29 ธ.ค. 2564 | 18:00 น.
หลายคนคงรู้จัก ‘ผักตบชวา’ วัชพืชไร้ราคา หรือสวะที่ลอยไปลอยมาอยู่เต็มแม่น้ำจนกลายเป็นเรื่องปกติ แต่พืชไร้ค่าเหล่านี้กลับเป็นสิ่งที่มีค่าสำหรับ แอล-อิสรัตน์ แซ่ลิ้ม ทายาทรุ่น 2 CHOM Hand Craft และ แม่ชม-รอดรัตน์ ผู้อยู่ในวงการเครื่องจักสานผักตบชวา จังหวัดชัยนาท มายาวนานกว่า 30 ปี CHOM เริ่มขึ้นจาก ‘แอล’ นักศึกษาจบใหม่จากรั้วมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี สาขาวิชาการจัดการการโรงแรม ได้สัมผัสชีวิตการทำงานในฐานะนักศึกษาฝึกงานช่วงระยะเวลาหนึ่ง แล้วค้นพบว่าการทำงานประจำไม่ใช่สิ่งที่เธอค้นหา “ตอนนั้นแอลฝึกงานที่โรงแรม ซึ่งต้องทำงาน 6 วัน/สัปดาห์ ไม่ได้ทำแค่สาขาเดียว แต่ทำควบกัน 2 สาขา เราเลยเห็นภาพรวมทั้งหมด เห็นระบบการทำงานที่เป็นบริษัท เป็นองค์กร ทำให้แอลรู้สึกว่าวิถีชีวิตแบบนี้มันไม่เหมาะกับเรา เราต้องการมีเวลาอยู่กับตัวเอง เรามีหลายสิ่งที่อยากทำ เลยเริ่มคิดว่าเราจะทำยังไงต่อ “มันมีความโชคดีอยู่ตรงที่เราฝึกงานในสายการตลาด ทำการตลาดออนไลน์ ดูแลเพจให้กับโรงแรม ถ่ายภาพ เขียนแคปชัน นี่คือประสบการณ์ที่เราได้รับจากการฝึกงาน และเราสามารถนำมาต่อยอดได้ในชีวิตจริง” แอลเล่าย้อนถึงตอนที่ CHOM เปิดตัวครั้งแรกผ่านทางเฟซบุ๊กเมื่อปี 2017 สมัยที่เธอยังไม่เข้าใจโลกของผักตบชวามากนัก “ตอนนั้นเราไปหาแฟน แล้วเจอกระจาดลูกไก่ มันไม่เข้ากับไลฟ์สไตล์ชาวร็อกของแฟนแอลเลย พอถามก็ได้คำตอบว่าแม่ชม ซึ่งเป็นแม่ของแฟนเขาทำมา 20-30 ปีแล้ว ตั้งแต่ตอนแฟนยังเรียนมัธยมอยู่เลย” ประจวบกับตอนนั้นเธอเริ่มมองหางานทำเป็นหลักแหล่ง แน่นอนว่าต้องไม่ใช่งานประจำ เลยเกิดเป็นไอเดียขึ้นมาว่าอยากจะปั้นแบรนด์เครื่องจักสานของแม่ชมให้คนทั่วไปรู้จักมากขึ้น เพื่อให้หลุดพ้นออกจากวงจรการส่งสินค้านับร้อยนับพันชิ้นผ่านนายหน้า แต่ไม่ได้ช่วยส่งเสริมให้ผู้ลงแรงกายและแรงใจในการผลิตชิ้นงานแต่ละชิ้นอย่างแม่ชมมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น “พอถึงช่วงเวลาหนึ่งคุณแม่เริ่มมีอายุมากขึ้น เริ่มมีปัญหาสุขภาพ เพราะทำงานหนัก ซึ่งงานจักสานมันเป็นงานฝีมือ ต้องใช้เวลา ต้องโฟกัสค่อนข้างมาก การเป็นซัพพลายเออร์คนอื่น มันจะมีเรื่องของพ่อค้าคนกลาง สมมติว่าเราทำหมอน เขาเอาไปขาย 100 บาท แต่เขาจ้างเราแค่ 30 บาท หากเขามีออร์เดอร์เข้ามาเยอะ ไม่ได้หมายความว่าเราจะได้เงินเพิ่มขึ้น เรายังได้ค่าจ้างเท่าเดิม ในราคา 30 บาท แต่กลับกลายเป็นว่าเราต้องทำงานเพิ่มขึ้น “แอลเลยรู้สึกว่าเรื่องแบบนี้มันควรจบลงได้แล้ว อะไรแบบนี้มันควรจบลงสักที คือเราจะไปห้ามคุณแม่ให้เลิกทำมันก็ไม่ได้ เพราะด้วยความที่คุณแม่เป็นคนต่างจังหวัด เขาก็จะชอบหาอะไรทำตลอดเวลา ก็เลยมาหาทางออกกันว่า เราควรทำยังไงกันดี เลยเสนอแม่ว่า ‘เอาอย่างนี้ดีกว่า เรามาพบกันคนละครึ่งทางนะแม่ แอลเคารพการตัดสินใจของแม่ แต่มีเรื่องอะไรก็มาแชร์กับแอลได้’ นับแต่นั้นแอลก็ได้เข้ามาเป็นคนช่วยบริหารแบรนด์ค่ะ” แอลเล่าถึงความไม่ยุติธรรมที่แม่ชมเคยเจอมาตลอดระยะเวลา 10 ปี ด้วยน้ำเสียงราบเรียบ แต่เราสัมผัสได้ว่าเธอรู้สึกโกรธเคืองไม่น้อยต่อสถานการณ์ที่ครอบครัวของแฟนต้องเผชิญมาในอดีต หลังจากที่เธอเข้ามาช่วยบริหารจัดการ วางระบบหลังบ้าน รับออร์เดอร์ พร้อมทั้งเป็นลูกมือคอยช่วยแม่ชมสานงานอยู่บ่อยครั้ง ยอดขายก็เริ่มโตขึ้นเรื่อย ๆ และที่สำคัญคือแม่ชมมีเวลาไปรดน้ำต้นไม้ ให้อาหารน้องหมา เดินเล่นในสวน มีเวลาให้ยืดเส้นยืดสาย ไม่ต้องนั่งหลังขดหลังแข็งสานงานอยู่บนพื้นเหมือนเมื่อก่อนอีกต่อไป ตัวตนใหม่ แต่ฝีมือระดับตำนาน แม้ว่าแม่ชมจะอยู่ในวงการเครื่องจักสานมานาน แต่งานสานที่เคยทำในอดีตกลับไม่เคยมีหลักฐานปรากฏออกมาว่านี่คือฝีมือของ ‘ชม-รอดรัตน์’ ด้วยเหตุนี้ ‘แอล’ ในฐานะช่างภาพและลูกสะใภ้ จึงเริ่มมองหาไอเดียใหม่ ๆ ในการนำเสนอผลงานให้เป็นที่รู้จักผ่านทางเพจเฟซบุ๊กมากขึ้น “ทุกคนจะรู้จักคุณแม่ในชื่อ ‘เปรม’ ซึ่งเป็นชื่อเล่นของคุณแม่ ไม่ใช่ชื่อ ‘ชม’ แอลก็เลยเลือกชื่อจริงของคุณแม่มาตั้ง เพราะไม่มีใครรู้จัก มันเป็นความตั้งใจของเรา ว่าอยากให้ทุกคนรู้จักตัวตนใหม่ เหมือนเป็นการรีเซตทุกอย่างใหม่หมด ฉะนั้นช่วงแรกลูกค้าที่มาซื้อก็จะไม่รู้หรอกว่ายายชมคือใคร ผู้หญิงคนนี้คือใคร ไม่มีใครรู้ รู้แค่ว่าเขาขายงานสานประเภทหนึ่งที่มีหน้าตาธรรมดา ๆ ทั่วไปเท่านั้น “ช่วงแรกก็ยังไม่มีคนรู้จักเรามากขนาดนั้น ส่วนใหญ่ก็คนแถวบ้านนี่แหละที่เขาจะมาช่วยอุดหนุน แอลก็เลยได้ไอเดียขึ้นมาว่า เออ…ทุกคนอยากได้อะไรมาบอกแอลได้ เราลองมาคุยกัน มันก็เลยเริ่มเกิดเป็นงานสั่งทำขึ้นมา ซึ่งแอลใช้วิธีนี้มาตลอด เพื่อให้มันตรงกับความต้องการของแต่ละคนจริง ๆ” แต่การจะทำงานสานผักตบชวาให้โดดเด่นกว่าท้องตลาดทั่วไปนั้น CHOM จะต้องมีความแตกต่าง แอลจึงแลกเปลี่ยนไอเดียกับแม่ชม เพื่อยกระดับงานสานพื้นบ้านให้มีความร่วมสมัยมากยิ่งขึ้น “ในช่วงแรกของการออกแบบ แอลจะเข้ามาช่วยตั้งแต่ต้นค่ะ แต่ตอนนั้นเราก็ไม่ได้มีองค์ความรู้อะไรเลยนะคะ เราก็ต้องแลกเปลี่ยนกับคุณแม่ว่างานสานแต่ละชิ้นมันมีกระบวนการทำยังไง “หลังจากเราออกแบบเสร็จ ก็ทดลองขายดู แล้วค่อย ๆ ต่อยอดไป อย่างถ้าลูกค้าต้องการให้กระเป๋าใบนี้มีฝานะ ก็บอกคุณแม่ให้ลองทำแบบมีฝาดูมั้ย มันก็จุดประกายให้เราออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ขึ้นมา” ซึ่งการทำตามความต้องการของลูกค้า ทำให้ CHOM ไม่มีสต็อกอยู่ในโกดัง เพราะแอลเชื่อว่างานสานที่เกิดจากความตั้งใจและทุ่มเทของแม่ชมควรได้รับการยอมรับ และเป็นที่รู้จัก ไม่ใช่สินค้าดาษดื่นตามท้องตลาดทั่วไป “งานเรามันไม่คอยใคร” แอลทวนคำพูดของแม่ชมให้เราฟัง