28 ส.ค. 2566 | 18:44 น.
- เฉลียง ‘Rare Item’ คอนเสิร์ตของวงเฉลียงที่สมาชิกวัยเก๋าทั้ง 6 คนกลับมารวมตัวกันอีกครั้งในรอบ 7 ปี
- การแสดงของ ‘เฉลียง’ ยังคงเอกลักษณ์ที่ผสมผสานระหว่างเรื่องเล่า บทสนทนา เข้ากับโชว์ดนตรีได้อย่างลงตัว และที่สำคัญมีไฮไลต์เรียกเสียงฮือฮาด้วยลูกเล่นแซวการเมือง
“นี่คือคอนเสิร์ตครั้งแรกของหนู มีแต่คนถามว่า จะดูคอนเสิร์ตทั้งที ทำไมไม่ไปดูศิลปินที่วัยรุ่นกว่านี้...”
เสียงของเด็กสาววัย Gen Z แว่วเข้ามาถึงหูโดยบังเอิญ เจ้าของเสียงกำลังพูดคุยอย่างสบายอารมณ์กับเพื่อนร่วมทางของเธอ ซึ่งน่าจะเป็นคุณแม่หรือญาติผู้ใหญ่ นับว่าไม่บ่อยครั้งนักที่เราจะเห็นผู้คนต่างวัยมาดูคอนเสิร์ตเดียวกันแบบนี้
เวลานั้น คอนเสิร์ตเลิกแล้ว ผู้คนกำลังทยอยออกจาก รอยัล พารากอน ฮอลล์ เพื่อเดินทางกลับบ้าน ใบหน้าทุกคนเปี่ยมสุข หลังปล่อยให้พลังของบทเพลง เสียงดนตรี และเรื่องเล่าจากวงสนทนา ขับกล่อมให้เพลิดเพลินอยู่นานกว่า 220 นาที
‘Rare Item’ บ่งบอกถึงคุณค่า ความพิเศษ ความหายาก หรือไม่มีบ่อย ซึ่งถูกนำมาใช้เป็นชื่อคอนเสิร์ตของ ‘เฉลียง’ วงดนตรียุค 80s ของไทย ที่กลับมารวมตัวแบบเฉพาะกิจอีกครั้ง โดยกำหนดแสดง 2 รอบ เวลา 19.00 น. ของวันเสาร์ที่ 26 สิงหาคม 2566, เวลา 13.00 น. ของวันอาทิตย์ที่ 27 สิงหาคม 2566 และมีรอบพิเศษสำหรับสื่อมวลชนก่อนหน้ารอบปกติ 1 วัน
การแสดงเต็มรูปแบบของวงเฉลียง ที่มีสมาชิกครบสมบูรณ์ทั้ง 6 คน ห่างหายมานาน 7 ปี นับจากครั้งก่อนที่ทางผู้จัด ‘ครีเอท อินเทลลิเจ้นซ์’ (Create Intelligence - CI) ใช้ชื่องานว่า ‘ปรากฏการณ์เฉลียง’ กำหนดแสดงในวันที่ 17-18 กันยายน 2559 ซึ่งปรากฏว่าได้รับเสียงตอบรับจากแฟนเพลงอย่างล้นหลาม แรงไม่แพ้ศิลปินเกาหลี จนบัตรกว่าหมื่นใบหมดเกลี้ยงอย่างรวดเร็ว หลังจากเปิดจำหน่ายเพียงไม่กี่วัน
สำหรับ Rare Item นำเสนออีกครั้งโดยผู้จัดรายเดียวกัน แม้กระแสในช่วงเริ่มต้นอาจจะไม่ร้อนแรงนัก แต่บัตรทุกที่นั่งก็ Sold Out ในเวลาต่อมา ก่อนที่จะถึงวันแสดงคอนเสิร์ต จึงพอจะอนุมานได้ว่า อย่างน้อย ๆ เฉลียง ยังมีมนต์เสน่ห์ที่พอจะเรียกความสนใจจากแฟนเพลงได้อย่างไม่เสื่อมคลาย
อย่างไรก็ดี แม้แฟนเพลงจะถวิลหาอดีต (Nostalgia) ด้วยความรักอย่างไม่มีเงื่อนไข แต่ด้วยวัยที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของสมาชิกเฉลียงแต่ละคน ผนวกกับการห่างหายจากเวทีมานาน ล้วนเป็นเงื่อนไขให้การแสดงสดเบื้องหน้าผู้คนกว่า 5 พันชีวิตในแต่ละรอบ คือความท้าทายล้วน ๆ เรียกได้ว่าลุ้นระทึกตื่นเต้นทั้งคนเล่นและคนดู
