12 มิ.ย. 2564 | 12:45 น.
‘เมืองสีเขียว’ มักถูกผูกโยงกับเรื่องสิ่งแวดล้อมหรือภาพต้นไม้รายรอบเมือง แต่สำหรับชาวเมืองทอดมอร์เดน (Todmorden) แห่งสหราชอาณาจักร ‘เมืองสีเขียว’ ของพวกเขาเป็นมากกว่านั้น... คุณสามารถเห็นข้าวโพดอยู่หน้าสถานีตำรวจหรือผลไม้รอบ ๆ ศูนย์สุขภาพ หยิบสตรอว์เบอร์รี 2-3 ลูกมาชิมระหว่างทาง เห็นผู้คนท้องถิ่นหลากเพศหลายวัยรวมกลุ่มกันปลูกต้นไม้ แถมยังได้เรียนรู้ไปด้วยว่าผักผลไม้ตามฤดูกาลของที่นี่มีอะไรบ้าง บรรยากาศแสนน่ารักนี้เกิดขึ้นจากโครงการ ‘Incredible Edible’ หนึ่งในผู้ริเริ่มคือ แพม วอร์เฮิสต์ (Pam Warhurst) นักธุรกิจ นักเคลื่อนไหว และอดีตผู้นำสภาในทอดมอร์เดน ณ ร้านกาแฟแห่งหนึ่งในทอดมอร์เดน เมื่อปี 2008 แพม วอร์เฮิสต์ชวนชาวเมืองกลุ่มเล็ก ๆ มานั่งแบ่งปันความฝันและความหวังที่อยากให้เมืองดีขึ้น พวกเขาอยากจะเชื่อมต่อผู้คนในเมืองผ่าน ‘ภาษา’ ที่ทุกคนมีร่วมกัน ไม่ว่าจะอายุเท่าไร รายได้มากน้อยแค่ไหน หรือวัฒนธรรมต่างกันอย่างไร และอยากให้ทุกคนมองพื้นที่รอบตัว คิดเกี่ยวกับทรัพยากรที่มีต่างไปจากเดิม และแล้วไอเดียก็ผุดขึ้นมาอย่างรวดเร็ว พวกเขาพบว่า ‘ภาษา’ ที่ทุกคนเข้าใจร่วมกันได้ คือ ‘อาหาร’ โครงการ Incredible Edible จึงเริ่มต้นขึ้นด้วยคติพจน์ ‘If you eat, you’re in.’ (ถ้าคุณกิน คุณก็มีส่วนร่วมได้) พวกเขาไม่ได้เขียนรายงานการประชุม ไม่มีเอกสารป่าวประกาศ แค่หยิบจอบ เสียม เมล็ดพันธุ์ ย่ำเท้าไปยังพื้นที่รกร้างข้างถนนสายหลัก (ที่มักใช้เป็นสุขาของสุนัข) แล้วเปลี่ยนพื้นที่นั้นให้กลายเป็นสวนพืชผักสมุนไพรขนาดย่อม หลังจากนั้นก็เริ่มมีผักผลไม้งอกเงยขึ้นตามศูนย์สุขภาพ สถานีตำรวจ บ้านพักคนชรา แม้กระทั่งสุสาน (เธอกล่าวว่าที่นี่มีดินที่ดีเยี่ยมทีเดียว) โดยรากฐานของโครงการนี้มี 3 อย่างหลัก คือ สร้างชุมชน การเรียนรู้ และธุรกิจ พวกเขาสร้างชุมชนผ่านพืชผักตามพื้นที่สาธารณะที่ทุกคนสามารถปลูกและเก็บได้ฟรี จึงเริ่มมีชาวเมืองคนอื่น ๆ เข้ามาร่วมด้วย บทสนทนาระหว่างผู้คนมากหน้าหลายตาในเมืองจึงเพิ่มมากขึ้นโดยมี ‘แปลงผัก’ เป็นสื่อกลางที่เชื่อมโยงพวกเขาเข้าด้วยกัน เวลาผ่านไป เมื่อต้นไม้เหล่านี้ไม่มีฉลากแปะไว้เหมือนในซูเปอร์มาร์เก็ต พวกเขาจึงต้องการคนถนัดงานศิลป์มาออกแบบป้ายบอกชนิดของพืช ต้องการคนที่มีความรู้เรื่องการเกษตรมาให้ข้อมูล หรือใครที่ถนัดทำอาหารก็รอรับวัตถุดิบเหล่านี้ไปปรุงรสมาแบ่งปันกัน จิ๊กซอว์ชิ้นใหม่ค่อย ๆ ต่อเติมเข้ามาเรื่อย ๆ ชาวเมืองเริ่มรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งกับพื้นที่เหล่านี้มากกว่าเมื่อก่อน จากบางคนที่เคยเดินไปซื้อของกลับบ้านปกติ ก็เปลี่ยนเป็นหยุดแวะดูต้นเบอร์รีว่าใกล้ออกผลหรือยัง พื้นที่ว่างเปล่าของเมืองล้วนถูกจับจองด้วยพืชผักผลไม้ที่หยิบไปกินได้ฟรี ๆ จนกลายเป็นเมืองสีเขียวที่ทั้งน่ารัก น่าอยู่ (และน่ากิน) นอกจากนี้พวกเขายังเริ่ม ‘เรียนรู้’ ว่าพืชที่ปลูกในท้องถิ่นได้หรือผักผลไม้ตามฤดูกาลมีอะไรบ้าง ส่วนโรงเรียนก็เปิดวิชาการเกษตรที่สอนทั้งเรื่องการปลูกพืชและสุขภาพให้กับเด็ก ๆ ส่วนด้านธุรกิจ ร้านรวงต่าง ๆ เริ่มมีอาหารท้องถิ่นวางขายมากขึ้น ผู้ค้าอาหาร 49% กล่าวว่ามีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นจากโครงการนี้ แถมแพมและชาวเมืองยังคิดค้นการท่องเที่ยว ‘ตามรอยผัก’ ขึ้นมาอีกด้วย ซึ่งแพมกล่าวบนเวที TED Talks เมื่อปี 2012 ว่า “เราไม่ได้ขออนุญาตใครทำสิ่งนี้ เราแค่ลงมือทำ และแน่นอน เราไม่ได้รอให้เช็คนั้นหล่นผ่านตู้ไปรษณีย์ก่อนที่เราจะเริ่มต้น และที่สำคัญที่สุดคือ เราไม่วิตกกับข้อโต้แย้งอันแสนซับซ้อนที่ว่า ‘การกระทำเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้ไม่มีความหมาย สำหรับปัญหาใหม่ที่ต้องเผชิญในวันพรุ่งนี้’ เพราะฉันเห็นพลังของการกระทำเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้ และมันยอดเยี่ยมมาก” ที่มา: หนังสือ ลุกกะ: วิถีความสุขจากทุกมุมโลก สำนักพิมพ์บุ๊คสเคป (เขียนโดย Meik Wiking แปลโดย ลลิตา ผลผลา) https://www.incredibleedible.org.uk/our-story/?welsh=true https://ted2srt.org/talks/pam_warhurst_how_we_can_eat_our_landscapes