พร้อมทั้งขยายความเพิ่มเติมว่า นี่คืองานฝีมือที่เกิดจากความทุ่มเทของแม่ชมจริง ๆ คนสานหลักก็จะมีแค่แม่ชม ส่วนแอลจะเข้ามาช่วยเก็บรายละเอียดเพิ่มเติมในภายหลัง นั่นหมายความว่าในแต่ละเดือนงานที่ผลิตได้จะมีไม่กี่ชิ้น เพื่อให้สินค้าที่จะส่งถึงมือผู้รับมีคุณภาพมากที่สุด ความตั้งใจและทุ่มเท คือหัวใจสำคัญ เมื่อถามถึงเหตุผลที่ไม่จ้างลูกมือมาช่วยทุ่นแรงแม่ชม แอลตอบกลับอย่างไม่ลังเลว่า เพราะงานฝีมือมันไม่ได้เป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถทำได้ แต่ละคนมีกระบวนการทำงานที่ต่างกัน มีความตั้งใจ และความทุ่มเทไม่เท่ากัน “เมื่อก่อนคุณแม่เคยทำงานสานผักตบชวาส่งให้คุณป้าจรวยพร เกิดเสม ประธานกลุ่มหัตถกรรมผักตบชวาบ้านอ้อย จังหวัดชัยนาท ณ ตอนนั้น จากนั้นก็ขยับออกมาเปิดกลุ่มงานสานที่คุณแม่เป็นหัวหน้ากลุ่มแต่ยังเป็นกลุ่มเครือข่ายของคุณป้าจรวยพรที่ยังคงส่งงานให้กันอยู่ “ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ แต่ละคนเขามีวิธีทำงานที่ไม่เหมือนกัน ทำช้า ทำเร็ว ความเนี้ยบของงาน เช่น ทำเปล สมมติตรงขอบเปลตัดไว้ที่ 20 นิ้วนะ แต่ไป ๆ มา ๆ ทำไมพอเอามาวัดใหม่เหลือแค่ 18 นิ้ว มันก็เป็นปัญหาประมาณนี้มาเรื่อย ๆ ทำให้เราคุมคุณภาพไม่ได้ แล้วยิ่งช่วงที่ต้องรับงานเยอะ ๆ ความเสียหายก็ตามมาเยอะเช่นกัน” แอลเล่าถึงความเสียหายที่แม่ชมเคยประสบเมื่อ 20 ปีที่แล้วให้เราฟัง หลังจากต้องเสียเงินหลักแสนในการส่งสินค้าขึ้นเรือไปยังญี่ปุ่น และประเทศแถบตะวันออกกลาง เพื่อให้ถึงมือลูกค้าได้ทันเวลา แต่ปัญหายังไม่หมดเท่านั้น เพราะสินค้าล็อตนั้นกลับได้รับความเสียหายจนใช้งานไม่ได้ “เมื่อก่อนงานสานผักตบชวาถ้าส่งไปญี่ปุ่นจะมีการอบกำมะถัน เพื่อช่วยป้องกันการเกิดเชื้อรา มันเป็นแค่ความเชื่อของคนในยุคนั้นนะคะ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ลูกค้าเขาก็คอมเพลนกลับมาว่า เขาแพ้ เกิดผื่นคันขึ้นตามร่างกาย เลยกลายเป็นว่าเราก็ต้องแก้งานกันใหม่ ทำส่งให้เขาใหม่โดยไม่ทาเคลือบ ไม่อบกำมะถัน “แอลเคยค้นหาข้อมูลดูว่าการอบกำมะถันสามารถช่วยกันเชื้อราได้จริงมั้ย ก็ไปเจอการทดลองหนึ่ง เขาก็บอกว่ามันช่วยได้แค่ 50% ของการป้องกันเชื้อรา แต่สุดท้ายอีก 50% ของการเกิดเชื้อราที่เหลือ มันเกิดจากความชื้น เพราะว่ามันก็มีเคสของคนที่เขาอบกำมะถัน เก็บไว้อย่างดี แต่มันมีเห็ดขึ้นกระเป๋า นั่นหมายความว่ากำมะถันมันอาจจะไม่ใช่ตัวกันเชื้อราที่ดีที่สุด “คุณแม่ไม่เคยอบกำมะถันเลยตั้งแต่ทำมา แม้ว่าในช่วง 10-20 ปีแรกที่เริ่มทำใหม่ ๆ จะมีคนเอากำมะถันมาให้คุณแม่อบ แต่คุณแม่ก็เอาไปแจกคนอื่นต่อ แจกให้เขาเอาไปทาไก่ ทาไก่คืออะไรก็ไม่รู้” (หัวเราะ) ซึ่งเราก็ได้ไปค้นข้อมูลมาเพิ่มเติมพบว่า การนำกำมะถันไปทาไก่นั้น มีไว้เพื่อแก้ปัญหาโรคผิวหนัง