ฝนเดือนหก - รุ่งเพชร แหลมสิงห์ : ประกาศิตครูไพบูลย์ บุตรขัน “ถ้าไม่ดัง ฉันเลิกแต่งเพลง”

ฝนเดือนหก - รุ่งเพชร แหลมสิงห์ : ประกาศิตครูไพบูลย์ บุตรขัน “ถ้าไม่ดัง ฉันเลิกแต่งเพลง”

บทเพลง ‘ฝนเดือนหก’ ผลงานการขับร้องด้วยสำเนียงสุโขทัยจากลูกคอชายหนุ่มเมืองเพชรบุรี ‘รุ่งเพชร แหลมสิงห์’ โด่งดังระงมไปทั่วท้องนาวงการเพลงลูกทุ่งไทย จนกลายเป็นหนึ่งในเพลงเอกแห่งประวัติศาสตร์วงการเพลงลูกทุ่งไทยในปัจจุบัน

ย่างเข้าเดือนห๊ก ฝนก็ต๊กพรำพรำ
กบมันก็ร้องงึมงำ ระงมไปทั่วท้องนา
ฝนต๊กทีไร คิดถึงขวัญใจของข้า
แม่ดอกโสนบ้านนา
น้องเคยเรียกข้า พ่อดอกสะเดา…

 

บทเพลง ‘ฝนเดือนหก’ ผลงานการขับร้องด้วยสำเนียงสุโขทัยจากลูกคอชายหนุ่มเมืองเพชรบุรี ‘รุ่งเพชร แหลมสิงห์’ โด่งดังระงมไปทั่วท้องนาวงการเพลงลูกทุ่งไทย จนกลายเป็นหนึ่งในเพลงเอกแห่งประวัติศาสตร์วงการเพลงลูกทุ่งไทยในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เอกลักษณ์เสียงกบร้อง “อ๊บ อ๊บ” ในช่วงท่อนอินโทรของเพลง ซึ่งได้กลายมาเป็นหนึ่งในมุกตลกคลาสสิกตลอดกาลของวงการตลกไทย ที่เมื่อดนตรีอินโทรเพลงฝนเดือนหกขึ้นครั้งใด ต้องมีคนเจ็บหัวกบาลเพราะโดนเอาขันเคาะทำเป็นเสียงกบ เรียกเสียงฮาจากคนดูอยู่ร่ำไป

เหมือนว่าเวลาจะผ่านไปไม่นาน แต่เพลง ฝนเดือนหก ที่บันทึกเสียงครั้งแรกในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2511 ได้ขับกล่อมมิตรรักแฟนเพลงมาเป็นระยะเวลา 50 กว่าปีแล้ว ซึ่งก่อนฝนเดือนหกจะตก และกบจะร้องอ๊บ อ๊บ บทเพลง ฝนเดือนหก ไม่เพียงแต่จะส่งผลทำให้ รุ่งเพชร แหลมสิงห์ กลายเป็นนักร้องดังทั่วบ้านทั่วเมืองในช่วงทศวรรษ 2510 เท่านั้น แต่ ฝนเดือนหก ยังอาจเป็นการ ‘วางเดิมพัน’ ของบรมครูเพลงลูกทุ่งไทย ‘ไพบูลย์ บุตรขัน’ ที่กำลังจะกลายเป็นไดโนเสาร์ตกยุคแห่งวงการเพลงลูกทุ่ง กลับมา ‘ดวงพุ่ง’ ในช่วงสุดท้ายของชีวิต ด้วยการตัดสินใจให้คนไปตามตัวนักร้องที่ชื่อ รุ่งเพชร แหลมสิงห์ มาพบที่บ้านกระท่อมน้อย เพื่อมอบเพลงที่ตั้งใจแต่งให้ รุ่งเพชร ขับร้องโดยเฉพาะ โดยกล่าวเป็นประกาศิตกับ รุ่งเพชร ไว้ว่า 

 

สามเพลงดังแน่นอน...

