50 ปี อัลบั้ม ‘Tubular Bells’ ฝีมืออัจฉริยะดนตรี ‘ไมค์ โอลด์ฟิลด์’ ที่ป่วยเป็นโรคตื่นตระหนก

50 ปี อัลบั้ม ‘Tubular Bells’ ฝีมืออัจฉริยะดนตรี ‘ไมค์ โอลด์ฟิลด์’ ที่ป่วยเป็นโรคตื่นตระหนก

เรื่องราวการถือกำเนิดของอัลบั้ม ‘Tubular Bells’ ที่เกิดจากฝีมือของ ‘ไมค์ โอลด์ฟิลด์’ อัจฉริยะดนตรีซึ่งขณะนั้นอายุเพียง 19 ปี และป่วยเป็นโรคตื่นตระหนก

  • แม่ของไมค์เริ่มมีปัญหาทางจิตตั้งแต่การสูญเสียลูกคนที่ 4 ส่วนตัวไมค์เองก็มีปัญหาโรคตื่นตระหนก (panic attacks) มาตลอดทศวรรษ 1970 และทางออกของเขาส่วนใหญ่จะเป็นยาเสพติดและแอลกอฮอล์ 
  • ไมค์ใช้เวลาขลุกอยู่กับการทำเดโมหลายเดือน เขาถือว่ามันเป็นงาน ‘คลาสสิก’ และการได้สร้างงานชิ้นนี้ช่วยให้ตัวเขาหลุดพ้นจากอาการของโรคตื่นตระหนกที่โหมใส่ตัวเขาอยู่แทบจะตลอดเวลา
  • ในวันบันทึกเสียง ไมค์บังเอิญพบว่าเครื่องดนตรี Tubular Bells กำลังถูกขนออกไปจากการบันทึกเสียงก่อนหน้า เขาเลยเอ่ยปากขอจากคนยกเครื่อง “เอ่อ…ผมขอเก็บเจ้าตัวนี้ไว้ด้วยได้ไหม?”

“Tubular Bells I คืองานที่ผมรักที่สุดเสมอมา เพราะมันไม่เหมือนกับงานชิ้นอื่นใด และได้พิสูจน์ตัวเองผ่านกาลเวลาอันยาวนาน ผมไม่อยากจะเชื่อว่านี่มันผ่านไป 50 ปีแล้วนับจากวันที่มันออกสู่สายตาชาวโลก”

‘ไมค์ โอลด์ฟิลด์’ (Mike Oldfield) กล่าวถึงผลงานอัลบั้มเปิดตัวของเขาในปี 1973 ทุกวันนี้ไมค์ในวัย 70 ปี พำนักอยู่ที่บาฮามาส และประกาศเกษียณตัวเองจากวงการดนตรีแล้ว (ซึ่งเราแอบหวังว่ามันจะไม่เป็นการถาวร) โอกาสที่เราจะได้ฟังภาคใหม่ ๆ ของ ‘Tubular Bells’ จึงจบลงไปด้วย หลังจาก ‘Tubular Bells I’ ไมค์ได้สร้างภาคต่อของ ‘Tubular Bells’ อีกหลายภาค ซึ่งแต่ละภาคล้วนแล้วแต่มีความน่าฟังในระดับหนึ่ง แต่จะหางานชุดใดยอดเยี่ยมอย่างน่ามหัศจรรย์ได้เท่างานชิ้นแรกนั้นเป็นไม่มี ความพยายามครั้งล่าสุดของไมค์คือ ‘Tubular Bells 4’ แต่เขาก็ทำไม่เสร็จ

มันเป็นงานบรรเลงที่แทบไม่มีเสียงร้อง ทั้งสองหน้าแผ่นเสียงบรรจุเพลงเพียงหน้าละ 1 แทร็ก คือ Tubular Bells part I และ part 2 ด้วยแนวดนตรีที่ยากจะบ่งชี้ลงไปว่าเป็นแนวทางไหน เพราะมันมีตั้งแต่ Irish Folk, Jazz, Ambience, Heavy Metal, Classical บางคนอาจจัดหมวดแบบกว้าง ๆ ไปเลยว่าเป็น Art Rock, Crossover หรือ Progressive Rock บทเพลงเต็มไปด้วยความซับซ้อนและใช้เครื่องดนตรีมากมายหลายชิ้น ซึ่งส่วนมากเล่นโดยตัวไมค์เองในวัยเพียง 19 ปี โดยมีนักดนตรีท่านอื่นมาเสริมเล็กน้อย

