PLAY YARD พื้นที่ความทรงจำร่วมกันของศิลปินนอกกระแสและช่วงเวลาแห่งความหมายของวง Zweed n’ Roll

PLAY YARD พื้นที่ความทรงจำร่วมกันของศิลปินนอกกระแสและช่วงเวลาแห่งความหมายของวง Zweed n’ Roll

คุยเบื้องหลังกับโบ๊ทหัวหอก Live House เพื่อดนตรีนอกกระแสย่านลาดพร้าว พร้อมการเดินทางของร้าน PLAY YARD ที่ก่อตัวขึ้นจากสถานที่ ศิลปิน และผู้คน

“ไป ยาร์ด มั้ย?” หากย้อนกลับไปช่วงระหว่างปี 2555-2562 ที่แล้ว หนึ่งในบาร์ที่อยู่ในใจคนที่ชื่นชอบการดูดนตรีแบบ Live House และรักดนตรีนอกกระแส ต้องมีชื่อของ PLAY YARD by Studio Bar ลาดพร้าวซอย 8 ผุดขึ้นมา พื้นที่ขนาดกระทัดรัดที่แบ่งโซนสำหรับแฮงค์เอ้าท์แห่งนี้ จำกัดความตัวเองด้วยประโยค ‘เพลยยาร์ดไม่ใช่สถานที่…แต่คือผู้คน’ ถ้าใครเคยไปที่นี่มาก็จะพยักหน้าเป็นอันรู้กัน 

ขอบคุณภาพจากเฟซบุ๊กเพจ PLAY YARD

ในช่วงเวลาที่ขาดแคลนสถานที่สำหรับนักดนตรีหน้าใหม่ที่มีแนวเพลงเฉพาะตัวที่ต้องการหาพื้นที่ปล่อยของและฝึกฝนฝีมือต่อหน้าผู้ชมเพื่อส่งพลังสื่อสารให้กันและกัน PLAY YARD by Studio Bar จึงกำเนิดขึ้นโดยมี โบ๊ท - ธัญธรวิชญ์ ริปุญชัยพงศ์ เป็นหนึ่งในหุ้นส่วนของร้าน จุดเริ่มต้นก็เพื่อให้อย่างน้อยได้มีสักที่ให้เขาและเพื่อนได้มีร้านนั่งจิบเครื่องดื่ม ไปพร้อมกับฟังเพลงนอกกระแสที่เขาชอบฟังอยู่เป็นทุนเดิมเพิ่มขึ้นอีกแห่ง จนเมื่อถึงวันที่ต้องปิดตัวลงหลายๆ คนเสียใจและเสียดายที่ประจำและผู้คนที่คุ้นหน้าที่เคยมารวมตัวกัน แต่ไม่มีงานเลี้ยงใดที่ไม่เคยเลิกรา 

อย่างน้อย PLAY YARD by Studio Bar ก็ได้มอบความสุขและมิตรภาพให้กับผู้คนจำนวนไม่น้อยตลอด 7 ปีที่ผ่านมา จะด้วยความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม การเคยมีอยู่ของสถานที่อาจไม่สำคัญเท่ากับสิ่งที่เคยสร้างประสบการณ์ให้กับผู้คน ไม่ว่าจะเป็นการเปิดบ้านให้ศิลปินมีโอกาสสื่อสารกับแฟนเพลง หรือ ผู้ชมผู้ฟังได้เป็นส่วนหนึ่งกับช่วงเวลาพิเศษหรือ Magic Moment ที่เกิดขึ้นในระหว่างการแสดงดนตรีสดที่ไม่เคยเหมือนกัน ไม่มีใครที่จะแชร์ช่วงเวลาเหล่านี้ได้ดีที่เท่ากับ โบ๊ท - ธัญธรวิชญ์ ที่แม้ตอนนี้ขอพักในพาร์ทการเป็นผู้จัดงานดนตรีและกำลังลุยธุรกิจร้านอาหารสองสาขาของตัวเองในชื่อ หมีแฟมมิลี่ แต่ก็ยังแตะขาข้างหนึ่งรับเป็นดีเจอยู่ประจำร้านแห่งหนึ่งในจังหวัดระยอง 

