07 มิ.ย. 2562 | 11:09 น.
ถ้ามีคนบอกว่าจะช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมด้วยการตัดต้นไม้คงไม่มีใครเชื่อ ยิ่งไปกว่านั้นยังเอาไม้ที่ตัดนั้นมาเผาถ่านอีก ยิ่งไม่น่าใช่วิธีการรักษ์โลก แต่ผู้ชายที่ชื่อ คัลลี ฟอน ฟูลโตว์ ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า แม้เป็นคนเผาถ่านก็มีส่วนช่วยโลกใบนี้ได้เช่นกัน คัลลี ฟอน ฟูลโตว์ (Kallie von Flotow) เป็นเกษตรกรของกลุ่ม ฟรีดไฮม์ ทิมเบอร์ (Friedheim Timbers’ Forest Management Group) ในสาธารณรัฐนามิเบีย ประเทศในทวีปแอฟริกาตอนใต้ ที่พื้นที่ส่วนใหญ่มีสภาพเป็นทะเลทรายที่แห้งแล้ง ตระกูลของคัลลีเข้ามาในนามิเบียประมาณ ค.ศ. 1942 โดยพ่อของเขาเริ่มต้นจากการซื้อที่ดินรกร้างพื้นที่กว่า 5,000 เฮกตาร์ หรือประมาณ 50 ตารางกิโลเมตร เพื่อบุกเบิกทำการเกษตร ซึ่งได้ส่งให้เขารับช่วงต่อในปี 1969 ช่วงแรก ๆ คัลลียังคงใช้ที่ดินมรดกทำไร่ทำสวนเท่าที่ทำได้ ซึ่งจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้เขาหันเหมาเป็นคนเผาถ่าน เกิดขึ้นประมาณปี 1989 จากปัญหาต้นอาเคเชียที่แพร่พันธุ์เป็นจำนวนมากในแปลงเกษตร เดิมต้นอาเคเชียเป็นพืชพื้นเมืองของออสเตรเลียที่มีคนนำมาปลูกในแอฟริกาใต้ช่วงปี 1858-1865 เพื่อปรับสภาพพื้นดินที่มีความแห้งแล้ง ต่อมาพืชชนิดนี้เจริญเติบโตได้ดีกับภูมิอากาศบริเวณนี้ ทำให้จากพืชฮีโร่ที่มาแก้ปัญหา เริ่มกลายมาเป็นตัวปัญหาเสียเอง โดยเฉพาะกับเกษตรกรที่ต้องไถพรวนเตรียมดินสำหรับการเพาะปลูกอย่างยากลำบาก การโค่นต้นอาเคเชียซึ่งกำลังสร้างปัญหากับระบบนิเวศแล้วนำมาเผาถ่าน เลยเป็นทางออกที่ดีที่สุด ตอบโจทย์ทั้งลดจำนวนต้นอาเคเชีย นำมาแปรรูปให้เกิดประโยชน์สูงสุด และสร้างงานสร้างอาชีพให้กับคนในท้องถิ่น ซึ่งเฉพาะกิจการเผาถ่านของคัลลีมีการจ้างงานมากกว่า 30 ตำแหน่ง โดยคนงานแต่ละคนมีครอบครัวอีกหลายชีวิตอาศัยพ่วงตามมาด้วย การตัดไม้เผาถ่านเลยช่วยทำให้กว่าร้อยชีวิตมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ในขณะที่เกษตรกรบางรายสนใจแค่การสร้างรายได้ ช่วยเรื่องปากท้องของคนเพียงอย่างเดียว โดยละเลยผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับธรรมชาติ และสิ่งมีชีวิตอื่นโดยรอบ แต่สำหรับคัลลีแล้ว ความสุขอย่างหนึ่งในการทำเกษตรของเขาคือการได้ดูแลสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไป เพื่อให้พื้นดินของเขาให้ผลผลิตอุดมสมบูรณ์ และยังคงมีความหลากหลายทางชีวภาพไว้อย่างเดิม เขาพยายามรักษาสมดุลนี้ด้วยการดำเนินกิจการเผาถ่านให้อยู่ในกรอบ FSC ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับฉลาก FSC (Forest Stewardship Council) หรือ องค์การจัดการด้านป่าไม้ เป็นการรับรองว่ามาจากป่าไม้ทั้งป่าไม้ตามธรรมชาติและสวนป่าที่มีการปลูกต้นไม้ทดแทน ที่มีการบริหารจัดการอย่างมีความรับผิดชอบตามมาตรฐานตลอดห่วงโซ่อุปทาน