โน้ต 12 ตัวของ ‘ควินซี โจนส์’ ว่าด้วยชีวิตและความคิดสร้างสรรค์​

โน้ต 12 ตัวของ ‘ควินซี โจนส์’ ว่าด้วยชีวิตและความคิดสร้างสรรค์​

โน้ต 12 ตัวของ ‘ควินซี โจนส์’ สัญลักษณ์ของแก่นแท้ที่ใช้สร้างความหมายในชีวิตและงานสร้างสรรค์

บทนำ

‘12 Notes: On Life and Creativity’ เป็นหนังสือที่ ‘ควินซี โจนส์’ (Quincy Jones 1933 - 2024) โปรดิวเซอร์นามอุโฆษ เขียนขึ้น เพื่อตอบคำถามที่หลายคนสงสัยว่าอะไรคือ ‘สูตรสำเร็จ’ ที่ทำให้เขาก้าวจากคนธรรมดาจนกลายเป็นศิลปินระดับตำนาน 

ควินซี อธิบายในช่วงต้นของหนังสือว่า จริง ๆ แล้ว ไม่มีสูตรสำเร็จใด ๆ แต่เขาหวังว่าหนังสือเล่มนี้จะช่วยให้ผู้อ่านได้สัมผัสกับแนวคิดที่เป็นรากฐานของความสำเร็จ ควินซี ได้รับแรงบันดาลใจจากคำพูดของ ‘นาเดีย บูลองเชอร์’ (Nadia Boulanger 1887 - 1979) นักประพันธ์ดนตรีคนสำคัญแห่งคริสต์ศตวรรษที่ 20 ที่เป็นครูของเขา เธอบอกว่า “ในดนตรีมีเพียง 12 โน้ตเท่านั้นที่เราต้องสร้างสิ่งใหม่จากมัน” 

ไม่ว่าจะเป็นเพลงคลาสสิกของ ‘Bach’ หรือเพลงแจ๊สสมัยใหม่ ทุกคนต่างใช้ 12 โน้ตนี้ ควินซี จึงใช้คอนเซ็พท์นี้เพื่อสะท้อนถึง 12 บทเรียนที่สำคัญในชีวิต เริ่มบทแรกจากโน้ตตัว A ต่อเนื่องด้วย A# , B , C จนลงเอยด้วยโน้ต G# โดยเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนสามารถสร้างสรรค์และพัฒนาตนเองให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวขึ้นมาได้

เปลี่ยนความเจ็บปวดให้เป็นพลังสร้างสรรค์ (Recycle Your Pain into Purpose)

ควินซี เปิดหัวข้อแรก โน้ตตัว A ในหนังสือ บทเรียนสำคัญที่เขาเชื่อว่าหลายคนอาจหลีกเลี่ยงหรือมองข้ามไป นั่นคือการใช้ประสบการณ์ความเจ็บปวดในชีวิตให้กลายเป็นพลังสร้างสรรค์ ตามที่ทราบ ควินซี เติบโตขึ้นในย่านเซาธ์ไซด์ของนครชิคาโก ชุมชนที่เต็มไปด้วยความรุนแรงและความอัตคัดขัดสน การอยู่ในพื้นที่ที่เต็มไปด้วยความทุกข์ยาก ทำให้เขาเห็นความสำคัญของดนตรีที่ปลดปล่อยและสร้างพลังได้ ดนตรีเป็นที่พักใจที่ใช้ระบายและแสดงออกถึงอารมณ์ความคิดที่ไม่สามารถพูดออกมาได้