เช่น กลาก เกลื้อน ขี้เรื้อน ไปจนถึงโรคผิวหนังอักเสบ แต่ถ้าถามว่าช่วยได้จริงไหม ข้อมูลส่วนนี้เราก็ไม่แน่ใจนัก ซึ่งการอบกำมะถัน นอกจากจะไม่ช่วยกันเชื้อราได้เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์แล้ว ยังทำให้ผู้สร้างสรรค์ผลงานได้รับอันตราย ไม่ว่าจะเป็นอาการแสบ แพ้ คัน แม่ชมเลยเลือกที่จะไม่นำกำมะถันมาใช้ในงานแฮนด์เมดของเธอแม้แต่ชิ้นเดียว “พอไม่ใช้การอบกำมะถัน วิธีที่ดีที่สุดคือการตากแดดค่ะ ตากแดดให้แห้งที่สุด ไม่มีการเข้าเครื่องอบ งานของแอลเลยค่อนข้างออร์แกนิกมาก เพราะว่ามันไม่มีสารเคมีมาเจือปน หรือสารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้” ส่วนวิธีการป้องกันเชื้อราที่ได้ผลสำหรับแอล เธอเผยว่ายังไงก็ไม่มีทางป้องกันได้ 100% แต่หากเกิดเชื้อรา สามารถนำแปรงสีฟันจุ่มกับตัวน้ำยาล้างจานที่ผสมน้ำ จากนั้นนำไปแปรงลงตามแนวงานสาน แล้วนำผ้ามาเช็ด ตากแดดทิ้งไว้ให้แห้ง เพียงเท่านี้เชื้อราจุดขาว ๆ ก็จะหายไป ส่วนเชื้อราที่เปลี่ยนสภาพกลายเป็นจุดสีดำ แอลบอกกับเราว่าอันนี้ค่อนข้างแก้ยาก ถึงจะหายไปแต่ตัวงานก็จะกลายเป็นรอยกระดำกระด่างแทน หน้าฝนกับงานสานที่ไม่หยุดพัก “หน้าฝนเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากสำหรับเรา เพราะว่าปกติแอลจะมีการย้อมสีผักตบชวา แต่พอหน้าฝนเราต้องงดการย้อมสี เพราะว่าผักไม่ค่อยแห้ง แต่เราก็ยังคงสานงานขายเหมือนเดิม เปลี่ยนวิธีการตากแดดมาเป็นการอบร้อนแทน นำการเป่าลมร้อนเข้ามาช่วย เมื่อมีแดดก็ต้องรีบยกไปวางให้โดนแดด” ส่วนสีที่นำมาย้อมจะเป็นสีที่สกัดจากวัตถุดิบจากธรรมชาติสำหรับย้อมเส้นใยประเภทนี้โดยเฉพาะ เนื่องจากแอลต้องการคงความเป็นธรรมชาติในตัวงานให้ได้มากที่สุด “แอลเคยทดลองย้อมผักตบชวาจากวัตถุดิบทางธรรมชาติตรงๆ ได้แก่ ดอกคำฝอย ขมิ้น ครั่ง แก่นฝาง คือเทขมิ้นลงน้ำต้มแล้วโยนผักตบชวาลงไปเลย แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ต้นทุนสูง แล้วสีมันจางลงเร็ว เมื่อปลายปีที่แล้วก็เคยเข้าคลาสเรียนกับคุณแพรี่พาย-อมตา จิตตะเสนีย์* แต่เป็นคลาสย้อมผ้านะคะ คุยไปคุยมา แอลก็บอกความตั้งใจจริง ๆ ของแอลว่าอยากย้อมผักนะ พี่แพรเขาก็เลยบอกว่าให้เอามาลองย้อมกัน พอย้อมเสร็จ เราก็เก็บไว้ประมาณ 1 ปี กลับมาเปิดดูอีกทีปรากฏว่าสีมันซีดหมดแล้ว” *แพรี่พาย-อมตา จิตตะเสนีย์ อดีตเมคอัพอาร์ติสที่ผันตัวมาเป็นอินฟลูเอนเซอร์ในการผลักดันผ้าไหมไทยให้เป็นที่รู้จักระดับโลก ปัจจุบันเธอให้ความสนใจในประเด็นสิ่งแวดล้อม จนเกิดเป็นการทำค่ายธรรมชาติที่นำกระบวนการศิลปะเข้ามาใช้ เช่น การย้อมผ้า การสกัดสีจากหิน และการนำสีจากธรรมชาติมาทำเป็นเครื่องสำอาง เมื่อต้นทุนสูงขึ้น โครงการการนำสีที่ได้จากธรรมชาติล้วน ๆ จึงต้องพับเก็บลงกระเป๋า