18 ต.ค. 2564 | 11:03 น.
/ I once had a girl Or should I say she once had me She showed me her room Isn’t it good Norwegian wood? / ภายในนวนิยายหนึ่งเล่มที่ ฮารูกิ มูราคามิ เป็นผู้ประพันธ์ ‘นาโอโกะ’ ต้องจ่ายเงิน 100 เยนเพื่อฟัง ‘เรโกะ’ เล่นเพลง ‘Norwegian Wood’ ผ่านกีตาร์โปร่ง สำเนียงนวลหูของมันคล้ายแทรกอยู่ระหว่างเสียงลม ผ่านป่าสนและเทือกเขาในหนังสือที่ตั้งชื่อตามเพลงเล่มนี้ - ด้วยการเล่าเรื่องราวของ ‘โทรุ วาตานาเบะ’ ตัวเอกผู้เป็นปกติชนท่ามกลางคนเว้าแหว่ง ใจสลาย มูราคามิผสานดนตรีของ The Beatles เข้ากับความรัก ความตาย และการสูญแล้วสิ้นซึ่งบางสิ่งในวัยเยาว์ได้อย่างงดงาม บทเพลง ‘Norwegian Wood’ ของ The Beatles ผูกสัมพันธ์เข้ากับโลกในหน้ากระดาษของนักเขียนญี่ปุ่นคนนี้ได้อย่างไร คงต้องย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้นของเพลง อัคคีภัยในห้องไม้บุนอร์เวย์ หลัง ‘Norwegian Wood’ บทเพลงที่ถูกบรรจุใน ‘Rubber Soul’ สตูดิโออัลบั้มชุดที่ 6 ของวงที่ปล่อยออกมาในปี 1965 บรรเลงจนถึงท่อนสุดท้าย อัคคีภัยได้เกิดขึ้นในห้องขนาดเล็กของหญิงนิรนาม เนื้อเพลงจบลงด้วยท่อนที่ว่า ‘So I lit a fire. Isn’t it good Norwegian wood?’ และไฟก็ลามไปทั่วทุกที่ พาให้บทเพลงนี้กลายเป็นอีกหนึ่งหลักไมล์ของ The Beatles เพลงนี้กลายเป็นหมุดหมายสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงการเติบโตทางดนตรีของพวกเขา จากก๊วนเด็กหนุ่มวัยย่างยี่สิบที่เผยโฉมต่อโลกด้วยเพลงอย่าง ‘Please Please Me’ หรือ ‘Love Me Do’ เข้าสู่วงป็อปร็อกแถวหน้าที่หยิบเครื่องดนตรีอินเดียอย่าง ‘ซีตาร์’ มาผสานกับท่วงทำนอง และเล่าร้องเนื้อหาที่ลึก ขม ชวนขัน และช่างอุปมาอุปไมยในเพลงเดียว เพลงนี้ถูกตีความหลากหลาย เรื่องราวคืนเดียวที่ลงท้ายด้วยเปลวไฟนั้นถูกผูกโยงเข้ากับแรงขับทางเพศ ความหลงใหล ความสูญเสีย และความรู้สึกว่างเปล่าในอกที่อยากหาหนทางระบายหลังไม่ได้รับในสิ่งที่ต้องการ ผู้บรรจงสร้างเนื้อเพลงที่ทั้งตลกร้ายและเศร้าสร้อยขึ้นมา ก็คือสองคู่หูประจำสี่เต่าทอง Lennon/McCartney โดยผูกโยงเข้ากับเรื่องราวส่วนตัวของ จอห์น เลนนอนเอง “เพลงนี้คือเรื่องราวของผม” จอห์น เลนนอนเล่าอย่างเปิดเผยไว้ในการสัมภาษณ์ครั้งหนึ่ง “มันเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของผมในตอนนั้น ผมระมัดระวังมาก ๆ ที่จะไม่ให้ซินเธีย เมียของผมรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นนอกบ้าน ผมจึงเขียนเรื่องการคบชู้ของตัวเองไว้อย่างซับซ้อน ซ่อนมันในม่านควัน” ‘Norwegian Wood’ เริ่มเขียนโดยจอห์น เลนนอน ในปี 