15 มี.ค. 2564 | 07:00 น.
ในศาลาขนาดย่อม ถัดจากลานกว้างของวัดหนองอ้อ ชาวบ้านต่างสวมหน้ากากอนามัย มาทำธุรกรรมฝากออมเงิน บ้างก็นั่งจับกลุ่มพูดคุยกัน ห่างจากศาลาไปไม่ไกล ชาวบ้านอีกกลุ่มกำลังแยกขยะใต้ร่มไม้ใหญ่อย่างขมักเขม้น นี่คือภาพของ ‘หมู่บ้านหนองอ้อล่าง’ หมู่ที่ 9 ตำบลมะขาม อำเภอมะขาม จังหวัดจันทบุรี ที่เกิดขึ้นในวันที่ 5 ของทุกเดือน เดิมทีพื้นที่แห่งนี้ เป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ เต็มไปด้วยหนองน้ำธรรมชาติและต้นอ้อขึ้นอยู่ริมน้ำจำนวนมาก กลายเป็นที่มาของชื่อ 'บ้านหนองอ้อล่าง' โดยชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพทำไร่และสวนผลไม้ ซึ่งนอกจากความอุดมสมบูรณ์ในด้านการเกษตรแล้ว หมู่บ้านแห่งนี้ยังเปี่ยมไปด้วยทรัพยากรบุคคลที่เข้มแข็ง สามัคคีและร่วมมือร่วมใจกันอย่างดีจนได้รับรางวัลชนะเลิศ หมู่บ้านเข้มแข็ง ตามแนวทาง "แผ่นดินธรรม แผ่นดินทอง" หมู่บ้านอยู่เย็น ระดับภาค ประจำปี 2563 ผู้ใหญ่รำพึง ยุติวงษ์ ผู้ใหญ่บ้านหนองอ้อล่าง ได้กล่าวถึงรางวัลนี้ว่า “รางวัลหมู่บ้านอยู่เย็นไม่ใช่รางวัลเฉพาะตัว แต่เป็นรางวัลของคณะกรรมการหมู่บ้านในภาพรวม จากการช่วยกันบริหารจัดการหมู่บ้าน ถ้าถามว่าทำไมจึงได้รางวัลนี้ ก็จะต้องตอบว่า กรรมการมีความรัก ความสามัคคี แล้วก็สามารถทำให้ชาวบ้านหนองอ้อล่างมาร่วมมือกัน งานทุกอย่างจะต้องผ่านกรรมการหมู่บ้าน เมื่อมติในที่ประชุมของกรรมการได้ข้อสรุปแล้ว เราก็จะเรียกชาวบ้านประชุมต่อ แล้วก็บอกว่ามติของคณะกรรมการคือเราจะขับเคลื่อนแบบนี้ ชาวบ้านเห็นด้วยไหม หรือชาวบ้านมีข้อเสนอแนะอะไรไหม คือเราไม่ได้ฟังกรรมการอย่างเดียว กรรมการก็ต้องฟังหมู่บ้านด้วย” คณะกรรมการหมู่บ้านเปรียบเหมือนคณะรัฐมนตรี หากการบริหารประเทศต้องมีคณะรัฐมนตรี การบริหารงานภายในหมู่บ้านก็ต้องอาศัยคณะกรรมการหมู่บ้านเช่นเดียวกัน ซึ่งหมู่บ้านหนองอ้อล่างมีคณะกรรมการหมู่บ้านโดยตำแหน่ง 10 คน และผู้ทรงคุณวุฒิ 12 คน แบ่งหน้าที่กันตามความถนัด ส่วนผู้ใหญ่บ้านนับเป็นประธานกรรมการหมู่บ้านโดยตำแหน่ง “กรรมการหมู่บ้านก็เหมือนกับตัวแทนของผู้ใหญ่บ้าน บางครั้งผู้ใหญ่บ้านทำไม่ได้ กรรมการก็ต้องขับเคลื่อนแทน ตรงนี้สำคัญที่สุด ถ้าเขาไม่มีจิตอาสาหรือไม่มีเวลา เขาก็จะมาทำตรงนี้ไม่ได้ แล้วก็ต้องมีคุณธรรม ทุกคนจะเสมอภาคกันหมด เราร่วมกันคิด ร่วมกันทำ ร่วมกันรับผลประโยชน์ตรงนี้” ‘ออมวันละบาท’ สะสมเพื่อสร้างคุณภาพชีวิต จากความร่วมมือของคณะกรรมการหมู่บ้านและสมาชิกในหมู่บ้าน ทำให้เกิดโครงการต่าง ๆ ที่สร้างความเป็นอยู่ที่ดีและเป็นต้นแบบให้กับชุมชนอื่น ๆ ได้หลายโครงการ หนึ่งในนั้นคือ ‘โครงการออมวันละบาท’ “เราออมเพื่อการพัฒนาหมู่บ้านจริง ๆ เพราะหมู่บ้านไม่มีรายได้จากตรงไหน คราวนี้เรามาคิดกับคณะกรรมการหมู่บ้านว่าถ้าเราทำออมวันละบาท โดยการให้หยอดใส่กระปุกแค่วันละ 1 บาท เดือนหนึ่งก็ 30 บาท แล้วทุกวันที่ 5 ของเดือนจะต้องนำมาฝากให้กับกิจกรรมของหมู่บ้าน ซึ่งกิจกรรมของหมู่บ้านก็จะมีในเรื่องของธนาคารขยะ กลุ่มออมทรัพย์ กลุ่มสัจจะ แล้วก็ กอช.