ฟังสัญชาตญาณทำให้ PLAY YARD by Studio Bar เกิดขึ้น

โบ๊ท - ธัญธรวิชญ์ บอกกับเราว่าเขาก็เป็นแค่คนที่ชอบฟังเพลง ไปเดินงานแฟตเฟส ซื้อซีดีเพลงกลับไปฟังที่บ้าน ชอบนั่งดื่มกับเพื่อนที่ร้านเหล้าทั่วไปและว่างๆ อ่านการ์ตูน หนึ่งในนั้นคือเรื่อง BECK (การ์ตูนเกี่ยวกับวงดนตรี) จนเกิดอินสไปร์ขึ้นในใจ แม้เขาไม่ได้เป็นคนวงในของวงการดนตรี แต่การเก็บเล็กผสมน้อยเหล่านี้เป็นเชื้อไฟที่สะสมให้เขารอจังหวะที่สุกงอม จนมาเจอกับที่ตั้งของ PLAY YARD by Studio Bar สถานที่ซึ่งจะทำให้ภาพในหัวขึ้นเกิดจริง

ขอบคุณภาพจากเฟซบุ๊กเพจ PLAY YARD

“รุ่นน้องที่คณะบัญชีมาชวนกันทำร้านเหล้าเพราะเห็นว่าเราชอบฟังเพลง พอมาเจอสถานที่ตรงลาดพร้าวซอย 8 มันเหมาะกับร้านที่วาดไว้ในหัว ความรู้สึกแรกที่เห็นก็รู้เลยว่าที่นี่แหละ” 

ถ้าใครที่เคยไปร้าน  PLAY YARD อาจจำโครงสร้างเดิมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวได้ เขาและหุ้นส่วนของร้านเลือกที่จะเก็บโครงสร้างเดิมไว้ โดยปัดฝุ่นด้านหน้าและตกแต่งภายในเล็กน้อยเพื่อต้อนรับผู้มาเยือน ประกอบกับช่วงที่เขาอินกับการ์ตูนเรื่อง Beck ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับนักดนตรีใต้ดิน ตัวละครแบบ underdog ที่มุ่งมั่นพยายามจนสามารถไปยืนร้องเพลงบนเวทียิ่งใหญ่ให้กับผู้คนจำนวนมากได้ฟัง ก็ยิ่งทำให้เขาตั้งคำถามถึงพื้นที่ให้นักดนตรีบ้านเราได้พบกับคนฟังเพลง

“บ้านเราไม่มีที่เล่นดนตรีแบบในการ์ตูนเลย แล้วพอมาเจอที่นี่เรารู้สึกว่ามันเป็นที่ที่เจ๋งดี น่าจะเป็นพื้นที่สามารถทำอะไรบางอย่างได้ ก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นของร้าน PLAY YARD ที่ตรงนั้น” 

แรกเริ่มร้าน PLAY YARD ไม่ได้ตั้งตัวว่าจะเป็นร้านสำหรับศิลปินอินดี้หรือเพลงนอกกระแส แต่ด้วยความที่ โบ๊ท - ธัญธรวิชญ์ รู้จักกับ ปูม - ปิยสุ โกมารทัต ที่มีค่ายของตัวเองในชื่อ Parinam Music อยู่แล้ว เมื่อมีพื้นที่ตรงนี้เกิดขึ้นก็เป็นจังหวะที่ดีที่ ปูม - ปิยสุ พาศิลปินในค่ายมาจัดงานที่นี่

“คอนเซปต์ของเพลยยาร์ดคือการเอาดนตรีที่ดีและหลากหลายมาเผยแพร่ให้คนได้ฟังกันมากขึ้น”