ถ้าไม่ดัง ฉันเลิกแต่งเพลง

จาก ‘แหลมสน’ กลายเป็น ‘แหลมสิงห์’

รุ่งเพชร แหลมสิงห์ หรือในชื่อ-นามสกุลจริง นายวสันต์ จันทร์เปล่ง เกิดเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ.2485 เป็นชาวจังหวัดเพชรบุรี ชื่นชอบการร้องเพลงมาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก เมื่อเข้าสู่วัยนักเรียนด้วยแรงปรารถนาจะเป็นนักร้องขับกล่อมผู้คนจึงตัดสินใจเดินทางจากเมืองเพชรมุ่งหน้าเข้ามาบางกอกเพื่อประกวดร้องเพลงที่วงดนตรีของครูพยงค์ มุกดา ผลปรากฏว่า จากผู้เข้าแข่งขันทั้งหมดราว 50 กว่าคน นายวสันต์ จันทร์เปล่ง ชนะเลิศได้อันดับที่ 1 ด้วยผลงานเพลง ‘เขาพระวิหารแห่งความหลัง’ ต้นฉบับขับร้องโดย ‘คำรณ สัมบุญณานนท์’ และประพันธ์เนื้อร้องโดย ครูไพบูลย์ บุตรขัน

เส้นทางสู่การเป็นนักร้องกำลังไปได้สวย แต่เส้นทางชีวิตหลังเรียนจบก็กำลังลงหลักปักฐานด้วยการสอบเข้าโรงเรียนนายสิบทหารเพื่อบรรจุเข้ารับราชการ จึงเว้นว่างจากถนนสายดนตรีไปประมาณ 3 ปี แต่ทว่า ลำโพงและไมโครโฟนก็ส่งกลิ่นหอมหวลยิ่งกว่าดอกต้นตีนเป็ดในช่วงฤดูหนาว เมื่อได้ข่าวว่าวงดนตรีรวมดาวกระจายของครูสำเนียง ม่วงทอง กำลังเปิดรับสมัครนักร้องใหม่ จึงไปสมัครอยู่กับวงดนตรีของครูสำเนียง 

ณ จุดเริ่มต้นบนถนนแห่งตัวโน้ตกับคณะวงดนตรีของครูสำเนียง ม่วงทอง จึงเกิดนักร้องคนใหม่ประดับวงการ นามว่า ‘รุ่งเพชร แหลมสน’ ซึ่งครูสำเนียง ม่วงทอง เป็นผู้ตั้งให้ด้วยตัวเอง

คำว่า ‘รุ่ง’ มาจากชื่อปู่ของ รุ่งเพชร 
คำว่า ‘เพชร’ มาจากชื่อจังหวัดเพชรบุรี ถิ่นฐานบ้านเกิด 
คำว่า ‘แหลม’ มาจากชื่ออำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี 
และคำว่า ‘สน’ มาจาก สวนสน สถานที่ธรรมชาติ ไม่ไกลจากจังหวัดเพชรบุรี

แต่ทว่า เมื่อคราวบันทึกแผ่นเสียงครั้งแรกในเพลง ‘งามเหลือเกิน’ (ประพันธ์คำร้อง – ทำนอง โดย ธร เมธา) บริษัทผลิตแผ่นเสียงกลับปั๊มหน้าตราแผ่นเสียงผิด จากคำว่า ‘รุ่งเพชร แหลมสน’ กลายเป็น ‘รุ่งเพชร แหลมสิงห์

กระนั้น ครูสำเนียง ม่วงทอง กลับชื่นชอบและเห็นดีเห็นงามในชื่อนาม ‘รุ่งเพชร แหลมสิงห์’ เป็นอย่างมาก เพราะมีความหมายที่ดี เนื่องจาก  ‘สิงห์’ หมายถึงเจ้าป่า ผงาดอย่างสิงห์ พร้อมทั้งยังได้บอกเป็นแนวขำขันด้วยว่า

 

ชื่อนี้ ต่อไปนายจะดัง

 

