11 พ.ค. 2565 | 15:00 น.
วิกฤตน้ำมันเกิดขึ้นในไทยหลายต่อหลายครั้ง สถานการณ์เมื่อปี พ.ศ. 2523 พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ถึงกับต้องลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพราะไม่สามารถแก้ไขปัญหาน้ำมันได้ ในช่วงนั้น ท่ามกลางความตึงเครียด มีเรื่องชวนยิ้มคลายเครียด เมื่อ สรวง สันติ นักร้อง นักแต่งเพลงชาวจังหวัดสุโขทัย เขียนเพลงชื่อ ‘น้ำมันแพง’ เนื้อหาเสียดสี แต่ออกแนวสนุก ๆ เด็ดสุด ๆ คือ ใช้ทำนองจากเพลง Jingo ของวงซานตาน่า (Santana) มาใส่เนื้อไทยอย่างเจ็บ ๆ คัน ๆ “น้ำมันขาดแคลน คุยกับแฟนก็ต้องดับไฟ ถึงตอนดับไฟ มีอะไรเราก็เริ่มฝอย ใกล้เข้าไปอีกนิด ชิดเข้าไปอีกหน่อย น้ำมันมีน้อยมืดหน่อยก็ทนเอานิด…” เด็กรุ่นใหม่จะรู้จักเพลงนี้จาก พี่ก๊อท จักรพันธ์ ครบุรีธีรโชติ ที่นำมาทำเป็นโชว์เมดเลย์สนุกสนาน ก่อนหน้านั้นก็มีทั้งนพดล ดวงพร ไวพจน์ เพชรสุพรรณ ชาย เมืองสิงห์ และล่าสุด อ๊อด โฟร์เอส นำมาร้องใหม่แบบรำวงชาวบ้าน สรวงสันติ สรวง สันติ หรือชื่อจริงว่า จำนงค์ เป็นสุข เด็กจาก ต.บ้านไร่ ศรีสำโรง สุโขทัย จบการศึกษาชั้น ม.6 จากโรงเรียนการช่างสุโขทัย ก่อนเข้าสู่วงการเพลง เคยเป็นนักมวยชื่อว่า เกรียงศักดิ์ เทพบดี เมื่อวงดนตรี พิพัฒน์ บริบูรณ์ ไปแสดงที่สุโขทัย จำนงค์ไปสมัครเป็นนักร้องอยู่กับวง ขณะนั้นมีนักร้องชื่อ น้ำผึ้ง บริบูรณ์ เป็นดาวเด่นประจำวง ซึ่งต่อมากลายเป็นคู่ชีวิตของสรวง หลังจากนั้นได้ไปอยู่วงศรีไพร ใจพระ และวงจุฬารัตน์ ของครูมงคล อมาตยกุล ที่นี่ ครูมงคลตั้งชื่อให้ใหม่ว่า สรวง สันติ มีเพลงดังที่รู้จัก คือ ‘มันบ่แน่ดอกนาย’ . สรวง สันติ ออกมาจากจุฬารัตน์ ตั้งวงชาโดว์ ชื่อวง ‘เดอะบัฟฟาโล่’ ช่วงปิดวิกเก็บเงิน ในช่วงรอคนเข้า วงจะเล่นแต่เพลงสากลสนุก ๆ เพื่อเร่งเร้าให้คนมาซื้อตั๋ว วงดนตรี สรวง สันติ & เดอะ บัฟฟาโล่ ใช้สัญลักษณ์เป็นกะโหลกเขาควายมาก่อนวงคาราบาวเสียอีก วงบัฟฟาโล่ เน้นเล่นเพลงสากล และเพลงสากลใส่เนื้อไทย โดยเฉพาะเพลง ‘น้ำมันแพง’ ซึ่งโด่งดังมาก เพลงนี้บันทึกเสียงที่ห้องบันทึกเสียงกมลสุโกศล โดยมี ราเชนทร์ เรืองเนตร เป็นคนตีกลอง (อดีตสามี ผ่องศรี วรนุช) นักดนตรีชื่อ รัก เล่นเบส และมือกีตาร์ชื่อ สายัณห์ เพลงของสรวง สันติ ในรุ่นเดียวกันกับ ‘น้ำมันแพง’ ก็มีเพลง ‘ขึ้น ๆ ลง ๆ’ ซึ่งพูดถึงราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่พากันขึ้นตามราคาน้ำมัน “ขึ้น ๆ ลง ๆ ลง ๆ ขึ้น ๆ ไม่ยั่งไม่ยืน ขึ้น ๆ ลง ๆ ....” ซึ่งสองท่อนแรก เจ้าตัวเขียนเนื้อเพลงว่า สิ่งที่ขึ้น ๆ ลง ๆ หมายถึง พระจันทร์ กับ พระอาทิตย์ แต่ท่อนที่สามนี้เด็ดนัก “....ไอ้อย่างที่สามเลวทรามร้ายกาจ มันขึ้นพรวดพราดขึ้นเเล้วไม่ลง ทำไมจึงขึ้น ขึ้นจึงไม่รู้ ได้เเต่ยืนดู เห็นขึ้นโจ้งๆ รู้หรือเปล่าว่า คืออะไร รู้หรือเปล่าว่า คืออะไร ก็สินค้าเมืองไทย ขึ้นไม่ยอมลง !” เพลงนี้นำทำนองมาจากเพลง Iron Man ในอัลบั้ม Paranoid ของ Black Sabbath วงเฮฟวีเมทัลจากอังกฤษเมื่อปี ค.