1965 ระหว่างที่เขาและภรรยา รวมทั้งโปรดิวเซอร์ของ The Beatles อย่าง ‘จอร์จ มาร์ติน’ กำลังพักผ่อนเล่นสกีที่ St. Moritz ในเทือกเขาแอลป์ สวิส ช่วงเวลาดังกล่าวจอร์จกำลังบาดเจ็บที่เท้าจากอุบัติเหตุ และจอห์นก็เล่นส่วนหนึ่งของ ‘Norwegian Wood’ ขึ้นมาระหว่างการพักฟื้น พยาบาลขาของโปรดิวเซอร์คู่บุญ หลังกลับจากลาพักหนาว จอห์นใช้เวลาอย่างน้อยหนึ่งวันต่อสัปดาห์ในการเขียนเพลงอย่างที่เคย เพลง ‘เจ้านกบินหนี’ (เพลงนี้มีชื่อแรกว่า ‘This Bird Has Flown’ ตามเนื้อท่อนท้าย ๆ ภายในเพลง และถูกเปลี่ยนเป็นชื่อ ‘Norwegian Wood ’ ระหว่างการอัดเสียงราวเทคที่สาม) ถูกทั้งคู่ช่วยกันต่อเติมจนเสร็จ พอล แม็กคาร์ตนีย์ เล่าในหนังสือ ‘Many Years From Now’ ของเขาว่า “ตอนที่ผมเข้ามา (ในบ้าน) จอห์นมีเนื้อเพลงท่อนแรกที่เยี่ยมยอดอยู่ในหัว ‘I once had a girl, or should I say she once had me’ คือทั้งหมดที่เขามี ไม่มีชื่อเพลง ไม่มีอื่นใด ผมพูดว่า ‘ใช่ เราจะเริ่มจากตรงนี้’ และหลังจากนั้นก็เหมือนบทเพลงนี้เขียนตัวมันเองด้วยการทำให้เรารู้วิธีเขียนเพลง “เรื่องในเพลงก็คือ จอห์นเขาพยายามจะยื้อ ‘นก’ น่ะ” คือคำบอกเล่าของพอล สอดคล้องกับสิ่งที่จอห์นเคยเล่าเอาไว้ พร้อมทั้งเสริมอย่างจริงใจว่าเขาจำไม่ได้ว่า ‘นก’ ตัวไหนที่เขากำลังพูดถึงภายในเพลงที่ว่า นกที่บินหนี มีการคาดเดามากมายถึงตัวตนของนกที่บินหนี พีต ชอตทอน เพื่อนในวัยเด็กของจอห์นบอกว่าเพลงนี้เกี่ยวกับนักข่าวหญิงคนหนึ่ง จึงได้คำคะเนว่าเธอชื่อ ‘มัวรีน คลีฟ’ ขณะที่ผู้เขียนหนังสือ ‘John Lennon - The Life’ อย่าง ‘ฟิลิป นอร์แมน’ บอกว่าสาวเจ้าในเพลงน่าจะเป็น ‘ซอนนี่ ฟรีแมน’ ภรรยาของช่างภาพ ‘โรเบิร์ต ฟรีแมน’ ที่อาศัยอยู่ในอะพาร์ตเมนต์เดียวกันในลอนดอน “ผมไม่รู้ว่าผมได้ชื่อเพลง ‘นอร์วีเจียน วูด’ มาจากไหน” จอห์นบอกกับนิตยสารเพลย์บอยแบบนั้น ขณะที่เพื่อนผู้ร่วมแต่งเพลงกับเขากลับเล่าถึงที่มาชื่อเพลงแปลกหูได้ราวกับว่าเขาเพิ่งเขียนมันขึ้นมาเมื่อวาน “ห้องของปีเตอร์ แอชเชอร์ (นักดนตรี ผู้จัดการ และโปรดิวเซอร์) บุไม้ประเภทนั้น ห้องของหลายคนบุ ‘Norwegian Wood’ มันคือไม้สนแท้ แต่เป็นสนอย่างถูก มันคงดูไม่ได้ถ้าเราจะตั้งชื่อเพลงว่า ‘Cheap Pine’ หรือไม้สนถูก ๆ ‘Norwegian Wood’ คือคำหยอกเย้าเล็ก ๆ น้อย ๆ ถึงเด็กสาว เมื่อคุณไปยังแฟลตที่บุด้วยไม้สนของพวกเธอ” อีกหนึ่งที่มาของ ‘Norwegian Wood’ ถูกเล่าโดย ‘ลินดี เนสส์’ เพื่อนเก่าของจอห์นเมื่อราวปี 1962 เธอไปเที่ยวนอร์เวย์และซื้อตุ๊กตาโทรลตัวจ้อยมาฝากจอห์น ลินดีเล่าว่าเมื่อจอห์นรับมันไป เขาเพ่งดูอย่างพินิจพิเคราะห์และพูดว่า “นี่อะไรน่ะ? ไม้นอร์เวย์เหรอ” เสียงซีตาร์ลอยลม ‘Norwegian Wood’ คือเพลงแรก ๆ ในประวัติศาสตร์ดนตรีป็อปตะวันตก ที่บรรจุเสียง ‘ซีตาร์’ หรือเครื่องสายอินเดียเอาไว้ โดยผู้บรรเลงคือ ‘จอร์จ แฮร์ริสัน’ ที่เล่นมันตามคำขอของจอห์นนั่นเอง “มันน่าเหลือเชื่อที่เราบันทึกเสียงเครื่องดนตรีชนิดนี้เอาไว้” ริงโก สตาร์ กล่าว “เราเปิดรับทุกอย่าง คุณจูงช้างเข้าสตูดิโอก็ได้ถ้ามันทำให้เกิดโน้ตดนตรี เพราะฉะนั้นตอนที่จอร์จเอาซีตาร์เข้ามาเราเลยต้อนรับมันอย่างไม่ลังเล อะไรก็เป็นไปได้ทั้งนั้น” หลังช่วงเวลาแห่งการทดลอง ถกเถียง ที่ทั้งสนุกสนานและเครียดข้นในห้องอัดเพลงของ The Beatles พ้นผ่าน อัลบั้ม ‘Rubber Soul’ และเพลงเจ้านกบินหนีที่เปลี่ยนชื่อเป็นไม้นอร์เวย์ก็พร้อมแล้วที่จะเสิร์ฟความแปลกใหม่ให้โลกดนตรี เช่นเดียวกับเพลงอื่นของพวกเขา เพลงนี้อายุยืนยาวกว่าอายุวง The Beatles ยี่สิบเอ็ดปีถัดมา ‘ฮารูกิ มูราคามิ’ เริ่มเขียนนวนิยายของเขาโดยอิงชื่อหนังสือตามชื่อเพลง เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 1986 และดังที่ผู้คนทั้งหลายได้อ่าน มูราคามิได้ผูกบทเพลง ‘Norwegian Wood’ เข้ากับความรัก ความตาย และอาการหัวใจสลายอย่างแสนเศร้า และการเติบโต สลัดทิ้งวัยเยาว์ของหนุ่มสาวได้อย่างสมบูรณ์ยิ่ง โดยนอกจากจะเป็นบทเพลงที่ลอยวนอยู่ในบรรยากาศของเรื่องราวแล้ว บางส่วนของการพบกันระหว่าง ‘วาตานาเบะ โทรุ’ และ ‘นาโอโกะ’ สองตัวละครหลัก ยังคล้ายคลึงกับการพบกันระหว่างจอห์น เลนนอนและหญิงสาวปริศนาที่ประดับห้องด้วยไม้นอร์เวย์ภายในเพลงอีกด้วย / “เจ็ดเพลง” เรโกะจิบไวน์ จุดบุหรี่อีกมวน “หนุ่มสี่คนรู้จักความเศร้าสร้อยของชีวิต แล้วก็ความอ่อนโยน” - ส่วนหนึ่งจากนวนิยาย ‘Norwegian Wood’/ เพลง ‘Norwegian Wood’ จบไปแล้ว และถูกเริ่มใหม่ไม่รู้เบื่อภายในเล่ม คงเช่นเดียวกับช่วงเวลาที่มูราคามิกำลังเขียนหนังสือเล่มนี้ ที่มีบทเพลงของ The Beatles เล่นวนเป็นเพื่อนอย่างไม่รู้เหนื่อยรู้หนาว อย่างที่เขาได้เขียนเล่าไว้ในบทส่งท้ายว่า / ผมพักในโรงแรมราคาถูก ไม่มีโต๊ะเขียนหนังสือ ผมต้องออกมานั่งเขียนในโรงเตี๊ยม ฟังอัลบั้ม ‘ซาเจนต์ เปปเปอร์’ส โลนลี ฮาร์ตส์ คลับ แบนด์’ ของบีเทิลส์ ด้วยวอล์กแมน 120 จบ ดังนั้น นวนิยายเล่มนี้จึงได้รับความช่วยเหลือ a little help from my friend พอล แม็กคาร์ตนีย์ และจอห์น เลนนอน อยู่มากโข - ฮารูกิ มูราคามิ / ที่มา: https://www.beatlesbible.com/songs/norwegian-wood-this-bird-has-flown/ http://www.beatlesebooks.com/norwegian-wood https://www.the-paulmccartney-project.com/song/norwegian-wood-the-bird-has-flown/