ก้าวสู่ยุคใหม่ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมผสานภูมิปัญญาท้องถิ่น

ก้าวสู่ยุคใหม่ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมผสานภูมิปัญญาท้องถิ่น

"ก้าวสู่ยุคใหม่ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมผสานภูมิปัญญาท้องถิ่น" เพื่อพัฒนาเกษตรกรสู่ความเป็นเลิศอย่างยั่งยืน

‘จำวันที่ตื่นมาแล้วน้ำไม่ไหลได้ไหม ถ้าไม่มีน้ำเราอาจลำบากเรื่องไม่ได้ล้างหน้า แปรงฟัน แต่ถ้าสำหรับอาชีพที่น้ำเป็นปัจจัยสำคัญอย่างเกษตรกรรมแล้ว การไม่มีน้ำกระทบชีวิตมากกว่านั้น’

โลกประกอบด้วยพื้นดินและพื้นน้ำ โดยพื้นที่น้ำมีอยู่ประมาณ 3 ส่วน และเป็นพื้นดิน 1 ส่วน ‘น้ำ’ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งกับชีวิตของพืชและสัตว์บนโลกรวมทั้งมนุษย์เราด้วย หากเรามีระบบจัดการน้ำที่ไม่ดีพอ อาจส่งผลกระทบตามมาอย่างมหาศาลได้

หนึ่งในหน่วยงานที่ดูแลเรื่องบริหารจัดการน้ำของประเทศไทย คือ ‘กรมชลประทาน’ โดยมีหน้าที่กักเก็บรักษา ควบคุม ส่งน้ำ ระบายน้ำ และแบ่งน้ำ เพื่อพัฒนาประเทศในด้านการเกษตร อุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว โดยมุ่งมั่นพัฒนาระบบชลประทานและบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อตอบสนองความต้องการใช้น้ำของประเทศอย่างยั่งยืน

คุณณรงค์ มัดทองหลาง ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามูลบน จังหวัดนครราชสีมา เปรียบเทียบให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของโลกใบนี้ที่เกิดขึ้น คือ ‘ปรากฏการณ์เอลนีโญ’ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสภาพอากาศและภัยธรรมชาติทั่วโลก กรมชลประทานจึงมีบทบาทหลักในการขับเคลื่อน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้ดียิ่งขึ้น

 

ก้าวสู่ยุคใหม่ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมผสานภูมิปัญญาท้องถิ่น

 

 

ขับเคลื่อนการเกษตรสู่ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ปัญหาภาวะโลกร้อน เกิดจากก๊าซเรือนกระจกที่สะสมอยู่ในชั้นบรรยากาศ รวมถึงการใช้ชีวิตและประกอบอาชีพของคน ไม่ว่าจะเป็น การขยายพื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่อุตสาหกรรม พื้นที่อยู่อาศัย การเลี้ยงสัตว์ การเดินทางขนส่ง การผลิต และการเผาไหม้เชื้อเพลิง ล้วนก่อให้เกิดสภาวะโลกร้อนทั้งสิ้น

และหากพูดถึงภาคการเกษตรที่เปรียบเสมือน ‘กระดูกสันหลังของชาติ’ คงนึกถึงชาวนากับการทำนาน้ำขัง คือการปล่อยน้ำให้ขังในแปลงนาตลอดระยะเวลาการปลูกข้าว ซึ่งวิธีนี้จะใช้น้ำในปริมาณมากและเพิ่มอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอีกด้วย

โดยคุณณรงค์ให้ข้อมูลการทำนาแบบที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นที่เรียกว่า ‘การทำนาแบบเปียกสลับแห้ง’ ไว้ว่า

“การทำนาแบบเปียกสลับแห้งนั้นมีคุณภาพมากกว่าการทำนาแบบเดิม ช่วยประหยัดน้ำ เพิ่มผลผลิต เพิ่มรายได้ ลดต้นทุนให้แก่เกษตรกร แถมยังรักษ์โลก รักษาสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งเป็นต้นตอของภาวะโลกร้อน”

การทำนาแบบเปียกสลับแห้งเริ่มจากพื้นที่แปลงสาธิต Smart Farm ที่นำเทคโนโลยีดิจิทัล และระบบ IoT (Inter of Things) พร้อมจัดรูปแปลงและปรับปรุงระบบส่งน้ำแบบ Onfarm เพื่อจัดการน้ำและปุ๋ยแก่พืชตลอดฤดูกาลเพาะปลูกในพื้นที่แปลงสาธิตจำนวนกว่า 10 ไร่

โดยการทำนาแบบเปียกสลับแห้ง เป็นการทำนาโดยควบคุมระดับน้ำในแปลงให้มีช่วงน้ำขังสลับกับช่วงน้ำแห้งในช่วงเวลาที่เหมาะสม เพื่อกระตุ้นให้ต้นข้าวแข็งแรงขึ้น เนื่องจากดินและรากได้รับอากาศก็สามารถดูดปุ๋ยได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ช่วยลดการใช้ปุ๋ย ลดการระบาดของโรคและแมลง ลดการใช้สารเคมี รวมถึงลดต้นทุนการผลิตอีกด้วย

 

ก้าวสู่ยุคใหม่ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมผสานภูมิปัญญาท้องถิ่น

 

 

พลิกโลกเกษตรด้วย AgriTech

หลายคนคงสงสัยว่า ‘AgriTech’ คืออะไร?