รุ่งเพชร แหลมสิงห์ มีผลงานบันทึกแผ่นเสียงจำนวนหลายสิบเพลงตั้งแต่ในช่วงปี พ.ศ. 2508 ผลงานที่มิตรรักนักเพลงพอจะคุ้นหูอยู่บ้าง เช่น เพลง ‘น้ำใจทหารอาสา’ (ประพันธ์คำร้อง – ทำนอง โดย เมืองมนต์ สมบัติเจริญ) เพลง ‘ตายหยังเขียด’ (ประพันธ์โดย รุ่งทิพย์ ธารทอง) แต่ รุ่งเพชร ก็ยังถือว่ามิใช่นักร้องชื่อเสียงโด่งดังที่เข้าไปนอนซุกซ่อนอยู่ในห้องหัวใจของแฟนเพลง จวบจนเข้าทศวรรษ 2510 เมื่อนักประพันธ์เอก ครูไพบูลย์ บุตรขัน อยากพบหน้านักร้องนามว่า รุ่งเพชร แหลมสิงห์ ชีวิตของรุ่งเพชรก็เปลี่ยนไปตลอดกาล

 

ประกาศิตครูไพบูลย์ บุตรขัน “ถ้าไม่ดัง ฉันเลิกแต่งเพลง

 

น้ำค้างเดือนหกตกแล้ว น้องเอยน้องแก้ว

เจ้าไม่หนาวบ้างหรือไร...

 

ก่อนย่างเข้าเดือนหก ฝนจะตกพรำพรำ ครูไพบูลย์ บุตรขัน ได้เคยประพันธ์เพลง น้ำค้างเดือนหก ตกลงมาก่อนแล้วในนามปากกา ‘สาโรช ศรีสำแล’ ให้ ‘ครูสุรพล สมบัติเจริญ’ ขับร้องบันทึกแผ่นเสียงในปี พ.ศ. 2503 ทว่า ภายใต้เนื้อเพลงชวนหยิกแกมหยอกที่โอบกอดด้วยจังหวะดนตรีรำวงสนุก ๆ น้ำค้างเดือนหก ของ ครูไพบูลย์ บุตรขัน กลับซ่อนไว้ด้วยไส้รสชาติแห่งความทุกข์ยากของชะตาชีวิตในช่วงดวงตก เพราะจากนักประพันธ์เอกแห่งทศวรรษ 2490 เมื่อปฏิทินยิ้มรับสู่ทศวรรษ 2500 เส้นกราฟชีวิตครูไพบูลย์ก็ดิ่งลงราวกับเล่นบันจีจัมป์ท้าทายนรกและเย้ยสวรรค์ จากที่มีฝีมือแบบกระบี่ไร้เทียมทานก็กลายเป็นไร้ฝีมือ แต่งเพลงดีแต่ก็ไม่ดังเท่าที่ควร และแม้จะผลิตงานเพลงป้อนนักร้องดังในยุคนั้นอย่าง ทูล ทองใจ และก้าน แก้วสุพรรณ แต่เงินรายได้ก็หมดไปกับค่ายารักษาจากโรคประจำตัว 

ชีวิตครูไพบูลย์นั้นโชคร้าย แต่ได้เพื่อนดี เพื่อนดีที่ว่าก็คือ ‘ครูมงคล อมาตยกุล’ นักดนตรี นักแต่งเพลง ผู้ก่อตั้งวงดนตรีจุฬารัตน์ ซึ่งเป็นมิตรแท้เคียงบ่าเคียงไหล่บนถนนสายดนตรีกันมาตั้งแต่ในทศวรรษ 2490

ในช่วงดวงตก ครูไพบูลย์เร้นลับเก็บตัวหลบหน้าผู้คนอยู่หลายปี ขณะที่กระแสเพลงตลาดหรือเพลงชีวิต ซึ่งเป็นแนวเพลงที่ครูไพบูลย์เคยประพันธ์สร้างชื่อไว้ในช่วงทศวรรษ 2490 ก็วิวัฒนาการกลายเป็น ‘เพลงลูกทุ่ง’ ในช่วงปลายทศวรรษ 2500 

แม้การบรรยายภาพท้องไร่ ท้องนา และไอ้ทุยในเนื้อหาเพลงลูกทุ่งจะเป็นแนวถนัดของครูไพบูลย์ แต่ในช่วงดวงตก ก็เหมือนมีอะไรบังหูบังตา เพลงดีแต่ไม่ดัง นักประพันธ์เอกอย่างครูไพบูลย์ จึงกลายเป็นไดโนเสาร์ตกยุคแห่งวงการเพลง จนถึงกับเคยรำพันกับครูมงคล อมาตยกุล เพื่อนรักว่า 

