โรเจอร์ วอเทอร์ส : รอยร้าวใน Pink Floyd กับจุดยืนเคียงข้างปาเลสไตน์

โรเจอร์ วอเทอร์ส : รอยร้าวใน Pink Floyd กับจุดยืนเคียงข้างปาเลสไตน์

‘โรเจอร์ วอเทอร์ส’ (Roger Waters) อดีตแกนนำมันสมองแห่ง Pink Floyd กับรอยร้าวภายในวงที่มาถึงปัจจุบันนี้ก็ยังคงไม่สมาน, จุดยืนเคียงข้างปาเลสไตน์ในสงครามระหว่างอิสราเอล จนถูกตราหน้าว่า ‘เกลียดยิว’ (Anti-Semitism), กับวันที่เอา The Dark Side of the Moon มาอัดใหม่ (คนเดียว)

สามเหลี่ยมปริซึมพร้อมสายรุ้งทะลุออกมา, ชายสวมสูทสองคนจับมือในขณะที่อีกคนกำลังมอดไหม้, โรงงานอุตสาหกรรมที่มีหมูบินได้ลอยอยู่ และผนังสีขาวโพลน หากคำบรรยายเหล่านี้ทำให้คุณหวนนึกถึงภาพอัลบั้มของวง ๆ หนึ่ง แน่นอนว่าคุณน่าจะพอรู้จัก เคยฟัง หรือแม้แต่เคยเห็นวงโปรเกสซีฟร็อคซาวด์เอกลักษณ์นามว่า ‘พิงค์ ฟลอยด์’ (Pink Floyd)

นำเสนอด้วยท่วงทำนองและดนตรีอันเป็นเอกลักษณ์ Pink Floyd ถือเป็นหนึ่งในวงที่สำคัญและประสบความสำเร็จมากที่สุดในประวัติศาสตร์ดนตรีเลยก็ว่าได้ เห็นได้จากความนิยมที่ไม่เสื่อมคลายของอัลบั้มตำนาน The Dark Side of the Moon หรือ Wish You Were Here ก็น่าจะเพียงพอที่จะช่วยยืนยันสิ่งนี้

แต่นอกจากเสียงดนตรีที่ทุกวันนี้ยังคงดูใหม่อยู่ เฉกเช่นเดียวกับเนื้อหาที่ถูกเล่าผ่านเสียงดนตรีเหล่านั้น ตั้งแต่ปรัชญาชีวิต เสียดสีอุตสาหกรรมดนตรี และวิจารณ์การเมือง ซึ่งทำให้ Pink Floyd มิได้เป็นเพียงวงดนตรีที่สร้างศิลปะไม่สนโลก แต่เป็นวงดนตรีที่มีคุณค่าทางศิลปะที่หาคนยากจะเทียบ แต่ยังมีคุณค่าในด้านความหมายที่ยังก้องกังวาลไม่หายไป และคนที่ทำให้สิ่งนี้เกิดขึ้นได้คือ ‘โรเจอร์ วอเทอร์ส’ (Roger Waters)

Pink Floyd ประกอบไปด้วยสมาชิก 4 คน — เดวิด กิลมอร์ (David Gilmour) ยอดมือกีตาร์อัจฉริยะในตำนาน, ริชาร์ด ไรท์ (Richard Wright) มือคีย์บอร์ดเจ้าของโทนเสียงอันเป็นเอกลักษณ์ผู้ล่วงลับ, นิค เมสัน (Nick Mason) มือกลองผู้สร้างจังหวะให้กับทุกเสียงเพลง และ โรเจอร์ วอเทอร์ มือเบส แกนนำผู้เขียนเนื้อเพลง

 

แต่ในขณะที่ โรเจอร์ วอเทอร์ส คือหัวหอกแกนนำที่ทำให้ Pink Floyd มีชีวิตควบคู่ไปกับเสียงดนตรีที่ไม่เหมือนใคร กลับเกิดความไม่ลงรอยขึ้นจนพัฒนากลายเป็นรอยร้าวที่จะทำให้ Pink Floyd เปลี่ยนไปตลอดกาล และนอกจากนั้น วอเทอร์สก็ถือเป็นศิลปินอีกคนหนึ่งที่แสดงจุดยืนทางการเมืองและความคิดเห็นของตัวเองอย่างชัดเจน ชัดเสียจนมีคนตราหน้าว่าเขาเป็นพวก ‘เกลียดยิว’ ในบทความนี้เราจะเล่าถึงเหตุการณ์เหล่านี้ทั้งหมด

