ทำไมห้องเรียนต้องมีถังขยะ 15 ถัง? ‘โรงเรียนเกาะพะงันศึกษา’ มีคำตอบให้

ทำไมห้องเรียนต้องมีถังขยะ 15 ถัง? ‘โรงเรียนเกาะพะงันศึกษา’ มีคำตอบให้

ภาพของถัง(ขยะ) 15 ถัง ที่วางเรียงรายเป็นตับมากเสียยิ่งกว่าไลน์อาหารในร้านบุพเฟต์ คือสิ่งที่ดูแปลกตาในห้องเรียนชั้น ม.4/3 โรงเรียนเกาะพะงันศึกษา อ.เกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี ทำให้ชวนสงสัยว่าทำไมการคัดแยกขยะของโรงเรียนบนเกาะนี้ช่างจริงจังเหลือเกิน

ลำพังแค่คำว่า "ถังขยะ 15 ถัง" อาจฟังดูเผินๆ เหมือนเป็นห้องเรียนที่มีปริมาณขยะเยอะเหลือเกิน หรือไม่ก็เป็นโรงเรียนรักษ์โลกดีเด่นที่มีเทคโนโลยีคัดแยกขยะชั้นยอดทำให้สามารถจำแนกประเภทขยะได้มาก

แต่ในความเป็นจริงแล้ว ถังพวกนี้เป็นเพียงแค่การตัดขวดแกลลอนพลาสติกเหลือทิ้งมารีไซเคิลเป็นถังขยะแบบง่ายๆ และสิ่งที่สำคัญกว่าจริงๆ ก็คือ "กระบวนการจัดการขยะ" เพราะแน่นอนว่าการคัดแยกที่มากกว่าแค่ขยะรีไซเคิลได้หรือไม่ได้นั้น หมายความว่าห้องเรียนนี้ยอมปรับพฤติกรรมการทิ้งและคัดแยกขยะให้ละเอียดขึ้น ขณะที่โรงเรียนต้องสามารถจัดการ "ปลายทาง" ต่อไปของทั้ง 15 ถังได้ ไม่ใช่ไปกองรวมกันในถังขยะเทศบาลเหมือนในอดีตที่ผ่านมา 

ทำไมห้องเรียนต้องมีถังขยะ 15 ถัง? ‘โรงเรียนเกาะพะงันศึกษา’ มีคำตอบให้

ขยะหรือเศษวัสดุที่มีเยอะถึง 15 ถังนั้น มาจากการระดมความคิดของนักเรียนว่าควรจะแยกย่อยเป็นอะไรได้บ้าง ขวดน้ำพลาสติกจะถูกแยกเป็น 3 ชิ้นคือ ขวด ฝา และฉลากพลาสติก เพื่อให้ง่ายต่อการนำวัสดุไปรีไซเคิลต่อ และเพราะด้วยความที่เป็นโรงเรียนจึงทำให้มีขยะหลากหลายประเภท เช่น ขยะที่มาจากสื่อการเรียนการสอนอย่างเศษดินสอที่ถูกเหลาออกมา แม็กเย็บกระดาษที่เป็นโลหะ ไปจนถึงยางรัดของ/ยางมัดผม ขยะที่ย่อยสลายได้เอาไปทำปุ๋ย ส่วนที่ย่อยสลายไม่ได้จะถูกจัดการตามประเภททั้งขายและส่งกำจัด

แม้การสอนเด็กโตชั้น ม.1- ม.6 อาจเป็นเรื่องยากกว่าเมื่อเทียบกับต้นแบบอย่างอนุบาลทับสะแก เพราะการจัดการคัดแยกขยะเป็นเรื่องของทัศนคติและการปรับพฤติกรรมเป็นหลัก แต่ครูของที่นี่ก็เชื่อว่าไม่ยากเกินตั้งใจ ตราบใดที่แกนนำมุ่งมั่นตั้งใจทำเป็นตัวอย่างให้เห็น และสามารถสร้างเป็นวัฒนธรรมองค์กรให้เด็กทำตามด้วยความเคยชินได้ ซึ่งทุกวันนี้นอกจากการคัดแยกขยะแล้ว โรงเรียนยังมีการขอให้เด็กนำแก้วน้ำส่วนตัวมาเองเพื่อลดการก่อขยะและค่อยๆ ปรับพฤติกรรมเด็กไปทีละก้าวด้วย

"ถ้าเราจะแก้ปัญหาขยะจริงๆ อันดับแรกต้องปรับมายด์เซ็ตก่อนเลย ที่โรงเรียนเราจะไม่เรียกพวกนี้ว่าขยะ แต่เป็นเศษวัสดุเหลือใช้ เพราะมันสามารถนำไปรีไซเคิล-อัพไซเคิล หรือเอาไปต่อยอดได้ ซึ่งเราเรียนรู้มาจากทับสะแกโมเดล ในภาคีเครือข่ายต้นกล้าไร้ถัง และเป้าหมายของเราก็คือการเป็นโรงเรียนไร้ถังที่จัดการขยะให้เป็นศูนย์ได้" ครูกล้วย-กิตติมา เนตรพุกกณะ ครูประจำชั้นห้อง ม.4/3 ซึ่งเป็นห้องเรียนนำร่องเรื่องการคัดแยกขยะ กล่าว