 

ผมไร้ฝีมือเสียแล้ว คุณมงคล

 

 “เพื่อนเอ๋ย อย่าเพิ่งท้อ

 

คือกำลังใจให้เพื่อนรักจากครูมงคล อมาตยกุล พร้อมทั้งชักชวนให้ครูไพบูลย์เดินหันหลังออกจากประตูบ้านกระท่อมน้อย ท่องยุทธจักรเดินทางไปบนถนนสายดนตรีอีกครั้งกับคณะวงดนตรีจุฬารัตน์ เพื่อปลุกไฟและสร้างแรงบัลดาลใจในการประพันธ์เพลง

และแล้ว เส้นกราฟชีวิตของครูไพบูลย์ บุตรขัน กลับมาพุ่งทะยานเป็นบั้งไฟโก้อีกครั้งเมื่อขึ้นทศวรรษ 2510 ในช่วงราวปี พ.ศ. 2510 – 2511 ไพรวัลย์ ลูกเพชร นักร้องหนุ่มหล่อจากอำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี คนบ้านเดียวกันกับ รุ่งเพชร แหลมสิงห์ ซึ่งมีผลงานเพลงบันทึกแผ่นเสียงโด่งดังมาก่อนหน้าแล้วจากเพลง ‘คำเตือนของพี่’ (ผลงานการประพันธ์โดย ครูสุรพล สมบัติเจริญ) ได้ลาออกจากคณะวงดนตรีของครูสุรพล มาอยู่กับวงดนตรีรวมดาวกระจายของครูสำเนียง ม่วงทอง 

ไพรวัลย์ เดินทางมาขอเพลงกับครูไพบูลย์ บุตรขัน เพื่อนำไปขับร้อง ผลปรากฏว่า เพลง ‘กลิ่นธูปสุโขทัย’ และเพลง ‘นิราศรักนครปฐม’ จากคมปากกาครูไพบูลย์ ได้รับกระแสการตอบรับจากมิตรรักแฟนเพลงเป็นอย่างดี ชื่อเสียงของ ไพรวัลย์ ลูกเพชร ก็กลับมาฮิตติดลมบน ครูไพบูลย์ บุตรขัน ก็กลับมามีกำลังใจประพันธ์เพลง

และในช่วงระหว่างการต่อเพลง (การสอนขับร้อง ออกเสียง เล่นเสียง) กับ ไพรวัลย์ ลูกเพชร นี้เอง ที่ ครูไพบูลย์ บุตรขัน ได้สอบถาม ไพรวัลย์ ถึงนักร้องที่ชื่อ รุ่งเพชร แหลมสิงห์ เนื่องจากเปิดฟังวิทยุทรานซิสเตอร์แล้วชื่นชอบในน้ำเสียงของนักร้องผู้นี้ แต่ก็เห็นว่าจากผลงานที่ผ่าน ๆ มา เพลงยังไม่ถูกแนวกับเสียงของรุ่งเพชร ไพรวัลย์ซึ่งเป็นคนจังหวัดเพชรบุรีบ้านเดียวกันรุ่งเพชร จึงเป็นมือประสานให้ ‘หมาย เมืองเพชร’ ไปตาม รุ่งเพชร ที่บ้านเช่า โดยแจ้งว่า ครูไพบูลย์ ให้ไปพบที่บ้านด่วน จะแต่งเพลงให้

รุ่งเพชร ไม่รู้จักครูไพบูลย์ บุตรขัน เป็นการส่วนตัว และไม่เชื่อว่าครูไพบูลย์จะอยากพบตนเอง จึงคิดว่าเพื่อนแกล้งโกหก แต่ทว่าผ่านไปอีกไม่กี่วัน หมาย เมืองเพชร ก็วิ่งกลับมาที่บ้านอีกครั้ง โดยถือแบงค์ร้อยมาหนึ่งใบบอกว่า ครูไพบูลย์ ให้มาเป็นค่ารถแท็กซี่พา รุ่งเพชร มาพบที่บ้านให้ได้

