environment
sustainability
19 ก.ย. 2563 | 19:43 น.
สุดารัตน์ สังข์ฤทธิ์: ผู้ริเริ่มโครงการ “ต้นกล้าไร้ถัง” ปลูกจิตสำนึกรักสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนแก่เด็ก ๆ
Play
Loading...
สุดารัตน์ สังข์ฤทธิ์: ผู้ริเริ่มโครงการ “ต้นกล้าไร้ถัง” ปลูกจิตสำนึกรักสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนแก่เด็ก ๆ
เพราะอยากจะสร้างอะไรไว้เป็นที่ระลึกแก่อาชีพครู โรงเรียน และบ้านเกิด
‘ครูต้อ’ สุดารัตน์ สังข์ฤทธิ์
ครูชำนาญการพิเศษ โรงเรียนอนุบาลทับสะแก จึงลุกขึ้นมาทำโครงการโรงเรียนไร้ถังขยะ เพื่อส่งต่อจิตสำนึกรักสิ่งแวดล้อมไว้แก่เด็ก ๆ และครู ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าเธอเหลือเวลาในการทำอาชีพนี้อยู่อีกเพียงไม่กี่ปีเท่านั้น
เมื่อหันมองไปเห็นบรรยากาศของโรงเรียนอนุบาลทับสะแกอันร่มรื่นและสะอาดตา ครูต้อกลับบอกว่า ให้ลองจินตาการว่ามีขยะติดตามพื้นดิน หย่อมหญ้า รวมถึงมีคราบขยะจากเศษอาหารที่ต้องลงแรงล้างอย่างยากเย็นถึงจะออก นั่นล่ะคือภาพของโรงเรียนอนุบาลทับสะแกเมื่อไม่กี่ปีก่อน
“ก่อนหน้านี้เราก็คงเหมือนโรงเรียนอื่นทั่วไปค่ะ ก็ทิ้งทุกอย่างไว้รวมกันโดยไม่แยก แล้วก็ปล่อยให้คนอื่นเขาเอาไปจัดการต่อ แต่ช่วงหนึ่ง เรารู้สึกได้เลยว่าขยะในโรงเรียนมันเยอะมาก มองไปทางไหนก็เจอ ตอนนั้นก็เลยคิดว่าต้องเริ่มทำอะไรสักอย่าง”
พอดีกับการที่โรงเรียนอนุบาลทับสะแกได้มีโอกาสไปอบรม เรื่องการจัดการขยะ กับทางสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งในตอนนั้นได้เชิญ ดร.ไพบูลย์ โพธิ์สุวรรณ มาเป็นวิทยากร ครูต้อเริ่มมองเห็นความเป็นไปได้ที่จะทำให้โรงเรียนของเธอกลายเป็นโรงเรียนไร้ถังขยะจากการอบรมครั้งนั้น เธอนำไอเดียการจัดการขยะที่อยากให้เกิดขึ้นในโรงเรียน มาปรึกษากับผู้อำนวยการรวมถึงครูอาจารย์คนอื่น ๆ และนั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนพฤติกรรมของทุกคนในโรงเรียน
“เริ่มต้นมันก็ไม่ 100% อยู่แล้วใช่ไหม มีคนที่ทั้งสนใจและไม่อยากจะร่วม เราก็ค่อย ๆ ปรับกันไป เริ่มจากครูอาจารย์ก่อน อันดับแรกเราต้องพยายามให้ความรู้ ให้เขาเข้าใจเสียใหม่ว่าขยะคืออะไร และวัสดุคืออะไร หากแบ่งได้แล้วการแยกขยะก็จะไม่ใช่เรื่องน่าหนักใจอีก”
เมื่อครูมีความรู้ก็หมายถึงการส่งต่อไปสู่เด็ก ๆ อย่างมีคุณภาพ ครูต้อเล่าว่า พวกเขาต้องสอนให้เด็ก ๆ รู้จักแยกระหว่าง ‘ขยะ’ กับ ‘วัสดุ’ ให้ได้เสียก่อน สำหรับวัสดุนั้นต้องแยกเป็น วัสดุที่ย่อยสลายได้ อย่าง พวกใบไม้ เศษไม้กวาด เศษดินสอที่เหลาออกมาแล้ว สิ่งเหล่านี้จะนำไปทำปุ๋ย กับ วัสดุรีไซเคิล ซึ่งต้องแบ่งละเอียดเป็น กระดาษ ถุงพลาสติก ไม้บรรทัด ปากกา ขวดน้ำ ขวดแก้ว เพื่อให้ง่ายต่อการส่งขายไปรีไซเคิลต่อ
สำหรับขยะ แน่นอนว่าหมายถึงสิ่งที่เอาไปทำอะไรต่อไม่ได้ ต้องนำไปทำลายหรือฝังกลบเท่านั้น พอสอนไปนานวัน เด็ก ๆ ก็จะเริ่มเข้าใจแล้วว่า ที่จริง สิ่งที่เราเคยเรียกว่าขยะมันมีน้อยกว่าที่คิด เพราะวัสดุหลายชนิดมีหนทางวนกลับมาใช้ใหม่ได้อีก“ถามว่าแยกขยะแล้วมันดียังไง ช่วงปี 2558 ที่เราเริ่มทำอาจยังไม่เห็นผล แต่พอปีต่อมา ขยะมันหายไปเยอะมาก มากจนเราต้องค่อย ๆ เก็บถังขยะออกไปเพราะไม่ได้ใช้ ช่วงปี 2561 เราสามารถเก็บถังขยะออกได้หมด และกลายเป็นโรงเรียนไร้ถังขยะอย่างแท้จริง”
ต้อเล่าว่า ตอนแรกที่เริ่มทำ มันก็ยังเป็นเพียงโปรเจกต์เล็ก ๆ ไม่ได้มีชื่อโครงการอะไร แต่เพราะได้มีโอกาสนำเสนอโครงการกับทางบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน)