เหตุการณ์ฝังใจในวัยเด็กเกิดขึ้น เมื่อเขาไปเยี่ยมแม่ที่โรงพยาบาลจิตเวช หลังจากที่เธอป่วยหนักและต้องแยกจากครอบครัว ความทรงจำที่เห็นคนป่วยเดินวนไปมา บางคนกรีดร้อง บางคนหัวเราะเหมือนในฝันร้าย เขายอมรับว่าความเจ็บปวดนี้เป็นแผลลึกที่ไม่เคยเลือนหายไป แต่ควินซีเลือกที่จะไม่ปล่อยให้มันกัดกินใจ และตัดสินใจที่จะนำพลังอารมณ์เหล่านี้มาสร้างสรรค์ผลงานที่สะท้อนความรู้สึกนี้ออกมา
.
“ดนตรีไม่ใช่แค่สิ่งที่ผมทำ แต่เป็นวิธีที่ผมใช้ เพื่อให้ตัวเองมีที่พึ่งในโลกที่โหดร้าย”
.
ควินซี สรุปว่าความเจ็บปวดไม่ใช่สิ่งที่ควรหนีหรือซ่อนเร้น แต่ควรนำมาใช้เป็นเชื้อไฟในการสร้างสิ่งที่มีคุณค่า การสร้างสรรค์ดนตรีที่สะท้อนความรู้สึกและประสบการณ์ที่แท้จริง คือการทำให้ความเจ็บปวดกลายเป็นพลัง

หากคุณเห็นมันได้ คุณก็เป็นมันได้ (If You Can See It, You Can Be It)

ควินซี โจนส์ เชื่ออย่างยิ่งในพลังการมองเห็นภาพฝันและการสร้างจินตภาพที่ชัดเจน การมองเห็นเป้าหมายในจินตภาพไม่ใช่เพียงความฝันลม ๆ แล้ง ๆ แต่เป็นรากฐานของการสร้างเส้นทางชีวิต เขาย้อนความทรงจำในวัยเด็กที่เติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่ยากลำบาก ในโลกที่รายล้อมไปด้วยความสิ้นหวัง เขาได้ค้นพบเครื่องดนตรีตัวแรกโดยบังเอิญ ในช่วงเวลาที่เขาแอบเข้าไปในสถานที่แห่งหนึ่ง ที่มีเปียโนเก่าตั้งอยู่ วินาทีแรกที่เขาลองกดโน้ตบนแป้น เขารู้ทันทีว่า “นี่คือสิ่งที่ผมจะทำไปตลอดชีวิต”

แรงบันดาลใจของควินซีมาจากผู้คนที่เขาชื่นชม เช่น ภาพของ ‘ดุ๊ก เอลลิงตัน’ (Duke Ellington) บนเวทีในโรงละคร เขารู้สึกว่าผู้คนเหล่านี้เป็นต้นแบบในการสร้างเส้นทางชีวิตของเขา และเชื่อมั่นว่าการมีแบบอย่างที่ดีจะช่วยผลักดันชีวิตให้มุ่งไปข้างหน้า เขาเริ่มตั้งเป้าหมายชัดเจนว่า สักวันหนึ่งจะก้าวสู่เวทีระดับโลกด้วยดนตรีของเขา

การมองเห็นภาพฝันชัดเจนนี้ ไม่เพียงเป็นแรงบันดาลใจ แต่ยังช่วยให้ไม่หลงทาง “ถ้าคุณเห็นภาพนั้นในใจ คุณก็จะพบทางไปสู่มันได้” ควินซี ใช้เวลาว่างฝึกฝนดนตรีอย่างไม่ลดละ และยอมรับว่าภาพความสำเร็จที่เขาวาดไว้ในจินตนาการ ช่วยให้เขาผ่านอุปสรรคที่พบเจอในชีวิตจริง ไม่ว่าจะเป็นการเหยียดผิว หรือการต่อสู้เพื่อพิสูจน์ฝีมือในวงการดนตรี 

เรียนรู้จากประสบการณ์ตรง (You Gotta Go to Know)

ควินซี นำเสนอแนวคิดสำคัญเกี่ยวกับการเรียนรู้จากประสบการณ์ตรง เขาเชื่อว่าการศึกษาและความรู้ทฤษฎีเป็นเรื่องจำเป็น แต่การลงมือทำจริงและการเรียนรู้ ผ่านการเดินทางและการทำงาน คือหนทางที่จะทำให้เราเข้าใจอย่างแท้จริง