AgriTech ที่มาจากคำว่า Agriculture ที่แปลว่า การเกษตร และคำว่า Technology (เทคโนโลยี) คือ เทคโนโลยีการเกษตร ที่ช่วยเกษตรกรลดต้นทุนการผลิต รวมถึงช่วยให้การทำงานของเกษตรกรง่ายและสะดวกขึ้น ในขณะเดียวกันก็ช่วยให้เกษตรกรสามารถเพิ่มมูลค่าหรือเพิ่มคุณภาพ ช่วยควบคุมคุณภาพสินค้า และช่วยในการวางแผนเพื่อรับมือกับสภาพอากาศที่คาดเดาไม่ได้

โดยนโยบายเศรษฐกิจ BCG นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงที่สามารถสร้างความยั่งยืนและขับเคลื่อนการพัฒนาด้านการเกษตรของไทยให้มีความทันสมัย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยใช้เทคโนโลยีมาใช้ในการอำนวยความสะดวกและปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำ

“การวางแผนการจัดการน้ำเป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากปริมาณน้ำมีอย่างจำกัดและไม่แน่นอน เพราะฉะนั้นการวางแผนการใช้น้ำจึงเป็นเรื่องใหญ่ ประกอบกับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เปลี่ยนไป เราจำเป็นต้องพัฒนาการบริหารจัดการน้ำให้มีความทันสมัยโดยใช้ระบบดิจิทัลเข้ามาช่วย”

“การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาใช้งาน ช่วยประหยัดทั้งน้ำ เวลา แรงงาน และงบประมาณ สามารถเก็บข้อมูลทั้งสำคัญและจำเป็นในพื้นที่เพาะปลูก ช่วยเก็บข้อมูลสภาพอากาศ ความต้องการของพืช ระดับน้ำคงเหลือในแปลงนา ช่วยวิเคราะห์และประเมินผลตั้งแต่เริ่มจนจบอย่างรัดกุม รวมถึงช่วยแก้ปัญหาในการเพาะปลูกได้ง่าย ๆ โดยถ่ายภาพและส่งผ่านแอปพลิเคชัน RID Meesuk โดยแอปจะวิเคราะห์สาเหตุพร้อมบอกวิธีแก้ไขเปรียบเสมือนเป็นผู้ช่วยให้แก่เกษตรกร”

 

ก้าวสู่ยุคใหม่ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมผสานภูมิปัญญาท้องถิ่น

 

นอกจากนี้ กรมชลประทานยังมีระบบการควบคุม SCADA ที่สามารถควบคุมการเปิด - ปิดอาคารชลประทานได้จากระยะไกล เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำในพื้นที่มีประสิทธิภาพสูงสุด และสร้างความมั่นใจให้แก่เกษตรกรได้ว่า ‘การส่งน้ำจะเข้าแปลงเกษตรกรได้อย่างตรงเวลา’

 

ก้าวสู่ยุคใหม่ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมผสานภูมิปัญญาท้องถิ่น

 

การบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน

“การบริหารจัดการน้ำเราแบ่งออกเป็น 4 ภาคส่วนหลัก ภาคการเกษตร ภาคอุปโภค - บริโภคประปา ภาคอุตสาหกรรม และภาคสิ่งแวดล้อม หากเราไม่สามารถควบคุมปริมาณน้ำได้ อาจส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ ความมั่นคง รายได้ และแหล่งอาหารของคนในประเทศ”

การบริหารจัดการน้ำจึงเป็นสิ่งสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ โดยกรมชลประทานมีเป้าหมายในการบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อตอบสนองความต้องการใช้น้ำในทุกภาคส่วนอย่างเพียงพอและยั่งยืนโดยไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม

โครงการชลประทานอัจฉริยะฯ เป็นโครงการที่กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินการร่วมกันเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำและยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกร โดยนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่เข้ามาประยุกต์ใช้ เพื่อติดตามและควบคุมปริมาณน้ำในระบบชลประทานได้อย่างแม่นยำและทันท่วงที

 

ก้าวสู่ยุคใหม่ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมผสานภูมิปัญญาท้องถิ่น

 

โครงการนี้ สามารถเพิ่มผลผลิตให้มากขึ้นจากการจัดการน้ำและการเพาะปลูกอย่างเหมาะสม สามารถเพิ่มรายได้จากการปลูกพืชเศรษฐกิจเสริมหลังฤดูเพาะปลูกและสร้างรูปแบบการทำเกษตรกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งใช้ทรัพยากรน้ำที่น้อยลง และเป็นต้นแบบการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจการเกษตรของประเทศ ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมผสานภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่มาตรฐานการผลิตระดับสากล เพื่อให้การทำเกษตรกรรมเป็นอาชีพที่สร้างรายได้สูงอย่างยั่งยืนในอนาคต

เพราะน้ำเป็นมากกว่าชีวิต และมีความสำคัญกับคนมากกว่าที่แค่ช่วยทำความสะอาดร่างกาย การบริหารจัดการน้ำจึงไม่ใช่หน้าที่ของแค่กรมชลประทาน หรือใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นพวกเราทุกคน

ถ้าวันไหนที่หมุนก๊อกแล้วน้ำไม่ไหล วันนั้นอาจจะไม่ได้แค่ไม่ได้ล้างหน้า แต่เป็นจุดเริ่มของการขาดแคลนอาหารในวันข้างหน้าก็เป็นได้

อย่างไรก็ตาม การรักษาน้ำเป็นเรื่องใกล้ตัว เริ่มง่าย ๆ ได้จากตัวเรา