29 พ.ย. 2566 | 12:30 น.
ประเทศไทยเป็นดินแดนที่มีความอุดมสมบูรณ์และมีความหลากหลายทางธรรมชาติทั้งทะเล น้ำตก ภูเขา แม่น้ำ ป่าไม้ ซึ่งธรรมชาติเป็นสิ่งที่เราไม่สามารถควบคุมได้ และในแต่ละพื้นที่ใกล้เคียงแหล่งธรรมชาติย่อมมีปัญหาที่แตกต่างกันไป แต่มีพื้นที่ส่วนหนึ่งของประเทศไทยที่มีลักษณะเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำคือ ลุ่มน้ำยม ช่วงฤดูน้ำหลากพื้นที่ในส่วนนี้จะมีน้ำท่วมขังประจำทุกปี จนคนบริเวณนั้นเรียกพื้นที่ส่วนนี้ว่า “ทุ่งเสียสละ”
กลุ่มคนจำนวนไม่น้อยยอมเสียสละเพื่อคนหมู่มากไปกับพื้นที่ลุ่มต่ำ ยอมให้พื้นที่ของตนเองเป็นพื้นที่หน่วงน้ำในช่วงฤดูน้ำหลาก เพื่อเศรษฐกิจและภาพรวมของประเทศ นั่นคืออำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก
สมศักดิ์ บ่องเขาย้อย ประธานกลุ่มผู้ใช้น้ำของบางระกำโมเดล ได้ให้ข้อมูลว่า “สมัยก่อนเกษตรกรในพื้นที่จะเริ่มทำนาช่วงเดือนพฤษภาคม ถ้านับอายุของข้าวแล้วมันเก็บเกี่ยวไม่ทันกับน้ำที่หลากมา ถ้าปีไหนน้ำมาเร็วจะเกิดความเสียหายทั้งหมด รัฐบาลต้องมาชดเชยในการช่วยเหลือเยียวยาเรื่องอุทกภัยประมาณปีละร้อยกว่าล้านบาท ทางกรมชลประทานและเกษตรกรจึงร่วมกันคิดค้นจนเกิดเป็นโครงการบางระกำโมเดล ซึ่งเป็นทุ่งหน่วงน้ำแบบธรรมชาติในช่วงเดือนสิงหาคมของทุกปี”
โครงการบางระกำโมเดลเป็นโครงการที่มีศักยภาพและความตั้งใจที่จะแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้งอย่างยั่งยืน โดยสร้างประโยชน์ให้กับประชาชนในระยะยาว เรื่องราวของโครงการบางระกำโมเดลนับเป็นต้นแบบที่ถอดบทเรียนผ่านเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพื่อเรียนรู้และพัฒนาสู่ความยั่งยืน
สมศักดิ์ บ่องเขาย้อย ประธานกลุ่มผู้ใช้น้ำของบางระกำโมเดล
จากจุดเริ่มต้นสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
หากย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้นคงเป็นเพราะพื้นที่บางส่วนใน อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก นั้นเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำทำให้พอถึงช่วงฤดูที่น้ำหลากพื้นที่นี้จึงเหมาะแก่การเป็นพื้นที่หน่วงน้ำ แต่หากย้อนกลับไปในตอนนั้นจะทำอย่างไรให้ประชาชนและพื้นที่ตรงนี้เกิดความเสียหายน้อยที่สุดและสร้างประโยชน์สูงที่สุด สมศักดิ์ ได้เล่าย้อนให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นของโครงการบางระกำโมเดลให้ว่า
“โครงการบางระกำโมเดลเริ่มจากกรมชลประทานและเกษตรกรร่วมกันหาแนวทางแก้ไขปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ เดิม ๆ โดยเริ่มทดลองในพื้นที่ 80,000 ไร่ เพื่อปรับปฏิทินเพาะปลูกและขอน้ำจากกรมชลฯมาใช้ตั้งแต่เดือนเมษายน เพื่อจะได้เตรียมแปลงและปักดำให้แล้วเสร็จและเก็บเกี่ยวไม่เกิน 15 สิงหาคม ปรากฏว่าประสบความสำเร็จ สามารถเก็บเกี่ยวได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ได้รับผลเต็มเม็ดเต็มหน่วยจึงได้ขอทำเป็นโครงการแบบยั่งยืน”
“ช่วงหน่วงน้ำเกษตรกรพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส โดยใช้เครื่องมือและความสามารถเฉพาะตัวในการจับปลา พอเกษตรกรจับมาแล้วสามารถขายเพื่อยังชีพได้ ณ ตอนนี้ในช่วงที่น้ำกำลังเริ่มจะลงมาจะทำนาได้แต่เขาจะหาปลาอยู่ เปรียบเสมือนปรับวิถีชีวิต รับมือช่วงน้ำหลาก คืนวิถีชุมชนเก่า”
นอกจากนี้ เมื่อกลับเข้าสู่สภาวะใกล้เคียงปกติ โครงการบางระกำโมเดลยังช่วยลดต้นทุนการใช้น้ำโดยเกษตรกรสามารถทำนาปรัง เพื่อเสริมสร้างรายได้นอกฤดูกาลและลดต้นทุนได้ด้วยวิธีการไล่เลน วิธีการนี้จะช่วยลดต้นทุนการใช้น้ำ ประหยัดค่าใช้จ่ายในการสูบน้ำเข้านา รวมถึงประหยัดเวลาในการทำนาเพราะสามารถใช้เครื่องจักรกลทางการเกษตรมาช่วยอำนวยความสะดวกในการทำนา และยังสามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้งในพื้นที่ลุ่มน้ำยมและน้ำน่านได้