เจ้าตัวเล่าถึงการเดินทางหลายครั้งในชีวิต ตั้งแต่การร่วมทัวร์ดนตรีกับวงของนักทรัมเป็ตบีบ็อพ อย่าง ‘ดิซซี กิลเลสปี’ (Dizzy Gillespie) จนถึงการทำงานในวงการเพลงป๊อป เขาได้รับโอกาสเรียนรู้วัฒนธรรมใหม่ ๆ ภาษาใหม่ ๆ และวิธีการทำงานที่หลากหลาย

“เมื่อเราได้สัมผัสและเห็นด้วยตา ได้พูดคุยกับผู้คนต่างที่ต่างถิ่น มันเหมือนกับการเปิดประตูสู่อีกโลกหนึ่งที่ไม่เคยคาดคิด”

การเดินทางทำให้ ควินซี เข้าใจถึงความสำคัญของความหลากหลาย เรียนรู้การเปิดใจกว้างที่จะช่วยให้เราพัฒนาและสร้างสรรค์สิ่งที่แตกต่างได้

“เราทุกคนต่างมีวิถีและวัฒนธรรมของตัวเอง แต่เมื่อเปิดใจและสัมผัสวัฒนธรรมอื่น เราจะรู้สึกถึงความงดงามของความแตกต่าง” 

ความรู้จากตำราหรือการเรียนการสอนนั้นสำคัญ แต่สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน คือการออกไปสัมผัสประสบการณ์จริง ๆ 

“ทุกโน้ตที่ผมเล่น ทุกเพลงที่ผมแต่ง คือสิ่งที่ผมได้เจอและเรียนรู้มาด้วยตัวเอง” 

ตั้งหลักเกณฑ์นำทางชีวิต (Establish Your Guideposts)

ในหัวข้อนี้ ควินซี ย้ำถึงความสำคัญของการสร้าง ‘หลักยึด’ หรือแนวทางในการดำเนินชีวิต ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อดำรงความมั่นคงในตนเอง ท่ามกลางกระแสสังคมและความกดดันที่มีทั้งจากงานและจากโลกภายนอก

การขาดหลักยึดอันมั่นคง อาจทำให้เราไขว้เขวได้ง่าย เมื่อเผชิญกับอุปสรรค

“หากคุณไม่รู้ว่าตัวเองเป็นใครตั้งแต่แรก คุณอาจจะหลงทาง หรือแย่กว่านั้น คือปล่อยให้คนอื่นกำหนดตัวตนให้” 

ควินซี พบว่าวงการบันเทิงเต็มไปด้วยผู้คนที่ติดกับดักของชื่อเสียงและความสำเร็จอันผิวเผิน จนลืมคุณค่าที่แท้จริงและสูญเสียตัวตน ซึ่งมักจะนำไปสู่ความเครียดหรือแม้กระทั่งซึมเศร้า เขาเลือกใช้ ‘คำยืนยัน’ (affirmations) เป็นวิธีที่ย้ำเตือนถึงตัวตนและความตั้งใจที่แท้จริง คำยืนยันเหล่านี้ คือ ‘ระบบนำทาง’ ที่ช่วยให้เขาก้าวผ่านอุปสรรคในชีวิตและการทำงาน ด้วยการทำซ้ำเพื่อรักษาความมั่นคงในตัวตน ควินซี สรุปไว้อย่างเรียบง่ายว่า ความสำเร็จที่แท้จริงจะมั่นคงก็ต่อเมื่อเรามีพื้นฐานที่แข็งแกร่ง

เตรียมพร้อมสำหรับโอกาสที่จะมาถึง (Always Be Prepared for a Great Opportunity)

