30 เม.ย. 2563 | 21:53 น.
“เราจะสามารถทำ Flat White ที่อร่อยที่สุดได้ไหมน่ะเหรอ ผมสามารถบอกคุณได้เลยว่ากาแฟของที่นี่ทำแบบนั้นได้” ฮิวจ์ แจ็กแมน
นับตั้งแต่ ‘กาแฟ’ ถูกค้นพบที่ประเทศเอธิโอเปียเมื่อกว่าสามพันปีก่อน มันก็กลายเป็นเครื่องดื่มยอดนิยมที่คนทั้งโลกแทบจะขาดไม่ได้ ราคากาแฟต่อแก้วในท้องตลาดก็มีหลายราคาด้วยกัน ไล่ตั้งแต่หลักสิบถึงหลักร้อย แถมขึ้นไปหลักพันก็ยังมี อีกทั้งทุกวันนี้การนั่งชิลล์ในร้านกาแฟก็กลายเป็นไลฟ์สไตล์ยอดนิยมของใครหลายคนเข้าให้แล้ว แต่รู้หรือไม่ ? กาแฟแก้วเป็นร้อยที่เราดื่มเข้าไปนั้น เกษตรกรผู้อยู่เบื้องหลังเครื่องดื่มอันหอมละมุนเหล่านี้ แทบไม่มีกำไรกลับสู่พวกเขาเลย
ในปี 2009 อีกมุมหนึ่งของโลก ฮิวจ์ แจ็กแมน (Hugh Jackman) นักแสดงดังเจ้าของบทวูล์ฟเวอรีนอันโด่งดัง กำลังลุกขึ้นจากเตียงนอนในห้องสุดหรูของเขาที่แมนฮัตตัน และตรงดิ่งไปที่ห้องครัวเพื่อจะต้อนรับวันใหม่ของตัวเองด้วยกาแฟดี ๆ สักแก้ว แจ็กแมนถือเป็นซูเปอร์สตาร์ที่ชื่นชอบการดื่มกาแฟอย่างมาก โดยเฉพาะเมนูโปรดอย่าง Flat White และกาแฟดำเข้ม ๆ สักแก้ว
“กาแฟสำหรับผมมันต้องร้อน ผมชอบกาแฟเข้ม ๆ แต่ละมุน บางครั้งผมก็ชอบแบบใส่นม หรือครีมอย่างละครึ่ง ๆ ด้วย หรือไม่ก็ใส่น้ำตาล จริง ๆ ผมเลิกใส่น้ำตาลประมาณ 5-6 ปีที่แล้ว ตอนนั้นผมยังมีความคิด ‘แล้วจะกินทำไมถ้าไม่ใส่น้ำตาล?’ เพราะผมเคยติดน้ำตาลมาก่อน แต่พอผมติดคาเฟอีนแทนมันก็ทำให้ผมเลิกติดน้ำตาลไปเลย และตอนนี้ผมต้องการแค่กาแฟดำเท่านั้น ผมเป็นสาวกของการทำกาแฟที่ดี ไม่ใช่ว่าผมจะดื่มกาแฟแบบไหนก็ได้”
[caption id="attachment_22491" align="aligncenter" width="1920"] ฮิวจ์ แจ็กแมน[/caption]
ตอนนั้น แจ็กแมนที่ไม่ได้มีคิวไปถ่ายหนังที่ไหน จึงใช้โอกาสนี้มุ่งหน้าสู่แอฟริกา ลงพื้นที่ทำงานด้านสาธารณกุศลเพื่อพบปะเกษตรกรปลูกกาแฟ โดยที่เขาก็ไม่รู้ตัวว่าสิ่งที่รอเขาอยู่กำลังจะเปลี่ยนชีวิตของใครหลายคนไปอย่างคาดไม่ถึง
แจ็กแมน และภรรยา เดเบอร่าห์ ลี เฟอร์เนสท์ เดินทางไปเมืองเยอร์กาเชฟ ประเทศเอธิโอเปีย ในฐานะตัวแทนของมูลนิธิศุภนิมิต (World Vision) เอธิโอเปียขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศแห่งต้นกำเนิดกาแฟ และมีกำลังการผลิตเมล็ดกาแฟอยู่ในอันดับต้น ๆ ของโลก แต่ท่ามกลางยอดการส่งออกกาแฟมากมายมหาศาล ทุกวันนี้เอธิโอเปียยังคงเป็นหนึ่งในประเทศที่ยากจนที่สุดในโลก
