‘A Love Supreme’ บทสวดภาวนาทางดนตรีของ ‘จอห์น โคลเทรน’

‘A Love Supreme’ บทสวดภาวนาทางดนตรีของ ‘จอห์น โคลเทรน’

‘A Love Supreme’ บทสวดภาวนาทางดนตรี และผลงานแจ๊สที่ทรงอิทธิพลที่สุดในประวัติศาสตร์ของ ‘จอห์น โคลเทรน’

KEY

POINTS

  • กำเนิดอัลบั้มแห่งจิตวิญญาณ
  • ความหมายของบทเพลง
  • อิทธิพลที่มีต่อศิลปินแจ๊สและแนวเพลงอื่น ๆ

ในบรรดาผลงานแจ๊สที่ทรงอิทธิพลที่สุดในประวัติศาสตร์ ‘A Love Supreme’ (1964) ของ ‘จอห์น โคลเทรน’ (John Coltrane) ถือเป็นอัลบั้มระดับขึ้นหิ้ง ที่มีความหมายลึกซึ้ง ทั้งในเชิงดนตรีและจิตวิญญาณ ผลงานชิ้นนี้ ไม่เพียงเป็นความสำเร็จทางศิลปะ แต่ยังสะท้อนการเดินทางของโคลเทรนในการค้นหาตัวตนผ่านเสียงดนตรีที่ถ่ายทอดออกมาอย่างงดงาม และเปี่ยมด้วยความเชื่อในพลังแห่งความรัก

กำเนิดอัลบั้มแห่งจิตวิญญาณ

ช่วงปลายปี 1964 จอห์น โคลเทรน ใช้เวลาทบทวนและสร้างสรรค์ดนตรีในบ้านพักย่าน ดิกซ์ ฮิลล์ส (Dix Hills) ที่ลองไอส์แลนด์ (Long Island) เขาเพิ่งต้อนรับสมาชิกใหม่ในครอบครัว ลูกชายคนแรกของเขาเพิ่งเกิด และนี่คือช่วงเวลาแห่งการหยุดพักจากตารางงานแสดงที่แน่นขนัด ท่ามกลางความเงียบสงบของบ้าน เขาใช้เวลา 4 - 5 วัน เก็บตัวในห้องชั้นบน ปลีกตัวจากครอบครัว เพื่อดื่มด่ำกับการรังสรรค์ผลงานดนตรีชิ้นสำคัญ ที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงชีวิตของเขาและวงการแจ๊สไปตลอดกาล

ในขณะที่โลกภายนอกกำลังเผชิญกับความขัดแย้งและการเปลี่ยนแปลง โคลเทรนกลับมุ่งเน้นไปที่การค้นหาสันติภาพภายใน เขาหันมาสนใจศาสนาและปรัชญาตะวันออก ดังสะท้อนให้เห็นจากแนวคิด ‘ความรักอันสูงสุด’ (A Love Supreme) ที่เขากำลังสร้างสรรค์

เมื่อเขาเดินลงบันไดลงมาพบกับ ‘อลิซ โคลเทรน’ (Alice Coltrane) ภรรยาของเขา เธอสังเกตเห็นประกายแห่งความสุขสงบในแววตา โคลเทรนบอกกับเธอว่า นี่เป็นครั้งแรกที่เขารู้สึกว่าทุกสิ่งทุกอย่างพร้อม - พร้อมในแบบที่เขาไม่เคยรู้สึกมาก่อน ความคิดสร้างสรรค์ดั่งน้ำทิพย์จากสวรรค์ได้หลั่งไหลออกมาเป็นบทเพลง 4 ส่วน ซึ่งเป็นการบอกเล่าเรื่องราวที่ลึกซึ้งถึงจิตวิญญาณ ความเชื่อ และความรักที่ไม่มีเงื่อนไง

นี่คือ A Love Supreme!