เมื่อแรกพบหน้ากันเป็นครั้งแรก ครูไพบูลย์ บุตรขัน ได้เอ่ยกับ รุ่งเพชร แหลมสิงห์ ว่า “ไม่หล่อ แต่ดังแน่”  โดยแนะนำว่า “รุ่งเพชร ต้องร้องเพลงสำเนียงเหน่อไปทางสุโขทัย ดังแน่นอน” และให้ประกาศิตว่า

 

เสียงอย่างเธอ สามเพลงถ้าไม่ดัง

ฉันเลิกแต่งเพลงเลย

 

แต่งให้แบบไม่เอาเงิน 

เศษเสี้ยววินาทีประวัติศาสตร์แห่งวงการเพลงลูกทุ่งไทยจึงเกิดขึ้น เมื่อครูไพบูลย์ บุตรขัน ได้พบกับ รุ่งเพชร แหลมสิงห์ และเพลงแรกที่ครูไพบูลย์มอบให้ รุ่งเพชร คือเพลง ‘ไอดินกลิ่นสาว’ ที่ร้องขึ้นต้นว่า

 

กลิ่นโคลนสาบควาย มันติดผิวกายพี่มา

มาอยู่กรุงเทพเมืองฟ้า ตั้งสามปีกว่าก็ยังมีกลิ่น...” 

 

หลังได้เนื้อร้อง และต่อเพลงจากครูไพบูลย์เพียงสองวัน รุ่งเพชร ก็ลงทุนบันทึกแผ่นเสียงและเร่ขายออกจำหน่ายด้วยเงินทุนของตัวเองที่เก็บออมมาในทันที  ผลปรากฏว่า เพลง ไอดินกลิ่นสาว ซึ่งบันทึกเสียงครั้งแรกในเดือนเมษายน พ.ศ. 2511 ได้กระแสการตอบรับจากมิตรรักแฟนเพลงเป็นอย่างดี 

ในงานศึกษาอัตชีวประวัติครูไพบูลย์  บุตรขัน ของ วัฒน์ วรรลยางกูร บันทึกไว้ว่า รุ่งเพชร ลงทุนอัดเพลง ไอดินกลิ่นสาว เป็นเงิน 600 บาท โดยอาศัยพ่วงไปกับเพลงของ เมืองมนต์ สมบัติเจริญ โดยได้ทีมนักดนตรีและมือเรียบเรียงเสียงประสานฝีมือฉกาจฉกรรจ์อย่าง

ครูชาญชัย บัวบังศร เจ้าของฉายา ‘ราชาแอคคอร์เดียนเมืองไทย’ อุ้มแอคคอร์เดียนบันทึกเสียงราวกับลูกน้อย 

ครูพีระ ตรีบุปผา นั่งประทับในตำแหน่งเปียโน และ ครูวิชิต โห้ไทย ใช้ริมฝีปากบรรจงจูบในตำแหน่งแซ็กโฟโซน และเพลง ไอดินกลิ่นสาว ก็ขายได้เงินมากถึง 70,000 บาท

สองเดือนต่อมา (มิถุนายน พ.ศ. 2511) รุ่งเพชรจึงหอบเงิน 70,000 บาท ที่ได้จากการขายเพลงไปมอบให้แก่ครูไพบูลย์ที่บ้าน เนื่องด้วยเมื่อครั้งแรกที่ครูไพบูลย์มอบเพลงให้นั้น ครูไพบูลย์ได้บอกกับ รุ่งเพชร เป็นทำนองเดิมพันฝีมือตัวเอง ไว้ว่า

แต่งให้แบบไม่เอาเงิน เพลงดังขายได้เงินแล้วค่อยเอามาให้ ถ้าไม่ดังในสามเพลง ก็ไม่ต้องเอาเงินมาให้

ทว่า เพียงแค่เพลงไอดินกลิ่นสาว เพลงแรกและเพลงเดียว รุ่งเพชรก็ประสบความสำเร็จจนสามารถหอบเงินหมื่นมาเป็นค่าเพลงให้ครูไพบูลย์ได้ตามประกาศิต 

