01 ธ.ค. 2567 | 19:00 น.
“การบรรเลงเพลง Requiem ทุกครั้ง คือการเดินทางผ่านอารมณ์หลากหลาย ตั้งแต่ความเศร้าโศกและการลาจาก ไปจนถึงการยอมรับและปล่อยวาง เสียงดนตรีทำหน้าที่เหมือนกระจกสะท้อนสภาพจิตใจของมนุษย์”
ในแวดวงดนตรีคลาสสิก Requiem (เร้คเควียม) ถือเป็นบทประพันธ์ที่มีลักษณะเฉพาะตัวและทรงพลังในการสื่อสาร หากมองในแง่อารมณ์และความหมายดั้งเดิม คำว่า Requiem มาจากภาษาละติน “Requiem aeternam dona eis, Domine” ซึ่งหมายถึง “ขอให้พวกเขาได้พักผ่อนนิรันดร์เถิด พระเจ้า” ลักษณะของบทประพันธ์ประเภทนี้ จึงสร้างสรรค์ขั้นสำหรับพิธีมิสซาไว้อาลัย (Mass for the Dead) ในคริสต์ศาสนา โดยเนื้อร้องมักประกอบด้วยข้อความศักดิ์สิทธิ์จากคัมภีร์และการอธิษฐานเพื่อวิญญาณของผู้ล่วงลับ
ตลอดประวัติศาสตร์ Requiem ไม่ได้จำกัดบทบาทเพียงพิธีกรรมเท่านั้น แต่ยังกลายเป็นพื้นที่ให้คีตกวีถ่ายทอดอารมณ์ส่วนตัว รวมถึงสะท้อนความคิดเกี่ยวกับชีวิต ความตาย และความหวังในชีวิตหลังความตายอีกด้วย
ตัวอย่างที่โดดเด่น เช่น Requiem in C minor ของ โยฮันน์ อดอล์ฟ ฮัสเซ (Johann Adolph Hasse) ที่เต็มไปด้วยความขลังและพลังศักดิ์สิทธิ์ หรือจะเป็น Requiem ของ ลุยจิ เกรูบินี (Luigi Cherubini) ที่นำมาบรรเลงในพิธีไว้อาลัยงานศพของ เบโธเฟน (Ludwig van Beethoven) อันเป็นผลมาจากการที่ เบโธเฟน โดยส่วนตัว มีความรู้สึกชื่นชมผลงานชิ้นนี้ของเกรูบินีเป็นพิเศษ
นอกจากนี้ ยังมี Requiem ของ จูเซปเป แวร์ดิ (Giuseppe Verdi) ที่ผสมผสานอารมณ์เศร้า ความดุดัน และความยิ่งใหญ่ในแบบอิตาลี รวมถึง War Requiem ของ เบนจามิน บริทเทน (Benjamin Britten) ที่สะท้อนถึงผลกระทบของสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งเป็นเสมือนบทวิจารณ์ทางสังคม สะท้อนถึงความโหดร้ายของสงครามและการสูญเสียที่ไม่มีวันหวนคืน โดย บริทเทน ผู้ซึ่งเป็นทั้งนักสันติภาพและผู้ต่อต้านสงคราม ใช้บทเพลงนี้เพื่อเตือนใจว่าความรุนแรงไม่ได้สร้างชัยชนะที่แท้จริง มีแต่ความสูญเสียเท่านั้นที่ยังคงอยู่
ในบรรดาผลงานทั้งหมด เราสามารถกล่าวได้ว่า Requiem in D minor K.626 ของ วูล์ฟกัง อมาดิอุส โมสาร์ต (Wolfgang Amadeus Mozart) มีความโดดเด่นเป็นพิเศษ ผลงานนี้เป็นผลงานชิ้นสุดท้ายของ โมสาร์ต ที่เขาเขียนขึ้นในปี 1791 และไม่ได้เขียนจนจบเนื่องจากเสียชีวิตก่อนเวลา โดย โมสาร์ต ได้รับมอบหมายจากบุคคลนิรนามให้แต่งเพลงนี้ แต่ภายหลังพบว่าผู้ว่าจ้างคือ Count Franz von Walsegg ซึ่งตั้งใจใช้เพลงนี้ในพิธีไว้อาลัยภรรยาของเขา
Requiem ของ โมสาร์ต ผสมผสานความสง่างามของบาโร้ก เข้ากับความเรียบง่ายและทรงพลังของยุคคลาสสิก ได้รับการยกย่องว่าเป็นงานชิ้นเอกในวงการดนตรีคลาสสิก ทั้งจากโครงสร้างดนตรีอันล้ำลึก และบริบททางประวัติศาสตร์และความลึกลับที่แวดล้อมการแต่งเพลงนี้
เสียงดนตรีในแต่ละท่อน เช่น Dies Irae ที่สั่นสะเทือนด้วยความโกรธา และ Lacrimosa ที่อบอวลด้วยความเศร้าสร้อย สร้างความสะเทือนใจให้แก่ผู้ฟังในทุกยุคสมัย