(กองทุนการออมแห่งชาติ) มันเหมือนเกิดการประหยัดไปในตัว บางคนก็อาจจะเล่นหวย 100 บาท ก็เอามาออมสัก 30 บาท ก็ถือว่าเขาก็ลดรายจ่ายตรงนั้นลง แล้วเงินส่วนนี้ก็นำมาพัฒนาอาคารของหมู่บ้าน” ผู้ใหญ่รำพึงเล่าว่ากระเบื้องในศาลาก็ใช้งบประมาณส่วนหนึ่งจากโครงการนี้ เช่นเดียวกับทางโค้งถนนคอนกรีตเล็ก ๆ ในหมู่บ้านและการพัฒนาตัดแต่งต้นไม้บางส่วนที่ไม่ได้ใช้งบประมาณจากภาครัฐ แต่มาจากงบประมาณของคนในชุมชน ‘ธนาคารขยะ’ ดูแลสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกับการสร้างรายได้ นอกจากโครงการออมวันละบาทเพื่อพัฒนาหมู่บ้านแล้ว อีกหนึ่งโครงการสำคัญที่ช่วยดูแลสิ่งแวดล้อม ทั้งยังสร้างรายได้ให้กับชุมชนคือ 'โครงการธนาคารขยะ' "ตอนที่ยังไม่มีธนาคารขยะเราจะเห็นขยะเกลื่อน เลยใช้วิธีการบูรณาการร่วม โดยคณะกรรมการร่วมกับเทศบาลมะขามเมืองใหม่ ช่วยกันอบรมวิธีการคัดแยกขยะแล้วก็ได้รับงบสนับสนุน 10,000 บาทมาทำตรงนี้ ซึ่งเราก็ทำมาตั้งแต่ปี 2560 จนถึงปัจจุบัน" ใต้ร่มไม้ขนาดยักษ์มีเสียงสนทนาของชาวบ้านเคล้าเสียงขวดแก้วกระทบกัน ระหว่างที่มือหลายคู่กำลังแยกขยะตามชนิดและสี ใส่ลงในกระสอบ ก่อนส่งต่อไปชั่งกิโลขาย ไม่เพียงแต่สร้างรายได้จากการขายขยะดังกล่าว ชาวบ้านหนองอ้อล่างยังนำขยะเหล่านี้มาสร้างสรรค์เป็นของทำมือที่ทั้งน่ารักและน่าใช้ อย่างเครื่องพ่นยุง ฝาชีครอบกับข้าว ตะกร้า และกระเป๋าสีสดใสจากฝีมือแสนประณีตของผู้สูงวัย แม้กระทั่งยางล้อรถยนต์ที่นำมาประยุกต์เป็นกระถางปลูกผักที่สูงกว่ากระถางทั่วไป เพื่อให้เก็บผักได้สะดวกขึ้นโดยไม่ต้องก้มลงไปเก็บให้ปวดหลัง "ผลจากการทำธนาคารขยะ คือทำให้ทุกคนเห็นคุณค่าของขยะ แล้วก็นำขยะมารีไซเคิล ทุกบ้านจะต้องแยกขยะจากต้นทาง เมื่อก่อนที่เรายังไม่รู้จักการคัดแยกขยะ ถังขยะที่เทศบาลมาตั้งทิ้งไว้จะมีข้าวมีเศษอาหารอะไรเยอะแยะเลย คือทิ้งปนกันหมด เมื่อเราให้ความรู้เกี่ยวกับการคัดแยกขยะ สิ่งที่ตามมาคือในถังขยะไม่มีขยะอินทรีย์ ทุกคนฝังกลบหรือใช้ทำปุ๋ย จากขยะที่เคยล้นถังต้องมาเก็บอาทิตย์ละ 2 ครั้ง ก็ลดลงเหลืออาทิตย์ละ 1 ครั้ง ถุงพลาสติกเราก็รับซื้อ สรุปแล้วคือสิ่งที่เหลือจากครัวเรือนก็จะน้อยมากที่เราจะนำมาทิ้ง” ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากโครงการเหล่านี้ นอกจากเรื่องสภาพแวดล้อมและสิ่งปลูกสร้างในชุมชนแล้ว ยังมีเรื่องของความแน่นแฟ้นสามัคคีอีกด้วย “กิจกรรมทุกกิจกรรมชาวบ้านจะมาช่วยกัน ทุกคนจะกระตือรือร้นอยากจะมาร่วม กิจกรรมต่าง ๆ ที่ทำ เราไม่ต้องบอกอะไรมาก คือทุกคนทำจนเหมือนเป็นประจำ เป็นนิสัย เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะมีโครงการหรือกิจกรรมอะไรมา เราไม่ต้องพูดอะไรมากเลย