ณัฐ ยนตรรักษ์ : 50 ปี บนเส้นทางชีวิตนักเปียโน ครู และ คีตกวี

ณัฐ ยนตรรักษ์ : 50 ปี บนเส้นทางชีวิตนักเปียโน ครู และ คีตกวี

เส้นทาง 50 ปีของณัฐ ยนตรรักษ์ที่เรียนคณะสถาปัตของนักเปียโน แต่การมีคอนเสิร์ตเปียโนของตัวเองเป็นครั้งแรก ทำให้เป็นจุดเริ่มต้นของการเป็นครู คีตกวี และผู้สร้างสรรค์สิ่งดีๆ ให้แก่สังคมด้วยดนตรี

KEY

POINTS

  • ณัฐ ยนตรรักษ์ เติบโตในครอบครัวดนตรี วัยเด็ก เขาชนะเลิศการแข่งขันเปียโน Siam Music Festival ครั้งที่ 1 ที่จัดโดยสยามกลการ และได้รับรางวัลเป็นเปียโนหนึ่งหลัง พ่วงด้วยตำแหน่งรองชนะเลิศด้านอิเล็คโทน
  • เขาเคยเป็นทูตวัฒนธรรมให้กับประเทศไทยในการเชื่อมสัมพันธ์กับนานาประเทศผ่านเสียงดนตรี โดยเป็นศิลปินไทยคนแรกที่ได้รับมอบเครื่องอิสริยาภรณ์ “Bene Merito” จากกระทรวงการต่างประเทศ
  • ความสำเร็จ 50 ปี เขาบอกว่าไม่ได้เกิดจากเขาคนเดียว แต่เกิดจากโอกาสและแรงสนับสนุนจากคนรอบตัว

ปัจจุบัน เครื่องดนตรีที่นิยมมากที่สุดในแวดวงดนตรีคลาสสิกของเมืองไทย คงหนีไม่พ้น “เปียโน” ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีที่สามารถแสดงออกถึงความไพเราะได้อย่างกว้างขวางและลึกซึ้ง ในขณะที่ศิลปินหรือครูดนตรีด้านเปียโนในบ้านเรา มีทั้งปริมาณและคุณภาพที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่หากย้อนกลับไปเมื่อ 50 ปีที่แล้ว การจะเรียนเปียโนนั้น ไม่ใช่สิ่งที่ทำได้ง่ายนัก ยิ่งการเป็นนักเปียโนอาชีพแล้ว ยิ่งยากขึ้นไปอีก

แต่ชายหนุ่มคนหนึ่ง ซึ่งกำลังเรียนวิชาสถาปัตยกรรมอยู่ในขณะนั้น กลับมีโอกาสได้แสดงคอนเสิร์ตเปียโนของตัวเองเป็นครั้งแรก และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นของเส้นทางการเป็นนักเปียโน ครูดนตรี คีตกวี และผู้สร้างสรรค์สิ่งดีๆ ให้แก่สังคมด้วยดนตรี 

ชายหนุ่มผู้นั้น มีชื่อว่า ณัฐ ยนตรรักษ์

ณัฐ ยนตรรักษ์ : 50 ปี บนเส้นทางชีวิตนักเปียโน ครู และ คีตกวี

ชายผู้ทำตามฝัน จากสถาปนิก สู่นักเปียโนอาชีพ

เมื่อ 50 ปีที่แล้ว ณัฐ ยนตรรักษ์ ในวัย 20 ปี ได้จัดแสดงคอนเสิร์ตของตนเอง ในฐานะนักเปียโนเป็นครั้งแรก เพื่อเป็นการสอบจบประกาศนียบัตรขั้นสูงสุด (FTCL) ของ Trinity College of Music London ซึ่งเทียบเท่าระดับปริญญาตรี ทั้งที่ขณะนั้นเขากำลังศึกษาระดับปริญญาตรีที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

ณัฐไม่ได้เริ่มต้นจากศูนย์องศาทางด้านดนตรี เขาเกิดมาในครอบครัวที่รักดนตรี มีเปียโนอยู่ในบ้าน และได้เรียนเปียโนเมื่อตอน 9 ขวบ รวมถึงเติบโตในชุมชนชาวคริสเตียน ที่การร้องเพลงและการเล่นดนตรีนมัสการเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เมื่อณัฐเล่นเปียโนได้ค่อนข้างดีแล้ว จึงได้รับหน้าที่ในการเล่นเปียโนให้แก่คณะนักร้องประสานเสียงทั้ งที่คริสตจักรสืบสัมพันธวงศ์และโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัยมาโดยตลอด และในขณะเดียวกันก็มุ่งมั่นเรียนเปียโนคลาสสิกกับ อาจารย์พันธิภา ตรีพูนผล ที่เป็นครูคนสำคัญของชีวิต เขาเป็นเด็กผู้ชายคนเดียวที่เดินเข้าออกโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย ซึ่งเป็นโรงเรียนหญิงล้วนได้ เพราะเขาเป็นนักเปียโนที่มาเล่นให้กับคณะประสานเสียงของโรงเรียน