"เกาะพะงันไร้ถัง" เริ่มต้นได้ที่โรงเรียน

การเอาจริงเอาจังเรื่องการจัดการขยะไม่ใช่เทรนด์รักษ์โลกที่อยู่ดีๆ คนก็จะหันมามีสำนึกรักสิ่งแวดล้อมเหมือนกันหมด  คุณครูโรงเรียนเกาะพะงันศึกษาเล่าว่า ด้วยความที่ครูและนักเรียนส่วนใหญ่เป็นคนในพื้นที่จึงค่อนข้างใส่ใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นบนเกาะ และเริ่มมองเห็นถึงปัญหาขยะที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตามความเจริญและการท่องเที่ยวที่บูมขึ้นเมื่อประมาณ 10 ปีก่อน ปกติแล้วการจัดการขยะบนเกาะจะใช้วิธีการเผาและฝังกลบเป็นหลัก แต่ด้วยปริมาณขยะที่เพิ่มขึ้นมากและการที่เกาะมีพื้นที่จำกัด ก็ทำให้เกิดปัญหาขยะตกค้างและส่งผลกระทบขึ้นได้

ปัจจุบันเทศบาลตำบลทั้ง 3 แห่งบนเกาะพะงัน คือ บ้านใต้ เกาะพะงัน และเพชรพะงัน ต้องจัดการขยะที่ถูก ทิ้้งต่อวันมากถึงวันละ 50 ตัน ต้องใช้งบประมาณสูงถึงวันละ 70,000 บาท หรือเดือนละ 2,000,000 บาท หรือคิดเป็นปีละประมาณ 24,000,000 บาท แต่ถึงแม้จะใช้งบประมาณมหาศาลก็ยังไม่สามารถจัดการขยะให้หมดไปได้ง่าย แม้แต่ขยะรีไซเคิล เพราะการจะขนขยะออกไปนอกเกาะนั้นมีต้นทุนสูง และไม่คุ้มกับที่เอกชนจะเข้ามารับซื้อออกไป คนบนเกาะเองจึงมีความพยายามที่จะหาทางจัดการขยะกันเอง

โรงเรียนเกาะพะงันศึกษาที่เคยใช้หลัก 3R ในการคัดแยกขยะ จึงได้เข้าร่วมเป็นภาคีเครือข่ายต้นกล้าไร้ถัง ภายใต้โครงการสานอนาคตการศึกษา CONNEXT ED ที่บริษัทซีพี ออลล์ และเซเว่น อีเลฟเว่น ช่วยสนับสนุนและร่วมผลักดันให้โรงเรียนเป็นศูนย์การเรียนรู้การจัดกรขยะของชุมชน และล่าสุดได้ขยับขึ้นไปอีกขั้นกับการเป็นโรงเรียนบนเกาะแห่งแรกที่ใช้โมเดล Green Living “รักษ์เกาะ 24 ชั่วโมง” เพื่อแก้ปัญหาการจัดการขยะในระดับ "เกาะ" โดยมีการลงนาม MOU ร่วมกันเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2566

พูดง่ายๆ ก็คือ โรงเรียนจะไม่ได้ลดและคัดแยกขยะในสเกลระดับโรงเรียนเท่านั้น แต่จะจับมือกับเอกชนขยายความร่วมมือไปยังเทศบาลและชุมชนบนเกาะ และใช้ทรัพยากรจากเครือข่ายที่มีในการบริหารจัดการขยะให้ครบจบในที่เดียว ภายใต้หลักการ "ลด-แยก-ขยายเครือข่าย" และสุดท้ายโรงเรียนจะเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ที่เชื่อมทุกฝ่ายเอาไว้

เพราะอย่าลืมว่าการคัดแยกและจัดการขยะนั้น มีหลายบทบาทหน้าที่ให้ทำเต็มไปหมด โรงเรียนอาจทำหน้าที่ "ต้นทาง" ในฐานะผู้ลดการก่อขยะ และทำหน้าที่ "กลางทาง" ด้วยการคัดแยก แต่กระบวนการจัดการกับขยะหรือเศษวัสดุเหลือใช้นั้นยังต้องการ "พาร์ทเนอร์" ที่ทำหน้าที่อีกหลายบทบาท เช่น คนขาย คนรับซื้อ คนรีไซเคิล คนอัพไซเคิล คนขนส่ง และคนทำระบบบันทึกข้อมูล การขยายเครือข่ายออกไปและใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก

ทำไมห้องเรียนต้องมีถังขยะ 15 ถัง? ‘โรงเรียนเกาะพะงันศึกษา’ มีคำตอบให้

‘ตรีเทพ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา’ รองผู้จัดการทั่วไป สำนักกิจการเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม บมจ.ซีพีออลล์ กล่าวว่า การแก้ปัญหาขยะนั้นไม่ใช่เรื่องของความมุ่งมั่นเพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องเป็นการจัดการอย่างเป็นระบบ สร้างแรงจูงใจ และทำให้ยั่งยืนด้วย ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดกับโรงเรียนเกาะพะงันศึกษาในวันนี้ก็คือ การสนับสนุนเรื่อง Upcycle กำจัดขยะพลาสติกกำพร้าที่ไม่มีคนรับซื้อด้วยการแปลงเป็น "อิฐรักษ์โลก" เพื่อนำมาสร้างเป็นสนามตะกร้อให้โรงเรียน โดยกำจัดขยะพลาสติกได้ถึงราว 5,000 กิโลกรัม

"อิฐรักษ์โลก" ทำง่ายด้วยขยะพลาสติกที่ขายไม่ได้

อิฐรักษ์โลกเป็นนวัตกรรมที่ทำมาจากขยะพลาสติกกำพร้าที่ไม่มีคนรับซื้อ เช่น ถุงร้อน ถุงฟอยล์ ถุงขนม ขวดน้ำอัดลม โดยบริษัท E2C จำกัด บนเกาะสมุย ซึ่งมีปัญหาการก่อขยะปริมาณมากเช่นเดียวกัน ส่วนวิธีการทำอิฐก็ไม่ซับซ้อนและผ่านการทดสอบแล้วว่าทนทานใช้งานได้จริง โดยมีส่วนผสมหลักๆ คือ พลาสติกที่ตัดเป็นส้นๆหรือเป็นชิ้นๆ มาแล้ว ผสมกับปูนซีเมนต์สำเร็จรูป กาวลาเท็กซ์ น้ำมันพืชใช้แล้ว และน้ำยาประสานซีเมนต์ เพื่อป้องกันอิฐแตกหักและป้องกันขยะพลาสติกหลุดลอดออกไปเป็นไมโครพลาสติก ซึ่งอิฐรักษ์โลกในรูปแบบนี้กำลังกลายเป็นอิฐทางเลือกที่หลายประเทศทั่วโลกหันมาเลือกใช้กันมากขึ้น

ทำไมห้องเรียนต้องมีถังขยะ 15 ถัง? ‘โรงเรียนเกาะพะงันศึกษา’ มีคำตอบให้

อิฐรักษ์โลก 1 ก้อนจะใช้ปริมาณพลาสติกประมาณ 3 กิโลกรัม ถ้าทำสนามตะกร้อขนาด 80 ตร.ม. จะใช้อิฐ 1,600 ก้อน ใช้ขยะประมาณ 5 ตัน หรือถ้าหากจะขยายเป็นสนามกีฬาที่มีขนาดกว้างกว่า เช่น สนามบาสเก็ตบอล จะใช้อิฐประมาณ 24 ตัน ด้วยปริมาณขนาดนี้ปัญหาจึงไม่ได้อยู่ที่ตัวขยะพลาสติกแล้ว แต่เป็นซัพพลายเออร์ที่จะป้อนพลาสติกมาทำเป็นขยะมากกว่า

การจับคู่ระหว่างเทศบาลกับคนทำอิฐจึงเกิดขึ้นเพื่อให้ฝ่ายหนึ่งระบายขยะพลาสติกที่ไม่มีที่ไปได้ และอีกฝ่ายหนึ่งก็มั่นใจได้ว่าจะมีปริมาณพลาสติกเพียงพอสำหรับใช้ลานกีฬาหรือลานอเนกประสงค์อื่นๆ ต่อไป โดยทางโรงเรียนกับซีพีออลล์ยังมีแผนที่จะใช้อิฐรักษ์โลกทำลานล้านความคิดเพื่อให้เป็นพื้นที่สำหรับวิสาหกิจของโรงเรียนเชื่อมไปยังชุมชน ตามที่ตั้งเป้าหมายเอาไว้ว่า โรงเรียนจะกลายเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้อย่างครบวงจร ให้ชุมชนได้มาศึกษาเรื่องการแยกขยะ การรีไซเคิล อัพไซเคิล ไปจนถึงสาธิตผลิตภัณฑ์รักษ์โลกต่างๆ

เพราะหากประสบความสำเร็จ เกาะพะงันศึกษาก็จะสามารถกลายเป็นโมเดลให้เกาะที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ได้นำไปพัฒนาต่อ เพื่อให้เกาะท่องเที่ยวเหล่านี้อยู่ได้อย่างยั่งยืนโดยไม่ต้องถูกบังคับปรับพฤติกรรมในวันที่อาจสายเกินไป

.

ภาพ : CP All