ความสำเร็จที่แท้จริง ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงเพราะโชคช่วย แต่มาจากการเตรียมพร้อมในทุก ๆ ด้าน ควินซี เล่าว่าการได้ทำงานครั้งสำคัญกับศิลปินระดับโลก อย่าง ‘แฟรงค์ สินาตรา’ (Frank Sinatra) ไม่ใช่แค่เรื่องของโอกาสที่ถูกต้อง แต่เป็นเพราะเขามีความพร้อมทั้งด้านฝีมือและทัศนคติ

คำสอนของพ่อตอกย้ำว่า “ไม่ว่างานจะเล็กหรือใหญ่ จงทำให้ดี หรือไม่ต้องทำเลย”

ตั้งแต่งานธรรมดา เช่น ขัดรองเท้า หรือเล่นดนตรี เขาเชื่อมั่นว่า การใส่ใจในทุก ๆ รายละเอียดคือสิ่งที่ทำให้เขาก้าวไปสู่ความสำเร็จและได้รับการยอมรับในฐานะมืออาชีพ

“ถ้าคุณยังไม่เก่งในสิ่งที่มีอยู่ตอนนี้ แล้วจะคาดหวังที่จะได้รับความรับผิดชอบที่ใหญ่กว่านี้ได้อย่างไร”

ควินซี ยังเตือนให้ระมัดระวัง ‘ความกลัว’ ที่มักจะเข้ามาขัดขวางความสำเร็จ “ความกลัวเป็นสิ่งไร้ประโยชน์ เพราะมันทำให้เราตั้งสมมติฐานว่า เราไม่สามารถหรือไม่คู่ควร ทั้ง ๆ ที่เรายังไม่ได้เริ่มต้นเลย” เขาแนะนำว่าการเตรียมพร้อมอย่างรอบคอบจะช่วยลดความกลัวนั้นได้ และเมื่อโอกาสมาถึง เราควรจะคว้าไว้อย่างมั่นใจ เพื่อไม่ให้เสียโอกาสสำคัญในชีวิต

ฝึกการคิดอย่างมีเหตุผล (Sharpen Your Left Brain)

การพัฒนาสมองซีกซ้าย หรือด้านที่เกี่ยวข้องกับตรรกะและการวิเคราะห์ เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้ศิลปินมีความสามารถอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะการทำงานในวงการดนตรีที่ซับซ้อน อย่างดนตรีแจ๊ส ในช่วงวัยรุ่น ชีวิตของควินซีเต็มไปด้วยการฝึกฝนที่เข้มข้น ไม่ใช่แค่การเรียนรู้ดนตรีจากการฟังและเล่นตามความรู้สึกเท่านั้น แต่ยังต้องเข้าใจทฤษฎีอย่างลึกซึ้ง 

“ความคิดสร้างสรรค์เป็นการผสมผสานระหว่างศาสตร์และศิลป์ ที่ต้องเดินเคียงข้างกัน”

ควินซี อ้างถึงหนังสือ ‘Thesaurus of Scales and Melodic Patterns’ ของ ‘นิโคลัส สลอนิมสกี’ (Nicolas Slonimsky) ซึ่งกลายเป็นคัมภีร์ในการพัฒนาทักษะและแนวคิดทางดนตรีของเขา

“หนังสือเล่มนี้ให้มุมมองใหม่ทางดนตรี ดนตรีไม่ได้เป็นแค่การระบายอารมณ์ แต่คือความแม่นยำของโครงสร้างที่ถูกสร้างขึ้นอย่างตั้งใจ” ในหมู่นักดนตรีแจ๊สระดับตำนาน ไม่ว่าจะเป็น ‘ชาร์ลี ปาร์คเกอร์’ (Charlie Parker) หรือ ‘จอห์น โคลเทรน’ (John Coltrane) ต่างใช้หนังสือเล่มนี้ ซึ่งตอกย้ำถึงพลังของการฝึกสมองซีกซ้ายในการจัดการกับความซับซ้อนของดนตรี

“การมีจิตวิญญาณสร้างสรรค์เพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ เราต้องรู้จักโครงสร้างและกฎเกณฑ์ด้วย”