Dies Irae (แปลว่า “วันแห่งความพิโรธ”) เป็นท่อนหนึ่งในบทเพลง Requiem ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมิสซาไว้อาลัยในพิธีกรรมคาทอลิก Dies Irae มีเนื้อหาที่ทรงพลังและเต็มไปด้วยความตื่นตระหนกและความยำเกรง โดยเนื้อร้องกล่าวถึงวันพิพากษา (Day of Judgment) ซึ่งพระเจ้าจะตัดสินวิญญาณของมนุษย์ว่าเหมาะสมที่จะได้รับการช่วยเหลือหรือไม่
ใน Requiem in D minor K.626 ของ Mozart ท่อน Dies Irae เปิดขึ้นอย่างรุนแรงและทรงพลังด้วยเสียงเครื่องสายและเครื่องเป่า ประกอบกับเสียงร้องประสานที่กระหน่ำเป็นจังหวะเร่งเร้า สร้างความรู้สึกถึงความกลัวและความเร่งรีบของวันพิพากษา นี่คือหนึ่งในท่อนที่โดดเด่นที่สุดของบทเพลง Requiem และมักจะถูกจดจำว่าเป็นสัญลักษณ์ของพลังและอารมณ์ในระดับสูงสุดของดนตรีคลาสสิก
ส่วน Lacrimosa (แปลว่า “ผู้เปี่ยมด้วยน้ำตา”) เป็นหนึ่งในท่อนที่ไพเราะและสะเทือนใจที่สุด ท่อนนี้อยู่ในส่วนของ Sequence ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับความโศกเศร้าของมนุษย์ที่ขอความเมตตาจากพระเจ้าในวันพิพากษา
เสียงดนตรีของ Lacrimosa เต็มไปด้วยความอ่อนโยนและเศร้าสร้อย เปิดขึ้นด้วยเสียงของเครื่องสายที่แสดงถึงความหนักอึ้งและลึกซึ้งในอารมณ์ ก่อนที่วงประสานเสียงจะเข้ามาอย่างนุ่มนวล แต่เปี่ยมด้วยความรู้สึกสะเทือนใจ ท่วงทำนองของท่อนนี้ถูกเขียนขึ้นในลักษณะที่ดึงอารมณ์ความโศกเศร้าของผู้ฟังออกมาอย่างชัดเจน
โมสาร์ต เขียน Lacrimosa เพียงไม่กี่ห้องดนตรี (บาร์) ก่อนที่เขาจะเสียชีวิต นั่นหมายความว่าท่อนนี้ไม่สมบูรณ์และถูกเติมเต็มโดยศิษย์ของเขา ฟรานซ์ ซาเวอร์ ซุสมายาร์ (Franz Xaver Süssmayr) แม้จะมีการต่อเติม แต่ส่วนที่ โมสาร์ท ทิ้งไว้ ยังคงสะท้อนความรู้สึกของเขาในช่วงสุดท้ายของชีวิตได้อย่างชัดเจน
ในคอนเสิร์ต Deep South Requiem น้ำตาแสง ‘ใต้’ บทเพลงอันอมตะนี้จะถูกนำเสนอในรูปแบบที่แตกต่าง ผ่านการบรรเลงของวง โปรมูสิกา (Pro Musica Ensemble) ภายใต้การนำของ ทัศนา นาควัชระ และ เฮฟเวนลี วอยซ์ เชมเบอร์ ซิงเกอร์ส (Heavenly Voice Chamber Singers) พร้อมเสริมมิติใหม่ด้วยงานทัศนศิลป์ที่ออกแบบโดย จิรวัฒน์ เอื้อสังคมเศรษฐ์
การแสดงครั้งนี้ เชื่อมโยงอารมณ์ของ Requiem เข้ากับเรื่องราวความสูญเสียในสังคมไทย โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ ที่ซึ่งความขัดแย้งได้ฝากรอยแผลลึกไว้ในหัวใจของผู้คนโดยชื่อ “น้ำตาแสง’ใต้’” ไม่ได้เป็นเพียงแค่คำเปรียบเปรย แต่เป็นคำที่สะท้อนถึงการสูญเสียที่ไม่มีใครอาจลืมได้ง่าย เสียงดนตรีในครั้งนี้ จึงเป็นดั่งเครื่องมือในการปลอบประโลมและสะท้อนความเป็นมนุษย์ผ่านมุมมองที่ไม่แบ่งแยก
การแสดงจะจัดขึ้นในวันที่ 4 ธันวาคม 2024 เวลา 19:30 น. ณ GalileOasis บัตรเข้าชมราคา 900 บาท และ 500 บาทสำหรับนักเรียน สำรองที่นั่งได้ที่ [email protected] หรือ Line Official ID: @promusica.ticket
Deep South Requiem น้ำตาแสง ‘ใต้’ คือบทบันทึกการเดินทางผ่านเรื่องราวของมนุษย์ ความเจ็บปวด และการเยียวยา ด้วยพลังของศิลปะและเสียงเพลงที่เชื่อมโยงอารมณ์ของคนทั้งโลกเข้าด้วยกัน