04 ต.ค. 2564 | 18:20 น.
“เมืองไทยไม่ใช่ถังขยะของโลกนะ” ‘ชัยยุทธิ์ พลเสน’ นายกสมาคมซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่าบอกกับเรา เมื่อเล่าถึงจุดเริ่มต้นการออกมาร่วม ‘คัดค้านการนำเข้าเศษพลาสติก’ เพราะตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 เป็นต้นมา ประเทศไทยเริ่มนำเข้าเศษพลาสติกเพิ่มขึ้นกว่า 10 เท่า จาก 50,000-60,000 ตัน เป็น 500,000 กว่าตัน ทำให้ช่วงปี พ.ศ. 2561-2563 มีการนำเข้าเศษพลาสติกรวมแล้วกว่า 1,000,000 ตัน และยังคงหลงเหลืออยู่ราว 600,000 ตัน แต่ปี พ.ศ. 2564 นี้ กลับมีการขอเปิดโควตานำเข้าเศษพลาสติกอีกครั้ง ทั้งที่โควตาดังกล่าวควรจะหมดลงตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2563 เมื่อปัญหาการนำเข้าเศษพลาสติกส่งผลกระทบมากกว่าเรื่องรายได้ของพี่น้องชาวซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่า แต่ยังเป็นปัญหาที่ ‘ทุกคน’ ล้วนได้รับผลกระทบในระยะยาว The People จึงชวน ‘ชัยยุทธิ์ พลเสน’ มาพูดคุยถึงที่มาของการก่อตั้งสมาคมซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่าไปจนถึงจุดยืนและข้อเรียกร้องเกี่ยวกับการคัดค้านการนำเข้าเศษพลาสติกในประเทศไทย จากลังกระดาษราคาตก สู่การคัดค้านการนำเข้าเศษพลาสติก ในปี พ.ศ. 2562 เมื่อราคาลังกระดาษตกต่ำลงจากประมาณ 7 บาท เหลือเพียง 2 บาท ทำให้ชาวซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่าทั่วประเทศได้รับความเดือดร้อน บางคนต้องเปลี่ยนอาชีพ บางคนต้องปิดกิจการ หรือบางคนถูกธนาคารยึดที่ดินและทรัพย์สินต่าง ๆ กลายเป็นจุดเริ่มต้นให้พวกเขาออกมารวมตัวกัน เพื่อประสานงานกับทางราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และนั่นคือจุดเริ่มต้นการก่อตั้งสมาคมซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่าอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2563 โดยมีนายชัยยุทธิ์ พลเสน รับตำแหน่งนายกสมาคมฯ “ผมก็ไม่คิดนะว่า เมื่อจบงานกระดาษในครั้งนั้นแล้วจะต้องมาต่อต้านเรื่องของพลาสติก” ชัยยุทธิ์เกริ่นถึงจุดเริ่มต้นของการออกมาเคลื่อนไหวอีกครั้ง เมื่อประเทศไทยเตรียมเปิดโควตานำเข้าเศษพลาสติกเพิ่มประมาณ 500,000 กว่าตันในปี พ.