ด้วยข้อมูลแค่นี้ เราก็ได้แต่ทึ่งในอัจฉริยภาพของหนุ่มน้อย แต่ถ้าจะฉุกคิดก็อาจจะมีคำถามว่า ด้วยอายุแค่นั้นเขาไปเอาเวลาที่ไหนมาเรียนรู้การเล่นเครื่องดนตรีได้มากมาย และทำไมถึงได้สามารถประพันธ์ดนตรีที่ซับซ้อนและอิงกับแนวดนตรีอื่น ๆ ได้หลากหลายกว้างไกล ยังไม่ต้องพูดถึงเทคนิคในการบันทึกเสียงมหัศจรรย์พันลึกที่ไมค์และทีมวิศวกรเสียงที่ ‘เดอะ มานอร์’ (The Manor) ใช้ในการสร้างสรรค์ 

บทความนี้มีคำตอบบางส่วนมาให้ ซึ่งแน่นอนว่ามันไม่ใช่ว่าอยู่ดี ๆ ไมค์ โอลด์ฟิลด์ จะจุติมาจากเบื้องบนแล้วเนรมิต ‘Tubular Bells’ ออกมาได้ในพริบตา ตรงกันข้าม ถนนสู่ ‘Tubular Bells’ เป็นอะไรที่ขรุขระ คดเคี้ยว และสาหัสสากรรจ์เป็นอย่างยิ่ง

‘ไมค์ โอลด์ฟิลด์’ เด็กหนุ่มผู้เผชิญโรคตื่นตระหนก

‘ไมค์ โอลด์ฟิลด์’ เกิดที่เมืองรีดดิง แคว้นเบิร์กเชียร์ของอังกฤษ เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 1953 พ่อของเขาประกอบอาชีพแพทย์ทั่วไป แม่เป็นนางพยาบาล ชีวิตครอบครัววัยเยาว์ของไมค์ค่อนข้างจะราบเรียบและอบอุ่น ไมค์มีพี่ 2 คนคือ ‘แซลลี่’ (Sally) และ ‘เทอเรนซ์’ (Terence) แม่ของไมค์เริ่มมีปัญหาทางจิตตั้งแต่การสูญเสียลูกคนที่ 4 จนกระทั่งเธอเสียชีวิตในปี 1975 

ไมค์ได้นิสัยรักการประดิษฐ์และชอบเรื่องเครื่องยนต์กลไกมาจากพ่อ แต่สุดท้ายพ่อก็แยกทางจากครอบครัวไปเพราะทนแรงกดดันจากการที่ต้องแบกภาระทั้งหมดไม่ไหว ส่วนตัวไมค์เองก็มีปัญหาโรคตื่นตระหนก (panic attacks) มาตลอดทศวรรษ 1970 และทางออกของเขาส่วนใหญ่จะเป็นยาเสพติดและแอลกอฮอล์ 

ไมค์หัดเล่นกีตาร์ครั้งแรกตั้งแต่อายุ 10 ขวบ โดยใช้กีตาร์ของพ่อ เขาหัดเล่นเพลงของ ‘เบิร์ต แจงช์’ (Bert Jansch) และ ‘จอห์น เรนเบิร์น’ (John Renbourn) โดยแกะจากแผ่นเสียง ไม่มีใครสอน ประสบการณ์แบบนักดนตรีอาชีพของเขาเริ่มที่การตั้งวงโฟล์กดูโอร่วมกับพี่สาวแซลลี่ ในชื่อ ‘The Sallyangie’ 

  

ต่อมาเขาได้ไปออดิชันเพื่อเล่นเบสให้กับวง ‘The Whole World’ ของ ‘เควิน แอรส์’ (Kevin Ayers) อดีตสมาชิกวง ‘Soft Machine’ ทั้ง ๆ ที่เขาไม่เคยเล่นเบสมาก่อน ไมค์เล่นในสองอัลบั้มของเควิน คือ ‘Shooting At The Moon’ และ ‘Whatevershebringswesing’ ซึ่งในช่วงเวลานี้ที่ทางวงบันทึกเสียงกันที่ ‘Abbey Road’ ไมค์พบว่า ถ้าเขาไปที่สตูดิโอก่อนเวลานัด เขาจะมีโอกาสเล่นเครื่องดนตรีต่าง ๆ ที่เรียงรายอยู่ในนั้นได้ตามใจชอบ นั่นคือจุดเริ่มต้นของการเป็น multi-instrumentalist ของเขา