เขาย้ำว่า ร้าน PLAY YARD เป็นร้านเหล้าที่มีความลูกผสม มีดนตรีและกับแกล้มอร่อย ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้คนกลับมา โดยเฉพาะเมนูหมูกรอบในตำนานนั่นเอง อีกด้านหนึ่งคนติดใจกับดนตรีสดหลากหลายแนวเพลงหมุนเวียนมาแสดง โดยหนึ่งในนั้นคือวง Zweed n’ Roll กลุ่มเพื่อนที่รวมตัวกันทำดนตรีเฉพาะทางที่เคยเป็นวงหน้าใหม่เมื่อ 12 ปีก่อน จนวันนี้มีค่ายสังกัดและกำลังก้าวต่อไปในเส้นทางที่สดใส
 

วันแรกที่ไม่สมหวัง กลายเป็นตัวตนของ Zweed n’ Roll ในปัจจุบัน

ร้าน PLAY YARD เซตตัวจนเป็นที่รู้จักในหมู่นักดนตรี กลุ่มเพื่อนที่เรียนด้วยกันในคณะดุริยางคศิลป์ของมหาวิทยาลัยศิลปากร อยากหาที่เล่นดนตรีกลางคืน วงที่มีนักร้องนำคือ พัด - สุทธิภัทร สุทธิวาณิช มือกีตาร์สองคนคือ ปูน - ณัฐพัชร์ สมิตนุกูลกิจ และ มิน - ณัฐกร ศิลวัฒน์ มี นิว - นิติ นิติยารมย์ เล่นเบส และ ทัน - ธรรม์ ดำรงรัตน์ มือกลอง ได้ยินชื่อร้านนี้จากปากต่อปากทำให้พวกเขาได้มาเจอที่นี่ที่มีการแบ่งหมวดหมู่แนวดนตรีประจำวันที่ร้าน PLAY YARD ซึ่งในทุกวันพฤหัสบดีเป็นวันสำหรับดนตรีร็อคฝากฝั่งอังกฤษ ทำให้ Zweed n’ Roll เลือกมาออดิชันเพื่อเล่นที่ร้านนี้ 

ขอบคุณภาพจากเฟซบุ๊กเพจ PLAY YARD

“ช่วงนั้นเรากำลังหาวงดนตรีให้มีความหลากหลายมากขึ้น ความทรงจำของเรากับ Zweed n’ Roll ที่จำได้จนวันนี้คือน้ำเสียงของ พัด - สุทธิภัทร นักร้องนำที่มีเอกลักษณ์ แตกต่างจากคนอื่น แต่ทิศทางของวงยังสะเปะสะปะ จึงทำให้การออดิชันครั้งแรกไม่ผ่าน”

โดยคำแนะนำในวันนั้นที่ โบ๊ท - ธัญธรวิชญ์ บอกไว้กับวงคือการให้โอกาสไปทำการบ้านกับตัวเอง หาให้เจอว่าจริงๆ แล้วสมาชิกในวงชอบแนวไหน เป็นการช่วยบีบแนวทางให้แคบลงและชัดเจนขึ้น ซึ่งถือเป็นการเรียงอิฐให้ Zweed n’ Roll เข้าที่เข้าทาง เริ่มค้นหาตัวตนจนกลายเป็นวงดนตรีที่มีลายเซ็นเฉพาะตัวที่โดดเด่นออกมาจากตลาดทั่วไปที่เราได้ฟังกันในวันนั้น จนสร้างฐานแฟนคลับที่ดูจะเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ ในวันนี้ 