The Show Must Go On เมื่อทุกอย่างถูกกำหนดไว้แล้ว ตัวแสดงก็ต้องเล่นไปตามบทอย่างไม่อาจบิดพลิ้ว แม้สมาชิกของวงบางคนจะต้องแลกกับพลังที่สูญหาย ด้วยการปักเข็มฉีดยาที่แขนและที่ก้น แต่ถึงกระนั้นก็อย่าเป็นกังวล เพราะสมาชิกทุกคนยังฟิตเพียงพอ ไม่ถึงขั้นต้องมีรถพยาบาล Ambulance มาสแตนบาย เหมือนคอนเสิร์ตของผู้อาวุโสงานอื่น ๆ
เริ่มเพลงแรก ‘รู้สึกสบายดี’ เจี๊ยบ - วัชระ ปานเอี่ยม เปิดประตูขาวกลางเวทีออกมา ด้วยเสียงร้องและท่าเดินกึ่งเต้นที่ซักซ้อมมาอย่างแม่นยำ เรื่องของพลังเสียง หายห่วง เรียกความประทับใจแต่แรกเห็น ร่วมด้วยการปรากฏตัวของ แต๋ง - ภูษิต ไล้ทอง กับแซ็กโซโฟนคู่กายที่เนียนนุ่มชวนฟังยิ่งนัก
ด้วยการออกแบบเวทีที่ให้ความรู้สึกแปลกตาและมีความยืดหยุ่น มีการจัดแบ่งสัดส่วนวงดนตรี Pop Orchestra เกือบ 40 ชีวิตให้อยู่กันครบหน้าบนเวที โดยให้ Rhythm Section อยู่ในระดับที่สอง ขยับสูงขึ้นไปในระดับที่สามและสี่ จะเป็นตำแหน่งของกลุ่มเครื่องเป่าที่อยู่ด้านซ้าย และกลุ่มเครื่องสายที่อยู่ด้านขวาของเวที พร้อมจอขนาดใหญ่ขนาบทั้งสองข้าง กลุ่มคนดูที่รู้สึกฟินมาก ๆ น่าจะเป็นกลุ่มที่นั่งตั้งแต่กลางฟลอร์ไปจนถึงด้านหลังของฮอลล์ เพราะสามารถมองเห็นครบทุกความเคลื่อนไหวบนเวที
จากเพลงแรก ตามด้วยเพลงที่สอง ‘เธอกับฉับกับคนอื่นๆ’ เป็นจังหวะสนุกสนาน แบบ up tempo นัยว่าเพื่อเรียกความตื่นตัวให้แก่ผู้ชม ก่อนจะผ่อนลงด้วยเพลงช้า ๆ ซึ้ง ๆ อย่าง ‘เข้าใจ’ มีการปรับไฟบนเวทีให้มืดลง ภาคดนตรีเหลือเพียงเสียงบรรเลงจากเปียโนและเทเนอร์แซ็ก โดยมี เกี๊ยง - เกียรติศักดิ์ เวทีวุฒาจารย์ เป็นผู้ถ่ายทอดเสียงร้อง
“มือไม้เย็น ตื่นเต้นมาก มีใครช่วยให้มืออุ่นบ้างมั้ย” แค่เสียงร้องหวานซึ้งไม่พอ หลังจบเพลง เกี๊ยง ยังหยอดลูกอ้อนกับแฟน ๆ ซึ่งตามมาด้วยเสียงกรี๊ดของสาวใหญ่ทั่วทั้งฮอลล์
ดี้ (นิติพงษ์ ห่อนาค) แต๋ง และ เกี๊ยง พูดคุยกันสั้น ๆ ถึงเพลง ‘เข้าใจ’ พยายามสื่อว่า มีเนื้อหาอัปมงคล แล้วปล่อยมุกว่า แต๋ง ดันเป็นคนสั่งให้เกี๊ยง ช่วยร้องเพลงนี้ในงานแต่งของลูกชาย ถือว่าเป็นการ ‘ร้องผิดงาน’ ทั้งที่ไม่ได้อยู่ในลิสต์เพลงของคู่บ่าวสาวเลยสักนิด จากเพลงซึ้ง ๆ เศร้า ๆ ของ ‘เข้าใจ’ แปรผลลัพธ์เป็นมหัศจรรย์มุขฮาในบัดดล นี่แหละคือวิถีแห่งเฉลียงโดยแท้
‘ร้องผิดงาน’ ยังดีกว่าคนที่ ‘ร้องผิดทุกงาน’ และหากโลกวันนี้ จะมี ‘work from home’ สมาชิกคนนี้ ก็น่าจะ ‘ซ้อม from home’ เสียมากกว่า ทั้งหมดนี้เป็นเนื้อหาเพื่อนำเข้าสู่คิวของ จุ้ย - ศุ บุญเลี้ยง ซึ่งเปิดตัวครั้งแรกบนเวที กับเพลง ‘แค่มี’ ที่ทุกคนร้องตามกันได้ทั่วฮอลล์
