23 พ.ค. 2565 | 12:20 น.
‘พ่อเมือง’ ไม่ว่าคำนี้จะใช้เรียก ผู้ว่าฯ หรือนายกเทศมนตรี คุณสมบัติของนักปกครองที่จะมาดำรงตำแหน่งนี้ควรมีอะไรบ้าง สามารถดูตัวอย่างได้จากอาเหม็ด อาบูตาเลบ (Ahmed Aboutaleb) นายกเมืองรอตเตอร์ดัม ของเนเธอร์แลนด์ ผู้ถูกยกย่องให้เป็นนักปกครองท้องถิ่นดีเด่นเจ้าของรางวัลนายกเทศมนตรีโลก (World Mayor Prize) ปี 2021 รางวัลนี้มอบโดยมูลนิธิ City Mayors ซึ่งเป็นกลุ่มนักวิชาการนานาชาติที่มาทำงานวิจัยร่วมกันในกรุงลอนดอน เพื่อส่งเสริมการพัฒนาเมืองและยกระดับมาตรฐานผู้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ และนายกเทศมนตรีทั่วโลก รางวัลดังกล่าวมีการมอบทุก 2 ปี ตั้งแต่ปี 2004 โดยแต่ละครั้งจะให้ความสำคัญกับประเด็นแตกต่างกันตามช่วงเวลา อาทิ วิกฤตผู้ลี้ภัย (2016) และความเท่าเทียมทางเพศ (2018) ปี 2021 รางวัล World Mayor มอบให้นักปกครองที่ต้องบริหารจัดการท่ามกลางวิกฤตโรคระบาดโควิด - 19 โดยผู้ชนะมี 2 คนได้ครองรางวัลร่วมกัน คือ ฟิลลิปป์ ริโอ ‘พ่อเมือง’ กรินญี (Grigny) ในฝรั่งเศส และอาเหม็ด อาบูตาเลบ นายกเทศมนตรีเมืองรอตเตอร์ดัม (Rotterdam) เนื้อหาต่อไปนี้จะขอเน้นที่ผู้ชนะคนหลัง คือ อาเหม็ด อาบูตาเลบ ผู้อพยพคนแรกที่ได้รับเลือกให้เป็นนายกเทศมนตรีในเนเธอร์แลนด์ เขาเคยถูกต่อต้านช่วงขึ้นมารับตำแหน่งใหม่ ๆ แต่อยู่ ๆ ไปกลายเป็นที่รักของคนในพื้นที่ จนชาวดัตช์ขนานนามให้ว่า ‘พ่อของประชาชน’ จากโมรอกโกสู่รอตเตอร์ดัม รอตเตอร์ดัม เป็นเมืองท่าที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป แม้การสำรวจปี 2020 จะมีประชากร 6 แสนกว่าคน น้อยกว่ากรุงเทพฯ หลายเท่า แต่พลเมืองของที่นี่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติสูง ชาวรอตเตอร์ดัม หรือ ‘รอตเตอร์ดัมเมอร์’ มีเชื้อสายแตกต่างกันกว่า 170 เชื้อชาติ กว่าครึ่งของประชากรทั้งหมดมีพื้นเพมาจากผู้อพยพ ในจำนวนนี้รวมถึง ‘พ่อเมือง’ คนปัจจุบัน อาเหม็ด อาบูตาเลบ เกิดที่ประเทศโมรอกโก เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม ค.ศ.1961 บิดาเป็นนักเทศน์ชาวมุสลิม เขาอพยพตามครอบครัวมาปักหลักอยู่เนเธอร์แลนด์ตั้งแต่อายุ 15 ขวบ เข้าเรียนปริญญาตรีสาขาวิศวกรรมศาสตร์เอกโทรคมนาคม ก่อนจบออกมาทำงานเป็นนักข่าว และเริ่มเข้าสู่การเมืองในปี 2004 ด้วยตำแหน่งสมาชิกเทศมนตรีนครอัมสเตอร์ดัม ปี 2007 พรรคแรงงานที่เขาสังกัดได้ร่วมจัดตั้งรัฐบาล อาบูตาเลบถูกแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกิจการสังคม จากนั้นปี 2009 เขาลาออกมาเป็นนายกเทศมนตรีเมืองรอตเตอร์ดัมสมัยแรก พร้อมสร้างประวัติศาสตร์เป็นทั้งผู้อพยพและชาวมุสลิมคนแรกของประเทศที่ได้ครองตำแหน่งนี้ ช่วงรับตำแหน่งใหม่ ๆ เนเธอร์แลนด์เกิดกระแสต่อต้านผู้อพยพที่เข้มข้นหลังมุสลิมแนวคิดสุดโต่งบุกสังหารผู้มีชื่อเสียง 