รุ่งเพชร เล่าว่า ในตอนแรกครูไพบูลย์ปฏิเสธที่จะรับเงิน แต่รุ่งเพชรได้ขอไว้ให้ครูรับคนละครึ่ง ครูไพบูลย์จึงบอกว่า “พรุ่งนี้มาเอาเพลง ทีนี้ละ เป็นเอกลักษณ์ของเธอ” 

รุ่งอรุณขึ้น รุ่งเพชร จึงเดินทางมารับ ‘เพลงที่สอง’ ที่ครูไพบูลย์นัดหมายไว้ โดยมี เมืองมนต์ สมบัติเจริญ เดินทางมาด้วย ปรากฏว่า เมื่อได้ฟังเพลงจนจบ เมืองมนต์ สมบัติเจริญ ดวงตาเห็นสปอร์ตไลท์ทันทีว่าเพลงนี้ดังแน่ ๆ จึงขอซื้อเพลงทันทีในราคาหนึ่งพันบาท แต่ครูไพบูลย์ปฏิเสธไม่ขาย โดยยืนยันว่าเพลงนี้แต่งให้ รุ่งเพชร แหลมสิงห์ ขับร้องโดยเฉพาะ

เพลงที่สอง ที่ครูไพบูลย์ บุตรขัน มอบให้ รุ่งเพชร แหลมสิงห์ คือเพลงที่มีชื่อว่า ‘ฝนเดือนหก

 

ย่างเข้าเดือนหก ฝนก็ตกพรำพรำ
กบมันก็ร้องงึมงำ ระงมไปทั่วท้องนา
ฝนตกทีไร คิดถึงขวัญใจของข้า
แม่ดอกโสนบ้านนา น้องเคยเรียกข้าพ่อดอกสะเดา

ย่างเข้าเดือนหก ฝนก็ตกปรอยโปรย
หัวใจพี่ร้องโอยโอย คิดถึงแม่ดอกก้านเช่า
ฝนตกหลงมา คิดถึงขวัญตาน้องเจ้า
ไม่เจอะหน้าน้องแม้เงา หรือลืมรักเราเสียแล้วแก้วตา

ถามว่าฝนเอ้ย ทำไมจึงตก
ตอบว่าฝนตก เพราะกบมันร้องเรียกฝนบนฟ้า
ถามว่าพี่เอ้ย ทำไมร้องไห้และหลั่งน้ำตา
ตอบว่าหัวใจของข้า คิดถึงแก้วตาจึงร้องไห้

ย่างเข้าเดือนหก ฝนก็ตกปรอยโปรย
พี่ยังมาหลงยืนคอย น้องจนพี่ปวดหัวใจ
ฝนตกพรำพรำ พี่ยิ่งระกำหมองไหม้
พี่ต้องตากฝนทนหนาวใจ น้องจากพี่ไปเมื่อเดือนหกเอย

 

จะด้วยปาฏิหาริย์หรือความบังเอิญก็ตามแต่ เพลง ฝนดือนหก บันทึกเสียงในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2511 ‘เดือนหก’ ตรงตามปฏิทินสากลพอดิบพอดี โดยได้ ครูชาญชัย บัวบังศร ราชาแอคคอร์เดียนเมืองไทย เจ้าเก่าเจ้าเดิมเป็นผู้เรียบเรียงเสียงดนตรี ไม่เพียงเท่านั้น ครูชาญชัย ยังแนะด้วยว่า เพื่อให้เห็นภาพ ‘กบ’ ที่ ‘ร้องเรียกฝนบนฟ้า’ และเพื่อให้สัมผัสได้ถึงสภาพอากาศของฝนเดือนหกที่ตกพรำพรำทั้งวันทั้งคืน ก็ควรจะมีเสียง ‘กบร้อง’ ในเพลงไว้ด้วย 

เสียงกบร้อง “อ๊บ อ๊บ” จึงปรากฏเป็นเอกลักษณ์ในเพลง ‘ฝนเดือนหก

ด้วยความตั้งใจของครูไพบูลย์ ที่ให้ รุ่งเพชร แหลมสิงห์ ร้องเพลง ฝนเดือนหก ออกมาในสำเนียงเหน่อแบบสุโขทัย คำว่า เดือนหก รุ่งเพชรจึงร้องออกเสียงเป็น เดือนห๊ก และ ฝนตก ก็ร้องออกเสียงเป็น ฝนต๊ก กลายเป็นเอกลักษณ์โดดเด่นของเพลง ฝนเดือนหก เคียงคู่ไปกับเสียงกบร้อง อ๊บ อ๊บ ติดหูมิตรรักนักเพลงทั่วประเทศ ส่งผลทำให้ รุ่งเพชร แหลมสิงห์ กลายเป็นนักร้องดังทั่วบ้านทั่วเมืองในช่วงราวปี พ.ศ. 2512