ณัฐ ชนะเลิศการแข่งขันเปียโน Siam Music Festival ครั้งที่ 1 ที่จัดโดยสยามกลการ และได้รับรางวัลเป็นเปียโนหนึ่งหลัง พ่วงด้วยตำแหน่งรองชนะเลิศด้านอิเล็คโทน เมื่อตอนอายุ 16 ปี และเมื่อเขาเข้าเรียนที่จุฬาฯ มีการก่อตั้งชมรมนักร้องประสานเสียงจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือ CU Chorus ขึ้น เพื่อให้เขามาเล่นเปียโนให้อีกเช่นกัน

ณัฐ ยนตรรักษ์ : 50 ปี บนเส้นทางชีวิตนักเปียโน ครู และ คีตกวี

ถึงจะเป็นนิสิตคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ แต่ภายในหัวใจของณัฐยังคงเรียกร้องถึงการเป็นนักดนตรีมาตลอด ด้วยคำแนะนำและการสนับสนุนจาก รองศาสตราจารย์ทรงคุณ อัตถากร ผู้ซึ่งต่อมาเป็นผู้ก่อตั้งคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นแรงกระตุ้นให้ณัฐทำตามความฝัน โดยการไปศึกษาต่อทางด้านดนตรีที่ Goldsmiths’ College, University of London จนจบปริญญาตรี และได้รับทุนการศึกษาจนจบระดับปริญญาโททางด้านการแสดงเปียโนที่ Reading University ถึงเวลาแล้วที่เขากลับมาเพื่อดำเนินอาชีพนักเปียโนอย่างที่ฝันไว้

บนเส้นทางของนักเปียโนอาชีพ ณัฐเป็นนักเปียโนที่มีเส้นทางไม่เหมือนนักดนตรีทั่วไปนัก ณัฐได้รับการยกย่องทั้งในระดับชาติและนานาชาติ ณัฐเป็นศิลปินร่วมสมัยดีเด่น รางวัลศิลปาธร สาขาคีตศิลป์ โดยสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม ในปี พ.ศ. 2549 นับเป็นศิลปินทางด้านดนตรีคนที่ 3 ที่ได้รับรางวัลนี้ เป็นชาวไทยคนแรกที่ได้รับตำแหน่ง Steinway Artist ในปี พ.ศ. 2546 นับเป็นตำแหน่งอันทรงเกียรติมากที่สุดของวงการเปียโนระดับโลก จากแบรนด์เปียโน Steinway & Sons ที่ผลิตเปียโนที่หอแสดงดนตรีทั่วโลกเลือกใช้ ตำแหน่ง Steinway Artist นั้นมิใช่ได้มาเพราะเขาเป็นศิลปินที่มีเปียโน Steinway ในครอบครองมากที่สุดในประเทศไทย แต่เพราะนายช่างใหญ่ของแบรนด์ระดับโลก ซึ่งเป็นช่างจูนเปียโนให้กับ Vladimir Horowitz นักเปียโนระดับตำนาน ให้การรับรอง หลังจากที่เขาได้ยินการบรรเลงของณัฐ ณัฐ ยนตรรักษ์ : 50 ปี บนเส้นทางชีวิตนักเปียโน ครู และ คีตกวี นอกจากนั้น ณัฐเป็นทูตวัฒนธรรมให้กับประเทศไทยในการเชื่อมสัมพันธ์กับนานาประเทศผ่านเสียงดนตรี โดยเป็นศิลปินไทยคนแรกที่ได้รับมอบเครื่องอิสริยาภรณ์ “Bene Merito” จากกระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐโปแลนด์มอบให้แก่บุคคลผู้มีผลงานโดดเด่นในการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศโปแลนด์กับประเทศอื่นๆ ในโลก และเครื่องอิสริยาภรณ์อื่นๆ เช่น เครื่องอิสริยาภรณ์ชั้นอัศวินจากประธานาธิบดีอิตาลี เพื่อยกย่องบุคคลที่มีผลงานในการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอิตาลีและประเทศอื่นๆ ที่โดดเด่นในระดับนานาชาติ (Cavaliere dell’Ordine della Stella d’Italia) เครื่องอิสริยาภรณ์จากกระทรวงวัฒนธรรมและมรดกแห่งชาติประเทศโปแลนด์ (Meritorious for Polish Culture) ซึ่งเป็นสิ่งที่ภาคภูมิใจที่ได้เป็นตัวแทนประเทศไทยบนเวทีโลก และทั้งหมดนี้ เกิดขึ้นจากการที่ณัฐ ยนตรรักษ์ นำเพลงไทยออกสู่เวทีโลกมากมาย รวมถึงการสร้างและออกแบบหอแสดงของตัวเอง ชื่อว่า “ศาลาสุทธสิริโสภา” หอแสดงที่มีสภาพอะคูสติกที่ดีที่สุดในประเทศไทย สถานที่ที่ทำให้เกิดความร่วมมือระหว่างประเทศมาตลอด 12 ปี ที่ผ่านมา