แม้ไมค์กับเควินจะเข้ากันได้ดี แต่ดูเหมือนความสา  มารถของหนุ่มไมค์จะเกินหน้าวงดนตรีไป ณ จุดหนึ่งเควินก็ประกาศยุบวง ไมค์ยืมเครื่องบันทึกเทปสองแทร็กยี่ห้อ Bang & Olufsen ของเควินมาบันทึกเดโมของเขาเองที่บ้าน ด้วยความเก่งกาจและซุกซนเขาแปรสภาพเครื่องบันทึกเสียงธรรมดา ๆ ของเควินให้กลายเป็น multi-track recorder ไปได้ ด้วยเครื่องมือและเครื่องดนตรีไม่กี่ชิ้น (กีตาร์, เบส, ออร์แกนฟาร์ฟิซ่า และเครื่องกระทบ) ไมค์ได้สร้างเดโมของ ‘Tubular Bells’ ขึ้นมา ซึ่งตอนนั้นเขาตั้งชื่อมันว่า ‘Opus One’ (ภายหลังไมค์จัดการต่อสายต่าง ๆ กลับเข้าที่เดิมและคืนเครื่องเล่นเทปแก่เควินไป โดยเจ้าของไม่ระแคะระคายว่าเกิดอะไรกับเครื่องเล่นเทปของเขา)

‘Opus One’

แนวคิดของ ‘Opus One’ คือดนตรีที่มีริฟฟ์ (riff) ย้ำคิดย้ำทำ (repetitive) ที่ไมค์ได้ไอเดียมาจากงานของ Terry Riley, Sibelius และ J.S. Bach Introduction และริฟฟ์ของ ‘Tubular Bells’ อันลือลั่นก็ปรากฏอยู่ในเดโมนี้แล้ว ไมค์แต่งมันอย่างเรียบง่าย เขาใช้เวลาไม่กี่นาทีในการประพันธ์บนออร์แกนฟาร์ฟิซ่า และไมค์ยอมรับว่าในชีวิตนี้เขาไม่อาจแต่งริฟฟ์อะไรที่ดีกว่านี้ได้อีก (หลังจากพยายามอยู่หลายสิบปี)

ไมค์ใช้เวลาขลุกอยู่กับการทำเดโมนี้หลายเดือน ‘Opus One’ มีความยาวประมาณ 20 นาที มีการโอเวอร์ดับ (overdub) ประมาณ 6 หรือ 7 ครั้ง ไมค์ถือว่ามันเป็นงาน ‘คลาสสิก’ สำหรับเขา และการได้สร้างงานชิ้นนี้เป็นสิ่งที่ช่วยให้ตัวเขาเองหลุดพ้นจากอาการของโรคตื่นตระหนกที่โหมใส่ตัวเขาอยู่แทบจะตลอดเวลา

(หาฟังเดโมของ ‘Opus One’ และเพลงอื่น ๆ ในเทปนี้ ได้จากแผ่น ‘Opus One’ ที่ออกใน ‘Record Store Day’ ปี 2023 หรือบางเวอร์ชันของ ‘Tubular Bells 2003’ หรือ ‘Tubular Bells’ ฉบับครบรอบ 35 ปี เมื่อปี 2009)

50 ปี อัลบั้ม ‘Tubular Bells’ ฝีมืออัจฉริยะดนตรี ‘ไมค์ โอลด์ฟิลด์’ ที่ป่วยเป็นโรคตื่นตระหนก

การสนับสนุนของ ‘ริชาร์ด แบรนสัน’ 

ความภาคภูมิใจในเดโม ‘Opus One’ ของไมค์ดูเหมือนจะเป็นของเขาคนเดียว เพราะเมื่อไมค์นำไปเปิดให้ใครฟังก็แทบไม่มีใครประทับใจและอยากจะทำอะไรกับมันต่อ จุดหักเหสำคัญอยู่ที่การที่ไมค์เข้าไปเป็นมือเบสให้กับวง ‘The Arthur Louis Band’ และวงได้ไปบันทึกเสียงกันที่ ‘The Manor Studio’ ในออกซฟอร์ดไชร์ ซึ่งเป็นสตูดิโอป้ายแดงของ ‘ริชาร์ด แบรนสัน’ (Richard Branson) นักธุรกิจหนุ่ม และดำเนินงานโดย 2 โปรดิวเซอร์อย่าง ‘ทอม นิวแมน’ (Tom Newman) และ ‘ไซมอน เฮย์เวิร์ธ’ (Simon Heyworth) 

ไมค์มีโอกาสนำเสนอ ‘Opus One’ ให้ทอมและไซมอนฟัง ทั้งสองไม่เหมือนคนอื่น ๆ ที่เคยฟังมันมาก่อน พวกเขาเห็นศักยภาพบางอย่างในบทเพลงและในตัวไมค์ ทอมและไซมอนตัดสินใจว่าจะให้โอกาสในการบันทึกเสียงในสตูดิโอแก่ไมค์ โอลด์ฟิลด์ แต่นั่นหมายความว่าริชาร์ด แบรนสัน ต้องให้สัญญาณไฟเขียวด้วย

