วังการี มาไท : “รุ่นที่ทำลายสิ่งแวดล้อมไม่ใช่รุ่นที่ต้องชดใช้ นั่นแหละปัญหา!”

วังการี มาไท : “รุ่นที่ทำลายสิ่งแวดล้อมไม่ใช่รุ่นที่ต้องชดใช้ นั่นแหละปัญหา!”

‘วังการี มาไท’ จากเด็กหญิงยากจนในชนบทของเคนยา สู่นักเคลื่อนไหวผู้ริเริ่มโครงการ ‘Green Belt Movement’ ระดมผู้หญิงปลูกต้นไม้นับล้านต้นทั่วประเทศ

KEY

POINTS

  • ประวัติ ‘วังการี มาไท’ เด็กหญิงยากจนในชนบทของเคนยา ผู้มีความฝันแค่อยากวิ่งเล่นเลียบลำธารท่ามกลางต้นไม้เขียวชอุ่ม
  • การได้รับโอกาสให้ไปเรียนต่อที่สหรัฐฯ ได้ปลูกฝังอุดมการณ์ทางการเมืองให้กับเธอ 
  • การเคลื่อนไหวเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนโดยไม่หวั่นเกรงภัยคุกคาม ทำให้เธอได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ 

‘วังการี มาไท’ (Wangari Maathai) เกิดเมื่อวันที่ 1 เมษายน ปี 1940 ในหมู่บ้านเล็ก ๆ ชื่อว่า ‘เยริ’ ซึ่งเป็นพื้นที่ชนบทของเคนยา ครอบครัวของเธอไม่มีที่ดินทำกินของตัวเอง พ่อของเธอจึงต้องเช่าที่ของคนอื่นเพื่อทำการเกษตร 

ความฝันในวัยเด็กของเธอนั้นแสนเรียบง่าย เธอแค่อยากวิ่งเล่นเลียบลำธารท่ามกลางต้นไม้ที่เขียวชอุ่ม และความฝันนี้ก็ได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้เธอก่อตั้งองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงชีวิตของผู้หญิงและเด็กจำนวนมากในเวลาต่อมา 

ตอนที่เธออายุ 8 ขวบ ครอบครัวของวังการีตัดสินใจส่งเธอเรียนโรงเรียนประถม ซึ่งนับเป็นเรื่องผิดแปลกของเคนยา ซึ่งในเวลานั้นยังคงเป็นอาณานิคมของอังกฤษ เพราะเด็กผู้หญิงในเคนยาส่วนใหญ่จะไม่ได้ไปโรงเรียน 

วังการีไม่ทำให้พ่อแม่ผิดหวัง เธอเป็นนักเรียนระดับหัวกะทิ และได้เข้าเรียนต่อที่โรงเรียนมัธยมหญิงล้วน ก่อนที่ในปี 1964 จะได้รับทุนไปเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาที่สหรัฐอเมริกา โดยเข้าเรียนที่ Mount St. Scholastica College ในเมืองแอตชิสัน รัฐแคนซัส จนจบปริญญาตรีสาขาชีววิทยาในปี 1964 และอีก 2 ปีต่อมาก็เรียนจบปริญญาโท สาขาวิทยาศาสตร์ชีววิทยาจาก University of Pittsburgh

ช่วงที่เธอเรียนที่สหรัฐฯ เป็นช่วงที่มีการเคลื่อนไหวของขบวนการสิทธิพลเมือง รวมถึงการประท้วงต่อต้านสงครามเวียดนาม ซึ่งส่งผลต่อแนวคิดและอุดมการณ์ของเธอเป็นอย่างมาก

เมื่อกลับมาที่เคนยา วังการีเรียนต่อด้านกายวิภาคศาสตร์ทางสัตวแพทย์ (Veterinary Anatomy) ที่ University of Nairobi และสร้างประวัติศาสตร์ในปี 1971 ด้วยการเป็นผู้หญิงคนแรกในแอฟริกาตะวันออกที่คว้าปริญญาเอกมาครองได้สำเร็จ หลังจากนั้นเธอก็เข้ามาเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้ หลังจากนั้นก็ได้รับตำแหน่งประธานภาควิชากายวิภาคศาสตร์สัตวแพทย์

จุดเริ่มต้นในการเคลื่อนไหวเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เริ่มต้นจากการที่เธอได้เข้าไปเป็นสมาชิกโครงการของสภาสตรีแห่งเคนยา (NCWK) ในปี 1976 ซึ่งทำให้เธอได้รับฟังปัญหาจากผู้หญิงด้วยกัน ผู้หญิงหลายคนบ่นว่าพวกเธอต้องเดินออกไปเก็บไม้มาทำฟืนไกลขึ้นกว่าเดิม เพราะแหล่งน้ำเริ่มเหือดแห้งจนไม่มีต้นไม้ขึ้น เพาะปลูกอะไรก็ยากขึ้นทุกที 