ศ. 1970 เพลงดัง ๆ ของสรวง สันติ เช่นเพลง ‘ผู้ยิ่งใหญ่’ เพลงสนุก ๆ ล้อเลียนหนังคาวบอยยุคเฟื่องฟุ้ง มีหักมุมตอนท้ายเพลงแบบฮา ๆ เป็นภาษาอีสาน เพลง ‘เมาจนนึกไม่ออก’ ทำนองเพลง Lightnin' Bar Blues ฯลฯ เป็นสุดยอดของนักแปลงเพลงฝรั่งที่หาตัวจับยาก ในขณะเดียวกัน ก็โดดเด่นเรื่องการแต่งเพลง โดยแต่งเพลงดังให้นักร้องศิลปิน อาทิ ‘รักสิบล้อต้องรอสิบโมง’ ‘สวยในซอย’ วงรอยัลสไปรท์ส เพลง ‘ส่วนเกิน’ ดาวใจ ไพจิตร ‘ข้อยเว้าแม่นบ่’ แต่งให้ นันทิดา แก้วบัวสาย ขับร้อง ฯลฯ น่าสียดายที่ สรวง สันติ เสียชีวิตจากการที่รถยนต์ชนประสานงากับรถสิบล้อ ขณะเดินทางไปแจกแผ่นเสียงเมื่อ 40 ปีก่อน (สมัยก่อนใครทำเพลงต้องตระเวนนำแผ่นเสียงไปแจกหรือจ้างดีเจเปิดทั่วประเทศทางวิทยุเพื่อเชียร์ให้เพลงดัง) ชื่อของ สรวง สันติ ได้รับการยกย่องจากแฟนเพลงยุคใหม่ว่า เป็นผู้มาก่อนกาล ทั้งลีลาการแต่งเพลง ร้องเพลง และในการแสดงบนเวที เขามีเพลงชื่อ ‘เอาไปเผา’ ซึ่งมีการแสดงเมื่อถึงอารมณ์พีคถึงขีดสุด เขาเอากีตาร์มาฟาดกับกลอง ถีบกลองชุด และจุดไฟเผากีตาร์บนเวทีจริง ๆ หลายคนในวงการเรียกเขา แบบรักและเอ็นดูว่าเป็น นักร้องประสาท ! เพลงน้ำมันแพง วันนี้บทเพลงที่มีเนื้อร้องสะท้อนเศรษฐกิจสังคมไม่ค่อยมีปรากฏนัก เพราะคนนิยมฟังเพลงรักใคร่มากกว่า เพลงอมตะอย่าง ‘น้ำมันแพง’ จึงวนลูปกลับมาอีกครั้ง ด้วยสถานการณ์การสู้รบระหว่างรัสเซีย - ยูเครน ไม่มีวี่แววว่าจะจบลงเมื่อใด เรายังต้องพึ่งพาการนำเข้าน้ำมัน จึงได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นทุกวัน และลุกลามไปถึงราคาของสินค้าและบริการที่ ‘ขึ้นไม่ยอมลง’ แบบเพลง สรวง สันติ ว่าไว้ “น้ำมันขาดแคลน คุยกับแฟนก็ต้องดับไฟ ถึงตอนดับไฟ ดูอะไรมันก็มืดมิด ถูกนิดถูกหน่อยอย่าถือ มือมันชอบสะกิด ถูกน้อยถูกนิด ก็อย่าไปคิดอะไรเลย “พวกเราชาวนาชาวไร่ ห่างไกลบางกอกหนักหนา ไม่มีไฟฟ้า อย่าไปฝันถึงมันเลย เรามาจุดตะเกียง ไม่ต้องเสี่ยงทรามเชย แต่โอ้อกเอ๋ย น้ำมันไหนดันมาแพง “น้ำมันขาดแคลน คุยกับแฟนก็ต้องดับไฟ ถึงตอนดับไฟ ขวัญใจไม่ต้องระแวง ถ้าพี่ก้าวก่ายล่วงเกิน เชิญให้น้องคิดแช่ง ความรักรุนแรง น้ำมันแพงเลยดับไฟคุยกัน” ชาวไทยพบปัญหา ‘น้ำมันแพง’ หลายครั้ง นับตั้งแต่ พ.ศ. 2516 ยุครัฐบาล จอมพล ถนอม กิตติขจร มาจนถึง พ.ศ. 2565 ยุครัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา สำหรับเพลง น้ำมันแพง ของสรวง สันติ ข้อมูลจากการศึกษาของเจด็จ คชฤทธิ์ เรื่อง ‘ความยากจนในวรรณกรรมเพลงลูกทุ่ง : มุมมองและข้อสังเกตบางประการ’ อธิบายว่า เนื้อหาในเพลง ‘น้ำมันแพง’ ของสรวง สันติ ถ่ายทอดสถานการณ์วิกฤตน้ำมันแพงเมื่อ พ.