เพื่อความยั่งยืนของสังคม ชุมชน เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม โดยไม้ที่ผ่านการรับรองที่ทั้งเข้มงวดและมีความโปร่งใสนี้ จะสามารถระบุตรวจสอบแหล่งที่มาของไม้ได้ ปัจจุบันผู้ซื้อในหลายประเทศหันมาเลือกใช้ไม้ที่ผ่านการรับรองสีเขียวนี้แล้วเท่านั้น มาตรฐานที่เข้มงวดของ FSC จำเป็นต้องเพิ่มขั้นตอนในการผลิตหลายข้อ ส่งผลถึงต้นทุนค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้น อย่างเช่นต้องมีวิธีการปฏิบัติด้านแรงงานที่ดี โดยคัลลีต้องจัดการดูแลเรื่องอาหารการกินให้ทั้งคนงานและครอบครัวของพวกเขาอยู่เป็นประจำทุกสัปดาห์ เพื่อให้ท้องอิ่มและมีโภชนาการครบถ้วน เมื่อพวกเขาไม่หิวโหย ก็ช่วยไม่ให้ออกไปล่าสัตว์ป่ามาเป็นอาหารอีก ซึ่งนอกจากอาหารการกินที่คัลลีต้องเตรียมให้แล้ว เขายังมองไกลโดยจัดสรรที่ดินให้สำหรับแต่ละครอบครัวมีพื้นที่ปลูกผักสวนครัวกินเองได้อีกด้วย แม้การปฏิบัติเพื่อให้ผ่านการรับรองนี้จะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่คัลลีก็เชื่อว่ามันคุ้มค่าที่จะเริ่มลงมือเพื่อคืนอะไรให้กับโลกใบนี้ เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน ตั้งแต่ต้นทางที่เกษตรกรผู้ผลิต ไปจนถึงปลายทางที่ผู้บริโภค คนงาน และสิ่งแวดล้อมโดยรอบ กลายเป็นห่วงโซ่สีเขียวที่เป็นประโยชน์กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง “โชคดีที่ภรรยาเห็นด้วยกับไอเดียของผม เราทั้งคู่รู้สึกว่าแนวคิดนี้จะช่วยเรื่องความยั่งยืนของทั้งผู้ผลิตอย่างเรา คนงาน ไปจนถึงผู้บริโภค” นอกจากกิจการเผาถ่านของคัลลีแล้ว ยังมีเกษตรกรอีกเป็นจำนวนมากในประเทศนามิเบียที่ยึดอาชีพเผาถ่านขาย โดยประเทศนี้ส่งออกถ่านไม้มากที่สุดเป็นอันดับห้าของโลก มีการคาดการณ์ว่าในปี 2020 ปริมาณการส่งออกจะเพิ่มขึ้นถึง 200,000 ตัน ซึ่งไม่ใช่ทั้งหมดที่เลือกวิธีการผลิตถ่านที่ไม่เบียดเบียนสิ่งแวดล้อมอย่างคัลลี ซึ่งหากทุกคนหันกลับมาใส่ใจแบบเขาก็จะมีส่วนอย่างมากในการช่วยโลกใบนี้ ในฐานะผู้บริโภคที่ปลายทาง เราจะสานต่อความห่วงใยรักษ์โลก ที่เริ่มต้นจากสองมือของ ‘คนเอาถ่าน’ อย่าง คัลลี ฟอน ฟูลโตว์ ได้ด้วยวิธีที่ง่ายกว่าคือ การเลือกใช้สินค้าที่วัตถุดิบจากไม้ที่ผ่านการรับรอง FSC ไม่ว่าจะเป็นถ่านหุงต้ม สมุดหนังสือ กล่องบรรจุภัณฑ์ ไปจนถึงกระดาษชำระ “ก่อนที่ผมจะจากโลกนี้ไป อยากลงมือทำอะไรสักอย่างเพื่อคืนกลับให้โลกใบนี้ คืนให้ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และผู้คนที่อยู่ร่วมกัน” นั่นคือเป้าหมายเล็ก ๆ แต่สร้างผลกระทบอันยิ่งใหญ่ของผู้ชายคนนี้ ภาพ : https://www.fsc.org ที่มา https://marketingtoolkit.fsc.org https://ncanamibia.com https://ic.fsc.org http://www.igniteonline.co.za https://www.independent.co.uk https://neweralive.na https://gallery.mailchimp.com