีกสิ่งที่พี่แหม่มปลูกฝังกับลูกคือ ‘นิสัยรักการอ่าน’

วีรพร: ใช่ค่ะ เพราะพี่ตั้งมั่นไว้ว่า พี่จะไม่ชี้นําอะไรเขา หนึ่ง พี่จะไม่ไปยุ่งกับเขา ไม่ control ชีวิตเขา พี่จะบอกเขาเท่าที่จําเป็นในการอยู่ร่วมกับสังคม เช่น เรื่องมารยาท แต่ว่านอกเหนือจากนั้นก็ควรจะหาเอง แล้วในโลกที่มันมีหนังสือเยอะแยะ ทําไมจะต้องไปนั่งบอกเขา มึงไปหาอ่านเอง คือว่าเราไม่ได้รู้ทุกอย่าง แล้วอีกอย่างนึงในชีวิตพี่ ในยามยากหรือในยามสุข ในยามไหน ๆ ก็แล้วแต่ พี่ลงไม่ถึงก้นนะ พี่เป็นคนดิ่ง ไม่ถึงก้น เพราะว่าพี่มีหนังสืออ่าน ซึ่งก็เป็นเรื่องแปลก 

แล้วถ้าเกิดคุณเป็นนักอ่าน คุณก็จะเข้าใจ นักอ่านหลายคนก็เป็นแบบนี้เหมือนกัน คือเวลาที่คุณแย่ คุณจะไม่แย่แบบหยําเปอะ แบบว่าเหวี่ยงชีวิตไป หรือถ้าเกิดคุณคิดจะฆ่าตัวตาย คือยังอ่านไม่จบ เดี๋ยวนะ อ่านเล่มนี้จบก่อนถึงจะตายได้ เออ เดี๋ยวค่อยตาย เพราะฉะนั้นพี่ก็เลยมีตรงนี้ให้เขา พี่พยายามที่จะมีตรงนี้ให้เขา เพื่อที่เขาจะยืนเองได้ 

แล้วในตอนที่พี่มีเขา พี่อายุ 29 – 30 พี่คิดว่าพี่เข้าใจชีวิตมากพอว่ามันเปราะบางค่ะความกลัวของพี่มีอย่างเดียวเองคือ ‘ความตาย’ ดังนั้นพี่ก็หวังว่า เขาจะเป็นนักอ่านที่แตกฉาน แล้วก็หาทางไปเองได้ สมมติฉันตกท่อตาย เธอก็ยังอยู่ได้ ซึ่งก็ดังคาด เขาก็ไม่ได้มีชีวิตพิเศษกว่าใคร ก็มีช่วงที่เขาผิดหวัง มีช่วงที่เขาลําบาก ในช่วงที่เขารู้สึกแย่ แล้วเขาก็มีหนังสือ ดูเหมือนเขาจะฉลาดขึ้นทุกครั้ง

นั่นหมายความว่า การอ่านช่วยให้เขาสามารถเข้าใจชีวิตตัวเอง เข้าใจโครงสร้างของปัญหา แล้วก็ผ่านอุปสรรคได้ ซึ่งแม่ไม่ต้องทําอะไรแล้วไง แล้วก็แค่ดูเขาโต แทนที่จะเหมือนพ่อแม่คนอื่น ที่เรามีความรู้สึกว่า สังคมเรามันเลี้ยงคนไม่โตอะ ก็คือพยายามอยู่ตลอดเวลาที่จะบอกเค้าให้นู่นให้นี่ให้นั่น แต่ว่าไม่พยายามให้เขายืนได้ด้วยตัวเอง หรือเข้าใจชีวิตตัวเอง และหรือเข้าใจอีกอย่างนึงก็คือ ชีวิตมันมีสองด้าน และนั่นคือชีวิตที่ดี นั่นคือชีวิตที่ perfect ไม่ใช่ชีวิตที่มีด้านเดียว ที่คุณต้องประสบความสําเร็จเดี๋ยว! แปลให้ฉันฟังก่อนว่าประสบความสำเร็จในชีวิตคืออะไร พ่อแม่ยังตอบไม่ได้เลย ส่วนใหญ่มีงานการทําไง มีงานมีเงิน ของพวกนี้ได้มาก็หมดไป แล้วตอนไม่ได้อะ จะอยู่ยังไง 