50 ปี ของการผ่านร้อนผ่านหนาวมามากมาย ณัฐ ยนตรรักษ์ เป็นศิลปินที่ก้าวเข้าสู่ศิลปินระดับปูชนียบุคคลที่ไม่ธรรมดาคนหนึ่งของวงการดนตรีคลาสสิกในประเทศไทย ในฐานะนักเปียโนคลาสสิกคนเดียวในประเทศไทยที่ยังคงสถิติศิลปินเดี่ยวในวงการที่สามารถจัดการแสดงคอนเสิร์ตเดี่ยวที่หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย (ความจุ 1,612 ที่นั่ง) ชนิดที่ว่าเอาอยู่มาจนถึงปัจจุบัน 

ในบทสัมภาษณ์นี้ The People ขอพาทุกคนไปรู้จักกับศิลปินที่ไม่ธรรมดาท่านนี้ อันที่น่านับถือยิ่งของผู้คนในวงการ

พิธีมอบเครื่องอิสริยาภรณ์ Bene Merito จากกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐโปแลนด์ เมื่อเมษายน2024

 

The People : จุดเริ่มต้นการเป็นนักเปียโนของอาจารย์คืออะไร 

ณัฐ ยนตรรักษ์ : การเป็นนักเปียโนของผมเริ่มต้นมาตั้งแต่เด็กแล้ว ที่ไปเป็นนักเปียโนในโบสถ์ ไปเล่นให้คณะนักร้องประสานเสียงสถาบันต่างๆ ส่วนด้านเปียโนคลาสสิกนั้น ผมถือว่าการรีไซทัลสอบจบของประกาศนียบัตรของ Trinity College นั้น เป็นการแสดงในฐานะนักเปียโนเต็มตัวเป็นครั้งแรก ซึ่งตอนนั้นผมอายุ 20 ปีพอดี และปีนี้ผมกำลังจะอายุ 70 ปี จึงเป็นที่มาว่า ปีนี้เป็นปีที่ครบรอบ 50 ปี การเป็นนักเปียโนของผม 

ตอนที่ผมเรียนจบมัธยม ผมอยากจะเรียนทางด้านเปียโนไปเลย แต่เมืองไทยในสมัยนั้นไม่มีที่ให้เรียนจนจบปริญญาได้ ผมเลยไปสอบเข้าคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ แต่ในระหว่างนั้นผมก็เรียนเปียโนคลาสสิกไปด้วยอย่างเข้มข้น จนถึงปี 3 ที่ผมแสดงรีไซทัลครั้งแรก ผมก็ยิ่งอยากเป็นนักเปียโนมากขึ้นไปอีก แต่ผมก็ยังเรียน สถาปัตย์จนจบเกียรตินิยมอันดับ 2 แต่พอเรียนจบ ใจเราอยากเรียนเปียโน อยากเป็นนักเปียโน จึงตัดสินใจไปเรียนต่อที่อังกฤษ ได้ไปเรียนปริญญาตรีใหม่ในด้านดนตรี และสอบชิงทุนได้เรียนปริญญาโทด้านเปียโน ได้เรียนองค์ความรู้ทุกอย่าง ที่จะต้องมาเป็นนักดนตรีคลาสสิก ทั้งเรียนทฤษฎี เรียนแต่งเพลง เรียนปฏิบัติการบรรเลงเปียโนขั้นสูง และต้องแสดงคอนแชร์โตกับวงออร์เคสตราด้วย ทำให้พื้นฐานของเราแน่นขึ้นในทุกด้าน และเมื่อกลับมาเมืองไทยก็ได้ทำอาชีพเป็นนักเปียโน หรือที่เรียกว่า Concert Pianist เป็นหลัก

ณัฐ ยนตรรักษ์ : 50 ปี บนเส้นทางชีวิตนักเปียโน ครู และ คีตกวี

The People : เมื่อก่อนเมืองไทยแทบไม่มีนักเปียโนเลย แล้วการเป็น Concert Pianist ในสมัยนั้น อาจารย์ทำอะไรบ้าง?  