เมื่อได้ยินดังนั้น เธอจึงระดมความคิดเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในเคนยา ซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนาประเทศ แต่ส่วนใหญ่ดำเนินการอย่างขาดความรับผิดชอบ มีการเคลียร์พื้นที่ขนาดใหญ่เพื่อสร้างฟาร์มและอาคาร ซึ่งทำให้ต้องตัดไม้ทำลายป่าจำนวนมาก เน้นแต่การปลูกพืชผลที่เติบโตอย่างรวดเร็วแต่ทำลายดิน และต้องใช้น้ำปริมาณมากจนทำให้เกิดความแห้งแล้ง 

วังการีมีความคิดว่า เมื่อภูมิทัศน์เปลี่ยนไป ทั้งสภาพแวดล้อมและผู้หญิงในเคนยาต่างก็เผชิญความยากลำบากไม่แพ้กัน เมื่อมองเห็นความเชื่อมโยงระหว่างสถานการณ์ของผู้หญิงกับสิ่งแวดล้อม ในปี 1977 วังการีจึงริเริ่มขบวนการ ‘Green Belt Movement’ ระดมผู้หญิงในท้องถิ่นมาช่วยกันปลูกต้นไม้

วิธีนี้ช่วยให้ผู้หญิงมีรายได้ไปพร้อม ๆ กับได้ฟื้นฟูสภาพแวดล้อมด้วย เพราะเมื่อมีต้นไม้ รากของต้นไม้จะยึดเกาะดิน ช่วยหยุดยั้งการกัดเซาะดิน และกักเก็บน้ำไว้ใต้ดินหลังฝนตก ส่งผลให้ลำธารที่เคยเหือดแห้งได้รับการเติมเต็มด้วยน้ำ อีกทั้งต้นไม้ยังเป็นแหล่งอาหารของคนกับสัตว์ ที่สำคัญยังมีไม้ไว้ใช้เป็นฟืนสำหรับเป็นเชื้อเพลิงเวลาหุงหาอาหาร… ทีนี้ผู้หญิงก็ไม่จำเป็นต้องเดินออกจากบ้านไกล ๆ เพื่อไปเก็บฟืนและหาอาหารอีกต่อไป  

“ผู้หญิงต้องการรายได้ และพวกเธอต้องการทรัพยากรเพราะพวกเธอขาดแคลน ดังนั้นเราจึงต้องแก้ปัญหาทั้งสองนี้พร้อมกัน” มาไทอธิบายกับนิตยสารพีเพิล 

การเคลื่อนไหวของเธอประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก นำไปสู่การปลูกต้นไม้นับสิบล้านต้นในเคนยา รวมถึงช่วยพัฒนาทักษะและมอบโอกาสใหม่ ๆ ให้ผู้หญิงในเคนยานับแสนคน ในปี 1986 โครงการปลูกต้นไม้นี้ยังขยายไปยังประเทศอื่น ๆ นอกแอฟริกาด้วย 

ไม่กี่ปีต่อมา วังการีจึงตระหนักว่า การระดมคนออกมาปลูกต้นไม้เพียงอย่างเดียว ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ยั่งยืน ทว่าการยุติการยุตแผนการพัฒนาและจัดการที่ดินของรัฐบาลเคนยาต่างหาก ที่จะทำให้การอนุรักษ์ได้ผลมากยิ่งขึ้น 

วังการีวิพากษ์วิจารณ์นโยบายของ ‘ดาเนียล โทรอยทิช อารัป มอย’ ผู้นำประเทศในเวลานั้น อย่างไม่หวั่นเกรง แม้จะถูกคุกคาม ข่มขู่ ทำร้ายร่างกาย และจำคุก หลายต่อหลายครั้ง เหตุเพราะดาเนียลมองว่าคำพูดที่ตรงไปตรงมาของเธอเป็นตัว ‘บ่อนทำลาย’ อำนาจของเขา 

การรณรงค์ที่เลื่องลือมากที่สุดเกิดขึ้นในปี 1989 เมื่อวังการีและองค์กรของเธอจัดการประท้วงที่สวนสาธารณะในกรุงไนโรบี เพื่อต่อต้านการก่อสร้างตึกระฟ้า การรณรงค์ของเธอได้รับความสนใจจากนานาชาติ จนสุดท้ายโครงการก่อสร้างก็ต้องล้มเลิกไป ขณะที่พื้นที่ที่จัดการประท้วง ต่อมากลายเป็นที่รู้จักในชื่อ ‘Freedom Corner’ หรือ ‘มุมแห่งอิสรภาพ’ 

น่าเศร้าที่ในปีต่อมา วังการีถูกทำร้ายและได้รับบาดเจ็บสาหัสจากการประท้วงอีกครั้งที่จัดขึ้น ณ มุมแห่งอิสรภาพ ครั้งนั้นเธอออกมาเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักโทษการเมือง 

