18 พ.ย. 2567 | 19:00 น.
ในบรรดาบทเพลงพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เพลง ‘H.M. Blues’ หรือ ‘ชะตาชีวิต’ ผลงานการประพันธ์ลำดับที่ 5 โดดเด่นด้วยเอกลักษณ์ที่มีความเป็นบลูส์อันลึกซึ้ง เพลงนี้ถือกำเนิดขึ้นในปี 2489 ช่วงที่พระองค์ทรงศึกษาอยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ภายหลังการเสด็จขึ้นครองราชย์ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยความทรงจำระหว่างพระองค์กับเหล่าพสกนิกรไทยในต่างแดน
เพลงนี้มีที่มาจากงานรื่นเริงที่พระองค์ทรงเชิญข้าราชบริพาร และนักเรียนไทย ไปร่วมงานเป็นการส่วนพระองค์ ทรงบรรเลงเพลงเป็นเวลานานถึงครึ่งคืน โดยมิได้ทรงหยุดเพื่อเสวยพระกระยาหารเลย ในขณะที่ผู้ได้รับเชิญทุกคนได้รับพระราขทานอาหารอิ่มหนำสำราญกันทั่วหน้า
เหตุการณ์นี้เองที่กลายเป็นแรงบันดาลใจให้แก่ชื่อเพลง ‘H.M. Blues’ ซึ่งจริง ๆ แล้ว H.M. ไม่ได้หมายถึง His Majesty อย่างที่หลายคนเข้าใจ แต่ย่อมาจาก ‘Hungry Men’s Blues’ หรือ ‘บลูส์ของผู้หิวโหย’ เป็นชื่อที่พระองค์ทรงใช้เพื่อแฝงอารมณ์ขันให้กับการบรรเลงดนตรีในคืนนั้น
เนื้อร้องภาษาอังกฤษ ซึ่งพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ ทรงประพันธ์ไว้นั้น สะท้อนถึงความเหนื่อยล้าแต่สนุกสนานของนักดนตรีที่บรรเลงเพื่อความบันเทิงของแขก แม้จะรู้สึกหิวและไม่มีเรี่ยวแรงจะเล่นต่อ เนื้อหานี้แสดงให้เห็นถึงความเรียบง่ายแต่ลึกซึ้งในชีวิต เป็นอารมณ์ขันที่แฝงอยู่ในบทเพลงอย่างสวยงาม
ส่วนเนื้อร้องภาษาไทยที่ศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นคร ประพันธ์ขึ้นมานั้น มีเนื้อหาที่แตกต่างออกไป ด้วยแนวทางที่เป็นบลูส์แท้ ๆ เนื้อเพลงจึงกล่าวถึงชีวิตของผู้ที่ต้องเผชิญความยากลำบาก แต่ยังมีความหวังไว้ที่ปลายทาง ตามพระราชประสงค์ ดังท่อนสำคัญที่ว่า “สักวันบุญมา ชะตาคงดี” ทำให้เพลงมีมิติที่ลึกซึ้ง ซึ่งสะท้อนถึงปรัชญาแห่งการมีชีวิตอยู่อย่างงดงามท่ามกลางอุปสรรค
H.M. Blues ประพันธ์ขึ้นในรูปแบบเพลงบลูส์แบบ 12 ห้อง ซึ่งเป็นโครงสร้างดั้งเดิมของดนตรีบลูส์ โดยในเพลงนี้ได้เลือกใช้คีย์ C Blues ซึ่งมีเสียงที่หนักแน่นและให้ความรู้สึกเรียบง่าย ทางเดินคอร์ดหลัก I7, IV7 และ V7 (Chord Progression) ช่วยสร้างอารมณ์ความรู้สึกของบลูส์ แต่ก็มีการใส่คอร์ดประดับในบางช่วง เพื่อเพิ่มความซับซ้อนของเสียงฮาร์มอนี อีกทั้งยังมีการใช้โน้ตครึ่งเสียง (Chromatic Note) ที่ช่วยสร้างมิติทางเสียงให้เชื่อมโยงกันได้อย่างลงตัว ทำให้เพลงนี้มีภาคดนตรีที่นุ่มนวล ฟังแล้วเข้าใจง่าย แต่ยังคงความประณีตของเสียงที่ลุ่มลึก
นอกจากนี้ การนำเสนอทำนองในรูปแบบ ‘ถาม-ตอบ’ (Call & Response) ยังช่วยให้บทเพลงมีความเป็นธรรมชาติในแบบดนตรีบลูส์ ประกอบด้วย 3 ท่อนหลัก ที่ถามตอบกันไปมา ซึ่งเป็นรูปแบบดั้งเดิมของบลูส์ ที่แสดงออกถึงความเข้มแข็งและความงดงาม ผสมผสานในบทเพลงเดียวกันได้อย่างน่าทึ่ง
ในปี พ.ศ. 2538 การมีนำเพลง H.M. Blues ไปบรรเลงที่ Carnegie Hall Jazz Band ในสหรัฐอเมริกา โดยได้รับการยกย่องอย่างมากจากนักดนตรีแจ๊สทั่วโลก บทเพลงนี้ไม่เพียงแสดงถึงเอกลักษณ์ของดนตรีไทยที่ก้าวสู่เวทีสากล แต่ยังเป็นเครื่องหมายของความสัมพันธ์อันแนบแน่นระหว่างพระองค์กับเวทีโลก รวมถึงเป็นแรงบันดาลใจให้แก่วงการดนตรีไทย
เพื่อสืบทอดและเชิดชูมรดกดนตรีที่พระองค์ทรงฝากไว้ให้แก่แผ่นดิน คอนเสิร์ต ‘H.M. Blue’ จะจัดขึ้นในวันที่ 4 ธันวาคม 2567 ณ โรงละครอักษรา คิง เพาเวอร์ โดยความร่วมมือระหว่างเนชั่นกรุ๊ปและองค์กรพันธมิตร ภาครัฐและเอกชน จะเป็นการแสดงของวง RSU Jazz Orchestra ภายใต้การควบคุมของ รศ. ดร. เด่น อยู่ประเสริฐ พร้อมศิลปินชื่อดังมากมายที่จะมาถ่ายทอดความงดงามของบทเพลง ‘H.M. Blues’ และบทเพลงพระราชนิพนธ์เพลงอื่นๆ ตลอดจนถึงบทเพลงสแตนดาร์ดแจ๊ส เพื่อสร้างบรรยากาศแห่งความประทับใจในค่ำคืนพิเศษนี้
รายได้ทั้งหมดจากการจำหน่ายบัตรโดยไม่หักค่าใช้จ่าย บริจาคให้แก่สถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา และวิทยาลัยดนตรี มหาวิทยาลัยรังสิต เพื่อสนับสนุนการศึกษาด้านดนตรีต่อไป