คิวของสมาชิกคนต่อไป คือ ดี้ - นิติพงษ์ ห่อนาค มาพร้อมกับเพลงประจำตัว ‘นายไข่เจียว’ บนเวทีเผยให้เห็นโมชั่นกราฟิกสีสันละลานตา ตอนจบเพลง จุ้ย ไม่วายแซะเพื่อนว่า ทำ(ไข่เจียว)เป็นอย่างเดียวไม่น่าจะเพียงพอ เพราะยุคสมัยเปลี่ยน คนเราควรทำได้หลาย ๆ อย่าง ก่อนจะถึงคิวปล่อยสมาชิกคนสุดท้าย นก - ฉัตรชัย ดุริยประณีต ขึ้นเวที ด้วยเพลง ‘ง่าย ๆ’ ที่เรียบง่ายและสอดรับกับบุคลิกภาพของเขา
ภาพสมาชิกทั้ง 6 ของเฉลียงพร้อมหน้ากันบนเวทีทำเอาหลายคนน้ำตาซึม พวกเขาถ่ายทอดเพลงฮิตที่ทุกคนคุ้นเคยตั้งแต่อดีต อย่าง ‘เร่ขายฝัน’ และ ‘เอกเขนก’ ต่อด้วยการพูดคุยกันยาว ถามไถ่ว่าตอนนี้แต่ละคนกำลังทำอะไรอยู่
เมื่อจุ้ย เอ่ยถามเกี๊ยง และได้คำตอบว่า “เป็นสถาปนิก” จุ้ย เลยย้ำว่า เมื่อ 7 ปีที่แล้วก็ตอบว่าเป็นสถาปนิก “ทำไมเกี๊ยงไม่ก้าวหน้าเลย” ขณะที่ตอนนี้ตัวจุ้ยก้าวมาเป็น ‘กระบวนกร’ แล้ว เกี๊ยง ตอบนิ่ม ๆ แต่เชือดเฉือนว่า “อย่างน้อยเงินในบัญชีมันก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ” เรียกเสียงฮาได้ตรึม
จุ้ย ชักชวนวงเฉลียงคุยเรื่องเที่ยว เพื่อนำเข้าเพลง ‘เที่ยวละไม’ ที่ทำเอาทุกคนอยากจะ ‘เอาตูดแช่น้ำแล้วเดินต่อไป’ จริง ๆ ในห้วงเวลานั้น
เมื่อจบเพลง ทุกคนหายเข้าหลังเวที มีการปล่อย VTR สั้น ๆ เบื้องหลังคอนเสิร์ต ตามด้วยคิวเดี่ยวของสมาชิกแต่ละคน เริ่มจาก นก ในเพลง ‘ไม่คิดถาม’ , จุ้ย ในเพลง ‘ต้นชบา’ ก่อนชวนคุยถึงเบื้องหลังเพลง ‘เติมใจให้กัน’ ที่เจ้าตัวเคยแต่งเป็นเพลงประกอบหนัง กระทั่งกลายมาเป็นเพลงฮิต
คิวเดี่ยวของ เกี๊ยง เป็นเพลง ‘ยังมี’ ที่มี น้องแก้ม ลูกสาวที่เติบโตเป็นวัยรุ่นแล้ว มาร่วมร้อง ตามด้วยเพลงของเกี๊ยง อีกเพลง คือ ‘จากกระดาษวาดไว้’ เมื่อถึงคิวของ ดี้ เขามาในเพลง ‘ไม่รักแต่คิดถึง’ ถ่ายทอดด้วยเสียงร้องที่เป็นเอกลักษณ์ แต่ที่เฉี่ยวกว่านั้น คือลีลาที่ดูเฟี้ยวฟ้าวสไตล์โอปปา ส่วนคิวเดี่ยวของ เจี๊ยบ คือเพลงสำเนียงบลูส์ ‘ใจเย็นน้องชาย’ ที่ให้ความเก๋าและความเข้มข้นไม่แพ้กัน
แต๋ง เรียกเสียงฮา ด้วยการร้องสแกท (Scat) เพลง ‘กุ๊กไก่’ โดยมี เจี๊ยบ และ ดี้ มาเสริมทัพ ทั้งร้องทั้งเต้นทั้งสแกท ซึ่งน่าจะใช้พลังมากโขจนหวั่นศิลปินจะเป็นลม จบเพลง มีการแนะนำทายาทลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น 2 คนของ แต๋ง คือ น้องต้นไม้ เล่นแซ็ก และน้องต้นน้ำ เล่นกลอง ในงานนี้
เจี๊ยบ ดี้ แต๋ง พาบทสนทนาเข้าสู่เพลง ‘ถ้าโลกนี้มีเราเพียงสองคน’ ตามด้วยการรวมสมาชิกคนอื่น ๆ กับเพลง ‘เธอหมุนรอบฉันฯ’ ที่มีท่อนที่ จุ้ย ทดลองร้องแรป สื่อถึงพลวัตของเพลง ต่อด้วย ‘กล้วยไข่’ สนุกสนานกันแบบเฉลียง