ศ. 2564 โดยอ้างว่าเป็นเพราะเศษพลาสติกในเมืองไทยไม่เพียงพอและไม่สะอาด ทั้งที่โควตาการนำเข้าเศษพลาสติกในประเทศไทย ควรจะปิดลงตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2563 ทำให้ทั้งสมาคมและอีกหลายองค์กรที่เกี่ยวข้องออกมาร่วมกัน ‘คัดค้าน’ การเปิดโควตาครั้งนี้ ราคาที่ต้องจ่ายมากกว่าเม็ดเงิน คือสิ่งแวดล้อม ในแง่ของรายได้ แน่นอนว่าผู้ประกอบอาชีพซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่าย่อมมีรายได้ลดลง เพราะถูกแทนที่ด้วยเศษพลาสติกจากต่างประเทศ หลายคนจึงตัดสินใจไปทำอาชีพอื่น ๆ หรือล้มเลิกกิจการร้านรับซื้อของเก่าไป หากผลที่ตามมากลับไม่ได้จบลงเพียงเท่านั้น “ถ้าไม่มีซาเล้ง สมมติกินน้ำเสร็จแล้วไม่มีที่ขาย เราก็ทิ้งถังที่บ้าน รถเก็บขยะก็มาเก็บแล้วไปที่บ่อฝังกลบ ขวดอย่างนี้กว่าเขาจะย่อยสลาย บางคนบอก 500 ปี แล้วลองนึกภาพสิครับว่า ขวดในเมืองไทยเราแบบนี้ เป็นแสนตัน เราจะมีที่ฝังกลบเหรอ ถ้าเราไม่มีที่ฝังกลบ ก็ต้องเอาไปเผาแล้วเกิดมลพิษขึ้น “เรากำลังจะบอกว่าให้ช่วยลดโลกร้อน ให้ช่วยกันนู่นนี่นั่น แต่เรากลับเอาพวกนี้ไปเผา แล้วสุดท้ายค่ากำจัดขยะของท่านก็จะต้องสูง แพงมากขึ้น พี่น้องประชาชนก็ต้องเสียภาษีมากขึ้น เพราะเงินมันไม่พอกำจัดแล้ว “เราจะมองเห็นนะครับว่า ร้านรับซื้อของเก่าเขามีส่วนช่วยในการรักษาสิ่งแวดล้อม มีส่วนช่วยในการกำจัดขยะ พี่น้องชาวซาเล้ง รัฐไม่ต้องเสียเงินเดือนเลย ไม่ต้องเสียค่าโอที เขาก็อยู่ของเขาได้ เราเพียงแค่ว่า อย่าไปนำเข้าเศษพลาสติกมา อย่าไปซ้ำเติมเขาเลย” นอกจากนี้ เศษพลาสติกที่ถูกนำเข้ามาจะถูกแปรรูป อัดเม็ด แล้วส่งออกไปยังต่างประเทศ ดังนั้นระหว่างการแปรรูปจึงต้องใช้ทั้งทรัพยากร พื้นที่ และที่สำคัญคือ ‘สร้างมลพิษ’ ให้กับประเทศไทย “การนำเข้าเศษพลาสติก ท่านอาจจะไปมองว่า มันเกี่ยวกับเรื่องของคน 2 กลุ่ม คือกลุ่มโรงงาน กับกลุ่มคนเก็บขยะหรือซาเล้ง จริง ๆ ไม่ใช่ครับ ท่านอย่าลืมนะ พอโรงงานไม่ดี ทำไม่รอบคอบ สมมติเอามา 1 ตัน รีไซเคิลได้เพียงแค่ 40-50% แล้วอีกครึ่งหนึ่งแอบเผากลางคืน แอบฝังกลบ เวลาโม่ล้างก็ไม่มีระบบบำบัดน้ำเสียที่มันสมบูรณ์ ปล่อยลงตามธรรมชาติ ขุดลงไปในดินให้มันซึมใต้ดิน พี่น้องประชาชนตื่นเช้ามา คันตัวมาก แล้วไอ พูดง่าย ๆ ว่าไอเป็นพิษ มันอันตรายมาก แล้วก็ลงไปในแม่น้ำลำคลอง พวกปลาต่าง ๆ ที่กินก็มีสารตะกั่ว พวกเราก็เป็นมะเร็ง สุดท้ายก็บอก เอ๊ะ! ทำไมโรคภัยไข้เจ็บเรามันเยอะจัง “วันนี้จริง ๆ ผมยอมรับว่า การนำเข้ามีผลกระทบต่อราคา แต่ในใจของสมาคมเบอร์ 1 ก็คือมันกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่สุด ลูกหลานเราจะอยู่กันยังไง ราคาน่ะมันเป็นผลพวงอยู่แล้ว พอราคาตก ไม่มีใครเก็บขยะ เราก็ต้องมาเจอค่ากำจัดขยะอีก แล้วเงินภาษีที่เราออกไปจะจ่ายกันไหวเหรอ นี่ครับคือผลกระทบ” ข้อเสนอการนำเข้าอย่างเป็นระบบ อย่างไรก็ตาม ชัยยุทธิ์ไม่ได้ต้องการห้ามนำเข้าเศษพลาสติกทุกชนิด แต่เสนอว่าควรนำเข้าอย่างเป็นระบบ โดยพิจารณาจากประเภทของพลาสติกและปริมาณที่มีในประเทศไทย “พลาสติกของเราจะแบ่งเป็นภาคอุตสาหกรรมและภาคชุมชน ภาคชุมชนง่าย ๆ ก็คือขวด PET หรือพวกขวดนม หรือว่าเป็นพลาสติกที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน พวกนี้เป็นพลาสติกที่มีเยอะมาก อย่างนี้ควรจะกำหนดพิกัดศุลกากรให้ชัด แล้วก็ห้ามนำเข้า ให้เอาของในเมืองไทยมาใช้ก่อน นี่คือสิ่งที่ถูกต้อง “ส่วนพลาสติกประเภทวิศวกรรม พวกฝาหม้อน้ำ กันชนรถยนต์ หรืออะไรที่มาจากภาคอุตสาหกรรม ถ้าถามว่าวัตถุดิบมีไหม มีครับ แต่อาจจะไม่เพียงพอต่อการใช้งานและรีไซเคิลส่งออกต่างประเทศ เราก็มาดูโรงงานที่เขามีคุณภาพ มาคัดกรอง แล้วกำหนดมาตรฐานเข้าไป 1. ท่านต้องมี ISO หรือ ISO14100 ซึ่งเป็นมาตรฐานของสิ่งแวดล้อม 2. ท่านต้องมีจุดตั้งโรงงานที่ชัดเจน 3. โรงงานของท่าน ภาครัฐ ภาคเอกชน ตัวแทนสมาคมสามารถเข้าไปเยี่ยมชมโรงงานท่านได้ เพื่อเป็นการเปิดใจแบบบริสุทธิ์ เมื่อกำหนดเสร็จแล้ว เราก็ค่อย ๆ อนุญาตกันเป็นราย ๆ ไป “แล้วเรายังเสนอข้อสุดท้ายไปยังท่านรัฐมนตรีว่า แทนที่เราจะต้องไปนำเศษพลาสติกเข้ามาจากต่างประเทศ โม่ บด ล้าง แล้วก็หลอมกลายเป็นเม็ดเพื่อส่งออก เอาใหม่ ท่านนำเข้าเม็ดพลาสติกมาฉีดเป็นชิ้นงาน แล้วก็ส่งขายในประเทศหรือต่างประเทศ ตัวเลขการส่งออกของประเทศไทยเราก็จะได้สูงขึ้น “นี่คือจุดยืนของทางสมาคมว่า หากอะไรที่ท่านนำเข้ามาแล้วไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ต่อมวลรวมของประเทศ ต่อพี่น้องชาวซาเล้งกว่า 1,500,000 คน สมาคมไม่ได้ขัดข้องนะครับ แต่วันนี้ผมก็ดีใจกับการที่ทางภาครัฐโดยเฉพาะกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ท่านก็หันมาฟังอยู่ตลอดเวลา ท่านก็พยายามหาจุดสมดุล ซึ่งก็ต้องรอดูครับว่า ในสิ้นเดือนกันยายนนี้ที่จะมีการประชุมครั้งสุดท้าย ตกลงจะออกมาทิศทางใด” แม้จะมีทั้งทางสมาคมและอีกหลายกลุ่มออกมาคัดค้านการนำเข้าเศษพลาสติกในประเทศไทยพร้อมกับเหตุผลและข้อเสนอที่ชัดเจน แต่ท้ายที่สุดแล้วสถานการณ์จะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด ก็คงขึ้นอยู่กับว่าผู้มีอำนาจจะรับมือกับปัญหาและนำข้อเสนอเหล่านี้ไปปรับใช้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งเป็นสิ่งที่ ‘ทุกคน’ ต้องช่วยกันจับตาดูสถานการณ์ต่อไปในอนาคต