24 ม.ค. 2567 | 16:33 น.
หากค้นข้อมูลย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ ‘กรมชลประทาน’ มีจุดเริ่มต้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ที่ได้เริ่มมีการขุดลอกคลองเดิม, ขุดคลองใหม่ และสร้างประตูระบายน้ำ เพื่อเก็บน้ำสำหรับการเพาะปลูก อุปโภคบริโภค ตลอดจนเพื่อการคมนาคมขนส่งทางน้ำ ซึ่งต่อมากลายเป็น ‘กรมคลอง’
บทบาทของกรมฯ ในรัชกาลที่ 6 นอกจากการจัดการคลองสายต่าง ๆ แล้ว ยังได้มีการริเริ่มสร้างเขื่อนทดน้ำ ซึ่ง ‘เขื่อนพระรามหก’ ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา คือ โครงการชลประทานขนาดใหญ่แห่งแรกของประเทศไทย ที่สามารถช่วยกักเก็บน้ำสำหรับการเกษตรได้มากถึง 680,000 ไร่
หลังจากนั้น หน้าที่การบริหารจัดการน้ำ ก็ได้ขยายพื้นที่ออกไปยังต่างจังหวัด ทั่วภูมิภาค เพื่อรองรับการขยายตัวของครัวเรือนและเศรษฐกิจของประเทศ
อ่านมาถึงตรงนี้จะเห็นได้ว่า แม้เป้าหมายหลักของกรมชลประทานนั้นแทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่รัชกาลที่ 5 แต่เมื่อเวลาผันผ่าน วิธีการและแนวทางการปฏิบัติเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ได้แปรผันไปตามยุคสมัย ซึ่งได้มีการพัฒนาตามเทคโนโลยี - นวัตกรรมใหม่ ๆ อย่างสม่ำเสมอ
ในศตวรรษที่ 21 นี้ อุปสงค์ของการใช้น้ำพุ่งสูงขึ้น ทั้งจากภาคเกษตรและอุตสาหกรรม ในขณะที่อุปทานของน้ำลดลง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงด้านภูมิอากาศ นอกจากนี้ยังมีภัยพิบัติธรรมชาติที่มาจากภาวะโลกร้อน โดยที่ผ่านมาประเทศไทยได้ประสบกับทั้งปัญหาภัยแล้งและอุทกภัยมาแล้วหลายครั้ง
นี่นับเป็นความท้าทายของกรมชลประทาน ที่จะบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการ ยกระดับคุณภาพชีวิต สร้างความมั่นคงด้านน้ำให้กับภาคประชาชน
เครื่องมือที่ช่วยวางแผนบริหารน้ำอย่างแม่นยำ เป็นการติดอาวุธสำคัญให้กรมชลประทาน ซึ่งไม่นานมานี้ ทางกรมชลประทานได้มีการต่อยอดนวัตกรรม โดยการปรับปรุงโปรแกรมวางแผนการบริหารจัดการน้ําเพื่อการชลประทาน (Water Management Planning Program For Irrigation, WaPi) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่สามารถช่วยกรมชลประทานจัดสรรน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนได้เป็นอย่างดี
ต่อยอดของเดิม ด้วยนวัตกรรมใหม่
เดิมที กรมชลประทานมีโปรแกรมการวางแผนการใช้น้ำอยู่ก่อนแล้ว แต่ด้วยข้อจำกัดบางประการทำให้การทำงานยังไม่เต็มประสิทธิภาพ โดย ดร.ธเนศร์ สมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา กล่าวว่า
“ที่ผ่านมากรมชลประทานใช้โปรแกรมการวางแผนการใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำ (Reservoir Operation Study) เป็นโปรแกรมหลักในการวางแผนจัดสรรน้ำ โดยคำนวณหาปริมาณความต้องการใช้น้ำชลประทาน เพื่อมาวางแผนการจัดสรรน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุน แต่เนื่องจากข้อจำกัดในหลาย ๆ ด้าน จึงจำเป็นต้องมีงานวิจัย นวัตกรรม หรือเครื่องมือที่จะเสริมศักยภาพการทำงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการวางแผนและบริหารจัดการน้ำให้ดียิ่งขึ้น”
โดยโปรแกรมตัวใหม่ที่กรมชลประทานได้พัฒนาต่อยอด ก็คือ “โปรแกรมวางแผนการบริหารจัดการน้ําเพื่อการชลประทาน” หรือ WaPi ที่มีความแม่นยำ เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารน้ำให้ทันต่อเหตุการณ์มากขึ้น ซึ่งโปรแกรมตัวนี้เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะช่วยเตรียมพร้อมกับภัยแล้ง ลดความเสี่ยงของการเกิดอุทกภัย