บอกแล้วอะไรที่จําเป็นก็ต้องคาบมาจากท้องพ่อท้องแม่ รวมทั้งความสําเร็จนั่นด้วย หมายความว่า ความสำเร็จมันมีหลายด้านมาก มันมีหลายมิติมาก คนบางคนไม่มีเงินเลยก็อยู่ได้ แถมยัง happy ด้วย บางคนป่วยไข้ บางคนไม่ perfect แต่เขาก็สามารถจัดการกับชีวิตตัวเองได้ เฮ้ย นั่นประเสริฐแล้วนะ ในความสามารถอยู่รอดได้ในข้อจํากัดน่ะ ความสําเร็จในชีวิตเราควรจะวัดแต่การอยู่รอดได้ในข้อจํากัด ไม่ใช่การอยู่รอดได้ในการมีเยอะ ๆ ทุกอย่าง แล้วไม่เห็นค่ามัน ใช่ไหมคะ

พาฝัน: เพราะฉะนั้นแล้ว การอ่านสำคัญกับประเทศชาติยังไงคะ

วีรพร: ประเทศชาตินี้อ่านน้อย สําคัญค่ะ เพราะว่ามันทําให้เราเข้าใจสิ่งต่าง ๆ ในระนาบที่ลึกลงไป ทีนี้ปัญหานึงนี่เพิ่งเขียนไป เราไม่คุยกันเรื่อง ‘ชีวิต’ ไม่เหมือนประเทศอื่นที่จะถามว่าชีวิตคืออะไร เราไม่ได้ถามเด็ก ๆ ว่า ชีวิตคืออะไรเลย เราไม่ได้ถามคําถามพวกนี้เลย เราเกิดมาทําไม แล้วคนส่วนใหญ่แม้กระทั่งคนโต ๆ แล้ว หรือคนแก่ ก็คือเกิดมาทํางานจ่ายภาษีแล้วก็ตาย ในเรื่องความหมาย เราไม่แสวงหาความหมายของการมีอยู่ของ ซึ่งมันสําคัญที่สุด แล้วมันสําคัญสําหรับประเทศชาติด้วย มันสําคัญสําหรับตัวเราเอง สําหรับครอบครัว สําหรับทุกอย่าง เราไม่ได้เกิดมาเพื่อเป็นสิ่งมีชีวิตมนุษย์งานแล้วก็ตายอะ สมมติวันนี้คุณอยู่บน dead bed มีท่อสอด แล้วคุณนั่งคิดว่า ชีวิตที่ผ่านมาของคุณคืออะไรอะ มาทํางานเช้าเย็นกลับ มันเศร้านะ

คําถามก็คือว่า ทําไมเราไม่ถาม ทําไมเราไม่คุยกันเรื่องชีวิต ทําไมเราไม่อ่านวรรณกรรม ซึ่ง actually แล้ว วรรณกรรมเป็นศิลปะ เพลง ละคร หนัง ล้วนแล้วแต่สร้างมาเพื่อตอบคําถามของชีวิตว่า เรามีอยู่ทําไม คนนี้มีอยู่ทําไม คนนั้นมีอยู่ทําไม คนนั้นรอดยังไง เราก็จะเข้าใจได้ พอเราไม่ถามคําถามเรื่องชีวิตปุ๊บ เราก็จะเสพสิ่งต่าง ๆ ได้ระดับนึง แค่นั้นเอง แล้วก็เราไม่ได้ฉลาดขึ้น แล้วก็ไม่ได้สนใจชีวิตของเรามากขึ้น แล้ว 80 ปีที่มันผ่านไปอย่างรวดเร็ว แต่ฉันเป็นอะไรอะ คือตั้งแต่ต้น เรียนจบก็เป็นแค่นี้