ริชาร์ด แบรนสัน อาจไม่ใช่คนที่มีทักษะด้านดนตรีสูง แต่เขามีจมูกทางธุรกิจที่ดีและเลือกใช้คนเป็นเสมอ เวลาผ่านไปหลายเดือนหลังจากทอมและไซมอนได้ฟัง ‘Opus One’ และไมค์แทบจะหมดหวังแล้ว ริชาร์ดก็ส่งเทียบเชิญไมค์มากินข้าวเย็นที่เรือ - บ้านส่วนตัวของเขา 1 มื้อ 

คืนนั้นหลังดินเนอร์สุดหรู ริชาร์ดเอ่ยปากถามไมค์ว่า “ยูจะเอาเครื่องดนตรีอะไรบ้างล่ะในการที่จะอัดเสียงเพลงชุดนี้?” และให้เวลาไมค์ 1 สัปดาห์เต็ม ๆ ในการใช้ ‘The Manor Studio’ ไมค์เขียนลิสต์เครื่องดนตรีสารพัดให้ริชาร์ด เพราะตัวเขาเองมีแค่กีตาร์ Fender Telecaster ตัวเดียว ริชาร์ดจัดหาให้ไมค์ตามนั้นไม่ขาดพร่อง 

ที่มาชื่อ ‘Tubular Bells’

เรื่องตลกก็คือ ในลิสต์นั้นไม่มีชื่อ Tubular Bells แต่อย่างใด จนกระทั่งวันบันทึกเสียงมาถึง ไมค์บังเอิญพบว่าเครื่องดนตรีชิ้นนี้กำลังถูกขนออกไปจากการบันทึกเสียงก่อนหน้า เขาเลยเอ่ยปากขอจากคนยกเครื่อง “เอ่อ…ผมขอเก็บเจ้าตัวนี้ไว้ด้วยได้ไหม?” มันจึงเป็นเครื่องดนตรีชิ้นสุดท้ายที่เดินทางเข้าสู่ ‘Tubular Bells session’ (ที่ตอนนั้นยังไม่มีใครคิดว่าสุดท้ายมันจะกลายมาเป็นชื่อโปรเจกต์)

ไมค์กลับสู่ The Manor อีกครั้งในเดือนพฤศจิกายน 1972 คราวนี้เพื่อบันทึกเสียงบทเพลงของเขาเอง ในการเปลี่ยนเดโม ‘Opus One’ ของเขาเป็น real recording ในเวลา 7 วัน มันเป็นสัปดาห์แห่งชีวิตที่ไมค์ตั้งใจสุดความสามารถ เขาเริ่มต้นด้วยการเล่น open riff บน Steinway piano แล้วจึงเริ่มแต่งเติมเครื่องดนตรีต่าง ๆ ลงไปอย่างคล่องแคล่ว เพราะเขาคุ้นเคยกับบทเพลงนี้มาหลายเดือนแล้ว 

เสียงของออร์แกนฟาร์ฟิซ่า 2 ตัวถูกวางลงไป ตามด้วยเบส และ double speed guitar ไมค์ต้องการเสียง toy bell เหมือนใน demo แต่หาเครื่องดนตรีแบบนั้นไม่ได้ เขาจึงเลือกใช้กล็อกเกนสปีล (glockenspiel) แทน (ได้คนมาช่วยเคาะชื่อ ‘ฟิล เบ็กค์’ (Phil Becque) ที่เป็นเอนจิเนียร์คนหนึ่งใน Manor อดีตเคยเป็นมือ percussion) ต่อด้วยเสียง ฟลูตที่ได้มืออาชีพ ‘จอห์น ฟิลด์’ (John Field) มาเป่าให้ และ ‘ลินด์เซย์ คูเปอร์’ (Lindsey Cooper) เล่นดับเบิลเบส (double bass) เสริมเข้ามาอีก 

ทุกอย่างดูลงตัวและสวยงาม ในช่วงไคลแมกซ์ ไมค์ต้องการให้เสียงออร์แกนดังก้องกังวานสะท้านฟ้า ซึ่งเหล่าเอนจิเนียร์ก็จัดให้ด้วยการใช้เทคนิคเทปลูปที่พวกเขาคิดค้นขึ้น และเรียกกันว่า ‘voltage-control-amplifier-organ-chord’

ถึงตอนนี้ทีมงานทุกคนอินไปกับงานของไมค์ โดยเฉพาะทอม นิวแมน โปรดิวเซอร์ ที่ตอนแรกไม่ค่อยจะสนุกกับงานเท่าไร เพราะรสนิยมของเขาเป็นสายร็อกดิบ ๆ แบบ ‘The Rolling Stones’ แต่เมื่อร่วมงานกันมาถึงจุดนี้ ทอมฟินสุด ๆ ไปเลย 