Pink Floyd แตกหัก

“โถ่เอ๋ย @rogerwaters คุณมันพวกเกลียดยิวถึงขั้วกระดูก แถมยังเป็นพวกแก้ต่างให้ปูติน โป้ปดมดเท็จ ลักขโมยของคนอื่นมาเป็นของตน มือถือสากปากถือศีล หนีภาษี ลิปซิงค์ เกลียดผู้หญิง ต่ำตมจมอยู่กับความริษยา และหลงตัวเอง

 

ถูกเผงอย่างประจักษ์ชัดในทุกคำ

 

ประโยคยาวที่ร้อยเรียงไปด้วยคำด่าที่สะท้อนให้เห็นความอัดอั้นที่กลั่นมาจากความไม่พอใจเกินจะยั้งไหวนั้นมาจากการทวีตของ ‘พอลลี แซมสัน’ (Polly Samson) และประโยคด้านล่างมาจากการรีทวีตพร้อมการโควตไปในทำนองที่เห็นด้วย ก็หาใช่จะมาจากใครอื่น นอกเสียจากสามีของเธอ ‘เดวิด กิลมอร์’ มือกีตาร์และนักร้องนำวง Pink Floyd ผู้เคยสร้างสรรค์บทเพลงเคียงบ่าเคียงไหล่มากับวอเทอร์สนั่นเอง

นี่อาจไม่ใช่ครั้งแรกที่เราได้เห็นสมาชิก (และอดีตสมาชิก) วง Pink Floyd มีปากมีเสียงกันขึ้น เพราะรอยร้าวเหล่านี้มันเกิดขึ้นมาตั้งแต่ในช่วงปลายยุค 1970s แล้ว จนเกิดการไล่ออก เกิดความพยายามจะยุบวง เกิดการฟ้องร้อง เกิดปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์ และทำให้เกิดการเดินแยกทางกันระหว่าง Pink Floyd และ โรเจอร์ วอเทอร์ส ที่เดิมทำหน้าที่เป็นแกนนำให้กับวงในที่สุด แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าความบาดหมางทั้งหมดจะยุติลง

นับตั้งแต่ ‘ซิด บาร์เร็ต’ (Syd Barret) หนึ่งในผู้ก่อตั้งและอดีตมือกีตาร์และแต่งเพลงให้กับ Pink Floyd ตั้งแต่เริ่มต้นถูกบังคับให้ออกจากวงเนื่องจากสภาพจิตใจที่เปลี่ยนไปจากผลกระทบของยาเสพติด — เรื่องราวและความรู้สึกที่ซิดหายไปก็ถูกตีแผ่ผ่านอัลบั้ม Wish You Were Here (1975) — วอเทอร์สก็ก้าวขึ้นกุมบังเหียนทิศทางของวง และเป็นผู้เขียนเนื้อเพลงหลักเพียงผู้เดียวตั้งแต่อัลบั้ม The Dark Side of the Moon

 

 

การมีวอเทอร์สเป็นเหมือนผู้นำนั้นทำให้ Pink Floyd ไม่ได้เป็นแค่วงที่มีดนตรีเวิ้งว้างชวนลอย แต่ยังทำให้ Pink Floyd เอ่ยถึงเนื้อหาที่จับต้องได้ แถมยังทรงพลังไม่แพ้กับท่วงทำนองและเสียงเพลงเลยแม้แต่น้อย ไม่ว่าจะเรื่องปรัชญาชีวิต เสียดสีอุตสาหกรรมเพลง หรือแม้แต่การโจมตีระบบทุนนิยม ซึ่งก็ล้วนมาจากมันสมองและการประกอบคำอันเฉียบแหลมของวอเทอร์ส ที่เมื่อผสมเข้ากับทำนองเพลงจากสมาชิกทั้งสาม ก็กลายเป็นมาสเตอร์พีซติดกันทุกอัลบั้มต่อกันยาวรวดตั้งแต่ The Dark Side of the Moon ไปจนถึง The Wall