2 คนที่มักออกมาวิจารณ์ศาสนาอิสลาม คือ พิม ฟอร์ตุน (Pim Fortuyn) นักการเมืองขวัญใจผู้ใช้แรงงานในรอตเตอร์ดัม และธีโอ ฟาน โก๊ะ (Theo van Gogh) ผู้กำกับหนังสั้นเรื่อง ‘Submission’ ซึ่งถูกตำหนิว่ามีเนื้อหาดูหมิ่นอิสลาม แม้อาบูตาเลบจะเป็นชาวมุสลิมที่เคร่งครัด แต่เขาประกาศชัดเจนว่าไม่สนับสนุนความรุนแรงและเรียกร้องให้ผู้อพยพพยายามปรับตัวเข้ากับบ้านหลังใหม่ เรียนรู้ภาษาดัตช์ และพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้กับคนต่างเชื้อชาติศาสนา “ในเมืองใหญ่ที่มีคนแตกต่างกันถึง 175 เชื้อชาติ มันสำคัญที่คนต้องมาพบหน้าทำความรู้จักกัน การพบกันช่วยให้เราเรียนรู้ที่จะเข้าใจกันมากขึ้น ช่วยส่งเสริมสันติสุขและความสามัคคีในชุมชน นั่นคือเหตุผลที่ผมกำหนดให้ ‘การพบปะกัน’ เป็นหนึ่งในสามเสาหลักที่ผมให้ความสำคัญมากที่สุดในการทำหน้าที่นายกเทศมนตรีสมัยที่สาม” อาบูตาเลบเริ่มงานนายกเทศมนตรีสมัยที่ 3 ในปี 2021 ตำแหน่งนี้มาจากการแต่งตั้งของรัฐบาลกลาง มีวาระการทำหน้าที่ 6 ปี และสามารถเป็นซ้ำได้หลายวาระ ฉายาโอบามาแห่งลุ่มแม่น้ำมาส อาเหม็ด อาบูตาเลบ ขึ้นชื่อในฐานะนักการเมืองที่มีนิสัยกล้าแสดงความคิดเห็นและพูดจาตรงไปตรงมา นอกจากนี้เขายังได้รับการยกย่องว่าเป็นคนซื่อสัตย์ ติดดิน เข้าถึงง่าย และมีนิสัยอ่อนน้อมถ่อมตน เขามักใช้เวลาเดินทางลงพื้นที่พบปะพูดคุยกับประชาชนทุกเชื้อชาติและชนชั้นแบบไม่ถือตัว เป็นนักฟังที่ดีและมีความเห็นอกเห็นใจ เมื่อเกิดโรคระบาดโควิด - 19 เขาตอบอีเมลจำนวนมากด้วยตนเองทุกวันเพื่อสื่อสารกับประชาชน อาบูตาเลบได้รับเสียงชื่นชมล้นหลามจากความพยายามปกป้องรอตเตอร์ดัมเมอร์จากโควิด - 19 ด้วยการประกาศให้ชาวรอตเตอร์ดัมสวมหน้ากากอนามัยอย่างจริงจังก่อนที่รัฐบาลกลางจะออกมาเคลื่อนไหวในเรื่องนี้ เขาพยายามกระตุ้นให้เยาวชนและคนรากหญ้าเห็นความสำคัญของการป้องกันตัวจากโควิดด้วยการลงพื้นที่ในจุดที่นักเรียนนักศึกษามักมารวมตัวกันเพื่อแจกจ่ายกล่องอเนกประสงค์ที่มีทั้งหน้ากากและโปสเตอร์ให้ความรู้เรื่องโควิด - 19 ขณะเดียวกันยังให้เงินรางวัล 10,000 ยูโร แก่นักเรียนผู้เสนอไอเดียดีที่สุดในการสร้างความตระหนักรู้เรื่องโควิด และพิมพ์ใบปลิวแจกจ่ายเป็นภาษาต่าง ๆ ทั้งหมด 9 ภาษา เพื่อประชาสัมพันธ์เรื่องวัคซีนกับคนทุกหมู่เหล่า เดือนมกราคมปี 2021 หลังเกิดเหตุจลาจลต่อต้านมาตรการเคอร์ฟิวป้องกันโควิด - 19 ในรอตเตอร์ดัม อาบูตาเลบยังออกมากล่าวสุนทรพจน์ที่ลึกซึ้งกินใจแต่ใช้ภาษาที่เรียบง่ายกับผู้ก่อเหตุและผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง จนทำให้เหตุการณ์คลี่คลายและสงบลงอย่างรวดเร็ว ด้วยความเป็นคนเข้าถึงง่าย ตรงไปตรงมา และมีวาทศิลป์ ขณะเดียวกันก็เป็นนักการเมืองที่ยึดมั่นหลักการสากลนิยม