ศ. 2522 ซึ่งเวลานั้นมี พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เป็นนายกรัฐมนตรี วิกฤตน้ำมันแพงในครั้งดังกล่าว ถูกมองว่าเป็นวิกฤตน้ำมันแพงครั้งที่ 2 ของไทย ดังที่ปริญญานิพนธ์เรื่องผลกระทบของวิกฤตการณ์น้ำมันต่อสังคมไทย (พ.ศ. 2516 - 2543) โดยทัศนีพร วิศาลสุวรรณกร อธิบายว่า วิกฤตน้ำมันยุคแรกในไทยเกิดขึ้นครั้งแรกระหว่าง พ.ศ. 2516 - 2517 ครั้งที่ 2 เกิดขึ้นในช่วง พ.ศ. 2522 - 2523 ครั้งที่ 3 เกิดในช่วง พ.ศ. 2533 - 2534 ข้อมูลจากการศึกษาวิจัยด้านน้ำมันพบว่า ภายหลังไทยมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเมื่อ พ.ศ. 2504 อัตราการบริโภคน้ำมันในไทยเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ควบคู่ไปกับพัฒนาการด้านเทคโนโลยี อุตสาหกรรม และเศรษฐกิจในภาพรวม เมื่อไทยมีแหล่งผลิตน้ำมันจำกัด จึงต้องนำเข้าน้ำมันดิบจากต่างประเทศในปริมาณมาก วิกฤตน้ำมันที่เกิดขึ้นในไทยเป็นครั้งแรกช่วง พ.ศ. 2516 - 2517 ส่วนหนึ่งเป็นผลพวงมาจากปัจจัยภายนอกอย่างนโยบายของโอเปก (องค์การกลุ่มประเทศผู้ส่งน้ำมันออก - OPEC) ขณะที่รัฐบาลไม่สามารถควบคุมปัจจัยภายนอก ส่วนปัจจัยด้านการบริโภคภายในประเทศก็ยังมีอัตราสูง เมื่อยังไม่สามารถบรรเทาผลกระทบจากปัจจัยภายนอก และไม่อาจบรรเทาปัญหาจากปัจจัยภายในได้ ไทยจึงเผชิญวิกฤตน้ำมันตามมาอีก 2 ครั้ง คือช่วง พ.ศ. 2522 - 2523 และช่วง พ.ศ. 2533 - 2534 ในวิกฤตน้ำมันช่วงยุคแรก เมื่อต้นทุนน้ำมันเพิ่มมากขึ้น ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคก็เพิ่มขึ้นตามไป กระทบถึงการใช้ชีวิตของประชาชนจนเกิดการชุมนุมประท้วงเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจ บริบทเหล่านี้ล้วนเป็นแรงกดดันรัฐบาล ซึ่งส่วนหนึ่งย่อมทำให้รัฐบาลขาดเสถียรภาพทางการเมือง สำหรับวิกฤตช่วง พ.ศ. 2522 ตามที่ปรากฏในเนื้อหาเพลง ‘น้ำมันแพง’ รัฐบาลในยุคสมัยของ พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ไม่สามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในการบรรเทาผลกระทบจากปัญหาน้ำมันได้ รัฐบาลถูกวิจารณ์อย่างหนักเมื่อปรับราคาน้ำมันแบบขายปลีก ไม่เพียงแค่ฝ่ายค้านโจมตีรัฐบาลอย่างรุนแรง ภาคประชาชนก็รวมตัวกันเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลในพื้นที่สาธารณะอย่างกว้างขวาง เมื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรวางกำหนดเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลในปีถัดมา พลเอก เกรียงศักดิ์เห็นว่ารัฐบาลขาดเสียงสนับสนุนจากรัฐสภาย่อมมีโอกาสพ่ายแพ้หากเกิดอภิปรายขึ้น จึงชิงประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2523 เวลานั้น พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ได้รับสนับสนุนจากรัฐสภาให้ตั้งรัฐบาลและรับตำแหน่งเป็นนายกฯ ในเวลาต่อมา เรื่อง: เคน สองแคว และทีมงาน The People ภาพ: สรวง สันติ ไฟล์จาก raphin Duangloi/Wikipedia (CC BY-SA 3.0)