ดร.ธเนศร์ สมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา
เมื่อโปรแกรมวางแผนการใช้น้ำตัวเดิมมีช่องว่างให้พัฒนา ประกอบกับเทคโนโลยีด้านโปรแกรมมิงที่ก้าวกระโดดในปี พ.ศ. นี้ ทีมนักวิจัยจำนวน 7 คน จากสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา กรมชลประทาน นำทีมโดย คุณมาณพ พรมดี จึงได้ทำการพัฒนาและต่อยอดนวัตกรรมจากโปรแกรมเดิม ซึ่งคุณมาณพได้กล่าวว่า
“โปรแกรมการวางแผนการใช้น้ำเดิมที่ใช้อยู่นั้น ยังมีข้อจำกัดในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจัดการฐานข้อมูล การเลือกช่วงเวลาทำการเพาะปลูก ข้อมูลปริมาณการใช้น้ำอ้างอิงของพืชในอดีตที่ผ่านมา และชนิดพืชที่เพาะปลูก ซึ่งในงานวิจัยนี้จะช่วยในการวางแผนการบริหารจัดการน้ำเพื่อการชลประทานให้สอดคล้องกับสภาพปัจจุบันให้แม่นยำและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เนื่องจากมีการพัฒนาระบบให้มีความทันสมัย ลดข้อผิดพลาดและข้อจำกัดต่าง ๆ รวมถึงช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูลให้ถูกต้องและแม่นยำมากยิ่งขึ้น”
ใช้ Big Data วิเคราะห์ และวางแผนจัดสรรน้ำ
หากข้อมูลตั้งต้นประกอบการวางแผนไม่ถูกต้อง แผนการใช้น้ำที่วิเคราะห์ออกมาก็จะมีโอกาสที่จะคลาดเคลื่อนสูง โดยข้อมูลที่ต้องใช้สำหรับประมวลผลในการจัดสรรน้ำนั้น มี 2 ส่วนใหญ่ ๆ ได้แก่ ความต้องการน้ำ (Demand Side) จากการอุปโภค - บริโภค, การเกษตร และอุตสาหกรรม และ ปริมาณน้ำต้นทุน (Supply Side) โดยหน้าที่ของกรมชลประทาน คือ การบริหารและจัดสรรน้ำจากทั้งสองฝั่งให้ใกล้จุดสมดุลมากที่สุด
เบื้องต้นทีมวิจัยได้ปรับปรุงวิธีการจัดเก็บข้อมูล โดยใช้เทคโนโลยีระบบฐานข้อมูล (Database) มาใช้จัดระเบียบและรวบรวมข้อมูลย้อนหลัง 30 ปี เป็น Big Data เพื่อนำมาใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับประมวลผลและการวางแผนการใช้น้ำ
จากนั้นข้อมูลเหล่านี้จะถูกส่งไปยังระบบประมวลผลแบบออนไลน์ และผลลัพธ์จะแสดงผลออกมาในรูปแบบกราฟที่มีข้อมูลครบทุกมิติ ตั้งแต่กราฟปริมาณน้ำในอ่าง, กราฟความต้องการน้ำตามฤดูกาล และกราฟแผนการจัดการน้ำ
เพิ่มความแม่นยำในการจัดสรรน้ำ ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต
คุณสมบัติทั้งหมดนี้ของโปรแกรมวางแผนการบริหารจัดการน้ําเพื่อการชลประทาน (Water Management Planning Program For Irrigation, WaPi) ช่วยให้กรมชลประทานสามารถลดทรัพยากรทั้งในแง่กำลังคนและเวลา
ด้วยการใช้งานของโปรแกรมที่สะดวก อีกทั้งการประมวลผลและการแสดงผลของ WaPi ที่ทั้งง่ายและรวดเร็ว ทำให้สามารถลดจํานวนบุคลากรจาก 8 คนเหลือ 2 คน และใช้เวลาเพียง 1 วันในการประมวลผลและจัดส่งรายงาน จากเดิมต้องใช้เวลานานถึง 1 - 2 สัปดาห์
มากไปกว่านั้น โปรแกรมวางแผนการบริหารจัดการน้ํา WaPi ได้เพิ่มความแม่นยำในการบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการ ซึ่งนั่นช่วยเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร, เพิ่มโอกาสในการแข่งขัน รวมไปถึงช่วยลดความเสียหายของผลผลิต
เหนืออื่นใด ประสิทธิภาพของโครงการการพัฒนาปรับปรุงโปรแกรมวางแผนการบริหารจัดการน้ําครั้งนี้ สามารถช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้มีความมั่นคง ซึ่งนับว่าเป็นการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับประชากรไทยในวงกว้างเลยทีเดียว