พาฝัน: แต่บ้านเรามักมองว่าศิลปะเป็นเรื่องฟุ่มเฟือย 

วีรพร: อืม ทั้งที่มันตอบทุกอย่างเลย คือเรามีระบบการศึกษาที่ยังค้างอยู่ในยุคสร้างชาติอะ ยุคสร้างชาติคืออะไรคะ คุณจะต้องมีประสิทธิภาพ มีระเบียบ เป็นประชากรที่ทํางานแล้วก็ตายจาก มันไม่มีมากกว่านั้น ซึ่งในต่างประเทศ ในโลกอื่น เขาเสร็จสิ้นเรื่องนี้ไปตั้งแต่ปี 70s แล้ว ซึ่งนั่นคือตอนที่วีรพรเกิดค่ะ เขาเริ่มมาสู่สิ่งอื่น แต่เราไม่ต้องการประชากรที่มีประสิทธิภาพ เราต้องการประชากรที่มีผลเลิศ ซึ่งแตกต่างกันออกไป ผลเลิศของแต่ละคนขึ้นอยู่กับความสามารถในการเข้าใจสิ่งต่าง ๆ ความถนัดในสิ่งต่าง ๆ การสามารถในการทําสิ่งต่าง ๆ หรือแม้แต่น้อยสุด ก็คือไม่เป็นปัญหาที่จะถ่วงที่เหลือ แทนที่ทุกคนจะทําแบบเหมือน ๆ กันหมด 

บางครั้งเราก็ยังมี เอ๊ะ หนังไทยมันก็เหมือนกันทุกเรื่องนะ ใช่ ละครหลังข่าวมันก็เหมือนกันทุกเรื่องนะ วรรณกรรมก็คล้ายกันทุกเรื่องนะ อืม ทําไมเราทําสิ่งเดิม ๆ อยู่ตลอดเวลา แล้วเราก็กลัวด้วยว่า ถ้าเราทําอะไรซักอย่างที่มันต่างออกไปแล้วจะขายไม่ได้ เราไม่ได้ขายคน 66 ล้าน ไม่ว่าคุณจะทําอะไรคุณไม่เคยขายคน 66 ล้านเลย คุณขายคนอย่างมากแค่ 100 - 200 หรือแสนนึงต่อหน่วย 66 ล้าน ซึ่งเป็นทุกวงการ นางงามเราก็เหมือนเดิม มันเป็นสังคมที่ประหลาด เอาจริง ๆ มันต้อง segment กันแล้ว มันต้องไม่มีแบบเดียวสิ มันต้องมีหลายแบบสิ เรามีหนังผีเสร็จแล้ว ดีขึ้นมาหน่อยก็เป็นหนังผีที่ตลก แล้วก็จบลงที่ทั้งไม่ตลกทั้งไม่น่ากลัว เป็นต้น แต่ว่าเราไม่มีหนังหนังฆาตกรรมด้วย สายลับสืบสวนซ่อนเงื่อนด้วย ปีหน้าเราจะเห็นหนังคล้ายคล้ายหลานม่าประมาณร้อยเรื่อง เพราะว่ามัน success แล้ว  

พาฝัน: แล้วเราจะแก้ปัญหานี้ยังไง 

วีรพร: ยกเลิกยูนิฟอร์มในโรงเรียนให้ได้ก่อน คุณให้เขาแต่งตัวเหมือนกันเป็นเวลา 25 ปี แล้วคุณคาดหวังว่าเขาจะครีเอทีฟ คุณบังคับเขาตัดผมทรงเดียวกัน 25 ปี แล้วคุณหวังว่าเขาจะเป็นคนทําอะไรอินดี้ มันยากไปเปล่า? ยูนิฟอร์มเหมือนกัน รองเท้าเหมือนกัน เข้าแถวเหมือนกัน แล้วตัวพ่อแม่เองก็มาจากระบบเหมือน ๆ กัน นี่คือระบบทหาร คุณต้องแต่งเหมือนกัน เพื่อจะรู้ว่าคนนี้ไม่ใช่ศัตรู คนนี้เป็นทหารของคุณ มันเป็นการแยกส่วนแบบนั้น แต่มันอยู่ในระบบการศึกษาของเรา นั่นหมายความว่า พ่อแม่ก็มาจากระบบนี้ แล้วเราก็กลัวว่าเดี๋ยวคนอื่นจะว่าเรา ถ้าเราทําตัวเด่นเกินไป ถ้าเราแต่งตัวไม่เหมือนเขา