ณัฐ ยนตรรักษ์ : แน่นอนว่าเป็นการแสดงคอนเสิร์ตเพลงคลาสสิก ทั้งที่แสดงเดี่ยวที่มีอยู่อย่างสม่ำเสมอและแสดงกับวงออร์เคสตรา ทั้งในประเทศและต่างประเทศ อาทิ Tashkent Symphony Orchestra, North York Symphony Orchestra, Hamburg Youth Orchestra, Kunming Symphony Orchestra, San Tiago Symphony Orchestra, Milal Missionary Choir and Orchestra, วงดุริยางค์กองทัพเรือ, Royal Bangkok Symphony Orchestra, Thailand Philharmonic Orchestra, Bangkok Combined Choir and Orchestra 

นอกจากนี้ ผมก็มีออกอัลบั้มเดี่ยวเปียโนเพลงป๊อป ทั้งที่ผลิตและจำหน่ายเอง ได้แก่ “เพ้อจันทร์” (2522) “คนเดียวในดวงใจ” (2525) “พ-วงเดือน” (2527) เพลงในอัลบั้มเหล่านี้จะมีทั้งเพลงที่ผมแต่งเอง และเพลงที่นักดนตรีรุ่นก่อนๆ แต่งไว้ เป็นเพลงร้อง เช่น เพลงของคุณหญิงพวงร้อย อภัยวงศ์ เพลงบัวขาว เงาไม้ แต่ผมเอามาทำเป็นเพลงบรรเลงในลักษณะ Songs without Words และอัลบัมที่ร่วมงานกับบริษัท แกรมมี่ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด (หรือ บริษัท GMM Grammy ในปัจจุบัน) ที่นำเพลงยอดนิยมของแกรมมี่มาเรียบเรียงเป็นดนตรีเดี่ยวเปียโน ได้แก่ “เปียโนกับปลายนิ้ว” (2531) “เงียบๆ คนเดียว” (2535) “พักตรงนี้” (2535) ซึ่งผลงานที่กล่าวมานี้ ในยุคนั้นอาจจะทำให้ผมมีชื่อเสียงมากกว่าการแสดงดนตรีคลาสสิกเสียด้วยซ้ำ

อีกบทบาทหนึ่งของผมที่คนยุคปัจจุบันอาจจะไม่ทราบ คือผมเคยเขียนบทวิจารณ์ดนตรีลงหนังสือพิมพ์ เดอะเนชั่น บางกอกโพสต์ และนิตยสารสตรีสารด้วย แต่ทำมาได้สักระยะ ก็รู้สึกว่าเราเองเป็นศิลปิน การที่เรามีปากกาแล้วไปวิจารณ์คนอื่นนั้นไม่ควร ประกอบกับการแสดงคอนเสิร์ตของตัวเองมีมากขึ้น เลยเลิกเขียน และต่อมาก็ได้ไปทำรายการแนะนำดนตรีคลาสสิก ออกอากาศทางโทรทัศน์หลายช่อง ทั้งช่อง 3  ช่อง 5 และช่อง 9 เพื่อให้คนรู้จักดนตรีคลาสสิกมากขึ้น ทั้งที่ทำรายการเอง เขียนสคริปต์เอง เล่นเอง และซื้อรายการแสดงดีๆ พวกซิมโฟนีหรือบัลเลต์จากต่างประเทศมาออกอากาศ ทำอยู่ได้ 5 ปี ช่วงนั้นลูกเริ่มโต ก็เลยต้องเลิกไปอีกเช่นกัน แต่ภูมิใจและดีใจที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเผยแพร่ดนตรีคลาสสิกสู่สังคมไทย