และที่เป็นไฮไลต์ของทุกคอนเสิร์ต คือ ‘นิทานหิ่งห้อย’ ซึ่ง จุ้ย ทำหน้าที่ร้องนำ โดยมี เจี๊ยบ เป็นคนเล่านิทาน สมาชิกรวมตัวกันพร้อมหน้า
‘นิทานหิ้งห้อย’ ฉบับปี 2566 ของเฉลียง หนีไม่พ้นลีลาเสียดสีแวดวงการเมืองไทย โดยผูกเอานิทานหนูน้อยหมวกแดง และสโนวไวท์กับคนแคระทั้งเจ็ดมารวมเข้าไว้ด้วยกัน นี่คือความมั่วที่มีสไตล์ในวิถีแบบฉลียงจริง ๆ ด้วยความยาวกว่า 15 นาที มีการล้อเลียนมุขไหว้/รับไหว้ของสองนายกรัฐมนตรี การออกท่าทางชี้นกชมไม้, การเสียดสี สโนวไวท์ กับ ชื่อย่อ ส.ว. และที่หยิบมาแทรกได้อย่างทันควัน คือ เจ้าชายฉีกหน้ากากเป็นหมาป่า แล้วกินรวบตอนจบ พร้อมขยายความขนาดตัวของหมาป่า ว่า ‘ใหญ่มาก’ เพราะมีหัวอยู่โรงพยาบาลตำรวจ แต่หางยาวไปจนถึงราชทัณฑ์
“นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า อย่าไว้ใจทาง อย่าวางใจราชทัณฑ์” เจี๊ยบ ปิดท้าย
ช่วงท้ายของคอนเสิร์ต ยังมีเพลง ‘เรื่องราวบนแผ่นไม้’ ที่ชวนให้ซึ้งใจไปกับความหมายของเพลง ตามด้วย เพลงใหม่ของ จิก - ประภาส ชลศรานนท์ ‘ยังคงเอกเขนก’ ที่เรียบเรียงดนตรีดนตรี โดย โดม ทิวทอง music director ของงานนี้ ด้วยการวาดลวดลายเพลงได้อย่างมีสีสัน มีช่วงแทรกเติมกลิ่นอายวัฒนธรรมท้องถิ่นได้อย่างเหมาะเจาะลงตัว
ด้วยพื้นฐานของการเป็นวงดนตรีที่ก่อกำเนิดในรั้วมหาวิทยาลัย สมาชิกหลายคนเป็นนิสิตคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เนื้อหาการพูดคุยบางส่วนจึงเป็นการดึงลักษณะเฉพาะทางวิชาชีพมาใช้ มาพูดคุยให้สนุกสนาน เช่น เปรียบเปรย จิก - ประภาส เป็นเสมือนเสาเข็ม หรือรากฐานแรกของวงเฉลียง คนอื่น ๆ เป็น ตอม่อ หรือ footing เป็นคานคอดิน บางคนเป็นเสา และจันทัน เป็นต้น
คอนเสิร์ตต่อเนื่องด้วยเพลง ‘อื่น ๆ อีกมากมาย’ ที่มีการปรับเนื้อหาคำร้องใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับเรื่องราวของสมาชิกวงแต่ละคน ซึ่งสามารถเรียกเสียงหัวเราะได้ในทุก ๆ สมาชิก เช่น เกี๊ยง ร้องถึงลูกสาวกับการรับงานเขียนแบบบ้าน, นก ร้องบ่นเมื่อยเพราะยืนนานและหูซ้ายได้ยินเบา ๆ แต่อย่างอื่นยังแข็งแรง (ฮา), แต๋ง คิดจะขายแซ็กเอาเงินไปซื้อยา และที่หัวเราะกันลั่นโรง คือ ดี้ ร้องว่า จะทุ่มเงินสดสร้างสนามบิน เพื่อรองรับทัวร์ที่มาลง
เฉลียง Rare Item ปิดท้ายคอนเสิร์ตด้วยเพลงความหมายดี ๆ ‘ฝากเอาไว้’ พร้อมกับการยิงเปเปอร์ชู้ตแบบจัดเต็ม จัดเป็น Finale ที่สร้างความประทับใจและความทรงจำดี ๆ ไว้ให้แก่มิตรรักแฟนเพลงได้อย่างไม่รู้ลืม
เรื่อง: อนันต์ ลือประดิษฐ์
ภาพ: CI