30 ส.ค. 2566 | 18:05 น.
- คอนเสิร์ตใหญ่ในรอบ 20 ปีของ SLUR และน่าจะเป็นงานเดียวในประวัติศาสตร์วงอินดี้
- บรรยากาศที่คลุ้งไปด้วยความสนุก ความมันส์ และจำลองภาพจำเก่า ๆ ของเด็กยุค 2000s
- ไฮไลต์ที่มากกว่าเพลง ดนตรี ก็คือ การออกแบบไฟ และภาพ ที่อลังการ
ผ่านไปแล้วกับคอนเสิร์ตใหญ่ของ SLUR วงอินดี้ของเด็กยุค 2000s เมื่อวันที่ 26 กันยายนที่ผ่านมา ที่แฟน ๆ พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “โคตรมัน” “โคตรคุ้ม” และ “คนเยอะมาก”
จากวงที่ประเมินตัวเองต่ำเป็น ‘underdog’ ที่มีคนรักมารวมตัวกันทั้งหมดกว่า 4,000 คนใน Union Hall ไม่ต้องพูดเลยว่า ความคิดนั้นของ SLUR ผิดมหันต์!
แฟนคลับจากทั่วประเทศ ทั้งในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และต่างจังหวัดที่เดินทางมาหาพวกเขา เต็มไปช่วงวัยที่หลากหลายเจน เมื่อเสียงประตูดังขึ้น เราเห็นสีหน้า ท่าทางของคนที่มาดูคอนเสิร์ต ทั้งตื่นเต้น และดีใจ ไม่ต่างอะไรกับที่เราเห็นจากวง SLUR จากหลังเวที
“คนโคตรเยอะเลย ไม่น่าเชื่อ ดีใจแทน SLUR” นี่คือประโยคที่เราได้ยินจากคนในงานชายหญิงคู่หนึ่ง ซึ่งเราเองก็รู้สึกไม่ต่างกัน เพราะจำนวนคนวันนั้นมันเกือบจะล้นออกมาจริง ๆ
พูดน้อยต่อยหนัก
กลิ่นอายคอนเสิร์ตของเด็กยุค 80s-90s เริ่มต้นขึ้นเวลาประมาณ 1 ทุ่มนิด ๆ แสงไฟเริ่มมืดสนิท จากเสียงพูดคุยกันดังเต็มฮอลล์ ก็เงียบลงโดยมิได้นัดหมาย และเสียงเพลงแรกที่ดังขึ้นมาก็คือ “คำเหล่านั้นที่ทำให้ฉันสุขใจ” ซาวด์เรโทรที่เคยดังมาก ๆ ในปี 2015 รู้ได้ทันทีว่าเป็นเพลงของ SLUR กับแสงไฟ follow spot light ที่ส่องสมาชิกทั้ง 4 คน เรียกเสียงกรี๊ดจากแฟนคลับกว่า 4,000 คนในวันนั้นได้มากทีเดียว
และงานพรอมนี้ของ SLUR ยังคง keep character ความเป็น SLUR ได้ดีมาก เพราะเล่นเพลงต่อไป ก็คือ “Hipster” เป็นเพลงที่ 2 โดยที่ยังไม่มีการพูดใด ๆ บนเวที จนลากไปถึงเพลงที่ 4 ก็คือเพลง “ไม่ใส่ใจ” ถึงมีการพูดคุยต้อนรับคนในงานคอนเสิร์ตอย่างเป็นทางการ ซึ่งแน่นอนว่าเป็น บู้ ที่เป็นคนพูด พร้อมกับแนะนำ ‘เอิง และ แมว’ ศิลปินจากค่าย Smallroom ที่มาช่วยเล่นให้กับ SLUR วันนั้น
และตามสไตล์ของวงดนตรีอินดี้อย่าง SLUR ที่ไม่วายจะโซโลอีก 7 เพลงติดต่อกันโดยไม่มีคำเอ่ยใด ๆ ออกมาอีก แต่ลูกเล่นบนเวทีที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลยก็คือ การออกแบบไฟ (Lighting Design) และการออกแบบภาพ (Visual Design) ที่สมกับการรอคอยคอนเสิร์ตนี้จาก SLUR นานถึง 20 ปี
จังหวะไฟและภาพที่เราเห็นมันคือ ท้วงทำนองที่เต้นระบำไปพร้อม ๆ กับเสียงดนตรีของแต่ละเพลง ความรู้สึกเหมือนผ่านไปไม่นาน แต่รู้ตัวอีกทีก็ปาเข้าไปช่วงที่ 2 เพลงที่ 12 แล้ว
SLUR ยังคงใช้เวทีเพื่อสื่อสารกับคนดูในหลากหลายอารมณ์ผ่านเสียงเพลง ทั้งช้า ทั้งเร็ว และมันส์แบบฉุดไม่อยู่ อีกทั้งยังงัดของเล่นออกมาโชว์ผ่าน Visual ในเพลง “อุคริ จุ๊บุ๊ หุหุ” ที่เอาใจแฟนคลับยุค 2000s ชัดเจน ด้วยฉากหลัง และรูปมือถือที่เคยฮิตมาก ๆ ในยุคหนึ่ง กับข้อความแชทที่ขึ้นมาตามจังหวะเพลง ดำเนินไปจนจบเพลงที่ 16 เสียงดนตรีและแสงไฟก็ดับลงอีกครั้ง