งานอีเว้นท์ที่ฉายแววทำให้ Zweed n’ Roll ปรากฎตัวในแนวทางที่ชัดเจนของตัวเองมากขึ้นคือวันที่กลุ่ม SOUND CARFT จัดกิจกรรมทางดนตรีในธีมร็อคอังกฤษ ซึ่งทางวงได้มาร่วมแจมด้วยการ Cover บทเพลงของ Coldplay ซึ่งงานในวันนั้นทำให้ โบ๊ท - ธัญธรวิชญ์ เห็นความเปลี่ยนแปลงและทิศทางที่ชัดขึ้นผิดหูผิดตา จนเขาต้องเรียกตัวกลับมาร้องเพลงประจำพฤหัสบดีเว้นพฤหัสบดีที่ ร้าน PLAY YARD เมื่อพาร์ทดนตรีทำงานของตัวเองได้ดีจึงไม่ยากที่คนคอเดียวกันจะถูกใจกับสไตล์เพลงของพวกเขา


จากเจ้าของร้านสู่การเป็นผู้จัดการวงคนแรกและครั้งแรก

การทำร้านเหล้าสักร้านหนึ่งว่ายากและยุ่งจนรัดตัวแล้ว แต่ โบ๊ท - ธัญธรวิชญ์ ก็เลือกที่จะแบ่งเวลาของตัวเองเพื่ออาสาช่วยดูแลหลังบ้าน คอยประสานงานจัดการธุระต่างๆ เสนอเป็นผู้จัดการวงดนตรีครั้งแรกในชีวิตให้กับวงที่เขาเชื่อมั่น

“เราถูกจริตกับเพลงของพวกเขา สมาชิกทุกคนในวงมีเสน่ห์เวลาที่เล่นดนตรี แนวเพลงที่ไม่เหมือนใครในช่วงนั้นมันทำให้พวกเขาแตกต่างออกมา”

ตลอดระยะเวลาหนึ่งปีก่อนที่จะขอตัวออกมาเพราะไม่สามารถดูแลได้ดีอย่างที่ตั้งใจ โบ๊ท - ธัญธรวิชญ์ ก็ได้สร้างความทรงจำที่ทำให้เขากลับไปเป็นวัยรุ่นอีกครั้งนึง ได้ออกเดินทางเล่นดนตรีตามเมืองต่างๆ ที่มีแฟนเพลงของวงกระจายตัวอยู่ รวมถึงได้ทำให้คนรู้จักวงนี้มากขึ้น   

ขอบคุณภาพส่วนตัวจาก โบ๊ท - ธัญธรวิชญ์ ริปุญชัยพงศ์ ขอบคุณภาพส่วนตัวจาก โบ๊ท - ธัญธรวิชญ์ ริปุญชัยพงศ์

“สมาชิกในวงมีไฟในการเล่นดนตรีสูง แม้เป็นเพลงที่ไม่มีสื่อ ไม่มีค่ายช่วยโปรโมต แต่เพลงก็เดินทางไปด้วยตัวของมันเอง เพลงมันทำงานกับคนคอเดียวกัน ทำให้ทุกคนอยากมาดูวงนี้เล่นเพราะขวนขวายหาฟังเพลงกันเอง”

ซึ่งประสบการณ์การเป็นผู้จัดการวง Zweed n’ Roll ได้ช่วยเปิดประตูให้เขาเห็นซีนภาพรวมของดนตรีทั่วประเทศ นอกเหนือจากที่ ร้าน PLAY YARD ที่หลากหลายและมีแนวโน้มเติบโตขึ้นเป็นที่น่าประทับใจ มีกลุ่มคนที่ฟังเพลงเฉพาะกลุ่ม รวมตัวกันในร้านประจำตามจังหวัดต่างๆ เช่นเดียวกับในกรุงเทพฯ 


Magic Moment 

ช่วงเวลาที่ โบ๊ท - ธัญธรวิชญ์ ได้ร่วมเดินทางไปกับ Zweed n’ Roll ทำให้เขาได้สัมผัสถึงการตอบรับจากคนดูที่เปล่งประกายออกมาทางแววตา ขณะที่ร้องเพลงของวงนี้ไปพร้อมๆ กัน  

