Y.M.C.A. - Village People : ไม่ใช่ ‘เพลงชาติเกย์’ แต่เป็นเพลงของ ‘ทุกคน’

Y.M.C.A. - Village People : ไม่ใช่ ‘เพลงชาติเกย์’ แต่เป็นเพลงของ ‘ทุกคน’

“It’s fun to stay at the Y.M.C.A.!” ท่อนฮุคแสนคุ้นหูชวนเต้น Y.M.C.A. จาก Village People กับภาพจำที่ถูกขนานนามว่าเป็น ‘เพลงชาติเกย์’ (Gay Anthem) กับคำถามที่ว่า อักษร 4 ตัวย่อมาจากอะไร?

จะเรียกว่าเป็น 4 ตัวอักษรและทำนองเพลงที่มีคนจดจำมากที่สุดก็ว่าได้ สำหรับ ‘Y.M.C.A.’ บทเพลงดิสโก้ยอดฮิตจากศิลปินคณะ Village People จากปี 1978 ที่ไม่ว่าคนรุ่นไหน ๆ ก็น่าจะคุ้นเคยผ่านหูกันมาบ้างอย่างแน่นอน เพราะไม่เพียงแค่มันเป็นเพลงฮิตติดชาร์ตในอดีต แต่มันยังกลายเป็นเพลงสังสรรค์สุดอมตะที่เมื่อใดมันถูกเปิดในงานเลี้ยง ก็จะมีคนไม่น้อยที่พร้อมใจกันลุกขึ้นเต้นแล้วตะโกนไปพร้อมกันว่า

 

It’s fun to stay at the Y.M.C.A.!

 

แต่นอกจากจะเป็นเพลงจังหวะสนุกที่ชวนให้ใครหลายคนลุกขึ้นมาเต้นแล้ว ปฏิเสธไม่ได้ว่าอีกหนึ่งภาพจำของเพลงนี้คือการถูกขนานนามว่าเป็น ‘เพลงชาติเกย์’ (Gay Anthem) คู่เคียงมากับ I Will Survive ของ กลอเรีย เกย์เนอร์ (Gloria Gaynor) เลยทีเดียว ซึ่งสังเกตได้ไม่ยากจากเอ็มวี เครื่องแต่งกายของวง และเนื้อเพลง (อันเป็นที่ถกเถียงกันค่อนข้างบ่อยถึงความหมายแฝงของมัน)

 

 

ดังนั้น เนื่องใน ‘เดือนแห่งความหลากหลาย’ หรือ ‘Pride Month’ The People จึงอยากเอาเรื่องราวของเพลงอันเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของภาพแทนความหลากหลายมาเล่าสู่กันฟัง ว่า Y.M.C.A. ทะยานขึ้นกลายเป็นเพลงแห่ง LGBTQ และถูกขนานนามกลายเป็นเพลงชาติเกย์ได้อย่างไรกัน? 

 

 

ระหว่างที่เปล่งเสียงร้องท่อนฮุคออกมาอย่างสนุกสนาน สำหรับบางคนอาจจะมีความคิดเล็ก ๆ ผุดขึ้นมาในหัวกันบ้างว่า ‘Y.M.C.A.’ ย่อมาจากอะไร และมีความหมายว่าอะไร?  

Y.M.C.A. ย่อมาจาก ‘Young Men’s Christian Association’ หรือ ‘the Y’ ซึ่งก็คือองค์กรที่ไม่แสวงหากำไรของชาวคริสต์ที่มุ่งช่วยเหลือเหล่าวัยรุ่นที่ย้ายจากนอกเมืองสู่ในเมือง ให้มีที่พักอาศัยและความเป็นอยู่ในราคาถูก นอกจากนั้นก็ยังมีกิจกรรมต่าง ๆ เช่นกีฬาหลายชนิดและยิมเพื่อออกกำลังกาย เปรียบเสมือนเป็นชุมชนเล็ก ๆ ที่ก่อตั้งขึ้นโดยชาวคริสต์เพื่อมุ่งหวังที่จะนำเสนอหลักคำสอนพร้อมเป็นที่พึ่งให้แก่เหล่าคนที่ต้องการการสนับสนุนอีกด้วย