The People : จากนักเปียโน มาเป็นครูดนตรี ครูเปียโนได้อย่างไร

ณัฐ ยนตรรักษ์ : จริงๆ แล้วที่ผมไปเรียนที่ประเทศอังกฤษจนจบปริญญาโท ก็เพื่อกลับมาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย คือว่าที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กำลังจะจัดตั้งคณะศิลปกรรมศาสตร์ ท่านอาจารย์ทรงคุณ อัตถากร ซึ่งเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาของผม และเป็นผู้ก่อตั้งคณะศิลปกรรมศาสตร์ ก็เป็นผู้ผลักดันให้ผมไปเรียนต่อเพื่อกลับมาเป็นอาจารย์ที่นี่ แต่บังเอิญว่าเมื่อผมเรียนจบกลับมาเมืองไทย การจัดตั้งคณะศิลปกรรมศาสตร์ยังไม่แล้วเสร็จ ผมจึงมาเปิดโรงเรียนของตัวเองก่อน ในชื่อ “ณัฐ สตูดิโอ” (Nat Studio) เพื่อสอนเปียโนให้แก่เยาวชนและผู้สนใจ ส่วนที่คณะศิลปกรรมศาสตร์ ผมก็ไปช่วยสอนอยู่ 5-6 ปี แต่เมื่อภารกิจในการเล่นคอนเสิร์ตและการสอนที่บ้านมากขึ้น จึงต้องเลิกการสอนที่มหาวิทยาลัยไป ซึ่งศิษย์เก่าของณัฐสตูดิโอ ได้กลายนักเปียโนระดับแนวหน้าของไทยมากมาย แน่นอนว่าผมในฐานะครูย่อมมีความภาคภูมิใจที่ได้มีส่วนช่วยพัฒนาวงการเปียโนในบ้านเรา
ณัฐ ยนตรรักษ์ : 50 ปี บนเส้นทางชีวิตนักเปียโน ครู และ คีตกวี

The People :แล้วการเป็นคีตกวีหรือนักแต่งเพลง เริ่มต้นมาได้อย่างไร 

ณัฐ ยนตรรักษ์ : ช่วงวัยหนุ่ม ผมแต่งเพลงสั้นๆ ที่แสดงความรู้สึกของตัวเองมาบ้างแล้ว เช่นเพลง “เพ้อจันทร์” “คิดถึงเธอ” “รักฉันจริงรึเปล่า...นะ!” “เพื่อนแท้” ฯลฯ เพลงเหล่านี้อาจจะเป็นเพลงสั้นๆ แต่ก็กลั่นออกมาจากความรู้สึกในแง่ประสบการณ์ส่วนตัวของผม นับว่าเป็นเพลงยุคแรกของผม เป็นผลงานเพลงป๊อปสำหรับเดี่ยวเปียโน 

แต่แล้วผมได้รับคำแนะนำจากท่านแม่ (พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าสุทธสิริโสภา) ผู้อุปถัมภ์ชีวิตของผม ที่อยากให้คนไทยได้มีโอกาสฟังเพลงไทยในคอนเสิร์ต จึงเป็นที่มาของการเริ่มแต่งเพลงของผมอย่างจริงจังมากขึ้น ผมเริ่มนำเพลงไทยเดิมมาผสมผสานกับการประพันธ์เพลงตามแบบตะวันตก จนเกิดเป็นเพลง “ไก่แก้ว” ซึ่งนำทำนองหลัก คือ เพลงลาวจ้อย (หรือที่เรารู้จักกันดีในเพลงไก่ฟ้า) ซึ่งเป็นเพลงที่ใช้ในการแสดงระบำไก่จากบทประพันธ์เรื่องพระลอ มาแปรผันทำนอง หรือ variations ให้มีความหลากหลาย ให้ความรู้สึกเป็นประกายวิบวับตลอดทั้งเพลง เพลงนี้ได้บรรเลงในพิธีเปิดอาคารศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2530 

หลังจากนั้นผมเริ่มแต่งเพลงที่เริ่มมีความซับซ้อนมากขึ้น โดยเริ่มจากบทประพันธ์ในปี 2537 เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงครองสิริราชสมบัติ ครบ 50 ปี ซึ่งผมได้รับคำแนะนำมาจาก คุณหญิงมาลี สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ให้นำทำนองจากบทเพลงพระราชนิพนธ์ของพระมหากษัตริย์ราชวงศ์จักรีมาร้อยเรียงเป็นเพลงเปียโนขนาดใหญ่ จนเกิดเป็นเพลงเปียโนโซนาต้าบทแรกของประวัติศาสตร์ดนตรีคลาสสสิกในประเทศไทย กับโซนาต้าหมายเลข 1 มีชื่อว่า “ถวายชัยคีตมหาราชา” (Glory to our Great Kings) ซึ่งทำนองหลักของเพลง นำมาจากเพลงพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 2 รัชกาลที่ 7 และรัชกาลที่ 9  นำมาเรียงร้อยท่วงทำนองผสมผสานระหว่างดนตรีไทยเดิมและดนตรีไทยร่วมสมัย และได้มีโอกาสทำการแสดงในประเทศต่างๆ รวม 11 ประเทศ รวมทั้งการแสดงที่อาคารสหประชาชาติ กรุงนิวยอร์ก เมื่อครั้งที่ฉลองการก่อตั้งองค์การสหประชาชาติ ครบ 50 ปี เช่นกัน และได้บรรเลงมาแล้วเกือบ 100 ครั้ง