หลีกเลี่ยงการวิเคราะห์ที่ทำให้ลังเล (Avoid Paralysis from Analysis)

ควินซี แนะนำให้นักสร้างสรรค์หลีกเลี่ยงการจมอยู่ในรายละเอียดมากเกินไป จนขัดขวางความสามารถในการสร้างสรรค์ เขาเชื่อว่าบางครั้งการคิดวิเคราะห์มากไป อาจทำให้เราสูญเสียความกล้าที่จะสร้างและนำเสนอไอเดีย เขาเล่าถึงการใช้วิธีการเชื่อมต่อกับจิตใต้สำนึกของตัวเอง ซึ่งช่วยให้เขารับฟังเสียงในใจและรู้สึกผ่อนคลายมากขึ้นในกระบวนการสร้างสรรค์ 

ควินซี ยังได้แบ่งปันวิธีที่เขา และ ‘เลียวนาร์ด เบิร์นสไตน์’ (Leonard Bernstein) วาทยกรชื่อก้อง ได้ใช้ในการเข้าสู่สถานะสมอง ‘อัลฟ่า’ (Alpha State) ซึ่งเป็นภาวะที่สมองผ่อนคลายและทำให้เกิดไอเดียที่สดใหม่ 

“ผมไม่เชื่อในเรื่องการขาดแรงบันดาลใจ มันไม่ใช่การปิดกั้น แต่คือการที่เราต้องนำตัวเองไปอยู่ในสภาวะอัลฟ่า เพื่อให้ได้ยินสิ่งที่หัวใจต้องการบอก” 

ควินซี ทดลองนอนบนพื้นในท่าที่สบายที่สุด จนเข้าสู่สภาวะอัลฟ่านี้เพื่อเปิดทางให้ไอเดียลื่นไหล เขาพบว่าวิธีนี้ช่วยให้เขาสามารถสร้างสรรค์ดนตรีได้อย่างอิสระและลึกซึ้ง 

นอกจากนี้ ควินซี ยังได้อ้างถึง ‘มัลคอล์ม แกลดเวลล์’ (Malcolm Gladwell) ที่กล่าวถึงความสำคัญของ “การฟังสัญชาตญาณ” โดย แกลดเวลลล์  เปรียบว่าความเข้าใจลึกซึ้งนั้นไม่เหมือนแสงที่พุ่งออกมาในใจ แต่เหมือน “แสงเทียนที่ริบหรี่และสามารถดับได้ง่าย” ดังนั้น การทำให้จิตใจสงบและปล่อยให้สัญชาตญาณนำทาง จะเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้เกิดความคิดสร้างสรรค์อย่างแท้จริง

ใช้พลังจากการที่ผู้อื่นมองข้าม (The Power of Being Underestimated)

การถูกมองข้ามหรือประเมินค่าต่ำไปสามารถกลายเป็นพลังบวกที่ช่วยเสริมสร้างแรงผลักดันในตัวเอง นั่นคือมุมมองของ ควินซี เขาเล่าว่าในช่วงที่เขาเข้าวงการดนตรีใหม่ๆ ไม่ได้มีคนจำนวนมากเชื่อว่า เขาจะก้าวขึ้นสู่ความสำเร็จได้ บางครั้งเพื่อนร่วมวงการก็คิดว่า เขาอาจจะไม่เหมาะกับงานในระดับสูง

“การถูกมองว่าเป็นเพียงผู้เล่นข้างทาง เปิดโอกาสให้เราได้ทำเกินกว่าที่พวกเขาคาดคิด” 

ควินซี เล่าถึงการทำงานร่วมกับ ‘ไมเคิล แจ็คสัน’ (Michael Jackson) ในอัลบั้ม Off the Wall ซึ่งในตอนแรกผู้บริหารที่ Epic Records สงสัยว่า ควินซี อาจไม่ใช่ตัวเลือกที่เหมาะสม โดยมองว่าเขามีประสบการณ์ด้านดนตรีแจ๊สมากเกินไปสำหรับอัลบั้มป๊อป