ณ เบื้องหน้า Pink Floyd คือวงที่ประสบความสำเร็จและมีอิทธิพลต่อประวัติศาสตร์ร้อคแอนด์โรลที่สุดวงหนึ่ง แต่ฉากหลังนั้นเต็มไปด้วยรอยร้าวที่กำลังก่อตัวขึ้น เมื่อ โรเจอร์ วอเทอร์ส ในฐานะแกนนำผู้ควบคุมทิศทางและเนื้อหาของวง เขามองว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ‘การเขียนเนื้อเพลง’ จากฝีมือของเขา สำคัญกว่าโซโล่ของเดวิด กิลมอร์ ทำนองคีย์บอร์ดของ ริชาร์ด ไรท์ และท่วงจังหวะกลองของ นิค เมสัน วอเทอร์สจึงมองว่าเขายังไม่ได้เครดิตมากเท่าที่เขาได้ทำ

ความเห็นต่างกันย่อมเป็นเรื่องธรรมดาในงานการสร้างสรรค์ ไม่ผิดเลยที่วอเทอร์สจะคิดอย่างหนึ่ง แต่กิลมอร์จะคิดอย่างหนึ่ง แต่เมื่อวอเทอร์สมองว่าตนเองสำคัญกว่าสมาชิกคนอื่น ๆ ในวง และเชื่อว่าตัวเขามีอำนาจที่จะกำหนดทิศทางเหนือคนอื่น ๆ ในวง จึงไม่แปลกที่ความเห็นต่างจากวิวัฒน์เป็นรอยร้าวที่ใหญ่กว่าเดิม จนถึงขั้นว่ามีการไล่ ริชาร์ด ไรท์ ออกในช่วงที่กำลังทำอัลบั้ม The Wall ในขณะที่ไรท์เผชิญกับปัญหาชีวิตส่วนตัว

Animals, The Wall, และที่หนักที่สุดอย่าง Final Cut นับว่าเป็นพัฒนาการจากรอยร้าวสู่การแตกหักก็ว่าได้ และท้ายที่สุดในปี 1985 โรเจอร์ วอเทอร์สก็ประกาศลาออกจากวง Pink Floyd ที่ตอนนั้นเหลือเพียงแค่ตัวเขา กิลมอร์ และเมสัน เพราะตัวเขามองว่าวงเดินมาถึงจุดจบแล้ว แต่สมาชิกที่เหลือก็ยืนหยัดว่าวงยังไปต่อได้ (แม้ไม่มีวอเทอร์ส)

จนได้นำไปสู่การฟ้องร้องจาก โรเจอร์ วอเทอร์ส ในการที่วงยังคงใช้ชื่อ Pink Floyd อยู่ แม้ไม่มีเขาแล้วก็ตาม จนทำให้ช่วงเวลาดังกล่าว Pink Floyd ก็ได้วนเวียนอยู่กับการขึ้นศาลเพื่อต่อสู้กับวอเทอร์ส เพราะเขาคิดว่าวงจะอยู่ไม่ได้หากไม่มีเขา… แต่หากอยู่ได้ ก็ไม่ควรจะอยู่ แต่ท้ายี่สุดแล้ว Pink Floyd ก็ยังคงอยู่ และเดินแยกทางจาก โรเจอร์ วอเทอร์ส โดยสมบูรณ์ จนได้มีการแสดงร่วมกันครั้งสุดท้ายในงาน Live 8 ในปี 2005

 

เกลียดยิว?