“พอเราเดินทางมาถึงที่นี่ เราเห็นเด็กเดินมาที่รถเราเพื่อขออาหารกิน เหมือนกับว่าทุกคนตื่นเช้ามาและออกมาข้างนอกพร้อมกับหน้าที่เดียวในชีวิตคือการออกหาอาหาร” เฟอร์เนสท์ ภรรยาของแจ็กแมนเล่าย้อนถึงทริปวันนั้น
ต่อมา แจ็กแมนและคณะเดินทางไปหมู่บ้านแห่งหนึ่งในเขตชนบท เพื่อเรียนรู้ความเป็นอยู่ของเหล่าเกษตรกรปลูกกาแฟ การเดินทางของแจ็กแมนในครั้งนั้น ทำให้เขาพบมิตรภาพใหม่กับเพื่อนชาวเอธิโอเปียนท้องถิ่นผู้เป็นเกษตรกรปลูกกาแฟที่ชื่อ ดูคาลี
แจ็กแมนใช้เวลาคลุกคลีอยู่กับครอบครัวของดูคาลีเป็นเวลาร่วมสัปดาห์ เพื่อสัมผัสโลกของกาแฟจากเกษตรกรผู้นี้ เริ่มตั้งแต่การเตรียมดิน หว่านเมล็ดและเก็บเกี่ยว รวมถึงการรับรู้ยอดขายอันน้อยนิด เรื่องราวที่เกิดขึ้นทำให้แจ็กแมนเข้าใจถึงหัวอกเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟว่า ท่ามกลางความมั่งคั่งของร้านขายกาแฟที่รวยเอารวยเอาในแต่ละวัน แต่ดูคาลีและครอบครัวกลับมีความเป็นอยู่ที่แย่ลงเรื่อย ๆ
ดูคาลีต้องอาศัยความทรหดหลาย ๆ ชั่วโมงต่อวันในการเก็บเกี่ยวเมล็ดกาแฟจากฟาร์ม เพื่อนำเมล็ดกาแฟเหล่านั้นมาขายและเลี้ยงดูครอบครัว ไม่ใช่แค่ในบ้านเราเท่านั้นที่เกษตรกรมักจะโดนเอาเปรียบจากภาครัฐ, พ่อค้าคนกลาง หรือโรงงานรับซื้อ เรื่องการ ‘กดราคา’ อีกฟากหนึ่งของโลก ดูคาลีและกาแฟของเขาก็ถูกกระทำแบบนั้นเช่นกัน เขาและครอบครัวไม่สามารถสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้เพราะปัญหาเรื่องนี้ อย่างที่ดูคาลีเคยให้สัมภาษณ์ว่า
“แน่นอนว่ามันเป็นเรื่องยากที่คุณจะเปลี่ยนแปลงเรื่องพวกนี้ ผมเคยฝันนะว่าวันหนึ่งกาแฟจะช่วยทำให้ผมสามารถส่งลูกเรียนหนังสือในโรงเรียนได้ หรือเปิดร้านค้าเล็ก ๆ ในหมู่บ้านให้กับภรรยาได้”
[caption id="attachment_22437" align="aligncenter" width="1403"] ดูคาลี[/caption]
หลังเล็งเห็นปัญหาที่เกิดขึ้น พอเดินทางกลับมาที่สหรัฐ ฯ แจ็กแมน, ภรรยา และ เดวิด สไตการ์ด เพื่อนสนิทของแจ็กแมน จึงเกิดไอเดียจัดตั้งบริษัทกาแฟขึ้นมา โดยใช้ชื่อแบรนด์ว่า Laughing Man ซึ่งวัตถุประสงค์ในการทำธุรกิจของเขาครั้งนี้ ก็เพื่อหวังจะยกระดับความเป็นอยู่ของเกษตรกรเหล่านั้นให้ดีขึ้น แจ็กแมนได้สร้างโมเดลธุรกิจที่จะเป็นต้นแบบให้เหล่าเกษตรกรในอนาคต โดยใช้หลักการสนับสนุนการค้าที่เป็นธรรมกับเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟโดยตรง ไม่ผ่านพ่อค้าคนกลางหัวใสคนใด ยิ่งไปกว่านั้น แจ็กแมนยังยกกำไรของเขาทั้งหมดให้มูลนิธิที่เป็นเหมือนสายพานช่วยสนับสนุนเหล่าเกษตรกรปลูกกาแฟ ภายใต้ชื่อ The Laughing Man Foundation อีกด้วย
