15 ส.ค. 2566 | 14:54 น.
- เพชร โอสถานุเคราะห์ เจ้าของเพลงดังอย่าง ‘เพียงชายคนนี้(ไม่ใช่ผู้วิเศษ)’ เป็นศิลปินที่มาก่อนกาล และยังทำผลงานที่ไร้กาลเวลา
- มีรายงานว่า เพชร โอสถานุเคราะห์ เสียชีวิตในวันที่ 15 สิงหาคม 2566 เขาจากไปก่อนครบกำหนดที่เคยสัญญาว่า ‘จะทำอัลบั้มทุก 20 ปี’ เพียง 4 ปี
การจากไปในวัย 68 ปี ของ ‘เพชร โอสถานุเคราะห์’ คือความสูญเสียของวงการเพลงไทยร่วมสมัยอย่างยิ่ง
เพราะผลงานที่ ‘เพชร โอสถานุเคราะห์’ ได้สร้างไว้ในแวดวงดนตรีบ้านเรา คือต้นแบบความล้ำหน้าของบทเพลงที่มาก่อนกาล
อัลบั้ม ‘ธรรมดามันเป็นเรื่องธรรมดา’ สังกัด ‘แกรมมี่ เอ็นเตอร์เทนเมนต์’ เป็นผลงานในยุคแรก ๆ ที่สร้างชื่อเสียงให้ทั้ง ‘เพชร’ และ ‘แกรมมี่’ ในแง่ความก้าวล้ำทางดนตรีที่เป็นต้นแบบให้กับศิลปินรุ่นต่อมา
‘ธรรมดามันเป็นเรื่องธรรมดา’ ได้รับการจัดอันดับอยู่ 1 ใน 10 เสมอ ถ้าจะมีใครพูดถึงอัลบั้มยอดเยี่ยมตลอดกาลของวงการเพลงไทย ในฐานะผลงานเพลงที่มาก่อนกาล และสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับแวดวงดนตรีบ้านเรา
แม้คนส่วนใหญ่จะพากันชื่นชมและเอ่ยถึง ‘ธรรมดามันเป็นเรื่องธรรมดา’ จนคล้ายกับว่า นี่คืออัลบั้ม Timeless ที่ก้าวข้ามกาลเวลา ทว่า ยังมีอีกอัลบั้มอีกชุดหนึ่งซึ่ง ‘เพชร’ ได้ทำเอาไว้ในช่วงหลัง
ตัวตน และผลงานทั้งหมดของ ‘เพชร โอสถานุเคราะห์’ สามารถยืนยันการเป็น Timeless Man ในแง่ความคิดสร้างสรรค์ที่ไร้กาลเวลาอย่างแท้จริง
R.I.P. ‘เพชร โอสถานุเคราะห์’
‘เพชร’ อยู่ที่ไหนก็คือ ‘เพชร’
วัยเด็กของ ‘เพชร’ เติบโตในตระกูลธุรกิจใหญ่ คือ ‘โอสถสภา’ รวมถึง ‘มหาวิทยาลัยกรุงเทพ’ คุณพ่อเป็นนักบริหาร และศิลปินสาขาภาพถ่าย ที่ใคร ๆ ต้องรู้จักฝีมือการถ่ายรูปของ ‘สุรัตน์ โอสถานุเคราะห์’
นอกจากคุณพ่อ ‘เพชร’ ยังรายล้อมด้วยศิลปินเต็มครอบครัว ไม่ว่าจะเป็น ‘กมลา สุโกศล’ ‘สุกี้ - กมล สุโกศล แคลปป์’ ‘น้อย วงพรู หรือ กฤษดา สุโกศล แคลปป์’ ‘นาฑี โอสถานุเคราะห์ มือกีตาร์วง Getsunova’ และ ‘หวาย ปัญญริสา เธียรประสิทธิ์ ศิลปินค่าย Kamikaze’
หากแต่ ‘เพชร’ คือผู้มาก่อนในแง่การเป็นศิลปินเพลง
‘เพชร โอสถานุเคราะห์’ เกิดเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2497 เป็นบุตรของ ‘สุรัตน์ โอสถานุเคราะห์’ กับ ‘ปองทิพย์ โอสถานุเคราะห์ เธียรประสิทธิ์’ เรียนชั้นอนุบาลถึงประถมศึกษาปีที่ 3 ที่โรงเรียนสมประสงค์ จากนั้นไปเรียนต่อที่โรงเรียนพิพัฒนาจนถึง ม.4 จึงย้ายไปเรียนต่อชั้นมัธยมปลายที่ Teaneck High School รัฐนิวเจอร์ซีย์ สหรัฐอเมริกา