ไมค์เล่น bass riff ยาว 5 นาทีอย่างปลดปล่อยพลังเต็มที่ในตอนท้ายของ part one มันน่าจะเป็นตอนจบของบทเพลงแล้ว แต่ไมค์เกิดไอเดียเพิ่มขึ้นมาว่า เจ้า ‘Tubular Bells’ ที่เขาออร์เดอร์มายังไม่ได้โชว์เสียงเลยนี่นา เขาจึงลากมันเข้ามา เรียกหาค้อนเต้าใหญ่ที่สุดเท่าที่จะมีใน Manor เพื่อที่เขาจะได้ฟาดมันอย่างกัมปนาท (ไมค์ทำระฆังรูปหลอดพังไปบางส่วนในกระบวนการนี้)

ไมค์ไปเชิญ ‘วิฟ สแตนแชล’ (Viv Stanshall) แห่ง ‘Bonzo Dog Doo-Dah Band’ วงที่จะมาจ่อใช้คิว Manor ต่อจากไมค์มาให้เสียงเป็น ‘master of ceremonies’ โดยวิฟจะเป็นคนประกาศชื่อเครื่องดนตรีแต่ละชิ้นก่อนที่เสียงจากเครื่องดนตรีนั้นจะบรรเลง เหมือนกับที่เขาเคยทำในเพลง ‘The Intro and The Outro’ ของ ‘Bonzo’ วิฟตอบรับกิจกรรมนี้ (ทั้ง ๆ ที่ตอนนั้นเขามีฐานะเป็นซูเปอร์สตาร์ แต่ไมค์นั้นโนเนมโดยสิ้นเชิง) และเขาทำหน้าที่ได้อย่างสุดดรามาติกและสง่างาม โดยมีลำดับของการประกาศดังนี้ 

Grand piano, reed and pipe organ, glockenspiel, bass guitar, double-speed guitar, two slightly distorted guitars, mandolin, Spanish guitar and introducing acoustic guitar และสุดท้าย Plus….. Tubular bells! 

การเลือก Tubular Bells มาเป็นชิ้นดนตรีปิดท้ายของไมค์เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องจริง ๆ ในแง่ของสุ้มเสียงและอารมณ์เพลง หลายปีผ่านมาไมค์พยายามตามหาตัว Tubular Bells ชุดนี้ แต่ก็หาไม่พบ บ้างก็ว่ามันถูกทำลายไปแล้ว

เป็นการสิ้นสุด part 1 ของ Tubular Bells และเวลา 1 สัปดาห์ของไมค์ โอลด์ฟิลด์ ที่ The Manor ก็หมดลงพอดี

ไมค์โทรศัพท์ไปลอนดอนคุยกับริชาร์ดว่าเขายังมีอะไรดี ๆ ในหัวอีกมาก และอยากอยู่ทำงานต่อที่ The Manor เพื่อให้ได้คอนเทนต์สำหรับ side 2 ของแผ่นเสียง ริชาร์ดโอเค แต่ไมค์จะไม่ได้ทำงานยาว ๆ เหมือนที่ผ่านมา ได้แค่ใช้เวลาที่สตูดิโอว่างสอดแทรกเข้ามาบันทึกเสียง ไมค์ตกลงตามนั้น และการที่ทำงานแบบมีช่วงหยุดพักกลับเป็นผลดีต่อเขาในการบันทึกเสียง part 2 นี้ เพราะไมค์มีเวลาในการขบคิดและแก้ไขมากขึ้น

การบันทึกเสียง part 2 จึงมักเกิดในยามราตรี และส่วนมาก ‘ไซมอน เฮย์เวิร์ธ’ จะรับหน้าที่เป็นวิศวกรเสียงให้ แต่ก่อนที่จะเริ่ม part  2 ไมค์วกกลับไปที่ part 1 อีกครั้ง เขาอยากจะจบมันด้วยเสียงร้องประสานของนักร้องหญิงและกีตาร์โปร่ง เสียงร้องของสองสาว - แซลลี่ โอลด์ฟิลด์ พี่สาวของไมค์ (ที่ถูกโทรฯ ตามด่วน) และ ‘มันดี้ เอลลิส’ (Mundy Ellis) แฟนสาวของทอม นิวแมน ให้อารมณ์ของ ‘angelic choir and girly chorus’ อย่างที่ไมค์ปรารถนา บทเพลงจบลงที่เสียงร้องของสาว ๆ ค่อย ๆ แผ่วจางลอยไกลออกไป เหลือแต่กีตาร์โปร่งเดียวดาย