แสดงกับ Bangkok Combined Choir & Orchestra มีนาคม 2024

ต่อมา เปียโนโซนาต้า หมายเลข 2 นั้น มีชื่อว่า “ถวายบังคมนวมินทรราชา” (Homage to H.M. King Rama the Ninth) เป็นบทเพลงที่ประพันธ์เนื่องในวโรกาสมหามงคล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระชนมายุครบ 72 พรรษา โดยนำเค้าโครงทำนองมาจากเพลง “เชิดจีน” ซึ่งเป็นบทเพลงเดี่ยวระนาดของหลวงประดิษฐ์ไพเราะ มาประยุกต์ใช้ร่วมกับเทคนิคการประพันธ์เพลงแบบตะวันตก ซึ่งผมต้องยอมรับว่า ผมเองไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านดนตรีไทย การได้มาซึ่งแนวทำนองก็ต้องอาศัยความอนุเคราะห์จาก ครูสุดจิตต์ ดุริยประณีต ศิลปินแห่งชาติ ซึ่งเป็นครูผู้ใหญ่ในด้านดนตรีไทย ที่ท่านช่วยถ่ายทอดทำนองของเครื่องดนตรีแต่ละชิ้นให้ 

ต่อมาผมได้ประพันธ์บทเพลงเปียโนโซนาต้า หมายเลข 3 ชื่อ “สยามโซนาตา” (Siam Sonata) ขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสทรงมีพระชนมายุครบ 75 พรรษา ในปี 2545 เป็นการนำเสนอเอกลักษณ์ไทยทั้ง 4 ภาค ผ่านการเดี่ยวเปียโน โดยแบ่งเป็น 4 กระบวน เป็นตัวแทนของภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคใต้ เป็นการนำเอกลักษณ์ของบทเพลงในแต่ละภาคมาประพันธ์ให้เกิดความผสานกลมกลืนแสดงให้เห็นถึงประเทศสยามที่มีความแตกต่างทางด้านวัฒนธรรมพื้นถิ่นของแต่ละภาค แต่สามารถอยู่ร่วมกันบนความแตกต่างอย่างกลมกลืนได้ 

และบทเพลงล่าสุดที่ผมได้ประพันธ์ คือ “ลิเกโซนาต้า บุตรน้อยหลงหาย” ที่นำทำนองลิเกผสมผสานกับเปียโนแสดงคู่กับกลองตะโพนและเครื่องเคาะหลากชนิด โดยนำแรงบันดาลใจจากเนื้อเรื่องในพระคัมภีร์ไบเบิ้ลว่าด้วยเรื่องราวของการให้อภัยในครอบครัว โดยทำนองเพลงลิเกนั้น ได้รับความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญดนตรีไทย คือ อาจารย์อานันท์ นาคคง และ ร้อยเอกสมนึก แสงอรุณ ให้การแนะนำท่วงทำนองที่เหมาะสมกับการแสดงลิเก แล้วผมจึงเอามาคิดต่อให้เป็นเปียโน ร่วมกับวูกัช ลูกเขย ที่แต่งในส่วนของกลุ่มเครื่องกระทบ (Percussion) เป็นอีกบทเพลงที่ได้เผยแพร่มาแล้วใน 7 ประเทศทั่วยุโรป และประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามในงานเชียงรายเบียนนาเล่เมื่อปลายปี 2566 ที่ผ่านมา