จากนั้นกลับมาเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพเป็นเวลา 2 ปี แล้วกลับไปเรียนต่อจนจบปริญญาตรีทางด้านบริหารธุรกิจ สาขาการตลาด ที่มหาวิทยาลัยเซาเทิร์น อิลลินอยส์ สหรัฐอเมริกา
เขาเริ่มต้นทำงานด้วยการฝึกงานที่บริษัท โอสถสภา จำกัด จากนั้นไปทำงานที่ บริษัท สปา แอดเวอร์ไทซิ่ง จำกัด ก่อนจะออกผลงานเพลงกับ ‘แกรมมี่’ แล้วไปทำนิตยสาร ‘ผู้หญิงวันนี้’ ที่ขยายเป็นรายการโทรทัศน์ในเวลาต่อมา
เข้าค่าย ‘แกรมมี่’
ผลงานที่ทำให้ ‘เพชร โอสถานุเคราะห์’ กลายเป็นอมตะทั้งที่อายุเพียง 33 คืออัลบั้ม ‘ธรรมดามันเป็นเรื่องธรรมดา’
เป็นผลงานเพลงที่แหวกแนวมากในยุคปี พ.ศ. 2530 ที่ ‘เพชร’ นำแนวเพลง ‘อิเล็กโทร-ป็อป’ หรือ ‘ซินธิไซเซอร์ มิวสิก’ ขึ้นสู่แผงเทปซึ่งคราคร่ำไปด้วยดนตรี ‘ป็อป-ร็อก’ และ ‘บับเบิลกัม’ หรือ ‘ป็อป-แดนซ์’ ในขณะนั้น
แน่นอนว่า เครดิตส่วนหนึ่งของ ‘ธรรมดามันเป็นเรื่องธรรมดา’ ต้องยกให้ ‘กฤษณ์ โชคทิพย์พัฒนา’ หนึ่งในทีมโปรดิวเซอร์ระดับพระกาฬของ ‘แกรมมี่’ ที่ช่วยกันกับ ‘เพชร’ เนรมิตอัลบั้มมหาอมตะนิรันดร์กาลชุดนี้
ความโดดเด่นของ ‘ธรรมดามันเป็นเรื่องธรรมดา’ นอกจากเสียง ‘ซินธิไซเซอร์’ ที่ดังก้องกังวานตลอดอัลบั้มแล้ว ฝีไม้ลายมือการเขียนเนื้อร้องโดยเหล่านักแต่งเพลงมือทองของ ‘แกรมมี่’ ช่วยยกระดับความคลาสสิกของผลงานชุดนี้ให้ขึ้นชั้นอย่างรวดเร็ว
ทั้งเพลงช้า และเพลงเร็ว เป็นส่วนผสมสำคัญทำอัลบั้มนี้มีความเป็น Timeless โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเรียงเพลง ที่มีความกลมกล่อม ไม่ว่าจะฟังจาก Platform ใด (เทป แผ่นเสียง CD หรือ Streaming) ก็ตาม
อย่าลืมว่า 2530 เป็น พ.ศ. ที่ดิสโก้เธคเลิกราไปแล้ว เพราะเป็นยุคของผับ ที่มักจะเล่นสด หรือเปิดแผ่นเพลงป็อป-แดนซ์ และป็อป-ร็อก
10 เพลงใน ‘ธรรมดามันเป็นเรื่องธรรมดา’ เปิดหัวด้วย ‘รักเธอแต่เธอไม่รู้’ เพลงจังหวะปานกลางเกือบเร็ว เคล้าเสียงเพอร์คัสชั่น (เครื่องเคาะ) ที่ห่อหุ้มด้วย ‘ซินธิไซเซอร์’ ฟังเพลิน ๆ
แทร็กที่สอง และไตเติลแทร็ก คือ ‘รถด่วน’ กับ ‘ธรรมดา’ ซึ่งเป็นเพลงที่ไม่ธรรมดา ทั้งความคิดสร้างสรรค์ที่นำเสียงต่าง ๆ เข้ามาผสม ทั้งเสียงพูด หรือเสียงเครื่องดนตรีแปลก ๆ รวมถึงเสียงพระสงฆ์สวดมนต์