เป็นไปดังประกาศิตที่ครูไพบูลย์ ว่า “ดังแน่” เพราะเพลง ฝนเดือนหก ดังในระดับที่ว่าระงมไปทั่วท้องทุ่งวงการเพลงลูกทุ่งไทย เมื่อขายได้ราว 200,000 แผ่น เป็นประวัติการณ์ยอดขายของวงการเพลงลูกทุ่งไทยในยุคนั้น ซึ่งเมื่อคิดคร่าว ๆ ตามที่ รุ่งเพชร เคยเล่าว่าในยุคนั้นขายแผ่นเสียงได้ราคาแผ่นละ 7 บาท ฝนเดือนหก ก็น่าจะทำเงินได้มากถึงราว 1,400,000 บาท ในยุคที่ราคาทองบาทละประมาณ 476 บาท

 

จากเคยหอบเงินหมื่นจนได้ถือเงินล้าน 

ไม่เพียงรายได้เป็นเงิน ฝนเดือนหก ยังนำมาซึ่งเกียรติยศให้แก่รุ่งเพชร แหลมสิงห์ และครูไพบูลย์ บุตรขัน เมื่อความโด่งดังของเพลงนี้ส่งผลทำให้ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทาน ครั้งที่ 3 ประเภท ก.(ไทยลูกทุ่ง) จำนวน 2 รางวัล คือ รางวัลทำนองชนะเลิศ และรางวัลนักร้องชายรองชนะเลิศ (รุ่งเพชร แหลมสิงห์) ในปี พ.ศ.2514 และในกาลต่อมา ก็ได้รับรางวัลพระราชทานแต่งเพลงดีเด่น สมเด็จพระเทพฯ ในงานกึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทย ครั้งที่ 1 ในปี พ.ศ.2532

เบื้องหลังความสำเร็จของเพลง ฝนเดือนหก มิใช่เรื่องบังเอิญหรือเป็นการกล่าวแบบไปทีเพื่อวัดดวงแบบหว่านแห แต่มาจากการคบคิดทบทวนและพุ่งฉมวกเข้าเป้าไปที่หัวปลาด้วยความมั่นใจ ดังที่ครูไพบูลย์ ได้ให้สัมภาษณ์ไว้เมื่อปี พ.ศ.2512 ว่า

เพลงนี้ผมคิดมาเป็นเวลาหกเดือน แนวคิดนะครับ โดยเฉพาะเพลงนี้บางท่านบอกว่าภาษาจะวิบัติกระมัง เดือนห๊ก แล้วก็ ฝนต๊ก ทีนี้เจตนารมณ์ของผมคือ ผมศึกษาทางของเพลงเป็นเวลาถึงหกเดือน ศึกษาภาษาและสำเนียงพูดของคนพื้นเมืองทางเหนือ คือผมเก็บมาจากชาวพิจิตร สุโขทัย และพิษณุโลก เขาพูดเหน่อมาเป็นทางแบบนี้ครับ ผมก็เรียนโน้ตสากลมา โน้ตตัวสูงไปใส่อักษรต่ำจะเพี้ยนทันที หลักของการแต่งเพลงก็มีอยู่ ทำไมผมถึงเขียนแบบนี้ เพราะว่าเจตนารมณ์ผมอยากดึงเอาวัฒนธรรมภาษาพูดเข้ามามีบทบาทในการเผยแพรให้พี่น้องภาคต่าง ๆ ได้เข้าใจว่า ในประเทศไทยมีการพูดกันหลายสำเนียงภาษา เหน่อไปหลายแบบ