(หมายเหตุ : เมื่อกล่าวถึงเพลง เราจะใช้คำว่า Y.M.C.A. แต่เมื่อกล่าวถึงตัวองค์กร เราจะใช้คำว่า YMCA)

YMCA แพร่หลายกระจายไปหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก รวมถึงสหรัฐอเมริกาด้วย แต่ชนวนเริ่มต้นที่จะก่อตัวเป็นประเด็นที่เรากำลังจะพูดถึงกันต่อไปนี้อยู่ที่ สาขาแมคเบอร์เนย์ (McBurney Branch) ในนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

เดิมทีจุดประสงค์ของสถานที่ดังกล่าวก็ดำเนินไปตามแนวทางตั้งต้น แต่ในช่วงยุคทศวรรษ 1940 - 1960 สถานที่ดังกล่าวก็กลายเป็นสถานที่สำหรับเหล่าชาวรักร่วมเพศได้มาพบปะผู้คนใหม่ ๆ และทำกิจกรรมร่วมกันที่นั่น (คล้ายคลึงกับการปัดทินเดอร์สมัยนี้) จนทำให้ YMCA สาขาดังกล่าวพัฒนากลายเป็นพื้นที่สำหรับผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศอย่างชายรักชายได้มาพบปะกัน (เพราะ ณ เวลาดังกล่าว ความรักหรือรสนิยมที่แหกขนบจากวัฒนธรรมกระแสหลักอย่าง ชาย-หญิง ไม่ได้ถูกยอมรับโดยสังคมสักเท่าไรนัก)

และในปี 1978 ในยุครุ่งเรืองของดนตรีดิสโก้ ณ ขณะนั้นเอง วง Village People ก็กำลังหาเพลงอีกหนึ่งเพลงมาเติมเต็มอัลบั้ม Crusin’ ของพวกเขา ‘จาคส์ โมราลี’ (Jacques Morali) โปรดิวเซอร์ของวงก็เกิดนึกไอเดียขึ้นได้ แล้วเขาก็ใช้เวลาเพียง 20 นาทีแต่งทำนองเพลงออกมาทั้งหมด ก่อนที่จะส่งต่อให้ ‘วิกเตอร์ วิลลิส’ (Victor Willis) นำไปแต่งเนื้อเพลงต่อจนได้มาเป็นเพลง Y.M.C.A ที่เราคุ้นหูกันถึงทุกวันนี้

แต่ความคุ้นหูไม่ใช่สิ่งเดียวที่กลายเป็นชื่อเสียงของบทเพลงนี้ แต่เป็น ‘เนื้อเพลง’ ของมันด้วย ที่ทำให้คนหลายคน - รวมถึงคนในวงเอง - ออกมาถกเถียง ตั้งคำถาม และตีความไปต่าง ๆ นานาว่าพยายามจะสื่อถึงอะไร 

ปัจจัยนี้เองด้วยที่เป็นอีกหนึ่งชนวนเหตุสำคัญที่ทำให้เพลงนี้ถูกขนานนามว่าเป็นเพลงชาติเกย์ดังที่เราคุ้นเคยกันทุกวันนี้ แล้วในเนื้อเพลงกล่าวถึงอะไรบ้าง?

/ It’s fun to stay at the Y-M-C-A.
It’s fun to stay at the Y-M-C-A
They have everything that you need to enjoy
You can hang out with all the boys /

/ อยู่ที่ Y-M-C-A นี่สนุกนะ
อยู่ที่ Y-M-C-A นั้นสนุกแน่
ที่นั่นมีทุกอย่างที่จะทําให้นายสนุก
นายสามารถใช้เวลาสนุกสนานร่วมกับเพื่อนคนอื่น ๆ /

 

/ You can get yourself clean, you can have a good meal
You can do whatever you feel /

/ นายจะได้อาบน้ํา และรับประทานอาหารแสนอร่อย
นายสามารถทําทุกอย่างที่อยากทํา /

 

Y.M.C.A. ไม่ได้เขียนมาเพื่อเป็นเพลงเกย์นะครับ เพราะผมเองก็ไม่ได้เป็นเกย์ ผมเขียนมาเพื่อสื่อถึงการใช้ชีวิตอยู่ในเมืองในช่วงชีวิตของผม ไอ้ท่อนที่ว่า ‘You can hang out with all the boys’ ก็สื่อถึงตอนที่ผมเล่นบาสเกตบอลกับเพื่อน ๆ ที่ YMCA แต่ผมอยากจะทำให้เพลงนี้เข้ากับทุกคนเลยเขียนไปแบบนั้น