“มันเป็นอาการขนลุกแบบหนึ่ง เมื่อเราอยู่ในบรรยากาศของช่วงเวลาที่ดนตรีเงียบลง แล้วทุกคนที่มาร้องเพลงไปด้วยกัน มันอเมซิ่งมากนะ”

เขาบอกกับเราว่าถือเป็นช่วงเวลานึงในชีวิตที่ตัดสินใจถูกต้อง แม้ชีวิตวัยรุ่นที่หันเหไปอีกเส้นทางแต่ก็ได้มีโอกาสใช้มันในวัยหลังสามสิบ ก็ทำให้ได้เรียนรู้ว่าเมื่อวัยเด็กที่ยังมีกำลังวังชาเป็นช่วงชีวิตที่ควรได้มีโอกาสทดลองทำสิ่งต่างๆ ให้เยอะเข้าไว้ ออกไปผจญโลกภายนอกให้มากที่สุด 


เสน่ห์ที่ใช้เวลาเติบโต

ถ้าใครที่เป็นแฟนเพลงของวงนี้ ก็จะรู้ว่าสมาชิกทุกคนของ Zweed n’ Roll มีอินเนอร์และเอกลักษณ์ของตัวเองที่ชัดเจน สิ่งนี้แหละที่ทำให้วงดนตรีเฉิดฉายออกมาท่ามกลางคลื่นเพลงกระแสหลัก ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ โบ๊ท - ธัญธรวิชญ์ แห่งร้าน Play yard เชื่อและมองเห็นเช่นกัน 

ขอบคุณภาพส่วนตัวจาก โบ๊ท - ธัญธรวิชญ์ ริปุญชัยพงศ์

ขอบคุณภาพจากเฟซบุ๊กเพจ PLAY YARD

“มันอาจจะมีหลายปัจจัยประกอบด้วยกันทั้งระยะเวลา บุคลิกภาพที่โดดเด่นของแต่ละคน การแสดงสดยิ่งทำให้ดูคอนเสิร์ตของพวกเขาสะดุดตาโดดออกมาจากวงอื่นๆ” 


วงโคจรรอบนอกที่สะท้อนในฐานะแฟนเพลงคนหนึ่ง

หลังจากที่ร้าน Play yard ปิดตัวลงในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ด้วยเหตุผลทางสุขภาพร่างกายและการโหมทำงานหนักต่อเนื่องหลายปี โบ๊ท - ธัญธรวิชญ์ จึงขอพักจากงานพาร์ทดนตรีและมาทำร้านอาหารที่ชื่อ หมีแฟมิลี่ อย่างเต็มตัว ทำให้จากเจ้าของร้านที่เป็นแหล่งรวมคนฟังดนตรีนอกกระแส ร้านที่เป็นพื้นที่สำหรับการแสดงสดของวงหน้าใหม่ รวมถึงวงดนตรียุค 90 ได้มาเจอกัน ถอยมาเป็นแฟนเพลงที่คอยฟีดแบ็กทุกครั้งที่มีโอกาสได้ชมการแสดงดนตรีของ Zweed n’ Roll 

ขอบคุณภาพจากเฟซบุ๊กเพจ PLAY YARD

“เราก็ยังอยู่ในวงโคจร แต่มองในฐานะเป็นคนดูอยู่ข้างล่าง วันไหนที่วงเล่นไม่เวิร์คก็จะทักไปบอกแบบนี้ก็มี”