จากจุดเริ่มต้นในการพัฒนาโครงการบางระกำโมเดลก็สามารถช่วยลดผลกระทบของพื้นที่และสร้างความยั่งยืนแก่เกษตรกร
ซึ่งการพัฒนาจุดด้อยไปเป็นจุดแข็งแบบนี้จะเป็นไปไม่ได้ถ้าไม่ได้รับความร่วมมือจากจิ๊กซอว์ตัวเล็ก ๆ ประกอบกัน หนึ่งในนั้นคือกำนันผู้ใหญ่บ้าน ที่เป็นส่วนสำคัญในการช่วยเชื่อมโยงติดต่อทั้งทางหน่วยงานราชการ กรมชลประทาน และเกษตรกรเข้าด้วยกันได้เป็นอย่างดี โดยสร้างความรู้มอบความเข้าใจให้แก่เกษตรกร เพื่อให้การสื่อสารราบรื่นและเข้าใจตรงกันจนสุดท้ายโครงการสำเร็จมาได้ด้วยดีผ่านการร่วมมือกันของ 5 อำเภอ 3 จังหวัด ได้แก่ อุตรดิตถ์ พิษณุโลก และสุโขทัย
“ในสมัยก่อนใครมีเครื่องจักรเครื่องมือก็ขนคนไปสูบน้ำ จนปริมาณน้ำไม่สามารถตอบสนองได้กับทุกคน ทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมาขึ้น หลังจากนั้น เริ่มมีการพูดคุยเจรจาหาแนวทางออกร่วมกันอย่างสันติแบ่งปันร่วมทุกข์ร่วมสุขจนเป็นความลงตัวในปัจจุบัน”
“ถ้าใครไม่รู้ก็ดูเหมือนง่ายแต่ความจริงไม่ง่ายเลย เราต้องร่วมมือกับหลายฝ่าย รวมถึงสร้างความรู้ ความเข้าใจให้เกษตรกร หากเขาไม่เข้าใจ เขาจะไม่เห็นด้วยแล้วทุกอย่างจะเกิดขึ้นไม่ได้ เพราะฉะนั้นเราต้องทดลองสิ่งต่าง ๆให้เขาเข้าใจ จนไปสู่การรับรู้การทดลองในปี 2558 กับพื้นที่ 80,000 ไร่ ผลออกมามันประสบความสำเร็จอย่างดีเยี่ยม ทั้งด้านการเกษตร การทำนา รวมถึงการทำประมง”
“ส่วนหนึ่งในพื้นที่ของอำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก และอำเภอกงไกรลาศ จังหวัดสุโขทัย มีพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจขนาดใหญ่และถูกขนานนามว่าเป็น ‘ทะเลน้ำจืด’ ประกอบด้วย 3 บึง ที่เป็นจุดเริ่มต้นของโครงการบางระกำโมเดลคือ บึงตะเครง บึงละมาณ และบึงขี้แร้งของอำเภอบางระกำ ซึ่งพื้นที่ตรงนี้เป็นการขุดแก้มลิงแล้วเอาน้ำมาใช้หน้าแล้ง และมีจัดกิจกรรมแข่งเจ็ตสกีและอื่น ๆ เพื่อเปิดตัวให้คนรู้จักว่านี่คือ จุดเริ่มต้นของบางระกำโมเดล”
และเมื่อพูดถึงโครงการบางระกำโมเดลนี้ แน่นอนว่าเรื่องราวของการแก้ไขพื้นที่หน่วงน้ำก็คือส่วนสำคัญในการพัฒนาพื้นที่แห่งนี้ แต่นอกเหนือจากนั้นแล้วโครงการนี้ยังช่วยบรรเทาปัญหาภัยแล้งของคนในพื้นที่ได้อีกด้วย เพราะถึงช่วงหน้าแล้ง พื้นที่แห่งนี้ยังได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ถ้าปีไหนน้ำต้นทุนน้อยจะเกิดวิกฤตขาดแคลนน้ำ แต่การเกิดขึ้นของโครงการนี้ก็ได้มีส่วนของแก้มลิงธรรมชาติที่เข้ามาช่วยกักเก็บน้ำในช่วงน้ำหลากและบรรเทาในช่วงหน้าแล้ง บางระกำโมเดลจึงสามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้งได้ในพื้นที่เดียวกัน ส่งผลให้เกษตรกรที่เปรียบเสมือนกระดูกสันหลังของชาติมีน้ำใช้ในช่วงหน้าแล้งและผลผลิตไม่เสียหายในช่วงน้ำหลาก
จากพื้นที่น้ำท่วมของอำเภอบางระกำ สู่โครงการบางระกำโมเดล ที่ช่วยเยียวยาปัญหาน้ำท่วมทุ่งสถานการณ์ภัยแห้งแล้ง รวมถึงสร้างอาชีพใหม่ แหล่งท่องเที่ยวใหม่แก่เกษตรกรและคนในชุมชน โครงการนี้จะสำเร็จไม่ได้ หากไม่ได้รับความร่วมมือจากเกษตรกร รวมถึงในหลายภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งหน่วยงานภาครัฐอย่างกรมชลประทานและบุคคลบางกลุ่มที่ยอมเสียสละพื้นที่บางส่วนแก่ผู้คนส่วนรวม การบริหารจัดการน้ำจึงเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาพื้นที่และอาชีพเกษตรกร
เพราะน้ำเป็นมากกว่าชีวิต และมีความสำคัญต่อทุกชีวิตบนโลก