“พวกเขาคิดว่าผมเป็นตัวเลือกที่ผิด” แต่ความสำเร็จของ ‘Off the Wall’ ไม่เพียงแต่ช่วยเปลี่ยนมุมมองของคนรอบข้าง แต่ยังช่วยให้เขาได้สร้างผลงานสำคัญลำดับต่อไปกับ ไมเคิล ในอัลบั้ม ‘Thriller’ ซึ่งกลายเป็นอัลบั้มที่มียอดขายสูงสุดตลอดกาลอีกด้วย

การถูกประเมินค่าต่ำ คือบทเรียนที่ทำให้ ควินซี รักษาทัศนคติถ่อมตนไว้เสมอ และยังคงทำงานหนักเพื่อสร้างผลงานที่มีคุณค่า

สร้างสรรค์สิ่งใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน (Do What’s Never Been Done Before)

ควินซี ส่งเสริมให้สร้างสรรค์สิ่งใหม่ และอย่าเกรงกลัวที่จะพยายามทำในสิ่งที่ไม่มีใครเคยทำ เขามองว่าการสร้างผลงานที่ไม่เหมือนใคร และการท้าทายขีดจำกัด เป็นส่วนสำคัญของการเป็นศิลปินที่แท้จริง

หากเรามองไม่เห็นตัวอย่างที่ต้องการในโลก เราก็ควรสร้างมันขึ้นมาเอง เขาบอกว่า “หากคุณไม่เห็นสิ่งที่คุณต้องการในสาขานั้น ก็จงลงมือเปลี่ยนแปลงมันเอง” ซึ่งหมายถึงการกล้าก้าวออกนอกกรอบ เพื่อแสดงออกถึงศักยภาพที่แท้จริงของตน

ควินซี ยังกล่าวถึง การสร้างสรรค์ในวัย 60 ปี อย่างการก่อตั้งนิตยสาร ‘Vibe’ ซึ่งมีเป้าหมายที่จะนำเสนอภาพของวัฒนธรรมฮิปฮอปในมุมที่หลากหลายมากขึ้น เขามองว่าการฝันใหญ่ช่วยให้สามารถผลักดันตนเองสู่สิ่งที่ไม่เคยคาดคิด 

“ถ้าผมมีความฝันเล็ก ๆ ตอนเป็นเด็ก ผมอาจไม่เห็นคุณค่าของการพยายามไปให้ไกลกว่านั้น” 

หากเขาหยุดตัวเองไว้ที่ความสำเร็จเพียงหนึ่งเดียว โลกอาจจะไม่ได้เห็นนวัตกรรมทางดนตรีและโครงการที่เขาสร้างขึ้น เขาเชื่อว่าความกล้าในการก้าวสู่สิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อน ทำให้เขาแตกต่างจากคนอื่น และคือรากฐานของความสำเร็จที่ยั่งยืน

การสร้างสัมพันธภาพที่ดี (Understand the Value of Relationships)

หนึ่งในคุณค่าที่ ควินซี เน้นย้ำมาโดยตลอด คือความสำคัญของความสัมพันธ์ที่แท้จริงและการเคารพผู้อื่น ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญที่ช่วยเสริมสร้างความสำเร็จและความสุขในชีวิต ความสัมพันธ์คือหัวใจหลักที่เชื่อมโยงทุกอย่างเข้าด้วยกัน ไม่ใช่แค่สิ่งที่เราทำ แต่คือการปฏิบัติต่อผู้คนรอบข้าง “คุณมีโอกาสเพียงครั้งเดียวในการสร้างชื่อเสียง” ดังนั้น การปฏิบัติตัวกับคนรอบข้างด้วยความจริงใจจึงเป็นสิ่งสำคัญ

