เบื้องหลังความเป็นมาของ หนูน้อยอาราเล่ หัวเราะอิฮิฮิ จิ้มอุนจิเล่น

เบื้องหลังความเป็นมาของ หนูน้อยอาราเล่ หัวเราะอิฮิฮิ จิ้มอุนจิเล่น

หุ่นแอนดรอยด์ชื่อ โนะริมะกิ อะระเระ (則巻アラレ) ที่ไทยเรียกเธอเป็น “อาราเล่” จากการ์ตูนเรื่อง Dr. Slump ตีพิมพ์รายสัปดาห์ในนิตยสาร Weekly Jump ได้รับความนิยมจนเปลี่ยนชื่อเป็น Dr. Slump และหนูน้อยอาราเล่

หลายคนอาจจะไม่รู้จักอาราเล่โดยตรง แต่รู้จักอาราเล่ผ่าน Dragon Ball (เพราะเป็นคนเขียนคนเดียวกัน หลังเขียนอาราเล่จบ ก็ไปเขียน Dragon Ball) จริง ๆ แต่เดิมชื่อการ์ตูนเรื่องนี้คือ Dr. Slump เท่านั้น เป็นเรื่องราวของนักวิทยาศาสตร์สติเฟื่องสุดเพี้ยนที่ชื่อ โนะริมะกิ เซ็มเบ้ (則巻千兵衛) ที่สร้างหุ่นแอนดรอยด์ที่ชื่อ โนะริมะกิ อะระเระ (則巻アラレ) แล้วที่ไทยเลยเรียกเป็น “อาราเล่” การ์ตูนเรื่อง Dr. Slump นี้ตีพิมพ์รายสัปดาห์ในนิตยสารการ์ตูนรายสัปดาห์ Weekly Jump (週刊少年ジャンプ) ของญี่ปุ่น ตั้งแต่ปี ค. ศ. 1980-1984 และมีการพิมพ์รวมเล่มเป็นเรื่องของตัวเองทั้งหมด 18 เล่มด้วยกัน แต่พอเวอร์ชันหนังสือการ์ตูนเริ่มโด่งดัง และตัวละครอาราเล่นั้นมีคนชื่นชอบเยอะมาก พอไปทำเป็นอนิเมะ เลยเปลี่ยนชื่อจาก Dr. Slump เฉย ๆ ไปเป็น “Dr. Slump และหนูน้อยอาราเล่” (Dr. Slumpアラレちゃん) นั่นเอง เพื่อให้โฟกัสไปที่อาราเล่มากกว่าเน้นไปที่ Dr. Slump เพราะกลายเป็นว่าตัวละครอาราเล่มีคนชื่นชอบกันเยอะมากทั่วประเทศญี่ปุ่น ถ้าใครอ่าน Dragon Ball แล้วรู้สึกว่า บ้าบอคอแตก หลุดโลก คิดได้ไงวะ ให้ลองมาอ่าน Dr. Slump ดู คือมันบ้ากว่า หลุดโลกกว่า แบบเตะเหตุและผลทั้งปวงในโลกนี้ทิ้งน้ำไปเลย เป็นการ์ตูนแห่งความบ้าบอไร้สติอย่างที่สุด เริ่มด้วยการตั้งชื่อตามสไตล์โทะริยะมะคนเขียน พี่แกเล่นเอาเสียง โนะริมะกิ ที่แปลว่า “ห่อสาหร่าย” มาตั้งเป็นนามสกุลหน้าตาเฉย และตั้งชื่อ ดร. คนนี้ว่า เซ็มเบ้ ที่แปลว่า “ข้าวเกรียบ” ไปอีก ดร. เซ็มเบ้สร้างแต่ผลงานบ้า ๆ บอ ๆ ที่ไม่รู้จะสร้างไปทำไม เลยได้ฉายาว่า Dr. Slump คือทำอะไรก็พังไม่เป็นท่าไปหมด พอสร้างอาราเล่ ก็ไม่รู้ว่าสร้างขึ้นมาทำไม และเพื่ออะไร และตั้งชื่อว่า อาราเล่ ที่แปลว่า “ขนมแป้งกรอบ” ไปอีก อาราเล่เป็นหุ่นแอนดรอยด์เสียเปล่า แต่อาราเล่ดันสายตาสั้น แถมติงต๊องบ้าบอ ที่ไม่รู้จะสร้างขึ้นมาทำไม งงในงง เนื้อเรื่องมีแต่ความตลกโปกฮา แบบเสียดสี ประชดประชัน ตามสไตล์โทะริยะมะ ตัวละครทุกตัวอาศัยอยู่ใน “หมู่บ้านเพนกวิน” ซึ่งเป็นบ้านนอกมาก ห่างไกลจากความเจริญทั้งปวง มีแต่ตัวละครแปลก ๆ เช่น สัตว์ที่พูดภาษาคนได้, มนุษย์ต่างดาว, หุ่นยนต์, สัตว์ดึกดำบรรพ์ มีการล้อเลียนตัวละครหลายเรื่อง เช่น อุลตร้าแมน, ก็อดซิลล่า, กาเมร่า หรือ ซูเปอร์แมน และคนทั้งหมู่บ้านเพนกวินไม่แคร์อะไรกับโลกใบนี้ ไม่ว่าจะเจออะไรแปลกประหลาด พิลึก หายนะขนาดไหน ทั้งหมู่บ้านก็สามารถชิลล์ ๆ สโลว์ไลฟ์กันได้อย่างไม่เดือดเนื้อร้อนใจใด ๆ เป็นสังคมในอุดมคติมาก ๆ เสน่ห์ของเรื่องนี้มีหลายจุด แต่ที่ประทับใจที่สุดก็คือตัวอาราเล่เอง (ก็ถึงขั้นต้องเปลี่ยนชื่ออนิเมะใส่ชื่ออาราเล่เข้าไปด้วยนี่นา) อาราเล่มีความ “บ้าแบบแบ๊ว” คือคาแรคเตอร์น่ารักมาก แต่ก็น่ากลัว เพราะนางไม่รู้อะไรเลยบนโลกจริง ๆ แต่นางดันมีพลังมหาศาลระดับทำลายโลกได้ นอกจากนี้ เพราะว่า ดร. เซ็มเบ้นั้นนิสัยลามกจกเปรตอย่างมาก (นิสัยเหมือนเซียนเต่าใน Dragon Ball) เลยยิ่งทำให้อาราเล่ดูน่ารัก ดูใสซื่อบริสุทธิ์อย่างมาก ๆ วันดีคืนดีอาราเล่ก็จะใช้ “กำปั้นผ่าโลก” ทุบพื้นเปรี้ยง แล้วโลกก็แตกเป็นเสี่ยง ๆ พร้อมกับเสียงหัวเราะอย่างบ้าคลั่งแบบใสซื่อบริสุทธิ์ของอาราเล่ แต่ก็ไม่มีใครตาย แล้วโลกก็กลับเป็นเหมือนเดิมแบบงง ๆ ไม่มีคำอธิบายไปอีก บางครั้ง จู่ ๆ อาราเล่ก็จะ “ถอดหัว” เล่นบ้าง หรือไม่ก็จะไปหา “อุนจิ” มาจิ้ม ๆ ๆ เล่น พร้อมหัวเราะอิฮิฮิอย่างมีความสุขล้นเหลือ เรื่องอาราเล่นี่ยังเป็นต้นฉบับการวาด “อุนจิ” ให้เป็นอุนจิแบบม้วน ๆ น่ารัก ๆ มีหน้าตาคล้ายไอติมซอฟต์ครีมอีกด้วย เรียกว่าปฏิวัติวงการนักวาดก้อนอึกันเลยดีกว่า นอกจากนี้ อาราเล่ยังมี “ภาษาอาราเล่” อีกด้วย ซึ่งโทะริยะมะนำมาจากภาษาถิ่นในแถบนะโงะยะของญี่ปุ่น เช่นคำว่า んちゃ ที่ในภาษาไทยแปลว่า “ดีจ้ะ” เป็นคำทักทายอันเป็นเอกลักษณ์ของอาราเล่เลย หรือคำว่า ほよよ ที่ในภาษาไทยแปลว่า “โอะ-โยะ-โหยว” แสดงความรู้สึกเวลาอาราเล่แปลกใจ หรือคำว่า バイちゃ ที่ในภาษาไทยบางทีก็แปลว่า “บายจ้ะ” หรือบางครั้งก็แปลว่า “ดีจ้ะ” อะไรแนวนี้ แล้วเสียงหัวเราะอันเป็นเอกลักษณ์ของอาราเล่คือ อิฮิฮิ ก็มีความน่ารักน่าสยองขวัญปะปนกันอย่างแยกไม่ออก อาจเป็นเพราะสังคมญี่ปุ่นมีความเครียดและผูกมัดในสัมพันธภาพรูปแบบต่าง ๆ ทั้งเพื่อน คนรัก ครอบครัว สถาบันการศึกษา หรือองค์กรที่ตัวเองทำงาน การมีการ์ตูนอย่างเรื่อง Dr. Slump และตัวละครอย่างอาราเล่ที่ “ไม่แคร์เวิลด์ใด ๆ” เน้นสนุก เน้นฮาไปวัน ๆ เลยอาจจะเป็นสาเหตุให้เรื่องนี้โด่งดังอย่างมาก พอเป็นอนิเมะก็ภาพน่ารัก เพลง opening สุดแหวกแนว ชนิดที่ฟังแล้วงงในงงว่านี่มันเพลงอะไรวะ ทำให้กลายเป็นการ์ตูนดังระดับตำนานของญี่ปุ่นไปตลอดกาล พอโทะริยะมะเขียน Dr. Slump จนจบ ก็ยังมีการเอาหมู่บ้านเพนกวินไป crossover กับเรื่อง Dragon Ball อีก ทำให้อาราเล่และหมู่บ้านเพนกวินยังคงเป็นความประทับใจอันสุดจะเพี้ยนในใจของนักอ่านการ์ตูนหลาย ๆ ท่านตลอดมานั่นเอง คงจะดีไม่น้อยหากในชีวิตจริงของคนเรา สามารถที่จะบ้าได้อย่างหลุดโลกไม่ต้องแคร์อะไรทิ้งสิ้นแบบชาวหมู่บ้านเพนกวิน คุณผู้อ่านเห็นด้วยหรือไม่?