 

คุณมันพวกเกลียดยิวถึงขั้วกระดูก

 

โรเจอร์ วอเทอร์ส ถือเป็นศิลปินคนหนึ่งที่ออกตัวและแสดงความคิดเห็นของตัวเองอย่างชัดเจนเสมอมา ไม่ว่าจะเป็นการเสียดสีโจมตี มาร์กาเร็ต แธตเชอร์ (Margaret Thatcher) อดีตหัวหน้าพรรคอนุรักษนิยมในอังกฤษ, ให้สัมภาษณ์ออกสื่อว่า ไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของสาธารณรัฐประชาชนจีน, ขึ้นเล่นคอนเสิร์ตล้อเล่น โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump), วิจารณ์สหรัฐอเมริกาที่สนับสนุนยูเครนในสงครามกับรัสเซีย แต่สาเหตุที่ทำให้สื่อหรือองค์กรบางกลุ่มต่างพากันตราหน้าเขาว่า ‘เกลียดยิว’ หรือ ‘Anti-Semitism’ (ซึ่งเป็นคำกล่าวหาที่รุนแรง) เริ่มต้นมาจากความเห็นของเขาต่อความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์

โรเจอร์ วอเทอร์ส ออกตัวและแสดงจุดยืนสนับสนุนฝั่งปาเลสไตน์ และวิจารณ์อิสราเอลอย่างชัดเจนตั้งแต่ทศวรรษที่ 1980 และในปี 2006 วอเทอร์สก็ได้เดินทางไปเยือนพื้นที่ปาเลสไตน์ บริเวณที่อิสราเอลมีการตั้งกำแพง และได้ไปพ่นกราฟฟิตี้แสดงความคิดเห็นต่อต้านการตั้งกำแพงดังกล่าว นอกจากนั้นเขาก็ยังได้เดินทางไปพบปะกับเจ้าหน้าที่และผู้ลี้ภัยในฝั่งปาเลสไตน์อีกด้วย

 

โรเจอร์ วอเทอร์ส : รอยร้าวใน Pink Floyd กับจุดยืนเคียงข้างปาเลสไตน์

 

ในปี 2013 วอเทอร์สก็ได้เป็นหนึ่งในผู้สนับสนุน ‘Boycott, Divestment, Sanctions’ (BDS) ซึ่งเป็นขบวนการที่นำโดยฝั่งปาเลสไตน์ที่กดดันอิสราเอลในด้านต่าง ๆ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากแฟนเพลงของเขาด้วยมากมาย แต่ก็อาจจะไม่ทุกคน เพราะก็มีหลายคนที่มีความเห็นว่า เขาชอบเพลงของวอเทอร์ส แต่เขาทนฟังแนวคิดทางการเมืองของวอเทอร์สไม่ได้

แต่ประกายไฟที่เป็นเหตุให้เขาถูกตราหน้าว่าเป็นพวกต่อต้านยิวเกิดขึ้นจากตอนที่เขาตัดสินใจให้ ‘ดาวเดวิด’ หรือ ‘Star of David’ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของชาวยิวที่ตั้งอยู่กลางธงของอิสราเอล เป็นหนึ่งในสัญลักษณ์บนหมูบิน (Inflatable Pig) — หมูบินจากอัลบั้ม Animals ที่มักปรากฎมาในหลาย ๆ คอนเสิร์ตของวอเทอร์ส ซึ่งเป็นภาพแทนพิษร้ายของอำนาจต่าง ๆ ไม่ว่าจะเงินตรา การเมือง หรือแม้แต่ศาสนา — จนทำให้มีบางคนหรือสื่อบางสำนักออกมาตราหน้าเขาว่าเป็นพวกต่อต้านยิว โรเจอร์ วอเทอร์ส มักแสดงความคิดเห็นโจมตีอิสราเอลอยู่บ่อยครั้ง และถึงขั้นออกมาแสดงความคิดเห็นว่าการที่เหล่าศิลปินไม่กล้าวิจารณ์อิสราเอลก็เพราะว่ากลัวถูกตราหน้าว่าเป็นนาซี

 

หากเรากล่าวคำเท็จได้ดังพอ เช่น ‘โรเจอร์ วอเทอร์ส มันคือไอพวกเกลียดยิว!’ เราจะสามารถทำให้ผู้คนเชื่อและทำให้ผู้คนเกลียดเขาได้ เราจะทำลายเขาได้ เราจะทำให้เขาถึงจุดจบ…

จะบอกอะไรให้นะ ไม่ ไม่มีทาง เพราะมันคือคำโกหก พวกมึงจะรวมพลคนโง่งั่งให้มากเท่าไหนก็ตามเพื่อผลิตซ้ำคำโกหกเหล่านั้น แต่วันยันค่ำมันก็ยังคงเป็นคำโกหกอันเลวทรามอยู่ดี