จากประกาศิตครูไพบูลย์ ที่บอก รุ่งเพชร แหลมสิงห์ ว่า “สามเพลงถ้าไม่ดัง ฉันเลิกแต่งเพลงเลย” ผลปรากฏว่า ‘ดังทั้งสามเพลง’ เพราะต่อมาในเดือนสิงหาคม 2511 ครูไพบูลย์ ก็มอบเพลงที่สาม ‘คืนฝนตก’ ที่ยังคงสำเนียงร้องเหน่อแบบสุโขทัยว่า

อยู่ดีดีน้องหาว่าพี่โกหก อยู่ดีดีน้องหาว่าพี่โกหก อยู่ดีดี น้องหาว่าพี่โกหก รู้ไหมน้ำตาพี่ไหลตก เสียอกเสียใจน้องไม่ฟังพี่” 

ซึ่ง รุ่งเพชร ก็ขับร้องจนโด่งดังได้รับความนิยมไม่แพ้สองเพลงแรก

 

จาก “ไอดินกลิ่นสาว” เดือนเมษายน 
สู่ “ฝนเดือนหก” เดือนมิถุนายน
 ถึง “คืนฝนตก” เดือนสิงหาคม 
ภายในปี พ.ศ. 2511ปีเดียวเท่านั้น “ดังทั้งสามเพลง”

แม้ตลอดชีวิตการเป็นนักร้องของ รุ่งเพชร แหลมสิงห์ จะร้องเพลงบันทึกเสียงจนน้ำลายเปื้อนไมค์เป็นจำนวนมากถึงหลักพันเพลง แต่ปฏิเสธมิได้ว่า ‘ฝนเดือนหก’ คือเพลงเอกตลอดกาลของชีวิตนักร้องลูกทุ่งที่ชื่อ ‘รุ่งเพชร แหลมสิงห์

ในขณะเดียวกัน ฝนเดือนหก ก็เป็นบทเพลงที่นักประพันธ์เอกของวงการลูกทุ่งไทยอย่าง ครูไพบูลย์ บุตรขัน ถึงกับวางเดิมพันทั้งเกียรติประวัติ ชื่อเสียง และเงินทอง รวมทั้งยังเป็นเพลงที่เรียกศรัทธาความมั่นใจกลับคืนมาให้แก่ครูไพบูลย์ บุตรขัน เป็นอย่างมาก เพราะหลังจากเพลงฝนเดือนหก งานเพลงที่ครูไพบูลย์ประพันธ์ล้วนได้รับความนิยม ดังแบบทั่วบ้านทั่วเมืองอีกเป็นจำนวนมาก อาทิ คืนฝนตก น้ำลงเดือนยี่ (ขับร้องโดย รุ่งเพชร แหลมสิงห์) มนต์รักลูกทุ่ง (ขับร้องโดย ไพรวัลย์ ลูกเพชร) น้ำท่วม แม่ค้าตาคม บุพเพสันนิวาส (ขับร้องโดย ศรคีรี ศรีประจวบ) ก่อนไม่อีกกี่ปีต่อมา (ปลายเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2515) ครูไพบูลย์ จะลาลับจากโลกนี้ไป

ดังนั้น หากจะกล่าวว่า เพลง ‘ฝนเดือนหก’ คือ จุดเริ่มต้นของ ‘ยุคทอง’ ของคีตกวีลูกทุ่งไทย ไพบูลย์ บุตรขัน ในช่วงสุดท้ายของชีวิต ก็คงจะไม่ผิดนัก.
 

อ้างอิง
เลิศชาย คชยุทธ, ไทยลูกทุ่ง, (กรุงเทพฯ : มติชน, 2538)
วัฒน์ วรรลยางกูร, คีตกวีลูกทุ่ง ไพบูลย์ บุตรขัน, พิมพ์ครั้งที่ 5, (กรุงเทพฯ : ฟรีฟอร์ม, 2555)
ศุกร์ที่คิดถึง รุ่งเพชร แหลมสิงห์, เข้าถึงข้อมูลใน https://www.youtube.com/watch?v=qh6xxRaTeCw
รุ่งเพชร แหลมสิงห์ | รายการตามรอยเพลง | ประวัติชีวิต อดีต-ปัจจุบัน, เข้าถึงข้อมูลในhttps://www.youtube.com/watch?v=IFXLJECSbjs