วันที่ 9 ธันวาคม 1964 เป็นวันที่โคลเทรนและวงควอร์เททของเขา ประกอบด้วย แมคคอย ไทเนอร์ (McCoy Tyner) - เปียโน, จิมมี การ์ริสัน (Jimmy Garrison) - เบส, และ เอลวิน โจนส์ (Elvin Jones) - กลอง ก้าวสู่ห้องอัด Van Gelder Studio ในนิวเจอร์ซีย์ เพื่อบันทึกเสียงอัลบั้มนี้

การทำงานในสตูดิโอของพวกเขาไม่ต่างจากการแสดงสด ทุกจังหวะการเล่นสะท้อนถึงการสื่อสารกันแบบฉับพลันทันทีระหว่างสมาชิกวง พวกเขาต่างรู้กันโดยสัญชาตญาณว่า โคลเทรนต้องการถ่ายทอดอารมณ์และความรู้สึกอะไรออกมาผ่านเสียงดนตรีของเขา

‘รูดี แวน เกลเดอร์’ (Rudy Van Gelder) วิศวกรเสียงชื่อดัง รับหน้าที่บันทึกทุกโน้ต ทุกเสียงการเคาะกลอง ทุกเสียงของการดีดสายเบส ให้เป็นดนตรีที่มีชีวิต เขายังเป็นผู้ที่ทำให้บรรยากาศในสตูดิโอผ่อนคลายและเป็นกันเอง โคลเทรนไม่เพียงนำพลังแห่งการสร้างสรรค์มาให้แก่วง แต่เขายังนำพลังของสันติเข้ามาด้วย ทุกคนในสตูดิโอรับรู้ได้ถึงความศักดิ์สิทธิ์ของช่วงเวลานั้น นี่ไม่ใช่แค่การบันทึกเสียงธรรมดา แต่คือการสร้างผลงานชิ้นเอกที่จะอยู่เหนือกาลเวลา

ความหมายของบทเพลง

ในด้านการศึกษาและการวิเคราะห์ดนตรี A Love Supreme เป็นตัวอย่างที่ถูกใช้ในงานวิจัยและงานเขียนจำนวนมาก นักวิชาการดนตรีและนักวิจารณ์ยังศึกษาและตีความเนื้อหาของอัลบั้มนี้ในหลากหลายแง่มุม ตั้งแต่ด้านเทคนิคการเล่น ไปจนถึงการตีความเชิงปรัชญาและจิตวิญญาณ ด้วยความเป็นอมตะและความลึกซึ้งของเนื้อหา ทำให้อัลบั้มนี้ได้รับการบันทึกในประวัติศาสตร์ ในฐานะงานศิลปะชิ้นเอกที่ข้ามพ้นขอบเขตของดนตรี ไปสู่การเป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม

ในเชิงเทคนิคทางดนตรี A Love Supreme แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าอย่างมาก ในการใช้ โมดัลแจ๊ส (Modal Jazz) โคลเทรนใช้เทคนิคการด้นสดบนโครงสร้างคอร์ดที่เรียบง่ายแต่ลึกซึ้ง โดยเฉพาะในท่อน Acknowledgement ที่ใช้เพียงคอร์ดเดียวตลอดทั้งท่อน ซึ่งเปิดโอกาสให้นักดนตรีสำรวจความเป็นไปได้ทางเสียงอย่างอิสระ

นอกจากนี้ การใช้จังหวะที่ซับซ้อนและยืดหยุ่น โดยเฉพาะการทำงานร่วมกันระหว่างกลองของ ‘เอลวิน โจนส์’ และเบสของ ‘จิมมี การ์ริสัน’ สร้างพื้นฐานจังหวะที่ลื่นไหลและเต็มไปด้วยพลัง ซึ่งสนับสนุนการด้นสดของโคลเทรนได้อย่างยอดเยี่ยม

ที่สำคัญ โคลเทรนได้นำแนวคิด ‘Sheets of Sound’ ซึ่งเป็นเทคนิคการเป่าโน้ตอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง สร้างความรู้สึกของเสียงที่ทับซ้อนกันเป็นชั้น ๆ เทคนิคนี้ไม่เพียงแต่แสดงให้เห็นถึงความสามารถทางดนตรีของโคลเทรน (ดังที่ปรากฏในอัลบั้มสำคัญก่อนหน้า คือ Giant Steps) แต่ยังสื่อถึงความพยายามในการถ่ายทอดประสบการณ์ทางจิตวิญญาณผ่านเสียงดนตรีอีกด้วย 

A Love Supreme มีโครงสร้างบทประพันธ์แบบ ‘สวีท’ (Suite) งานทั้ง 4 ส่วน ประกอบไปด้วย Acknowledgement, Resolution, Pursuance, และ Psalm ซึ่งเปรียบเสมือนการเดินทางผ่านกระบวนการทางจิตวิญญาณของโคลเทรน