ตอนเด็ก ๆ พี่โดนครูเรียกไป แล้วบอกว่าเธอดัดผม พี่บอกไม่ได้ดัด มันหยิกเอง เขาก็บอกถ้างั้นก็ไปยืด อ้าว คือเดี๋ยวนะ ตอนนั้นแม่ก็ดีใจหาย พาไปยืด แล้วสมัยก่อนมันไม่มีย้ำยายืด มีแต่น้ำยาดัด แล้วคือเจ็บหัวมาก ในที่สุดแม่บอกว่าช่างมันเถอะ จะไล่ออกก็ให้มันไล่ออกไปละกัน เออ มันก็ไม่ไล่ หลายโรงเรียนก็เห็นเหมือนกัน พอเด็กผมแดงหน่อย ก็บอกเธอไปย้อมผมดํามา

มันเป็นระบบการที่ต้องการให้คนทุกคนเหมือนกัน และเราหวังว่า เราจะมีคนครีเอทีฟ ไม่นะ คนครีเอทีฟหนีไปอยู่เมืองนอกหมด

ประเทศที่กลายเป็นประเทศที่สมมติว่า ใครสักคนรีวิวร้านอาหารร้านนึง วันรุ่งขึ้นเนี่ย คือ ยาวเหยียด หรือกรณีหมูเด้ง มันมีตั้งหลายหมู ไม่มีใครแคร์ ทุกคนจะต้องไปดูหมูเด้งใช่ไหมคะ คําถามคือคุณสนใจหมูเด้งจริงเปล่า คุณไม่ได้สนใจหมูเด้ง คุณจะต้องการที่เป็นพาร์ทของอะไรสักอย่าง เสร็จแล้ววันนึงทุกคนก็เลิก เพราะว่ามันจะกรูไปหาสิ่งใหม่อยู่ตลอดเวลา

วีรพร นิติประภา: สังคมไทยเลี้ยงคนไม่โต การอ่านจึงสำคัญ

แล้วโลกสมัยใหม่นี้ คีย์เวิร์ดของมันคือ creativity กับ innovation เราไม่มีทั้งสองอย่างเลยค่ะ เพราะมันมาด้วยกัน ถามว่าเรามีอะไรที่เป็นที่ต้องการของคนโลกนี้บ้าง? ไม่มี ทุกวันนี้ส่งออกก็ค่อย ๆ ด้อยลงไป เราไม่มี innovation เราไม่คิดอะไรใหม่ เราเป็นโรงงานให้ญี่ปุ่นทํารถ ก็ตั้งแต่วีรพรเกิดอะ ประมาณกึ่งพุทธกาล 60 ปีผ่านมา เรายังไม่มีรถแบรนด์ของตัวเองเลย เราไม่มีเครื่องไฟฟ้าของเรา เราไม่มีอะไรเลย เพราะก็ทําให้เขาก็ดีอยู่แล้ว แล้ววันนึงเขาก็ถอนโรงงานไป 

พาฝัน: เราฝากความหวังกับใครได้ ระหว่าง ‘รัฐบาล’ กับ ‘เด็กรุ่นใหม่’

วีรพร: ฉันไม่ฝากกับรัฐบาล รัฐบาลแก่มาก พี่พูดเรื่องนี้อยู่หลายที่เหมือนกัน คือโลกมันกลายเป็นดิจิทัลไปแล้วค่ะ ในขณะที่คนรุ่นที่ปกครองประเทศของเราอยู่เนี่ย เป็นระบบอนาล็อก มันเหมือนเวลาที่คุณซื้อคอมพิวเตอร์มา แล้วมันโอเปอร์เรตไม่ได้อะ คุณเข้าใจตรงนี้ไหมคะ เวลามีปัญหาอะไร มันจัดการปัญหาไม่ได้อะ เท่าที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้ก็คือ ทุกอย่างจะต้องรวมศูนย์ออกจากศูนย์กลาง 

พาฝัน: บางทีก็ติดเสาร์อาทิตย์

วีรพร: ใช่ ๆ ติดเสาร์อาทิตย์ แล้ว 5 โมงเย็นปิดหมด คือมันก็จะเป็นอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ  แต่ว่าพี่เข้าใจว่านั่นแหละค่ะ ในที่สุดแล้วมันก็ต้องจบ ภายใน 10 ปี ทุกอย่างก็จะเปลี่ยนรุ่น ขอโทษนะคะ ตายหมด ก็จะมีรุ่นใหม่ขึ้นมาอยู่ดี ซึ่งก็จะเป็น semi digital ก็ยังไม่ทันอีกค่ะ ตอนนี้เราต้องการที่เป็นแบบ full system ที่จะเข้าใจว่า เฮ้ย จะอยู่กันยังไง จะพัฒนาประเทศยังไง ประเทศจะอยู่แบบไหน เราต้องการคนที่แบบว่า อย่างน้อย ๆ มีวิสัยทัศน์ตรงนั้น

