08 ก.ค. 2565 | 10:35 น.
คำพูดของ ‘อัชวินี คุมาร์’ (Ashwini Kumar) ผู้บริหารโรงงาน Shankar Woollen Mills ในเมืองปานิปัต (Panipat) เมืองทางตอนเหนือของประเทศอินเดีย ซึ่งถูกเรียกว่าเป็น ‘เมืองหลวงของเสื้อผ้ามือสอง
ก่อนหน้านี้หลายสิบปีอินเดียไม่ใช่ประเทศที่มีปริมาณเสื้อผ้ามือสองส่งเข้ามาเยอะที่สุด แต่เคยเป็นรัสเซียและปากีสถาน แต่ปัจจุบันพฤติกรรมและปัจจัยอื่นหลายอย่างรวมกัน ทำให้แหล่งรวมเสื้อผ้าใช้แล้วของคนทั้งโลกถูกส่งมาที่นี่แทนอย่างถาวร
ปานิปัตจุดพักหายใจของเสื้อผ้าใช้แล้ว
ในแต่ละปีจะมีทั้งผู้ซื้อและผู้ขายเสื้อผ้ามือสองกว่าพันล้านชิ้นเกิดขึ้นที่เมืองปานิปัต ซึ่งไม่ใช่แค่เสื้อผ้า แต่รวมทั้งหมดทุกประเภท แม้แต่ผ้าห่ม ผ้าที่ทำจากขนสัตว์ที่ส่วนใหญ่จะส่งมาจากสหรัฐอเมริกา, แคนาดา, สหราชอาณาจักร ยุโรปตะวันตก, ญี่ปุ่น และเกาหลี และรวบรวมส่งต่อมาประเทศปลายทางที่อินเดีย
แต่กว่า 90% พวกของใช้มือสองที่ส่งมาที่ปานิปัตจะเป็นผ้าห่ม เสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว ซึ่งจะมีทั้งสภาพที่ยังใช้ต่อได้และสภาพติดลบแบบเศษผ้า
กฎหมายของประเทศอินเดียสำหรับการนำเข้าเสื้อผ้าสิ่งทอแบ่งเป็น 2 ข้อหลัก ๆ เพื่อไม่ให้การนำเข้ามาไปเบียดเบียนผู้ประกอบการในประเทศ ซึ่งอินเดียก็เป็นประเทศเบอร์ต้น ๆ ของโลกที่ผลิตเสื้อผ้าสิ่งทอและส่งออกไปทั่วโลก
ดังนั้น ข้อจำกัดเพียง 2 ข้อจากกฎหมายการนำเข้าเสื้อผ้า คือ เสื้อผ้าที่สวมใส่ได้ และเสื้อผ้าที่สวมใส่ไม่ได้
ด้วยเงื่อนไขที่หยุมหยิมของกฎหมายอินเดียทำให้สัดส่วนการนำเข้าเสื้อผ้าที่สวมใส่ไม่ได้แล้วมีมากกว่าเสื้อผ้าที่อยู่ในสภาพดี สภาพของเสื้อผ้ามือสองที่ส่วนใหญ่นำเข้ามาในอินเดีย โดยเฉพาะในเมืองปานิปัต อยู่ในสภาพ 0 - 60% แค่นั้นเอง
แล้วพวกเสื้อผ้ามือสองที่ไม่ได้อยู่ในสภาพพร้อมใ่ช้งาน อินเดียจะนำเข้าไปทำไม? คำถามนี้วนไปวนมาติดอยู่ในหัวของหลายคนที่พอจะรู้เรื่องราวของปานิปัตว่าถูกเรียกมานานกับคำว่าเมืองหลวงของเสื้อผ้ามือสอง
เปลี่ยนเศษผ้ามาเป็นด้ายราคาถูก
โรงงานของ ‘อัชวินี คุมาร์’ เป็นรายแรก ๆ ในเมืองปานิปัตที่คิดไอเดียเปลี่ยนเสื้อผ้ามือสองมาเป็นด้ายราคาถูกเพื่อขายให้กับคนในประเทศก่อน
เผื่อใครยังไม่รู้ อินเดียเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ผลิตและส่งออกผ้าห่ม ผ้านวมราคาถูก (ไม่ใช่แค่จีน) ซึ่งด้ายที่ถูกแปรสภาพจนสมบูรณ์จะถูกส่งต่อไปที่โรงงานผลิตผ้าห่มเหล่านั้น
“เสื้อผ้าเก่าประมาณ 3 ตันสามารถรีไซเคิลมาเป็นเส้นใยผ้าเพื่อมาทำเป็นด้ายได้ถึง 1.5 ตัน ซึ่งมันคุ้มค่าที่จะนำเข้ามา” อัชวินี คุมาร์ ให้สัมภาษณ์กับสื่อของอินเดีย
ไม่ใช่โรงงานของอัชวินี คุมาร์ ที่สนใจการนำเข้าเสื้อผ้าเก่าเพื่อมาทำเป็นด้าย เพราะไอเดียนี้กลายมาเป็นเชื้อเพลิงทำให้ผู้ประกอบการที่รับผลิตเสื้อผ้าสิ่งทอในเมืองปานิปัตเริ่มหาลู่ทางนำเข้าเสื้อผ้ามือสองเหมือนกัน
‘ปาวัน การ์ก’ (Pawan Garg) ประธานสมาคม All India Woollen & Shoddy Mills เล่าว่าในเมืองปานิปัตเริ่มทยอยนำเข้าเสื้อผ้ามือสองมากขึ้นเพื่อจะนำไปรีไซเคิล ทำเป็นด้าย หรือเป็นส่วนอื่น ๆ ที่สร้างรายได้ดีขึ้น
และมันก็เป็นที่มาว่าทำไมทั่วโลกเรียกปานิปัตว่าเป็นเมืองหลวงเสื้อผ้ามือสอง จนตอนนี้ก็ยังไม่มีใครโค่นตำแหน่งนี้จากปานิปัต ทั้งที่หลายเมืองในอินเดียมีการนำเข้าเสื้อผ้าเก่ามารีไซเคิลเหมือนกัน
ไอเดียรีไซเคิลผ้าเก่ามาเป็นด้ายราคาถูกนอกจากจะสร้างรายได้สร้างอาชีพ ยังช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมได้ด้วย เพราะทุกวันนี้หนึ่งในปัญหาสิ่งแวดล้อม ขยะล้นเมือง ต้นเหตุอย่างหนึ่งก็มาจากอุตสาหกรรมเสื้อผ้าแฟชั่นที่มาเร็วไปเร็ว
ดราม่าที่เคยเป็นไวรัลบนโลกออนไลน์เมื่อนานมาแล้ว กับภาพกองขยะเสื้อผ้ากว่า 10 ล้านตันที่ถูกฝังกลบดินน่าจะสะท้อนปัญหาได้ดีว่าโซลูชั่นบางอย่างก็ไม่ถูกต้อง ดังนั้น ไอเดียจากเมืองปานิปัตน่ายกย่อง นอกจากจะเพิ่มมูลค่าของ รักษาสิ่งแวดล้อม ยังสร้างเอกลักษณ์ในมุมใหม่ให้กับเมืองได้เหมือนกัน
เรื่อง: ประกายพร วงศ์วุฒิ
ภาพ: hindustan times
อ้างอิง:
https://www.bbc.com/news/business-40352910