 

คือสิ่งที่ โรเจอร์ วอเทอร์ส ให้สัมภาษณ์กับสื่อ Double Down News ถึงการที่เขาถูกกล่าวหาว่าเกลียดยิว มีสารคดีผลิตขึ้นมาเพื่อโจมตีเขา และพยายามจะเปิดโปงว่าเขาเป็นพวกเกลียดยิว ไม่ว่าจะเป็น ‘Wish You Weren’t Here’ หรือ ‘The Dark Side of Roger Waters’ ซึ่งสร้างโดย Campaign Against Antisemitism ซึ่งมีผู้คนใกล้ตัววอเทอร์สอย่าง บ็อบ เอซริน (Bob Ezrin) โปรดิวเซอร์อัลบั้ม The Wall และ อดีตมือแซ็กโซโฟน นอร์เบิร์ท สแตทเชล (Norbert Statchel) ก็ล้วนออกมาเล่าประสบการณ์ที่เขาประสบมากับตัวที่จะช่วยพิสูจน์ว่าวอเทอร์สเกลียดยิวจริง

แต่จะให้กล่าวว่าฝั่งใดถูกหรือใครเป็นคนผิดก็คงเกินขอบเขตหน้าที่ที่เราจะตัดสิน เพราะแต่ละฝ่ายก็ล้วนมีเหตุผลเป็นของตัวเอง ฝั่งหนึ่งก็บอกว่าวอเทอร์สเกลียดยิวและหาข้ออ้างหรือมองไม่เห็นว่าตนคิดเช่นนั้น ส่วนวอเทอร์สเองก็ยืนหยัดชัดว่าตัวเขากล้าวิจารณ์ทุกสิ่งโดยไม่สยบยอมต่อขยบธรรมเนียมที่ครอบเอาไว้ และมองว่าข่าวสารที่ผู้คนส่วนใหญ่รับก็ล้วนเป็นเฟคนิวส์

 

50 ปี ตำนานที่ถูกนำมาตีความใหม่อีกครั้ง

 

เอา The Dark Side of the Moon มาทำใหม่…

คุณบ้าไปแล้วหรือ?

 

น่าจะเป็นถ้อยคำที่ปรากฏขึ้นในหัวของคอดนตรีหลายคน โดยเฉพาะกับแฟนคลับ Pink Floyd เมื่อได้ทราบข่าวว่า โรเจอร์ วอเทอร์ส กำลังเอา ‘The Dark Side of the Moon’ (1973) หนึ่งในอัลบั้มขึ้นหิ้งที่ฮิตที่สุดตลอดกาล — มิใช่แค่ของวง แต่ของประวัติศาสตร์โลกดนตรีเลยก็ว่าได้ — มาทำใหม่ในชื่อ ‘The Dark Side of the Moon Redux’ (2023) ซึ่งปล่อยให้ฟังในวันศุกร์ที่ 6 ตุลาคม 2566 นั่นเอง

 

 

คุณจะรู้สึกอย่างไรหากว่าจะมีคนวาด Mona Lisa ใหม่อีกครั้ง, จะถ่ายทำ The Godfather อีกรอบ, จะเขียน Romeo and Juliet ใหม่อีกหน, จะปั้น จิมี เฮนดริกซ์ ขึ้นมาอีกคน? มันอาจคือความรู้สึกเดียวกับการที่เราต้องได้ยินว่า The Dark Side of the Moon จะถูกนำมาร้อยเรียงและอัดใหม่อีกครั้ง แม้คนคนนั้นจะเป็นหนึ่งในผู้สร้างมันขึ้นมาก็ตาม

วอเทอร์สเคยให้สัมภาษณ์กับ The Telegraph ในช่วงต้นปี 2023 ถึงปัญหาที่เขามีต่อสมาชิกวง Pink Floyd ว่าไม่มีใครเลยที่สามารถ ‘เขียนเพลง’ ได้

 

ผมเขียน The Dark Side of the Moon เลิกใช้คำว่า ‘เรา’ บ้า ‘เรา’ บอนี่เสียทีเถอะ ใช่ครั้งหนึ่งพวกเราเคยเป็นวง ซึ่งมีเราทั้ง 4 คน ซึ่งเราทุกคนต่างก็ล้วนมีส่วนทำให้มันเกิดขึ้น แต่มันคือโปรเจกต์ของผม และผมเขียนมันขึ้นมา…

 

นิคไม่พยายามสร้างภาพว่าตัวเองเขียนได้นะ แต่กิลมอร์กับริค พวกเขาเขียนเพลงไม่ได้เลย พวกเขาไม่มีเรื่องที่อยากจะเล่า พวกเขาไม่ใช่ศิลปิน!