พาฝัน: เพราะฉะนั้นอะไรคือความน่าเห็นใจสำหรับเด็กรุ่นใหม่คะ

วีรพร: พ่อแม่ที่ยังมาจาก post war ระบบโรงเรียนที่มาจาก post war รัฐบาลที่มาจาก post war แต่ว่าคุณเข้าใจไหม ตอนนี้เขาสามารถไปถึงหน้าเวทีลิซ่าได้แล้ว เขาอยู่ในโลกแล้วอะ มันจึงน่าอึดอัดคับข้อง รวมถึงความป่วยด้วย เรื่องที่เราไม่ค่อยคิดถึง  ทําไมเด็กทุกวันนี้มันป่วยกันเยอะมาก ปัญหาหนึ่งที่พี่เพิ่งเจอก็คือ พอมันเป็น Gen Z เป็นดิจิทัลร้อยเปอร์เซ็นต์แล้ว เขามีปัญหาการสื่อสารด้วย เพราะว่ามันเป็นการสื่อสารทางเดียว เขาโตมากับมือถือ และเมื่อเขาจะพูดกับพ่อแม่ พ่อแม่ก็ดันอยู่สักประมาณ Gen X หรือไม่ก็ Baby boomer ด้วยซ้ำ ซึ่งพูดไปก็ไม่รู้เรื่อง ในที่สุดก็เลยไม่พูด เขามีปัญหาสื่อสารกับคนที่อายุเยอะ ยิ่งแบบอึดอัดไปใหญ่ แล้วยิ่งไม่พูดยิ่งมีปัญหา ทําให้อีก gen ไม่เข้าใจ อีก gen ก็ใช้อํานาจ แล้วก็ลงโทษรุนแรง คือเราก็เข้าใจเรื่องลงโทษน้อยมาก คือแบบไม่ตีแล้วไง แต่ว่ายึดโทรศัพท์ ซึ่งมันยิ่งกว่าตีอีกนะ มันคือการตัดขาดจากโลก หรือว่าไม่ให้ไปเที่ยว คือคุณทําได้รุนแรงในแง่จิตใจ

ระบบการศึกษาหรือการเข้าใจระหว่างพ่อแม่กับลูกเนี่ย มันขึ้นอยู่กับชีวิตของรัฐต่อเด็ก ๆ ด้วย แต่โปรดสังเกตสิคะ ถ้าเกิดว่าคุณตีเด็กที่โรงเรียน ก็ย้าย แล้วเราก็ไม่ได้ยินข่าวอีกเลยค่ะ อีครูใจร้ายนั้นเราก็ไม่ได้เห็นข่าวอีกเลย ว่า เฮ้ย เขาโดนลงโทษ เขาติดคุก เขาอะไรไหม คือตัวครูได้รับการปกป้องจากรัฐ แล้วก็เห็นไหมคะ ผู้ใหญ่มีอํานาจกว่าเด็ก เด็กเป็นประชากรชั้นสอง เมื่อเด็กเป็นเป็นประชากรชั้นสอง เขาจะเป็นประชากรชั้นสองในบ้านด้วย เราได้ยินประจำเรื่องไล่ลูกออกจากบ้าน เราไม่ได้อยู่บนพื้นฐานที่มันควรจเป็น มันมีคนที่มีอำนาจมากที่สุดในบ้าน อย่างน้อยก็คือคนที่ผ่อนบ้าน แล้วลูกจะอยู่ในฐานะผู้อาศัย อันนั้นดีแล้ว ถ้าแย่กว่านั้นคือ ลูกอยู่ในฐานะ ‘สัตว์เลี้ยง’ เพราะตัวเขาเองก็ได้รับการปฏิบัติแบบนี้ 

พาฝัน: สุดท้ายแล้วค่ะพี่แหม่ม จนถึงวันนี้ ‘ความหมาย’ ของชีวิตสำหรับพี่แหม่มคืออะไรคะ? 