“ผมกับภรรยาเดินทางไปเอธิโอเปียพร้อมกับมูลนิธิศุภนิมิต เพื่อพบปะเหล่าเกษตรกร เราได้พบเจอคนปลูกกาแฟ ได้ไปลงพื้นที่ ใช้เวลากับพวกเขา ดูคาลีสอนให้ผมกับเด็บ (ภรรยา) เห็นถึงช่องทางที่จะทำให้เรื่องนี้ถูกต้อง และยังสามารถหยุดวัฏจักรของความยากจนเหล่านั้นได้ด้วย หลังจากผมกลับสหรัฐฯ เราไม่ได้ปล่อยให้เรื่องนี้ผ่านไป ผมกับเด็บนั่งคุยกันว่า เราต้องลงมือทำอะไรสักอย่างแล้วล่ะ” แจ็กแมน ย้อนความหลัง
ในที่สุด ความฝันของดูคาลีก็เป็นจริง! Laughing Man ร้านขายกาแฟของแจ็กแมนที่ใช้วัตถุดิบของดูคาลี เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2011 มีทั้งหมด 2 สาขา ตั้งอยู่ในแมนฮัตตันทั้งคู่ แจ็กแมนและดูคาลีร่วมกันออกแบบกาแฟ ออกมาทั้งหมด 4 แบบ 4 สไตล์ ตามรสนิยมของแต่ละคน ตัวที่ขายดีที่สุดก็คือตัว Dukale's Blend เป็นกาแฟที่มีความ full-bodied ที่สุด เหมาะสำหรับคนชอบดื่มกาแฟแบบเข้ม ๆ
9 ปีผ่านไป หลายคนอาจจะตั้งคำถามว่า แล้วชีวิตความเป็นอยู่ของดูคาลีดีขึ้นกว่าเมื่อก่อนไหม? คำตอบคือแน่นอน ! ปัจจุบันธุรกิจร้านกาแฟของแจ็กแมนช่วยสานฝันของดูคาลีได้สำเร็จ หลังเม็ดเงินที่เป็นกำไรจากยอดขายของร้านค่อย ๆ ทยอยคืนสู่ต้นกาแฟของคูคาลีในเอธิโอเปีย และดูเหมือนว่าตอนนี้เขาจะสามารถทำสิ่งต่าง ๆ ได้สำเร็จตามที่เคยฝันเอาไว้แล้ว
แจ็กแมนเคยบอกไว้ว่า สิ่งที่เขารักมากที่สุดในชีวิตมีสามอย่าง นั่นก็คือ ครอบครัว, การแสดง และกาแฟ แม้ช่วงแรกเขาจะเคยถูกปรามาสว่า “ก็แค่คนดังที่ใช้เศษเงินเปิดร้านกาแฟ คงไม่เอาจริงกับสิ่งนี้หรอก” แต่ระยะเวลาก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า นี่คือธุรกิจที่เขาทำด้วยหัวใจ
“ผมคิดนะ บางทีก็แค่เดา แน่นอนมันต้องมีคนคิดบ้างแหละว่า ‘อ๋อ ฮิวจ์ แจ็กแมน คนดังที่อยากจะทำอะไรที่ยิ่งใหญ่สักอย่าง ไม่ใช่คอกาแฟตัวจริงหรอก’ แต่ผมคิดว่าคนเราไม่ได้ซื้ออาหารหรือเครื่องดื่มเพียงเพราะคนดังหรอก และอีกอย่าง กาแฟก็เหมือนรายการทีวี คนเราจงรักภักดีต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งมากนะ เช่นคนที่ติดรายการสักช่อง ‘ฉันโตมากับ เคธี คูริค ฉันเป็นแฟนรายการ Today show ตัวจริง’ มันยากที่จะเปลี่ยนความชอบของคน เพราะงั้นการจะให้คนมาลองอะไรใหม่ ๆ ก็ยากเช่นกัน ยากโคตร ๆ ผมคิดว่าถ้าพวกเขาตระหนักได้ว่ามันทำอะไรเพื่อสังคมได้ เขาอาจจะคิด ‘ฉันหวังว่าฉันจะชอบมันนะ เพราะมันคงจะดีที่ได้ให้อะไรกลับไปบ้าง’”