ทำให้อาบูตาเลบมักถูกนำไปเปรียบเทียบกับบารัก โอบามา อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ และได้ฉายา ‘โอบามาแห่งลุ่มแม่น้ำมาส’ (Maas คือแม่น้ำที่ไหลผ่ากลางเมืองรอตเตอร์ดัม) ตำแหน่งนายกเทศมนตรีในภาษาดัตช์ ปกติเรียกว่า ‘burgemeester’ หรือ ‘เจ้านายของประชาชน’ ในยุคของอาบูตาเลบ ผู้คนเรียกเขาด้วยความยอมรับและรักใคร่มากขึ้นว่า ‘burgervader’ หรือ ‘พ่อของประชาชน’ เกณฑ์มอบรางวัลนายกเทศมนตรีโลก มูลนิธิ City Mayors กล่าวถึงหลักเกณฑ์การคัดเลือกผู้ชนะรางวัลนายกเทศมนตรีโลก ภายใต้โครงการ World Mayor 2021 ว่ามุ่งเน้นส่งเสริมเมืองทั่วโลกให้มีการพัฒนา 3 ด้านหลัก ได้แก่ ความเข็มแข็งของชุมชน (Stronger) ลดความเหลื่อมล้ำเพิ่มความเป็นธรรมในสังคม (Fairer) และมีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น (Greener) พ่อเมืองที่ดีตามคำจำกัดความของมูลนิธิ City Mayors ควรมีคุณสมบัติ 11 ข้อ ดังนี้ - มีความรับผิดชอบและบริหารงานเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวม - ไม่เลือกปฏิบัติต่อคนต่างเชื้อชาติ ศาสนา เพศสภาพ หรือความคิดทางการเมือง - ยึดมั่นในหลักกฎหมายและบังคับใช้กับทุกคนอย่างเท่าเทียม - มีอิสระในการคัดค้านกฎหมายท้องถิ่นที่ขัดกับหลักสิทธิมนุษยชนสากล - บริหารทรัพยากรสาธารณะเพื่อสาธารณประโยชน์ ไม่ก่ออันตรายต่อชุมชนอื่น - ไม่ใช้ตำแหน่งแสวงหาผลประโยชน์เพื่อตนเอง ครอบครัว และพวกพ้อง - หลีกเลี่ยงผลประโยชน์ทับซ้อนทั้งทางตรงและทางอ้อม - ไม่รับของขวัญหรือข้อเสนอที่เข้าข่ายติดสินบน - เปิดให้มีการตรวจสอบการทำงาน และรายงานการกระทำผิดต่อสาธารณชน - สร้างความตระหนักรู้และความเชื่อมั่นในกิจการของรัฐบาล - ส่งเสริมความสามัคคีและความร่วมมือทั้งระดับท้องถิ่น ประเทศ และระหว่างประเทศ นั่นคือคุณสมบัติของผู้ที่จะได้รับการคัดเลือกเข้าชิงรางวัลนายกเทศมนตรีโลก ซึ่งเปิดโอกาสให้สาธารณชนสามารถเสนอชื่อพ่อเมืองที่ตนชื่นชอบเข้าชิงชัย และเป็นคุณสมบัติที่ทำให้นายกเทศมนตรีเมืองรอตเตอร์ดัมได้รับรางวัลชนะเลิศ แม้ที่ผ่านมายังไม่มีนักปกครองท้องถิ่นของไทยคนใดถูกเสนอชื่อให้เป็นผู้คว้ารางวัลนี้ แต่หวังว่าเรื่องราวของอาเหม็ด อาบูตาเลบ อาจเป็นแรงบันดาลใจให้พ่อเมืองต่าง ๆ ของไทยนำไปปฏิบัติ หรืออย่างน้อยก็เป็นแนวทางให้คนทั่วไปนำไปพิจารณา ก่อนเข้าคูหาเลือกตั้งผู้ว่าฯ หรือผู้นำท้องถิ่นของตน ไม่แน่ในอนาคตอันใกล้ เราอาจมียอดนักปกครองท้องถิ่นที่ได้รางวัลระดับโลกอย่างนายกเทศมนตรีเมืองรอตเตอร์ดัมคนนี้ก็เป็นได้ ภาพ : Getty Images ข้อมูลอ้างอิง : http://www.worldmayor.com/con.../about-world-mayor-2021.html http://www.worldmayor.com/.../world-mayor-winners-2021.html https://www.nytimes.com/.../05iht-dutch.4.19099246.html