ความเปลี่ยนแปลงที่เขาเห็นนับตั้งแต่วันแรกที่เล่นใน ร้าน PLAY YARD จากที่เป็นวงวัยรุ่นดิบๆ จัดจ้าน ปรับให้มีจังหวะผ่อนหนัก ผ่อนเบา มีรูปแบบการเล่นที่ชัดเจนและมีวิธีการนำเสนอที่แพรวพราว ซึ่งผู้เขียนและ โบ๊ท - ธัญธรวิชญ์ ได้เห็นกับตาพร้อมกัน (โดยไม่ได้นัดหมาย) ในวันที่เปิดตัวอีพีล่าสุด SangSom presents Zweed n’ Roll – (Z)ometh!ng_E/se? EP. launch ซึ่งวงได้ครีเอตโชว์พิเศษที่ตั้งใจเรียงร้อยและดึงเอาการถ่ายทอดหลายหลายรูปแบบดีไซน์มาสำหรับโอกาสพิเศษ รวมถึงการตีความบทเพลงเดิมในอารมณ์ที่ไม่เหมือนเดิม ซึ่งทำให้โชว์ในวันนั้นเป็นอีกครั้งที่ตรึงคนที่ยืนอยู่ใน Mr. Fox ในวันนั้นเข้าไปอยู่ในห้วงเวลาอิ่มเอมใจ  


ความหมายของการร่วมเดินทางระหว่าง PLAY YARD และ Zweed n’ Roll

“พวกเขาเป็นความทรงจำพาร์ทนึงในการใช้ชีวิตของเรา ที่ไม่หายไปจากชีวิตแน่นอน เป็นหมุดภาพที่เมื่อพูดถึงก็จะมีวงนี้อยู่เสมอ นึกถึงช่วงเวลาที่ได้เป็นส่วนหนึ่งกับวงนี้ จะเรียกว่าเป็นหนึ่งในเหตุการณ์สำคัญก็ได้”

สิ่งหนึ่งที่ทำให้มนุษย์ยังคงอยู่คือการได้มีความหมายต่อคนอื่น ความสัมพันธ์ระหว่าง โบ๊ท - ธัญธรวิชญ์ ของ PLAY YARD และ Zweed n’ Roll ก็เป็นตัวแทนของประโยคข้างต้นที่พิสูจน์ให้เราได้เห็น ถึงแม้การเดินทางร่วมกันจะจบลง แต่เขาเองก็ยังเฝ้ามองและคอยเป็นกำลังใจให้กับวงนี้ที่มีจุดเริ่มต้นจากร้านเหล้าแห่งหนึ่งในซอยลาดพร้าวซอย 8 

เมื่อเราเติบโตขึ้นมีภาระหน้าที่ต้องรับผิดชอบ ความเครียดเริ่มถามหา การได้มีช่วงชีวิตหนึ่งที่มีความหมายที่สามารถย้อนกลับไปคิดถึงแล้วรู้สึกสนุกกับมัน หัวเราะกับการตัดสินใจบ้าบิ่น ใช้เพียงสัญชาตญาณในการลงมือ ช่วงเวลาเหล่านี้จะบันทึกติดตัวไปกับเราเช่นเดียวกับที่ โบ๊ท - ธัญธรวิชญ์ และวงนี้ได้มีร่วมกันในจังหวะชีวิตที่ได้มาพบกันในวันเวลาที่ได้ปลดปล่อยตัวเอง


เพลยยาร์ดไม่ใช่สถานที่…แต่คือผู้คน

สำหรับใครที่คุ้นเคยกับเพลย์ยาร์ด คำนี้เหมือนเป็นสโลแกนประจำที่สะท้อนคาแรคเตอร์ซึ่งทำให้ทุกคนที่เคยมาสนามเด็กเล่นของผู้ใหญ่แห่งนี้หลงรักและต้องแวะเวียนกลับมาอีกครั้งพร้อมเพื่อนหน้าใหม่ กลายเป็นสถานที่ประจำที่คนคอเดียวได้มารวมตัว

“เราทุกคนควรมีสิทธิที่จะได้พูดในสิ่งที่ตัวเองคิด นักดนตรีเองก็เช่นเดียวกัน คนอื่นจะชอบหรือไม่เป็นอีกเรื่องนึง ดังนั้นพื้นที่จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้คนได้เฉิดฉายออกมา แต่ในยุคนั้นบ้านเรามันไม่มีพื้นที่แบบนี้อยู่ จึงทำให้คนประเภทเดียวมารวมกันที่นี่ นั่นจึงเป็นเรื่องของผู้คนมากกว่าสถานที่ เพราะมันสามารถเป็นที่ไหนก็ได้ แต่ยังสามารถสร้างโมเม้นท์เดียวกันแบบนี้เกิดขึ้นด้วยเจตนารมณ์แบบเดิม”


สิ่งที่เพลยยาร์ดให้กับชายที่ชื่อ ‘โบ๊ท’

ตลอด 7 ปีที่ร้าน PLAY YARD เปิดมาได้มอบความสุขให้กับผู้คนและโอกาสให้กับนักดนตรีที่มีความสามารถได้มาปล่อยของ เราจึงอยากรู้ว่าแล้วสำหรับ โบ๊ท - ธัญธรวิชญ์ ชายผู้รันพื้นที่แห่งนี้ ที่นี่ได้มอบอะไรให้กับเขาบ้าง ประตูบานนี้ได้ทำให้เขาได้เจอได้โลกใหม่และวงดนตรีหลากหลายแนวที่ไม่เคยคิดว่าจะมีในประเทศนี้ 

“สนุกดีครับ แม้ร่างกายจะเจ็บช้ำ ในตอนนั้นเราทุ่มเทกับร้านเต็มที่ แต่เรายังจัดการตัวเองไม่เป็น เอาความรู้สึกลงไปเล่นเยอะ มันก็เลยเหนื่อย จริงๆ เราได้เรียนรู้คนและการทำธุรกิจ ที่สำคัญได้เห็นสิ่งที่เรียกว่า Magic Monent ระหว่างนักดนตรีกับแฟนคลับมันมีอยู่จริง พลังงานที่ดีเหล่านี้มันก็ส่งมาถึงเราด้วยเช่นกัน”


ทำในสิ่งที่ตัวเองรู้สึกแล้วก็ทำต่อไป 

เมื่อถามถึงสิ่งที่อยากฝากบอกกับ Zweed n’ Roll โบ๊ท - ธัญธรวิชญ์ ที่เห็นวงนี้ตั้งแต่ตอนที่กำลังฟักไข่ ก่อนออกมาเป็นตัวตนเฉิดฉายอย่างที่เราเห็น เขานิ่งคิดแล้วตอบกลับมาสั้นๆ 

“ทำในสิ่งที่ตัวเองรู้สึกแล้วก็ทำต่อไป เพราะมันก็เป็นสิ่งเดียวกันกับที่เรายึดถือมาตลอดตั้งแต่เริ่มทำเพลยยาร์ด และเป็นสิ่งที่บอกกับวงเสมอในช่วงเวลาที่ได้ใกล้ชิดกัน เพราะมันจะทำให้เราเคารพตัวเอง”


ตำนานหมูกรอบเพลยยาร์ดเนเวอร์ดาย

หมูกรอบร้านนี้คือเมนูที่เป็นลายเซ็นและเป้าหมายให้คนเดินทางมาชิม แม้ไม่ต้องเข้าร่วมชมดนตรีใน Live House ถ้ามาแล้วไม่สั่งก็เหมือนมาไม่ถึง ร้าน PLAY YARD งั้นเรามาสืบที่มาที่ไปของเมนูนี้กันดูสักหน่อย 

ขอบคุณภาพจากเฟซบุ๊กร้าน หมีแฟมิลี่

“เราไปชวนเชฟโหน่งเป็นเชฟที่เราชอบกินอาหารฝีมือเขาก่อนจะเปิดร้าน ก็เลยไปคุยกับเขาให้เชฟช่วยแนะนำคนมาทำงานให้ร้านที่กำลังเปิด แต่เชฟก็เสนอตัวมาทำเองให้ เขาถือเป็นเพชรที่เราไปเจอแล้วพามาทำให้คนรู้จัก จนกลายเป็นเชฟคู่บุญของร้าน”