วีรพร: แปลกนะ ตั้งแต่สาว ๆ เนอะ พี่คิดว่าเราเกิดมาเพื่อ experience เพื่อที่จะมีประสบการณ์ในสิ่งต่าง ๆ พี่ไม่ได้คาดคิดเรื่องการเป็นคนมีชื่อเสียงหรือว่าเป็นคนดัง หรือว่าหรือแม้แต่ได้รางวัล ไม่ได้คิดเรื่องนี้ แล้วก็ไม่คิดว่ามันสําคัญด้วย ขอโทษนะคะ มันเป็นเพียงแค่ความเห็นของคนกลุ่มนึงที่จะตัดสินใครสักคนให้ได้รางวัล  มันไม่ได้ทําให้พี่รู้สึกว่า เฮ้ย พี่เขียนดีจริง ๆ หรืออะไรอย่างงั้นนะ 

แล้วพี่รู้สึกว่าชีวิตแบบนี้ คือชีวิตที่โอเค มีอะไรสักอย่างที่คุณยังทําได้ รักมันมากพอที่จะทํา แล้วก็ยังหวังที่จะเห็นมันออกมาดี ๆ เป็นอะไรแบบที่เขาไม่เคยทํากัน แต่ว่าสื่อสารได้ พี่คิดว่ามันเป็นโจทย์ที่พี่ยังทําอยู่ และข้างหน้าพี่ก็อาจจะไปทําอย่างอื่น เท่าที่ไปไหว ซึ่งพี่ก็ไม่รู้อะ ตอนนี้พี่โชคดีตรงที่สุขภาพก็ยังโอเคอยู่ ไม่ได้ดีเลิศ พี่คิดว่าการเข้าสู่แดนชรา มันมีเส้นแบ่งจริง ๆ นะ พอ 60 ปุ๊บ โห เดินไม่ค่อยไหวแล้วอะ ดื่มไม่ค่อยได้แล้ว มันก็จะลดน้อยลงไป แต่พี่ก็มั่นใจว่า เออ มันจะมีอะไรสําหรับคนแก่ ๆ     แล้วพี่คิดว่าพี่สนุกกับการมีประสบการณ์ในทุกช่วงวัย

พี่ตั้งหน้าตั้งตารอที่จะเรียนรู้ประสบการณ์ของการเป็นคนแก่ ๆ ว่า เฮ้ย เมื่อคุณไม่มีเรี่ยวแรงทางกายแล้ว คุณยังมีเรี่ยวแรงทางใจไหม ยังมีเรี่ยวแรงทางสมองไหม หรือว่าไปหมดเลย หรือว่าเราจะ explore ในดินแดนอื่นของการมีชีวิตอยู่ ซึ่งพี่เป็นคนสนใจชีวิตแหละ 

พาฝัน: มันทําให้ทุกเช้าที่ตื่นมาตื่นเต้นใช่ไหมคะ

วีรพร: พี่ตื่นเต้นเหมือนตอนพี่อายุ12 ก็คือตื่นมาแล้วก็จะรีบไปโรงเรียน จะไปเล่นบอลกับเพื่อน แต่ตอนนี้พี่ตื่นมา พี่ก็กดคอมฯ พี่ก็เขียน ทิ้งมั่งเอามั่ง บางทีได้ประโยคเดียวพี่ก็แฮปปี้แล้ว พี่เริ่มชินกับการแบบว่า เอ้ย วันนี้ได้เขียนแล้ว พี่ก็เริ่มเรียนรู้ว่า เฮ้ย ชีวิตมันคือแบบฝึกหัด เหมือนในแต่ละวันที่คุณใช้อะ คุณน่าจะใช้ชีวิตเก่งขึ้น เก่งขึ้นเรื่อย ๆ หรือเปล่า คุณได้ใช้ชีวิตจริง ๆ ไหม คุณได้เขียนจริง ๆ ไหม ทุกอย่างเป็นแบบฝึกหัดหมดเลย 

แต่ว่าแต่พี่จะต้องเตือนไว้นิดนึงว่า มันเปลี่ยน คือหมายความว่า วันนึงพี่อาจคิดว่าความหมายของชีวิตอาจจะเป็นอย่างนี้ แล้ววันหนึ่งก็จะเปลี่ยนใจ แล้วก็จะเปลี่ยนใจอีก 

 

สัมภาษณ์: พาฝัน ศรีเริงหล้า

ถ่ายภาพ: ดำรงค์ฤทธิ์ สถิตดำรงธรรม