แต่ผมดีใจนะที่กลุ่มคนที่มีความหลากหลายได้หยิบเพลงนี้ไปใช้เป็นเพลงชาติของพวกเขา ผมไม่มีปัญหากับเรื่องนี้เลย

 

คือคำกล่าวของ วิกเตอร์ วิลลิส ในปี 2017 เกี่ยวกับเนื้อหาของเพลงที่ถูกใครหลายคนตีความไปต่าง ๆ ว่าเนื้อหาบางท่อนมีความหมายแฝงเกี่ยวกับเรื่องลามกอนาจาร หรือเป็นเพลงที่เขียนขึ้นมาเกี่ยวกับเกย์โดยเฉพาะ

แท้จริงแล้วสิ่งที่ใครหลายคนนึกก็ไม่ผิดและไม่ถูกเสียทีเดียว วิลลิสยืนยันหนักแน่นว่าเพลงนี้ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องลามกอนาจารแน่ (และหากสื่อใดมากล่าวหาผลงานของเขาเช่นนั้น เขาจะฟ้องให้!) แต่ถามว่าเกี่ยวกับเกย์ไหม คำตอบก็คงเป็น ‘ใช่และไม่

ใช่ - เพลงนี้เกี่ยวกับกลุ่มคนที่เป็นเกย์ และ ไม่ - เพลงนี้ไม่ได้เกี่ยวกับคนที่เป็นเกย์เพียงเท่านั้น แต่เพลงนี้เกี่ยวกับ ‘ทุกคน’ เพลงนี้เกี่ยวกับการที่คนหนุ่มสักคนหนึ่งจะก้าวเดินเข้าไปในเมืองที่เต็มไปด้วยคนแปลกหน้า แต่สถานที่อย่าง YMCA ก็พร้อมจะโอบกอดและดูแลเขา เป็นเพลงที่พยายามจะสื่อว่าละแวกนี้ยินดีต้อนรับทุกคนด้วยความอบอุ่น

หากเราได้ลองไปอ่านเนื้อเพลงของ Y.M.C.A. แน่นอนว่าหากคิดลึก ๆ ก็คงอดคิดไม่ได้ที่จะมีนึกถึงความหมายที่ (อาจ) แอบแฝงอยู่บ้าง แต่หากมองตรง ๆ เพลงนี้ก็เป็นเพลงที่อยากจะเล่าเรื่องราวขององค์กร YMCA กับความอบอุ่นที่พร้อมจะมอบให้แก่ชายหนุ่มทุกคนที่ต้องการที่พึ่ง ซึ่งกลั่นมาจากประสบการณ์ตรงของผู้แต่งและผู้ขับร้องอย่างวิลลิสเอง

แต่ที่เราได้เอ่ยไปก็เป็นเพียงมุมมองของวิลลิสเท่านั้น เพราะสมาชิกคนอื่น ๆ บางทีก็ให้คำตอบไปในทางที่แตกต่างกันไป บ้างก็ตระหนักดีว่าเพลงนี้มีความหมายแฝงถึงเรื่องอื่น ๆ ร่วมด้วย แต่ท้ายที่สุดแล้ว จะตีความไปทางไหนก็ขึ้นอยู่กับความคิดเห็นของแต่ละคนอยู่ดี 

แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือความสนุกสนานที่ Y.M.C.A. มอบให้กับทุกคนที่ได้ยินอย่างเท่าเทียม ไม่เกี่ยงอายุ เพศ หรือทัศนคติ แม้ว่าภาพจำของเพลงนี้อาจจะถูกใครหลายคนจำว่าเป็น ‘เพลงชาติเกย์’ แต่เพียงแค่อินโทรของมันเล่นขึ้นที่ไหน ผู้คนก็พร้อมจะเต้นไปกับมัน!

นี่แหละ เพลงของ ‘ทุกคน

 

ภาพ : Getty Images

อ้างอิง : 
Extra Chill
LGBTQ Nation
WGCU
Music Grotto
Aural Crave