ก่อนจะเริ่มเพลงที่ 17 “โลกสอง” อีกหนึ่งเพลงที่ฮิตมาก ๆ ของ SLUR เพราะความหมายเพลงกับชื่อเพลงขัดกันอย่างสิ้นเชิงแบบขั้วลบ-บวก (ฮ่า ๆ) ซึ่งเพลงนี้เริ่มต้นขึ้น หลังจากที่ บู้ ได้พูดขอบคุณฝ่ายที่ดูแลทั้ง Visual และ Lighting จากนั้นงานพรอมแห่งนี้ก็ดำเนินต่อไปจนถึงเพลงที่ 28
ฟังไม่ผิด! นี่คืองานคอนเสิร์ตที่ศิลปินร้องเพลงเยอะมาก เรียกว่าแทบไม่ได้หยุดหายใจกันเลยทั้งศิลปิน และแฟนคลับ จากนั้น SLUR เบรกอารมณ์คนดูด้วยการเชิญแขกพิเศษ ซึ่งก็คือสมาชิกเก่าของวง ทั้งเป้ และ แบงค์
“ผมไม่ได้ขึ้นเวทีมานานมากนะ เวทีนี้เป็นเวทีแรก” ประโยคจากแบงค์ สมาชิกเก่าที่หาตัวยากมาก ไลน์ประสานจากมือทรัมเป็ต ซึ่งเขาเป็นคนที่มีส่วนสำคัญในการล้างภาพวงร็อกที่มีทรัมเป็ตเป็นองค์ประกอบ ซึ่งภาพตรงนั้นคือ หนึ่งในความประทับใจของแฟนคลับที่ติดตาม SLUR มานาน การรวมตัวกันของทั้งวง เกินฝันแฟนเพลงไปมาก ๆ และคิดว่าคงไม่มีอีกแล้วภาพแบบนี้
ซึ่งตลอดหลายเพลงที่ เป้ และ แบงค์ ได้ร่วมแจมกับวงทำเอาแฟน ๆ หลายคนถึงกับโยกหัวตามจังหวะแทบไม่ทัน เพราะเป็นช่วงที่เราเห็นความร็อกจาก SLUR แบบ 100% ไม่มีผสมความป็อป หรือ เรโทรแม้แต่น้อย
อีกหนึ่งซีนซึ้ง ๆ ที่เรียกเสียงกรี๊ดจากทั้งฮอลล์คงเป็นช่วงที่ เป้ – แบงค์ พูดขอบคุณ แล้วมีประโยคเด็ดที่เป้ ทิ้งท้ายไว้ว่า “อดีตเป็นของผม อนาคตเป็นของเขา” พร้อมผายมือไปที่ ‘เฮ้าส์’ มือกีตาร์คนปัจุบัน และนั่นเป็นความสวยงามที่คอนเสิร์ตนี้มอบให้กับเราในค่ำคืนนั้น
งานเลี้ยงมีวันเลิกรา
หนึ่งในจุดเด่นที่เราเห็นจากคอนเสิร์ต SLUR ชัดมากก็คือ การอัดแน่นไปด้วยเพลงที่ต่างความหมาย ต่างอารมณ์ เป็นการร้อยเรียงลำดับเพลงจาก บู้ ที่น่าประทับใจ ซึ่ง chapter ที่ 4 เห็นได้ชัดว่า SLUR จะเริ่มหยิบเพลงที่คุ้นหูติดกันหลายเพลงเพื่อทิ้งท้ายคอนเสิร์ตก่อนเลิกรา ทั้ง เซโรงัง, ว่าแล้ว, ขอบคุณ
แต่มีอีกหนึ่งไฮไลต์ในงาน ซึ่งถ้าเราไม่หยิบมาเล่าคงต้องเสียใจมากแน่ ๆ เพราะเป็นช่วงที่แฟนคลับทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “ขนลุกมาก” ก็คือช่วงที่ร้องเพลง “หรือ” ทุกคนพร้อมใจกันเปิดแฟลชสร้างตำนานทะเลไฟ โยกซ้ายขวาพร้อมกันตามจังหวะเพลงแบบช้า ๆ และร้องเพลงนี้พร้อมกันดังสนั่นไปทั้งฮอลล์
และคอนเสิร์ตก่อนเลิกราที่ดำเนินไปจนถึงเพลงสุดท้ายเพลงที่ 42 “ภาพเก่า” ซาวด์เพลงที่ให้ความรู้สึกสุขุมขึ้น เหมือนชีวิตผ่านเรื่องราวและความเจ็บปวดมานาน จนถึงวันที่เข้าใจโลก ผู้เขียนมองผ่านการเลือกเพลงของ SLUR และตีความหมายจากความรู้สึกของตัวเองหลังที่ลงไปสัมผัส คิดว่าการที่ SLUR เลือกเพลงนี้ทิ้งท้าย คงเปรียบเสมือนงานคอนเสิร์ตครั้งนี้คือชีวิตของ ‘เด็กชาย SLUR’ ที่สนุกสนาน ตื่นเต้น ใสซื่อ จากแนวเพลงแรก ๆ ที่เริ่มโชว์
แต่งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา เมื่อเราผ่านความสนุก ความเศร้าเหล่านั้น ก็ถึงวันที่ต้องจากลา ตลอด 3 ชั่วโมงครึ่งแห่งความทรงจำนี้ เป็นการเติบโตของ SLUR ในวัยผู้ใหญ่ที่พร้อมไปต่อ และเพลง “ด้วยกัน” กลายเป็นมวลอารมณ์ของความสุข ความสนุก ความเศร้าทั้งหมดที่เกิดขึ้นในค่ำคืนนั้นที่ SLUR และแฟน ๆ จะเก็บไว้ในความทรงจำร่วมกันตลอดไป
ภาพ: SLUR, The People