นอกจากนี้ นักแสดงหนุ่มยังเผยว่า สิ่งที่เขาเรียนรู้จากการเปิด Laughing Man ไม่ใช่แค่เรื่องธุรกิจ แต่เป็นความประทับใจจากเรื่องราวดี ๆ ที่เข้ามาในชีวิต
“ผมเป็นคนมุ่งมั่น ผมไม่ยอมแพ้กับอะไรที่ผมคิดว่ามีสิ่งดี ๆ อยู่ตรงนั้น บางครั้งมันก็มีบางช่วงที่ผมคิดว่า ‘เรามีร้านกาแฟแล้ว มันยอดเยี่ยมแล้วแหละ พอ’ แต่ผมก็จะไม่ยึดติดกับอะไรแบบนั้น นั่นไม่ใช่ผม ผมจะแบบว่า ‘เราทำให้ถึงเป้าหมายได้ ถ้าเราลงทุนใช้เวลากับมัน 6 ถึง 7 ปี’
“อีกอย่าง ผมไว้ใจและพึ่งพาคนที่ผมทำงานด้วย คนที่อยู่รอบตัว คนที่ยินดีจะทำงาน 7 วันต่อสัปดาห์ พนักงานในร้านเรา ผู้ดูแลเรื่องกาแฟ และในส่วนปฏิบัติการทั้งหมด มันคือทุก ๆ วันของผม หลักปรัชญาของเราคือ ถ้ามีใครคิดว่า ‘Laughing Man เปิดไหมนะ?’ คำตอบคือ ‘เปิด’ ช่วงที่เกิดเฮอริเคนแซนดี้ เราเอาโต๊ะไปตั้งที่ถนนพร้อมตะเกียง ถนนบล็อคของเราไฟดับ ส่วนอีกสาขาไฟไม่ดับ พวกเขาเลยนำกาแฟมาแจกจ่ายให้ทุกบ้านแถวนั้น ทุก ๆ วัน เราเปิดร้าน เพราะพวกพนักงานเต็มใจที่จะทำทุก ๆ วัน
“สิ่งที่ผมโฟกัสจริง ๆ หนึ่งเลยคือครอบครัว สองคือการแสดง อาชีพของผม และนี่คงเป็นโฟกัสที่สาม และถ้าไม่ใช่เพราะคนที่กำลังทำงานอยู่ในทุก ๆ วัน ผมก็คงล้มเหลวไปแล้ว ผมได้เรียนรู้สิ่งนั้นจากพวกเขาเหมือนกัน”
แจ็กแมนที่ทุกวันนี้มีคิวแน่นรัดตัวตลอดเวลา ยังไม่มีโอกาสกลับไปที่หมู่บ้านของดูคาลีเลยนับตั้งแต่ปี 2009 แต่เขาก็หวังว่า วันหนึ่งจะได้กลับไปที่นั่นอีกครั้ง พร้อมกับเผยว่า สิ่งที่เขาทำลงไปได้กลายมาเป็นความสุขที่ยิ่งใหญ่สำหรับเขาในวันนี้
“ผมจะกลับไปที่นั่น ผมสัญญาว่าจะพาลูก ๆ กลับไปที่นั่นช่วงที่ต้นกาแฟกำลังออกดอกออกผล ผมรู้สึกว่าเราเพิ่งเริ่มต้นเท่านั้น เราทำกำไรได้ตอนประมาณ 18 เดือนแรก มันมีความหมายมาก ๆ ที่เราจะมอบอะไรกลับคืนให้ที่นั่น มันจึงเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นจริง ๆ ที่พวกเขาได้รับอะไรกลับไป และการได้ลงมือสร้างอะไรที่ยั่งยืน และส่งผลกระทบในทางที่ดีกับพวกเขา (เกษตรกร) เป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเลยสำหรับผมตอนนี้”
เรื่องราวของ แจ็กแมนและดูคาลี ถูกบันทึกลงในหนังสารคดีที่มีชื่อว่า Dukale’s Dream โดยได้ จอร์ช รอธสไตน์ เป็นผู้กำกับ ใครที่สนใจกาแฟและเรื่องราวของพวกเขา สามารถเข้าไปชมรายละเอียดได้ที่ https://www.laughingmanfoundation.org/
ที่มา:
สารคดี Dukale’s Dream
https://www.fastcompany.com/40541757/hugh-jackmans-social-enterprise-coffee-is-coming-to-your-house