Part 2 จะเต็มไปด้วยการด้นสด (improvise) มากกว่า part 1 ที่ไมค์วางรูปแบบไว้อย่างละเอียดลออแล้ว แต่ในพาร์ตนี้ไมค์จะจับไอเดียต่าง ๆ ที่เขามีไว้มากมายเอามาเติมลงไปเรื่อย ๆ เริ่มต้นด้วย 

- peace อันอ่อนหวานสงบสุข,
- bagpipe guitars  ที่เต็มไปด้วยแจ๊สคอร์ดและเสียงทิมปานี
- caveman section อันสุดบ้าคลั่ง ไมค์เชิญ ‘สตีฟ โบรห์ตัน’ (Steve Broughton) มาตีกลองดวลกับเบสของเขา ส่วนเสียงร้องไมค์โอเวอร์ดับเองลงไปภายหลัง ในสภาพที่ตัวคนร้องเมามาย และแหกปากไม่คิดชีวิตจนเสียงของเขาหายไปเป็นสัปดาห์ “ผมใส่ความโกรธขึ้งที่ได้พบพานทั้งหมดในชีวิตลงไปในการร้อง 5 นาทีนี้” ไมค์กล่าว มันคือ primal scream แบบไม่ต้องปรึกษาคุณหมอจาน็อพ (Dr.Janov)
- ambient guitars เวิ้งว้าง ปล่อยวาง ให้ความรู้สึกประหนึ่งนิพพาน 

และจบด้วยเพลงพื้นบ้านสนุก ๆ อย่าง ‘Sailor’s Hornpipe’ ที่ไมค์ชอบเล่นเป็นเพลงปิดการแสดงสมัยเขาอยู่กับวงของเควิน แอรส์ พอมาถึงจุดนี้ มันเหมือนจะบอกคนฟังว่า อย่าซีเรียสกับชีวิตนักเลยน่า

การมิกซ์เสียง ‘Tubular Bells’ เป็นอะไรที่ยุ่งยากพอ ๆ กับการบันทึกเสียง เพราะตอนนั้นพวกเขาใช้เทป 16 แทร็ก ที่แต่ละแทร็กเต็มเอี้ยดไปหมด และเครื่องดนตรีก็เปลี่ยนแปรไปตลอดเวลา ไมค์บอกว่า สุดท้ายแล้ว เมื่อรวม sub-mixes เข้าไปด้วย จะมีชิ้นงานดนตรีที่แตกต่างกันออกไปถึง 500 ชิ้นในแต่ละด้านแผ่นเสียง รวมทั้งอัลบั้มก็เป็นพัน

‘Tubular Bells 2003’

ในปี 2003 ไมค์ re-record Tubular Bells อีกครั้ง โดยเขาให้เหตุผลว่า มันมีจุดบกพร่องหลายอย่างที่เขาอยากแก้ไข เนื่องจากสมัย 1973 เทคโนโลยียังไม่ดีพอ ‘Tubular Bells 2003’ ออกมาสะอาดเนี้ยบ แต่ฟังแล้วไร้อารมณ์ร่วม ไม่อาจเทียบกับ original version ได้เลย บางครั้งความเพอร์เฟกต์ก็ไม่ใช่คำตอบสุดท้ายเสมอไป

เมื่อ ‘Virgin’ ได้รับมิกซ์ขั้นตอนสุดท้ายของ ‘Tubular Bells’ พวกเขาได้ลองนำมันไปเปิดให้ทีมการตลาดฟัง ซึ่งก็ได้รับเสียงยี้กลับมา พร้อมคำแนะนำให้เพิ่มเสียงกลองและเสียงร้อง นัยว่าเผื่อจะเข้าถึงตลาดได้ง่ายขึ้น ริชาร์ด และ ทอม นิวแมน พยายามนำมันกลับมารีมิกซ์ แต่พยายามกันอยู่หนึ่งวันก็เลิก เพราะไม่รู้ว่าจะเติมหรือตัดอะไรอย่างไร ส่วนไมค์เองก็ได้แต่มองตาปริบ ๆ

ตลอดเวลาที่ผ่านมา ไมค์ยังไม่เคยคิดชื่ออัลบั้มได้ ก็เลยเรียกกันว่า ‘Opus One’ กันมาตลอด ริชาร์ดเคยจะเรียกมันว่า ‘Breakfast In Bed’ โดยมีภาพปกเป็นไข่ 1 ฟองที่มีโลหิตซึมไหลออกมา แต่ทั้งหมดก็เปลี่ยนไปเมื่อไมค์ได้พบกับศิลปินนาม ‘เทรเวอร์ คีย์’ (Trevor Key) ผู้เชี่ยวชาญในการวาดภาพโลหะมันวาว และไมค์เองก็ตัดสินใจว่าจะเรียกอัลบั้มนี้ว่า ‘Tubular Bells’ เพราะเขาประทับใจการออกเสียงของวิฟในการเรียกชื่อเครื่องดนตรีนี้ ซึ่งริชาร์ดก็เซย์เยสด้วย 