แค่จ่ายงานปุ๊บเขาก็สามารถขับเคลื่อนกันได้ อันนี้คือความเปลี่ยนแปลงของชุมชน” หัวใจสำคัญคือ การเป็นแบบอย่างและความโปร่งใส แม้การบริหารงานในหมู่บ้านจะราบรื่นและได้รับความร่วมมือค่อนข้างดี แต่ก่อนจะมาถึงจุดที่ ‘ราบรื่น’ และ ‘ลงตัว’ ได้แบบนี้ ย่อมต้องอาศัยทักษะการบริหารจัดการของคณะกรรมการหมู่บ้าน “เราต้องทำตัวเป็นตัวอย่าง หมู่บ้านมีหลายโครงการ อย่างโครงการผักปลอดสารพิษ คนที่ปลูก 50 คนแรกต้องเป็นกรรมการหมู่บ้าน หรือญาติพี่น้อง หรือผู้นำตามกลุ่มต่าง ๆ แล้วหลังจากนั้นจึงจะนำไปขยายผล ทำให้เขาเห็นว่าเราทำ พอเขาเกิดศรัทธาเขาก็ทำตาม แล้วก็ความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ อันนี้แหละคือศรัทธาที่ทำให้เขาเกิดความร่วมมือ” เมื่อการบริหารจัดการที่ดีผนวกรวมกับการใช้สื่อโซเชียลมีเดีย ยิ่งทำให้สมาชิกในชุมชนร่วมแรงร่วมใจกันมากยิ่งขึ้น เพราะสามารถประสานงานได้สะดวก รวดเร็วกว่าในอดีต “เมื่อก่อนเราอาจจะต้องวิ่งไปบอกตามบ้าน หรือใช้วิธีการโทรศัพท์ แต่เดี๋ยวนี้ไม่ต้องแล้ว แค่ลงไลน์ทีเดียว ทักว่ามีประชุม มากันหมด ถ้าคนไม่ชินกับการใช้เฟซบุ๊ก ไลน์ ก็จะขอให้ลูกหลานช่วย แล้วลูกก็จะบอกกับพ่อกับแม่ ข้อดีก็คือลูกจะได้รู้ว่าหมู่บ้านมีอะไรนะ ก็เท่ากับว่าซึมซับสิ่งที่เกิดขึ้นในหมู่บ้านด้วย” ‘คนรุ่นใหม่’ กับการสานต่อสู่ความยั่งยืน หลังจากสร้างความร่วมแรงร่วมใจจนเป็นหมู่บ้านที่เข้มแข็งแล้ว ขั้นต่อมาคือการสร้างความยั่งยืนซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือของคนรุ่นใหม่ที่จะเข้ามาเรียนรู้ สืบสาน และต่อยอดจากโครงการและทรัพยากรเดิมที่มีอยู่ “ตอนนี้ก็ที่อยากทำที่สุดคือปลูกฝังคนรุ่นหลังที่จะให้เขามาสืบสานตรงนี้ ตอนนี้เราก็ดึงคนรุ่นใหม่ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของเศรษฐกิจพอเพียง ในเรื่องของ โคกหนองนาโมเดล หรือกิจกรรมฐานอาชีพต่าง ๆ น้องที่เขาสนใจ ที่เขาเรียนอยู่ เขาก็เข้ามาศึกษาหาความรู้ บางทีก็นำไปขยายผลกับโรงเรียนของเขาว่าหมู่บ้านเราทำอย่างนี้ แล้วก็ไปคุยหน้าชั้นเรียน นำผลิตภัณฑ์ของชุมชนไปนำเสนอ แล้วทุกกิจกรรมโดยเฉพาะเกี่ยวกับเรื่องขยะ เรามีเยาวชนที่เก็บขยะทุกเดือน เรียกกองทัพมดจิ๋ว เราจะช่วยกันเก็บขยะรอบหมู่บ้าน ตามถนนสายหลักไปจนถึงสุดเขตของเรา” ทั้งผลงานด้านโครงการต่าง ๆ และความร่วมมือกันอย่างขันแข็งของสมาชิกภายในหมู่บ้านหนองอ้อล่าง ทำให้ไม่น่าแปลกใจที่หมู่บ้านแห่งนี้จะได้รับรางวัลหมู่บ้านอยู่เย็น และนับเป็นหมู่บ้านต้นแบบด้านการบริหารจัดการทั้งทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไปจนถึงทรัพยากรบุคคล “ความสุขของการเป็นคณะกรรมการหมู่บ้าน คือได้เห็นประชาชนในชุมชนกินดีอยู่ดี เห็นเขามีสภาพดีขึ้น มีแหล่งเงินทุนหมุนเวียนให้หนี้สินภาระต่าง ๆ ลดลง ที่สำคัญคือเห็นเขามีความสุข มีรอยยิ้มทุกครั้งที่พบ” ผู้ใหญ่รำพึงทิ้งท้ายไว้ด้วยรอยยิ้ม