ทำนองเพลงไทยเป็นขุมทรัพย์อันมหาศาลที่เราใช้อย่างไรก็ไม่มีหมด เท่าที่ผมได้ใช้ไปนั้นก็เพียงแค่ส่วนหนึ่งเท่าที่ผู้รู้ท่านแนะนำให้ และเพลงเหล่านี้ทำให้ผมมีอะไรที่ชาวตะวันตกเขานิยมชมชอบและตามหา เพราะเขาอยากรู้จักเราผ่านสื่อกลางที่เขาสามารถเข้าถึงได้ นี่เป็นสิ่งสำคัญที่ผมอยากให้ศิลปินไทยรุ่นใหม่มองเห็นคุณค่าของวัฒนธรรมของเราให้มากขึ้น  

ส่วนอิทธิพลในด้านการประพันธ์ของผมนั้น ผมเองก็มีคีตกวีที่ผมชื่นชอบและชื่นชมอย่างเช่น บาค โมสาร์ต เบโธเฟน ชูเบิร์ต โชแปง และลิสต์ หลักการแต่งเพลงของผมก็ง่ายนิดเดียว แต่ทำให้ดีได้ยาก นั่นก็คือ ต้องแต่งเพลงให้จับใจผู้ฟัง เพราะคีตกวีเหล่านี้ท่านแต่งเพลงได้จับใจผู้ฟังอย่างยิ่ง ผมก็อยากทำได้แบบพวกท่านเหล่านี้บ้าง 

ท้ายที่สุดการแต่งเพลงของผม ไม่ได้เกิดจากการว่าจ้างแต่อย่างใด เราไม่ต้องรอใครจ้างถึงจะทำ หน้าที่ของศิลปินคือการสร้างผลงานเพื่อคงไว้ซึ่งวัฒนธรรมและสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้คนผ่านความสามารถ พรสวรรค์และพรแสวงที่เรามี ไม่ต้องรอใครมาจ้างแล้วถึงจะทำ 


The People : ถึงแม้อาจารย์เองเรียนจบสถาปัตย์ฯ ท้ายที่สุดกลายเป็นนักเปียโน แต่อาจารย์ก็ไม่ได้ทิ้งความรู้ที่พร่ำเรียนมา นั่นจึงเป็นที่มาของหอแสดงของตัวเอง ?

ณัฐ ยนตรรักษ์ : ใช่ครับ ผมฝันมาตลอดว่าอยากจะสร้างหอแสดงของตัวเอง หลังจากที่เราได้มีโอกาสเดินทางไปแสดงมาทั่วโลก เราเห็นว่าประเทศไทยขาดอะไร แล้วผมอยากใช้ความรู้ความสามารถของผมเติมสิ่งนั้น จึงเป็นที่มาของการสร้างโรงแสดงคอนเสิร์ต “ศาลาสุทธสิริโสภา” เมื่อ 12 ปีก่อน โดยอัญเชิญพระนามของผู้อุปถัมภ์ชีวิตของผม พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าสุทธสิริโสภา เพื่อระลึกถึงพระคุณของท่านในชีวิตของผม และเป็นอนุสรณ์ให้กับคนรุ่นหลังได้ทราบถึงคุณงามความดีของท่านที่ได้ช่วยเหลือผู้คนมากมาย

การสร้างศาลานั้น เราได้รับความช่วยเหลือจากคนผู้ใหญ่หลายท่าน ได้แก่ หม่อมราชวงศ์สุนิดา กิติยากร (ลูกสาวของท่านแม่) คุณเจริญ-คุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี คุณกมลวัน บุณยัษฐิติ หรือแม้กระทั่งไม้สักทองทั้งหมดของศาลาสุทธสิริโสภามาจากไม้เรือนเก่าภาคเหนือที่เจ้ายาย (เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ มารดาคุณน้ำตาล) สะสมไว้ทั้งหมด เครื่องปรับอากาศที่เงียบกริบเหมาะกับการอัดเสียงที่คุณพรเทพ พรประภา ก็ให้ความช่วยเหลือ รวมถึงลิฟต์มาจากการบริจาคของผู้ปกครองนักเรียน 

เป้าหมายของศาลาสุทธสิริโสภา คือ ให้มีเวทีที่ศิลปินจะได้แสดงออกถึงความสามารถ โดยผมเป็นผู้ออกแบบด้วย เพื่อให้เป็นสถานที่สำหรับแสดงดนตรีที่ผู้ชมและผู้ฟังจะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันผ่านเสียงดนตรี จากระบบเสียงธรรมชาติของหอ ซึ่งให้ลักษณะของเสียงที่ดีเยี่ยมที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย รองรับผู้ชมได้ประมาณ 180 ที่นั่ง

แสดงกับวง TPO ธันวาคม 2020 คอนเสิร์ตเปิด season ที่ทำสถิติศิลปินไทยที่มียอดผู้ชมสูงที่สุด