ตอนแรกไมค์ต้องการให้เทรเวอร์สร้างภาพ Tubular Bells ที่ถูกทำลายเป็นเสี่ยง ๆ แต่เทรเวอร์ทำไม่ได้ เขาเลยสร้างมันเป็น bell ที่บิดงอออกมาแทน และนั่นก็กลายเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ทางดนตรีสุดคลาสสิกในเวลาต่อมา ภาพปกเสร็จสมบูรณ์เมื่อภาพระฆังท่อที่บิดงอนี้ถูกวางซ้อนทับลงบนภาพคลื่นทะเลซัดสาด และลงตัวอักษรชื่อศิลปินและอัลบั้มเป็นสีส้มตัวเล็ก ๆ 

หลังจากพยายามอยู่พักใหญ่ ริชาร์ด แบรนสัน ไม่สามารถหาตัวแทนจำหน่ายให้ ‘Tubular Bells’ ได้ และด้วยความที่ริชาร์ดคือริชาร์ด เขาก็แก้ปัญหาด้วยการเปิด ‘Virgin records’ และขายมันเองซะเลย โดย ‘Tubular Bells’ เป็นผลงานแรกของ ‘Virgin’ ในวันที่ 25 พฤษภาคม 1973

‘The Exorcist’

ความสำเร็จของ ‘Tubular Bells’ ไม่ได้เกิดขึ้นทันทีทันใด สองปัจจัยที่ช่วยกระตุ้นยอดขายคือการนำมันไปเปิดออกรายการวิทยุรวดเดียวทั้งอัลบั้มของดีเจซูเปอร์สตาร์ ‘จอห์น พีล’ (John Peel) และการที่ส่วนหนึ่งของ ‘Tubular Bells Part I’ ไปปรากฏในซาวด์แทร็กของหนังสยองขวัญคลาสสิก ‘The Exorcist’ ในเดือนธันวาคม 1973 (หลายคนคงแปลกใจที่ดนตรีที่ไม่ได้ตั้งใจจะให้เกี่ยวกับหนังแต่แรก แต่ทำไมพอมาอยู่ในหนังแล้วดูลงตัวและเข้ากันดีมาก 

ในกรณีนี้ไมค์เองเคยเล่าว่า สมัยที่แม่เขามีอาการทางจิตหนัก ๆ บ้านเขาก็เคยเชิญหมอผีมาทำพิธีไล่ผีออกจากตัวแม่อยู่เหมือนกัน แต่มันไม่ได้ผลอะไร และตัวเขาเองก็คิดว่า หรือผีปิศาจที่หมอไล่จากตัวแม่จะแวบเข้ามาสิงในตัวเขาแทน? ดังนั้น ถ้าจะคิดให้เกี่ยว Tubular Bells ก็อาจจะเกี่ยวกับ exorcism ได้) ซึ่งก็เป็นริชาร์ด แบรนสันเองที่ดีลให้เพลงนี้เข้าไปอยู่ในหนัง

ปากต่อปาก คำวิจารณ์ที่ดีเยี่ยม และการโปรโมตแบบ ‘ริชาร์ด แบรนสัน สไตล์’ อีกนิดหน่อย ทำให้ยอดขายของ ‘Tubular Bells’ ค่อย ๆ พุ่งทะยาน จนทุกวันนี้ มันขายไปได้แล้วไม่ต่ำกว่า 15 ล้านแผ่นทั่วโลก ตลอด 50 ปีที่ผ่านมา ไม่เลวเลยทีเดียวสำหรับดนตรีบรรเลงที่หาจุดขายแทบไม่ได้ในมุมมองของนักการตลาดชุดนี้

อ่านมายาวเหยียดถึงตรงนี้ ท่านคงได้คำตอบว่าอะไรบ้างที่หล่อหลอมให้ไมค์ โอลด์ฟิลด์ สร้างงานอัจฉริยะนี้ได้ในวัยเพียง 19 ปี 