เพลงที่ 4 เป็นเพลงอมตะเพลงหนึ่งของอัลบั้ม นั่นคือ ‘ดิ้นกันมั้ยลุง?’ อารมณ์ออกไปทางไลน์เพลง ‘สาวบางโพ’ ที่เป็นแดนซ์กึ่งแรป และปิดหน้าแรกด้วย ‘ลองรักไหม (แม่หน้ามน)’ เพลงช้าดึงอารมณ์พักเต้น มาเป็นสโลว์ซบ
เปิดหน้า B ด้วยความกะฉึกกะฉักกระฉับกระเฉงกับ ‘ตื่นเถอะ’ ดนตรี และเสียงร้องรัวกันสุดมัน จากนั้นต่อกันด้วยเพลง ‘ผู้หญิง ผู้หญิง ผู้หญิง’ เพลงอินดี้แท้ ๆ ที่มีหลายอารมณ์ทั้งเนื้อร้อง ทำนอง และดนตรี
เพลงที่ 8 เป็นเพลงช้าชื่อ ‘คนช่างฝัน’ ดนตรีล่องลอยมาก ก่อนจะกระชากอารมณ์อีกครั้งด้วยอิเล็กโทร-ป็อป เต็มไปด้วยเสียง ‘ซินธิไซเซอร์’ กับเพลง ‘มนตรา’ ที่มาพร้อม ‘ซินธิไซเซอร์’ ที่ขรึมขลังดั่งต้องมนต์สะกด
เพลงปิดท้ายอัลบั้ม เป็นเพลงป็อปที่ขึ้นชั้นคลาสสิกไปนานแล้ว นั่นคือ ‘เพียงชายคนนี้ (ไม่ใช่ผู้วิเศษ)’ ด้วยเมโลดี้ และฮาร์โมนี่ ท่วงทำนองหวานซึ้ง เนื้อร้องโรแมนติก การเรียบเรียงดนตรีที่ลงตัว ทำให้เพลงนี้กลายเป็นเพลงอมตะอย่างรวดเร็ว
“ผมจะทำอัลบั้มใหม่ทุก ๆ 20 ปี”
‘เพชร’ ให้สัมภาษณ์ไว้หลายครั้ง ต่างกรรมต่างวาระ ซึ่งในเวลาที่ผ่านมา เขาได้ทำตามคำพูดที่เสมือนสัญญาที่ให้ไว้กับแฟนเพลง
นั่นคือการปรากฏตัวของอัลบั้ม Let's Talk About Love ในปี พ.ศ. 2550 หรือ 20 ปีพอดีนับจากปี พ.ศ. 2530 กับผลงานชุด ‘ธรรมดามันเป็นเรื่องธรรมดา’
สูงสุด คืนสู่สามัญ
ต้องบอกว่า ‘เพชร โอสถานุเคราะห์’ เต็มเปี่ยมไปด้วยออร่าศิลปิน ไม่ว่าเขาจะทำอะไร ตอนไหน ทำงานบริษัท เป็นผู้บริหาร นักแต่งเพลง นักร้อง โปรดิวเซอร์ ตอนที่ยังไม่ดัง หรือตอนที่ดังแล้ว มาดศิลปิน และภาพลักษณ์ของเขาคงตัว และคงที่กับความเป็น ‘ศิลปินอินดี้’ เสมอมา
หลังจบโปรเจกต์ ‘ธรรมดามันเป็นเรื่องธรรมดา’ เพชร กลับไปทำธุรกิจครอบครัว ไปเป็นผู้บริหารมหาวิทยาลัย (อธิการบดี) ไปเป็นประธานกรรมการโอสถาสภา และบริษัทในเครือฯ รวมถึงสะสมงานศิลปะระดับโลกมากกว่า 600 ชิ้น และเขียนหนังสือวรรณกรรม (นวนิยาย-เรื่องสั้น) หลายสิบชิ้น
ในด้านธุรกิจ เขาเป็นผู้ริเริ่มเปลี่ยนแปลงแนวคิดการบริหารสถาบันอุดมศึกษา จากการเป็นตักศิลาทางวิชาการ สู่การนำกลยุทธ์ทางการตลาดมาใช้ในการรีแบรนด์ใหม่ จากความโด่งดังอยู่แล้วของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ‘เพชร’ ปรุงความล้ำสมัยใส่เข้าไป ทำให้ภาพพจน์มหาวิทยาลัยเปลี่ยนไปอย่างชัดเจน