ความพิเศษของหมูกรอบที่ ร้าน PLAY YARD เป็นเมนูลูกผสมที่ โบ๊ท - ธัญธรวิชญ์ และ เชฟโหน่งคิดค้นขึ้นมาร่วมกัน หมูกรอบที่เสิร์ฟคู่กับผักดองและซีอิ๊วหวาน สำหรับใครที่คิดถึงเมนูนี้ตามไปชิมได้ที่ หมีแฟมิลี่ สาขาประชาชื่นและสาขาพัฒนาการ 30


Live House Economy

สำหรับ โบ๊ท - ธัญธรวิชญ์ มองว่าสิ่งที่สำคัญสำหรับวงการดนตรีคือพื้นที่การแสดง ไม่ว่าจะแสดงดนตรีที่ไหน รูปแบบใด ที่ตั้งและการคมนาคมก็เป็นปัจจัยที่มีผลกับการตัดสินใจของผู้ชมเช่นกัน ความคึกคักของ Live House สามารถสะท้อนถึงเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศได้ในมิติที่น่าสนใจ เพราะถ้าคนมีเงินในกระเป๋าเหลือพอใช้จ่ายกับความสุนทรียะ เพื่อจรรโลงใจให้ชีวิต รวมไปถึงการเดินทางด้วยขนส่งสาธารณะที่สะดวกง่ายขึ้นก็เป็นเรื่องที่ต้องคิดถึง เหล่านี้เป็นรายละเอียดที่เอื้อให้คนอยากออกจากบ้านไปลิ้มรสการฟังดนตรี

ยิ่งมีพื้นที่การแสดงกระจายตัวใกล้บ้านคนทั่วไปมากขึ้น ก็ยิ่งจะทำให้วงการดนตรีประเทศเรามีเวทีให้นักดนตรีได้ทดลองและขัดเกลาพวกเขา พร้อมกับการสังเกตปฏิกิริยาของคนดู ยิ่งโชว์บ่อยครั้ง ยิ่งรู้จักตัวตนได้ดีขึ้น 

“เราไม่เคยคิดเลยว่าวงจะมาไกลขนาดนี้ เราแค่ทดลองทำแล้วขยับสเต็ปไปเรื่อยๆ เพราะไม่มีใครรู้อนาคต ถ้าอยากให้มีเพชรในวงการดนตรีมากขึ้นก็ต้องค้นหากันไปเรื่อยๆ หนีไม่พ้นต้องมีพื้นที่ให้เล่นเพื่อพวกเขาจะเฉิดฉายออกมา”

หากคุณเป็นอีกหนึ่งคนที่หลงใหลในเสียงเพลงจาก Zweed n' Roll เราขอเชิญคุณพบกับ ‘เล็ก Is More’ #3 Presents ‘Zweed n’ Roll’ Pride n’ Play ! ปลดล็อกตัวตนสนุกในแบบที่เป็นคุณ ในบรรยากาศสุดอบอุ่นที่จะชวนให้คุณคิดถึงช่วงเวลาสุดแสนพิเศษที่เคยมีความทรงจำกับวงด้วยเซ็ทลิสเพลงพิเศษหาฟังยาก ! งานนี้เราคัดสรรมาอย่างดี 

เพื่อนำเสนอตัวตนของพวกเขาในอีกมุมมอง ที่มีความต่างและหลากหลาย พร้อมพาทุกคนเติบโตไปด้วยกันในความทรงจำครั้งใหม่ ค่ำคืนวันเสาร์ที่ 15 มิถุนายน 2024 นี้ บนพื้นที่สุดพิเศษใจกลางเมืองอย่าง GLOWFISH SATHORN

สามารถซื้อบัตรได้แล้ววันนี้ที่ Thaiticketmajor รอบ Regular Ticket 799 บาท ตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคมเป็นต้นไป หรือ คลิกที่นี่