จากปากคำของผู้เกี่ยวข้องในวาระครบ 50 ปี

แซลลี่ โอลด์ฟิลด์ (พี่สาว) กล่าวว่า “ฉันได้ยินเดโมของ ‘Tubular Bells’ ครั้งแรกที่บ้านของเราในฮาร์โรลด์วู้ดปี 1972 ตอนฉันกำลังเดินเล่นในสวน มันสวยงาม เหมือนเสียงระฆังจากฟากฟ้า ฉันพบว่ามันดังออกมาจากห้องของน้องชายฉันเอง ตอนแรกก็คิดว่าเป็นเพลงจากวงใหม่ที่เขาเพิ่งค้นพบ พอมารู้ว่าเขาแต่งเองและเล่นเครื่องดนตรีเองทุกชิ้น ฉันช็อกไปเลย ฉันเชื่อเสมอว่าน้องชายของฉันจะประสบความสำเร็จในโลกดนตรี แต่ไม่คิดว่ามันจะมาถึงรวดเร็วขนาดนี้”

ทอม นิวแมน (โปรดิวเซอร์) กล่าวว่า “การบันทึกเสียงกับไมค์นั้นไม่เคยมีคำว่าน่าเบื่อ ไม่มีใครคาดเดาได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในแต่ละวัน ปัจจุบันผมถือว่า ‘Tubular Bells’ เป็นหนึ่งในเสาหลักของดนตรีรุ่นใหม่ในระดับเดียวกับ ‘Pink Floyd’ แต่เหนือกว่านั้นคือมันทอดสะพานไปยังดนตรีคลาสสิก คอรัล, ป็อป และแม้แต่เมทัล มรดกแห่งดนตรีของไมค์ โอลด์ฟิลด์นั้น โยงยาวสู่อนาคตอีกแสนไกล”

ริชาร์ด แบรนสัน (เดอะ บอส) กล่าวว่า “ไมค์นั้นเป็นคนขี้อายและเก็บตัวมากเมื่อเราพบเขาครั้งแรก แต่ผมรู้เลยว่าเขาคืออัจฉริยะทางดนตรี อายุเพียง 19 ปี ทับบรรลุฝีมือบนเครื่องดนตรีได้มากมาย และเขาเผยตัวตนออกมาได้ผ่านเครื่องมือเหล่านั้น เขาคือศิลปินตัวจริง และยังเป็นคนจิตใจงดงามอีกด้วย

“มันไม่มีอะไรอื่นที่จะเสมอเหมือน ‘Tubular Bells’ ที่มีเครื่องดนตรี 27 ชิ้นผูกร้อยเข้าด้วยกัน มันเป็นความซับซ้อนอย่างสุดวิเศษ มันเป็นไปไม่ได้ที่คุณจะฟังมันแล้วไม่รู้สึกอะไรเลย มันคืออัลบั้มที่เปิดโลกให้ธุรกิจทุกอย่างของ Virgin”

ส่วนตัวของ ไมค์ โอลด์ฟิลด์ เองนั้น กล่าวว่า “ทุกคนอยากจะถามผมว่า ทำไมผมถึงสร้าง ‘Tubular Bells’? ผมก็ได้แต่ตอบว่า ผมก็ไม่รู้เหมือนกัน มันมาของมันเอง!

“ผมอยากฝากข้อความถึงนักดนตรีหนุ่มสาวฝีมือดีในทุกวันนี้ที่กำลังพยายามไขว่คว้าหาหนทางของตัวเอง จงเล่นดนตรีของคุณเองสด ๆ ไม่ว่าจะเป็นการบันทึกเสียงหรือบนเวที จงเล่นแบบสุดหัวใจเสมอ อย่าได้ประนีประนอมในเรื่องเป้าหมายทางดนตรีอันแน่วแน่ของคุณ แล้วคุณจะมีโอกาสที่ดีที่สุดที่จะประสบความสำเร็จ”

หมายเหตุ : Tubular Bells คือเครื่องดนตรีตระกูลเครื่องเคาะ ตัวระฆังทำจากทองเหลือง ลักษณะเป็นท่อเส้นผ่าศูนย์กลาง 30 - 38 มิลลิเมตร ความแตกต่างของระดับเสียงของมันขึ้นอยู่กับความยาวของตัวท่อที่แขวนเรียงกันในแนวดิ่ง มันหนักอึ้งและไม่เป็นที่นิยมใช้กันในวงการนัก เสียงของมันคล้ายระฆังโบสถ์ คุณจะได้ยินเสียงของ Tubular Bells ได้ในเพลงคลาสสิกหลายเพลงในแนว programmatic อย่าง Symphonie Fantastique ของ Berlioz หรือ 1812 Overture ของ Tchaikovsky

50 ปี อัลบั้ม ‘Tubular Bells’ ฝีมืออัจฉริยะดนตรี ‘ไมค์ โอลด์ฟิลด์’ ที่ป่วยเป็นโรคตื่นตระหนก

ภาพ : Getty Images, https://mikeoldfieldofficial.com

เรื่อง : กองทุน รวยแท้
อ้างอิง :
Changeling: The Autobiography of Mike Oldfield
PROG magazine, May 2023