หนึ่งในบทเรียนสำคัญที่ ควินซี โจนส์ ได้รับจาก ‘เคานท์ เบซี’ (Count Basie) ผู้นำวงบิ๊กแบนด์หมายเลขหนึ่งในยุคสวิง คือการเรียนรู้ว่า ความสำเร็จและชื่อเสียงไม่สำคัญเท่ากับการมีมนุษยธรรมในการสร้างสรรค์ผลงานและการดูแลความสัมพันธ์ เขากล่าวถึงการทำงานร่วมกับ ‘แฟรงค์ สินาตรา’ และ ‘เรย์ ชาร์ลส์’ (Ray Charles) โดยที่ไม่เคยต้องใช้สัญญากระดาษ มีเพียงการจับมือและคำพูดที่เชื่อถือได้เท่านั้น นี่คือรูปแบบความสัมพันธ์ที่มีค่าเหนือสิ่งอื่นใด เพราะมันสร้างขึ้นจากความไว้วางใจและการให้เกียรติกัน

แนวทางการสร้างความสัมพันธ์ที่แท้จริงและการสื่อสารอย่างเปิดเผยเกิดขึ้นในทุกพื้นที่ แม้ในงานปาร์ตี้หรือการพบปะใด ๆ ควินซี จะเป็นคนสุดท้ายที่ออกจากงาน เพราะเขาชอบใช้เวลาพูดคุยกับผู้คน โดยไม่สำคัญว่าคนเหล่านั้นจะมีตำแหน่งหรือบทบาทใดในสังคม 

แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ (Share What You Know)

ในหัวข้อต่อจากนั้น ควินซี พูดถึงความสำคัญของการแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ให้กับคนรุ่นใหม่ เน้นย้ำว่าการเรียนรู้และความรู้ที่สะสมมาตลอดชีวิตควรมีเป้าหมายเพื่อส่งต่อให้ผู้อื่น ประสบการณ์ไม่ควรเก็บไว้เพื่อตัวเอง แต่ควรใช้มันเพื่อสร้างแรงบันดาลใจและสร้างการเติบโตให้แกผู้อื่น 

ควินซี เล่าว่า เขาได้รับประโยชน์มหาศาล จากคำแนะนำของบรรดาอาจารย์และพี่เลี้ยงที่เข้ามาช่วยเหลือเขาตลอดเส้นทางดนตรี เช่น ‘คลาร์ค เทอร์รี’ (Clark Terry) และ ‘เคาน์ เบซี’ ซึ่งได้เปิดโลกแห่งดนตรีและแนวคิดใหม่ ๆ ให้แก่เขา

“การที่ได้เห็นคนรุ่นใหม่เข้ามาถามคำถามและตั้งใจเรียนรู้ ทำให้ผมย้อนกลับมามองความรู้ของตัวเองและพัฒนามันให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น” 

ทุกครั้งที่มีใครบางคนมาขอคำแนะนำหลังจบการแสดง เขาจะใช้เวลาเต็มที่เพื่อสอนสิ่งที่เขารู้ และพบว่าการทำเช่นนี้ให้ความสุขทางจิตใจอย่างมาก เพราะนอกจากจะได้แบ่งปันความรู้ให้แก่ผู้อื่นแล้ว ยังได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ จากความกระตือรือร้นของคนรุ่นใหม่ด้วย

บทบาทในการเป็นพี่เลี้ยง (Mentor) เป็นงานที่เขาให้ความสำคัญมาตลอดชีวิต การร่วมงานกับนักดนตรีหลายรุ่น ไม่ว่าจะเป็นการแนะนำวงดนตรี หรือนักร้องที่เริ่มก้าวเข้าสู่วงการ ไปจนถึงการสร้างโครงการเพื่อพัฒนาศักยภาพทางดนตรีของเยาวชน 

“การสอนคือการส่งต่อความฝันและความมุ่งมั่นของตัวเอง” เป็นคำกล่าวสั้น ๆ แต่คมคายในสไตล์ ควินซี โจนส์

เห็นคุณค่าของชีวิตและเวลา (Recognize the Value of Life)