 

นับเป็นการให้สัมภาษณ์ที่มีการพาดพิงที่โหดไม่น้อยเลยทีเดียว ซึ่งชี้ให้เราเห็นว่าความบาดหมาง อย่างน้อยก็ของวอเทอร์สคนหนึ่ง ยังไม่เลือนหายไปเสียเท่าไรนัก แต่ก็ไม่ได้เป็นเรื่องที่เกินความคาดหมายนัก เพราะตลอดเส้นทางชีวิตของวอเทอร์ส ไม่ว่าจะผ่านเพลงหรือตัวเขาเอง ก็ล้วนเอ่ยถึงสิ่งที่อยากจะพูดออกมาอย่างไม่เกรงกลัวเรื่องใด ๆ หรือใครก็ตาม แต่แน่นอนว่ามันน่าจะทำให้แฟนคลับกิลมอร์ลุกเป็นไฟอย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตาม เมื่อไม่นานมานี้ โรเจอร์ วอเทอร์สก็ออกมาตอบคำถามจากทางบ้านผ่าน Instagram ของตัวเองในเรื่อง The Dark Side of the Moon Redux และเขาก็ได้เอ่ยถึงสมาชิกวง Pink Floyd อีกครั้ง ในท่าทีที่เคารพและเป็นมิตรมากขึ้น

 

ผมรักต้นฉบับมาก ๆ เลยนะ ผมรักสิ่งที่นิคทำ สิ่งที่ริคทำ และสิ่งที่เดฟทำในเวอร์ชันต้นฉบับ แต่ผมคิดว่าฉบับใหม่นี้สะท้อนแก่นของมันออกมาได้มากกว่า มันนำเสนอแก่นแท้จากสิ่งที่ผมเขียน มันเป็นการตีความใหม่ และผมหวังว่าเราจะได้อะไรมากกว่าเดิม

 

และในวันนี้ ก่อนที่จะลงมือเพิ่มเนื้อหาในบทความนี้ ผู้เขียนก็ได้เปิดฟัง The Dark Side of the Moon Redux ซึ่งคือความกล้าหาญของ โรเจอร์ วอเทอร์ส ในการนำเอาตำนานแห่งประวัติศาสตร์ดนตรีมาสร้างใหม่ด้วยตัวเองคนเดียว ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว… แล้วมันเป็นอย่างไรบ้าง?

The Dark Side of the Moon Redux ให้มุมมองทั้งความรู้สึกที่แตกต่างออกไป แม้โครงดนตรีเดิมจะยังคงอยู่ในหลาย ๆ เพลง แต่มันถูกทำให้เบาบาง ช้า และรางเลือนไป โดยมีเนื้อเพลงและถ้อยคำพูดของวอเทอร์สชูเด่นขึ้นมาแทนที่ เสมือนว่าเขากำลังพยายามพิสูจน์ว่าแก่นสำคัญที่แท้จริงของ The Dark Side of the Moon คือ ‘เนื้อร้อง’ ไม่ใช่โซโล่ของกิลมอร์ โทนอารมณ์จากไรท์ หรือจังหวะของเมสัน

นอกจากนั้นก็มีรายละเอียดเรื่องดนตรีที่แตกต่างออกไปจากเวอร์ชันต้นฉบับ หนึ่งสิ่งที่ถูกใจผู้เขียนเป็นอย่างมากก็คงต้องเป็นออร์แกนที่ในหลาย ๆ จังหวะมาแทนที่โซโล่ของกิลมอร์ และพอเมื่อผสมกับดนตรีที่มีความสงบขึ้นจากท่วงทำนองดนตรีและจังหวะกลอง ผสานเข้ากับคำพูดของวอเทอร์สที่เพิ่มเข้ามา จนให้ความรู้สึกว่าเหมือนมี โรเจอร์ วอเทอร์ส มาเทศนาให้ฟังผ่านเบื้องหลังเป็นดนตรีจาก The Dark Side of the Moon บรรเลงเบา ๆ บาง ๆ อยู่เป็นพื้นหลัง