The People : ผ่านมาปีที่ 50 อาจารย์ณัฐกำลังจะจัดคอนเสิร์ตเพื่อฉลองหมุดหมายสำคัญบนเส้นทางดนตรีกับ 50 ปี ณัฐ ยนตรรักษ์ The Pianist อาจารย์ช่วยบอกถึงจุดมุ่งหมายในการจัดคอนเสิร์ตครั้งนี้

ณัฐ ยนตรรักษ์ : ผมคิดว่าชีวิตของผม ที่ประสบความสำเร็จมาได้จนถึงทุกวันนี้ เพราะผมได้รับโอกาสที่ดีและการสนับสนุนจากคนรอบข้างเสมอมา และผมเชื่อว่าการสร้างโอกาส การส่งต่อโอกาสให้ผู้อื่นเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง 

ผมและครอบครัวมีวันนี้ได้ เพราะเราได้รับโอกาสที่ผู้มีพระคุณ ครูบาอาจารย์ ผู้อุปถัมภ์ มิตรสหาย และเพื่อนศิลปิน หยิบยื่นให้โดยตลอด ดังนั้น ในวาระที่ผมอยู่ในวงการดนตรีครบ 50 ปี กับคอนเสิร์ต “50 Years Nat Yontararak The Pianist” ผมอยากส่งต่อ “โอกาส” ที่ได้ผมเองเคยได้รับ ต่อให้ศิลปินรุ่นหลังต่อไป ด้วยการมอบรายได้จากการขายบัตรคอนเสิร์ตครั้งนี้ ให้แก่ “กองทุนส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย” เพื่อสนับสนุนศิลปินรุ่นใหม่ไม่จำกัดแขนง ไม่ว่าจะเป็น ทัศนศิลป์ ศิลปะการแสดง ดนตรี วรรณศิลป์ สถาปัตยกรรม มัณฑนศิลป์ เรขศิลป์ ภาพยนตร์ และการออกแบบเครื่องแต่งกาย เพื่อเปิดโอกาสให้ศิลปินรุ่นหลังได้รับการสนับสนุนทางด้านทุนทรัพย์จากกองทุนฯ ในการสร้างสรรค์ผลงานอย่างกว้างขวางมากขึ้นที่นี่ คือสิ่งที่ผมอยากเริ่มต้นเป็นแบบอย่างและร่วมเป็นขวัญกำลังใจให้กับน้องๆ ศิลปินในการเดินทางในสายอาชีพนี้ต่อไปอย่างยั่งยืน

การแสดงครั้งนี้ เป็นรวบรวมบทเพลงทรงคุณค่าตลอดชีวิตผม ได้แก่ เพลง “ไก่แก้ว” ซึ่งเคยแสดงในงานเปิดศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยครั้งแรกเมื่อปี 2530 “เพ้อจันทร์” เพลงที่ทำให้ผมเป็นที่รู้จักในวงกว้าง “คิดถึงเธอ” ซึ่งเป็นเพลงแรกที่ผมแต่งทั้งเนื้อร้องและทำนองเอง และเพลง “เพื่อนแท้” “ถวายชัยคีตมหาราชา” “สยามโซนาต้า” และ “ลิเกโซนาต้า บุตรน้อยหลงหาย” ที่ได้ลูกเขยนักเพอร์คัสชั่นชาวโปแลนด์ วูกัช คูเชดโว มาดวลคู่กับผม และนาฏลีลาประกอบโดยทีมนักแสดงจากสถาบันคริสเตียนนิเทศสัมพันธ์ สภาคริสตจักรในประเทศไทย เรียกได้ว่าครบถ้วนทั้งเพลงขนาดย่อมและเพลงขนาดใหญ่ แสดงถึงวิวัฒนาการในการประพันธ์เพลงของผมตั้งแต่ยุคแรกจนถึงปัจจุบัน 

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในงานเฉลิมฉลองที่ยิ่งใหญ่ครั้งนี้ และร่วมสัมผัสความงดงามของบทเพลงที่สร้างแรงบันดาลใจมาตลอด 50 ปีของณัฐ ยนตรรักษ์ ในคอนเสิร์ต “50 Years Nat Yontararak The Pianist” ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ในวันที่ 16 สิงหาคม 2567 เวลา 19.00 น. บัตรราคา 3,000 / 2,500 / 1,800 และ 1,000 บาท สำรองที่นั่งล่วงหน้าได้ที่เว็บไซด์ www.thaiticketmajor.com