1.Acknowledgement: เริ่มต้นด้วยเสียงซ้ำ ๆ ของโน้ตเบสย่านความถี่ต่ำที่ชัดเจนของแกร์ริสัน โน้ตซ้ำ ๆ เหมือนกับเสียงสวดภาวนา จากนั้น โคลเทรนใช้เสียงเทเนอร์แซ็กโซโฟนของเขาเล่นทำนองที่เป็นเอกลักษณ์และง่ายต่อการจดจำ เสียงนั้นค่อย ๆ ไต่ระดับขึ้น พร้อมกับการสื่อสารข้อความว่า ‘A Love Supreme’ ดนตรีในส่วนนี้ เสมือนการเปิดประตูสู่สำนึกรับรู้ถึงความรักที่ยิ่งใหญ่และไม่มีเงื่อนไข

2. Resolution: ส่วนนี้แสดงถึงความแน่วแน่ในการเดินหน้าต่อไป เสียงเปียโนของแมคคอย ไทเนอร์ สะท้อนถึงความมั่นคง โคลเทรนถ่ายทอดความรู้สึกมุ่งมั่นผ่านเสียงแซ็กโซโฟนที่เต็มไปด้วยพลัง ด้วยลีลาของการสื่อสารพูดคุยกับตัวเองในใจ และตั้งปณิธานว่าจะก้าวผ่านอุปสรรคทั้งปวง เพื่อเข้าถึงความสุขสงบภายใน

3. Pursuance: ในส่วนนี้ เอลวิน โจนส์ เริ่มต้นด้วยการเคาะกลองที่เร่งเร้ารวดเร็ว เสียงกลองของเขาเปรียบเหมือนการวิ่งไล่หรือตามหา โคลเทรนเล่นโซโลแซ็กโซโฟนด้วยความพลิ้วไหว ราวกับการแสวงหาความหมายบางอย่างที่อยู่นอกเหนือการบรรยาย การ์ริสันตามด้วยโซโลเบสที่เป็นการสนทนาตอบโต้กับแซ็กโซโฟน ทำให้ดนตรีส่วนนี้ของ A Love Supreme มีชีวิตชีวาและความเร้าใจ ดั่งการตามล่าหาความจริงทางจิตวิญญาณ

4. Psalm: ส่วนสุดท้ายของ Suite นี้ มีความแตกต่างจากส่วนอื่น ๆ อย่างเห็นได้ชัด เงียบสงบ เปี่ยมด้วยอารมณ์ และสื่อถึงการบรรลุความสุขสงบในจิตใจ โคลเทรนเล่นแซ็กโซโฟนด้วยน้ำเสียงนุ่มนวล คล้ายเสียงสวดมนต์หรือการภาวนา เขาต้องการให้ดนตรีในส่วนนี้ เป็นตัวแทนของบทกวีแห่งความรักและความสงบสุข Psalm จบลงด้วยความรู้สึกสงบนิ่ง แสดงถึงการบรรลุถึงภาวะที่สูงสุดในจิตใจของเขา

ทุกคนในวงของโคลเทรนรู้ดีว่า การบันทึกเสียงอัลบั้มนี้ไม่ใช่แค่การทำงาน แต่เป็นประสบการณ์ทางจิตวิญญาณที่ลึกซึ้ง แมคคอย ไทเนอร์ มือเปียโน เอ่ยถึง โคลเทรน ว่า “เขานำเราทุกคนเข้าไปในโลกของเขา โลกที่ดนตรีไม่ใช่เพียงแค่เสียง แต่มันคือการภาวนา” ส่วน มือกลอง เอลวิน โจนส์ ตอกย้ำถึงพลังของอัลบั้มว่า “เราต่างอยู่ในจุดที่ไม่ต้องคิดถึงเทคนิคการเล่น เราปล่อยให้ดนตรีพร่างพรูออกมาจากภายใน”

อิทธิพลที่มีต่อศิลปินแจ๊สและแนวเพลงอื่น ๆ

ในช่วงทศวรรษ 1970s A Love Supreme กลายเป็นแรงบันดาลใจให้แก่ทั้งนักดนตรีแจ๊สและนักดนตรีแนวอื่น ๆ แม้แต่ในวงการดนตรีคลาสสิกและดนตรีร็อคก็ยังได้รับอิทธิพลจาก จอห์น โคลเทรน