“โครงการต้นกล้าไร้ถัง”
ก็ถือกำเนิดขึ้น
“วันที่เราเอาโครงการไปเสนอ ทางซีพีเขาก็บอกว่า กำลังหาอยู่เลย โรงเรียนที่ทำโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อม หลังจากนั้นเขาก็ช่วยสนับสนุนเรา ทั้งประชาสัมพันธ์ แล้วก็พัฒนาอาคารศูนย์เรียนรู้ เราได้รับโอกาสใหม่เยอะมากค่ะ จากการสนับสนุนของเขา”
องค์ความรู้ที่ครูต้อ และโรงเรียนอนุบาลทับสะแกพยายามสอน คือการจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง ลดและเลิกการใช้สิ่งที่กำลังจะกลายมาเป็นขยะ เช่น หลอด จานกระดาษ แก้วน้ำแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง พวกเขายังขอความร่วมมือจากเหล่าพ่อค้าแม่ค้าไม่ให้ใช้วัสดุดังกล่าว ในที่สุด โรงเรียนอนุบาลทับสะแกก็
สามารถลดปริมาณขยะจากเดือนละ 15 ตันจนเหลือเพียงแค่ 2 กิโลกรัม
“พอเราสามารถจัดการในโรงเรียนจนไร้ถังได้แล้ว เป้าหมายต่อไปก็คือการสร้างชุมชนไร้ถัง บางครั้งถ้าต้องพยายามเปลี่ยนผู้ใหญ่อาจเป็นเรื่องยาก เพราะมันเป็นพฤติกรรมที่เขาเคยชิน แต่เด็ก ๆ ของเรานี่ล่ะจะเป็นตัวนำ เขาก็จะนำความรู้พวกนี้ไปใช้ที่บ้าน ไปชวนที่บ้านทำ เราคิดว่าการจะได้เห็นชุมชนทับสะแกไร้ถัง เป็นความหวังที่ไม่ได้ไกลเลย”
เพราะโรงเรียนอนุบาลทับสะแก ถูกยกย่องให้เป็นหนึ่งในโรงเรียน Best Practice ไม่กี่โรงเรียนที่จัดทำโครงการด้านสิ่งแวดล้อมได้อย่างโดดเด่น การจะขยายผลของโมเดลการจัดการขยะไปสู่ทั่วประเทศย่อมไม่ไกลเกินเอื้อม ซีพี ออลล์เริ่มดำเนินการกับโรงเรียนที่อยู่ในเครือข่ายสานอนาคตการศึกษา CONNEXT ED จำนวน 392 โรงเรียน โดยให้ทางโรงเรียนอนุบาลทับสะแกคอยจัดทำคู่มือแนะนำ ตลอดจนลงไปประเมินผลการดำเนินงาน ทั้งหมดก็เพื่อเป้าหมายที่อยากจะลดปริมาณขยะในประเทศของเราให้ได้มากที่สุด
“ที่จริง การปลูกฝังตั้งแต่เด็กมันสำคัญมากนะคะ เพราะคนส่วนใหญ่ไม่ได้รับการสอนว่าขยะแบบไหนต้องลงถังไหนในโรงเรียน ดังนั้นเวลาจะนำถังแยกประเภทมาวาง แต่ไม่มีการให้ความรู้ก็มีค่าเท่าเดิม คนที่ไม่รู้ก็จะทิ้งเหมือนเดิม จนเกิดเป็นพฤติกรรมมักง่าย”
ครูต้อบอกว่าที่ผ่านมา การนำถังขยะ 4 สีมาวาง มันเหมือนเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เพราะคนทิ้งไม่มีความรู้ติดตัวว่าจะต้องทิ้งอะไรลงถังไหน หากพวกเขาได้รับการสอนที่ถูกต้องและใส่ใจ ปัญหาขยะก็จะค่อย ๆ น้อยลงเอง
“มันก็เหมือนเป็นมรดกที่เราทิ้งไว้ที่นี่นะ ต้นกล้าที่เราปลูกไว้ก็ค่อย ๆ งอกเงยขึ้น กลายเป็นต้นแกร่งที่ไปโตที่โรงเรียนมัธยมต่อ เด็กที่กล้าหาญของเรา เขาจะกล้าเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม กล้าสวนกระแส และทำตัวเป็นตัวอย่างของคนอื่น ส่วนตัวเรา เรียกว่าต้นแก่แล้วกันค่ะ ก็จะคอยสนับสนุน ให้คำปรึกษา คอยรดน้ำพรวนดินต้นกล้าให้เขาค่อย ๆ เติบโตขึ้นมาดูแลรักษาธรรมชาติต่อไป”
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
โคลิน เปห์ แห่ง Go Rental : ปฏิวัติพลังงานสะอาดพกพาจากแสงอาทิตย์แบบสิงคโปร์
02 พ.ย. 2567
25
OGGA : บริษัทออกแบบของขวัญ ‘ไม่ฟอกเขียว’ ลดภาระของโลกเริ่มจากจัดการขยะบนเกาะ
08 ส.ค. 2567
14
ส่องเมนูอาหาร นักกีฬาโอลิมปิก ปารีส 2024 งานจัดเลี้ยงที่ใหญ่ที่สุดในโลก
29 ก.ค. 2567
193
แท็กที่เกี่ยวข้อง
Social
The People
Environment
สุดารัตน์ สังข์ฤทธิ์
ต้นกล้าไร้ถัง