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กับบทบาทการเป็นประธานกรรมการโอสถาสภา องค์กรอายุกว่า 100 ปี ที่เป็นธุรกิจครอบครัว ‘เพชร’ นำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ และปรับปรุงกระบวนการทำงานให้ทันสมัย ก่อนจะวางมือด้วยปัญหาสุขภาพ
มันเป็นเวลาที่ประจวบเหมาะกับคำสัญญาที่เขาให้ไว้กับแฟนเพลง คือ ‘ทุก ๆ 20 ปีจะออกผลงาน 1 ชุด’ จากผลงานเพลง ‘ธรรมดามันเป็นเรื่องธรรมดา’ ในปี พ.ศ. 2530
เขาได้ออกอัลบั้มชุดที่ 2 ‘Let's Talk About Love’ ในปี พ.ศ. 2550 เรียกได้ว่า 20 ปี พอดี ตามที่เขารับปากเอาไว้จริง ๆ
Let's Talk About Love เป็นอัลบั้มที่คล้ายคลึงกับ ‘ธรรมดามันเป็นเรื่องธรรมดา’ ที่ห่อหุ้มด้วย ‘ซินธิไซเซอร์’ (synthesizer – เครื่องสร้างเสียงสังเคราะห์) และลีลาการเขียนเนื้อร้อง ท่วงทำนอง ฮาร์โมนี่ เมโลดี้ ที่ไม่แตกต่าง
ผิดแต่ว่า ‘ธรรมดามันเป็นเรื่องธรรมดา’ เป็นอัลบั้มที่ ‘มาก่อนกาล’ ทำให้ผลงานชุดนี้ได้รับการพูดถึงอย่าง ‘ไร้กาลเวลา’
ส่วน Let's Talk About Love เป็นอัลบั้มที่ ‘มาช้าไปนิด’ ในแง่ของการขึ้นชั้นสู่ความคลาสสิกเฉกเช่น ‘ธรรมดามันเป็นเรื่องธรรมดา’ เพราะ Let's Talk About Love มาในยุคที่ไม่มีความแปลกใหม่ใด ๆ อีกแล้วที่จะเกิดขึ้นในวงการดนตรี
ทำให้ Let's Talk About Love ไม่ค่อยได้รับการพูดถึงในวงกว้าง และเชื่อว่าหลายท่านอาจเพิ่งทราบจากการอ่านบทความนี้ว่า ‘เพชร โอสถานุเคราะห์’ มีอัลบั้มที่ 2 ออกมาด้วย
แม้ในหมู่นักวิจารณ์ Let's Talk About Love จะได้รับการยกย่องว่า เป็นอัลบั้มเพลงไทยที่ยอดเยี่ยมชุดหนึ่ง ซึ่งยังคงฉายให้เห็นออร่าของศิลปินผู้ริเริ่มสร้างสรรค์ในแบบฉบับอันเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง
ในมุมมองแบบวงกว้าง Let's Talk About Love อาจไม่ใช่ปรากฏการณ์อัลบั้ม ‘ไร้กาลเวลา’ เหมือนกับ ‘ธรรมดามันเป็นเรื่องธรรมดา’ ทว่า ความลงตัวของบทเพลงทั้ง 11 มีคุณภาพไม่แพ้งานชุดแรกที่ผ่านกาลพิสูจน์ด้วยกาลเวลามาแล้ว
เสียดายแต่ว่า คำสัญญาที่ ‘เพชร โอสถานุเคราะห์’ ได้ให้ไว้กับแฟนเพลงว่า ‘ผมจะทำอัลบั้มใหม่ทุก ๆ 20 ปี’ นั่นคือในปี พ.ศ. 2570 หรืออีกไม่ถึง 4 ปีข้างหน้า ถ้าเขายังไม่เสียชีวิต เชื่อแน่ว่าเราจะได้ฟังผลงานของ ‘เพชร’ อย่างแน่นอน เพราะเขาเป็นคนรักษาสัญญาดังที่เราได้เห็นกันไป
R.I.P. ‘เพชร โอสถานุเคราะห์’
เรื่อง: จักรกฤษณ์ สิริริน
ภาพ: แฟ้มภาพจาก NATION PHOTO