ตัวอย่างเช่น ‘สตีฟ ไรช์’ (Steve Reich) นักดนตรีคลาสสิกแนวมินิมัลลิสต์ชาวอเมริกัน ได้นำแนวคิดนี้มาปรับใช้ในผลงานของเขา ไรช์กล่าวถึงโคลเทรนว่า เป็นผู้ที่ทำให้เขาหันมาให้ความสนใจดนตรีแอฟริกัน ซึ่งส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงวิธีการประพันธ์เพลงของเขา นอกจากนี้ ไรช์ ยังได้ใช้โครงสร้างของทำนองและการเล่นซ้ำที่เป็นอัตลักษณ์ของ A Love Supreme มาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างผลงาน Six Pianos ของเขาในปี 1973

ศิลปินแจ๊สในยุคนั้นต่างได้รับแรงกระตุ้นจากความสำเร็จของอัลบั้มนี้ อาทิ ฟาโรห์ แซนเดอร์ส (Pharoah Sanders), อัลเบิร์ต ไอเลอร์ (Albert Ayler) และ อาร์ชี เช็พพ์ (Archie Shepp) ต่างได้รับแรงบันดาลใจจากแนวทางการเล่นที่เต็มไปด้วยพลังและการสำรวจอารมณ์ภายในของโคลเทรน พวกเขานำแนวทางการเล่นที่ ‘ดิบ’ และ ‘ซื่อตรง’ ของ โคลเทรน มาพัฒนาและดัดแปลงในผลงานของตนเอง อีกทั้งยังได้นำความเป็น ‘จิตวิญญาณ’ ในดนตรีแจ๊สไปขยายขอบเขตการสร้างสรรค์ของพวกเขา

นักดนตรีบางกลุ่มได้นำ A Love Supreme มาเป็นต้นแบบในการแสดงออกถึงความเชื่อ ศรัทธา และจิตวิญญาณของตนเอง เช่น ซัน รา (Sun Ra) และวง Arkestra ของเขา ที่ได้นำดนตรีแจ๊สมาผสมผสานกับการทดลองทางดนตรี เพื่อสื่อถึงโลกทัศน์และจักรวาลวิทยาใหม่ ๆ

อิทธิพลของ A Love Supreme ยังข้ามไปถึง ‘คาร์โลส ซานตานา’ (Carlos Santana) ซึ่งได้นำแนวทางการเล่นของโคลเทรนมาใส่ในโซโลกีตาร์ของเขา ในตอนแรก ซานตานา รู้สึกว่าอัลบั้มนี้ เป็นเหมือน ‘เสียงเพลงจากอีกโลกหนึ่ง’ เป็นเพลงที่เข้าใจยากและมีความซับซ้อน แต่เมื่อเขาได้สัมผัสกับมันบ่อยครั้งขึ้น เขาก็เริ่มเข้าใจในพลังของอัลบั้มนี้ โดย ซานตานา ได้ร่วมงานกับ ‘จอห์น แมคลาฟลิน’ (John McLaughlin) นักกีตาร์แจ๊สร็อคชาวอังกฤษ หยิบเอา A Love Supreme มาตีความใหม่ ในอัลบั้ม ‘Love Devotion Surrender’ (1973) 

ในยุคต่อมา ‘โบโน’ (Bono) นักร้องนำวง ‘ยูทู’ (U2) ได้กล่าวถึงประสบการณ์ที่เขาได้ฟัง A Love Supreme ว่า เป็นช่วงเวลาที่ความงดงามของดนตรีนำพาผู้ฟังไปสู่ความสุขสงบ เป็นจุดเริ่มต้นให้เขาตั้งคำถามถึงความสัมพันธ์ระหว่างดนตรี ศาสนา และความเชื่อในชีวิต