ในหัวข้อสุดท้าย ควินซี สะท้อนถึงคุณค่าของการมีชีวิต ด้วยประสบการณ์ใกล้ตายหลายครั้ง ทำให้เขาตระหนักถึงความสำคัญของการใช้ชีวิตอย่างเต็มที่ และการใส่ใจกับช่วงเวลาที่มีอยู่ ควินซี เล่าว่าในช่วงหนึ่งของชีวิต เขาหลงอยู่ในวังวนของการสร้างสรรค์ การสะสมรางวัลและความสำเร็จ ซึ่งถึงแม้ว่าจะทำให้เขารู้สึกถึงการเติมเต็ม แต่ก็เป็นเพียงการเติมเต็มชั่วคราว

ควินซี เล่าถึงเหตุการณ์ที่เขาประสบปัญหาสุขภาพอย่างรุนแรง จากภาวะหลอดเลือดสมองโป่งพอง เขาจำได้ว่าแม้ในขณะที่อยู่ภายใต้การดมยาสลบ ร่างกายของเขาก็ยังสั่น เพราะจิตใจยังไม่พร้อมที่จะยอมแพ้ต่อชีวิต เขาสารภาพว่า “เราแต่ละคนมีทั้งแรงขับเคลื่อนให้มีชีวิตและแรงปรารถนาสู่ความตายอยู่ในใจ หากคุณมีแรงขับเคลื่อนที่จะอยู่รอด คุณจะผ่านพ้นทุกอย่างไปได้”

ในช่วงท้ายของชีวิต เขามองเห็นว่าความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ที่สุด คือการได้สร้างความสัมพันธ์ที่มีความหมายและได้มอบบางสิ่งที่มีคุณค่าให้แก่ผู้อื่น การไล่ตามสิ่งภายนอกเพียงอย่างเดียว ทำให้เราลืมความสุขที่อยู่รอบตัว ซึ่งบางครั้งก็เป็นเพียงรายละเอียดเล็กๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น การได้ใช้เวลากับคนที่รัก หรือเพียงแค่การได้ยิ้มให้แก่คนแปลกหน้าระหว่างทาง 

“เมื่อทุกอย่างจบลง คุณจะรู้สึกถึงความสุขที่แท้จริงจากการที่ได้ใช้ชีวิตอย่างคุ้มค่า” 

ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ไม่ใช่แค่การได้ก้าวสู่เป้าหมาย แต่เป็นการใส่ใจในทุกย่างก้าวของการเดินทาง ให้คุณค่ากับชีวิต สื่อสารความรักและความปรารถนาดีกับทุกคนที่พบเจอ

หนังสือ 12 Notes: On Life and Creativity ของ ควินซี โจนส์ เปรียบเสมือนบันทึกประสบการณ์และบทเรียนชีวิตที่เขาสั่งสมมาตลอดการเดินทาง โน้ตทั้ง 12 ตัว เป็นสัญลักษณ์ของแก่นแท้ที่ใช้สร้างความหมายในชีวิตและงานสร้างสรรค์ ไม่ว่าเราจะมาจากพื้นเพแบบใด หรือมีพรสวรรค์เพียงใด ความสำเร็จและความงดงามเกิดขึ้นได้จากการมีหลักการที่มั่นคงและการพัฒนาอย่างต่อเนื่องในทุกด้าน

นี่ไม่ใช่แค่หนังสือที่พูดถึงดนตรีและการสร้างสรรค์เท่านั้น แต่ยังเป็นแรงบันดาลใจให้ทุกคน มีความกล้าที่จะฝัน ลงมือทำ และใช้ชีวิตอย่างเต็มที่ ราวกับท่วงทำนองที่ก้องกังวานไปในจิตใจของผู้อ่านทุกคน

 

เรื่อง: อนันต์ ลือประดิษฐ์
ภาพ: Getty Images

ที่มา:
Jones, Quincy. 12 Notes: On Life and Creativity. Abrams Image New York. 2022.