“จะไม่มีใครรบกวนฉันเลย ถ้าฉันเพียงแต่สนับสนุนให้ผู้หญิงปลูกต้นไม้” วังการีกล่าวในภายหลัง สะท้อนว่าตัวเธอเองรู้ดีว่าชีวิตจะตกเป็นอันตรายหากเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมือง แต่เธอก็กล้าเอาชีวิตเป็นเดิมพัน เพราะมองเห็น ‘ต้นตอ’ ปัญหาที่แท้จริงที่ทำให้สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม ซึ่งนั่นคือ ‘การปกครองที่ไม่เป็นธรรม’ 

วังการียังคงเป็นแกนนำฝั่งตรงข้ามกับรัฐบาลเคนยา จนกระทั่งพรรคการเมืองของดาเนียล โทรอยทิช อารัป มอย สิ้นอำนาจในปี 2002 เธอก็ได้เข้าไปนั่งในรัฐสภาในปีเดียวกัน และไม่นานก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสัตว์ป่า ต่อมาในปี 2004 เธอกลายเป็นผู้หญิงแอฟริกันและนักสิ่งแวดล้อมคนแรกที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ จากการมีส่วนร่วมในการพัฒนาที่ยั่งยืน ประชาธิปไตย และสันติภาพ 

ในสุนทรพจน์รับรางวัลโนเบล เธอกล่าวว่า การที่เธอได้รับรางวัลนี้เป็นการท้าทายโลกให้ขยายความเข้าใจในเรื่องสันติภาพ 

“สันติภาพจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากปราศจากการพัฒนาที่เท่าเทียม และการพัฒนาจะเกิดไม่ได้เช่นกัน หากปราศจากการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนในพื้นที่ที่เป็นประชาธิปไตยและสงบสุข” 

อีกหนึ่งคำพูดที่สะท้อนว่า เธอให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์อย่างยั่งยืน คือประโยคที่ว่า “รุ่นที่ทำลายสิ่งแวดล้อมไม่ใช่รุ่นที่ต้องชดใช้ นั่นแหละปัญหา!” (The generation that destroys the environment is not the generation that pays the price. That is the problem.) ซึ่งถูกบันทึกไว้ในหนังสือ ‘Speak Truth to Power: Human Rights Defenders Who Are Changing Our World’

ประโยคข้างต้น วังการีต้องการเรียกร้องให้ผู้คนตระหนักถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากการกระทำของคนรุ่นปัจจุบัน ที่ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในขณะนี้เท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อคนรุ่นหลังที่ต้องเผชิญกับผลเสียจากการทำลายธรรมชาติ 

ในขณะที่ชีวิตการทำงานและการเคลื่อนไหวของเธอเต็มไปด้วยความวุ่นวายและเสี่ยงอันตราย ชีวิตในบ้านของเธอก็ดรามาไม่แพ้กัน เพราะสามีของเธอที่แต่งงานกันในปี 1969 บอกกับเธอหลายครั้งว่าเธอใจแข็งเกินไปเมื่อเทียบกับผู้หญิงคนอื่น และเขาไม่สามารถควบคุมเธอได้ เธอไม่เห็นด้วยกับมุมมองของสามี ทั้งสองจึงหย่าขาดกันในปี 1977 

การหย่าร้างครั้งนี้มีราคาต้องจ่าย โดยเฉพาะค่าทนายความ ไม่รวมที่เธอต้องเสียรายได้ที่เคยได้จากสามี ทำให้การเลี้ยงลูก ๆ ด้วยเงินเดือนของตัวเองเพียงลำพัง เป็นเรื่องที่ยากลำบากมาก ท้ายที่สุดเมื่อเธอได้โอกาสทำงานให้กับสหประชาชาติ ซึ่งต้องเดินทางบ่อยครั้ง เธอจึงต้องฝืนใจส่งลูกทั้งสามคนไปอยู่กับอดีตสามี และหาเวลาไปเยี่ยมลูกให้บ่อยที่สุด 

ตั้งแต่ปี 2004 จวบจนปี 2011 ซึ่งเป็นปีที่เธอเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งรังไข่ ขณะมีอายุ 71 ปี วังการียังคงเดินทางไปทั่วโลกเพื่อรณรงค์ให้ผู้คนตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงในประเด็นความยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อม การคุ้มครองป่าไม้ ธรรมาภิบาล ประชาธิปไตย และสิทธิสตรีในเคนยา 

นี่คือตัวอย่างการต่อสู้อย่างอาจหาญของผู้หญิงที่กลายเป็นแรงบันดาลใจให้คนทั่วโลกเห็นคุณค่าและความสำคัญของการอนุรักษ์ธรรมชาติ 

สิ่งที่ ‘วังการี มาไท’ ทำ มิใช่เพียงการปลูกต้นไม้ แต่ยังปลูกจิตสำนึกและความหวังให้กับคนทั่วโลก ว่าการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนนั้น เริ่มต้นได้ด้วยน้ำมือของเราทุกคน 

 

เรื่อง : พาฝัน ศรีเริงหล้า
ภาพ : Getty Images 
อ้างอิง : 
Wangari Maathai
Wangari Maathai was the first African woman to win a Nobel Peace Prize.
Inspiration for Women's History Month: Wangari Maathai
Wangari Maathai