15 มี.ค. 2562 | 18:48 น.
จำได้ไหมตอนอายุ 16 ปี ทำอะไรกันอยู่? เตรียมสอบ GAT PAT ดีดกีตาร์จีบหญิง หรือ ชวนตี้ตีป้อม แต่สำหรับ เกรตา ทุนเบิร์ก (Greta Thunberg) เด็กสาวสวีดิชในวัย 16 เธอเลือกโดดเรียนหนังสือมานั่งอยู่หน้าอาคารรัฐสภาสวีเดนในกรุงสตอกโฮล์มทุกวัน เพื่อเรียกร้องรัฐบาลให้ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้ตามข้อตกลงได้เคยได้สัญญาไว้ แม้ประเทศสวีเดนจะได้ชื่อว่าเป็นประเทศกลุ่มสแกนดิเนเวียที่มีคุณภาพด้านการศึกษาดีเยี่ยม และให้ความสำคัญในเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก แต่ เกรตา ทุนเบิร์ก ยังรู้สึกว่าไม่พอ เพราะหลังจากได้รับผลกระทบจากคลื่นความร้อนและปัญหาไฟป่าในปีที่ผ่านมา เธอได้บอกตัวเองว่าจะไม่ทนกับเรื่องนี้อีกแล้ว 20 สิงหาคม ค.ศ. 2018 ซึ่งเป็นวันเปิดเรียน แทนที่จะไปโรงเรียนเหมือนเด็กเกรด 9 (เทียบเท่ามัธยมศึกษาปีที่ 3) คนอื่น ๆ เกรตาตัดสินใจเดินตรงไปยังรัฐสภา พร้อมกับเป้สีม่วงคู่ใจ พอไปถึงเธอชูป้ายที่เขียนว่า “โดดเรียนเพื่อโลก” (Skolstrejk för klimatet) เธอนั่งอยู่ที่นั่นจนถึงเวลาเดียวกับที่เสียงออดเลิกเรียนดัง แล้วค่อยเก็บของเดินกลับบ้านอย่างเงียบ ๆ เกรตาตั้งใจทำแบบนี้ทุกวันตามเวลาเรียนปกติ จนถึงวันเลือกตั้งทั่วไปของสวีเดนในวันที่ 9 กันยายน แน่นอนว่าการที่เด็กผู้หญิงผมเปียคนหนึ่งมานั่งชูป้ายประท้วงหน้ารัฐสภาสม่ำเสมอทุกวัน แม้เป็นสิ่งที่ผิดกฎ แต่เธอก็ไม่ถูกจับกุมเหมือนในบางประเทศ กลับกันเธอได้ดึงดูดความสนใจของใครหลายคน ช่วยให้คนในสังคมเริ่มตั้งคำถามกับตัวเองในเรื่องปัญหาโลกร้อนและผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ “รู้ไหมว่าเรามีวิธีการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมมากมายอยู่ในมือ แต่ไม่มีคนให้ความสนใจ ที่ต้องทำตอนนี้คือการเริ่มต้นลงมือทำเท่านั้นเอง ไม่ใช่ผลัดวันไปรอให้เรียนจบก่อน” นี่คือคำตอบอย่างไม่ประนีประนอมของเด็กผู้หญิงอายุ 16 เวลาที่มีผู้ใหญ่บางคนเดินมาสอนว่า “หนูจ๋ากลับไปตั้งใจเรียนให้เก่ง เป็นนักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมเลยดีกว่ามั้ย” สาเหตุหนึ่งที่เกรตาตอกกลับอย่างไม่เกรงใจ อาจมาจากการที่ตัวเธอเป็น แอสเพอร์เกอร์ ซินโดรม (Asperger Syndrome) ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มออทิสติก ทำให้เธอมีปัญหาเรื่องการเข้าสังคม และความหมกมุ่นกับเรื่องที่สนใจเป็นอย่างมาก ในที่นี้คือปัญหาโลกร้อนและการเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศ ที่เธอมองว่าสื่อมวลชนไม่ค่อยให้ความสำคัญ ไม่ค่อยสื่อสารเรื่องผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเยาวชน ตัวเธอเองหลังจากได้ศึกษาข้อมูลเรื่องโลกร้อนอยู่สี่ปี ก็ได้บอกเลิกการเดินทางด้วยเครื่องบินตั้งแต่ 12 ขวบ (เครื่องบินสร้างมลพิษทำลายชั้นบรรยากาศได้มากกว่ารถยนต์หลายเท่า) และไม่กินเนื้อสัตว์เลย เพราะการทำปศุสัตว์เป็นอีกสาเหตุหนึ่งของปัญหานี้ (กว่าจะได้เนื้อสัตว์ต้องทำลายป่า เพื่อปลูกพืช เอามาเลี้ยงสัตว์ ซึ่งเป็นวิธีการที่ไม่มีประสิทธิภาพเท่ากับการรับประทานพืชผักโดยตรง) เมื่อเดือนมกราคม ปี 2019 เธอได้นั่งรถไฟนานกว่า 32 ชั่วโมง ไปเมืองดาโวส ในสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อขึ้นพูดในการประชุมสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) ในขณะที่ผู้ทรงคุณวุฒิหลายคนเดินทางด้วยเครื่องบินเจ็ตส่วนตัว นอกจากความหมกมุ่นแล้วเธอยังบอกอีกว่า แอสเพอร์เกอร์ ซินโดรม มีส่วนทำให้เธอไม่คิดอะไรซับซ้อนเหมือนคนทั่วไป มีแค่ขาวกับดำ ไม่มีสีเทา เรื่องปัญหาโลกร้อนสำหรับเธอเลยมองว่าทางเลือกสำหรับทุกคนตอนนี้เลยมีแค่ “ลงมือทำ” หรือ “ไม่ลงมือทำ” เท่านั้นเอง จุดเริ่มในการตระหนักถึงปัญหาโลกร้อนและผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของเกรตา เกิดขึ้นตอนที่เธออายุ 8 ขวบ ตอนนั้นเธอถูกสอนให้ปิดไฟที่ไม่ได้ใช้เพื่อประหยัดพลังงาน เอากระดาษใช้แล้วมารีไซเคิลเพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ นั่นทำให้เธอได้ยินคำว่า “โลกร้อน” เป็นครั้งแรก โดยเธอสัมผัสถึงความน่ากลัวที่แท้จริงของปัญหานี้ ที่ว่าส่วนใหญ่มนุษย์เป็นคนก่อขึ้นมาเอง และอาจนำมาซึ่งการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ของสิ่งมีชีวิตบนโลกในอีกไม่ช้า ด้วยน้ำมือของพวกเราเอง หลังการเลือกตั้งทั่วไปของสวีเดนสิ้นสุดลง เกรตาได้เปลี่ยนจากโดดเรียนทุกวันมาเป็นโดดเรียนทุกวันศุกร์ ที่แม้วันจะน้อยลงแต่การประท้วงของเด็กผู้หญิงคนนี้ได้เข้มข้นขึ้น ช่วยจุดความเชื่อให้กับเด็กอีกหลายคน จนเกิดกระแส #FridaysForFuture #FFF ขยายวงกว้างไปมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม มีเด็กนักเรียนกว่า 20,000 คน ใน 270 เมืองทั่วโลกเข้าร่วมประท้วง เพื่อเรียกร้องให้แก้ไขปัญหาเรื่องโลกร้อนอย่างจริงจังและจริงใจ
การตัดสินใจที่เกิดขึ้นในวันนี้ พรุ่งนี้เราไม่สามารถกลับไปแก้ไขได้อีกครั้ง ทุกสิ่งจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง และมันต้องเริ่มวันนี้เท่านั้น
รวมไปถึงยังสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ใหญ่อีกหลายคน ทั้งกลุ่มนักอนุรักษ์ นักวิทยาศาสตร์ จนเธอได้รับเชิญให้ไปพูดในงานใหญ่ ๆ มากมายทั้งการประชุมสภาเศรษฐกิจโลก, ประชุมภาคีแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 24 รวมทั้งได้รับการเสนอชื่อให้ได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ ความมุ่งมั่นและไม่ยอมประนีประนอมเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อนของเธอ อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เธอได้รับเลือกเป็นตัวแทน แต่จริง ๆ สิ่งหนึ่งที่สำคัญที่ทำให้เธอคู่ควรกับรางวัลนี้น่าจะเป็นเรื่องของ “อายุ” “ในอนาคตปี 2078 หนูน่าจะกำลังฉลองวันเกิดครบรอบ 75 ปี ถ้าหนูมีลูกหลานแล้วเขาถามว่า ทำไมตอนปี 2018 ไม่รีบแก้ไขปัญหาในขณะที่ยังพอมีหวัง การตัดสินใจ ทำ หรือ ไม่ทำ ในวันนี้จะส่งผลถึงอนาคตตลอดชีวิต ทั้งตัวเราเองรวมถึงลูกหลานที่จะเกิดตามมา การตัดสินใจที่เกิดขึ้นในวันนี้ พรุ่งนี้เราไม่สามารถกลับไปแก้ไขได้อีกครั้ง ทุกสิ่งจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง และมันต้องเริ่มวันนี้เท่านั้น” อนาคตเป็นสิ่งที่คนรุ่นใหม่ต้องกำหนดเอง สาววัยทีนอย่าง เกรตา ทุนเบิร์ก เลยเป็นเหมือนตัวแทนที่กระตุ้นคนรุ่นใหม่ให้ออกมาเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น เพื่อโลกในวันพรุ่งนี้ที่พวกเขาใช้อยู่อาศัยและหายใจ ชาวสวีดิชมีอายุไขเฉลี่ยที่ประมาณ 82 ปี จัดอยู่อันดับ 9 ของโลก หมายความว่าถ้าคนในวัยเกรตายังคงเกรงใจไม่ลุกมาทำอะไรในวันนี้ พวกเธออาจต้องทนกับสิ่งนี้ไปอีกกว่า 66 ปี (กลับกันบางประเทศให้คนอายุมากกว่า 60 ปี ที่อาจมีชีวิตอยู่ได้อีกแค่ไม่กี่ปี มาวางยุทธศาสตร์อนาคตข้างหน้าไว้ยาวนานกว่า 2 ทศวรรษ!!) เกรตา ทุนเบิร์ก เชื่อว่าไม่ว่าถึงจะเป็นแค่เด็ก หรือคนตัวเล็กในสังคม ถ้ามุ่งมั่นกับเป้าหมายแล้วตั้งใจกับมันจริงจัง ไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้ เหมือนกับสิ่งที่เธอได้เรียนรู้ว่า การโดดเรียนของเด็กอย่างพวกเธอเพียงไม่กี่คน กลายเป็นจุดสนใจของคนทั่วโลกได้ ซึ่งถ้าคนตัวเล็ก ๆ หลายคนรวมตัวกันเพื่อมีเป้าหมายหนึ่งเดียวจะมีพลังในการเปลี่ยนแปลงเพื่อสิ่งที่ดีกว่ามากมายมหาศาลขนาดไหน เรื่องราวของสาวน้อย เกรตา ทุนเบิร์ก ได้สร้างแรงบันดาลใจให้เราลุกขึ้นมาทำอะไรเพื่อให้โลกใบนี้น่าอยู่กว่าที่เคยเป็น ลุกขึ้นมากำหนดอนาคตของตัวเอง หรืออย่างน้อยกล้าลุกขึ้นมาเขียนอนาคตประเทศด้วยพลังของเรา กล้าเปลี่ยนแปลงตัวเองให้เป็นคนที่ดีขึ้น อนาคตจะได้ไม่มาเสียใจในภายหลังว่า ทำไมเราไม่ตัดสินใจทำตั้งแต่วันนี้ ที่มา : https://medium.com https://www.ted.com https://en.wikipedia.org https://www.youtube.com https://www.lifegate.com https://www.amnesty.or.th