ปฏิเสธไม่ได้ว่าถ้อยคำที่ร้อยเรียงใน The Dark Side of the Moon จากหัวของวอเทอร์สถือเป็นชิ้นงานอมตะที่ไม่เพียงสวยงามในแง่ดนตรี แต่ยังแฝงความหมายสัจธรรมชีวิต ไม่ว่าจะเป็นชีวิต ความตาย ความโลภ ความขัดแย้ง ความบ้าคลั่ง และความธรรมดา ที่ยังก้องกังวานจากอดีตมาถึงปัจจุบัน ที่แม้ยุคสมัยความนิยมทางดนตรีจะผันแปรไปไม่หยุดนิ่ง แต่สัจธรรมของมันยังคงเดิม

 

แต่ผู้เขียนคิดว่าสิ่งที่พาหลายคนมารู้จักกับ The Dark Side of the Moon ไม่ใช่เสียงดนตรีที่สร้างสรรค์มาจาก เดวิด กิลมอร์, ริชาร์ด ไรท์, หรือนิค เมสัน หรือ?

ไม่ใช่เพราะโซโล่ของ เดวิด กิลมอร์ ใน Time และ Money ที่ทำให้ผู้คนเปิดอัลบั้มนี้วนฟังมาถึงทุกวันนี้หรือ?

ไม่ใช่เพราะเสียงเปียโนและท่วงทำนองของ ริชาร์ด ไรท์ ใน The Great Gig in the Sky และ Us and Them จนได้รับความนิยมว่าเป็นหนึ่งในบทเพลงที่ดีที่สุดหรือ?

ไม่ใช่เพราะจังหวะกลองของ นิค เมสัน ใน On the Run หรือ Any Colour You Like ที่เปรียบเสมือนเป็นจังหวะชีพจรที่ทำให้ The Dark Side of the Moon มีชีวิตหรือ?

ผู้เขียนเชื่อว่า The Dark Side of the Moon หรืออัลบั้มอื่น ๆ ในยุคทองของ Pink Floyd ทะยานขึ้นไปสู่ความเป็นตำนานที่ไม่มีใครแทนที่ได้ ไม่ใช่เพราะใครคนใดคนหนึ่งเพียงผู้เดียว แต่มันคือส่วนผสมจากมันสมองของ โรเจอร์ วอเทอร์ส, ฝีมือของ เดวิด กิลมอร์, บรรยากาศเหนือจินตนาการจากปลายนิ้วของ ริชาร์ด ไรท์ และจังหวะของ นิค เมสัน ต่างหาก ที่ทำให้ The Dark Side of the Moon เป็นหนึ่งในอัลบั้มที่ดีที่สุดตลอดกาล

 

ภาพ : Getty Images

อ้างอิง : 

Roger Waters Is Undermining the Cause He Claims to Support - The Rolling Stones 

Pink Floyd: the long and brutal history of Roger Waters and David Gilmour’s feud - Far Out

Pink Floyd: A timeline of all their feuds and fallouts over the years - GOLD Radio UK

Pink Floyd’s David Gilmour Backs His Wife Who Blasts Roger Waters as ‘Antisemetic,’ ‘Putin Apologist’ + a Lot More, Waters Responds - Loud Wire

Is Roger Water Advocacy for Palestine Justified or Misinterpreted? - COOPWB

We don’t need no occupation: Roger Waters graffitis the Israeli Wall in Palestine - The Electronic Intifada

Roger Waters Uncut. The full interview with Michael Smerconish recorded in Philadelphia, PA - 8/4/22 - Michael Smerconish

Pink Floyd's Roger Waters EXPLOSIVE Interview Sets Record Straight - Double Down News

Roger Waters: Pink Floyd star on why his fellow musicians are terrified to speak out against Israel - Independent