เปิดทางสู่ Spiritual Jazz

ความเชื่อทางจิตวิญญาณของโคลเทรนได้สร้างมิติใหม่ให้กับดนตรีแจ๊ส แนวคิดในการนำเสนอความศรัทธา ความเคารพ และการภาวนาผ่านเสียงดนตรีของเขา ส่งผลให้อัลบั้มนี้กลายเป็นรากฐานสำคัญของแนวดนตรีที่เรียกว่า ‘Spiritual Jazz’ ศิลปินรุ่นหลังที่สร้างสรรค์ผลงานในแนวทางนี้ เช่น ‘ฟาโรห์ แซนเดอร์ส’ และ ‘อลิซ’ ภรรยาของโคลเทรน ได้นำดนตรีแจ๊สมาผสานกับการสำรวจจิตวิญญาณในหลากหลายรูปแบบ รวมถึงการผสมผสานเสียงดนตรีที่สะท้อนถึงศาสนาและความเชื่อในหลายวัฒนธรรม เช่น ศาสนาพุทธ ฮินดู และคริสต์

แซนเดอร์ส ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้สืบทอดเจตนารมณ์ทางดนตรีของโคลเทรน ได้นำเสียงร้องภาวนา การสวดมนต์ และการเป่าแซ็กโซโฟนที่มีลักษณะการเคลื่อนไหวแบบโค้งมนและเต็มไปด้วยพลัง มาเป็นลักษณะเฉพาะตัวของเขา ส่วน อลิซ เองก็ได้สร้างผลงานที่แสดงออกถึงความสงบและความเชื่อมโยงกับศาสนาตะวันออก เช่น อัลบั้ม ‘Journey in Satchidananda’ ที่เป็นการแสวงหาความสุขสงบผ่านเสียงดนตรีที่ผสมผสานเครื่องดนตรีอินเดีย เช่น ฮาร์พและซีตาร์ กับเสียงเปียโนแจ๊สที่เธอเล่นอย่างแผ่วเบาและสง่างาม

นอกจากนี้ โคลเทรน ยังสร้างแรงบันดาลใจให้นักดนตรีในหลายประเทศ เช่น ‘ยูซุฟ ลาทีฟ’ (Yusuf Lateef) ในอเมริกา และ ‘อับดุลลาห์ อิบราฮิม’ (Abdullah Ibrahim) ในแอฟริกาใต้ ที่นำเอาแนวทางการเล่นและแนวคิดการผสานดนตรีกับจิตวิญญาณไปสร้างสรรค์ผลงานดนตรีของตนเอง ถือเป็นการขยายอิทธิพลของ A Love Supreme ไปสู่ระดับสากล ทำให้ดนตรีไม่ใช่แค่เรื่องของเสียง แต่ยังเป็นการค้นหาความหมายและสื่อสารกับสิ่งที่อยู่เหนือกว่านั้น

A Love Supreme เป็นงานดนตรีที่ จอห์น โคลเทรน สร้างสรรค์ขึ้น เพื่อใช้เป็นสื่อกลางในการสื่อสารถึงจิตวิญญาณและความเชื่อที่เขามีต่อพระเจ้า โคลเทรนพาผู้ฟังร่วมเดินทางไปด้วย ไม่ว่าจะอยู่ในวัฒนธรรมใด ศาสนาใด หรือความเชื่อใด และด้วยความสมบูรณ์แบบของงานศิลปะดนตรีที่โดดเด่นเหนือกาลเวลา นี่คือบทสวดภาวนาทางดนตรี ที่ผู้คนทั่วโลกต่างสดับรับฟังมาตราบจนทุกวันนี้

 

ข้อมูลเกี่ยวกับอัลบั้ม
ชื่ออัลบั้ม: A Love Supreme
วันที่บันทึกเสียง: 9 ธันวาคม 1964
วันที่วางขาย: กุมภาพันธ์ 1965

ค่ายเพลง: Impulse! Records
รายชื่อเพลง: 1. Acknowledgement, 2. Resolution, 3. Pursuance และ 4. Psalm
รายชื่อนักดนตรี: John Coltrane: เทเนอร์แซ็กโซโฟน; McCoy Tyner: เปียโน; Jimmy Garrison: เบส; Elvin Jones: กลอง

 

เรื่อง: อนันต์ ลือประดิษฐ์

ที่มา:
Khan, Ashley. A Love Supreme: The Story of John Coltrane's Signature Album. Penguin Books. 2002.
Whyton, Tony. Beyond A Love Supreme: John Coltrane and the Legacy of an Album. Oxford University Press. 2013.