เพราะเธอไม่อยากให้ลูกค้าต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้น “พอเป็นเรื่องของภาคธุรกิจ มันเป็นออร์แกนิก 100% ก็จริง แต่ลูกค้าเขาจะรับไหวมั้ยกับการที่ต้องจ่ายแพงขึ้น แต่ว่างานที่ได้กลับซีดจางลงเร็วกว่าปกติ แอลก็เลยยังวางเอาไว้ว่าจะเป็นโครงการในอนาคต “ตอนนี้แอลใช้สีสำเร็จรูปที่คิดมาแล้วว่ามันจะต้องเข้าไปอยู่ภายในเส้นใยได้ และมีความคงทน สีอาจจะซีดจางลงบ้าง แต่ก็เป็นเวลา 10 ปีขึ้นไป ซึ่งสีที่เราเอามาใช้ บางสีเขาก็จะสกัดมาจากแร่ธาตุต่าง ๆ ซึ่งมันมาจากธรรมชาติ แต่พอมันสกัดออกมาเข้มข้นแล้วเนี่ย มันก็เลยอาจจะดูเป็นเคมีไปสักหน่อย” จากแบรนด์พื้นบ้าน สู่เชลฟ์ห้างหรู หลังจากที่ CHOM เปิดตัวผ่านทางเพจเฟซบุ๊กมาได้ระยะหนึ่ง แอลเริ่มมองหาโอกาสที่จะผลักดันให้แบรนด์พื้นบ้านเล็ก ๆ เป็นที่รู้จักมากขึ้น ซึ่งแอลได้มีโอกาสสมัครเข้าร่วมโครงการ SACICT Concept 2020 (ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน)) เพื่อนำเสนอชิ้นงานดีไซน์งานที่แปลกใหม่ ฉีกออกจากกรอบงานสานแบบเดิม ๆ ที่แม่ชมเคยทำ จนได้ออกมาเป็นงานสานตัวหนึ่งชื่อว่า UPALA กระเป๋าสานจากผักตบชวาที่มีรูปทรงอิสระ ไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นทรงกล่องสี่เหลี่ยม หรือทรงกลมที่มักพบเห็นได้ทั่วไป “แอลอยากจะทำให้หลุดออกจากกรอบรูปทรงเรขาคณิต อยากให้เป็นรูปทรงอิสระ ตอนนั้นก็นึกถึงหินโอปอล (อัญมณีหลากสีเป็นประกายเจิดจรัส และมีความงดงามจนถูกยกให้เป็น ‘ราชินีแห่งอัญมณี’) งานที่เรานำเสนอออกไปจึงออกมาเป็นกระเป๋า 2 ใบ โดยใบแรกจะมีสีน้ำเงิน ดำ ส้ม (Black opal) อีกใบจะประยุกต์ให้เข้ากับยุคสมัยหน่อย เลยได้ออกมาเป็นสีพาสเทล (White opal)” แอลเล่าให้เราฟังอย่างละเอียดถึงความคิดริเริ่มในการออกแบบผลงานที่ถูกนำไปจัดแสดงภายในงาน SACICT Concept ประจำปี 2020 พร้อมเสริมว่า “รูปลักษณ์ภายนอกมันเลยดูเหมือนหินที่มีความขรุขระ มีการแกะสเกลสีให้มันใกล้เคียงกับตัวโอปอลมากที่สุด แต่ออกมาในรูปแบบงานสานผักตบชวา โดยแม่ชมก็จะมาเป็นผู้ช่วยแนะนำวิธีการสานอย่างละเอียดอีกทีหนึ่ง” ซึ่งนี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้แบรนด์พื้นบ้านธรรมดา ๆ ได้รับความสนใจจากสื่อหลายสำนัก รวมถึง Icon Siam เองก็ได้เอ่ยปากชวนให้แอลมาลองวางขายสินค้ากับทางห้างดู แต่กว่าจะเป็นที่รู้จักจากคนทั่วไปก็กินเวลานานถึงครึ่งปี “งานสานที่วางมันต้องโดดเด่นจริง ๆ ซึ่งตอนที่เราไปวางขายคนก็ไม่ได้รู้จักเราเยอะ จนกระทั่งวางขายมาครึ่งปีมั้ง คนถึงเริ่มจะติดต่อเรามาถามว่า เออ…เมื่อไหร่จะเอางานใหม่มาลง เราก็งงเหมือนกันนะตอนนั้นว่า ‘โอ้! เรามีแฟนคลับแล้วเหรอ?’ เพราะเราไม่ได้คาดหวังขนาดนั้น” งานสานที่มาก่อนกาล “จริง ๆ ตอนที่แอลเริ่มทำงานสาน แอลเริ่มมาจากความคิดว่ากระเป๋าผักตบชวาหรืองานหัตถกรรมจะต้องมาคู่กับคนแก่ จะต้องวางข้างผ้าไหม จะต้องใส่ซิ่นไปทำบุญตามวัด แต่ความคิดเราก็เปลี่ยนไป เมื่อมองว่ากระเป๋าผักตบชวามันก็คือกระเป๋า ผักตบชวามันคือ Material ชนิดหนึ่งที่เอามาทำกระเป๋าสานแล้วใส่กับชุดอะไรก็ได้ ไม่ได้จำกัดว่าจะต้องถือกระเป๋าแล้วใส่ซิ่นเสมอไป “เมื่อก่อนผู้หญิงที่ใส่กางเกงยีนส์กับส้นสูงก็เคยถูกมองว่าแปลก แต่สมัยนี้มันคือเรื่องธรรมดา แอลเลยอยากให้มองงานสานจากผักตบชวาเป็นเรื่องธรรมดาเหมือนกัน เพราะมันก็เป็นแค่กระเป๋า เครื่องประดับ ของตกแต่ง มันก็แค่นี้ แต่เราก็ใส่ดีไซน์ให้มันมีความโดดเด่นและแตกต่างเข้ามา เพื่อให้เข้ากับคนหลากหลายสไตล์มากขึ้น “เป็นการลบภาพจำจากในอดีต” แอลเน้น ซึ่งหลายครั้งที่มีคนเข้ามาติดต่อสอบถามสินค้าจากทางเพจเฟซบุ๊ก แล้วต้องประหลาดใจกลับไปว่าผลิตภัณฑ์ที่เธอและแม่ชมทำขึ้นมา ทุกชิ้นมาจากผักตบชวาทั้งสิ้น “บางคนเขาไม่เชื่อด้วยซ้ำว่ามันคือผักตบชวา เพราะวิธีการที่เรานำมาใช้ รูปแบบการสาน มันแตกต่างจากยุคเก่าไปเยอะ” การเปลี่ยนดีไซน์มาเป็นรูปแบบร่วมสมัยมากขึ้น ได้กำลังสำคัญอย่างแม่ชม ผู้คร่ำหวอดในวงการเครื่องจักสานมาเป็นผู้สนับสนุนแนวคิดดังกล่าว พร้อมผลักดันให้ทุกความคิดสร้างสรรค์ของแอล กลายเป็นชิ้นงานที่ใช้งานได้จริง ซึ่งอันที่จริงความคิดที่อยากจะปรับดีไซน์ให้ทันสมัย แอลบอกกับเราว่าแม่ชมเป็นคนที่เริ่มอยากจะปรับดีไซน์เองล้วน ๆ แต่ยังขาดเรื่องขององค์ความรู้บางอย่าง ที่แค่เก่งอย่างเดียวมันไม่พอ ต้องมีวิธีการนำเสนอชิ้นงานให้น่าสนใจ นำเสนอที่ไหน และจะสื่อสารไปยังกลุ่มผู้บริโภคกลุ่มใด “มันเป็นหน้าที่ของแอลและหน้าที่ของแฟนที่ต้องช่วยกันทำตรงนี้ เพื่อเติมเต็มในส่วนที่คุณแม่อาจจะไม่เคยมีประสบการณ์ทำมาก่อน ในขณะที่คุณแม่ก็ใช้ความเก่งกาจเฉพาะทางของเขาในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไป ตอนนี้เลยรู้สึกว่ามันเป็นอะไรที่ลงตัว เพราะเราต่างเข้ามาช่วยเติมเต็มให้แก่กันและกัน” นำมาสู่เอกลักษณ์ของแบรนด์ที่ไม่ว่าใครผ่านมาเห็นเป็นต้องหยุด ‘ชม’ ความประณีตและรูปทรงที่แปลกตา “เอกลักษณ์ของแบรนด์หลัก ๆ ก็จะมีอยู่ 2 อย่าง คือ รูปลักษณ์ และสี ซึ่งกระเป๋าสานส่วนใหญ่จะมีรูปลักษณ์ที่คล้าย ๆ กัน เช่น ทรงกล่อง ทรงเหลี่ยม แอลก็จะฉีกไปเลยเป็นกระเป๋าสามเหลี่ยม แล้วใส่พู่เข้ามาให้มีกิมมิคเพิ่มขึ้น รูปลักษณ์ต้องชัดเจน เพราะตลาดงานสาน งานหัตถกรรมมันมีอยู่ไม่กี่ลาย สุดท้ายแล้วเราก็นำสีมาใช้เพิ่มความโดดเด่น ฉะนั้นงานของเราก็จะฉีกออกมา สีที่ใช้ก็มีความชัดเจน “ลายพื้นฐาน ลายเม็ดแตง ลายสอง ลายก้างปลา” แอลร่ายลายสานที่รู้จักให้เราฟัง ซึ่งแต่ละลายจะมีวิธีการสานแตกต่างกัน คล้ายกับการทอผ้า แต่งานสานของ CHOM มีความพิเศษมากกว่านั้น เพราะเธอบอกว่าลายสานของเธอจะถูกคิดค้นขึ้นมาใหม่ให้มีลักษณะแตกต่างจากลายพื้นฐานที่มีอยู่เดิม “ของแอลจะเน้นลายที่ไม่เป็นแพตเทิร์นมากจนเกินไป เพราะว่าถ้ายังเป็นลายเดิม ๆ อยู่มันก็เหมือนเราถูกจำกัดให้อยู่ในกรอบ แอลก็เลยฉีกไป เปลี่ยนเป็นลายที่คุณแม่และเราคิดค้นกันขึ้นมา ซึ่งทุกครั้งที่เราออกแบบกัน ก็ต้องเข้าไปสำรวจตลาดว่าลายนี้มีคนทำขึ้นมาแล้วหรือยัง ถ้ามีแล้วเราก็ต้องปรับเปลี่ยน เพิ่มอะไรบางอย่างเข้าไปให้แตกต่าง” ศิลปินที่พร้อมยอมประนีประนอม ส่วนในอนาคตจะได้เห็นอะไรจากฝีมือแม่ชมนั้น แอลตอบกลับมาว่า ‘ความประนีประนอม’ เธอกล่าวพลางทิ้งช่วงคำถามไปสักพัก “ที่ผ่านมา เราค่อนข้างจะยืนพื้นในแนวทางของศิลปินที่นำงานมาขาย เมื่อมันเป็นเรื่องของภาคธุรกิจ เราอาจจะต้องยอมเบลนด์บางอย่าง เพื่อให้ลูกค้าเข้าใจงานของเรามากขึ้น “แอลมองว่ากระเป๋าสี ๆ ที่เราทำกันอยู่ มีเพียงแค่คนไม่กี่กลุ่มที่เข้าใจเรา คนที่ชอบก็ชอบเลย คนที่ไม่ชอบก็จะงงว่าเราทำอะไร เพราะอย่าลืมว่างานสานมันเพิ่งเข้ามามีบทบาท มีแอร์ไทม์ของมันในช่วงไม่กี่ปีมานี้ นั่นหมายความว่าหลายคนก็ยังคงชินตากับรูปแบบงานสานที่เรียบง่าย ที่ต้องอยู่ในขนบคือ ต้องแบบนี้นะ สีนี้เท่านั้นนะ ใช้แค่สองสีก็พอแล้ว “จนทำให้เรามานั่งคิดกับคุณแม่ว่า หรือจริง ๆ แล้วเรามาก่อนกาลนานเกินไปหน่อย คนก็เลยยังไม่เข้าใจงานที่เราทำ” เธอกล่าวพลางหัวเราะ “แอลก็เลยพยายามทำชิ้นงานให้มีความซอฟต์ลงมาหน่อย โดยยังคงความเป็นตัวตนของแบรนด์เอาไว้ แต่ปรับรูปแบบการสื่อสารให้คนเข้าใจง่าย เช่น ตัวหมอนที่แอลทำในช่วงเทศกาลคริสต์มาส ถ้าเป็นเมื่อก่อน แอลอาจจะทำหมอนสีเขียวหรือสีแดงทั้งใบไปเลย แต่เราก็มานั่งคิดว่า หรือจริง ๆ เราควรจะเอาใจเขามาใส่ใจเราหน่อยมั้ยว่า เออ…ลูกค้าเขาไม่เคยเห็นอะไรแบบนี้ ต่างจากเราที่เห็นมันมาตลอด ก็เลยปรับให้มีความคละสีกันมากขึ้น เขาจะได้ไม่ตกใจ” ส่วนความประนีประนอมในงานสานที่แอลบอกเราก่อนหน้า เธออธิบายเพิ่มเติมว่า การทำธุรกิจให้อยู่รอดนั้น จำเป็นต้องคำนึงถึงความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้นด้วย แต่ด้วยความที่เธอมีความเป็นศิลปินสูง ทำให้บทบาทการเป็นนักธุรกิจยังไม่สมบูรณ์นัก “แอลไม่เคยมองตัวเองว่าเป็นนักธุรกิจ ไม่อยากมองแบบนั้น เรามองตัวเองเป็นศิลปินผลิตงานขึ้นมาอย่างบ้าคลั่ง ไม่ใช่แค่ป้าคนหนึ่งหรือเด็กคนหนึ่งมานั่งทำกระเป๋าอยู่บ้านแล้วหาช่องทางการขาย แต่เมื่อเราโตขึ้น เราก็ต้องนำความประนีประนอมเข้ามาช่วยส่งเสริมให้ Art Pieces แต่ละชิ้นสามารถขายได้ “มันอาจจะมีบางพาร์ตที่ต้องทำตามลูกค้าบ้าง เพราะความเป็นธุรกิจ” ศิลปินสาวกล่าวซึ่งเธอได้บอกกับเราเพิ่มเติมว่า จริง ๆ แล้วเธอไม่ได้ต้องการเห็นเม็ดเงินหรือกำไรจากผลงานแต่ละชิ้น เพียงแค่ต้องการให้ผลงานของเธอและแม่ชม อยู่ในทุกช่วงจังหวะของชีวิตของผู้รับก็พอแล้ว “แอลอยากจะให้ CHOM อยู่ในทุกช่วงเวลาสำคัญ ๆ ของชีวิตแต่ละคน เช่น ต่างหูที่แอลทำ ไปจนถึงของตกแต่งบ้าน อยากให้เดทแรกของเขา เขาได้ใส่ต่างหูคู่นี้ หลังจากตกลงคบหาดูใจไปจนถึงแต่งงาน เขาก็ใช้หมอนจากเราเพื่อรดน้ำสังข์ แล้วพอเขามีลูก เขาอาจจะซื้ออะไรบางอย่างที่เป็นของสานมาให้ลูกของเขาได้ใช้ต่อ อยากให้ทุกอย่างมันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน ที่มีความต่างและร่วมสมัยควบคู่กันไป” แม้จะมีสถานการณ์โควิด-19 เข้ามาให้ขุ่นข้องหมองใจ แต่แอลก็ไม่ได้มีท่าทีเป็นกังวล เธอบอกกับเราว่าตั้งแต่เปิดร้านมา เธอไม่เคยขาดทุนเลยสักครั้ง มีเพียงกำไรที่ลดลงประมาณ 30-40% เพราะการนำผักตบชวามาใช้สานนั้น มีรายจ่ายไม่เยอะ แต่ก็ต้องมีวิธีการเลือกผักตบชวาที่พิถีพิถันเพิ่มขึ้น ผ่านทีมตัดผักตบชวามือฉมัง ผู้คลุกคลีอยู่ในวงการผักตบชวามานานนับศตวรรษ “ที่จังหวัดชัยนาทจะมีทีมตัดผักตบชวาโดยเฉพาะ แอลก็จะเข้าไปสั่งจากเขา ส่วนวิธีการเลือกนั้น แอลจะเลือกจากความขาวสะอาดของผัก ซึ่งแอลมีเจ้าประจำคือ ‘ยายห้อง’ บ้านของยายจะอยู่ติดริมน้ำ ทำเลก็จะดี ผักที่แกตัดได้เลยมีความสดใหม่ สะอาด เราจะเรียกผักพวกนี้ว่า ‘ผักดำเนิน’ คือผักที่ไหลตามกระแสน้ำมาเรื่อย ๆ ไม่อยู่กับที่ ไม่จมอยู่ในโคลน “ถ้าผักตบชวาอยู่ในโคลนนาน ๆ จะมีคราบดินเกาะ ตัวผิวก็จะมีความเข้ม ไม่ขาวใส แต่ถ้าผักที่ไหลมาตามน้ำ ตัวผักจะสะอาด แล้วฟองน้ำที่อยู่ข้างในจะน้อย เวลาสานจะได้เส้นใยที่เหนียวมากกว่า ซึ่งจะขึ้นอยู่กับแร่ธาตุในแต่ละที่ที่ผักตบชวาอาศัยอยู่ด้วย ถ้าฟองน้ำเยอะก็อาจจะเหมาะกับการนำไปทำผลิตภัณฑ์ชนิดอื่นแทน เช่น เส้นใยผ้า” สำหรับเคล็ดลับที่เธอนำมาใช้ในการบริหารแบรนด์พื้นบ้านเล็ก ๆ ที่มีผู้ดูแลและช่างสานผักตบชวาตำแหน่งละ 1 คน ให้อยู่ยั้งยืนยงตลอด 30 ปีมานี้ได้อย่างไร แอลบอกกับเราว่า เธอยึดแค่สิ่งเดียวในการทำงานที่เธอรักคือ ‘ความเป็นปัจจุบัน’ “เราต้องดูว่าเราจะใช้ช่องทางไหนในการสื่อสารออกไป เราจะสื่อสารไปยังคนกลุ่มไหน แล้วคนกลุ่มนี้อยู่ช่องทางไหน ปัจจุบันแอลทำช่อง TikTok ออกมาด้วย เพื่อให้เข้าถึงคนทุกกลุ่มให้ได้มากที่สุด แม้ว่าเราจะรู้ว่ากำลังซื้อเขาไม่เยอะเท่าคนเจนอื่น ๆ แต่เราอยากเป็นแบรนด์ที่เป็น ‘ความฝันตอนเด็ก’ ว่านี่อะ เราเคยอยากได้นะ แต่เราไม่มีตังค์ซื้อ พอเขาโตพอที่จะซื้อ เขาก็จะกลับมาทำตามความฝันวัยเด็ก ด้วยการซื้องานสานจากร้านเรา “แอลอยากให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้น เพราะอย่างน้อย ๆ แอลมองว่าการทำธุรกิจในยุคนี้คือ เราต้องเป็นปัจจุบัน แล้วก็พยายามสื่อสารอย่างตรงไปตรงมา จริงใจ และถ้าเป็นไปได้เลยก็คือ การนำเสนอกระบวนการผลิต ให้เห็นชัด ๆ ไปเลยว่าเราทำงานกันอย่างไร ลูกค้าเขาก็จะไว้ใจเรา และกลับมาหาเราต่อเรื่อย ๆ” ภาพ: แอล-อิสรัตน์ แซ่ลิ้ม